ชื่อผู้ท้าชิง-ผู้นำหมายเลข 1 แห่งวังบางขุนพรหม แทนนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะสิ้นวาระในเดือนกันยายนปีนี้ มีทั้งคนใน-คนนอก
ประธานกรรมการสรรหา จะนัดประชุมในวันที่ 25 มิถุนายน 2563 เพื่อเปิดรายชื่อและคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมด
“ประชาชาติธุรกิจ” แง้มแฟ้มรายชื่อผู้สมัคร พบว่ามีผู้สมัคร 4 ราย มีคนในที่ถูกอ้างว่าเป็นแคนดิเดต มี 2 ราย นายเมธี สุภาพงษ์ และ นายรณดล นุ่มนนท์
ส่วนคนนอกตามโผ มีทั้ง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการนโยบายการเงิน “ไม่มีอยู่ในใบสมัคร”
เสียงก้องจากตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ดังถึงวังบางขุนพรหม แซดว่า อาจขยายเวลาพิจารณาคัดสรร “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ออกไป เพื่อให้ “ลงตัว” กับจังหวะการปรับคณะรัฐมนตรี
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับสมัครผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งต่อจากนายวิรไท ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ที่จะครบวาระในสิ้นเดือน กันยายนนี้
ซึ่งหลังจากเริ่มเปิดให้ยื่นใบสมัครมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ปรากฏว่า มีผู้ส่งใบสมัครกันในช่วง 2 วันสุดท้าย โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน มียื่นเข้ามา 3 ราย และวันที่ 16 มิถุนายน ยื่นเข้ามาอีก 1 ราย รวมมีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ทั้งสิ้น 4 ราย
ผู้ที่ยื่นใบสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. มีคนในยื่น 2 ราย และอีก 2 รายเป็นคนนอก
สำหรับคนในนั้น เป็น นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน และ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ร่วมชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.ในรอบนี้
รายชื่อใบสมัคร บุคคลภายนอก ยื่นสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รายหนึ่งที่เป็นผู้หญิง ก็คือ นางต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด
รายที่สอง คือ นายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร อดีตรองกรรมการผู้จัดการประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุนและผู้จัดการกองทุนรวม ของบลจ.อยูธยา เจเอฟอีกราย
ใบสมัครทั้ง 4 ราย มีทั้ง “ตัวจริง-ตัวหลอก” หรืออาจจะเป็น “ม้ามืด”
ส่วนที่กล่าวขวัญกันว่า มีชื่อในโผตั้งแต่ไก่โห่-แต่อาจพลิกผัน คือ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่มีเสียงสนับสนุนจากทีมอำมาตย์ใหญ่ใน-นอกตึกไทยคู่ฟ้า ตัดสินใจไม่ลงสมัคร
รวมถึง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ 1 ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเพิ่งครบวาระจากบอร์ด ธปท.ไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ก็ไม่ได้ลงสมัครตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. ระบุขั้นตอนว่า หลังจากปิดรับสมัครแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 25 มิถุนายน 2563 เพื่อเปิดซองและพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัคร และจะนัดสัมภาษณ์ช่วงปลายเดือนมิถุนายน จากนั้นจะเร่งสรุปเลือกอย่างน้อย 2 รายชื่อ เสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนวันที่ 2 กรกฏาคม 2563
“คณะกรรมการคัดเลือกคงต้องมาพิจารณาว่า จากผู้ที่สมัครเข้ามาทั้งหมดนี้ เพียงพอหรือยัง หากดูแล้วยังไม่เพียงพอ หรือยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็อาจจะขยายเวลาการรับสมัครออกไปอีกได้ ซึ่งสามารถทำได้ แม้จะเกินกรอบ 90 วันที่ก่อนที่ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบันจะครบวาระก็ตาม”
แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล วิเคราะห์ว่า ปัจจัยชี้ขาดในการเลือกผู้ว่าการแบงก์ชาติในยุคนี้ จำเป็นต้องได้ฉันทานุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และทีมที่ปรึกษา “ชั้นในสุด” บนตึกไทยคู่ฟ้า สนธิกำลัง-ดับเบิลเช็กกับทีมกุนซือเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยนักธุรกิจ-อำมาตย์ใหญ่ ไว้วางใจ
เห็นได้จากการที่มีการเลือกตั้งประธานกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธปท. จากผู้ที่มีความใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีให้ความไว้วางใจ อย่างนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ร่วมหัว-จมท้ายกันมาตั้งแต่เป็นคณะกรรมการธนาคารทหารไทย และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียุค คสช. ตระหง่านอยู่ในทำเนียบรัฐบาลมานานหลายปี
“ด้วยกลไกการสรรหา ก็ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการ ธปท. ต้องได้รับไฟเขียว-สายตรงจากนายกฯและทีมที่ปรึกษา เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนว่าเลือกผู้ที่ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง จะค่อนข้างมีผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในภาวะการบริหารเศรษฐกิจ ที่ต้องการการประสานงานกันระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเป็นอย่างดี” แหล่งข่าวกล่าว
จังหวะก้าวที่จะต้องเปลี่ยนผู้กุมบังเหียนนโยบายการเงิน คู่ขนานการปฏิบัติการใช้เงินกู้ตามนโยบายการคลังคาบเกี่ยวกับการปรับทีมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นไปได้ว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้ช่วงเวลานี้พิจารณาวางตัวบุคคลที่ร่วมงานกันทั้ง 3 ฝ่าย อย่างไร้รอยต่อ
การขยายเวลารับสมัครผู้ว่าการแบงก์ชาติออกไป จึงมีเหตุ-มีผล
ผู้ลงสมัครท้าชิง จึงต้องดูทิศทางลมทั้งจากทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงการคลัง บุคคลที่เห็นในโผวันนี้ จึงอาจไม่ใช่ตัวจริง-เสียงจริง
จนกว่าจะถึงวันเปิดแฟ้มประวัติ ของกรรมการสรรหา วันที่ 25 มิถุนายน 2563
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-479340
Person read: 2031
19 June 2020