การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก โดยมากมักจะมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ ความประมาท ขาดความระมัดระวัง ซึ่งกลไกการบาดเจ็บจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับความร้อน อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ ดีกรีความลึกของบาดแผล และขนาดความกว้างพื้นที่ของบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้น ๆ

บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แบ่งเป็น 3 ระดับ โดยดูจากดีกรีความลึกของบาดแผล
           ดีกรีความลึกระดับ 1 คือ บาดแผลอยู่แค่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยปกติจะหายเร็วและไม่เกิดแผลเป็น
           ดีกรีความลึกระดับ 2 คือ บาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ บาดแผลประเภทนี้ถ้าไม่มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน มักจะหายภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความลึกของบาดแผลจากอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดร่องรอยผิดปกติของบริเวณผิวหนัง หรืออาจมีโอกาสเกิดแผลเป็นแผลหดรั้งตามได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง
 *กรณีถูกไฟไหม้ หากบาดเจ็บไม่ลึกมากก็จะพบว่าบริเวณผิวหนังจะมีตุ่มพองใส เมื่อตุ่มพองนี้แตกออกบริเวณบาดแผลเบื้องล่างจะเป็นสีชมพู และผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนมาก แต่ถ้าพยาธิสภาพค่อนข้างลึกจะพบว่าสีผิวหนังจะเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือขาว ไม่ค่อยเจ็บ
           ดีกรีความลึกระดับ 3 คือ ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน บาดแผลเหล่านี้มักจะไม่หายเอง มีแนวโน้มการติดเชื้อของบาดแผลสูง และมีโอกาสเกิดแผลหดรั้งตามมาสูงมาก ถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง

สิ่งแรกที่ควรทำ เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
     - ล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้
     - หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด แล้วสังเกตว่าถ้าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์
   * แต่ถ้าไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใด ๆ ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการตอบสนองต่อตัวยาไม่เหมือนกัน จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

ข้อห้าม เมื่อโดนไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
      - ไม่ควรใส่ตัวยา/สารใด ๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะ”ยาสีฟัน” “น้ำปลา” เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น

โดยการรักษาเริ่มตั้งแต่...
      - การใช้ยาทาในระยะเริ่มต้น
      - การใส่ชุดผ้ารัดในกรณีที่รอยแผลจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกมีแนวโน้มที่จะนูนมากขึ้น และไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาทา
      - ฉีดยาลบรอยแผลเป็น ซึ่งจะทำได้ในกรณีที่เกิดรอยแผลนูนและไม่ตอบสนองต่อการใส่ชุดผ้ารัด
      - ผ่าตัดแก้ไข โดยแพทย์จะต้องทำการประเมินลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของบาดแผลหดรั้งเหล่านั้น....
* โดยทั่วไปช่วงอายุของผู้ป่วยไม่เป็นอุปสรรคในการรักษาบาดแผล และวิทยาการการรักษา ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก

เมื่อผ่านขั้นตอนการรักษาแล้ว อย่าละเลยที่จะดูแลตนเอง โดย....
     1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นผล หรืออะไรก็ตามที่จะทำให้ระคายเคือง
     2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ทุกชนิด เพราะหากโดนบริเวณแผล ก็อาจทำให้คันหรือมีการติดเชื้อได้ง่าย
     3. รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อเสริมการสร้างเนื้อเยื่อใหม่บริเวณบาดแผลให้บาดแผลสมานปิดเร็วขึ้น
     4. หมั่นทายา/รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญต้องรักษาความสะอาดแผลให้ดี

      อุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากความประมาทแทบทั้งสิ้น ถ้าต้องทำอาหารและอาจต้องสัมผัสของร้อน ควรระมัดระวังและป้องกันตนเองให้ดี ในบ้านที่มีเด็กเล็กควรระมัดระวังและจัดหาสถานที่ ๆ วางวัสดุที่มีความร้อนให้เหมาะสมให้ห่างจากมือเด็กเอื้อมถึงได้ ส่วนบุคลากรที่ต้องทำงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องทำความร้อนต่าง ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับเปลวไฟหรือเปลวเพลิงสูง ควรมีการป้องกันตนเองให้เหมาะสมด้วย เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติภัยไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนี้ครับ.

ที่มา: www.si.mahidol.ac.th


จำนวนผู้อ่าน: 3639

25 กันยายน 2017