CIMBT ชิงแชร์ธุรกรรมดอกเบี้ยอ้างอิง THOR 1 ใน 3 ของตลาด

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าโกยธุรกรรมอิงดอกเบี้ยตัวใหม่ THOR คาดได้มาร์เก็ตแชร์ 1 ใน 3 ของธุรกรรมรวมในปี 64 เผยจับมือกสิกรไทยทำธุรกรรมร่วมกัน 800 ล้านบาท พร้อมเดินสายให้ความรู้ลูกค้า-เตรียมพร้อมงานหลังบ้าน

นายเพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ที่เรียกว่า THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คำนวณจากธุรกรรมกู้ยืมระยะข้ามคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระหว่างธนาคาร เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563

และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เข้าทำสัญญาอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ THOR เป็นธุรกรรมแรกของประเทศ ได้แก่ ธุรกรรมอนุพันธ์ Overnight Index Swap หรือ OIS ที่อ้างอิงกับ THOR ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

เป้าหมายถัดไป ธนาคารจะออกไปให้ความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ให้ลูกค้ารายต่อราย เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจ ด้วยความที่ THOR เป็นเรื่องใหม่ และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดการเงินของไทย เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่มีความโปร่งใส เพราะ THOR ไม่ได้ใช้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้โควตราคา แต่อ้างอิงบนธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้ง THOR เป็นดอกเบี้ยที่มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนมากนัก และยังสะท้อนสภาพคล่องที่แท้จริงของค่าเงินบาท และสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ธนาคารมีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำเอาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR มาใช้มากขึ้น เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารมีอยู่แล้ว ทั้งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารอนุพันธ์ รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน ที่อ้างอิงกับ THOR

“หลังจาก ธปท. ประกาศจะใช้ดอกเบี้ยตัวใหม่ ซีไอเอ็มบี ไทย เห็นโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดนี้ เราเตรียมความพร้อมและงานหลังบ้านทันที ทั้งความพร้อมของแบงก์ที่มีทั้งฝั่ง Treasury, Risk, Operations, Finance และ Legal เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับเกือบทุกสายงานในแบงก์

หลังจากเราพร้อมแล้วจึงได้เริ่มเข้าไปโควตราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 และโควตราคาต่อเนื่องถึง 2 เดือน จึงมีธนาคารกสิกรไทยเข้ามา hit ราคา และเกิดธุรกรรมแรก หลังจากนั้นได้เกิดธุรกรรมเกิดขึ้นอีก 2 ธุรกรรม ซึ่งธนาคารจะเข้าไปโควตราคาเรื่อยๆ เพราะเราถือว่าการพัฒนาตลาดเป็นหน้าที่หนึ่งของธนาคารอีกด้วย โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ของมูลค่าธุรกรรมในปี 2564” นายเพากล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-521609


จำนวนผู้อ่าน: 2046

15 กันยายน 2020