ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า หลังนักลงทุนรอผลการประชุม

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/7) ที่ระดับ 31.47/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 31.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24/7) รัฐบาลสหรัฐได้มีการสั่งปิดสถานกงสุลจีนที่เมืองฮิวตันด้วยข้อหาที่ว่าจีนได้ทำการจารกรรมข้อมูลลับของสหรัฐ ขณะที่จีนก็ได้ตอบโต้โดยแจ้งให้สหรัฐปิดสถานกงสุลในเมืองเฉิงตูเช่นกัน นอกจากนี้ปัจจัยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายรัฐของสหรัฐ ก็ยังคงกดดันค่าเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง หลังจากการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า สหรัฐเป็นประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงที่สุดในโลก โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 2,600 รายในแต่ละชั่วโมง ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐมีผู้ติดเชื้อสะสมจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาดูผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ได้จัดขึ้นในวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ โดยนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเฟดจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% และคาดว่าเฟดจะมีการส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไปในช่วงหลายปีข้างหน้า พร้อมทั้งนักลงทุนยังคงจับตาดูการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ภายในสิ้นเดือนนี้ โดยคาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากโครงการช่วยเหลือผู้ว่างงานโดยการจ่ายเงิน 600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์จะหมดอายุลงในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ แต่ในวงเงินช่วยเหลือดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 100 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ และสำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้เปิดเผยในช่วงปลายสัปดาห์และต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น 13.8% สู่ระดับ 776,000 ยูนิต และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 4% สู่ระดับ 700,000 ยูนิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐประจำเดือนกรกฎาคม ได้ดีดตัวสู่ระดับ 50.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 47.9 ในเดือนมิถุนายน ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ระดับ 51.3 จากระดับ 49.8 ในเดือนมิถุนายน และสำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ระดับ 49.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 47.9 ในเดือนมิถุนายนเช่นกัน และนอกจากนี้ได้มีการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.3% ในเดือนมิถุนายน โดยการปรับตัวขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนมิถุนายนดังกล่าว ได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ ซึ่งทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มขนส่งเพิ่มขึ้น 20% ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนมิถุนายน หลังจากเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนพฤษภาคม ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.44-31.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (29/7) ที่ระดับ 1.1721/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 1.1606/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีประจำเดือนกรกฎาคม ได้ปรับตัวสู่ระดับ 90.5 จากระดับ 86.3 ในเดือนมิถุนายน โดัชนีดังกล่าวปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 89.2 และสำหรับภาคธุรกิจของเยอรมนีก็ต่างมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.3 แสนล้านยูโร รวมทั้งปรับลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1714-1.1769 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1745/48

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/7) ที่ระดับ 105.11/12 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 106.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนได้เข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยจากการขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีการเปิดเผยรายงานสรุปมุมมองของกรรมการบริหารของ BOJ ในการประชุมครั้งล่าสุด โดยกรรมการ BOJ ส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะใช้เวลาฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 นานกว่าที่คาด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เวลาควบคุมการแพร่ระบาดนานเท่าใด โดยกรรมการรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า BOJ จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินในทิศทางใดบ้าง โดยจำเป็นต้องพิจารณาช่องทางการส่งผ่านนโยบายและผลกระทบของนโยบายอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งกรรมการอีกรายก็ได้มีความคิดเห็นว่า BOJ จำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น โดยจะต้องประเมินอย่างต่อเนื่องว่ากรอบนโยบายที่ใช้ปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.79-105.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมิถุนายนของสหรัฐ (29/7), ผลการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (30/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (30/7), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2563 (ประมาณการเบื้องต้น) ของสหรัฐ (30/7), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิถุนายน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (31/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.4/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.00/+3.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-498001


จำนวนผู้อ่าน: 1606

30 กรกฎาคม 2020