เอดีบี ชี้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาเอเชียหดตัวรอบเกือบ 60 ปี ฟื้นยากแบบตัว L

Photo by ANTHONY WALLACE / AFP

เอดีบี เปิดรายงาน Asian Development Outlook 2020 Update วันนี้ (15 กันยายน 2563) ว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย คาดว่าจะหดตัวในปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบหกทศวรรษ หรือตั้งแต่ปี 2503 (ต้นทศวรรษ 1960s) ที่ร้อยละ 0.7 แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในปีหน้าที่ร้อยละ 6.8 เนื่องจากภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวจากหายนะทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID- 19)

ในรายงานได้คาดการณ์การฟื้นตัวแบบรูปตัว “L” แทนที่จะเป็นตัว “V” และคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะติดลบถึง 3 ไตรมาสในปี 2563

“ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะเผชิญกับการเติบโตที่ยากลำบากในช่วงที่เหลือของปี 2563” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว “ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบ เนื่องจากการระบาดครั้งแรกที่ขยายออกไปหรือการระบาดซ้ำ ๆ อาจกระตุ้นให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มเติม

 

Photo by Noel CELIS / AFP

ดังนั้น มาตรการที่ต่อเนื่องและการร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด โดยลำดับความสำคัญของนโยบายไปที่การปกป้องชีวิตและการดำรงชีวิตของกลุ่มที่เปราะบางที่สุด จะทำให้พวกเขามั่นใจว่าสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัย และสามารถเริ่มต้นกิจกรรมทางธุรกิจได้ และนี่จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด”

สาเหตุหลักของเศรษฐกิจที่หดตัวลงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อในปีนี้จนถึงปีหน้า รัฐบาลในแถบนี้ได้ใช้เงินทั้งหมด 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15% เมื่อเทียบกับตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ในแถบเอเชีย เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

จีนเป็นหนึ่งในประเทศเดียวที่ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการคาดการณ์ว่าปลายปีนี้จะขยายตัวขึ้น 1.8% และ 7.7% ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปิดประเทศอย่างเคร่งครัด ตัวเลขจีดีพีหดตัวลงถึง -23.9% ในไตรมาสแรกของปี และคาดว่าจะหดตัวลงอีก 9% ตลอดทั้งปี

เอดีบีรายงานเกี่ยวกับประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดี แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรายงาน ADO ล่าสุดในวันนี้ คาดว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่หดตัวร้อยละ 4.8 สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.5 ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน

อัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะติดลบในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน การหดตัวสูงของราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ช่วยลดค่าสาธารณูปโภคด้วย ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.8 ในปีหน้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายนอกยังคงเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในทั่วโลก การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายใน ได้แก่ การกลับมาระบาดซ้ำของ COVID-19 ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน

Photo by Hector RETAMAL / AFP

Photo by Hector RETAMAL / AFP

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-521499


จำนวนผู้อ่าน: 2079

15 กันยายน 2020