‘เอ็มจี’เปิดสายผลิตโรงงาน‘หมื่นล้าน’เล็งเสริมไลน์‘อีวี’

เอ็มจี เปิดสายผลิตโรงงานแห่งใหม่ ดันไทยฐานส่งออกรถพวงมาลัยขวาปีหน้า เดินหน้าขยายตลาดเสริมสินค้าใหม่ ทั้งปิกอัพ พีพีวี รถพลังงานไฟฟ้า ส่ง “อาร์เอ็กซ์ 5อีวี” ทดสอบการใช้งานแบตเตอรี พร้อมเอ็มโอยู สวทช.ร่วมมือศึกษา ก่อนตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด จัดพิธีเปิดสายการผลิตโรงงานแห่งใหม่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด 2 จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต สาธารรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ผู้บริหารเอสเอไอซี มอเตอร์ ประเทศจีน ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เข้าร่วมงาน

นายสือ กั๋ว หย่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด กล่าวว่าโรงงานแห่งใหม่ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 437 ไร่ มีกำลังการผลิตสูงสุด 1 แสนคันต่อปี โดยเริ่มต้นผลิตรถเอสยูวี แซดเอส ซึ่งเป็นโกลบอล โมเดล ของเอ็มจี เป็นรุ่นแรก

ทั้งนี้ โรงงานแห่งใหม่ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ของเอ็มจี ต่อจากจีน บริษัทแม่วางแผนให้เป็นฐานการผลิตรถพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออกไปยังตลาดที่ใช้พวงมาลัยขวาทั่วโลก ควบคู่ไปกับบริษัทแม่ที่จะผลิตรุ่นพวงมาลัยซ้าย

คาดส่งออกครึ่งหลังปีหน้า

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ กลุ่ม ซีพี และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่าการส่งออกของโรงงานแห่งใหม่คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 หลังจากดำเนินการผลิตต่างๆ ในโรงงานแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ เอ็มจี เริ่มเข้ามาไทยในปี 2556 แต่เป็นการเช่าโรงงานสำเร็จรูปที่ชลบุรี รูปแบบการดำเนินการเป็นเพียงแค่การประกอบรถเท่านั้น แต่โรงแห่งใหม่ จะมีขอบข่ายที่มากกว่า โดยมีการผลิตชิ้นส่วนตัวถังปั๊มขึ้นรูป (stamping parts) และห้องสี

“ซีพีรู้จักกับเอสเอไอซี มากว่า 30 ปี เราทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งการร่วมทุนก่อนหน้านี้ เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมมือทางเศรษฐกิจไทยจีน และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต”

เสริมไลน์สินค้า

นายสือ กล่าววว่า เอ็มจี ให้ความสำคัญกับตลาดเมืองไทยอย่างมาก นับตั้งแต่การเข้ามาทำธุรกิจในไทยเมื่อปี 2556 ถึงปัจจุบัน เห็นได้ว่ามีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีรถจำหน่ายถึง 5 รุ่นหลักด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเอ็มจี 3 เอ็มจี 5 เอ็มจี 6 เอ็มจี จีเอส และล่าสุดคือ เอ็มจี แซดเอส ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ต คาร์ คันแรกในไทย เป็นการสานต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทแม่

เอสเอไอซี กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจไว้ 4 เรื่องหลักคือ 1.พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้า 2.อินเทอร์เน็ต คาร์ 3.คาร์ แชริ่ง และ 4.ออโตโนมัส หรือระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งแผนการนี้จะส่งมาถึงไทยเช่นกัน โดยขณะนี้ได้เริ่มต้นแล้วกับ อินแทอร์เน็ต คาร์

การมุ่งมั่นทางด้านการส่งเสริมเทคโนโลยี สอดคล้องกับแนวนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลและที่ผ่านมา เอสเอไอซี ก็ได้รับการชักชวนจากรัฐบาลให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ หรือ อีอีซี รวมถึงการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ในอีอีซี ไอ

“เอสเอไอซี มองว่าการเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ได้เป็นเพียงฐานการผลิต แต่จะเป็นการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี”

นำเข้าอีวีศึกษาใช้งานก่อนเจรจารัฐ

นายเฉิน หง ประธานกรรมการ เอสเอไอซี มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศจีน กล่าวว่าบริษัทสนใจที่จะทำตลาดรถพลังงานไฟฟ้า(อีวี) ในไทย ล่าสุดวานนี้ (8 ธ.ค.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนารถยนต์สมัยใหม่ กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อศึกษารายละเอียดต่างๆ รวมถึงช่องทางการทำตลาดในอนาคต

นายธนากร กล่าวว่าขณะนี้บริษัทได้นำเข้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า ยี่ห้อโรวี รุ่น อาร์เอ็กซ์ 5 ซึ่งเป็นอีกยี่ห้อในกลุ่มเอสเอไอซี เข้ามาทดสอบการใช้งานไนไทย เพื่อดูความสามารถในการใช้งานด้านต่างๆ โดยเฉพาะคุณสมบัติของแบตเตอรี่ กับสภาพอากาศและการใช้งานของไทย ควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับ สวทช. หากพบว่าได้ผลที่น่าพอใจ จะนำรายละเอียดทั้งหมดไปหารือกับภาครัฐอีกครั้ง ก่อนจะตัดสินใจว่าจะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) หรือไม่

นายธนากร กล่าวว่ารถพลังงานไฟฟ้าเป็นทิศทางของอนาคต ที่โลกกำลังก้าวไป ขณะที่จีน ถือว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างมาก มีการใช้งานรถประเภทนี้อย่างแพร่หลาย โดยล่าสุดพบว่า รถพลังงานไฟฟ้าของโลกนั้น สัดส่วน 35% เป็นการใช้งานในประเทศจีน จึงทำให้มั่นใจว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวของบริษัทแม่ จะทำให้การผลิตและจำหน่ายในไทย จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ เงื่อนไขของบีโอไอ ระบุว่าให้ผู้ที่สนใจลงทุนผลิตรถพลังงานไฟฟ้า และปลั๊กอิน ไฮบริด ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2561 ส่วนการลงทุนรถไฮบริด ต้องยื่นภายในวันที่ 31 ธ.ค.ปีนี้

สมคิด”ย้ำไทยต้องเป็นศูนย์กลางอีวี

นายสมคิด กล่าวว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต โดยเฉพาะกระแสของรถพลังงานไฟฟ้าที่จะมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน 

ดังนั้นรัฐจึงต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออก โดยมีแนวทางส่งเสริมอย่างชัดเจน รวมถึง การตั้ง อีอีซี ไอ ก็เป็นหนึ่งในแผนการส่งเสริมเช่นกัน

นายสมคิด กล่าวถึงการลงทุนครั้งใหม่ของเอสเอไอซีว่า เป็นการบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญต่อประเทศไทย และสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างไทย จีน

“ก่อนหน้านี้ผมเข้าไปเชื้อเชิญให้เขามาลงทุนในไทย และวันนี้เป็นโอกาสดีอีกครั้งที่เขาลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเรายืนยันว่าคิดถูก เพราะอนาคตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยจะเติบโตอีกมาก”

เสริมตลาดปิกอัพ-พีพีวี

นายเฉิน หง กล่าวว่า นอกจากรถพลังงานไฟฟ้า บริษัทยังมีแผนที่จะเสริมตลาดอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงกลุ่มรถปิกอัพ ที่เป็นตลาดใหญ่ของไทยและรถเอ็มพีวี ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งแผนการขยายตลาดเป็นเพราะบริษัทมองว่าการทำธุรกิจในไทยประสบความสำเร็จอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการมีรถทำตลาดจำนวนมาก มีเครือข่ายการจำหน่ายและศูนย์บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 87 แห่งในปัจจุบัน และยอดขายที่เติบโตต่อเนื่องเช่นกัน  ปีนี้จะทำได้มากกว่า 1 หมื่นคัน

 

ขอบคุณข่าวจาก : bangkokbiznews.com


จำนวนผู้อ่าน: 2335

12 ธันวาคม 2017