“กรุงเทพประกันภัย” ยอดเคลมโควิดพุ่งเป็น 2 เท่า ชี้สภาพคล่องเพียงพอจ่าย

กรุงเทพประกันภัย ประชุมร่วม คปภ.เตรียมพร้อมจัดการสินไหมประกันโควิด เหลือคุ้มครองกว่า 1.4 ล้านกรมธรรม์ พบเดือน ม.ค.65 ยอดเคลมพุ่งเป็น 2 เท่าจากเดือน ธ.ค.64 หรือกว่า 360 เคลมต่อวัน

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงการประเมินสถานการณ์ของการประกันภัยโควิดในปัจจุบันว่า กรมธรรม์ประกันภัยโควิดของบริษัทที่ยังมีผลบังคับและให้ความคุ้มครองอยู่ในขณะนี้มีอยู่จำนวนกว่า 1.4 ล้านกรมธรรม์ เป็นกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบ รวมจำนวน 1.1 ล้านกรมธรรม์

ซึ่งกรมธรรม์ส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองในเดือนเมษายน 2565 และจะทยอยสิ้นสุดความคุ้มครองครบ 100% ในเดือนมิถุนายน 2565 โดยมีวงเงินค่าสินไหมทดแทนเฉลี่ยต่อรายประมาณ 43,000 บาท

และตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงปัจจุบันที่การระบาดจากการติดเชื้อโควิดของไทยพบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนในวงกว้าง ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนการเคลมสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดของบริษัท ที่สอดคล้องกับอัตราการติดเชื้อในภาพรวมเช่นเดียวกัน

กล่าวคือ ยอดการเคลมสินไหมทดแทนในเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากค่าเฉลี่ยของยอดเคลมในเดือนธันวาคม 2564 หรือจากยอดเคลมเฉลี่ย 160 เคลมต่อวัน ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยกว่า 360 เคลมต่อวัน ขณะที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง สามารถแยกกักตัวที่บ้านและดูแลแบบ Home Isolation ได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในหรือรักษาตัวในฮอลพิเทล

โดยโรงพยาบาลจะมีการพิจารณาอย่างเหมาะสมในการรักษาแบบผู้ป่วยในตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ได้แก่

– มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
– หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที (ในผู้ใหญ่)
-Oxygen Saturation น้อยกว่า 94%
– โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
– สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

จากเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้สัดส่วนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดสำหรับค่ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลลดลง รวมถึงการเคลมสินไหมทดแทนจากภาวะอาการโคม่าลดลงด้วยเช่นกัน จากจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลง ทำให้ในภาพรวมมีจำนวนการเคลมต่อคนลดลง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด บริษัทได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ในการประเมินสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อในประเทศสำหรับปี 2565 จากสถานการณ์ต่างๆ ไว้ 3 ระดับ คือ

 

– กรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 16,000 คนต่อวัน บริษัทฯ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด 3,000 ล้านบาท
– กรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 26,000 คนต่อวัน บริษัทฯ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด 6,000 ล้านบาท
– กรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 34,000 คนต่อวัน บริษัทฯ จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุด 7,000 ล้านบาท

แม้ขณะนี้จะมีลูกค้าที่แจ้งเคลมสินไหมประกันภัยโควิดเฉลี่ยปริมาณกว่า 360 เคลมต่อวัน แต่
บริษัทยังคงสามารถบริหารจัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตรวจสอบพบว่า เอกสารที่ส่งมาเบิกเคลมค่าสินไหมทดแทนบางส่วนเป็นเอกสารที่มีการปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเคลมประกันภัย เช่น ใบรับรองผลการตรวจ RT-PCR

ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัท จึงต้องมีความระมัดระวังและมีการตรวจสอบละเอียดมากขึ้นจากการเคลมฉ้อฉลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทจะดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ขอสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าว่า บริษัทมีความพร้อมสูงในการบริหารจัดการความเสี่ยง

โดยมีสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอสามารถรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ประเมินไว้ข้างต้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนมากกว่า 200% เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด (Total Capital Available) มีจำนวนกว่า 31,700 ล้านบาท

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-857589


จำนวนผู้อ่าน: 1160

04 กุมภาพันธ์ 2022