ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียนรถ) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน โดยตลาดนี้น่าจะมีขนาดราว 1-1.5 แสนล้านบาท
ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) แล้ว สถาบันการเงินหลายแห่งต่างกระโดดลงมาเล่นกันมากขึ้น
ล่าสุดก็มีธนาคารออมสินที่เป็นแบงก์รัฐ ประกาศร่วมลงทุนกับ “บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ “SAWAD”
การผนึกกำลังของ 2 องค์กรดังกล่าว นอกจากความเชี่ยวชาญของ “ศรีสวัสดิ์” ที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมีเรื่องจำนวนสาขาที่หากผนวกเข้าด้วยกันแล้วจะมีสาขาเพิ่มขึ้นอีกมาก โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 “ศรีสวัสดิ์” มีสาขาทั้งสิ้น 4,660 สาขา ขณะที่ “ออมสิน” มีอยู่ 1,060 สาขาทั่วประเทศ
“นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) บอกว่า บริษัทเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นการทั่วไปลงมาอยู่ระดับ 18% ต่อปี คาดว่าจะมีผลภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยปรับดอกเบี้ยลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือลูกค้า จากเดิมที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 20% ต่อปี เป็น 19% ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การมีผู้เล่นอย่างธนาคารออมสินที่ร่วมทุนกับ SAWAD เข้ามา จะทำให้การแข่งขันในตลาดมีความเสรีมากขึ้น ซึ่ง MTC พร้อมแข่งขันในด้านดอกเบี้ย
“บริษัทปรับลดดอกเบี้ยลงมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงไม่กังวลว่าจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ โดยการลดดอกเบี้ย ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ว่าควบคุมได้หรือไม่ เพราะถ้ามัวแต่ลดดอกเบี้ย แต่หนี้เสียเยอะ ก็กระทบต่อรายได้และผลกำไร ซึ่งตอนนี้หนี้เสียเราค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1% ถ้าเทียบทั้งตลาดหนี้เสียอยู่ที่ 5% ดังนั้น เรายังคงแข่งขันได้แน่นอน”
สำหรับในปี 2564 “นายชูชาติ” ประเมินว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 20-30% อย่างไรก็ดี MTC ยังเป็นผู้นำตลาด และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ โดยปัจจุบันส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทอยู่ที่ 40% เป็นอันดับ 1
สิ่งที่จะต้องจับตาในปีหน้าจากภาวะการแข่งขันที่จะดุเดือดขึ้น ก็คือ ผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่คิดดอกเบี้ยสูง หากไม่สามารถควบคุมเอ็นพีแอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเห็นการไหลออกของลูกค้ามาสู่บริษัทที่เสนอดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ามากขึ้น สุดท้ายแล้วหากบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงมาแข่งได้ ก็จะล้มหายตายจากไป
“ต้องยอมรับว่า จำนำทะเบียนรถเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทน (มาร์จิ้น) ค่อนข้างดี หากมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ทุกคนหันมาเล่นตลาดนี้ ซึ่งในปีหน้าก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาด เพราะผู้ประกอบการรายย่อยที่คิดดอกเบี้ยสูงจะลำบาก โดยเป้าหมายธุรกิจในปีหน้า MTC ตั้งเป้าสอดคล้องกับตลาดอยู่ที่ 20-25% หรือสินเชื่อปล่อยใหม่ 1.2 หมื่นล้านบาท จากปีนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท”
“นายวรพงศ วงษ์กะพันธ์” ผู้จัดการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเพิ่งเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยการตัดสินใจเข้ามาสู่ตลาดนี้จากเดิมที่บริษัททำแต่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ก็เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ที่สำคัญ สินเชื่อประเภทนี้ยังมีเล่มทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ส่งผลให้ความเสี่ยงน้อยกว่าพีโลนและบัตรกดเงินสดที่เป็น “คลีนโลน”
ทั้งนี้ หลังจากทดลองมาพักใหญ่ บริษัทก็เริ่มรุกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเต็มที่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมียอดอนุมัติประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 บริษัทจะเน้นการขยายธุรกิจ (scale up) โดยตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตจำนำทะเบียนรถเป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2564
สำหรับการร่วมทุนระหว่าง “ออมสิน” และ “ศรีสวัสดิ์” นั้น “นายวรพงศ์” บอกว่า ยังคิดว่าไม่น่าจะกระทบกับการกำหนดดอกเบี้ยในตลาดมากนัก เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยและคุณภาพในการให้บริการสินเชื่อแต่ละบริษัทมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะไม่ลงไปแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยจะคิดดอกเบี้ยที่ 21-24% ขึ้นอยู่กับข้อมูลรายได้และอาชีพของผู้ขอสินเชื่อเป็นสำคัญ
“เราคิดว่ากลุ่มลูกค้าที่โฟกัสจะไม่ทับซ้อนกัน โดยของทางออมสินน่าจะเน้นกลุ่มฐานราก ขณะที่เราจะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้าก็สามารถกู้ได้”
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้ดิจิทัลมาช่วยในการให้บริการ ในรูปแบบ “ดีลิเวอรี่” และความรวดเร็วอนุมัติสินเชื่อใน 2 ชั่วโมง เป็น “จุดขาย” หลัก โดยจะไม่ใช้กลยุทธ์การปูพรมขยายสาขา เนื่องจากมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่จะมีการใช้ช่องทางสาขาธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการรับสมัครขอกู้ ปัจจุบันเริ่มจากสาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลราว 20 สาขาแล้ว ซึ่งบริษัทจะอนุมัติวงเงินสูงสุดที่ 700,000 บาทขึ้นกับสภาพรถยนต์ด้วย ส่วนรถจักรยานยนต์ จะให้สินเชื่อเฉพาะรถที่ต่ำกว่า 400 ซีซี วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
“เรายังมีจุดเด่นที่รับเงินก้อนได้ทันทีในกรณีที่เอกสารครบ เช่น วงเงินอนุมัติ 700,000 บาท เราก็สามารถโอนให้ได้เลย 700,000 บาททันที หลังการอนุมัติ และในระยะข้างหน้าพยายามจะลดระยะเวลาอนุมัติให้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง”
“นายวรพงศ” กล่าวว่า บริษัทยังจับมือกับพันธมิตร อาทิ “ลาล่ามูฟ” ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น และแฟรนไชส์ “หมูทอดกอดคอ” ของบริษัท ฟู้ดแพชชั่น และจะขยายสู่พันธมิตรอื่นมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางขยายสินเชื่อในอนาคต
หวังว่าการแข่งขันที่มีมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อประชาชนผู้กู้เงิน ที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-559840
จำนวนผู้อ่าน: 2803
24 พฤศจิกายน 2020