“แอลเอ” ชูเมดอินไทยแลนด์ ปลุกตลาด “จักรยานไฟฟ้า”

รุกหนัก - แอลเอ เตรียมเปิดตัวจักรยานไฟฟ้าไลน์อัพใหม่ เน้นชูจุดขายด้านคุณภาพจากการออกแบบและผลิตเอง รวมถึงความหลากหลายของสินค้า

“แอลเอ” มั่นใจเทรนด์จักรยานไฟฟ้ามาแน่ ลั่นขอลุยปลุกตลาดรอบใหม่เตรียมส่งทัพจักรยานไฟฟ้าออกแบบ-ผลิตเองลงตลาดปี 2564 พร้อมอาศัยโนว์ฮาวฐานะผู้ผลิตส่งออกหนุนจุดขาย ด้านคุณภาพ-บริการหลังการขาย รับมือคลื่นสินค้าจีน ตั้งเป้าเจาะลูกค้าระดับกลาง

นายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจักรยานแบรนด์ “แอลเอ” เปิดเผยถึงสถานการณ์ของตลาดจักรยานในภาพรวมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดจักรยานผันผวนสูง

โดยในช่วงปี 2558-2559 จักรยานได้รับความนิยมสูงมากจนถึงกระทั่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตลาดจักรยานในประเทศซบเซาลง เนื่องจากธุรกิจจักรยานให้เช่าในจีนเสื่อมความนิยมลง ทำให้ยอดสั่งซื้อทั่วโลกลดลง ขณะเดียวกัน คลื่นจักรยานจากจีนจำนวนมากถูกส่งออกมาขายยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยในราคาถูก กระทบกับผู้ผลิตในประเทศและบริษัทอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ตลาดเริ่มกลับฟื้นตัวขึ้นมาและมีดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังผู้บริโภคในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ และยุโรป หันมาเดินทางด้วยจักรยานเพราะตอบโจทย์การเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะจักรยานไฟฟ้าที่เป็นเทรนด์มาแรง นอกจากตอบโจทย์การเดินทางแล้วยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคในหลายประเทศสนใจและเชื่อว่ากระแสนี้จะช่วยสร้างดีมานด์จักรยานไฟฟ้าในไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับทิศทางของบริษัทจากนี้ไปได้วางกลยุทธ์เพื่อชิงความได้เปรียบรองรับกระแสจักรยานไฟฟ้า โดยได้เตรียมเปิดตัวจักรยานไฟฟ้าไลน์อัพใหม่ในปี 2564 ที่จะถึงนี้ เน้นชูจุดขายด้านคุณภาพจากการออกแบบและผลิตเองเกือบ 100% ยกเว้นเพียงมอเตอร์และแบตเตอรี่เท่านั้น

รวมถึงความหลากหลายของสินค้า พร้อมกับบริการหลังการขายเต็มรูปแบบทั้งการรับประกันสินค้าและบริการซ่อมที่ถือเป็นเรื่องสำคัญของจักรยานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างจากจักรยานนำเข้าจากจีนที่ไม่มีทั้ง 2 บริการนี้ได้

ขณะเดียวกัน ก็จะอาศัยความเชี่ยวชาญของโรงงานในฐานะที่เป็นผู้รับจ้างผลิตจักรยานไฟฟ้าและส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงการหาซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนทั้งมอเตอร์และแบตเตอรี่ในราคาเหมาะสมมาชดเชยกับอัตราภาษีนำเข้าที่ค่อนข้างสูง โดยวางราคาสินค้าในระดับประมาณ 3 หมื่นบาทเพื่อจับผู้บริโภคระดับกลาง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจักรยานไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนสำคัญอย่างแบตเตอรี่ที่ต้องเสียในอัตราสูงถึง 35-40% ทำให้ราคาจักรยานสูงหรือระดับราคาประมาณ 2 หมื่นบาท ทำให้ผู้บริโภคจับต้องได้ยาก, การมีจักรยานไฟฟ้านำเข้าจากจีนมาขายในราคาต่ำ รวมถึงความไม่ชัดเจนทางกฎหมายว่าการขับขี่จักรยานไฟฟ้าจะต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ ทำให้เกิดปัญหาด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังนั้น การปลุกตลาดอาจจะต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีที่กระแสความนิยมจะมีความชัดเจนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็จะเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในธุรกิจรับจ้างผลิตจักรยานไฟฟ้าส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ช่องว่างที่เกิดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทำให้ซัพพลายเออร์หลาย ๆ รายต้องเร่งหาแหล่งผลิตที่อยู่นอกประเทศจีน เพื่อเข้ามารองรับดีมานด์ดังกล่าวโดยบริษัทมีแผนจะให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมงานแฟร์ด้านอุตสาหกรรมจักรยานในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก่อน

“ตอนนี้ในแง่ของการส่งออกจักรยานไฟฟ้ามีแนวโน้มดีมาก โดยเฉพาะการมีโอกาสส่งออกไปยุโรปและอเมริกา ประกอบกับบริษัทได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จึงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าแบตฯ คาดว่าปีหน้าตัวเลขการส่งออกจักรยานไฟฟ้าจะมีสัดส่วนมากขึ้น อาจมากถึง 60% ของการส่งออกทั้งหมดของบริษัท”

นายสุรสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนจักรยานธรรมดาตลาดในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจักรยานในลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงจักรยานเลียนแบบจากจีนที่นำเข้ามาขายในราคาถูกกว่ารุ่นเดียวกันของบริษัทถึงระดับ 1,000 บาท ซึ่งกระทบกับโครงสร้างราคาสินค้าในตลาด เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าจักรยานจากจีนไม่ต้องเสียภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนฉบับใหม่ 2560

โดยจักรยานสองล้อสำหรับแข่งขัน จักรยานเด็ก และจักรยานสองล้ออื่น ๆ ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้า บริษัทจึงต้องรับมือด้วยการย้ำจุดแข็งในแง่ของคุณภาพและการบริการ รวมถึงชูไลน์อัพจักรยานที่เป็นลายแคแร็กเตอร์การ์ตูนมาทำตลาด เช่น เฮลโลคิตตี้ ซึ่งบริษัทถือลิขสิทธิ์ผลิตแต่เพียงผู้เดียวในไทยและอาเซียนผ่านสื่อออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-521477


จำนวนผู้อ่าน: 1994

15 กันยายน 2020