อันตรายจาก ไฟลัดวงจร

1. ไฟฟ้าลัดวงจรหรือกระแสไฟฟ้าลัดวงจรคืออะไร

  1. กระแสไฟฟ้าลัดวงจร คือ การที่ จุด 2 จุด ในวงจรไฟฟ้าหรือส่วนของวงจรไฟฟ้าซึ่งมีศักดาไฟฟ้าต่างกัน (มีแรงดันไฟฟ้าต่างกัน) มาแตะหรือสัมผัสกัน หรือมีตัวนำซึ่งมีค่าความต้านทานต่ำ ๆ มาสัมผัสกันระหว่าง 2 จุดนั้นทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลระหว่าง 2 จุด นั้นจำนวนมาก (เกิดการถ่ายเทพลังงานกัน) เรียกว่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจร

2. ผลของกระแสไฟฟ้าลัดวงจรเป็นอย่างไร การเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรจะทำให้เกิดผลดังนี้

  1. เกิดความร้อน เกิดประกายไฟขึ้นที่จุดบริเวณที่เกิดการลัดวงจรซึ่งหากมีสิ่งที่ติดไฟได้อยู่ใกล้ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอัคคีภัยขึ้นซึ่งเราก็เคยได้ยินบ่อย ๆ ในเรื่องนี้
  2. ทำให้ฉนวนของกระแสไฟฟ้าบริเวณจุดที่ลัดวงจรเสื่อมหรือชำรุด เนื่องจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรมีปริมาณมากกว่าปกติมากเป็นเหตุให้เกิดความร้อนในสายและจุดลัดวงจรมาก ถ้าอุปกรณ์ตัดตอนกระแสไฟฟ้า เช่น เบรกเกอร์ขัดข้องไม่ทำงานหรือฟิวส์ไม่ขาดจะทำให้เกิดการลัดวงจรอยู่นานซึ่งนอกจากฉนวนดังกล่าวจะเสื่อมชำรุดแล้วยังทำให้เกิดอัคคีภัยได้
  3. ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดหรือเสียหายหากเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรทีภายในอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า อันเนื่องมาจากความร้อนและประกายไฟที่เกิดขึ้นดังกล่าว
  4. ทำให้สูญเสียไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าโดยเปล่าประโยชน์เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ลัดวงจร ไม่ใช่กระแสไฟฟ้าปกติในวงจร แต่เป็นกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่สูญเปล่าในรูปความร้อนซึ่งทำให้เกิดผลเสียดังกล่าวโดยเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้รับประโยชน์จากกระแสไฟฟ้าส่วนนี้เลย แต่กลับทำให้แรงดันไฟฟ้าตก และอาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้เช่นมอเตอร์
  5. ทำให้เกิดอันตรายหากอยู่ใกล้หรืออยู่ในจุดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรโดยอาจถูกประกายไฟลวกหรือกระเด็นเข้าตา หรืออาจถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้ หากมีส่วนของร่างกายที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระเบิดอันตรายได้ เช่น เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรภายในหม้อแปลงที่ระบายความร้อนด้วยของเหลว หรือคาปาซิเตอร์ที่บรรจุของเหลวภายใน

3. สาเหตุที่ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร สาเหตุที่ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจรมีดังนี้

  1. เกิดจากฉนวนสายไฟชำรุด หรือพันเทปจุดต่อสาย หรือจุด ต่าง ๆ ในวงจรไม่ดี ทำให้ส่วนของวงจรมาแตะกัน หรืออยู่ใกล้กันมาก ๆหรือมีสื่อไฟฟ้ามาแตะจึงเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรดังกล่าวแล้ว
  2. เกิดจากการใช้กระแสไฟฟ้าไม่ถูกวิธี เช่น ฉนวนสายไฟฟ้าใกล้แหล่งที่มีความร้อน ถูกขอหนักกดทับ ถูกของมีคมบาด เกิดการเสียดสีเกิดการหักพับบ่อย ๆ หรือใช้กระแสไฟฟ้าเกินกำลังที่สายไฟจะรับได้ เช่น ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเครื่องที่เต้ารับอันเดียวหรือต่อไฟฟ้าจากจุดเดียวไปใช้หลาย ๆ จุด ซึ่งสิ่งดังกล่านี้จะทำให้ฉนวนสายไฟฟ้าเสื่อม ชำรุด เกิดการลัดวงจรดังกล่าว
  3. เกิดจากสายไฟฟ้าที่เปลือย (ไม่มีฉนวนหุ้ม) ซึ่งเดินบนฉนวนเช่น ลูกรอกลูกถ้วนแกว่งมาใกล้กันหรือแตะกันหรือมีสิ่งที่เป็นสื่อไฟฟ้ามาแตะระหว่างสายไฟฟ้านั้น
  4. เกิดจากสายไฟฟ้าขาดและส่วนหนึ่งที่เป็นตัวนำของสายไฟฟ้า ซึ่งยังมีแรงดันไฟฟ้าไปแตะสายในวงจรอื่น หรือแตะพื้นดินทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร แต่ถ้าสิ่งไปแตะนั้นมีค่าความต้านทานไฟฟ้ามากก็จะเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วไปยังสิ่งนั้นยังไม่เกิดการลัดวงจรหากเกิดกระแส ไฟฟ้ารั่วอยู่นานก็อาจเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรตามมาได้

4. แนวทางป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรในอาคาร

  1. เลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม (เป็นฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์) เมื่อฟิวส์ขาดต้อง ใช้ขนาดเดิมไม่ควรใช้ ขนาดที่ใหญ่ขึ้น หรือดัดแปลงใช้วัสดุตัวนำอื่นมาทดแทน
  2. ตรวจสอบสายไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นประจำเมื่อพบว่าชำรุดควรรีบซ่อมบำรุง โดยเฉพาะไฟฟ้า ที่ฉนวนชำรุด
  3. ดูแลรักษาและทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นประจำเช่น ในแผงสวิทช์และไฟต่างๆเพราะอาจมีตัวแมลง เข้าไปทำรัง หรือมีฝุ่นละอองเกาะ
  4. เลือกใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพอาจดูได้จากเครื่องหมายรับประกันคุณภาพรับรองคุณภาพ ของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

 

ขอบคุณบทความจาก : เซฟ ที คัท โกลด์ ​​​​​​​


จำนวนผู้อ่าน: 3603

27 กรกฎาคม 2017