ค้าปลีกไอทีประคองตัวฝ่าโควิด กำลังซื้อ Q4 แผ่ว หวั่นลากยาวข้ามปี

(Photo by Romeo GACAD / AFP)

โควิดฉุดเศรษฐกิจ-กำลังซื้อไตรมาส 4 ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน “สินค้าไอที” ก็ไม่เว้น ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่ง หวัง “ช้อปดีมีคืน” ช่วยปลุกมู้ดจับจ่าย “เจ.ไอ.บี.” ชี้ดี-มานด์ “เวิร์กฟรอมโฮม” แผ่วปลายตลาดล่างออกอาการ ขอแค่ปิดยอดขายสิ้นปีทะลุ 9 พันล้านใกล้เคียงปีที่แล้ว “แอดไวซ์” หวั่นลากยาวข้ามปีเบนเข็มเจาะ “บีทูบี”

แม้ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าไอทีจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดกระแสเวิร์กฟรอมโฮม มีความต้องการซื้ออุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานและการเรียนที่บ้าน ส่งผลให้ยอดขายเติบโตอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 ซึ่งโดยปกติเป็นช่วงที่ผู้บริโภคจับจ่ายซื้อสินค้า ถือเป็น “หน้าขาย” ไม่ต่างจากสินค้ากลุ่มอื่น ๆ แต่ในปีนี้กลับไม่คึกคักเท่าที่ควร

ตลาดล่างออกอาการ

นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีกสินค้าไอที ภายใต้แบรนด์ “เจ.ไอ.บี.” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดไอทีในไตรมาส 4 ไม่คึกคักเท่าที่ควร ประกอบกับส่วนใหญ่ซื้อไปแล้วในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากกระแสเวิร์กฟรอมโฮมทำให้ยอดขายในไตรมาส 2 และ 3 ไปได้ดีจนมาแผ่วลงในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี โดยเฉพาะในกลุ่มล่างที่กำลังซื้อลดลงชัดเจน

ขณะที่สินค้าที่เจาะตลาดกลุ่มบน เช่น คอมพิวเตอร์ ดีไอวาย และโน้ตบุ๊ก ยังคงมีการเติบโตได้ดี เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มบนและระดับกลางยังสามารถใช้จ่ายได้ ประกอบกับภาครัฐมีโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ออกมากระตุ้นการตัดสินใจซื้อเพิ่มเติม สำหรับบริษัทคาดว่าส่วนยอดขายปีนี้น่าจะทำได้ 9,000 ล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายที่วางไว้เดิมช่วงต้นปี 10,000 ล้านบาท และน้อยกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ 9,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีบริษัทยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ทั้งการขยายสาขาไปในทำเลใหม่ และรีโนเวตบางสาขา คาดว่าในสิ้นปีจะมี 153 แห่ง และเตรียมเพิ่มสินค้ากลุ่มน็อนคอมพิวเตอร์มากขึ้นในปีหน้า เช่น สินค้าที่รองรับเทคโนโลยี IOT และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายและยอดขาย

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา บริษัทปรับตัวหลายอย่างโดยหันมาโฟกัสการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากต้องปิดร้านทำให้ยอดขายออนไลน์โตขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนเป็น 20% ของยอดขายรวมจากตอนต้นปีมีสัดส่วนแค่ 13%”

ค้าปลีกไอทีอ่อนแรง

ด้านนายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขาย และการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าไอที กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มแผ่วลงตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 เป็นต้นมา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทำให้ความต้องการสินค้าไอทีลดลง ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้ซื้อไปแล้วจำนวนมาก

โดยประเมินว่าภาพรวมตลาดไอทีทั้งปีน่าจะเติบโตลดลงจากปีที่ผ่านมาจาก 2 ปัจจัย คือ กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง สะท้อนจากยอดขายและราคาเฉลี่ยต่อเครื่องของโน้ตบุ๊กที่ลดลงจาก 25,000 บาทขึ้นไปมาเป็นต่ำกว่า 25,000 บาทลงไปในครึ่งหลังของปี ขณะที่สินค้าบางกลุ่มขาดตลาดเนื่องจากในบางประเทศยังอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้มีสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับบริษัทเองประเมินว่า รายได้ในปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 20% ตามเป้าที่วางไว้ หรือมีรายได้น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 12,000 ล้านบาท

ส่วนทิศทางตลาดไอทีในปี 2564 ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากผู้ผลิตสินค้ายังมีปัญหาการผลิต ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็จะยังไม่ฟื้นกลับมา แต่เทียบกับสินค้าอื่น ๆ แล้วเชื่อว่าสินค้าไอทีจะไม่ได้รับผลกระทบแรงมาก เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการใช้

“แอดไวซ์ฯ” ลุยต่อมุ่งบีทูบี

นายจักรกฤช กล่าวต่อว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง โดยจะเปิดสาขาในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายร้านโมเดลใหม่ที่มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและบริการรับซ่อมสินค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 350 สาขาทั่วประเทศ เป็นร้านของบริษัท 100 สาขา ที่เหลือเป็นแฟรนไชส์ 250 สาขา

พร้อมกับขยายช่องทางขายผ่านออนไลน์และผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก เป็นต้น ตามด้วยอีมาร์เก็ตเพลซ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ เป็นต้น และ “อีเทลเลอร์ออนไลน์” ของแอดไวซ์ฯที่มีระบบโลจิสติกส์เองและในปีหน้าจะขยายธุรกิจใหม่เจาะกลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งกลุ่มองค์กร ภาครัฐ และเอกชน โดยตั้งเป้ารายได้จากกลุ่มบีทูบีเฉลี่ยเดือนละ 30 ล้านบาท

“รายได้หลักของไทยมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ถ้าทั้งสองธุรกิจนี้ไม่ฟื้นกลับมา ในแง่ของกำลังซื้อโดยรวมก็จะยังไม่ฟื้น แต่สำหรับตลาดไอทีเชื่อว่ายังมีดีมานด์เพราะกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ จะต้องลงทุนเพื่อเดินหน้าธุรกิจต่อ ทำให้ปีหน้าเราจะหันมาโฟกัสที่กลุ่มลูกค้าบีทูบีมากขึ้น”

สินค้าขาดไม่พอขาย

นายธีรวุธ ศุภพันธ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หากโฟกัสเฉพาะสินค้ากลุ่มพรินเตอร์ ความต้องการของผู้บริโภคยังสูงจากกลุ่มคนที่เวิร์กฟรอมโฮม ประกอบกับโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ช่วยกระตุ้นตลาดให้ตื่นตัวแต่ติดปัญหากำลังการผลิตที่ประเทศต้นทางอย่างฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ไม่สามารถผลิตได้ 100% ทำให้สินค้าไม่พอจำหน่าย

เช่นกันกับนางสาวเนตรนรินทร์ จันทร์จรัสสุข ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์พรินเตอร์ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ตลาดไอทีช่วงโค้งท้ายปีได้รับอานิสงส์จากโควิด เพราะผู้บริโภคก้าวเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้าไอทีอยู่ และเชื่อว่าโครงการ “ช้อปดีมีคืน” จะเข้ามาช่วยกระตุ้นให้คึกคัก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-554699


Person read: 2159

13 November 2020