ตลาดปลากระป๋องซึมยาว “ปุ้มปุ้ย” เพิ่มดีกรีลุยส่งออก

รุกออนไลน์ - ปุ้มปุ้ย เพิ่มน้ำหนักขายออนไลน์ ร่วมกับลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล เพื่อสอดรับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวก

เศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ไม่แจ่ม ทุบตลาดปลากระป๋อง 9 พันล้านชะลอตัวต่อเนื่อง “ปุ้มปุ้ย” กางแผนครึ่งปีหลังเน้นเพิ่มสัดส่วนอาหารพร้อมทาน-เครื่องแกง เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ ผนึกแพลตฟอร์มใหญ่ “ลาซาด้า-ช้อปปี้-เจดี เซ็นทรัล” เดินหน้าจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายต่อเนื่อง ด้านตลาดต่างประเทศสดใสออร์เดอร์เพิ่ม เล็งขยายลูกค้าไปญี่ปุ่น ยุโรปตะวันออก

นายไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดปลากระป๋องประเภทซอสมีมูลค่ากว่า 8,000-9,000 ล้านบาท อยู่ในภาวะชะลอตัว หรือตัวเลขแทบจะไม่เติบโตตลอดช่วง 2-3 ปี โดยปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อ ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่าย ตลอดจนทางเลือกในกลุ่มอาหารที่มีมากขึ้น อีกทั้งตลาดยังมีการแข่งขันสูง มีทั้งแบรนด์เจ้าตลาดและแบรนด์โลคอลของผู้ประกอบการรายย่อย

นายไกรฤทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ตลาดได้อานิสงส์จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากการซื้อสินค้ากักตุนของผู้บริโภค ทำให้สินค้ากลุ่มปลากระป๋องมีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายตัวเลขยอดขายก็ลดลง

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง เน้นให้ความสำคัญทั้งการทำตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากนี้มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ของสินค้ากลุ่มอาหารพร้อมทานและเครื่องแกงให้เป็น 20% จากเดิมมีเพียง 10% ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักมาจากปลา

กระป๋องกว่า 90% ควบคู่กับการเน้นเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ชูจุดแข็งด้านวัตถุดิบ รสชาติและบรรจุภัณฑ์หลัก ๆ แบ่งเป็นกลุ่มปลาในซอสมะเขือเทศ ปลาปรุงรส เช่น ปลาแมกเคอเรลทอดราดพริก ตามด้วยกลุ่มหอยปรุงรส และอาหารพร้อมทาน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการตั้งราคาให้สามารถแข่งขันได้ แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันวัตถุดิบหลักเพียงพอต่อการผลิตในทุก ๆ ปี จากการสั่งจองปลาล่วงหน้าจากซัพพลายเออร์ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น เพื่อทดแทนปริมาณวัตถุดิบในประเทศที่ลดลง

ส่วนแนวทางในการทำตลาด เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่สามารถจัดโรดโชว์ชวนชิมได้ จากมาตรการความปลอดภัยของภาครัฐ ทำให้บริษัทต้องเน้นจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส เป็นต้น ส่วนในต่างจังหวัดจะทำการตลาดร่วมกับร้านค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพื่อกระตุ้นยอดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ควบคู่กับการเพิ่มช่องทางออนไลน์ โดยได้เข้าร่วมกับแพลตฟอร์ม อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกและรูปแบบการชําระเงินที่สามารถเก็บเงินปลายทางได้ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้การจับจ่ายเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าขณะนี้มีปริมาณการสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศเข้ามามากขึ้น อาทิ กลุ่มปลาในซอสมะเขือเทศ ปลาปรุงรส หอยปรุงรส อาหารทะเลสำหรับทานเล่น อาหารพร้อมปรุง และสแน็กที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรปและซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม ลาว และจากนี้มีแผนจะขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ

ล่าสุดเตรียมส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ผ่านตัวแทนจำหน่าย และมีตลาดที่น่าสนใจ คือ ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันออก

“การแข่งขันในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี จะมีแบรนด์ที่ครองตลาดอยู่ แต่ยังมีช่องว่างทำให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจ จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโดยผู้ประกอบการบางรายได้จัดโปรโมชั่นอย่างหนัก เพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาด ส่วนบริษัทเองจะเน้นเรื่องการวางตำแหน่งสินค้าให้โดดเด่น ควบคู่กับชูจุดขายด้านวัตถุดิบเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค”

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในไตรมาส 1/63 บริษัทมีรายได้ 390.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อนที่มีรายได้ 329.02 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการจําหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารบรรจุภาชนะและการให้บริการอาหาร โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้รวมแบ่งเป็นการทำตลาดภายในประเทศ 80% และต่างประเทศอีก 20%

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-498048


Person read: 1708

30 July 2020