รพ.วชิระภูเก็ตชงรัฐขอ 3 พัน ล. ลุย Medical Tourism ระดับเวิลด์คลาส

ภูเก็ตเมืองที่ได้ชื่อว่า “ไข่มุกแห่งอันดามัน” เมืองท่องเที่ยวอันโด่งดังติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว 14 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี แต่จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ภูเก็ตประสบปัญหาวิกฤต แต่วันนี้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการรับมือวิกฤตโควิด-19 จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตและสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต จึงได้ริเริ่ม “โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” (Project to turn Phuket” Medical Tourism into a World Class Medical and Wellness Tourist Destination) ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ถึงยุทธศาสตร์โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความก้าวหน้าของโครงการ

ยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นายแพทย์เฉลิมพงษ์เล่าว่า หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกภาคส่วนในภูเก็ตได้รับผลกระทบ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการเปิดเมืองและทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีความเชื่อมั่นในการมาเที่ยวภูเก็ตอย่างปลอดภัย รวมทั้งในเรื่องการท่องเที่ยววิถีใหม่ (new normal) ไม่เน้นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับจังหวัดภูเก็ต จึงมองว่าในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการระบาดโควิด-19 น่าจะต้องอยู่ในสภาพอย่างนี้เป็นต่อเนื่องอย่างน้อย 1-2 ปี น่าจะมีโครงการที่ดีมารองรับในเรื่องการท่องเที่ยวเพิ่มมูลค่า และเป็นวิถีใหม่ซึ่งภูเก็ตเป็นเหมือนประตู เป็นหน้าตาของประเทศไทย

จึงมาช่วยกันคิดยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ซึ่งแนวคิดนี้เดิมถูกบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่ปี 2560-2561 ในสมัย นายนรภัทร ปลอดทอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีการคิดทำยุทธศาสตร์ให้ภูเก็ตมีมิติต่าง ๆ มองในส่วนที่เป็นจุดแข็งของจังหวัด โดยนำมิติการเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกกับมิติทางด้านสุขภาพ คือ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นระดับศูนย์โรงพยาบาลของภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมีโรงพยาบาลระดับเล็ก ๆ แวดล้อม เช่น โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลฉลอง โรงพยาบาลป่าตอง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลสิริโรจน์ มีศักยภาพที่จะรองรับดูแลชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตมีกลุ่มลูกค้าที่บินมารักษาเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงนำทั้งสองจุดมารวมกัน

ปัจจุบันได้นำเสนอให้ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคนปัจจุบัน รับทราบ และได้มีการนำเสนอโครงการให้ทางกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องงบประมาณดำเนินโครงการ และทำเรื่องขอใช้พื้นที่กับกรมธนารักษ์

ทุ่ม 3 พัน ล.ที่ธนารักษ์ 141 ไร่

นายแพทย์เฉลิมพงษ์บอกต่อไปว่า สำหรับ “โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” วงเงินงบประมาณ 2,967 ล้านบาท ในด้านการลงทุนในช่วงแรกคงต้องให้ภาครัฐใช้งบประมาณนำร่องไปก่อน แต่ในอนาคตอยากเห็นภาพของรัฐร่วมกับเอกชน ส่วนจะในรูปแบบใดจะมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน คงต้องพิจารณากัน เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย กับจังหวัดภูเก็ต แต่ในช่วงแรกคือผลักดันภายใต้การดูแลของจังหวัดภูเก็ต แล้วให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นผู้ขับเคลื่อนในโครงสร้างของบประมาณและเรื่องสถานที่ตรงนี้ให้เกิดขึ้นก่อน

ตัวโครงการประกอบด้วย 1.ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร Internation Health Plaza ประกอบไปด้วย Wellness Center, Internation Dental Center, One day Century, Phuket Souvenirsand Health Tourism Packages 2.ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก บุคลากรทางการแพทย์ที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุแบบองค์รวม 3.ศูนย์ใจรักษ์ (His-pice Home) 4.ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center) เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพแบบองค์รวม 5.ศูนย์บำราศนราดูร เขตภาคใต้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม ตรวจวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญ 6.ศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อน ศูนย์เฉพาะทางในด้านการตรวจรักษาโรคเขตร้อน 7.ศูนย์รังสีรักษาเขตอันดามัน ศูนย์เฉพาะทางในการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง

มีการเสนอใช้ที่ดินราชพัสดุบริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง เนื้อที่ 141-2-64 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นพื้นที่สวยงามติดชายทะเล เป็นพื้นที่ไม่มีตึกสูง สถานที่ตั้งของโครงการอยู่ทางด้านหัวเกาะ คือ ข้ามสะพานสารสินมาจะเห็นพื้นที่แห่งนี้อยู่ขวามือ ถ้าออกจากภูเก็ตไปพังงา เส้นนี้จะผ่านเทพกระษัตรี อยู่ทางซ้ายมือติดถนนไปมาหาสู่สะดวก และเดินทางต่อไปติดทะเล จะมีอัตลักษณ์ในเรื่องการพัฒนาตรงนี้เป็นรูปเต่ามะเฟือง ทำเลอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ต 17.5 กม. ห่างจากหาดบางเทา 31.8 กม. ห่างจากหาดป่าตอง 50 กม. ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 43.2 กม. และห่างจากหาดราไวย์ 61.2 กม. ที่ดินแปลงนี้เดิมจะทำโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต แต่ประสบปัญหาขัดข้องทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้

เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้งบประมาณสูง จึงแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ในเฟสที่ 1 ปี 2564 งบประมาณ 1,295,941,100 บาท ประกอบด้วย 5 โครงการหลัก คือ 1.ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติ หรือเมดิคอลพลาซ่า 2.ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ 3.ศูนย์ใจรักษ์ หรืออภิบาลดูแลประคับประคองผู้ป่วยหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย 4.ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร คือ ศูนย์ที่ทำให้ฟื้นฟูสภาพของคนให้ดูหนุ่มสาวยิ่งขึ้น 5.งานสาธารณูปโภคและงานภูมิทัศน์โครงการ ตามแผนงานโครงการที่ตั้งไว้หากได้รับการอนุมัติ ในเฟสแรกจะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2564 เดิมเสนอขอใช้งบฯฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท แต่ล่าสุดน่าจะพิจารณากลับมาใช้งบฯแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบภายใต้การระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีเงินอยู่ 45,000 ล้านบาท

ในส่วนเฟสที่ 2 ปี 2565 งบประมาณ 1,671,100,000 บาท ประกอบด้วย การป้องกันโควิดหรือโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ 1.สถาบันบำราศนราดูร เขตภาคใต้ เป็นโครงการภายใต้งบประมาณของกรมควบคุมโรค 2.ศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อน จะใช้งบฯกรมควบคุมโรค จะทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นมากขึ้น หากเกิดการระบาดของโรคจะมีสถาบันที่ดีเหมือนเช่นกรุงเทพฯ และ 3.หน่วยรังสีรักษา เขตอันดามัน หรือศูนย์มะเร็งฝั่งอันดามัน จะให้บริการเครื่องฉายแสง รังสีรักษายังไม่มีที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันเลย มีแต่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา การที่มีศูนย์มะเร็งในฝั่งอันดามัน ชาวไทยจะได้ประโยชน์ในเรื่องรักษามะเร็งครบวงจร และนักท่องเที่ยวที่เป็นโรคมะเร็งจะได้รับการผ่าตัดในโรงพยาบาล การให้เคมี การฉายแสงต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลทำให้นักท่องเที่ยวตั้งแต่ไม่ป่วย มาเช็กอัพธรรมดาจนถึงป่วย และจนถึงวาระสุดท้าย มีการดูแลครอบคลุมครบวงจรให้กับนักท่องเที่ยว

เม็ดเงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

นายแพทย์เฉลิมพงษ์บอกว่า สิ่งที่คาดหวังในการทำโครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ภาพรวมคืออยากให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีศักยภาพทางการแพทย์ที่ราคาไม่แพง พร้อมมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามระดับโลก ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจจะซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวไปด้วยกับการมารักษาสุขภาพ

เดิมกรุงเทพฯได้เริ่มทำแล้วในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเมดิคอลฮับ แต่ภาพของประเทศไทยยังไม่เห็นความชัดเจนในรูปของโครงสร้าง ดังนั้นในเรื่องของการทำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกของภูเก็ต เป็นประตูที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเช็กอินผูกโยงกับการท่องเที่ยวเรื่องสุขภาพทางการแพทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในเมดิคอลพลาซ่าต้องมีองค์ประกอบทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ขับเคลื่อน เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโรงแรม การท่องเที่ยว การกีฬา สปา ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่เอาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ มาจำหน่าย

ปัจจุบันอยากให้มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน มาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างแท้จริง รายได้ต่อคนตั้งแต่ 1-5 แสนบาท เม็ดเงินที่จะได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอาจจะเป็น 10,000-50,000 ล้านบาท ก็แล้วแต่เป็นจำนวนที่จะเพิ่มมูลค่ามากขึ้นในเรื่องการจ้างงาน สุดท้ายคือความมั่นใจของนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการที่ภูเก็ต จะต้องมีความมั่นใจที่จะเห็นภาพของภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยและสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ต้องนึกถึงภูเก็ตในการบริการ

ตอนนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังช่วยกันผลักดันอยากให้โครงการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นจริง และเป็นหน้าตาของประเทศไทย เพื่อเปิดตลาดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม โดยจังหวัดภูเก็ตจะนำร่องแบบครบวงจรแห่งแรกในไทย และขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆ จนวันหนึ่งประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-493940


Person read: 2634

20 July 2020