File Photo AFP PHOTO / WANG ZHAO (Photo by WANG ZHAO / AFP)
ภาคธนาคารของจีนเผชิญปัญหา “หนี้เสีย” ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยเฉพาะ “ธนาคารขนาดเล็ก” ที่มีขนาดเงินทุนไม่มาก อีกทั้งยังมีการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งได้สร้างความไม่มั่นใจกับประชาชนผู้ฝากเงิน จนธนาคารท้องถิ่นหลายแห่งต้องเจอเหตุการณ์ประชาชนแห่ไปถอนเงินฝาก (bank run) เมื่อปี 2019 เป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงินในช่วงนั้น เนื่องด้วยหากธนาคารขนาดเล็กล้มอาจลุกลามไปยังภาคธนาคารทั้งระบบ
เพื่อหลีกเลี่ยงการลุกลามของวิกฤตการเงินเมื่อปี 2019 รัฐบาลจึงได้เข้าแทรกแซงโดยการเข้าควบคุม “ธนาคารเป่าซาง” รวมถึงการให้เงินอุดหนุนกับธนาคารแห่งจิงโจว และธนาคารเหิงเฟิง เป็นต้น ซึ่งการเข้าอุ้มแบงก์ที่มีปัญหาเหล่านั้นได้ระงับเหตุการณ์ความวุ่นวายลง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้เสียของแบงก์ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยิ่งหนักหนากว่าเดิมจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมการกำกับและดูแลภาคธนาคารและประกันภัยของจีนระบุว่า ช่วงไตรมาส 1/2020 ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กตามท้องถิ่นของจีนมีอัตราหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 2.45% และมีแนวโน้มสูงขึ้นมากในปี 2020 จากผลกระทบของโควิด-19 โดยรายงานชี้ว่า ปัญหาหนี้เสียของแบงก์ขนาดเล็กยังคงอยู่และรอวันปะทุ
ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาพของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและหนี้เสียพุ่งขึ้น จึงส่งผลแบงก์ขนาดเล็กของจีนเสี่ยงเผชิญสถานการณ์ bank run อีกระลอก
และเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2020 เกิดเหตุการณ์ประชาชนจำนวนมากแห่ไปถอนเงินจาก “ธนาคารเป่าติ้ง” ในมณฑลเหอเป่ย์ และ “ธนาคารหยางฉวน” ในมณฑลส่านซี เนื่องจากมีกระแสข่าวธนาคารทั้งสองแห่งมีปัญหาเสี่ยงล้ม เพื่อป้องกันเหตุการณ์บานปลายเจ้าหน้าที่จึงได้สั่งปิดธนาคารชั่วคราว พร้อมออกแถลงการณ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนถึงประเด็นความมั่นคงของธนาคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ที่ปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับธนาคารทั้งสอง
เหตุการณ์ชาวจีนแห่ออกไปถอนเงินรอบล่าสุด สร้างความไม่มั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19 อย่างยิ่ง ทำให้ทางการจีนจึงต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก โดย “ไชน่า ซีเคียวริติ้ เจอร์นัล” สื่อด้านตลาดทุนของรัฐบาลจีนรายงานว่า รัฐบาลมณฑลเหอเป่ย์ได้ออกกฎควบคุมการ “ฝากและถอน” เงินสดสำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องการทำธุรกรรมมากกว่า 100,000 หยวน และธุรกิจที่ทำธุรกรรมมากกว่า 500,000 หยวน นับตั้งแต่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป
โดยผู้ที่ต้องการฝากเงินต้องแจกแจงถึงแหล่งที่มาของเงิน ขณะที่ผู้ถอนเงินจะต้องแจ้งถึงวัตถุประสงค์ของการถอนเงินแก่ธนาคารล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน และยังต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคาร และกฎใหม่นี้ยังจะมีการนำไปบังคับใช้ในมณฑลเจ้อเจียงและเมืองเสิ่นเจิ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2020
แม้ทางการจะให้เหตุผลว่ามาตรการนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและป้องกันการทำผิดกฎหมาย เช่น ที่ “ผัง เหอหลิน” คณบดีสถาบันเศรษฐกิจดิจิทัลศึกษา จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์แห่งจงหนานกล่าวว่า “กฎดังกล่าวจะช่วยป้องกันการฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษี” อย่างไรก็ตาม “เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์” รายงานว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของทางการจีนก็คือ การป้องกันเหตุการณ์ประชาชนแห่ถอนเงิน หรือ bank run ของธนาคารขนาดเล็ก จากปัญหาหนี้เสียและความเพียงพอของเงินทุนที่มีปัญหาสะสมมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้ภาคธนาคารและสถาบันการเงินของจีนทั้งระบบมูลค่ากว่า 40 ล้านล้านหยวนต้องล้มลง
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ถือว่ามีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนหลังโรคระบาด เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยกู้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยนอกจากมาตรการป้องกันการแห่กันถอนเงินแล้วนั้น “ทเวนตี้เฟิรสต์ เซ็นจูรี่บิสซิเนส เฮอราลด์” หนังสือพิมพ์ธุรกิจท้องถิ่นของจีนรายงานว่า หน่วยงานกำกับภาคธนาคารกำลังอยู่ระหว่างร่างแผนสนับสนุนการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กด้วยการออก พันธบัตรชนิดพิเศษมูลค่า 200,000 ล้านหยวน เพื่อช่วยเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งปกติแล้วพันธบัตรชนิดนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น
ปัญหาของธนาคารขนาดเล็กเกิดขึ้นในเวลาที่รัฐบาลกลางจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันเหล่านี้ จากความสามารถในการเข้าถึงธุรกิจขนาดย่อมอันเป็นรากของเศรษฐกิจ และเป็นความท้าทายของจีนที่จำเป็นต้องฟื้นเศรษฐกิจไปพร้อมกับการลดหนี้เสียของแบงก์เหล่านี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-488360
จำนวนผู้อ่าน: 2039
09 กรกฎาคม 2020