“ระยองเอฟเฟ็กต์” รัฐ-เอกชนระดมมาตรการฟื้นความเชื่อมั่นท่องเที่ยวระยอง ผู้ประกอบการเผยผลกระทบยกเลิกห้องพักยาวถึงสิงหาฯ รมว.ท่องเที่ยวยอมรับกระทบแผน “Travel Bubble” มั่นใจไม่กระทบมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ด้านหอการค้า-กกร.จังหวัดยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ขอมาตรการช่วยเหลือพิเศษฟื้นชีพระดมเรียกความเชื่อมั่น
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ทหารอียิปต์ติดโควิดที่จังหวัดระยอง ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมของระยองและจังหวัดใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วและหนักมาก จากเดิมที่ทุกฝ่ายประเมินกันว่าทั้งภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ สทท.ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อหารือถึงแผนการทำตลาดและแผนการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมาโดยเร็วในหลาย ๆ ประเด็น อาทิ แผนการเตรียมทำบิ๊กคลีนนิ่งเมืองระยองครั้งใหญ่ พร้อมนำสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง ว่าการท่องเที่ยมีความปลอดภัย หารือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ส่งทัวร์ อสม.ในโครงการกำลังใจ ไปเที่ยวจังหวัดระยอง เพื่อช่วยกันกระตุ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้หารือกับสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ลงสำรวจพื้นที่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความปลอดภัย และร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ, กระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ หรือ new normal กับผู้ประกอบการในทุกภูมิภาค
นายชัยรัตน์กล่าวด้วยว่า ในภาพรวมขณะนี้ถือว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความปลอดภัย และมีมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Thailand Sure หรือ Amazing Thailand Safety and Health Administration (SHA) ที่กำหนดแนวทางปฏิบัติแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
“ในความเป็นจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้น่ากังวลมากนัก แต่ข่าวที่ออกมา สร้างความตระหนกให้กับนักท่องเที่ยวคนไทยจนไม่กล้าที่จะไปเที่ยวระยองและจังหวัดใกล้เคียง เพราะมีประกาศของกระทรวงมหาดไทยว่าคนที่ไประยองมาต้องกักตัว 14 วัน ที่ห้ามไม่ให้คนเดินทางไประยอง ประกาศเหล่านี้รุนแรงมาก แม้จะไม่ใช่ประกาศปิดจังหวัดแต่ก็เหมือนใช่ เพราะทำให้คนไม่กล้าเดินทางเป็นการซ้ำเติมระยองอย่างมาก”
นายชัยรัตน์กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมของการจองห้องพักโรงแรมในจังหวัดระยองตอนนี้หายไปเกือบ 100% และที่น่าเป็นห่วงคือโรงแรมที่อยู่ต่างอำเภอ เช่น บ้านฉาง, แกลง ฯลฯ รวมถึงเกาะเสม็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และไม่ใช่แค่เดือน ก.ค. แต่ขณะนี้ยอดจองโรงแรม ห้องพัก รวมถึงงานสัมมนาจำนวนมากถูกยกเลิกไปถึงเดือน ส.ค.แล้ว
“วันนี้ความหวาดระแวงเกิดขึ้นเกินความเป็นจริงไปแล้ว ทุกคนต้องมาร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นธุรกิจล้มละลายกันอีกจำนวนมาก วันนี้ผู้ประกอบการน่าสงสารมาก ในหลาย ๆ จังหวัดผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวนมากปิดตัวถาวรไปแล้ว” นายชัยรัตน์กล่าว
ขณะที่รายงานข่าวจาก จ.ตราดแจ้งว่า ปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ที่ จ.ระยองได้มีผลกระทบการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดประมาณ 20-30% ที่ขอยกเลิกและเลื่อนการเดินทาง เช่น พื้นที่เกาะช้างที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีโรงแรม รีสอร์ตและโฮมสเตย์เกือบ 300 แห่ง บางแห่งมีการแจ้งขอเลื่อนการเข้าพักออกไปถึงเดือนตุลาคม
นางสริญทิพญ ทัพมงคลทรัพย์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะเสม็ด เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากมีข่าวทหารอียิปต์ติดโควิดในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง แม้ผลตรวจออกมาจะยังไม่พบผู้ติดเชื้อก็ตาม เกาะเสม็ดที่อยู่ห่างจากเมืองระยองกว่า 30 กิโลเมตร ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย บนเกาะเสม็ดมีโรงแรมที่พักทั้งหมดกว่า 4,000 ห้อง จากผู้ประกอบการประมาณ 130 ราย โดยที่ผ่านมาทางผู้ประกอบการได้เตรียมมาตรการควบคุมและตรวจคัดกรองโควิดอย่างเคร่งครัดด้วยการรับนักท่องเที่ยวเพียง 30% หรือเข้าพักได้ 1,000 กว่าห้อง รับนักท่องเที่ยวได้เพียง 2,700 คน/วัน พอประคองธุรกิจให้อยู่ได้ไปก่อน และมั่นใจว่าในพื้นที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อโควิด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ยอดจองที่พักในช่วงวันหยุด 25-27 ก.ค.ที่จะถึงนี้ถูกยกเลิกไปแล้วประมาณ 90% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจังหวัดที่มีประกาศว่าหากเดินทางเข้าระยองต้องกักตัว 14 วัน ทำให้เกิดความหวั่นวิตก
ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยอมรับว่า กรณีที่พบทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดระยอง ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะโซนจังหวัดระยอง ชลบุรี และจันทบุรี แต่เชื่อว่าจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ติดกับพื้นที่ดังกล่าว นักท่องเที่ยวจะยังคงเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ เห็นได้จากยอดการลงทะเบียนรับสิทธิ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เหตุการณ์ดังกล่าวนี้กระทบความเชื่อมั่นในเบื้องต้นเท่านั้น เชื่อว่ายังสามารถดำเนินการตามแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่วางไว้ได้และคนไทยยังเชื่อมั่นท่องเที่ยวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์”
สำหรับโครงการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างจำกัด หรือ travel bubble นั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)ได้ให้ 4 กระทรวง คือ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศทำงานต่อไปไม่ต้องหยุดโดยให้เน้นขั้นตอนเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการประชาสัมพันธ์ผ่านการประสานงานกับหน่วยงานย่อยในประเทศต้นทาง ซึ่งอาจเป็นการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศต่อกลุ่มประเทศ ประเทศต่อประเทศ หรือประเทศต่อเมือง
“ในส่วนของรายละเอียดกรอบเวลาต่าง ๆ ขอยืดเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับจากเหตุการณ์ทหารอียิปต์ที่ระยอง เพื่อให้ประชาชนหายตระหนกก่อน จึงค่อยมาคุยกันอีกครั้ง แม้ก่อนหน้านี้วางกรอบเวลาว่าจะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้”
นายพิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1 พบว่าการลงทะเบียนรับสิทธิ 2 วัน (15-16 ก.ค. 63) 3.3 ล้านราย เป็นไปตามเป้าหมายและคาดว่าจะบรรลุเป้า 5 ล้านคนภายใน 3 วัน แม้ประชาชนจะลงทะเบียนรับสิทธิและจองห้องพักครบ 5 ล้านคน ก็จะใช้งบประมาณไม่ถึง 1.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเหลือเงินราว 1 หมื่นล้านบาทสำหรับใช้ในเฟสที่ 2 โดยที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯร่วมกับ ททท.หาแนวทางกระตุ้นคนไทยให้ออกไปท่องเที่ยวในเมืองรองและชุมชนมากขึ้น กระทรวงจึงเตรียมผลักดัน “เมืองรอง-ชุมชน” ในเฟส 2 ของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ราว ส.ค.นี้
ทั้งนี้ คาดว่าในเฟส 2 จะสนับสนุนการท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง55 จังหวัด แต่ในเมืองรองรัฐจะอุดหนุนมากกว่า โดยรัฐจ่ายให้ 60% และประชาชนจ่าย 40% ขณะที่เมืองหลักรัฐจ่ายให้ 40% ประชาชนจ่าย 60% ทั้งสิทธิส่วนลดค่าโรงแรม สิทธิส่วนลดค่าอาหารและสถานที่ท่องเที่ยว และเปิดให้โฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวโดยตรง
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)หรือ ศบค. เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดระยองที่ได้รับผลกระทบจากข่าวการติดเชื้อของทหารอียิปต์ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กเตรียมจัดกิจกรรมร่วมใจฝ่าโควิด จ.ระยอง 5 มาตรการคือ 1.ขอความร่วมมือภาครัฐจะจัดงานสัมมนาในพื้นที่ จ.ระยอง 2.ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน 3.การแข่งขันกีฬาฟุตบอล จากทีมในไทยลีกรูปแบบใหม่ แบบมีผู้ชม ที่ จ.ระยอง 4.จัดการแสดงสดคอนเสิร์ตในรูปแบบใหม่ และ 5.การจัดกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในพื้นที่
นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดระยอง ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประธานชมรมธนาคารจังหวัด และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ได้ยื่นหนังสือให้ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เมื่อ17ก.ค. ตามมติที่ประชุม กกร.จังหวัดระยอง โดยข้อเสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหารวมถึงแนวทางช่วยเหลือ 5 ประเด็นหลัก 1.แก้กฎหมายให้มีความเท่าเทียมกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
2.มิให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสื่อสารภาพลบ 3.ให้มีจัดครม.สัญจร สัมมนาของหน่วยงานราชการรวมถึงภาคเอกชนในจังหวัดระยอง 4.จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เริ่ม ก.ค.ถึงสิ้นปี”63 อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ขอให้คนระยองสามารถใช้สิทธิเที่ยวในจังหวัดระยองได้, เสนอให้มีโครงการชิม ช้อป เที่ยว ใช้ในจังหวัดระยองโดยได้รับการสนับสนุนเงินคืนจากรัฐ 50%
และ 5. มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินการคลัง อาทิ กรณีชิม ช้อป เที่ยว ใช้ และอบรมสัมมนาในจังหวัดระยอง ให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า, ขยายมาตรการเยียวยาของผู้ประกันตนออกไปอีก 3 เดือน รวมถึงให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเพิ่มการจ้างงานลูกจ้างที่ตกงานในจังหวัดระยอง ในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ
นอกจากนี้ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากใครเดินทางมาระยองแล้วติดเชื้อโควิดทางนายกอบจ.จะมอบเงินให้ 1 แสนบาท/คน
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า หากผลกระทบจากกรณีปัญหาการติดเชื้อที่จังหวัดระยองส่งผลกระทบต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักงันลงไป เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีแผนจะเปิด travel bubble แต่ตอนนี้ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกต่อต้านการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นรวมถึงกรณีทูตเอสโตเนีย เป็นต้น
“ตอนนี้โอกาสที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็จะยากขึ้นอีก ก็ต้องมาพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ แต่จากข้อมูลปีที่แล้วการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวในประเทศมีแค่ครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แปลว่าถ้าจะกระตุ้นให้ทดแทนกันได้ก็ต้องทำให้นักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่า ซึ่งคงไม่มีทางนโยบายจ่ายเงินอุดหนุนให้ไปเที่ยวก็อาจจะกระตุ้นได้บ้าง แต่คงไม่สามารถทดแทนสิ่งที่หายไปได้ทั้งหมด”
สิ่งที่น่ากังวลหากการกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามแผน ก็คือจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีก แต่ขณะนี้ก็ยังมองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะหดตัวลึกสุดระดับ -12% ถึง -14% และไตรมาส 3-4 น่าจะดีขึ้น แต่จะยังคงติดลบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
“ครึ่งปีหลังเรามองจีดีพีน่าจะ -9% ถึง-10% เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มี ส่วนเครื่องยนต์อื่น ๆ ก็ติดลบหมด เหลือแต่การใช้จ่ายภาครัฐตัวเดียว”
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-493789
Person read: 2052
20 July 2020