เปิด 9 ขั้นตอนผลิตวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” จากสยามไบโอไซเอนซ์

เปิด 9 ขั้นตอนการผลิตวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ในไทย จากสยามไบโอไซเอนซ์

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จัดงาน “FROM LAB TO JAB” งานเสวนาผ่านระบบออนไลน์ : ครั้งแรกที่ได้ชมกระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้าผ่านระบบ virtual tour ภายในสยามไบโอไซเอนซ์ โดยมี ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้บรรยายขั้นตอนการผลิตและส่งมอบวัคซีนเป็นหลัก

พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโดย นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมเสวนา

ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า Vaxzevria หรือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า คือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ ซึ่งผลิตโดยการใส่สารพันธุกรรมส่วนของโปรตีนหนามแหลม (spike protein) ของไวรัส SARS-CoV-2 ไปในอะดีโนไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรค อะดีโนไวรัสนี้เป็นตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไป

แต่นำมาดัดแปลงพันธุกรรมจนกลายเป็นเชื้อพาหะที่ไม่ก่อให้เกิดโรค อะดีโนไวรัสที่ได้รับการดัดแปลงแล้วจะทำหน้าที่เป็น “พาหะ” ให้สารพันธุกรรมของโปรตีนหนามแหลมของไวรัส SARS-CoV-2 เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะสร้างโปรตีนนี้ขึ้นและจะกระตุ้นระบบการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรค วัคซีนนี้ดำเนินการผลิตด้วยกระบวนการทางชีวภาพโดยใช้เวลาประมาณ 120 วัน

9 ขั้นตอนการผลิตและส่งมอบวัคซีน

1.การพัฒนากระบวนการ

เพื่อเร่งการขยายกระบวนการผลิต เราได้สร้างกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ และสามารถสร้างกระบวนการผลิตแบบเดียวกันได้ในโรงงานอีกหลายแห่งทั่วโลก

การเพาะและเก็บเกี่ยววัคซีน (60 วัน)

2.การทำให้เซลล์เพาะเลี้ยงติดเชื้อ

เซลล์เพาะเลี้ยงที่มีชีวิตถูกทำให้ติดเชื้อโดยอะดีโนไวรัสเวกเตอร์ตัวฝากที่ถูกดัดแปลง เพื่อให้เซลล์เจ้าบ้านเพิ่มจำนวนเพื่อผลิตเป็นวัคซีน

3.การเพิ่มจำนวนเซลล์

-เมื่อไวรัสพาหะเบื้องต้นถูกผลิตแล้ว ยังต้องมีการเพิ่มจำนวนการผลิตอีกนับล้านเซลล์ โดยการให้เซลล์เจ้าบ้านเติบโตในถังปฏิกรณ์ชีวภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และถูกทำให้ติดเชื้อโดยเชื้อไวรัสตั้งต้น เพื่อสร้างวัคซีนเป็นผลผลิตสุดท้าย

 

เราสามารถผลิตวัคซีนมากกว่า 2,500 โดสจากเซลล์เจ้าบ้านหนึ่งลิตร แต่กระบวนการทางชีวภาพ การผันผวนในการผลิตนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ

4.การทำให้วัคซีนบริสุทธิ

จากนั้นวัคซีนจะถูกแยกออกจากเซลล์เจ้าบ้านและทำให้บริสุทธิ์

-ในการทำให้วัคซีนบริสุทธิ์ มีขั้นตอนการกรองหลายครั้งเพื่อกำจัดเศษเซลล์ที่ตายและของเสีย

การผลิตในขั้นสุดท้าย (30-60วัน)

5.การติดฉลาก และบรรจุภัณฑ์

ขวดบรรจุวัคซีนจะถูกติดฉลาก บรรจุลงหีบห่อ และเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือ 36-46 องศาฟาเรนไฮต์ เพื่อให้มั่นใจถึงความเสถียร และอายุการใช้งานของวัคซีนเมื่อมีการจัดเก็บ และขนส่งในอุณหภูมิที่เย็นตามกำหนด วัคซีนสามารถนำไปใช้ในระยะเวลาอย่างน้อยหกเดือน

6.การบรรจุและปิดผนึก

สารปรุงแต่ง เช่น น้ำ น้ำตาล และแร่ธาตุจะถูกเติมเข้าไปในการผลิตขั้นสุดท้าย แล้วจึงบรรจุวัคซีนลงในขวดยา

-ขั้นตอนนี้ทำในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจะต้องเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ และระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการมีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนของอากาศที่บริสุทธิ์

การส่งมอบวัคซีนสู่ชุมชน 7-14 วัน

7.การทดสอบเสร็จสมบูรณ์

มาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มีการทดสอบและควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดมากกว่า 60 รายการ ในทุกๆชุดการผลิต ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตออกมามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และได้คุณภาพตามมาตรฐาน

-การทดสอบวัดผลกระทบจากความร้อน แสง การแผ่รังสี และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่อวัคซีน

8.การรับรองรุ่นการผลิต

ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด และยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานกำกับดูแลยาเพื่อตรวจสอบวัคซีนแต่ละชุดอาจต้องใช้เอกสารหลายพันหน้าก่อนที่จะได้รับการอนุมัติให้นำไปใช้

9.การกระจายและส่งมอบ

ขนส่งวัคซีนไปยังศูนย์กระจายวัคซีนซึ่งรัฐบาลและองค์กรนานาชาติดูแลรับผิดชอบเพื่อดำเนินการแจกจ่ายต่อไป วัคซีนมากกว่า 2,000 ล้านโดสถูกแจกจ่ายไปมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-809477


Person read: 1275

26 November 2021