ย้อนรอยเหตุป่วนโอลิมปิก ภัยธรรมชาติ สงคราม คว่ำบาตร คำสาป ?

REUTERS/Florence Lo/File Photo

อุปสรรคปัญหาในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาจากหลายสาเหตุ ทั้งภัยธรรมชาติ สงคราม การคว่ำบาตร หรือแม้แต่คำสาป ? 

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาว 2022 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพได้เปิดฉากขึ้นแล้วในวันนี้ ท่ามกลางสายตาของชาวโลกที่จับจ้องว่ามหกรรมกีฬาครั้งนี้จะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่

เนื่องจากความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 รวมถึงความขัดแย้งที่จีนเผชิญ จากข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความขัดแย้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับจีนโดยตรงอย่างวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้โลกต้องแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในช่วงการจัดโอลิมปิกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และบางครั้งหนักหนาถึงขั้นต้องย้ายสถานที่จัดงานเลยทีเดียว

ย้ายสถานที่จัดเพราะภูเขาไฟ

เมื่อปี 1904 กรุงโรมของอิตาลีเอาชนะเมืองต่าง ๆ เช่น เบอร์ลิน และตูริน ได้สิทธิเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1908 แต่ในช่วง 2 ปีของการเตรียมจัดงาน ปรากฏว่าเกิดภัยพิบัติภูเขาไฟวิสุเวียสปะทุ สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับเมืองต่าง ๆ รอบภูเขาไฟ ทั้งยังทำให้เมืองเนเปิลส์กลายเป็นอัมพาต และจากภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูนี้เอง ทำให้อิตาลีต้องยกเลิกการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

แต่ถึงกระนั้นเหตุภูเขาไฟปะทุไม่สามารถยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกได้ ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้เลือกกรุงลอนดอนให้เป็นเจ้าภาพแทนกรุงโรม โดยให้เวลาในการเตรียมตัวกับลอนดอนเพียง 10 เดือน อย่างไรก็ตาม สมาคมโอลิมปิกแห่งอังกฤษได้ใช้เวลานั้นอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างสนามกีฬาเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกโดยเฉพาะ

ยุโรปเข้าสู่สงคราม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 1914 กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีกำลังเตรียมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1916 เป็นอย่างดี โดยมีการสร้างสนามกีฬาใหม่ ซึ่งในพิธีเปิดมีการเดินขบวนพาเหรดต่อหน้าพระพักตร์ ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งปรัสเซียและจักรวรรดิเยอรมนี

เนื่องจากหลายประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปอยู่ในภาวะสงคราม คณะผู้จัดฯจึงพิจารณาย้ายสถานที่จัดการแข่งขันโอลิมปิก 1916 ไปยังดินแดนที่เป็นกลางมากขึ้นอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เข้าร่วมสงคราม

แต่หลังจากนั้นก็ยังคงมีปัญหาตามมาอีก เนื่องจากมีผู้ชายไม่มากพอจะเข้าร่วมการแข่งขัน โดยในเดือนธันวาคม 1914 นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า การแข่งขันกีฬาดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะถูกยกเลิก เนื่องมาจากสงคราม และท้ายที่สุดโอลิมปิก 1916 ก็ถูกยกเลิกไป

ปี 1920 การแข่งขันโอลิมปิกกลับมาจัดที่เมืองแอนต์เวิร์ปของเบลเยียม ซึ่งมีการปล่อยนกพิราบในพิธีเปิดเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ และผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้กล่าวคำปฏิญาณตนในพิธีเปิดเป็นครั้งแรก

ในอีก 2 ทศวรรษต่อมา การแข่งขันโอลิมปิกยังคงดำเนินไปตามปกติ และมีการเพิ่มโอลิมปิกฤดูหนาวขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1924

การคว่ำบาตรนาซีและสงครามโลกครั้งที่ 2

คณะกรรมการโอลิมปิกสากลตัดสินให้กรุงเบอร์ลินเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 1936 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการกลับคืนสู่ประชาคมโลก หลังเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” และการกีดกันนักกีฬาชาวยิวจากการแข่งขัน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมาก ส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิก 1936 ทั่วสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน และประเทศอื่น ๆ

แม้ว่าการแข่งขันจะยังดำเนินต่อไปในปีนั้น แต่ก็ถูกสร้างความเสียหายด้วยโฆษณาชวนเชื่อให้แบ่งแยกเชื้อชาติ และการแข่งขันครั้งนี้ได้กลายเป็นการแข่งขันครั้งสุดท้าย ก่อนเว้นช่วงนานกว่าทศวรรษ เนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2

ในปี 1940 ญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาฤดูร้อนที่กรุงโตเกียว ส่วนการแข่งขันฤดูหนาวจัดขึ้นที่ซัปโปโร แต่หลังจากสงครามกับจีนปะทุขึ้นในปี 1937 ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ขู่จะคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้ ญี่ปุ่นยอมเสียสิทธิการเป็นเจ้าภาพ โดยอ้างเหตุผลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายจากสงคราม และเหตุน้ำท่วมในกรุงโตเกียว โยโกฮาม่า และโกเบ

คณะผู้จัดงานฯพิจารณาว่าจะย้ายไปจัดที่ฟินแลนด์หรือเยอรมนี แต่ท้ายที่สุดก็เลือกกรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ อย่างไรก็ตาม ในปี 1940 สหภาพโซเวียตบุกฟินแลนด์ ทำให้ไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้น

สงครามแพร่กระจายไปทั่วโลกกระทั่งถึงปี 1945 ทำให้คณะผู้จัดงานฯต้อ้งยกเลิกการแข่งขันฤดูร้อนที่กรุงลอนดอน และฤดูหนาวที่เมืองคอร์ติน่า ดอมปาซโซ่ ทางตอนเหนือของอิตาลี

การคว่ำบาตร

ตามประวัติศาสตร์แล้ว มีบางครั้งที่ประเทศต่าง ๆ ประกาศคว่ำบาตรหรือถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก เช่นในการแข่งขันปี 1964 ที่แอฟริกาใต้ถูกห้ามเข้าร่วมการแข่งขันเนื่องจากนโยบายการแบ่งแยกสีผิว

ปี 1976 เมืองเดนเวอร์ถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพ หลังจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐโคโรลาโดส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่ต้องการจ่ายเงินเพื่อจัดการแข่งขันนี้

ส่วนเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์คือกรณีที่สหรัฐฯเป็นผู้นำการคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงมอสโกของรัสเซีย เพื่อประท้วงการรุกรานอัฟกานิสถานของรัสเซีย เหตุการณ์นั้นมี 66 ประเทศเข้าร่วมการคว่ำบาตร ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น แคนาดา และเยอรมนีตะวันตก

 

4 ปีต่อมา รัสเซียได้พลิกกระทำ และเป็นผู้นำ 14 ประเทศคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิก 1984 ที่นครลอสแองเจลิสของสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรเมื่อปี 1980

โตเกียวกับคำสาปทุก 40 ปี

แต่ในขณะที่การแข่งขันโอลิมปิกผ่านพ้นปัญหาการคว่ำบาตรที่ดำเนินยาวนานนับสิบปี บางคนเชื่อว่าโอลิมปิกนั้นถูกสาป โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2020 “ทาโร อาโสะ” รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น ออกมาคร่ำครวญถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก เนื่องจากการระบาดของโควิด

“มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุก ๆ 40 ปี มันเป็นโอลิมปิกต้องคำสาป และนั่นคือความจริง” เขากล่าว พร้อมกับชี้ไปถึงการยกเลิกโอลิมปิก 1940 และการคว่ำบาตรที่นำโดยสหรัฐฯ เมื่อปี 1980

แต่ท้ายที่สุดญี่ปุ่นก็จัดโอลิมปิก 2020 ได้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องเลื่อนการจัดงานไป 1 ปีก็ตาม

บางทีนั่นอาจเป็นเพราะคำสาปใช้ไม่ได้ผลในปีที่ 41

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-857632


จำนวนผู้อ่าน: 1709

04 กุมภาพันธ์ 2022