(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)
ศบค.ชุดใหญ่นัดถกวันนี้(26 พ.ย.) ปรับลดพื้นที่โซนสีแดงเข้ม เล็งผ่อนคลายสถานบันเทิงในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่สธ.ชงเปิดประเทศระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป พร้อมเปิดช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น หลังยอดติดเชื้อโควิดต่ำ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ จะเป็นประธานการประชุม ศบค. ชุดใหญ่
โดยจะมีการพิจารณาการปรับลดพื้นที่โซนสี ขอให้ไม่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิมที่คงเหลืออยู่ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยจะปรับทั้ง 6 จังหวัด ดังกล่าวไปอยู่โซนสีอื่น รวมถึงพิจารณาเรื่องการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวด้วย
ส่วนการพิจารณา ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ทางศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) จะเสนอขอให้ขยายเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีกประมาณ 2 เดือน หรือตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2564- 31 มกราคม 2565 เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมถึงพิจารณาเรื่องการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวในกลุ่มจังหวัดโซนสีแดงเข้มด้วย
วานนี้( 25 พ.ย.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2564 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 3 เรื่อง คือ 1.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตามแผนการเปิดประเทศระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยจะเริ่มรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว หากมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ตามเงื่อนไข
ปัจจุบันมี 63 ประเทศที่เดินทางเข้าไทยแบบไม่กักตัว หรือ Test & Go ซึ่ง สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามสถานการณ์และปรับมาตรการเป็นระยะ
2.ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-วัคซีนพาสปอร์ต ซึ่งเก็บอัตรา 50 บาทก็ยกเว้นให้ โดยให้บริการออกอี-วัคซีนพาสปอร์ตโควิด 19 มีหน่วยบริการรวม 120 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ กทม.และนนทบุรี 3 แห่ง คือ รพ.บางรัก สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ระดับเขต 7 แห่ง คือ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) เชียงใหม่ ราชบุรี สระบุรี ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี และสงลา และระดับจังหวัดอีก 110 แห่ง
3.แผนการจัดหายารักษาโควิด 19 ซึ่งวันนี้ลงนามจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว 5 หมื่นคอร์ส และขอความเห็นชอบจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์จำนวนเท่ากันคือ 5 หมื่นคอร์ส จำนวน 2 ล้านเม็ด ช่วยขยายฐานการเข้าถึงยา และศึกษาวิจัยทางคลินิกโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวร่วมกลุ่ม 607 หวังว่ายาเหล่านี้จะมาทำให้ประชาชนหากเจ็บป่วยก็มีทางเลือก มีความมั่นใจที่แพทย์จะดูแลพวกเขา และรักษาด้วยยาที่มีสรรพคุณที่ดี
ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องการเปิดประเทศระยะที่ 2 จะเสนอเข้า ศบค.วันที่ 26 พ.ย.นี้ โดยหลักๆ คือจะเปิดช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น สะดวกมากขึ้น เพราะดูข้อมูลแล้วว่า อัตราการติดเชื้อในคนที่เข้ามาในประเทศระยะแรกค่อนข้างน้อย
อย่างระบบ Test & Go เข้ามาติดเชื้อ 0.08% เป็นไปตามแผนที่นายกฯ กำหนดไว้ ดังนั้น 1.จะเสนอเปิดช่องทางเข้าประเทศมากขึ้น จากเดิมเฉพาะทางอากาศ ก็จะเปิดเพิ่มทางเรือและทางบก ซึ่งไม่ใช่ด่านบกทั้งหมดทั่วประเทศ แต่จะเลือกเฉพาะด่านที่มีความปลอดภัยเพื่อนำร่องก่อน และ 2.มีข้อจำกัดน้อยลง แต่ต้องเข้มข้นเรื่องการฉีดวัคซีน และการตรวจแล็บก่อนเข้าประเทศ
วานนี้( 25 พ.ย.) ศบค.รายงานตัวเลขที่ผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หลังเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-24 พฤศจิกายน 2564 มียอดสะสม 98,900 ราย พบผู้ติดเชื้อ 131 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.13%โดยมาจากระบบไม่กักตัว หรือ Test & Go มากที่สุด 77,026 ราย พบผู้ติดเชื้อ 62 คน แต่คิดเป็นอัตราการติดเชื้อเพียง 0.08% เท่านั้น
ขณะที่ระบบแซนด์บ็อกซ์ มีจำนวน 17,599 คน พบผู้ติดเชื้อ 35 คน คิดเป็นอัตราการติดเชื้อ 0.20% ส่วนระบบกักตัว (Quarantine) มีจำนวน 4,275 ราย อัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 0.80% ซึ่งมากที่สุดหากคิดเป็นอัตราส่วนของการติดเชื้อ (ตามตาราง)
เมื่อถามว่า จะเพิ่มหรือลดรายชื่อประเทศหรือไม่ เพราะประเทศแถบยุโรปติดเชื้อมาก นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า ส่วนรายชื่อประเทศที่จะเข้ามานั้น ที่ประชุม ศบค.มอบอำนาจให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประกาศ ถ้าต้องประกาศเพิ่ม กระทรวงการต่างประเทศก็จะประกาศไม่ต้องเข้าศบค.ใหม่ แต่แนวโน้มไม่น่าจะลดประเทศที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ เพราะประเทศเป็นเพียงต้นทาง ไม่สำคัญเท่าคนที่เข้ามา คือต้องฉีดวัคซีนครบทุกคน
ยกเว้นเด็กที่ฉีดไม่ได้ ต้องตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเข้ามาแล้วก็ตรวจ RT-PCR ซ้ำ แต่อาจจะปรับเป็นการตรวจ ATK ถ้าศบค.เห็นชอบ
แต่การเปลี่ยนวิธีตรวจต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าประกาศวันนี้แล้วพรุ่งนี้เปลี่ยนเลย ต้องมีเวลาเตรียมตัวว่าใครเป็นคนตรวจ รอผลตรวจจะรอที่ไหน ใครรับผิดชอบ เพราะแต่ละวันระบบ Test & Go มีคนเข้ามา 5 พันกว่าราย เชื่อว่าถ้าเราเปิดมากกว่านี้ จะมีคนเข้ามามากกว่านี้หลายหมื่น ก็ต้องวางระบบให้ดีก่อน แล้วค่อยดำเนินการ
เมื่อถามว่า เราตรวจเจอคนเดินทางเข้ามาในอัตราต่ำ แต่พอเข้ามาแล้วมีอัตราการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน นาแพทย์โอภาส กล่าวว่า ถือว่าไม่เยอะ เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศไทย จากข้อมูลที่รวบรวมจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก็พบว่าไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดในภูเก็ตเพิ่มขึ้น ย้ำว่าเข้ามาแล้วจะไม่ติดเชื้อ แต่การติดเชื้อในระดับต่ำที่ยอมรับได้เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในประเทศ
ส่วนมาตรการ COVID Free Setting ก็อาจเจอการรั่วติดเชื้อขึ้นได้ แต่จะให้คุม 100% ไม่ต้องทำอะไร หรือจะผ่อนคลาย แต่รั่วมาแล้วมีมาตรการเสริม เช่น ฉีดวัคซีน มียา การควบคุมโรค คนก็จะใช้ชีวิตตามปกติ เป็นการสมดุลการควบคุมโรคและใช้ชีวิต ส่วนจะเปิดกิจการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างผับบาร์ก็จะเป็นไปตามระยะ ศบค.จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศปก.สธ.เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
โดยสาระสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2564 – 16 มกราคม 2565 เปิดดำเนินการเฉพาะพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัดให้เปิดแบบกำหนดเวลา และ งดกิจกรรม ดังนี้ 1.งดให้บริการคาราโอเกะ 2.งดจัดพื้นที่เต้นรำส่วนกลาง 3.งดบริการเครื่องดื่มที่มีการใช้แก้วเดียวกัน และ 4.งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และการให้บริการที่คลุกคลี และใกล้ชิดกับลูกค้า
สำหรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค 1.สถานประกอบการต้องลงทะเบียนและทำการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid 2 Plus 2.ยกระดับมาตรการ Covid Free Personal 3.ยกระดับ Covid Free Customer และ 4.ยกระดับ Covid Free Environment
นอกจากนี้ที่ประชุมยังกำหนดให้ลูกค้าและผู้ใช้บริการ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และผลตรวจ ATK ก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง รวมถึงการกำกับติดตามการเปิดดำเนินการอย่างใกล้ชิด และพิจารณากำหนดบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด
อย่างไรก็ตามต้องจับตาว่า สธ.จะมีการนำเสนอวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการผับ บาร์ คาราโอเกะ นำโดย นายอนันต์ สุวรรณปาน ผู้บริหารโรงเหล้าแสงจันทร์ พร้อมตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการผับ บาร์ คาราโอเกะ และตัวแทนศิลปิน อ.ไข่ มาลีฮวนน่า เข้าพบ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเสนอแนวทางการปฏิบัติงานของสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ก่อนเปิดให้บริการ และแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โควิด-19
ทางด้าน ศ.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วงนี้ว่า สถานการณ์การระบาดในทวีปต่างๆ โดยเฉพาะเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย การระบาดเริ่มลดลงอย่างชัดเจน ยกเว้นทวีปยุโรปที่กลับมาระบาดใหม่และอยู่ในช่วงขาขึ้น เช่น ประเทศออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และอิตาลี
ที่น่าเป็นห่วงคือเป็นฤดูหนาว สาเหตุหนึ่งเพราะผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ให้ทำกิจกรรมและเปิดหน้ากาก เนื่องจากมั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีน ทำให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตไม่สูง แต่หากเสียชีวิตทุกวันก็จะเป็นตัวเลขที่มากเช่นกัน
• จังหวัดของคุณเป็นพื้นที่สีอะไร? ทำอะไรได้บ้าง? ตามประกาศใหม่ ศบค.
• ศบค.ลดพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 6 จังหวัด เลื่อนเปิดสถานบันเทิง 16 ม.ค. 65
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-809614
Person read: 1938
26 November 2021