กทม.เตรียมกดปุ่มเมกะโปรเจ็กต์ เคลียร์งบฯลงทุน 1.1 หมื่นล้าน ก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ต้นปี’65 ขีดเส้นเบิกจ่ายจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือน ธ.ค. “บิ๊กวิน” สั่งเร่ง 7 โครงการ สำนักโยธาจ่อประมูลสะพานเกียกกายเฟส 3 ปิดจ็อบ “พรานนก-พุทธมณฑลสาย 4” ดันอีก 2 เส้นทางรวด เปิดเอกชนลงทุน PPP รถไฟฟ้า “บางนา-สุวรรณภูมิ” และ “วัชรพล-ทองหล่อ”
สัญญาณการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชัดเจนขึ้น หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 7 ก.ย. 2564 เห็นชอบตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นของ อปท. ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา และกำหนดไทม์ไลน์การเลือกตั้ง 28 พ.ย.-12 ธ.ค. 2564
โดยในส่วนของ กทม. การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) จะอยู่ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2565 ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า ผู้บริหาร กทม.ชุดปัจจุบันจะเร่งสปีดลงทุนโครงการขนาดใหญ่ก่อนการเมืองจะผลัดใบเปลี่ยนขั้ว แม้ 1-2 ปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจจะทำให้ กทม.มีงบฯลงทุนจำกัด เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2565 กทม.มีแผนประมูลก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และศึกษาและเตรียมแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ 2 เส้นทาง
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2565 แม้จะมีสัญญาณการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ แต่ กทม.จะเดินหน้าลงทุนโครงการสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่าง ๆ ตามแผนปกติ ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน ยังไม่ได้สั่งเร่งรัดโครงการใดเป็นพิเศษ แต่เน้นย้ำให้แต่ละโครงการทำตามกรอบและระยะเวลาที่กำหนดไว้
โครงการส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่ในข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ซึ่งได้กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งจัดทำรายการเบิกจ่ายงบประมาณตามขั้นตอน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ให้แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2564 และจะต้องเร่งลงนามในสัญญาจ้างกับเอกชนในแต่ละโครงการให้ได้ในช่วงต้นปี 2565
ส่วนการดำเนินการร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ปัจจุบันได้เริ่มต้นกระบวนการแล้ว โดยแต่ละสำนักงานเขต และสำนักต่าง ๆ ของ กทม. อยู่ระหว่างรวบรวมแผนงานและโครงการที่จำเป็นอยู่ คาดว่าจะทยอยรวบรวมแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2565 จากนั้นจะเร่งเสนอสภา กทม.พิจารณาตามขั้นตอนในช่วงกลางปี 2565
แหล่งข่าวจากสำนักการคลัง กทม.เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 กทม.มีงบประมาณในส่วนงบฯลงทุนรวม 11,462 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าครุภัณฑ์ 520.339 ล้านบาท และค่าที่ดิน และการก่อสร้าง 10,941.786 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็น ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 872,505 ล้านบาท, โครงการผูกพันงบประมาณต่อเนื่อง 9,805.45 ล้านบาท และโครงการผูกพันงบประมาณใหม่ 263.82 ล้านบาท
สำหรับโครงการใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มลงทุนในปี 2565 และเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของ พล.ต.อ.อัศวิน ประกอบด้วย 7 โครงการ วงเงินรวม 1,557.8 ล้านบาท ดังนี้ โครงการของสำนักการโยธา 6 โครงการ วงเงินรวม 1,403.2 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างบ้านพักผู้สูงอายุ บึงสะแกงาม ระยะที่ 2 วงเงิน 255 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2565-2566)
2.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 3 ซ.นราธิวาสฯ 7-ถ.จันทน์ วงเงิน 370 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2565-2566) 3.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 4 ถ.จันทน์-ถ.รัชดาภิเษก วงเงิน 250 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2565-2566)
4.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 5 ถ.รัชดาภิเษก-ถ.พระราม 3 วงเงิน 200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี 5.โครงการปรับปรุง ถ.แสมดำ ช่วง ถ.พระราม 2-คลองสนามชัย วงเงิน 268.99 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่อง 4 ปี (2562-2565) และ 6.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ถ.สีลม ช่วง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ทั้งสายทาง วงเงิน 59.21 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2565 และสำนักสิ่งแวดล้อม มี 1 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี ในโอกาสครบ 100 ปี ระยะที่ 1 วงเงิน 154.6 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2565-2566)
แหล่งข่าวจากสำนักการโยธาเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของสำนักการโยธา ในปี 2565 จะดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญ 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ตอนที่ 2 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 93-วัดแก้วจุฬามณี ระยะทาง 480 เมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท ซึ่งได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมบัญชีกลาง
และตอนที่ 3 เป็นทางยกระดับ และ ถ.ฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยา-สะพานแดง ระยะทาง 1.350 กม. วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท กำลังประเมินมูลค่าโครงการใหม่ เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอน คาดว่าจะเริ่มต้นกระบวนการประมูลได้ต้นปี 2565
ส่วนความคืบหน้าการเวนคืนที่ดิน อยู่ระหว่างรอ พ.ร.ฎ.เวนคืนสิ่งปลูกสร้าง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาแล้วบางส่วน คิดเป็นวงเงินประมาณ 10% ของงบประมาณในการเวนคืน 7,490 ล้านบาท ซึ่งงบฯดังกล่าว รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทั้งหมด โดยได้ทยอยจ่ายค่าเวนคืนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเรียบร้อยแล้วเกือบ 50%
ทั้งนี้ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย และถนนต่อเชื่อม ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 12,717.4 ล้านบาท แยกเป็น ค่าก่อสร้าง 5,225 ล้านบาท ซึ่งรัฐและ กทม.ออกค่าก่อสร้าง 50 : 50 ค่าเวนคืน 7,490 ล้านบาท รัฐอุดหนุน 100% งานก่อสร้างแบ่งได้ 5 ตอน ประกอบด้วย
1.ทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี จาก ถ.เลียบทางรถไฟสายใต้-ถ.จรัญสนิทวงศ์ ระยะทาง 1.05 กม. วงเงิน 4,015 ล้านบาท 2.สะพานข้ามแม่น้ำ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 93-วัดแก้วจุฬามณี ระยะทาง 480 เมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท 3.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนครจากแม่น้ำเจ้าพระยา-สะพานแดง ระยะทาง 1.350 กม. วงเงิน 1,000 ล้านบาท 4.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จากแยกสะพานแดง-ถ.กำแพงเพชร ระยะทาง 1.4 กม. วงเงิน 1,100 ล้านบาท และ 5.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จาก ถ.กำแพงเพชร-ถ.พหลโยธิน ระยะทาง 1.6 กม. วงเงิน 1,025 ล้านบาท
และ 2.โครงการก่อสร้างถนนพรานนก-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ช่วงที่การก่อสร้างยังคั่งค้างล่าช้า ช่วงถนนพุทธมณฑลสาย 2-ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ระยะทาง 3.4 กม. วงเงิน 1,532 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 จากนั้นจะเริ่มประมูลและดำเนินโครงการเดียวกันนี้ ในช่วงถนนพุทธมณฑลสาย 3-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ระยะทางประมาณ 3 กม. วงเงิน 1,300 ล้านบาทต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.เปิดเผยว่า สำนักจราจรและขนส่งได้จัดสัมมนาปฐมนิเทศโครงการรถไฟฟ้าภายใต้การผลักดันของ กทม. 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม. วงเงินลงทุน 27,892 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งมีการจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการใหม่ช่วงกลางปี 2564 คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2565 จากนั้น กทม.จะนำเสนอโครงการตามขั้นตอนให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในปี 2566
และ 2.โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 19 กม. วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท สถานะปัจจุบันได้ตัวบริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาศึกษา 2 ปี
ทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก แนวทางดำเนินการอาจต้องเลือกลงทุนในลักษณะ PPP เปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุน อย่างไรก็ตาม จากที่การดำเนินกิจการรถไฟฟ้าของ กทม.ยังติดพันกับเรื่องสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีหนี้ทั้งการเดินรถ และการจ้างก่อสร้างวงเงินรวมเกือบ 40,000 ล้านบาท
ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของ กทม.ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจลดลงมาก ทำให้แผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต้องเลื่อนระยะเวลาออกไป อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กทม.จะเร่งดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จไว้ก่อน เมื่อมีความพร้อมการผลักดันขั้นตอนการลงทุนจะทำได้โดยง่าย
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-803809
Person read: 1532
18 November 2021