การประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 เริ่มแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรีของไทย ร่วมถกผู้นำโลก เรื่องสภาพภูมิอากาศโลก
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12.00 น ตามเวลาท้องถิ่น ประเทศสกอตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26หรือ COP 26 โดยมีผู้นำจากทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรสเปนและประธานการประชุม COP25 จะกล่าวถ้อยแถลงเป็นอันดับแรก และพล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวในช่วงบ่าย
การประชุมครั้งนี้นี้ได้รับความสนใจอย่างคับคั่งจา.กทั้งประเทศที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนจากทั่วโลก ทำให้สถานที่ประชุมมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก และรอสัมภาษณ์ผู้นำในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งบรรยากาศภายนอกการประชุม มีกลุ่มผู้แสดงความคิดเห็น และเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องอยู่หน้าที่ประชุมด้วย
ก่อนการประชุม เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. น. ( เวลา 18.50 น.ตามเวลาประเทศไทย) พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเข้าห้องประชุมโดยใช้เส้นทางปกติ เพื่อดูบรรยากาศ และเปิดโอกาสให้สื่อต่างประเทศได้ถ่ายภาพ โดยกล่าวภายหลังติดตามการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของไทยว่า “ยินดีกับการท่องเที่ยวเมื่อเช้า ได้รับการรายงานอย่างต่อเนื่อง ขอให้คนไทยทุกคนทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี”
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาระหว่างรอพิธีการเปิดการประชุมฯ พบปะทักทายกับผู้นำจากทั่วโลก
อย่างเป็นกันเอง ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน รวมทั้ง การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปกในปีหน้าด้วย (2565) อาทิ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายอันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายซาบาห์ อัล-คาลิด อัล-ซาบาห์ นายกรัฐมนตรีคูเวต
การพบปะครั้งนี้ ได้มีการใช้ข้อศอกชนเพื่อทักทายกันแทนการจับมือ ถือเป็นการทักทายรูปแบบใหม่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก่อนขึ้นไปบนเวทีเพื่อพบกับนายบอริส จอหน์สัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
เมื่อเวลา 15.50 น ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเป็นภาษาไทย ต่อที่ประชุม COP 26 ว่า “ผมมาร่วมประชุมวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน”
“ในปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ ๐.๗๒ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส
คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ
ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี
นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC ฉบับปรับปรุงปี 2020 และจัดทำแผนงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุด ไทยได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้
วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมย์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050
ขณะนี้ประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และไทยจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
“สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว และโลกกำลังบอกเราว่าการประทุษร้ายธรรมชาติต้องยุติเพียงเท่านี้ เพื่อการดำรงไว้ซึ่งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศที่ทุกคนต้องหายใจร่วมกัน ดังนั้น มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิดและมีความอดทนอย่างสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี “แผนสอง” ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี “โลกที่สอง” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมและนายซาบาห์ อัล-คาลิด อัล-ซาบาห์ นายกรัฐมนตรีคูเวต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายอันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายบอริส จอหน์สัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-793665
จำนวนผู้อ่าน: 1353
02 พฤศจิกายน 2021