สินทรัพย์ปลอดภัยฟื้นตัว ท่ามกลางความไม่แน่นอนทิศทางเศรษฐกิจ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/6) ที่ระดับ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (17/6) ที่รดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงผันผวนในกรอบตามแรงซื้อ-ขายของผู้ประกอบการและนักลงทุน แม้เย็นวานนี้ (17/6) ค่าเงินบาทวิ่งอ่อนค่าเหนือ 31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากแรงขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อรับเป็นเงินบาทจากผู้ส่งออกและนักลงทุน ทำให้ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าต่ำกว่า 31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง  31.08-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ด้านเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นปรับตัวแข็งค่าเทียบค่าเงินสกุลหลัก โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุน ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ สำนักข่าวรายงานว่ารัฐอริโซน่า ฟลอริดา โอกลาโฮมา และเท็กซัส พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นประวัติการณ์ในวันอังคารที่ผ่านมา (16/6) ขณะที่ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในรัฐเท็กซัส เนวาดา และฟลอริดา ทำสถิติสูงสุดเช่นกัน โดยสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้พุ่งแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ใน 6 รัฐ

ทั้งนี้ เท็กซัสเป็นหนึ่งในรัฐแรก ๆ ที่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยมีการอนุญาตให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการพุ่งขึ้นของผู้ป่วยโรคโควิด-119 ในเท็กซัสจะเป็นหลักฐานเน้นย้ำให้รัฐต่าง ๆ ไม่คลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป

สำหรับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนนั้น กรุงปักกิ่งได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ หลังพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กรุงปักกิ่งประกาศยกระดับเตือนภัยฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดจากระดับ 3 สู่ระดับ 2 และสั่งปิดโรงเรียนทุกแห่งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเมื่อวานี้ (17/6) หลังจากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 รายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

อีกทั้ง สายการบินจีนหลายแห่งประกอบด้วย แอร์ไชน่า, ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ เซาเทิร์น แอร์ไลน์ ยังได้ระงับเที่ยวบินเส้นทางเข้าและออกกรุงปักกิ่งด้วย

นอกจากนั้นความตึงเครียดจากสถานการณ์ความไม่สงบของคาบสมุทรเกาหลีที่ยังไม่มีการเจรจาระหว่างผู้นำของสองประเทศ รวมถึงเหตุปะทะที่บริเวณชายแดนประเทศอินเดียและประเทศจีน จนส่งผลให้ทหารอินเดียเสียชีวิตกว่า 20 นาย นั้นเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้นักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 974,000 ยูนิต หลังจากลดลงร้อยละ 26.4 ในเดือนเมษายน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง ร้อยละ 23.2 ในเดือนพฤษภาคม

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/6) ที่ระดับ 1.1231/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/6) ที่ระดับ 1.1234/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรทรงตัวขณะที่ตลาดฝั่งยุโรปรอดูผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหราชอาณาจักรเย็นวันนี้ (18/6) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหราชอาณาจักรจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.1

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1230-1.1252 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1246/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/6) ที่ระดับ 106.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/6) ที่ระดับ 107.37/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับดอลลาร์สหรัฐและราคาทองคำ เนื่องจากนักลงทนกังวลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดูจะกลับมารุนแรงอีกครั้งในประเทศมหาอำนาจ และสถานการณ์ความไม่สงบในแถบภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.70-107.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (BOE) (18/6), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (18/6), รายงานดัชนีการผลิตรัฐฟิลาเดเฟีย สหรัฐ เดือนมิถุนายน (18/6), ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนพฤษภาคม (19/6) และ ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร เดือนพฤษภาคม (19/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.40/-0.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.50/+1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-479390


จำนวนผู้อ่าน: 2003

19 มิถุนายน 2020