27 พ.ย. เปิดเดินเรือไฟฟ้า หัวลำโพง-วัดเทวราชกุญชร ฟรี 6 เดือน

กทม.ตรวจเรือ EV วิ่งคลองผดุงฯ จาก หัวลำโพง-วัดเทวราชกุญชร เชื่อมเรือด่วน-รถไฟฟ้า ดีเดย์ 27 พ.ย. เปิดใช้ เชิญ “ประยุทธ์” ประเดิม ใช้ฟรี 6 เดือน ก่อนเก็บ 10 บาทตลอดสาย ชี้ขาดทุนเดือนละ 5-6 แสนบาท คาดมีผู้โดยสาร 500-600 คน/วัน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 พ.ย. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจการทดสอบเดินเรือไฟฟ้า จำนวน 7 ลำ ตามสัญญาโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมทดลองโดยสารจากท่าเรือหัวลำโพง – ท่าเรือวัดเทวราชกุญชร ระยะทาง 5 กม.

โดยกทม.ได้ว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกทม. ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม โดยจัดหาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (Electric  Vehicle : EV) พร้อมระบบโซลาเซลล์ จำนวน 8 ลำ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเรือใหม่เพิ่มอีก 7 ลำ หลังจากที่ได้นำเรือใช้พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ 1 ลำ ทดลองวิ่งให้บริการ ขณะนี้การต่อเรือไฟฟ้าลำใหม่ทั้ง 7 ลำ แล้วเสร็จตามแผนแล้ว

เชิญ “บิ๊กตู่” เปิด 27 พ.ย.นี้

เรือไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดให้บริการประชาชนเต็มรูปแบบในวันที่ 27 พ.ย.นี้ โดยในเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินเรือไฟฟ้า โดยประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 9.30 น.

“กทม.จะแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดิยเรือทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะขาดทุนเดือนละ 500,000-600,000 บาท/เดือน”

ส่วนการให้บริการเดินเรือ ในวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น. วันละ 39 เที่ยว ความถี่ในการเดินเรือประมาณ 15 นาทีต่อลำ ส่วนวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. วันละ 23 เที่ยว ความถี่ในการเดินเรือประมาณ 30 นาทีต่อลำ

ฟรี 6 เดือน

โดยกทม.จะเปิดให้บริการฟรีเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากนั้นจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 10 บาท ตลอดสาย ทั้งนี้ คาดว่าเรือคลองผดุงกรุงเกษมจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 500-600 คน/วัน

สำหรับคุณสมบัติเรือที่ต่อใหม่ทั้ง 7 ลำนี้ เป็นเรือโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ทุกลำ ต้นทุนการต่อเรืออยู่ที่ 6 ล้านบาท/ลำ หลังคาของเรือมีแผงโซล่าเซลล์ 12 แผง ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

เพื่อใช้ในระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในเรือ และยังเป็นพลังงานสำรองในการขับเคลื่อนเรือ พร้อมทั้งติดตั้งระบบจีพีเอส ติดตามตำแหน่งเรือ โดยมีศูนย์ควบคุมที่คอยติดตามตรวจสอบตลอดช่วงเวลาที่ให้บริการประชาชน

นอกจากนี้ได้ปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยออกแบบที่นั่งและทางเดินในเรือให้สะดวกสบายขึ้น มีลายกันลื่นตลอดพื้นเรือ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมถึงการปรับขนาดเรือให้เหมาะสมกับการเดินทางในคลองผดุงกรุงเกษม ที่มีสะพานหลายจุดและตัวสะพานดังกล่าวค่อนข้างต่ำ

โดยตัวเรือมีความยาว 9.90 ม. ความกว้าง 2.98 ม. น้ำหนัก 5.98 ตัน เครื่องยนต์ขนาด 10 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่องยนต์ เทียบเท่าเครื่องยนต์ 20 แรงม้า และแบตเตอรี่ Li-on NMC ขนาดรวม 42 กิโลวัตต์ มีมาตรฐานป้องกันฝุ่นและน้ำ IP67 ทั้งตัวเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 17 กม./ชม. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ความเร็วสูงสุด 15 กม./ชม.

โดยชั่วโมงการทำงานต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง สามารถให้บริการได้นาน 4 ชั่วโมง โดยเรือสามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ที่นั่ง และยังจัดพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ได้ 1 คัน อันเป็นการส่งเสริมการเดินทางที่ทั่วถึงเท่าเทียมเพื่อคนทั้งมวล

เชื่อมเรือด่วน-รถไฟฟ้า

ส่วนเส้นทางการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมได้กำหนดเดินเรือ จำนวน 11 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าเรือหัวลำโพง ท่าเรือนพวงศ์ ท่าเรือยศเส ท่าเรือกระทรวงพลังงาน ท่าเรือแยกหลานหลวง ท่าเรือนครสวรรค์ ท่าเรือราชดำเนินนอก ท่าเรือประชาธิปไตย ท่าเรือเทเวศร์ และท่าเรือตลาดเทวราช รวมระยะทาง 5 ก.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต และเขตพระนคร ใช้เวลาเดินทางตลอดเส้นทางประมาณ 20 นาที

สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว มีจุดเชื่อมต่อการเดินทาง จำนวน 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ท่าเรือตลาดเทวราช จุดที่ 2 ต่อเรือแสนแสบ ที่ท่าเรือกระทรวงพลังงาน จุดที่ 3 ต่อรถไฟชานเมือง ที่ท่าเรือรถไฟหัวลำโพง และจุดที่ 4 ต่อรถไฟฟ้า MRT ที่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-561075


Person read: 2328

24 November 2020