โรงแรมเกาะสมุยโคม่า! ประกาศขายกิจการเพียบ เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน

ซมหนัก - ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำนักท่องเที่ยวจากตลาดหลักหายกว่า 90%ผู้ประกอบการโรงแรมบางส่วนเริ่มประกาศขายกิจการ เช่น เกาะสมุย เป็นต้น

ผู้ประกอบการโรงแรม “เกาะสมุย” คาดอีก 2 เดือนเล็งประกาศขายกิจการอีกเพียบ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ซอฟต์โลน “ออมสิน-แบงก์เอสเอ็มอี” เหตุไร้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม พึ่งรายได้จากต่างชาติกว่า 90%

นายวิทยา หวังพัฒนธน กรรมการผู้จัดการ เฉวงรีเจนท์ บีชรีสอร์ท เกาะสมุย ในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สุราษฎร์ธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หลายโรงแรมเริ่มเปิดบริการ แต่หลายโรงแรมยังเลื่อนการเปิดดำเนินการออกไปอีก เพื่อรอดูสถานการณ์อีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยว และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่ฟื้นกลับคืนมาได้ เนื่องจากตลาดหลักกว่า 90% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เช่น เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย และจีน

โดยเฉพาะตลาดยุโรปโควิดยังมีแพร่ระบาดการเปิดน่านฟ้ายังทำไม่ได้ ดังนั้น หลายโรงแรมมีการเลิกจ้างพนักงาน เพราะสถานการณ์ไม่ชัดเจน และอาจยืดเยื้อ จึงอยากขอให้ภาครัฐช่วยเพิ่ม 1.ให้รัฐงดเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ 2.เรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องค่าที่พัก ตั๋วเครื่องบิน การจ่ายซื้ออาหาร-เครื่องดื่ม ให้สามารถนำไปเคลมเป็นส่วนลดได้

วิทยา หวังพัฒนธน

นอกจากนี้ บนเกาะสมุยมีเรื่องข้อพิพาทระหว่างโรงแรมกับกรมที่ดิน โดยเฉพาะบนหาดเฉวง โรงแรม 77 แห่ง รวมกว่า 2,000 ห้อง ยังมีข้อพิพาทอยู่ถึง 55 โรงแรม ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถไปกู้เงิน หรือได้รับสิทธิ์การเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และยืดเยื้อมานานถึง 5-6 ปีแล้ว หลายโรงแรมประกอบธุรกิจมา 30 ปี ไม่เคยมีปัญหา จนเมื่อ 5 ปีก่อน ที่การขอใบอนุญาตโรงแรมแล้วเกิดมีข้อพิพาทว่า โรงแรมไปสร้างทับที่ทางสาธารณะ

โดยมีการนำภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศจากฝ่ายทหารมาเปรียบเทียบ พบว่าไม่ได้เป็นที่สาธารณะ แต่ในเอกสารของกรมที่ดินยังระบุว่าเป็นที่ทางสาธารณะ ทำให้ภาครัฐไม่สามารถออกใบอนุญาตโรงแรมได้ ทำให้มีปัญหาเรื่องการกู้เงิน การประกันภัย และการออกไปทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร

ส่วนเรื่องการขายกิจการโรงแรมขณะนี้ ไม่ได้มีเฉพาะที่เกาะสมุย แต่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีการบอกขายกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะโรงแรมที่เพิ่งเปิดใหม่ โดยมีนักธุรกิจทั้งจากเมืองจีน หรือจากกรุงเทพฯเริ่มเข้ามาดูในกิจการที่ค่อนข้างดี และราคาไม่สูง

“สำหรับเฉวงรีเจนท์เองรอดูสถานการณ์อีกระยะ โดยเฉวงรีเจนท์ เรามีเงินสำรองระดับหนึ่งสามารถอยู่ได้ถึงสิ้นปี แต่คาดหวังว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม สถานการณ์ระบาดของโรคโควิดจะเริ่มนิ่ง และในช่วงปลายปีช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ ซึ่งเป็นฤดูหนาวของยุโรป น่าจะมีการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้”

ด้านนายปัญญา แสงสุริยันต์ เจ้าของโรงแรมร้อยเกาะ กล่าวว่า การขายกิจการโรงแรม เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้า 1.รัฐต้องหาเงินมาจ่ายให้ผู้ประกันตน ไม่ว่าจะถูกปิดกิจการ หรือปิดกิจการเอง อย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน 2.หยุดดอกเบี้ยทุกประเภท อย่างน้อย 1 ปี โดยรัฐอาจเข้าไป subsidize ให้ธนาคารโดยตรง 3.เรื่องภาษีค้างจ่าย เบี้ยปรับเงินเพิ่มต่าง ๆ ให้ระงับไว้ก่อน

ซึ่งมาตรการเหล่านี้ แม้ช่วยผู้ประกอบการได้เพียงระดับหนึ่ง แต่รัฐต้องทำเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอดในเรื่องปากท้องให้ได้ก่อน ปัจจุบันคนเดินทางน้อยลง และจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง โรงแรมต่าง ๆ ขายห้องพักได้ไม่เกิน 20 ห้องต่อวัน ซึ่งวิเคราะห์จากแขกที่เข้าพักโรงแรม 6 กลุ่ม คือ 1.คนที่พักแรมระหว่างเดินทาง 2.เซลส์ 3.นักลงทุนมาติดต่อราชการ เช่น โอนที่ดิน ขออนุญาตต่าง ๆ 4.นักท่องเที่ยวคนไทย 5.นักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในไทย และ 6.คนมาอบรมสัมมนา

สำหรับโรงแรมร้อยเกาะ ทุกวันนี้มีแขกเข้าพักประมาณ 4-8 ห้อง สถานการณ์ปัจจุบันดำเนินการอยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน เนื่องจากยังมีเงินเก็บอยู่บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่หาก 2 เดือนข้างหน้า สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คงต้องปิดกิจการต่อไปอีก ซึ่งหมายความว่า พนักงานยังไม่มีงานทำ และไม่มีรายได้ต่อไปอีก ต้องยอมรับว่า วันนี้ยังมองไม่เห็นว่าจะมีรายได้เข้ามาจากทางไหน สถานการณ์ขาลงของการท่องเที่ยว เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนานแล้ว ตั้งแต่นักท่องเที่ยวยุโรปไม่เข้ามา ต่อมานักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาแทน เคยขายห้องพักให้นักท่องเที่ยวยุโรปคืนละ 5,000 ถึงหลักหมื่นบาท แต่พอจีนเข้ามาขายได้เพียง 1,500-2,500 บาท

“ตอนนี้ยอมรับว่า มองไม่เห็นว่าจะไปต่อในทิศทางไหน อย่างไร สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ เราต้องเริ่มทำแผนฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยเริ่มจากระดับจังหวัดก่อน”

ด้าน นายสมเชาว์ โกศล นายกสมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าของเขาสกคาบาน่ารีสอร์ท เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีปัญหา อุปสรรคอีกหลายประเด็นที่อยากเรียกร้องให้รัฐดำเนินการแก้ไข คือ 1.เรื่องการทำประกันภัยนักท่องเที่ยว ที่มีความซับซ้อน ไม่เอื้อให้นักท่องเที่ยวเข้ามา 2.ให้รัฐทบทวนมติของคณะกรรมการธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่มีมติให้การจัดโปรแกรมนำเที่ยว 50 คน ใช้มัคคุเทศก์ 1 คน และนักท่องเที่ยวไม่เกิน 15 คน ไม่ต้องใช้มัคคุเทศก์

ซึ่งมติดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมัคคุเทศก์อาชีพโดยตรง โดยในความเป็นจริง นักท่องเที่ยวเพียง 1 คนสามารถใช้บริการมัคคุเทศก์ได้ และนักท่องเที่ยว 50 คนใช้มัคคุเทศก์เพียงคนเดียวนั้นไม่เพียงพอ นอกจากนั้น ทางสมาพันธ์ยังเสนอให้มัคคุเทศก์รับงานเองโดยตรงได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งงาน และผลักดันให้มีการจัดตั้งสภามัคคุเทศก์แห่งประเทศไทยด้วย

ด้าน นายอเนก นุรักษ์ รองประธานสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังมีปัญหาอีกมากมายหลายประเด็น โดยเฉพาะปัญหาที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ที่รัฐบาลอนุมัติวงเงินผ่านธนาคารออมสิน 10,000 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการที่ยื่นขอกู้เงินดังกล่าวประมาณ 2,000 รายได้รับการอนุมัติเพียง 36 ราย ทั้งนี้ เนื่องจากเงื่อนไขการกู้เงินไม่ได้แตกต่างจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็น SMEs นั้น ทางสมาพันธ์ได้เข้าเจรจาพูดคุยกับกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยตรง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้รับอนุมัติวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปบ้างแล้ว ส่วนที่ยังกู้ไม่ผ่าน ส่วนใหญ่ติดปัญหาเรื่องใบอนุญาตโรงแรม ซึ่งรัฐต้องช่วยปลดล็อก 2 เรื่อง คือ 1.ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นนิติบุคคล และ

2.ผู้ประกอบการไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินกู้ หรือมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนที่สามารถเริ่มต้นใหม่ได้ก่อนภาคส่วนอื่น ๆ หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านไป เนื่องจากภาคท่องเที่ยวไม่ต้องสร้างอาคาร หรือสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพราะทั้งแหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวเรามีพร้อมอยู่แล้ว และการท่องเที่ยวไม่ต้องรอฤดูกาล สามารถเที่ยวได้ทุกฤดู แต่ทั้งนี้ต้องประคับประคองให้ผู้ประกอบการยืนอยู่ได้จนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องวางแผนการทำงาน การทำตลาดควบคู่กันไปด้วย เมื่อถึงเวลาเริ่มต้นจะเดินหน้าได้ทันที

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-479111


จำนวนผู้อ่าน: 1841

19 มิถุนายน 2020