ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/7) ที่ระดับ 31.30/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (7/7) ที่ระดับ 31.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (่JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 401,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 5.4 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ส่วนอัตราการเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.9% จากระดับ 3.7% ในเดือนเมษายน ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 6.5 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่รัฐบาลเริ่มเก็บข้อมูลดังกล่าวในปี 2543 ขณะที่อัตราการจ้างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 3.1% ในเดือนเมษายนการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน และการจ้างงาน ได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐต่าง ๆ ในสหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้มีการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มการจ้างงานครั้งใหม่
ส่วนตัวเลขการปลดออกจากงานลดลง 5.9 ล้านตำแหน่ง สู่ระดับ 1.8 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการปลดออกจากงานลดลงสู่ระดับ 1.4% จากระดับ 5.9% ในเดือน เม.ย. ทั้งนี้ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอีกครั้งของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.22-31.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.23/31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (8/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1274/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/7) ที่ระดับ 1.1271/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ตาม ยูโรยังมีปัจจัยกดดัน จากการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวลงรุนแรงขึ้นในปีนี้ และจะดีดตัวขึ้นในปีหน้าในอัตราที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่ฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน เผชิญผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 EC ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการบริหารของสหภาพยุโรป (EU) คาดว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนจะหดตัวลงรุนแรงเป็นประวัติการณ์ถึง 8.7% ในปีนี้ ก่อนจะฟื้นตัวขึ้น 6.1% ในปีหน้า หลังจากที่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา EC คาดไว้ว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนจะหดดัวลง 7.7% ในปีนี้ และฟื้นตัว 6.3% ในปีหน้า โดย EC ปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจยูโรโซนครั้งใหม่ เนื่องจากวิตกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐต่าง ๆ ต้องเลื่อนหรือยกเลิกแผนการเปิดดำเนินการธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ EC ได้ทำการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน เนื่องจากการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในยูโรโซนดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ EC ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโรคระบาด โดยคาดว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศดังกล่าวจะหดตัวลงมากกว่า 10% ในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน จะหดตัวลง 6.3% ในปีนี้และจะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า โดยปรับคาดการณ์ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ในเดือนพฤษภาคมว่าจะหดตัว 6.5% สำหรับระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1263-1.1295 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1285/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (8/7) เปิดตลาดที่ระดับ 107.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/7) ที่ระดับ 107.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.43-107.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.50/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐ (8/7), รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (8/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน เดือนมิถุนายน (9/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน เดือนมิถุนายน (9/7), รายงานยอดดุลการค้าของเยอรมนี เดือนพฤษภาคม (9/7), จำนวนผู้ที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (9/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนมิถุนายน (10/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.15/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.65/-0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-488292
จำนวนผู้อ่าน: 2140
09 กรกฎาคม 2020