ข่าวประชาสัมพันธ์

กฟผ.อัดงบลงทุน 6 แสนล้าน รับแผน PDP ผุดโรงไฟฟ้าใหม่ชิงแชร์ 31%

กฟผ.วาดแผนลงทุนระยะ 10 ปี ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 พร้อมทุ่มเงินลงทุนอีก 600,000 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 โรง ยกเครื่องโรงไฟฟ้าเดินเบา พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้าไทยเป็นฮับเชื่อมโยงการขายไฟอาเซียน มั่นใจรายได้ไม่สะเทือนแม้ส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าจะหดจาก 35% เหลือ 24% หวังแบ่งเค้ก “โรงไฟฟ้าใหม่” สัดส่วน 11% ของกำลังผลิตรวมที่ยังไม่เคาะว่าใครจะได้ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าและระบบสายส่ง เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2018 ครอบคลุมระยะเวลา 20 ปี (2561-2580) ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้ โดยสาระสำคัญของแผน PDP ฉบับใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปจาก PDP ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (PDP 2015) ด้วยการกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าพลังงานอาทิตย์จากภาคประชาชน เพิ่มขึ้นถึง 10,000 เมกะวัตต์ (MW) นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนการผลิตตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของแต่ละภูมิภาค หรือการจัดสรรโรงไฟฟ้าหลักรายภูมิภาครวม 7 ภูมิภาค ส่งผลให้ กฟผ.ต้องดำเนินนโยบาย 3 ด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP 2018 ได้แก่ การดูแลความมั่นคงของพลังงาน, การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ไทยเป็น “ฮับ” ด้านการซื้อขายไฟฟ้าในอาเซียน และการเตรียมการเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน   โดยในช่วง 10 ปีแรกของแผน PDP ฉบับใหม่ (2561-2570) กฟผ.จะใช้งบฯการลงทุนประมาณ 600,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การสร้างโรงไฟฟ้าหลัก 300,000 ล้านบาท และระบบจ่ายไฟ-สายส่งอีก 300,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีแรก (2561-2565) กฟผ.จะใช้สำหรับศึกษาแนวทางการลงทุน และหลังจากนั้นในอีก 5 ปีถัดมาจะพิจารณาแหล่งเงินทุนควรจะมาจากการระดมทุนหรือการกู้เงินในประเทศ สำหรับแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักวงเงิน 300,000 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นจะใช้สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลัก 8 โรง รวมกำลังการผลิต 5,400 MW ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น กำลังการผลิต 650 MW ผลิตไฟเข้าสู่ระบบในปี 2568, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 2 โรง กำลังผลิต 700 MW กับ 1,400 MW ผลิตไฟเข้าสู่ระบบปี 2569 และปี 2570, โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 3 โรง โรงละ 700 MW ผลิตไฟเข้าสู่ระบบ ในระหว่างปี 2570-2571-2572 และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 700 MW ผลิตไฟเข้าสู่ระบบ ปี 2578 โดย 7 โรงจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ยกเว้นโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะใช้ถ่านหินลิกไนต์ กำลังผลิต 600 MW ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบปี 2569 “ตามแผน PDP 2018 กำหนดสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายไฟจาก กฟผ.ตลอดทั้งแผนจะอยู่ที่ 24% หาก กฟผ.สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผนทั้งหมด จะส่งผลให้ กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศประมาณ 31% ลดลงจากปัจจุบันที่ กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตอยู่ประมาณ 35% แม้สัดส่วนกำลังผลิตจะลดลง แต่เชื่อว่า กฟผ.สามารถรักษาระดับรายได้จากการขายไฟฟ้าไว้ได้ นอกจากนี้ ในแผน PDP ยังกำหนดประเภทโรงไฟฟ้าใหม่ไว้ส่วนหนึ่ง โดยมีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 11% ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการสรุปว่า จะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใด แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ กฟผ.จะได้รับส่วนแบ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ด้วย เนื่องจากแผน PDP 2018 จะมีการทบทวนทุก ๆ 5 ปี” นายวิบูลย์กล่าว ขณะที่สัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) มีสัดส่วน 13% ลดลงจากปัจจุบันที่ 33%, กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ISP) อีก 18% นอกจากนี้ ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) พลังงานทดแทนอีกประมาณ 35% ส่วนกรณีที่แผน PDP ฉบับใหม่ ไม่มีการระบุโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เข้าไว้ในแผนนั้น นายวิบูลย์กล่าวว่า การพิจารณาว่าจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการกันอยู่ และหากจำเป็นจะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไปใน SEA จะต้องบอกด้วยว่า โรงไฟฟ้านั้นจะต้องตั้งอยู่ตรงไหน ในชั้นนี้ถึงแม้จะไม่มีการระบุโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ไว้ในแผน PDP ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อ กฟผ. เนื่องจากยังไม่มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการทั้ง 2 นายวิบูลย์ยังกล่าวถึงกระแส disuptive technology จากเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั้น จะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) เกิดมากขึ้น ซึ่งตามแผน PDP 2018 ก็ได้กำหนดการผลิตไฟฟ้าประเภทนี้ไว้ให้สอดรับกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์มที่จะมีมากขึ้น แต่ด้วยเหตุที่พลังงานจากแสงแดดและลมจะมีความผันผวน ไม่แน่นอน หรือไม่เสถียร เมื่อเทียบกับกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้พลังงานความร้อน ดังนั้น กฟผ.จะต้องปรับระบบของโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังผลิตไฟกลับมาได้ทันกับความต้องการในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเร็ว เช่น เดิมต้องใช้เวลาต้มน้ำอุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่หากจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในช่วงต่อเนื่องช่วงที่กำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์และวินด์ลดลง กฟผ.ต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ภายใน 10 นาที เพื่อให้ไฟไม่ดับ เป็นต้น “เราได้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ และโรงไฟฟ้าใหม่ให้เดินเครื่องรอบต่ำและไม่ดับ หรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าเดินเบา จากเดิม 30-45% ให้เหลือ 20-30% นั่นคือต้องมี flexible power plant เพื่อให้สามารถตีกลับไปผลิตกระแสไฟฟ้าเดิน 80-90% ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจใช้เวลา 10 นาที เพราะหากไม่ทันไฟจะดับได้ และยังต้องพัฒนาระบบจัดเก็บไฟฟ้าสำรองเพื่อถ่วงเวลาไว้ 15-20 นาที ในช่วงที่โรงไฟฟ้ากำลังเร่งเครื่องผลิต เบื้องต้นคาดว่าหากพัฒนาระบบจัดเก็บ 20 MW ก็จะต้องใช้เงินลงทุนสถานีละ 800 ล้านบาท โดยจะนำร่องในโรงไฟฟ้าหลัก 2 แห่ง คือ พระนครเหนือและโรงไฟฟ้าแม่เมาะก่อน และต่อไปจะใช้กับโรงไฟฟ้าในเขื่อนร่วมกับโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้นอีก 8 ชั่วโมง จากเดิม 3-6 ชั่วโมง รวมเป็น 11-14 ชั่วโมง” นายวิบูลย์กล่าว อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังมีแผนที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีความเสถียรมากขึ้น เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่จะมีกำลังผลิตรวม 2,725 MW ซึ่งจะเป็นระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับน้ำในเขื่อนของ กฟผ.ทั่วประเทศ โดยจะนำร่องที่เขื่อนสิรินธรก่อนจำนวน 45 MW โซลาร์เซลล์จะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริม peak ในช่วงกลางวัน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริม peak ในช่วงกลางคืน พร้อมกันนี้ กฟผ.ต้องมีการปรับปรุงระบบสายส่งให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ตลอดจนจะต้องวางแผนส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าระดับภูมิภาค โดยต่อไปจะต้องเชื่อมโยงการขายไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตามแผนที่ไทยต้องการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในอาเซียน ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ สปป.ลาว ได้มีการหารือถึงการขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งของไทยไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีแผนปรับให้โรงไฟฟ้าภายใต้การดูแลของ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้าเชิงท่องเที่ยวด้วย โดยจะนำร่องในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ฯก่อน 2 แห่ง โดยเบื้องต้นมีแผนที่จะซื้อพื้นที่เพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิต และพัฒนาพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว และคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนนำมาจำหน่าย โดยเป้าหมายไม่ใช่แค่เพียงการสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ในด้านการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-292531

จำนวนผู้อ่าน: 2284

22 กุมภาพันธ์ 2019

หวั่น”โรคอหิวาต์หมู”ระบาดไทย เอกชนลงขันคุมเข้มสกัด5ด่านชายแดน

(แฟ้มภาพ) ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว กระทรวงเกษตรฯ ชง ครม. เคาะ “โรคอหิวาต์แอฟริกัน” เป็นวาระแห่งชาติ หลังโรคนี้ระบาดเข้าเวียดนามแล้ว ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ-บิ๊กซีพีเอฟ เบทาโกร ไทยฟู้ดส์ ลงขันสร้างโรงชำระล้างและเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อให้รัฐใกล้ 5 ด่านกักสัตว์ชายแดน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกันจากจีนระบาดเข้าไปในประเทศเวียดนามว่า เพื่อไม่ให้โรคนี้ระบาดเข้ามาในไทย วิธีการป้องกันโรคนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในการบริหารจัดการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในสัปดาห์หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอเรื่องโรคนี้เป็นวาระแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณ บูรณาการป้องกันโรคนี้ให้สะดวกและดียิ่งขึ้น   ส่วนภาคเอกชนจะเข้าไปช่วยป้องกันการระบาดด้วย โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะเข้าไปรับผิดชอบสร้างโรงชำระล้างรถบรรทุกสุกรที่ขนส่งสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ริมทางหลวงใกล้ด่านกักกันสัตว์ จ.หนองคายที่ขอพื้นที่ริมถนนจากกรมทางหลวง วงเงิน 1 ล้านบาทเศษมาให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการต่อไป ส่วนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)หรือซีพีเอฟรับผิดชอบสร้างที่ด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงรายและด่านจ.มุกดาหาร บริษัท เบทาโกร จำกัดรับผิดชอบสร้างที่ด่านกักกันสัตว์จ.นครพนมและบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)รับผิดชอบสร้างที่ด่านปอยเปต จ.สระแก้ว “ต้องใช้ระบบไบโอเซฟตี้เข้มงวดในการป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสต้องชำระล้างใต้ท้องรถบรรทุกสุกรขาเข้าหลังจากส่งออกที่ชายแดนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถบรรทุก อุปกรณ์บรรทุกและผู้ที่เกี่ยวข้องนาน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หากทุกฝ่ายทำกันเข้มงวดจะป้องกันโรคนี้เข้าไทย ที่ผ่านมา เลี่ยงไม่ส่งออกสุกรไปจีน แต่มีการส่งออกไปกัมพูชาแทนวันละ 400-500 ตัว ขณะที่เวียดนามส่งออกไปจีนมาก เมื่อมีการระบาดเข้ามาในเวียดนาม ที่มีชายแดนติดกับกัมพูชา ไทยต้องเข้มงวดมากขึ้น มิเช่นนั้นอุตสาหกรรมสุกรของไทยมูลค่า 2 แสนล้านบาทจะเสียหายได้” ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ การลักลอบนำ “หมูกี้” จากเวียดนามหรือ สปป.ลาวเข้ามาทำ “หมูหัน” ซึ่งทั้งเนื้อ หนังอาจแพร่กระจายโรคนี้ที่ติดมาได้ เพราะโรคนี้พาหะจะมาจากหมูป่าค่อนข้างมาก รวมทั้งด่าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ภาครัฐต้องเข้มงวดตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ติดเข้ามากับรถบรรทุกจีนหรือรถนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยด้วย ส่วนสถานการณ์ราคาจำหน่ายในกรุงเทพและปริมณฑลหน้าฟาร์ม กก.ละ 70 บาท ยังไม่เกิน กก.ละ 75 บาทตามที่ตกลงไว้กับกรมการค้าภายใน ขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ กก.ละ 74-76 บาท เนื่องจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในภาคใต้ขอให้เบทาโกรและซีพีเอฟนำผลผลิตสุกรส่วนเกินความต้องการมาขายในภาคกลาง ทำให้ราคาที่ภาคใต้สูงขึ้นกว่าภาคอื่น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-292832

จำนวนผู้อ่าน: 2870

22 กุมภาพันธ์ 2019

“ส.อ.ท.” ขอ สนช.เบรก พ.ร.บ.ซากอิเล็กทรอนิกส์ หวั่นรับภาระจัดการซากเก่าเมื่อ 50 ปีที่แล้วไม่ไหว

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชนขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญขยายเวลาการพิจารณา เพื่อทบทวนร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ…… ครั้งที่ 1 ออกไปอีก 45 วัน ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากร่างฯ ดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ผลิต จัดตั้งศูนย์รับซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดเก็บ รวบรวม นำส่งให้กับโรงงานประเภท 101 (กิจการโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม) และ 105 กิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีลักษณะและคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 เพื่อกำจัดให้เป็นระบบ   และขอให้มีการระบุความชัดเจนของ คำว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ซากฯ ตามมาตรา 5 ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ ตู้เย็น ให้ชัดเจน เช่น คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยอะไรบ้าง จอ CPU คีบอร์ต เม้าท์ และอะไรบ้าง หรือตู้เย็น ครอบคลุมไปถึงตู้แช่หรือไม่ เป็นต้น “เราเห็นด้วยกับร่างฯ แต่มันยังมีบางข้อที่เราพยายามได้เข้าไปชี้แจงถึงทางปฏิบัติที่ยังคงทำได้ยาก อย่างการให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ต้องรับผิดชอบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นซากถูกทิ้งนานมาแล้ว เช่นเมื่อ 50 ปีก่อนผู้ผลิตรายนี้ยังผลิตคอมพิวเตอร์อยู่ แต่ปัจจุบันไม่ผลิตแล้ว แต่กลับต้องมานั่งรับผิดชอบซากเก่าที่ตกค้างมา หรือที่เรียกว่า ซากที่เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใช้บังคับ (Yesterday waste) ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนเลย เพราะรัฐไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบเลย เรื่องนี้มันจะส่งผลต่อความกังวลของนักลงทุน ที่ลงทุนอยู่แล้วในไทยตอนนี้ ที่อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านและจะกระทบต่อการจ้างงานต่อเนื่องราวกว่า 750,000 คน” นอกจากนี้ระยะเวลาที่บังคับใช้ใน พ.ร.บ.ไม่ควรน้อยกว่า 2 ปีจากร่างเดิมกำหนดไว้ 1 ปี หลังจากหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบได้ประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของอนุบัญญัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาเตรียมการ ภายหลังจากได้ทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว ขณะเดียวที่ขอบข่ายผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำเข้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ เป็นต้น และควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-292977

จำนวนผู้อ่าน: 2389

22 กุมภาพันธ์ 2019

ไทย-ลาว จับมือกันร่วมพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานไทย-ลาว ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกหลังจากที่ไทยและลาวได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายไทย และ ดร.คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่ง สปป. ลาว และนายลีปาว หยาง ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่ง สปป.ลาว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายลาว ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ตามลำดับ ทั้งนั้น ที่ประชุมได้ทบทวนผลการดำเนินงานร่วมกันในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมในด้านต่างๆ ดังนี้   1) ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมให้กับบุคลากรภาครัฐของ สปป.ลาว ในสาขาการบริหารจัดการ งานช่างอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จำนวน 662 คน ในปีงบประมาณ 2561 และในปี 2562 มีแผนฝึกอบรมให้บุคลากรภาครัฐของ สปป.ลาว อีกจำนวน 700 คน 2) ด้านการจ้างงาน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดหนองคาย และมุกดาหาร เพื่อเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองไทยแก่แรงงานต่างด้าว และทำหน้าที่ตรวจสอบ/ คัดกรองแรงงานต่างด้าวก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานในไทย รวมถึงเป็นจุดพักรอแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ และเป็นจุดดำเนินการประสานงานระหว่างนายจ้างและแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2561 – มกราคม 2562 มีแรงงานสัญชาติลาวเข้ารับการอบรมที่ศูนย์แรกรับฯ ทั้ง 2 แห่ง รวม 23,273 คน 3) ด้านการคุ้มครองแรงงาน ในช่วงปี 2560 – 2561 รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์กับแรงงานสัญชาติลาวที่ทำงานในประเทศไทยกรณีค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าล่วงเวลา จำนวน 154 คน คิดเป็นเงินที่ได้รับจำนวน 504,588.25 บาท และ 4) ด้านการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมของไทย และองค์การประกันสังคมแห่งชาติลาว มีการเจรจาหารือร่วมกันในเรื่องการจัดทำข้อตกลงการจ่ายบำเหน็จชราภาพ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินงานระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2562 – 2565) ซึ่งประกอบด้วยการจัดประชุมเชิงวิชาการ การฝึกอบรม การคุ้มครองและติดตามสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานที่ทำงานในประเทศไทย และงานประกันสังคม รวมถึงฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายลาวปรับเพิ่มข้อความในบันทึกความเข้าใจฯ เกี่ยวกับการจ้างงานระยะสั้นในภาคเกษตร ให้มีเงื่อนไขการจ้างงานน้อยกว่า 2 ปี และให้มีการตรวจสุขภาพและประวัติอาชญากรรมของแรงงานสัญชาติลาว ณ สปป. ลาว ก่อนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยรวมถึงให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาการเดินทางเข้ามาของแรงงานที่มีบัตรผ่านแดน หรือบัตรอื่นใดในทำนองเดียวกัน เพื่อทำงานเป็นการชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลและในท้องที่ที่กำหนด อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีแรงงานสัญชาติลาวทำงานอยู่ในประเทศไทย (ข้อมูล ม.ค.62) จำนวนทั้งสิ้น 286,461 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภททั่วไป จำนวน 285,975 คน แรงงานประเภทฝีมือ 290 คน และชนกลุ่มน้อย 196 คน ซึ่งการประชุมด้านแรงงานไทย-ลาว ในครั้งนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานไทย-ลาว ในครั้งนี้จัดขึ้นตามข้อกำหนดในเรื่องการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่กำหนดให้ “คู่ภาคีดำเนินการจัดประชุมเพื่อติดตามการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ” ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ สปป. ลาวต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-292980

จำนวนผู้อ่าน: 2496

22 กุมภาพันธ์ 2019

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ทำสถิติยอดขายไตรมาสที่ 4 สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 36,012 ล้านบาท

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ทำสถิติยอดขายไตรมาสที่ 4 สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 36,012 ล้านบาท ด้วยปริมาณการขายที่เติบโตขึ้น แต่บาทแข็งทุบกำไรปี’61 หด ปี’62ตั้งเป้าเพิ่มยอดขาย 5 % เพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 15 % ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562, กรุงเทพฯ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2561 ว่ามียอดขาย จำนวน 36,012 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7 % เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า เป็นกำไรจากการดำเนินงานประจำไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบสองปี ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งและแช่เย็น  และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง มีการปรับราคาและปรับปรุงการดำเนินงาน มีส่วนในยอดขายที่เพิ่มขึ้น นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า ขณะที่ยอดขายปี 2561 ลดลง 1.2 % จากปีก่อนหน้า มาเป็น 133,285 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น   หากไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ยอดขายปี 2561 จะเพิ่มขึ้น 0.5 %  กำไรขั้นต้นในปี 2561 ลดลง 2.2 %  เนื่องจากราคาปลาทูน่าและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีความผันผวนในช่วงไตรมาสแรกของปี   ในปี 2561 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงอยู่ที่ 10.7 % มีการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง 1.2 %เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อัตรากระแสเงินสดอิสระอยู่ที่ 8,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปีก่อนหน้า มีผลทำให้บริษัทสามารถชำระหนี้คืนได้ 3,506 ล้านบาท “ปีที่ผ่านมามีสภาวะตลาดที่ท้าทาย แต่เราก็ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่เป็นเลิศและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร  ผลงานที่ดีในไตรมาสที่ 4 นี้ทำให้เรามั่นใจว่าปี 2562 นี้ ไทยยูเนี่ยน จะต้องแข็งแกร่งและประสบความสำเร็จมากขึ้นแน่นอน โดยปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายปกติขึ้น 5 % และเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 15 %  บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมต่อไป เพื่อรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้อยู่ที่ระดับ 10  %  ซึ่งจะส่งผลให้กำไรฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้” ไทยยูเนี่ยน ประกาศจ่ายเงินปันผลที่ 0.15 บาทต่อหุ้น รวมการจ่ายเงินปันผลทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.40 บาทต่อหุ้น สำหรับปี 2561 ยอดขายในอเมริกาเหนือยังคงมีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของบริษัท โดยมีสัดส่วน 39 %ของยอดขายรวม ในขณะที่ตลาดยุโรป คิดเป็น 30 % ตลาดประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 11 % และตลาดเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกาและอเมริกาใต้ คิดเป็น 20 % อย่างไรก็ตาม ไทยยูเนี่ยนยังคงดำเนินงานด้วยกลยุทธ์ความยั่งยืน หรือ SeaChange® อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา และได้ร่วมมือในโครงการ Global Ghost Gear Initiative เพื่อลดปัญหาการทิ้งอุปกรณ์จับปลาในท้องทะเลทั่วโลก ในปีที่ผ่านมา บริษัทยังได้เปิดเผยรายงานความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม สืบเนื่องจากข้อตกลงกับกรีนพีซในปี 2560 ในการตั้งมาตรการในการจัดการกับปัญหาประมงผิดกฎหมายและการทำประมงที่มากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ  โดยได้เปิดเผยรายงานความก้าวหน้าประจำปีพันธกิจการจัดการปลาทูน่าแบบยั่งยืนครั้งแรกต่อสาธารณะ เกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดหาวัตถุดิบปลาทูน่าทั้งหมดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์แบรนด์ของบริษัท ต้องมาจากการทำประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1ของโลกในหมวดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ DJSI  และได้คะแนนสูงสุดในหัวข้อความยั่งยืนโดยรวม   โดยได้รับเลือกให้ติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์นี้เป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจที่มีกิจการทั่วโลกด้วยความยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้รับคัดเลือกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ให้ติดอันดับในดัชนี FTSE4Good หมวดตลาดเกิดใหม่  ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ได้แก่ รางวัล Stop Slavery Award จากมูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์ส  รางวัลเหรียญทอง ประเภท “การจัดการห่วงโซ่อุปทานยอดเยี่ยม” จากงาน Global Good Awards ประจำปี 2561  รางวัลด้านความยั่งยืนประจำปีจาก The Business Intelligence Group และรางวัลความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยมจาก FinanceAsia  นอกจากนี้ ดร.แดเรียน แมคเบน ผู้อำนวยการกลุ่มองค์กรสัมพันธ์และความยั่งยืน ได้รับรางวัลผู้นำด้านความยั่งยืนแห่งปี จาก EDIE

จำนวนผู้อ่าน: 2533

22 กุมภาพันธ์ 2019

กนอ.ยอมถอยแก้ทีโออาร์นำเข้า LNG มาบตาพุด3

กนอ.จ่อผ่อนเงื่อนไข TOR ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เอาใจผู้ชนะประมูลหากเกิดเหตุสุดวิสัยนำเข้าก๊าซ LNG ไม่ถึง 5 ล้านตันใน 5 ปีแรก หลังซาวเสียง 3 เดือน ด้านเอกชน “กัลฟ์-พีทีที แทงค์ฯ” ยื่นเสนอราคา คาด พ.ค.ได้ผู้ชนะลงนามสัญญายังรอการหนุนเปิดเสรีนำเข้าจากกระทรวงพลังงาน นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในรูปแบบของกิจการร่วมค้า ได้ยื่นซองข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารรายละเอียดด้านราคา ในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) Net Cost โดยคณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการตาม PPP คาดว่าจะสามารถประกาศผลรายชื่อผู้ที่ชนะการคัดเลือกเอกชน และสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค. 2562 รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ได้เริ่มทำ market sounding และตอบคำถามแก่นักลงทุนทั้ง 18 รายที่ซื้อซองไปแล้วนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่รวมถึงกัลฟ์และพีทีทีแทงค์ยังมีข้อกังวลเงื่อนไขใน TOR เรื่องของปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะเกิดขึ้นว่ามีมากพอหรือไม่ เพราะระยะเวลาที่กำหนดให้สร้างโครงสร้างพื้นฐาน 3 ปี และสร้าง LNG terminal อีกเพียงแค่ 2 ปีนั้นสั้นเกินไปที่จะให้มีการนำเข้าก๊าซ LNG ที่ 5 ล้านตัน   “แม้จะเป็นไปได้ยากแต่การที่กำหนดให้ต้องเริ่มนำเข้า LNG ในปริมาณที่ 5 ล้านตันทันทีในปี 2567 เนื่องจากต้องการให้มีกิจกรรมโดยไม่ใช่ก่อสร้างแล้วทิ้งโครงการไว้ ซึ่งในระหว่างก่อสร้าง 3 ปีแรกได้เปิดให้มีเวลาหาตลาดสร้างดีมานด์ด้วยเช่นกัน” อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลดังกล่าว กนอ.สามารถปรับเงื่อนไขใน TOR ให้ได้ หากผู้ชนะการประมูลไม่สามารถดำเนินตามเงื่อนไขได้ด้วย “เหตุสุดวิสัย” เช่น เกิดเหตุน้ำท่วม ภัยพิบัติ และเหตุที่ไม่ได้เกิดจากเอกชน เช่น นโยบายของรัฐเปลี่ยนไป เป็นต้น หากเกิดจากเศรษฐกิจไม่ดีจนทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซลดลง ทำให้นำเข้าไม่ถึงตามเงื่อนไข ถือว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จะนำมาเป็นสาเหตุนำเข้าลดลงไม่ได้ “ถ้ามีปัญหาอะไรและเป็นเรื่องของนโยบายเราก็ต้องปรับเปลี่ยนให้มันยืดหยุ่น นำเข้าไม่ถึง 5 ล้านตันมันไม่ใช่ปัญหา เพราะขอแค่ให้มีท่าเรือก็พอ ซึ่งจะขนส่งอย่างอื่นก็ได้ ถ้ามันต้องปรับเปลี่ยนอะไรไป เป็นเรื่องในอนาคตหากจำเป็น แน่นอนว่าตอนนี้ก็จะกำหนดให้เอกชนที่ชนะการประมูลต้องดำเนินการตาม TOR ไว้ เอกชนที่ผ่านเข้ามายื่นซองก็ต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ยื่นแล้วทำไม่ได้ตาม TOR ก็สามารถคุยกันได้” ขณะเดียวกันยังคงรอคำตอบจากกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ขอรับการสนับสนุนการนำเข้า LNG ในการดำเนินโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 กับผู้รับสัมปทาน โดยให้เอกชนร่วมดำเนินงานในกิจการของรัฐรูปแบบ PPP สอดคล้องกับการเปิดเสรีกิจการ LNG ตามนโยบายของทางกระทรวงเองหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งหนังสือขอให้มีการปลดล็อกเรื่องดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 แหล่งข่าวในภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า เหตุที่มีเอกชนเพียงรายเดียวเข้ายื่นข้อเสนอซองประมูลท่าเรือ จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 18 รายนั้น อาจเป็นเพราะเงื่อนไขการนำเข้าก๊าซ LNG กำหนดไว้ใช้ช่วงของการขนถ่ายระยะแรกที่ 5 ล้านตันนั้นเป็นไปได้ยาก และยังคงกังวลเรื่องผลตอบแทนทางการเงิน 2.5% น้อยเกินไปหากเทียบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คิดอัตราที่ 6% ซึ่งในทางเทคนิคถือว่ายาก และจะมีผลต่อการกู้เงินที่จะยากยิ่งกว่า รวมถึงเอกชนบางรายอาจยังไม่ชำนาญเรื่องท่าเรือมากพอ “ส่วนกรณีที่ ปตท.ส่งพีทีที แทงค์ฯมายื่นซองแทนที่จะส่งบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เพราะบริษัทนี้เป็นบริษัทลูกที่ให้บริการท่าเรือและถังเก็บผลิตภัณฑ์เหลวให้กับบริษัทในเครือ ปตท.อยู่แล้ว และจับมือกับทางกัลฟ์เข้ายื่นประมูลแทน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ตรงกับโครงการท่าเรือมากกว่า” สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1)ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอนาคต มีมูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท โดย กนอ.ร่วมลงทุน12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งแบ่งระยะเวลาการพัฒนาโครงการเป็น 3 ระยะ คือ 1.งานโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การออกแบบและก่อสร้างจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ระบุในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน 2.งานท่าเรือก๊าซ การออกแบบและก่อสร้างส่วนที่ 1 เพื่อรองรับปริมาณไม่น้อยกว่า 5 ล้านตันต่อปี จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 2 และ 3.การประกอบกิจการท่าเรือก๊าซรวมถึงเป็นผู้จ่ายค่าสิทธิการร่วมลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามสัญญาร่วมลงทุนกับ กนอ.ไม่เกิน 30 ปี นับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานระยะที่ 3 ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-293123

จำนวนผู้อ่าน: 2332

22 กุมภาพันธ์ 2019

ท่าเรือแหลมฉบังสิ้นสัมปทาน “A1-B2ถึงB4” เอกชนร้องขอความชัดเจน

หอการค้าวอนภาครัฐเร่งประกาศความชัดเจนนโยบายสัมปทานท่าเทียบเรือแหลมฉบัง A5 B2 B3 B4 ก่อนหมดอายุสัมปทานปี”63 หวั่นล่าช้ากระทบเอกชนส่งออก-นำเข้าสินค้าแออัด เอกชนไม่กล้าลงทุนต่อ นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีสัญญาสัมปทานท่าเทียบเรือ เทอร์มินอลA5 B2 B3 และ B4 ที่จะสิ้นอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563-2564 ว่า หอการค้าไทยพยายามขอทราบความชัดเจนในการดำเนินนโยบายเรื่องการต่ออายุสัมปทาน และการประมูลจัดหาผู้ดำเนินการท่าเรือดังกล่าว เพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ลงทุนท่าเทียบเรือได้เตรียมความพร้อม เนื่องจากขณะนี้อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อาจทำให้การพิจารณาตัดสินใจล่าช้าออกไป ซึ่งการดำเนินงานด้านท่าเทียบเรือถือเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูง มีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์มากมาย จะต้องจัดเตรียมและหาแผนรองรับในกรณีต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากหมดสัญญาสัมปทาน “เอกชนยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายสำหรับหน่วยงานที่ดูแล จะดำเนินการอย่างไรสำหรับสัญญาสัมปทานท่าเทียบเรือที่จะหมดอายุ จึงพยายามผลักดันในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเตรียมแผนการดำเนินการต่าง ๆ ไว้รองรับ ทั้งกรณีต่อสัญญาสัมปทาน การเข้าร่วมประมูล เป็นต้น อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าเอกชนมีความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการเดิมที่ได้ลงอุปกรณ์ เครื่องมือ และลงทุนต่าง ๆ ไว้ เพราะหากมีการเปิดประมูล ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน เอกชนที่ลงทุนไปแล้วต้องรับความเสี่ยง หากไม่ชนะประมูลต้องขนย้ายอุปกรณ์ เครื่องมือการลงทุนต่าง ๆ ที่ลงทุนไว้ย้ายออกในพื้นที่ ระยะเวลาในการขนย้ายก็เชื่อว่าจะใช้ระยะเวลานานพอสมควร และผู้ที่จะชนะก็ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะเข้ามาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องมือให้แล้วเสร็จ หอการค้าไทยก็พยายามผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำความชัดเจนให้เสร็จ แต่ต้องยอมรับอาจจะรอช้าออกไปอีก   หวั่นส่งออก-นำเข้าสินค้าสะดุด นายภูมินทร์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการดำเนินการต่ออายุสัมปทานช้า ไม่ใช่ส่งผลกระทบต่อเอกชนที่ลงทุนในท่าเทียบเรือดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าผ่านท่าเทียบเรือดังกล่าว เนื่องจากเมื่อเกิดปัญหาทำให้จุดบริการมีความแออัด การส่งออก-นำเข้าสินค้าอาจจะติดขัดหรือทำได้ช้า ซึ่งภาระอยู่กับผู้นำเข้า-ส่งออกที่ใช้บริการท่าเทียบเรือ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูในเรื่องนี้ ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ถูกผลักดันจากภาครัฐ แต่ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเห็นประโยชน์ กทท.ศึกษาแนวทางต่อสัญญา รายงานข่าวระบุว่า ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เปิดดำเนินการโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และ 2 โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตั้งแต่ปี 2534 แต่จะมีท่าเทียบเรือที่สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2563-2564 ได้แก่ ท่าเทียบเรือ A5 B2 B3 และ B4 โดยตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. จะต้องศึกษาและจัดทำแนวทางการดำเนินกิจการของรัฐภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบการดำเนินกิจการของรัฐกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง กับกรณีให้เอกชนร่วมลงทุน และกรณีให้เอกชนรายเดิมร่วมลงทุนตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556 โดยต้องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง ซึ่งในการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและความต่อเนื่องในการดำเนินกิจการของรัฐ ทั้งนี้ จากการศึกษาของคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. มีมติเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุน โดยให้มีการควบรวมท่าเทียบเรือ 3 ท่าดังกล่าว ความยาวหน้าท่า ท่าละ 300 เมตร ให้เป็น 2 ท่า มีความยาวหน้าท่า ท่าละ 450 เมตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นและเสนอต่อคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เมื่อเห็นชอบ กทท.จะต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ และที่ปรึกษาต้องจัดทำรายงานเป็นเอกเทศ ตามรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดในมาตรา 24 และสาระสำคัญอื่น ๆ ที่ที่ปรึกษาเห็นสมควร ลุ้นบอร์ดเคาะข้อสรุป อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะศึกษาและพิจารณาอย่างรอบคอบตามขั้นตอน คาดว่าจะมีข้อสรุปและได้เอกชนร่วมลงทุนท่าเทียบเรือดังกล่าวภายในปี 2565 ในส่วนของท่าเทียบเรือ A5 บอร์ด กทท.มีมติเห็นชอบให้เอกชนรายเดิมร่วมลงทุน ภายหลังสิ้นสุดสัญญาประกอบการท่าเทียบเรือ A5 ของบริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) และเห็นชอบรูปแบบการพัฒนาท่าเทียบเรือ A5 โดยให้ปรับปรุงหลักผูกเรือกลางน้ำและต่อขยายอีก 70 เมตร (ความยาวหน้าท่าเดิม 527 เมตร หลักผูกเรือกลางน้ำเดิม 170 เมตร) และให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุนในส่วนต่อขยาย ทั้งนี้ บอร์ด กทท.ได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องการปรับเฉลี่ยการจ่ายค่าเช่าของท่าเทียบเรือ A5 เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการ PPP พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-293120

จำนวนผู้อ่าน: 2449

22 กุมภาพันธ์ 2019

PwC ชี้ซีอีโอทั่วโลก 28% มองเศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัว ย้ำปัญหาขาดทักษะดิจิทัลฉุดโอกาสธุรกิจ

PwC เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียนเกือบครึ่งมองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้ลดลง สงครามการค้า-การเมืองส่งผลเติบโต แรงงานด้านดิจิทัลขาดแคลนกระทบธุรกิจ นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับซีอีโอทั่วโลก ประจำปี 2562 จำนวน1,378 รายจาก  91 ประเทศ  ซึ่งใช้ประกอบการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่สวิสเซอร์แลนด์ พบว่า ซีอีโอทั่วโลก 28% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว เพิ่มจากปีก่อนที่มีแค่ 5%  ขณะที่ซีอีโอจากอาเซียน(สำรวจ 78 ราย) 46% เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน เพิ่มจากปีก่อนที่มีเพียง 10%   สำหรับ 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 2562 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้า 83% ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง 81% ความไม่แน่นอนของนโยบาย 78% กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป 77% เและ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก 73% “ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยซีอีโอมองประเด็นเรื่องของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ” นาย ศิระ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการเติบโต โดย 29% มีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานและจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออกและหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึงชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจากันได้ และอีก 17% เลือกที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย และ เวียดนาม สำหรับ อุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 82% ภัยคุกคามทางไซเบอร์ 81%  และ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 72% “การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ รวมไปถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ ๆ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน” ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-292802  

จำนวนผู้อ่าน: 2232

22 กุมภาพันธ์ 2019

โตฉุดไม่อยู่ “ลาล่ามูฟ” เร่งเกมบุกหลังระดมเงินลงทุนซีรี่ย์ D ได้อีกกว่า300ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตลาดอินเดีย

รายงานข่าวจากลาล่ามูฟ (Lalamove) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น ขนส่งสินค้าทันที หรือ On-Demand Delivery สามารถระดมทุนได้อีกกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นรอบ D1 โดย Hillhouse Capital และรอบ D2 โดย Sequoia China ร่วมกับนักลงทุนอื่น ๆ ในรอบนี้ ได้แก่ Eastern Bell Venture Capital, PV Capital รวมถึง ShunWei Capital, Xiang He Capital และ MindWorks Ventures โดยเงินทุนในรอบนี้จะนำไปใช้เพื่อเสริมสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของลาล่ามูฟในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการขยายตลาดเข้าสู่อินเดียและธุรกิจใหม่อย่างการขายรถยนต์   นายลี ชาง ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร Hillhouse Capita กล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังนิยามสิ่งที่สามารถทำได้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งทีมผู้บริหารของลาล่ามูฟได้นำมาวางแผนรับมือแนวโน้มนี้แล้ว ซึ่งบริษัทประทับใจกับความสำเร็จของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน และเชื่อว่า เป็นภูมิภาคที่ดีในการนำบริการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และความสะดวกสบายมาสู่ภาคธุรกิจ ด้านนายเนล เชน (Neil Shen) ผู้ก่อตั้ง และกรรมการหุ้นส่วนของ Sequoia China กล่าวว่า “คุณชิง(ผู้ก่อตั้ง) เป็นโรลโมเดลสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ของฮ่องกง เติบโตในฮ่องกง และได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หลังจากนั้น ได้กลับมาและโลดแล่นในฐานะผู้ประกอบการด้าน ‘Internet Plus’ ซึ่งกลายเป็นความสำเร็จของผู้ประกอบการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีการดำเนินงานที่ดีการจับคู่แพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพและบริการที่มีคุณภาพ ลาล่ามูฟสามารถสร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นและรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นลาล่ามูฟยังยึดมั่นในวิสัยทัศน์ระดับโลกและใช้กลยุทธ์สองด้านที่ประสบความสำเร็จ โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นผลให้บริษัทได้กลายเป็นหนึ่งในองค์กรที่ยิ่งใหญ่ นอกจากการเติบโตอย่างมากของธุรกิจของลาล่ามูฟในจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ธุรกิจระหว่างประเทศของบริษัทยังเร่งตัวขึ้นโดยการเปิดตัว 3 ประเทศใหม่ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย เมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมบริษัทที่กำลังดำเนินงานใน 11 เมืองในเอเชีย นอกเหนือจากจีนแผ่นดินใหญ่ และคาดว่า จะมีอีกหลายเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะที่อินเดีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารลาล่ามูฟ กล่าวว่า ขอขอบคุณ Hillhouse Capital Group, Sequoia China และผู้ถือหุ้นทั้งเก่าและใหม่สำหรับความเชื่อมั่นและการสนับสนุนเรา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งรวมของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีนที่มีต่อ GDP ลดลงจาก 18% เป็น 14.6% ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมกำลังคุ้มค่ามากขึ้น และเชื่อมั่นว่า ผลกระทบจากการเจาะลึกของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิภาพภายในภาคการขนส่งและ ลาล่ามูฟอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่จะอยู่แถวหน้าของการเปลี่ยนแปลงนี้” ทั้งนี้ ลาล่ามูฟก่อตั้งขึ้นที่ฮ่องกงในปี 2556 เพื่อให้บริการจัดส่งในเมืองและตามความต้องการเดียวกัน ในปี 2014 ลาลามูฟเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่และยึดมั่นในการพัฒนาทั้งสองด้านของจีนแผ่นดินใหญ่และตลาดตะวันออกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน ลาลามูฟได้ลงทะเบียนพนักงานขับรถแล้ว 3 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 28 ล้านคน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-292672

จำนวนผู้อ่าน: 2409

22 กุมภาพันธ์ 2019

โยนเผือกร้อน”ไฮสปีดอีอีซี” ลุ้นCPตัดเงื่อนไข-เดิมพันถูกริบ2พันล้าน

แฟ้มภาพ เปิดผลเจรจา 28 ข้อเสนอกลุ่ม ซี.พี.แลกลงทุนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน บอร์ดเล็กเร่งสรุป เสนอเคาะ 22 ก.พ. เผยรับพิจารณาบางเงื่อนไข ยังไม่ตอกเข็มก่อนอีไอเอผ่าน ส่งมอบพื้นที่แล้ว จ่ายค่าปรับคงที่ ลดสัดส่วนถือหุ้น ขยายเพดานกู้ ปล่อยเช่าช่วง MQDC รัฐเปิดช่องให้สละเงื่อนไขที่ขัดทีโออาร์ ย้ำหากเลิกกลางคัน ถูกริบแบงก์การันตี 2 พันล้าน ปิดดีล ก.พ.นี้  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการครั้งที่ 3 มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานยกร่างรายละเอียดในสัญญาและพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี. ที่เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา” 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท หลังใช้เวลา 6 ชั่วโมง ได้ข้อยุติ 34 ข้อ ที่เสนอให้คณะกรรมการคัดเลือก โดยนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ เปิดเผยว่า ในส่วนกรอบเจรจาที่ 2 ความยากที่ส่งผลกับภาพลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และร่างสัญญาได้เสร็จสิ้นแล้ว จะเสนอคณะกรรมการคัดเลือก 22 ก.พ.นี้ ซึ่งแนวโน้มมีข้อยุติ “ผลเจรจา 3 ครั้งยืนยันว่าอนุกรรมการไม่รับข้อเสนอที่ขัดกับทีโออาร์ ที่รับได้ต้องแก้เนื้อหาบางอย่าง เช่น ถ้อยคำ ต้องดูท่าทีของกลุ่ม ซี.พี.ยอมสละได้หรือไม่” รายงานข่าวแจ้งว่า สุดท้ายสกรีนเหลือ 28 ข้อ ในจำนวนนี้มีข้อเสนอซองที่ 4 ที่จบไปแล้ว แต่กลุ่ม ซี.พี.นำมารวมเจรจาด้วย บรรยากาศตลอด 6 ชั่วโมง เดิมคิดว่าอาจไม่ได้ข้อสรุป ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการคัดเลือกจะหาทางออกโครงการนี้อย่างไร กับข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งแนบท้ายเสนอคณะกรรมการอีอีซีพิจารณา เพราะกลุ่ม ซี.พี.กลัวว่าหากเป็นฝ่ายยกเลิกเจรจาจะถูกริบแบงก์การันตี 2,000 ล้านบาทใน 28 ข้อ มีบางประเด็นที่พอเป็นไปได้ เช่น ให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น หากมีปัญหาสร้างไม่เสร็จ, ยังไม่ขอเริ่มงานก่อสร้างหากโครงการยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรถไฟส่งมอบพื้นที่ให้ไม่ได้, ขอเช่าช่วงที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา ให้ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกพัฒนา, ขอยกเว้นเพดานเงินกู้, จ่ายค่าปรับกรณีสร้างล่าช้า จากปรับรายวันเป็นแบบคงที่, ขอลดสัดส่วนการถือหุ้น   ส่วนข้อเสนอที่ไม่รับพิจารณา เช่น ขยายเวลาก่อสร้างอีก 180 วัน จากเดิมต้องเสร็จ 5 ปี, ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรกขยายอายุสัมปทานหลังครบ 50 ปี อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี,ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก, เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่ามีผลตอบแทนหรือได้รับมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ปีที่ 6 เป็นต้นไป, ห้ามรัฐอนุมัติโครงการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการ, ปรับรูปแบบเป็นทางระดับดิน, สร้างส่วนต่อขยายไประยอง, ย้ายจุดที่ตั้งสถานี, สร้างสเปอร์ไลน์เชื่อมเดินทาง “ที่ ซี.พี.เสนอเงื่อนไขมาก เพราะต้องการปิดจุดเสี่ยง หลังบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า ปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าที่การรถไฟฯศึกษาไว้ถึง 50%” นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการร.ฟ.ท. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระดับความยากในการเจรจาผ่านไปแล้ว จะสรุปแจ้งให้กลุ่ม ซี.พี.ทราบต่อไป เดดไลน์จะให้ยุติสิ้นเดือน ก.พ.นี้ เพื่อเซ็นสัญญา มี.ค.ตามที่บอร์ดอีอีซีกำหนด ซึ่งอยู่ที่เอกชนจะถอนหรือไม่ถอนข้อเสนอที่เป็นไปได้ยาก ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-292437

จำนวนผู้อ่าน: 2595

21 กุมภาพันธ์ 2019

อสังหาระยองระบายสต๊อกหนีกฎธปท. ปรับพอร์ตชะลอลงทุน-แบงก์รีเจ็กต์เงินกู้ 50-80%

ระบายสต๊อก - ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งในจังหวัดระยองและกล่มุ ทุนจากส่วนกลางเร่งจัดโปรโมชั่นภายในงานมหกรรมบ้าน ดี ระยอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ เช่น แจกทอง เครื่องปรับอากาศ ส่วนลด ฟรีค่าโอนหรือนิติกรรม ฯลฯ เพื่อเร่งระบายสต๊อกบ้านและคอนโดฯ ก่อนมาตรการเพิ่มเงินดาวน์แบงก์ชาติจะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2562 นี้ อสังหาฯระยองปี 2562 ยังเหนื่อย ผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อกหนีมาตรการแบงก์ชาติ พร้อมปรับพอร์ตชะลอลงทุนโครงการใหม่ บางรายหันจับลูกค้าตลาดบนกำลังซื้อสูง ขณะที่ลูกค้าบ้านถูก “รีเจ็กต์” สินเชื่อทั้งบ้านราคาสูง-ราคาต่ำ 50-80% ขนาดโครงการ preapprove แล้วแบงก์ยังรีเจ็กต์สูง ด้าน “ทุนมหาชน-ทุนต่างถิ่น” ขยายลงทุนสวนทางทุนท้องถิ่น ปี’62 อสังหาฯระยองยังชะลอ นายเปรมสรณ์ ศรีวิบูลชัย นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยองปี 2562 ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้การเปิดโครงการใหม่น้อยลง โดยเฉพาะตลาดบ้าน 1-3 ล้านบาท บางบริษัทเปิดเพียง 1 โครงการ หรือไม่เปิดเลย จากปกติเปิดปีละ 1-3 โครงการ ผู้ประกอบการบางโครงการเริ่มหันมาจับตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการบ้านของผู้บริโภคยังคงมีอยู่ แต่ประสบปัญหาหลักด้านการเข้าถึงสินเชื่อสถาบันการเงินยากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นภาพตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 เป็นต้นมา เช่น เมื่อก่อนลูกค้าเงินเดือน 3 หมื่นบาท สามารถกู้ซื้อบ้านได้ในราคา 2-3 ล้านบาท แต่ขณะนี้สามารถกู้ซื้อบ้านได้เพียง 1 ล้านกว่าบาท รวมถึงธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อยยากขึ้น อีกทั้งการปฏิเสธคำขอกู้ของลูกค้า (reject) ค่อนข้างมาก โดยบ้านราคา 1-2.5 ล้านบาท การรีเจ็กต์ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 50-80% ส่วนบ้านราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป การรีเจ็กต์อยู่ที่ 10-20% ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากต้นปี 2561 ทำให้บางครั้งอาจเห็นภาพผู้ประกอบการต้องขายบ้านหลังละประมาณ 4-5 รอบ แม้จะมีการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเทียบกับมูลหนี้ (preapprove) เพื่อผ่านการอนุมัติก่อนไปขอสินเชื่อกับธนาคาร แต่ยังพบการรีเจ็กต์อยู่มาก ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ราคา 3-5 ล้านบาท แต่ด้วยกำลังซื้อหรือรายได้อาจยังไม่พอ จึงมักเริ่มต้นซื้อบ้านเดี่ยวชั้นเดียว ราคา 2-3 ล้านบาท อยู่อาศัยไม่เกิน 5 คนไปก่อน หลังจากนั้น 5-6 ปีจึงเริ่มขยับไปอยู่บ้านหลังใหญ่ขึ้น เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น โดยผู้ประกอบการมักนิยมทำบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม สำหรับคอนโดฯนั้นส่วนใหญ่อยู่ริมทะเล และมักเป็นบ้านพักตากอากาศมากกว่าที่อยู่อาศัย เร่งระบายสต๊อก-อัดโปรฯแรง ขณะเดียวกันจากมาตรการเพิ่มเงินดาวน์ซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมหลังที่ 2 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2562 ทำให้ผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อกบ้านด้วยการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เช่น แถมเครื่องปรับอากาศ แจกทอง สมาร์ทโฟน ผ่อนฟรี 1 ปี มีส่วนลดหรือนำส่วนลดมาผ่อนให้ลูกค้า เป็นต้น   ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนกลุ่มที่ซื้อบ้านหลังแรกอยู่ที่ 70-80% ส่วนหลังที่สองอยู่ที่ 20-30% ขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่เมื่อมีมาตรการ ธปท. บ้านหลังที่สองค่อนข้างกระทบ สิ่งที่น่ากังวลคือ เรื่องการกู้ร่วมที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากสัดส่วนการกู้ร่วมกับการกู้เดี่ยวอยู่ที่ 50 : 50 ถ้าธนาคารเข้มขึ้น ต่อไปอาจจะต้องมีการกู้ถึง 3 คน ซึ่งมองว่ากระทบแน่นอน “อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือภาคอสังหาฯ เพราะเป็นเซ็กเตอร์ใหญ่ ปัจจุบันบ้านราคา 3 ล้านบาท เงินดาวน์ 5% หรือ 150,000 บาท ลูกค้ายังไม่ค่อยไหว หากเก็บเงินดาวน์ 20% หรือ 600,000 บาท จบเลย ดังนั้นเมื่อลูกค้าซื้อบ้านไม่ได้ ดีเวลอปเปอร์ต้องชะลอการสร้าง จึงอยากให้มีการแก้ไขให้ตรงจุด เนื่องจากมองว่ามาตรการดังกล่าวคุมเข้มจนเกินไปในทุกเซ็กเตอร์ แต่ตอนนี้มาตรการประกาศมาแล้ว ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว เร่งระบายสต๊อกให้ขายออกก่อนที่จะถึงมาตรการเข้มในช่วงเมษายน 2562 รวมถึงรอดูทิศทางรัฐบาลด้วย เป็นห่วงเหมือนกันว่า ถ้าเซ็กเตอร์อสังหาฯมีปัญหา กลัวจะกระทบทั้งประเทศ เพราะช่วยสร้างงานและเม็ดเงินได้มาก อยากให้คุมให้ถูกจุด ตรงไหนอยากได้บ้านอย่าไปเข้มมาก มันจะชะลอหมด แทนที่ตอนแรกเศรษฐกิจไม่ได้น่ากลัวอะไร แต่เดี๋ยวแย่จริง ๆ อย่างที่คาดการณ์ ถ้านโยบายธนาคารมีโอกาสผ่อนปรน จะเป็นการกระตุ้นอสังหาฯ ถ้านโยบายธนาคารเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการชะลอธุรกิจอสังหาฯ” ทุนมหาชน-ท้องถิ่นรุกหนัก ขณะนี้สมาคมมีสมาชิกผู้ประกอบการอสังหาฯกว่า 100 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีประมาณ 80 ราย โดยมีรายใหม่ ๆ เกิดขึ้น บางส่วนเข้ามาทดแทนรายเก่า รวมถึงบางรายที่ยังไม่รู้จักสมาคมก็เข้ามา อีกทั้งมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากจังหวัดชลบุรีเข้ามาดำเนินธุรกิจที่ระยอง จากกระแสเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) และบริษัท อรินสิริ แลนด์ จำกัด (มหาชน) โดยหลายรายเข้ามาลงทุนโซนบ้านฉาง เพราะทำเลใกล้อู่ตะเภาและสถานีสุดท้ายของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันระดับราคาบ้านในจังหวัดระยอง ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว ราคาอยู่ที่ 2-4 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 2 ชั้น 3-5 ล้านบาท แต่โซนในตัวเมืองระยองราคาอยู่ที่ 4-5 ล้านบาท และ 10 กว่าล้านบาท โดยเฉพาะโซนถนนสุขุมวิทและถนน ค.2 รวมถึงโซนรัศมีประมาณ 2-3 กิโลเมตร (กม.) จากห้างเซ็นทรัลพลาซาระยอง และห้างแพสชั่น (Passione) ซึ่งเป็นดีพาร์ตเมนต์สโตร์หลักของจังหวัดระยอง ส่งผลให้พื้นที่ตรงกลางระหว่าง 2 ห้างดังกล่าวเป็นทำเลที่บ้านราคาแพงที่สุด สำหรับโซนนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ นิคมมาบตาพุด และนิคมพัฒนา ส่วนใหญ่กว่า 80% ราคาอยู่ที่ 1-3 ล้านบาท และอีก 20% ราคาอยู่ที่ 3-5 ล้านบาท   ที่ดินสุขุมวิทพุ่งร้อยล้าน บ้านฉางกระฉูด 500% ร้อนแรงไม่หยุดสำหรับความเคลื่อนไหวในด้านราคาที่ดินในจังหวัดระยอง 1 ใน 3 จังหวัดที่ถูกประกาศเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดระยอง “เปรมสรณ์ ศรีวิบูลชัย” ได้สะท้อนภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงวันนี้ราคาที่ดินในจังหวัดระยองหลายอำเภอสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะถนนสุขุมวิทบริเวณห้างแพสชั่น ซึ่งมีความหนาแน่นสูง ราคาที่ดินประกาศขายเฉลี่ย 200,000-300,000 บาทต่อตารางวา หรือประมาณ 80-100 ล้านบาทต่อไร่ โดยมีการซื้อขายกันบ้าง ขณะที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 บริเวณข้างเซ็นทรัลพลาซาระยอง มีประกาศขายไร่ละประมาณ 30-40 ล้านบาท แต่ยังไม่เห็นการซื้อขาย ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ เพราะรายรับของลูกค้ายังคงเท่าเดิม สำหรับโซนบ้านฉาง ซึ่งอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภาและสถานีรถไฟความเร็วสูง ราคาที่ดินขึ้นค่อนข้างมาก ตั้งแต่ประกาศเขตอีอีซีราคาขึ้นมาประมาณ 300-500% โดยตอนนี้ราคาประมาณ 3-5 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิม 1 ล้านกว่าบาทต่อไร่ ทำให้การพัฒนาบริเวณนี้ชะลอลงเล็กน้อย โดยระดับราคาบ้านมีตั้งแต่ 1-6 ล้านบาท ซึ่งราคาบ้านสูงจะอยู่ใกล้บริเวณสนามกอล์ฟ ทั้งนี้ กำลังซื้อในโซนบ้านฉางยังไม่มาก หากเป็นกำลังซื้อสูงมาก ๆ จะไปพัทยา จังหวัดชลบุรีเลย เพราะยังไม่มีห้างสรรพสินค้า ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-290259

จำนวนผู้อ่าน: 2358

21 กุมภาพันธ์ 2019

กปภ.- PEA ลงนาม MOU ลดการใช้พลังงาน

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างการประปาส่วนภูมิภาค โดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และรักษาการในตำแหน่งประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยนายชยพล ธิติศักดิ์ ประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในโครงการส่งเสริมการลดใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ส่งจ่ายน้ำประปาและระบบเกี่ยวเนื่องของการประปาส่วนภูมิภาค โดยมี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เกิดจากความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยสนับสนุนให้ กปภ. และ PEA บูรณาการการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต ส่งจ่ายน้ำประปา และระบบเกี่ยวเนื่อง ซึ่งนอกจากจะทำให้ กปภ.ลดปริมาณการใช้พลังงานในกิจการประปาแล้ว ยังจะมีผลต่อการลดปริมาณการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ คาดหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานเป็นตัวอย่างของรัฐวิสาหกิจที่สามารถประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และจะยกระดับสู่ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในอนาคต   นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ภารกิจในการผลิต ส่งจ่ายน้ำประปา และให้บริการน้ำสะอาดมาตรฐานสากลแก่ประชาชนใน 74 จังหวัดทั่วประเทศของ กปภ.นั้น ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสนับสนุนในกระบวนการผลิตและจ่ายน้ำประปาในปริมาณสูงมาก ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย กปภ.จึงร่วมมือกับ PEA ร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการอนุรักษ์พลังงานให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าของ กปภ.อย่างชัดเจน ยังช่วยลดต้นทุนในระบบผลิตส่งจ่ายน้ำประปาของ กปภ. ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเพิ่มประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือนี้จะมีการขยายผลสู่ กปภ. 234 สาขาทั่วประเทศต่อไป นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ PEA เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นองค์กรชั้นนำที่ทันสมัยในระดับภูมิภาค มุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยภารกิจดังกล่าวนี้ PEA จึงได้ร่วมกับ กปภ.ดำเนินการส่งเสริมลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบผลิต ส่งจ่ายน้ำประปาและระบบเกี่ยวเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้กับ กปภ. โดย PEA จะเป็นผู้ดำเนินการให้บริการในรูปแบบของการจัดการพลังงานแบบครบวงจร ได้แก่ การสำรวจ วิเคราะห์ ออกแบบและนำเสนอมาตรการประหยัดพลังงานสำหรับ กปภ. พร้อมทั้งดำเนินการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ และประเมินผลการประหยัดพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ กปภ. และเป็นการสนับสนุนนโยบายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศชาติ ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-292018

จำนวนผู้อ่าน: 2340

21 กุมภาพันธ์ 2019

“โตโยต้า” ทุ่ม 16,000 ล้าน ร่วมมือ “อูเบอร์” ผลิตรถยนต์ไร้คนขับสู่ตลาด

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า โตโยต้า เตรียมทุ่มงบมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 16,290 ล้านบาท ในข้อตกลงร่วมมือกับ “อูเบอร์” เพื่อผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ โตโยต้าระบุผ่านแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวซึ่งรายงานระบุว่าเพิ่มมูลค่าให้กับอูเบอร์มากถึง 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้นตั้งเป้าในการ “พัฒนาและนำรถขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบไรด์แชริงเข้าสู่ตลาดบริการด้านการสัญจร” ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่าย่างก้าวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโตโยต้าเดินหน้าเต็มตัวไปสู่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในอนาคต ในสนามแข่งขันที่มีบริษัทคู่แข่งด้านรถยนต์ของโลกรวมถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล และอาลีบาบา โดยเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทจะถูกผสานลงในรถยนต์ที่สร้างขึ้นเฉพาะและถูกนำลงใช้ในแพลตฟอร์มของอูเบอร์ โดยคาดว่ารถยนต์นำร่องจะผลิตออกสู่ตลาดได้ครั้งแรกในปี 2021 โดยในระยะแรกคาดว่าจะมีรถจำนวนกว่าร้อยคัน ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังอูเบอร์พยายามพัฒนารถยนต์ที่มีเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยตัวเองก่อนที่จะต้องยุติโครงการไปหลังอุบัติเหตุเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลับมาทดสอบโครงการดังกล่าวอีกครั้งด้วยการมีคนขับอยู่หลังพวงมาลัยตลอดเวลา โดยเป็นการเก็บข้อมูลในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างระบบจำลองคอมพิวเตอร์ขึ้น และสร้างแผนที่สำหรับรถยนต์ที่แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้อูเบอร์เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่ร่วมแข่งขันพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ถูกมองว่าเป็นอนาคตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแถลงการณ์ระบุด้วยว่า การผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในเชิงพาณิชย์นั้นจะมีผู้ให้บริการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เป็นบริษัทบุคคลที่สามเป็นเจ้าของและให้บริการ และต้องมาจากความเห็นชอบร่วมกัน   ที่มา มติชนออนไลน์ 

จำนวนผู้อ่าน: 2631

29 สิงหาคม 2018

เทสโก้เดินหน้าเพิ่มพท.ค้าปลีก ปูพรม1.4ล้านตร.ม./โฟกัสระดับอำเภอ

“เทสโก้ โลตัส” อวดโฉม 2,000 สาขาเดินหน้าปีนี้เพิ่มพื้นที่ค้าปลีก 5.5 หมื่น ตร.ม. หลังปูพรมยึดทั่วประเทศ 1.43 ล้าน ตร.ม. โฟกัสอำเภอขนาดรอง-เล็ก ดึงเทคโนโลยีใหม่จากอังกฤษเสริมทัพเซอร์วิสตอบโจทย์นักช็อปรุ่นใหม่ นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เทสโก้ โลตัส เปิดสาขาที่ 2,000 ตอกย้ำความเชื่อมั่นการลงทุนในเมืองไทย ด้วยเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ค้าปลีก 5.5 หมื่น ตร.ม.ในปีนี้ จากปัจจุบันเทสโก้สามารถขยายพื้นที่ขายทั่วประเทศ 1.43 ล้าน ตร.ม. (ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ 2561) สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นและภาพรวมของกำลังซื้อในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาขยับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลเป็นสัญญาณบวกต่อภาพค้าปลีกโดยรวม และคาดว่าครึ่งปีหลังการเติบโตของตลาดจะดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งในครึ่งปีแรกเทสโก้ขยายสาขาแล้ว 45 แห่ง ครอบคลุมทุกโมเดล อาทิ ไฮเปอร์มาร์เก็ต, มาร์เก็ต, ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ และเอ็กซ์พรส และจะโฟกัสการเปิดสาขาในอำเภอขนาดรองและเล็กมากขึ้น ทั้งนี้ สาขาที่ 2,000 ของเทสโก้ โลตัส ตั้งอยู่ที่บางกรวย-ไทรน้อย ถือเป็นสาขาที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และเป็นสาขาที่นำเทคโนโลยีและเซอร์วิสใหม่ ๆ เข้ามาทดลองใช้เป็นครั้งแรก อาทิ เทคโนโลยีสแกนสินค้า scan as you shop จากประเทศอังกฤษ เพื่อการช็อปปิ้งที่สนุกและสะดวกขึ้นของลูกค้า, การจ่ายเงินผ่าน QR code ที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ทุกเคาน์เตอร์ ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด, กรีนเลน ช่องจ่ายเงินพิเศษสำหรับลูกค้าที่ไม่รับถุงพลาสติก และสัญญาณ WiFi ฟรีเต็มพื้นที่นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ด้านนอกของศูนย์การค้า เทสโก้ได้เพิ่มเลนปั่นจักรยานยาว 1.2 กิโลเมตร ลานอเนกประสงค์ ศาลา ส่วนหย่อม และลานออกกำลังกาย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับลูกค้าและประชาชนในชุมชนสามารถใช้ออกกำลังกายและพักผ่อน “เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สาคัญของเทสโก้ โลตัส ที่เราได้เปิดสาขาที่ 2,000 ตลอดระยะเวลากว่า 24 ปีที่ผ่านมา โดยเราได้ลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปิดสาขาใหม่และพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้บริการลูกค้าของเราให้ดียิ่งขึ้น” ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-211230

จำนวนผู้อ่าน: 2673

29 สิงหาคม 2018

“ตั้งคารวคุณ”คว้าสิทธิ์ขายเบนซ์ ผุดโชว์รูมเลียบด่วนรามอินทรา

ตระกูล “ตั้งคารวคุณ” กลุ่มทุนใหญ่สีทีโอเอขยายไลน์บุกตลาดรถหรู คว้าสิทธิ์ดีลเลอร์ใหญ่ค่ายดาวสามแฉกต่อยอด “ซูซูกิ-เอ็มจี” ประเดิมสาขาแรกเลียบด่วน-รามอินทรา ด้านกลุ่มพระนครยนตรการ จ่อเลิก “เฟียต-อัลฟ่า” รีโนเวตโชว์รูมพหลโยธิน 23 ขึ้นป้ายใหม่ “มาสด้า” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจค้าปลีกรถยนต์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากจากกระแสดิสรัปชั่น (disruption) ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรงของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยียุคดิจิทัล ดีลเลอร์ขายรถยนต์ทั้งรายใหญ่รายย่อยประสบปัญหาหลายด้าน มีจำนวนไม่น้อยตัดสินใจทิ้งธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไปสู่ภาคธุรกิจอื่นที่สามารถทำกำไรและสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่า รวมถึงการสวิตช์แบรนด์จากยี่ห้อเดิมที่ทำมาช้านานไปสู่ยี่ห้อใหม่ที่มีโอกาสและความลงตัวทางธุรกิจมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มทุนหน้าใหม่สนใจก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทุนใหญ่ทีโอเอบุกรถหรู หนึ่งในนั้นคือกลุ่มตระกูล “ตั้งคารวคุณ” ยักษ์ใหญ่วงการสีทีโอเอและกัปตัน ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจในเครือ 8 กลุ่ม พยายามขยายพอร์ตเข้าสู่การเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ภายใต้แบรนด์ “เบส ออโต้เซลส์” ซึ่งบริหารงานโดยลูกชายคนเล็ก “ณัฏฐวุฒิ ตั้งคารวคุณ” ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กลุ่มทีโอเอซึ่งแตกไลน์เข้าสู่ค้าปลีกรถยนต์ เริ่มต้นด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ 2 แบรนด์ ได้แก่ ซูซูกิและเอ็มจี ผลประกอบการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดี มีทิศทางการเพิ่มจำนวนโชว์รูมและขยายการลงทุนด้านเซอร์วิสได้ตามเป้าหมายที่บริษัทแม่กำหนด กระทั่งล่าสุดมีแผนขยายไลน์เข้าสู่กลุ่มรถยนต์หรูเพิ่มเติม โดยบรรลุข้อตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตกลงรายละเอียดร่วมกับทางบริษัทแม่ถึงรูปแบบและการลงทุนในฐานะตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ แหล่งข่าวจากชมรมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตดีมาก ทำให้บริษัทแม่เร่งหาพันธมิตรและตัวแทนจำหน่ายเพิ่มเติม เท่าที่ทราบกลุ่มทุนทีโอเอเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายใหม่ ซึ่งคาดว่าจะได้รับสิทธิ์เข้ามาเป็นดีลเลอร์เพิ่มเติมในรูปแบบของออโตเฮ้าส์ 500 ใช้เม็ดเงินลงทุนราว ๆ 800-1,000 ล้านบาท ผุดโชว์รูมและศูนย์บริการเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้า ปักหมุด ยึดทำเลบนถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา พร้อมทั้งจะดึงมืออาชีพในวงการรถยนต์ไปร่วมปลุกปั้นด้วย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนและน่าจะดำเนินการได้ภายในเร็ว ๆ นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามเรื่องนี้ไปยังนายณัฏฐวุฒิ ตั้งคารวคุณ ผู้บริหาร เบส ออโต้เซลส์ ได้รับคำตอบจริง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งคาดว่าทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย น่าจะเป็นผู้แถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้เองทั้งหมด ปูพรมขยายตลาดทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มเบส ออโต้เซลส์ เข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์เมื่อปี 2522 เริ่มต้นเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ซูซูกิ ปัจจุบันถือเป็นตัวแทนจำหน่ายซูซูกิรายใหญ่ มียอดขายติดอันดับขายดี มีโชว์รูมและศูนย์บริการ 5 แห่ง ได้แก่ สาขารามคำแหง, ชลบุรี, พัทยา, ศรีราชา หลังจากนั้นได้ขยายธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เอ็มจี รายใหญ่ มีโชว์รูมและศูนย์บริการ 7 สาขา ได้แก่ มหิดล เชียงใหม่, เชียงใหม่ แม่โจ้, บายพาส ชลบุรี, ศรีราชา, พัทยา, เพชรเกษม 65, รามคำแหง 62 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อีก 1 ตระกูลที่น่าจับตามองตอนนี้ คือ “จึงสงวนพรสุข” ของกลุ่มพระนครยนตรการ หรือพีเอ็นเอกรุ๊ป ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงรถยนต์มายาวนานกว่า 30 ปี ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเชิงรุกคืบเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีกหลายแบรนด์ จ่อเลิกเฟียต-อัลฟ่า ขายมาสด้า โดยแผนรุกธุรกิจของพีเอ็นเอกรุ๊ปในช่วง 1-2 ปี จะใช้เม็ดเงินขยายลงทุนอีกหลายพันล้านบาท รุกคืบเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาสด้ารวดเดียว 3 สาขา ประกอบด้วย บางจาก, พหลโยธิน และเกษตร-นวมินทร์ ส่งผลให้พีเอ็นเอกรุ๊ปกลายเป็นดีลเลอร์ขายรถยนต์รายใหญ่ถึง 5 ยี่ห้อ ได้แก่ อีซูซุ, ฮอนด้า, เชฟโรเลต, ฟอร์ด และล่าสุด มาสด้า สำหรับโชว์รูมและศูนย์บริการมาสด้า บางจาก พีเอ็นเอกรุ๊ปกำหนดปรับโชว์รูมเชฟโรเลต ปากซอยสุขุมวิท 64 มาเป็นโชว์รูมมาสด้าแบบใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ MCI (Mazda Corporate Identity) ขณะที่สาขาพหลโยธิน ซึ่งเดิมไม่อยู่ในแผนนั้น จะปรับโชว์รูมและศูนย์บริการเฟียตและอัลฟ่าบริเวณปากซอยพหลโยธิน 23 ขึ้นเป็นโชว์รูมมาสด้ารูปแบบใหม่เช่นกัน หลังจากที่เวิร์นส์ มาสด้า ตัดสินใจเลิกสาขาฝั่งตรงข้ามแดนเนรมิตเดิม ส่วนสาขาเกษตร-นวมินทร์จะใช้พื้นที่ใกล้เคียงกับโชว์รูมฟอร์ด พีเอ็นเอกรุ๊ปมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์มากมาย อาทิ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลี, รถยนต์และจัดจำหน่ายแบรนด์เฟียต, อัลฟ่า โรมิโอ, ฮอนด้า, เชฟโรเลต, โปรตอน, ฟอร์ด และมาสด้า บริการเช่ารถยนต์ ไทย เพรสทิจ เร้นท์ เอ คาร์, การขนส่งรถยนต์ พระนครมอเตอร์ อินดัสตรี, การประมูลงานขายรถยนต์ ยูไนเต็ดโอโต เซลส์, บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์พระนครยนตรการ และกลุ่มธุรกิจใหม่ มีเทิร์นโอเวอร์ต่อปีมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-211182

จำนวนผู้อ่าน: 3071

29 สิงหาคม 2018

SCG Circular Economy ชวนทุกภาคส่วนดูแลโลก

ต้องยอมรับว่า “Circular Economy” หรือ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ถือเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติรูปแบบการผลิตและบริโภคครั้งใหญ่ของโลกนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการของเสียที่ใช้ หรือบริโภคแล้วนำกลับมาเป็นทรัพยากรที่ใช้หมุนเวียนในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนำไปสู่กระบวนการผลิตใหม่ (reprocess) การออกแบบใหม่ (redesign) การสร้างคุณค่าใหม่ (added value) การสร้างนวัตกรรมใหม่ (innovation) การใช้ซ้ำ (reuse) ตลอดจนการสร้างความร่วมมือ (collaboration) ที่เพิ่มขึ้น ทั้งที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุด เกิดประโยชน์สูงสุด และยังลดปริมาณขยะ ขณะเดียวกันยังทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้น มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน อันเป็นการสร้างคุณค่าที่ดี ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จากข้อมูล CEO Guide to the Circular Econ-omy, WBCSD (World Business Council for Sustainable Development)คาดการณ์ว่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจได้ถึงราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การจะทำให้ แนวคิดนี้แพร่หลายถูกนำไปใช้ในวงกว้างทุกภาคส่วน สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความตระหนัก จิตสำนึก ทัศนคติ และความเชื่อให้กับผู้บริหารคนในองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ด้วยเหตุนี้ “เอสซีจี” จึงจัดงานสัมมนา “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” ขึ้น เพื่อจุดประกายผลกระทบที่โลกกำลังเผชิญ และชี้ให้เห็นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว ผ่านการสร้างความเข้าใจ การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคสู่แนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำเสนอตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีองค์กรชั้นนำระดับโลก ภาครัฐ ภาคประชาสังคมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและต้นแบบความสำเร็จ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าในปี 2030 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่   “ปัจจัยดังกล่าวเกิดจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศ และเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งสวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการถูกทำลาย การใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ความไม่สมดุลนี้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล” “ขณะเดียวกันเมื่อทรัพยากรถูกนำไปใช้แล้วจะกลายเป็นขยะจำนวนมาก โดยปัจจุบันคนไทย 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม และที่จริงแล้วขยะเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้มากกว่าร้อยละ 60 แต่ทุกวันนี้นำไปใช้ได้เพียงร้อยละ 31 เท่านั้น เพราะเราไม่ตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อไป” “Circular Economy จึงเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการเมื่อสินค้าหมดอายุ” แต่การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืน “รุ่งโรจน์” บอกว่า สิ่งสำคัญคือความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งเอสซีจีเองในฐานะภาคธุรกิจ จึงขอเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนได้อย่างแท้จริงเนื่องจากที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ผ่านการขับเคลื่อนใน3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ หนึ่ง reduced material use และ durability ซึ่งเป็นการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต สอง upgrade และ replace เป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้า หรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น สาม reuse และ recycle เป็นการเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วให้กลับมาใช้ใหม่ “ไม่เพียงเท่านี้ เอสซีจียังสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งใน และต่างประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ หรืออย่างการจัดสัมมนาครั้งนี้ที่เชื่อว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” “ปีเตอร์ บากเกอร์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(WBCSD-World Business Council forSustainable Development) กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะการเมืองมีอิทธิพลครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจที่ยากเกินกว่าจะคาดเดาได้ อีกทั้งเรื่องความยั่งยืนยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะไม่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศา “ทั้งการประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) ที่เป็นแนวทางการพัฒนาโลกใน 15 ปี (2016-2030) ที่จะเป็นการสร้างอนาคตที่ดีที่ทุกคนต้องการ เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงปรากฏการณ์ที่เห็นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาพลาสติกในท้องทะเล โดยเฉพาะภาพปลาวาฬที่ตายเกยชายหาด ที่ในท้องเต็มไปด้วยพลาสติก ยิ่งสร้างความตระหนกให้แก่ผู้คนทั่วโลก จนหลายประเทศได้ออกมาตรการเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว” “ที่ผ่านมามีงานวิจัยระบุว่า หลาย ๆ ธุรกิจสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ ถ้านำเอาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเป้าหมายใหญ่ขององค์กร เพราะการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ขององค์กร และการที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องค่อย ๆ ปรับกระบวนการธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือมีประสิทธิภาพดีที่สุด นอกจากนี้ความร่วมมือยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่จะผลักดันให้เกิดวิธีคิดใหม่ ๆ” “ปีเตอร์ บากเกอร์” กล่าวอีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นเส้นตรง ที่ไม่ใช่แค่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า และนำไปบริโภค แล้วทิ้งไป (take-make-dispose) แต่เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สุงสุด เพื่อเปลี่ยนขยะ หรือของเสียให้นำกลับมาใช้หมุนเวียน (make-use-return) ได้ ตรงนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปในทางที่ดีขึ้น “ปัจจัยที่ภาคธุรกิจควรนำมาพิจารณา เพื่อให้เดินไปตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย สินค้าจะมีอายุยาวนานได้อย่างไร จะทำบริการให้เกิด sharing platform ได้อย่างไร จะนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ได้อย่างไร จะทำบริการให้เป็นสินค้า (product as a service) ได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เกิด circular supplies” ที่สำคัญ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม จะทำให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดผลในวงกว้าง ทั้งการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและนวัตกรรม ลดการใช้ทรัพยากร และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้คน และชุมชนทั่วโลกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะทำให้ความตกลงปารีส และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแท้จริง ที่มา : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-210950

จำนวนผู้อ่าน: 2535

28 สิงหาคม 2018

ความสุขขององค์กรสื่อ BBC Worldwide ANZ

“BBC Worldwide ANZ” เป็นสำนักงานสาขาของ BBC (British Broadcasting Corporation) ประเทศอังกฤษ โดยตั้งอยู่ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นองค์กรมีประสบการณ์ด้านการผลิตเนื้อหาคุณภาพมาอย่างยาวนาน ล่าสุดบริษัทต้องการสร้างมาตรฐานองค์กรใหม่ โดยเน้นเรื่องการทำงานร่วมกันแบบข้ามสายงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสารภายในองค์กร จึงมีการปรับปรุงออฟฟิศให้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ดังกล่าว ที่มา : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-209435

จำนวนผู้อ่าน: 2498

28 สิงหาคม 2018

Xiaomi เปิดตัวแบรนด์ใหม่ POCOPHONE F1 ชูจุดแข็งเทพ ราคาถูก

นาย ใจ มานี (Jai Mani) หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ POCO Global กล่าวว่า POCOPHONE เป็นแบรนด์ใหม่ภายใต้แบรนด์เสียวหมี่ (Xiaomi) โดยเป้าหมายของแบรนด์คือ การส่งมอบประสบการณ์การใช้งานสมาร์ทโฟนที่แตกต่าง พร้อมปล่อยสมาร์ทโฟนรุ่นแรก “POCOPHONE F1” ที่มีจุดเด่นที่สเป็คเครื่องที่คุ้มค่ากับราคา  “POCO มีความหมายว่าสิ่งเล็ก ๆ ซึ่งสะท้อนความเชื่อในการเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ แต่ฝันให้ใหญ่ แม้จะเป็นแบรนด์เล็กภายใต้บริษัทแม่อย่างเสียวหมี่ แต่ก็มีอิสระเต็มที่ที่จะเริ่มต้นจากศูนย์ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างสรรค์เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คน ซึ่งเราเชื่อว่าจะถูกใจคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีอย่างแน่นอน” สำหรับ POCOPHONE F1 มีชิปเซ็ต Snapdragon™ 845 SoC และเทคโนโลยี LiquidCool ที่ทำให้เครื่องสามารถประมวลผล ด้วยสมรรถนะสูงสุดได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน และทำงานได้ดีขึ้น 3 เท่า เพราะสามารถช่วยระบายความร้อนจาก CPU ได้อย่างรวดเร็ว มีแบตเตอรี่ความจุ 4,000 mAh และด้วย RAM LPDDR4x ขนาด 6 GB กับหน่วยความจำ UFS 2.1 ขนาดสูงสุด 128 GB และมาพร้อมกล้องคู่ AI กับกล้องหน้า 20 MP มีให้เลือก 2 รุ่น 2 สี คือ สีเทา และ สีน้ำเงิน ได้แก่รุ่น 6GB+64GB ราคา 10,990 บาท และ 6GB+128GB ราคา 12,990 บาท โดยจะเริ่มวางจำหน่ายในวันที่ 30 สิงหาคมเป็นต้นไป ผ่านหน้าร้านและออนไลน์กับทาง Lazada ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-210714

จำนวนผู้อ่าน: 2352

28 สิงหาคม 2018

ปีหน้าเมอร์เซเดส-เบนซ์ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด พรึ่บเต็มประเทศ

วันก่อน ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ จัดงานเปิดตัวรถยนต์สปอร์ตหรู เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส คูเป้ 560 และคาบิโอเรต ราคา 15.99 ล้านบาท และ 16.72 ล้านบาท ตามลำดับ นายใหญ่ “ไมเคิล เกรเว่ย์” อัพเดตและฉายภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดรถยนต์พรีเมี่ยมคาร์ในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะกระแสตอบรับของรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่โตวันโตคืน ตลาดพรีเมี่ยมคาร์โตได้อีก สำหรับตลาดพรีเมี่ยมคาร์ในช่วง 7 เดือนแรกที่ผ่านมา จะเห็นว่ามียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 14,000 คัน โต 15% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตแบบชะลอตัว และมีอัตราเฉลี่ยต่ำกว่าตลาด ส่วนในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถพรีเมี่ยมมียอดขายอยู่ที่ 14,000 คัน เติบโตขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ มียอดขายไปแล้ว 8,600 คัน โต 9% และเมื่อดูสัดส่วนการขายแล้วจะเห็นว่า เกือบ 50% ของยอดขายนั้นเป็นรถยนต์ในกลุ่มพิเศษ EQ (Electric Intelligence by Mercedes-Benz) หรือกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งโตถึง 40% แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันนี้ ลูกค้าชาวไทยมีความเข้าใจและต้องการใช้รถยนต์ประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากสัดส่วนการขายที่ออกมา กลุ่มเอเอ็มจีไปได้สวย อีกปัจจัยที่ทำให้ยอดขายของเมอร์เซเดส-เบนซ์เติบโต คือ รถยนต์ในกลุ่มสมรรถนะสูงอย่าง เอเอ็มจี ที่ 7 เดือนมียอดขายโตถึง 250% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำตลาดรถประเภทนี้อย่างจริงจัง และมีตัวแทนจำหน่ายถึง 11 แห่งในช่วงที่ผ่านมา โดยเร็ว ๆ นี้จะเพิ่มอีก 1 แห่งเป็น 12 แห่ง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมถึงการลงทุนในส่วนของเครื่องมือพิเศษ การฝึกอบรมพนักงานเพื่อรองรับในส่วนของรถในกลุ่มเอเอ็มจีโดยเฉพาะ เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้จะเห็นว่า รัฐบาลไทยได้มีนโยบายในการสนับสนุนรถยนต์ในกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด, อีวี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะเดินหน้าเพื่อก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้หมายความจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางดังกล่าว รวมทั้งรองรับจำนวนความนิยมของรถทั้ง 2 ประเภทที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.การชาร์จ ว่าแต่ละครั้ง ที่ชาร์จโดยเฉพาะในพื้นที่กลางอย่าง คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ฯลฯ ว่าจะมีต้นทุนค่าไฟเท่าไหร่ และจะจัดเก็บในอัตราเท่าใด ตรงนี้ยังไม่มีการนำประเด็นดังกล่าวมาหารือ หรือพูดคุยกันเลย และ 2.เรื่องของความเสถียรของกระแสไฟฟ้าว่ามีมากน้อยเพียงใด ลูกค้าเลือกสมรรถนะไม่ใช่ราคา เมอร์เซเดส-เบนซ์มองว่า การสนับสนุนไปยังกลุ่มผู้ใช้รถนั้นอาจเกินความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้มีการสนับสนุนในรูปแบบของการลดภาษีต่าง ๆ ทำให้ราคารถยนต์ประเภทนี้มีราคาลดลงกว่าที่ควรจะเป็นค่อนข้างมากแล้ว และเชื่อว่าลูกค้าผู้ใช้รถเองนั้นยังให้ความสำคัญกับตัวรถ ทั้งในเรื่องของความสนุกสนานในการขับขี่ ความปลอดภัย สามารถขับได้ในระยะทางที่ค่อนข้างยาว มากกว่าจะมองในเรื่องของราคา และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เป็นเรื่องรองลงไป ปีหน้าพรึ่บเต็มพื้นที่ เชื่อว่ารถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เรามีโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่เราได้ขอรับการส่งเสริม การลงทุนไปยังบีโอไอ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จะเริ่มเปิดสายการผลิตได้ในปีหน้า จะทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้น มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นด้วย และเราเชื่อว่ายอดขายของรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะเติบโตเพิ่มขึ้นแน่นอน ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-210241

จำนวนผู้อ่าน: 2287

27 สิงหาคม 2018

ย้ายเรียบกระทรวงใหญ่ คุมผังอาคารเกาะรัตนโกสินทร์

กระทรวงใหญ่เข้าคิวย้ายที่ทำการตามมหาดไทย รับแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ “คมนาคม” จองที่ดินรถไฟย่านบางซื่อสร้างอาคารใหม่ ก.ท่องเที่ยวฯเล็งเช่าพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ 3 หมื่น ตร.ม. ด้าน กทม.ขานรับเตรียมปรับผังเมืองคุมเข้มการพัฒนา 5 บริเวณหลัก ทั้งชั้นใน-ชั้นนอกเกาะเมือง ห้ามผุดตึกสูง อาคารขนาดใหญ่ พร้อมคุมโทนสีอาคาร-หลังคา ปั้นถนนราชดำเนินกลางเป็นแลนด์มาร์กเทียบฌ็องเซลิเซ่ กระแสข่าวการโยกย้ายหน่วยงานราชการออกไปนอกเขตพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ถูกจับตามองในวงกว้าง เพราะนอกจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จะยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ 100 ไร่ บริเวณสนามกอล์ฟชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ตามที่ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์หรือไม่ ส่วนราชการทั้งระดับกรม กระทรวงอีกหลายหน่วยงานก็มีแผนจะย้ายอาคารที่ทำการซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีแผนจะจัดระเบียบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนา กทม.ระยะ 20 ปี ที่กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2575ให้ กทม.เป็นมหานครแห่งเอเชีย เป็นเมืองชั้นนำด้านเศรษฐกิจภาคบริการ ปลอดภัย สะดวกสบาย สวยงาม น่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นไปตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขณะนี้แผนดังกล่าวอยู่ระหว่างเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คุมเข้มรอบเกาะรัตนโกสินทร์ นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานในพื้นที่รอบกรุงรัตน โกสินทร์ และพระบรมมหาราชวัง รวมถึงรองรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน และสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ชั้นในเกาะรัตนโกสินทร์ ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรับปรุงแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ฉบับปี 2560 โดยขยายขอบเขตพื้นที่ครอบคลุม 1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน 2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก 3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ 4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม และ 5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์   ย้ายมหาดไทย-กทม.นำร่อง หลังแผนแม่บทดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. หน่วยงานเกี่ยวข้องจะต้องนำผลศึกษาที่นำมาจัดทำเป็นแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ แทนแผนแม่บทเดิมซึ่งจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2540 มาปฏิบัติ และดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท เช่น ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ ระบบการจราจร การใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว การท่องเที่ยวและวิถีชุมชน “เป็นการจัดระเบียบพื้นที่ชั้นในใหม่เพื่อไม่ให้มีความแออัด อาจจะมีหน่วยงานราชการบางส่วนที่ต้องย้ายออกไปอยู่บริเวณอื่น เพื่อลดความแออัด เช่น กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ซึ่งในส่วนของ กทม.ขณะนี้กำลังทยอยย้ายหน่วยงานในสังกัดบางส่วนไปอยู่ตึกใหม่ ในศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง และในอนาคต ศาลาว่าการ กทม. 1 จะอนุรักษ์อาคารเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์” ปั้นแลนด์มาร์ก-คุมโทนสีอาคาร นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ในส่วนของถนนราชดำเนินและพื้นที่ในบริเวณที่ต่อเนื่องจะมีการพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญและเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ จะทำให้เป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานของประเทศไทย เหมือนกับถนนฌ็องเซลิเซ่ของประเทศฝรั่งเศส การจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในเบื้องต้นมีแนวคิดจะให้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอกปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เช่น ทาสีอาคารเป็นโทนเดียวกันทั้งหมด คือ สีเหลืองอ่อนและสีเทาอ่อน ส่วนสีหลังคาให้เป็นสีน้ำตาลแดงเหมือนกันทั้งหมด โซนนิ่งที่ดิน-ห้ามอาคารใหญ่ ขณะที่ผังเมือง กทม.อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมการออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดสถาปัตยกรรมอาคารต่าง ๆ ให้เป็นสถาปัตยกรรมเดียวกัน เช่น สไตล์ยุโรป เนื่องจากพื้นที่ชั้นในมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่อยู่จำนวนมาก นอกจากจะคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมืองรวม กทม.ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่สีน้ำตาลอ่อน หรือเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย จะควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ คมนาคมเจรจารถไฟใช้ที่บางซื่อ แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพื่อให้สอดรับกับแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ และแก้ไขปัญหาเรื่องความแออัดของสถานที่ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเตรียมหาพื้นที่ย้ายที่ตั้งกระทรวงไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากสถานที่ตั้งกระทรวงปัจจุบันบริเวณถนนราชดำเนินแออัดมาก ไม่มีที่จอดรถ สำหรับที่ตั้งใหม่กำหนดขนาดพื้นที่ไว้ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ ซึ่งมี 3 ทำเลที่ทางผู้บริหารกำลังพิจารณา ได้แก่ 1.ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ย่านพระราม 9 ที่อนาคตจะมีรถไฟฟ้าสายสีส้มพาดผ่าน 2.ที่ดินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริเวณทุ่งมหาเฆม แต่ยังติดปัญหาเรื่องการเข้า-ออกที่ลำบาก และ 3.ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บนถนนกำแพงเพชร 2 เยื้องกับปั๊มน้ำมัน ปตท. ซึ่งอยู่ในบริเวณย่านสถานีกลางบางซื่อ ที่ในปี 2563 จะมีรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต) เปิดบริการ รวมถึงเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบราง และรัฐบาล ยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นสมาร์ทซิตี้อีกด้วย “ตอนนี้ที่เหมาะสมที่สุดคาดว่าจะเป็นย่านบางซื่อ เพราะการเดินทางสะดวก ขณะนี้กำลังเจรจากับการรถไฟฯขอเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้าง ล่าสุดกระทรวงได้จ้างทางจุฬาฯออกแบบรายละเอียดอาคารแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว ท่องเที่ยวฯจองศูนย์ราชการ ขณะที่นายสุพจน์ วงศ์พรหมท้าว โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนย้ายที่ทำการกระทรวงว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้แจ้งความประสงค์ขอใช้พื้นที่โซนซี ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ สำหรับเป็นที่ทำการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯซึ่งนอกจากส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (ถ.ราชดำเนิน) แล้ว ยังมีส่วนของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ รวมถึงกลมพลศึกษา (บางส่วน) ที่ปัจจุบันอยู่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ (ถ.พระราม 1) มารวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้จัดทำแผนการใช้พื้นที่เบื้องต้นเสนอกรมธนารักษ์ไปเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นแจ้งขอใช้พื้นที่รวม 30,000 ตร.ม. คาดว่าแผนทั้งหมดน่าจะนำเสนอ ครม.อนุมัติได้ภายในปี 2562 และดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 “ด้วยภารกิจและความรับผิดชอบ รวมถึงบุคลากรที่มีอยู่ในปัจุบัน ทำให้พื้นที่ทำการของกระทรวงเริ่มคับแคบไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัดเรื่องของการปรับปรุงเพิ่มเติม จึงต้องหาที่ทำการใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไปดูไว้หลายที่ แต่สุดท้ายคือ พื้นที่อาคารโซนซี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ที่กำลังเตรียมการก่อสร้าง” นายสุพจน์กล่าว ททท.หนุนสร้างจุดขายใหม่ สอดคล้องกับที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า แผนปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ในโซนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะมีบางกระทรวงต้องย้ายออกจากบริเวณที่ตั้งเดิม เหตุผลเป็นเรื่องของความคับแคบและแออัดเป็นหลัก ส่วนในมิติการท่องเที่ยวหากสามารถบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ได้ดี และสร้างแลนด์มาร์กขึ้นมาได้ เชื่อว่าจะทำให้พื้นที่บริเวณนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เหมือนในหลาย ๆ ประเทศที่มีการทำถนนและปรับปรุงพื้นที่ให้คนเดินเที่ยวได้สะดวก โดยอาศัยความโดดเด่นของถนนและย่านต่าง ๆ ในบริเวณนี้ และมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน เช่น ชุมชนรอบ ๆ ถนนราชดำเนิน ซึ่งมีความน่าสนใจทั้งวิถีชีวิตและอาหาร สามารถนำไปเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวได้ ที่สำคัญมองว่าแนวทางการปรับปรุงดังกล่าวนี้จะทำให้ทำเลเกาะรัตนโกสินทร์เป็นแลนด์มาร์กด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นยิ่งขึ้น รอไฟเขียวใช้ที่ดินกรมชล ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างรอการพิจารณาเรื่องการขอใช้ที่ดินสนามกอล์ฟชลประทาน 100 ไร่ จากกระทรวงเกษตรฯ หลังจากทำหนังสือขอใช้พื้นที่สนามกอล์ฟของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของกระทรวงมหาดไทยไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนจากกระทรวงเกษตรฯ ว่าจะตอบกลับมาเช่นใด จึงยังไม่ถึงขั้นตอนของการตั้งงบประมาณในเรื่องย้ายกระทรวง ที่ีมา : https://www.prachachat.net/tourism/news-210247

จำนวนผู้อ่าน: 2540

27 สิงหาคม 2018

“ซีพีเอฟ” เปิดฟาร์มบางสระเก้า ต้นแบบการเลี้ยงกุ้งปลอดสารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ศึกษาและวิจัยพัฒนารูปแบบการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในโรงเรือนระบบปิด ที่ฟาร์มบางสระเก้า เพื่อให้สามารถรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อาทิ ความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน และโรคระบาด เพื่อให้ได้ผลผลิตกุ้งที่สด สะอาด ไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะ ปลอดภัย ป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อโรค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางจะช่วยการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกุ้ง ทั้งนี้ ฟาร์มบางสระเก้า ตั้งอยู่ใน อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เป็นฟาร์มต้นแบบที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากฟาร์มร้อยเพชร ครอบคลุมพื้นที่ 600 ไร่ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2557 มีโรงเรือนเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมในระบบปิด มีการป้องกันพาหะนำโรคกุ้งทุกชนิด ไม่ให้เล็ดลอดเข้าสู่ระบบการเลี้ยงได้ และโรงเรือนมีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงให้เหมาะสม ใช้ระบบม่านระบายอากาศที่สามารถรักษาอุณหภูมิในบ่อเลี้ยงให้อยู่ในระหว่าง 28-30 องศาเซลเซียสตลอดเวลา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสภาวะแวดล้อมภายนอกจะผันแปรอย่างไร ช่วยให้สามารถเลี้ยงกุ้งได้ทุกฤดูกาล “การพัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิด ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้กระบวนการผลิตกุ้ง สามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้” นายเปรมศักดิ์กล่าว สำหรับฟาร์มบางสระเก้าได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเลี้ยง เพื่อลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การเตรียมน้ำ จะใช้เครื่องกรอง Ultra Filtration (UF) ที่จะช่วยกรองน้ำที่จะนำไปใช้ในกระบวนการเลี้ยงได้ทั้งหมด ปราศจากเชื้อโรคต่างๆ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ส่วนระบบการจัดการน้ำภายในบ่อเลี้ยงกุ้ง นำเทคโนโลยีไบโอฟลอค (Biofloc Technology) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยในการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงกุ้ง ที่ใช้การเติมจุลินทรีย์ ที่ผ่านการวิจัยและคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อกุ้ง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งช่วยลดการใช้น้ำในการผลิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับน้ำได้ นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังเน้นการจัดการฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Probiotics) หรือ จุลินทรีพย์ที่เป็นมิตรกับกุ้งมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ฟาร์มบางสระเก้าและฟาร์มกุ้งของซีพีเอฟไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง เพิ่มความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต จากการเปรียบเทียบการเลี้ยงกุ้งแบบระบบเปิด กับระบบปิด จะพบว่า การเลี้ยงกุ้งระบบปิดมีระยะการเลี้ยงเพียง 105 วันสามารถให้ผลผลิตสูงถึง 8 ตันต่อไร่ต่อรุ่น รวมทั้ง ซีพีเอฟมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงแบบครบวงจร ใช้การอนุบาลลูกกุ้งก่อนย้ายไปเลี้ยงในบ่อใหญ่ ร่วมกับการใช้เทคนิคการทยอยจับกุ้งออกบางส่วน เพื่อให้ได้กุ้งขนาดต่างๆ ตรงตามที่ตลาดต้องการ การเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิด ที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับ ซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญ ในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์กุ้งของซีพีเอฟมีความแข็งแรง ปลอดโรค และโตเร็ว จึงเป็นแนวทางที่พัฒนาให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-210269

จำนวนผู้อ่าน: 2962

27 สิงหาคม 2018

การเป็น Super App ของผู้ให้บริการออนไลน์

แนวโน้มผู้ให้บริการออนไลน์กำลังมุ่งสู่การเป็น super app หรือบางคนอาจเรียกว่า everyday app ซึ่งคือการเป็นแอปพลิเคชั่นที่ครอบคลุมทุกบริการ และต้องการให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ตัวอย่างที่ชัดมาก คือในประเทศจีน กับแอปพลิเคชั่น WeChat ที่กลายเป็น everyday app ไปเรียบร้อยแล้ว super app หมายถึง ในหนึ่งแอปพลิเคชั่นจะมีทุกอย่าง เช่น ตื่นเช้ามาใน WeChat จะมีโซเชียลมีเดียในตัวเอง สามารถกดจ่ายเงิน, จองตั๋วหนัง, จ่ายค่ารถ, ค่าอาหาร, โอนเงิน หรือใช้เล่นเกม รวมถึงการเชื่อมต่อเข้ากับการบริการของภาครัฐ ตอนนี้ WeChat กลายเป็นต้นแบบของทั่วโลกไปแล้ว ทุกคนก็อยากขึ้นมาเป็น super app เพราะเมื่อคุณกลายเป็น super app ได้ปุ๊บ นั่นหมายถึงคนจะใช้เวลาอยู่กับแอปของคุณตลอดเวลา ในเมืองไทยมีหลายเจ้าที่จัดว่ามีความพร้อม และบางเจ้าก็ประกาศตัวแล้วว่า ต้องการเป็น super app เจ้าที่ดูว่ามีความพร้อมมากที่สุด น่าจะเป็น Line เพราะ “ไลน์” เองมี “แชต” ที่ทุกคนคุ้นเคย และเริ่มขยายบริการออกไปอีกหลาย ๆ ตัว เช่น LINE TV, LINE TODAY, LINE MAN, LINE PLAY ฯลฯ และเริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แม้อาจไม่ครบทุกอย่างเพราะบริการบางตัวยังไม่แข็งแรงมากเท่าใดนัก กับอีกฝั่งหนึ่งที่ CEO ออกมาประกาศชัดเจนเลยว่า ต้องการที่จะเป็น super app นั่นคือ Grab ซึ่งถือว่าเป็นแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการ bike sharing หรือเป็นแอปเรียกรถที่เราคุ้นเคยกันดี “แกร็บ” บอกว่า ต้องการเป็น super app รายแรกของอาเซียน ตอนนี้คู่ต่อสู้ที่ดุเดือดและน่ากลัวมากสำหรับ “แกร็บ” คือ โกเจ็ก (GoJek) ที่ในอินโดนีเซีย ได้กลายเป็น super app ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นคือใช้เรียกรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ มีระบบชำระเงิน มีกระเป๋าเงินออนไลน์ หรือเรียกคนมาบริการนวดให้ก็ได้ คือแอป GO-MASSAGE ฯลฯ สำหรับในเมืองไทยจะค่อย ๆ มีแอปพลิเคชั่นบริการเข้ามาเป็นบางตัวก่อน ขณะเดียวกันค่ายอื่น ๆ ที่ทำแอปพลิเคชั่นอย่าง TrueMoney ก็พยายามขึ้นมาเป็น super app หรือแม้กระทั่ง BluePay และ ที่เป็นแอปสำหรับการชำระเงินก็พยายามเป็น super app เช่นกัน แต่การที่จะเป็น super app ได้นั้นต้องมีทุกอย่างทุกบริการอยู่ครบในตัวเองทั้งหมด การทำให้มีครบทั้งหมดนั้น แต่ละเจ้าต้องศึกษาและหาวิธีที่คิดว่าเหมาะกับตนเองที่สุดอย่างกลยุทธ์ที่ “โกเจ็ก” ใช้ที่อินโดนีเซีย คือดึงกิจการของเจ้าบ้านที่เก่งในแต่ละด้านเติมเข้ามาในพอร์ตของตัวเอง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นของตน ผมเชื่อว่าในอนาคตที่เราจะเห็น คือ “แกร็บ” หรือบริการต่าง ๆ จะเริ่มเข้าสู่การทำบริการให้ครบสมบูรณ์แบบในแอปเดียว โดยใช้วิธีการสร้างเอง ซื้อเอา หรือเป็นพาร์ตเนอร์ ตรงจุดนี้เองจะเร่งการแข่งขันมากขึ้น จะทำให้การแข่งขันของธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของแอปเริ่มรุนแรงมากขึ้น และนั่นจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยเข้าสู่การใช้บริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนผมไปที่สนามบินขอนแก่น หรือเชียงใหม่ พอออกจากสนามบินมีบริการของแกร็บให้ใช้แล้ว ซึ่งจะเห็นว่าบริการทางออนไลน์มีไปในทุกที่แล้ว เริ่มจากกรุงเทพฯไปสู่เมืองใหญ่ และขยายไปยังเมืองต่าง ๆ ต่อไป ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-209193

จำนวนผู้อ่าน: 2547

24 สิงหาคม 2018

ค้าปลีกเปิดสนามรบใหม่ ชิงตลาดอู้ฟู่ “มัลติแบรนด์ความงาม”

คอลัมน์ จับกระแสตลาด การเติบโตของร้าน “มัลติแบรนด์ความงาม” ที่รวบรวมแบรนด์ต่าง ๆ เอาไว้ให้ผู้บริโภคได้ช็อปครบทุกสิ่งในที่เดียว กลายเป็นโมเดลร้านที่ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาด้วยรูปแบบของสินค้าและบริการที่ตอบจริตคนรุ่นใหม่ ตลอดจนราคาและโปรโมชั่นที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคแวะเวียนมาที่ร้าน แถมยังได้สินค้าชิ้นอื่น ๆ ติดไม้ติดมือกลับไปเพิ่มอีกหลายรายการ ทำให้สมรภูมิแห่งนี้มีผู้ที่สนใจและเข้ามาไม่หยุด ล่าสุด กลุ่มค้าปลีกอันดับท็อป ๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล เดอะมอลล์ โรบินสัน ต่างก็พร้อมใจกันพัฒนาโมเดลร้านรูปแบบดังกล่าว รวมทั้งมีการจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ เพื่อดึงเชนร้านเหล่านั้นเข้ามาทำตลาด ซึ่งแต่ละรายก็มีจุดแข็งแตกต่างกันไป ข้อได้เปรียบของการที่ห้างผันตัวมาทำร้านเอง คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “พื้นที่” ทั้งในแง่ของโลเกชั่นและต้นทุน หรือการโคฐานข้อมูลจากบัตรสมาชิกห้าง สะสมคะแนนได้ทันที ไม่ต้องสมัครใหม่ และมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่จะส่งมาให้เรื่อย ๆ ซึ่งจะช่วยต่อยอดและช่วยให้ห้างมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง “ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ระบุว่า ล่าสุด ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้ปรับพื้นที่ใหม่เพื่อเปิดโมเดลร้านมัลติแบรนด์ความงาม “ลุคส์” (Looks) รูปแบบช็อปอินช็อป ที่อยู่ภายในท็อปส์ โดยนำร่องสาขาแรกที่เซ็นทรัล พระราม 3 และเตรียมจะเปิดเพิ่มอีก 10 สาขาภายในสิ้นปี พร้อมกันนี้ยังอธิบายว่า ลุคส์ เป็นร้านประเภทออลอินวันเดสติเนชั่น รวบรวมแบรนด์กว่า 1 หมื่นรายการ ร้านดีไซน์ในแบบโมเดิร์น เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มคนทำงานและวัยรุ่นให้เข้าถึงสินค้าง่ายขึ้น และตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคของคนทุกเพศทุกวัย ในการดูแลตัวเองด้านสุขภาพและความงาม โดยก่อนหน้านี้ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ได้จับมือกับบริษัท มัทสึโมโตะ คิโยชิ โฮลดิ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท เซ็นทรัลและมัทสึโมโตะ คิโยชิ จำกัด” เพื่อดึง “มัทสึโมโตะ” เชนร้านค้าปลีกสุขภาพและความงามอันดับต้น ๆ จากญี่ปุ่น เข้ามารุกตลาดเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมี 27 สาขา เน้นสินค้าแบรนด์ดังและหายาก ตลอดจนบริการสไตล์ญี่ปุ่น เพื่อสร้างจุดต่างให้กับร้าน ด้าน “อุสรา ยงปิยะกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง ระบุถึงการจับมือกับกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น “ไอสไตล์ อิงก์” เจ้าของเว็บไซต์รีวิว อีคอมเมิร์ซเครื่องสำอาง และร้านสเปเชียลตี้สโตร์ “แอทคอสเม่” (@Cosme) เปิดบริษัท ไอสไตล์ รีเทล (ประเทศไทย) จำกัด นำร้านแอทคอสเม่เข้ามาเปิดในไทย โดยจะเปิดสาขาแรกที่ไอคอนสยาม และมีแผนจะเปิดให้ครบ 5 สาขาภายใน 3 ปี ทั้งในพื้นที่ของสยามพิวรรธน์และพื้นที่อื่น ๆ “จุดเด่นของร้านคือ การมีฐานข้อมูลจากรีวิวผู้ใช้ทั่วโลก ครอบคลุมกว่า 3 แสนแบรนด์ โดยจะคัดเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่ายจากการจัดอันดับรีวิว ทุกระดับราคาและสินค้าเกือบทั้งหมดจะมีตัวอย่างให้ทดลอง พร้อมบริการให้คำปรึกษาจากพนักงานที่มีความรู้ในผลิตภัณฑ์หลายตัว ไม่เฉพาะแค่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง” ขณะที่ “อนวัช สังขะทรัพย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทได้พัฒนาโมเดลร้าน “เฮลโล บิวตี้” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักช็อปที่ต้องการสินค้าด้านสุขภาพและความงามที่หลากหลาย นอกเหนือจากที่วางขายในแผนกเครื่องสำอางปกติ โดยเฮลโล บิวตี้ มีสินค้าให้เลือกกว่า 500 แบรนด์ และบริการด้านความงามอื่น ๆ อาทิ บริการตกแต่งคิ้ว บริการทำเล็บ ฯลฯ ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 18 สาขา และเตรียมขยายเพิ่มไปยังทำเลอื่น ๆ ที่มีศัยภาพอย่างต่อเนื่อง “ร้านแบบมัลติแบรนด์สโตร์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักช็อปในปัจจุบันได้ดี เพราะส่วนใหญ่มักหาข้อมูลสินค้าจากอินเทอร์เน็ต และซื้อจากหน้าร้านหรือเคาน์เตอร์ ซึ่งการได้เห็นหรือทดลองก่อนจะทำให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เชื่อว่าโมเดลนี้จะช่วยเพิ่มทราฟฟิกและยอดขายสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ” ผู้สื่อข่าวระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่ายเดอะมอลล์ได้เปิดตัวร้าน “บิวตี้ เพลย์กราวด์” มัลติแบรนด์ความงามที่พัฒนาขึ้นเอง สาขาแรกที่เดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มวัยรุ่น 18-25 ปี เน้นสินค้าหลากหลายรวมกว่า 500 แบรนด์ ในราคาเข้าถึงง่าย บรรยากาศร้านทันสมัย มีมุมให้เซลฟีและทดลองแต่งหน้า เพื่อต่อยอดจากฐานลูกค้าผู้ใหญ่ และแผนกเคาน์เตอร์แบรนด์เดิม และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มสิ้นปี ขณะเดียวกันกลุ่มค้าปลีก “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” ของบริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด ก็พัฒนารูปแบบของร้านมัลติแบรนด์ความงาม “นายน์ บิวตี้” เปิดในร้านซีเจ ลักษณะช็อปอินช็อป เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 280 สาขา และภายใน 3 ปีจากนี้ ตั้งเป้าขยายเพิ่มขึ้นเป็น 500 แห่ง เชื่อว่าความหอมหวนของตลาดความงามมูลค่า 1.68 แสนล้านบาท ที่เติบโตถึง 7.8% ในปีที่ผ่านมา จะเชิญชวนให้มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาอีกหลายแบรนด์ ส่วนรายเก่าก็ต้องเร่งปรับตัวสู้กันสุดฤทธิ์ ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-209202

จำนวนผู้อ่าน: 2648

24 สิงหาคม 2018

สมาร์ทซิตี้ “อมตะ-บ้านฉาง” ผนึกโยโกฮามาผุดนิคมอุตฯ

“อมตะ-บ้านฉาง” ประเดิมผุดเมืองใหม่อัจฉริยะใน EEC จับมือ “โยโกฮามา” ทำนิคมอุตสาหกรรมล้ำสมัย เทศบาลบ้านฉางดัน “บ้านฉางสมาร์ทซิตี้” หวังเป็นเมืองใหม่ต้นแบบในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก อัพเดตความคืบหน้าผ่านการพิจารณาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจ่อขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดให้ “เมืองอัจฉริยะ (Smart City)” เป็นประเภทกิจการใหม่ที่จะได้รับส่งเสริมการลงทุน โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้กำหนดองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไว้ 6 ประการ ได้แก่ Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ, Smart People สังคมอัจฉริยะ, Smart Living ชุมชนอัจฉริยะ, Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ, Smart Governance การบริหารจัดการอัจฉริยะ และ Smart Energy & Green Environment พลังงานและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนา “เมืองใหม่” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) BOI อัดสิทธิประโยชน์  นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงมาตรการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ มีเงื่อนไขคือ จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 6 ด้าน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร มีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูล (open data platform) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต้องเสนอแผนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และดำเนินการตามเป้าหมาย KPI การพัฒนาพื้นที่ที่กำหนดประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ จะได้รับสิทธิประโยชน์ประกอบไปด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จำกัดวงเงิน) จากรายได้ค่าบริการโดยใช้ระบบอัจฉริยะ (พื้นที่ EEC+ลดหย่อน 50% 5 ปี), การ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร, สิทธิและประโยชน์อื่นตามประกาศ กทท.ที่ 2/2557 2) ประเภทกิจการพัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะ เงื่อนไขจะต้องมีบริการระบบเมืองอัจฉริยะอย่างน้อย 1 ด้าน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเหมือนกับประเภทกิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะเช่นกัน และ 3) ประเภทกิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เงื่อนไขจะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ประกอบไปด้วยการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (จากเดิมได้เพียง 5 ปี) ตามขนาดเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน เมืองอัจฉริยะโยโกฮามา 2 ด้าน นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)กล่าวถึงโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ว่า เป็นนโยบายภาครัฐที่เห็นร่วมกับภาคเอกชนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมให้เป็นเมืองที่ทันสมัยภายใต้ความเป็นอัจฉริยะทุกด้าน ดังนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทอมตะ คอร์ปอเรชั่น กับเมืองโยโกฮามา โดยจะใช้โมเดลของเมืองโยโกฮามา ซึ่งเป็น 1 ในเมืองอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบสร้างสมาร์ทซิตี้ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี สมาร์ทซิตี้ดังกล่าวจะเป็นการสร้างเมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อโครงการ “Sabai District” บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณด้านหน้าของนิคมอมตะ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะผ่านทาง องค์กร Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA) จัดตั้งขึ้นโดยเมืองโยโกฮามา เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของภาคเอกชนญี่ปุ่นในการขยายไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในด้านการวางผังเมืองแบบบูรณาการ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการเมืองอัจฉริยะ โดยผลการศึกษาและการวาง roadmap จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายนนี้ เมืองโยโกฮามาแห่งที่ 2 นี้ได้พิจารณาทั้งความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ตำแหน่งที่ตั้งและสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยทางโยโกฮามาได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study : FS) ด้วยแนวคิด “Smart Atmosphere for Business, Art and Intelligence” เรียบร้อยแล้ว โครงการนี้จะประกอบไปด้วยออฟฟิศ อาคารพาณิชยกรรม ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดประชุมธุรกิจ MICE พื้นที่แสดงงานศิลปะ แหล่งบันเทิงและนันทนาการ “ในระยะแรกทางโยโกฮาม่าจะเป็นผู้ออกแบบสมาร์ทซิตี้ให้อมตะก่อน จากนั้นสเต็ปต่อไปจะเป็นความร่วมมือในการเป็นมากกว่าพาร์ตเนอร์ หรืออาจจะร่วมลงทุนด้านสมาร์ทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกในอนาคต” นายวิบูลย์กล่าว ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึงความคืบหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะโยโกฮามาของกลุ่มอมตะ พบว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแพ็กเกจสมาร์ทซิตี้ เข้าใจว่า roadmap ของโครงการใกล้เสร็จแล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามา โดยโครงการนี้จะเข้าข่ายประเภทกิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ผุดเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง นอกจากโครงการเมืองอัจฉริยะโยโกฮามาแล้ว ทาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ก็มีความเคลื่อนไหวในการทำเมืองอัจฉริยะ ล่าสุด นายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรีตำบลบ้านฉาง กล่าวว่า โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง (Banchang Smart City) ตั้งอยู่หมู่ 4 เทศบาลตำบลบ้านฉาง พื้นที่ 1,885 ไร่ คิดเป็นพื้นที่อาคารรวม 460,303 ตารางเมตรนั้น “ตอนนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบในหลักการ” ในการประชุมคณะกรรมการ 2 ชุดไปแล้ว โดยคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนจังหวัดระยอง ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 10 สิงหาคม 2561 ได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และได้เตรียมนำเสนอให้ คณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานพิจารณาอนุมัติโครงการ ขณะเดียวกัน โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉางได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เช่นกัน โดย กพอ.มีแนวคิดจะให้เมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง เป็นโครงการนำร่อง Smart City ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของ 3 จังหวัดด้วย “ตามกรอบแผนงานที่กรมโยธาธิการและผังเมืองวางไว้จะมีการพิจารณาอนุมัติทั้งหมด คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับจากนี้” ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-209164

จำนวนผู้อ่าน: 3335

24 สิงหาคม 2018

“ขยะแพ็กเกจจิ้ง” มหันตภัยใหม่ ยุคช็อปปิ้งออนไลน์ครองโลก

ตลาดอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายออนไลน์ มีแนวโน้มเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ทั่วทุกมุมโลก ผู้คนช็อปออนไลน์ด้วยความรู้สึกทั้งสะดวก สบาย ราคาถูกกว่า แถมได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความสุขกับความรู้สึก “แกะกล่อง”อย่างไรก็ตาม ความสุขที่ว่าได้กลายเป็นภาระให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อตลาดโตขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ “ขยะจากแพ็กเกจจิ้ง” หรือหีบห่อพัสดุที่ใช้แล้ว มักไม่ถูกนำกลับมาใช้ซ้ำ ยกตัวอย่างจาก 2 เคสในประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นไปอย่างคึกคักเป็นพิเศษ ภายหลังจากงานเมกะเซลออนไลน์ครั้งใหญ่บนเว็บไซต์จบลง ผู้คนดีอกดีใจได้ของที่ต้องการ แต่ปัญหาขยะพัสดุที่มีตามมาส่งผลกระทบอะไรบ้าง ? เดอะ สเตรตไทมส์ รายงานว่า “งานเซลคนโสด” มหกรรมลดแหลกบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในจีน อีเวนต์ที่ได้รับการตอบรับดีที่สุด ซึ่งจัดขึ้นโดยเว็บไซต์ในเครืออาลีบาบาและค่ายอื่น ๆ โดยเฉพาะงานเซลคนโสด เมื่อวันที่ 11 เดือน 11ปี 2017 ที่ผ่านมา ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จสูงสุด สร้างกระแสเงินหมุนเวียนในประเทศกว่า 254,000 ล้านหยวน หรือราว 1.38 พันล้านออร์เดอร์ และพัสดุจำนวน331 ล้านชิ้น ซึ่งทางไปรษณีย์จีนระบุว่าจำนวนพัสดุเพิ่มขึ้นมากถึง 31.5% เมื่อเทียบกับปี 2016 ความสำเร็จดังกล่าวได้ก่อให้เกิดขยะพัสดุมหาศาล โดยกรีนพีซประเมินตัวเลขว่า มีเศษขยะพัสดุมากกว่า 160,000 ตัน “เหนี่ย ลี่” นักรณรงค์จากกรีนพีซ ให้สัมภาษณ์ว่า มหกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากโรงงานด้านผลิตบรรจุภัณฑ์และชิปปิ้งเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนปีนี้ แม้งานคนโสดประจำปีจะยังเวียนมาไม่ถึง แต่ในส่วนของอเมริกา งาน “อเมซอน ไพรมเดย์” เมกะเซลอีเวนต์ซึ่งจัดผ่านไปเมื่อราวกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก็มีปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ปีนี้อเมซอนขายสินค้าไปได้มากกว่า 100 ล้านโปรดักต์ ภายใน 36 ชั่วโมง แม้บริษัทจะไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขรายได้สุทธิ แต่คาดว่าน่าจะโกยรายได้เข้ากระเป๋าไม่น้อย ผลสำรวจจาก “ฟาสต์ คอมพานี” ระบุว่า ในทุกปี มีพัสดุส่งภายในประเทศสหรัฐมากถึง 165,000 ล้านชิ้น ในจำนวนนี้เป็นกล่องที่ทำจากต้นไม้รวม ๆ แล้วนับ “พันล้านต้น” ต่อปี ขณะที่ “บลูเอพรอน” เจ้าตลาดโลจิสติกส์กลุ่มธุรกิจอาหารสดชี้ว่า ในการส่งอาหาร1 ครั้ง นอกจากกล่องกระดาษแล้วยังต้องมีไอซ์แพ็กหนัก 6 ปอนด์ บรรจุลงไปด้วยอย่างน้อยกล่องละ 2 ชิ้น ซึ่งต่อปีจะคิดเป็นขยะกว่า 192,000 ตัน จำนวนขยะที่มากขึ้น ทำให้มีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้บรรดาผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หันมาสนใจปัญหาที่ละเลยมากขึ้น ปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นออนไลน์รีเทลยักษ์ใหญ่ของโลก ลอนช์มาตรการออกมาตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง เช่น อเมซอน เริ่มหันมาผลิตกล่องพัสดุที่ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ผลิตซองจดหมายสำหรับส่งสินค้าขนาดเล็ก และส่งสินค้าบางชิ้นด้วยแพ็กเกจออริจินอล ไม่ห่อหุ้มอะไรเพิ่มเติม อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนหลายเจ้าก็หันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นเดียวกัน อาทิ ส่งสินค้าด้วยกล่องพลาสติกที่บริษัทขนส่งสามารถแชร์พื้นที่กับลูกค้าหลายรายได้ และนำกลับมาส่งใหม่ได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้ทดลองการจัดส่งโดยใช้ถุงพัสดุที่ย่อยตามธรรมชาติ หรือส่งด้วยกล่องที่ไม่ต้องปิดผนึกเทปกาว เพื่อลดจำนวนขยะลง อย่างไรก็ตาม “เหนี่ย ลี่” ให้ความเห็นต่อมาตรการจากอีคอมเมิร์ซจีนว่า ยัง “ไม่เพียงพอ” ซึ่งการแก้ไขต้องมาจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่จากใครคนใดคนหนึ่งและสิ่งที่จะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน คือการเปลี่ยนไมนด์เซตผู้บริโภคให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่นักเคลื่อนไหวจีนหลายรายมองว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากภาคเอกชนต้องแอ็กชั่นจริงจังแล้ว ภาครัฐและประชาชนก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ไปรษณีย์กลางแห่งชาติจีนได้ออกไกด์ไลน์เมื่อปีที่แล้ว โดยตั้งกฎให้บรรดาอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์กำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานให้หมดสิ้นไป และขีดเส้นตายให้จัดทำระบบรีไซเคิลที่เหมาะสมภายในปี 2020 ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-208577

จำนวนผู้อ่าน: 2499

23 สิงหาคม 2018

ชู”ประกันสินเชื่อ”ตัวช่วยเงินกู้บ้านคนจน LPN-JSPขนสต๊อก 4 พันยูนิตสนองบ้านล้านหลัง

นายกสมาคมบ้านจัดสรรนั่งถกในวอร์รูมนโยบายสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย แนะรัฐบาลฟื้นแนวคิด “ประกันสินเชื่อ” สร้างโอกาสผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัย วิธีการรัฐต้องออกใบอนุญาตให้บริษัทประกันภัยเป็นทางการ ด้านนโยบายสินเชื่อบ้านล้านหลังของ ธอส. ปล่อยกู้ซื้ออสังหาฯราคาไม่เกิน 1 ล้าน ล่าสุด “LPN” ขนสต๊อกคอนโดฯ 3,000 ห้อง ทำเลรังสิต คลอง 1 พร้อมเสียบ “JSP” เช็กสต๊อก 800 ห้องในโครงการไมอามี บางปู เล็งจัดแคมเปญคืนกำไรให้ลูกค้าอีกต่างหาก นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานคณะกรรมการสมาคมการค้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ร่วมหารือกับตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดทำข้อเสนอหลักหลายด้าน จุดโฟกัสที่อยากเห็นการสานต่อจากรัฐบาลคือเรื่องการปฏิรูปด้านสินเชื่อรายย่อย หรือ mortgage ให้เทียบเท่าต่างประเทศ บันได 3 ขั้นทำบ้านคนจน นายอธิปกล่าวว่า จากประสบการณ์ 30 ปีในวงการอสังหาริมทรัพย์ จึงได้จัดทำข้อเสนอเป็นแพ็กเกจเพื่อให้รัฐบาลพิจารณา สรุปได้เป็น 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย แพ็กเกจสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก, แพ็กเกจบ้านผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ, การปฏิรูปสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบ่งเป็นแพ็กเกจ “บ้านหลังแรก” แม้จุดเริ่มต้นเป็นการหารือเกี่ยวกับการผลักดันสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย แต่การไปดูงานเชิงนโยบายในต่างประเทศพบว่ามีการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกโดยไม่จำกัดราคาบ้าน เช่น รัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุนด้วยการให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกในชีวิต เมื่อโอนรับบ้านมาแล้วสามารถไปขอเงินคืนจากรัฐบาลจำนวน 20,000 เหรียญออสเตรเลีย หรือ 5 แสนบาท นำมาซื้อเฟอร์นิเจอร์, ตกแต่งเพิ่มเติม หรือเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน “รัฐบาลในต่างประเทศเข้าใจดีว่าการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองไม่ได้จบแค่ตอนโอน แต่พอได้บ้านมาแล้วยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ นานาอีกมากมาย การขอเงินคืนจากรัฐบาลได้ก็จะมีการนำมาใช้จ่ายตามจำเป็นหรือตามที่ต้องการ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกหลายรอบ โมเดลนี้จึงได้ทั้งบ้านผู้มีรายได้น้อย และไม่จำกัดสิทธิ์ผู้มีบ้านหลังแรกด้วย” เพิ่มโบนัส FAR จูงใจเอกชน แพ็กเกจ “บ้านผู้มีรายได้น้อย” ข้อเสนอถ้ารัฐบาลรับไว้พิจารณาสามารถออกมาตรการสนับสนุนได้ทันที อาทิ การจูงใจภาคเอกชนให้ลงทุนพัฒนาโครงการภายใต้โมเดล FAR Bonus แนวคิดคือ ปัจจุบันการพัฒนาโครงการมีกฎระเบียบจากกฎหมายผังเมืองควบคุม โดยเฉพาะที่ดินที่ตั้งอยู่ทำเลใจกลางเมืองมีข้อจำกัดจากกฎ FAR (floor area ratio) จำกัดขนาดอาคารโดยคำนวณจากขนาดที่ดิน กล่าวคือ ที่ดิน 1 ไร่ มีพื้นที่รวม 1,600 ตารางเมตร ถ้าได้ FAR สูงสุด 10 : 1 หมายความว่า ที่ดิน 1 ไร่สามารถสร้างอาคารได้ 16,000 ตารางเมตร ถ้า FAR เหลือ 5 : 1 การก่อสร้างอาคารก็ต้องมีขนาดเล็กลงตามส่วนเหลือพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร เป็นต้น ข้อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มโบนัสเอฟเออาร์เพื่อจูงใจให้ดีเวลอปเปอร์หันมาลงทุนสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยขาย มี 2 กรณี ได้แก่ 1.กรณีที่ดีเวลอปเปอร์มีที่ดินบนทำเลที่มี FAR สูงสุด 10 : 1 เช่น ถนนสาทร รัฐควรเพิ่มโบนัสเอฟเอฟอาร์ให้อีก 20% เท่ากับให้สร้างได้ 12 : 1 โดยแลกกับบริษัทต้องลงทุนสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อยขาย ในราคาที่รัฐบาลกำหนด เช่น 1 ล้าน หรือ 1.5 ล้านบาท ห้องชุดเริ่มต้น 25 ตารางเมตร ฯลฯ 2.กรณีที่ดีเวลอปเปอร์ลงทุนสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย (ตามราคาที่รัฐบาลกำหนด) รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์โบนัสเอฟเออาร์อีก 20% เพื่อกระตุ้นการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น ฟื้นแนวคิด “ประกันสินเชื่อ” นายอธิปกล่าวว่า แพ็กเกจด้านการปฏิรูปสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ถือว่าเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพมากถ้าหากรัฐสนใจนำมาใช้ โดยต้นทางต้องมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ด้วย เพราะปัจจุบันมีตัวอย่างพิสูจน์แล้วว่าถึงแม้มีผู้ประกอบการบางรายลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมราคาประชารัฐ ห้องละ 7-8-9 แสนบาท และสร้างเสร็จแล้ว แต่ผู้ซื้อไม่สามารถซื้อได้เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ ดังนั้นแม้มีโปรดักต์ราคาประชารัฐ หรือราคาผู้มีรายได้น้อย แต่ถ้าไม่มีแหล่งเงินกู้ให้ด้วยก็เป็นเรื่องลำบากที่ผู้มีรายได้น้อยจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ข้อเสนอการปฏิรูปสินเชื่อเสนอให้ตั้ง “บรรษัทบริหารสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย” หรือ MMC-mortgage management corporation โดยมีเรื่องการตั้งกองทุนสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเริ่มมีรูปธรรมแล้ว โดยทางการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เตรียมจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ในขณะที่ยังมีไฮไลต์อีกเรื่อง คือ รัฐบาลต้องออกมาตรการและใบอนุญาตสำหรับทำ mortgage insurance หรือการทำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันการประกันสินเชื่อแบบนี้ยังไม่มีใบอนุญาตหรือไลเซนส์เป็นทางการ “รูปแบบ mortgage insurance เช่น เงินกู้ 100 บาท แบงก์ปล่อยให้ผู้มีรายได้น้อย 70 บาท เหลืออีก 30 บาทที่ต้องวางเงินดาวน์ ผู้มีรายได้น้อยคงไม่มีเงินดาวน์เต็มก้อน 30 บาท วิธีการคือให้หาเงินดาวน์เพียง 10 บาท อีก 20 บาทก็ทำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยเหมือนซื้อประกันก็ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทประกันภัย จนกระทั่งผู้มีรายได้น้อยมีการผ่อนชำระเงินกู้กับแบงก์จนเงินต้นเหลือ 70 บาทเท่ากับเกณฑ์ที่แบงก์ให้สินเชื่อตั้งแต่แรก หลังจากนั้นก็จ่ายค่างวดกับแบงก์อย่างเดียว ไม่ต้องจ่ายค่าประกันสินเชื่ออีก” LPN ตั้งแท่นรอ 3,000 ยูนิต นโยบายบ้านผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล คสช.ล่าสุด ทางนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารมีโครงการปล่อยกู้บ้านล้านหลัง โดยเตรียมวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย มีเงื่อนไขราคาบ้านหรือคอนโดฯไม่เกิน 1 ล้านบาท เรื่องเดียวกันนี้ นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมีห้องชุดในโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 ในราคาเฉลี่ย 8 แสนบาท/ยูนิต มี 3,000 ยูนิตที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ในปีนี้ ปัจจุบันสร้างเสร็จ 1,500 ยูนิต และมีกำหนดสร้างเสร็จอีก 1,500 ยูนิตภายในสิ้นปีนี้ โดยโครงสร้างภายนอกเสร็จหมดแล้ว เหลือเก็บรายละเอียดและการตกแต่งภายในอาคาร สำหรับแผนในอนาคต ข้อจำกัดต้นทุนที่ดินแพงทำให้ทำเลโซนใกล้เมือง ใกล้แหล่งงานมีราคาแพงขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่มีแผนลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้ JSP ทำแคมเปญคืนกำไร นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ.เอส.พี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JSP กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีสต๊อกห้องชุดในโครงการไมอามี บางปู ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 700-800 ยูนิต สามารถเข้าร่วมโปรแกรมสินเชื่อในโครงการบ้านล้านหลังได้ทันที ทั้งนี้ มีองค์ประกอบจากมาตรการช่วยบรรเทาค่าใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างผลักดันให้มีการลดค่าธรรมเนียมการโอน 2% และค่าธรรมเนียมจดจำนอง 1% รวมเป็น 3% ให้เหลือ 0.01% สำหรับสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือเท่ากับลดภาระค่าใช้จ่ายจากเดิมล้านละ 3 หมื่นบาท เหลือภาระล้านละ 300 บาท เรื่องเดียวกันนี้ นายไพโรจน์กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลมีมาตรการนี้ออกมาจริง ๆ ทาง JSP สามารถนำค่าใช้จ่ายที่ลดลงจาก 3% เหลือ 0.01% นำกลับมาคืนกำไรให้กับผู้มีรายได้น้อยได้ทันที โดยจัดเป็นโปรโมชั่นส่วนลดหรือเพิ่มของแถมที่จำเป็นในมูลค่าที่เท่ากัน “ปกติราคาบ้านกลุ่มนี้บริษัททำแคมเปญฟรีทุกค่าใช้จ่ายวันโอนให้อยู่แล้ว ถ้าหากรัฐบาลทำมาตรการนี้ออกมา บริษัทก็มีต้นทุนที่ลดลง เพราะค่าโอนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้ประกอบการช่วยออกคนละครึ่ง หรือช่วยออก 1% ก็สามารถทำอะไรออกมาทอนกลับไปให้ผู้มีรายได้น้อยได้” นายไพโรจน์กล่าว ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-208825

จำนวนผู้อ่าน: 2585

23 สิงหาคม 2018

ธพว.จับมือ PTTOR และสมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย นำร่องโมเดลปั๊มน้ำมัน PTT 14 แห่ง เป็นศูนย์กลางศก.ชุมชน

ธพว. ร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด และ สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย นำร่อง Showcase ปั๊มน้ำมัน 14 แห่ง พลิกโฉมพร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. เปิดเผยว่าในวันนี้ (23 สิงหาคม 2561) ธนาคารร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(PTTOR) และ สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย จัด Model พิเศษเปิดตัวนำร่อง “โครงการการปรับเปลี่ยนเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.เพื่อชุมชน” พร้อม Showcese ปั๊มน้ำมันศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 14 แห่ง ในงานสัมมนาผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ทั่วประเทศ ประจำปี 2561 ณ โรงแรม Centara Crand & Bangkok Convention Center Central World ถนนราชดำริ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งจะก่อประโยชน์ทั้งแก่ธุรกิจตัวเอง และชุมชนโดยรอบของพื้นที่ตั้งปั๊มน้ำมัน โดยคาดจะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายในเดือนกันยายน 2561 นี้ โดย Model Showcese จำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย 1) สถานีปิโตรเลียมอเวนิวแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร 2) สถานีนภาออยล์ จ.ร้อยเอ็ด 3) สถานีน้ำมันสยามด่านขุนทด จ.นครราชสีมา 4) สถานีพงษ์กิต โคกกรวด จ.นครราชสีมา 5) สถานีกาฬสินธุ์กิตติกมล จ.กาฬสินธุ์ 6) สถานีมานะ เสริมพลปิโตรเลียม จ.บุรีรัมย์ 7) สถานีอุบลเกตุเวย์ จ.อุบลราชธานี 8) สถานี พี เอส ที ไพรัชบริการ จ.พิจิตร 9)สถานี พีที ไพรัช ปิโตรเลียม เซอร์วิส จ.พิจิตร 10)สถานีโค้งวิไลไทยเสรี จ.กำแพงเพชร 11) สถานีหินสองก้อนปิโตรเลียม จ.ลพบุรี 12) สถานีวัฒนานุกิจเซอร์วิส จ.ระยอง 13) ห้างหุ้นส่วน สงวนสินปิโตรเลียม จำกัด จ.จันทบุรี และ 14) สถานี ก.กิจปิโตรเลียม จ.สุราษฎร์ธานี ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้นำลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมแสดงโชว์สินค้าภายในงานด้วย เพื่อสร้างโอกาสเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการปั๊ม ปตท. เจรจาจับคู่ธุรกิจ นำสินค้าคุณภาพไปวางจำหน่าย อาทิ บจก.ชายน้อยฟู้ด จ.ชุมพร ผู้ผลิตและจำหน่ายกล้วยอบกรอบ, วิสาหกิจชุมชนเรือนไม้หอม จ.สมุทรสงคราม ผู้ผลิตและจำหน่ายสปาสมุนไพรไทย,กลุ่มแปรรูปผ้าขาวม้านุชบา ผู้ผลิตและจำหน่ายของที่ระลึกผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้า และ บจก.เจเอ เจนเนอรอล กรุงเทพฯ ผู้ผลิตและนำหน่ายไอศกรีมมะพร้าว เป็นต้น “นับว่าความร่วมมือครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ด้วยการตอกย้ำภาพลักษณ์ให้สถานีบริการปั๊มน้ำมัน ปตท.และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจปั๊มน้ำมันเกิดการตื่นตัว เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะช่วยให้สังคมท้องถิ่นของตนเองมีความแข็งแกร่ง รวมถึงการยกระดับสินค้าที่มีมาตรฐาน โดดเด่น ได้ต่อยอดวางจำหน่ายในสถานีบริการปั๊มน้ำมัน ปตท. ที่เข้าร่วมโครงการ ให้สินค้าได้รับการพัฒนาตรงต่อความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นชนิดสินค้า คุณภาพ ราคา ส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีงานทำ เกิดการจ้างงาน มีรายได้ มีอนาคต ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 10-30% เนื่องจากจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการในปั๊มเพิ่มขึ้น เป็นที่รู้จักว่าเป็นแหล่งสินค้าดีมีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่อาณาจักร Community Mall” นายมงคล กล่าว สำหรับการคัดเลือกสถานีบริการปั๊มน้ำมันเข้าร่วมโครงการ มีหลักเกณฑ์เบื้องต้นดังนี้ 1) ความพร้อมและสมัครใจของผู้ประกอบการสถานี 2) มีศักยภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน 3) สถานที่ทำเลดีมีศักยภาพ สะดวก เข้าถึงตลาดผู้ซื้อ 4) เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นเส้นทางหลักที่ใช้เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว และ 5) มีพื้นที่สำหรับการทำโครงการ การส่งสินค้าร่วมจำหน่ายในสถานีบริการปั๊มน้ำมัน มีทั้งกรณีฝากขายและให้เครดิตทางการค้า ส่วนความคืบหน้า “โครงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ยุค 4.0 พัฒนา เติมทุน เสริมแกร่งทั่วไทย” ที่ธนาคารร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ สมาคมการค้าผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมันพลังไทย เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ตามเจตนารมณ์ยกระดับสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม ปตท.) ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกอยู่ 761 ราย มีผู้ประกอบการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันประสงค์ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารแล้ว จำนวน 225 ราย วงเงินรวม 869.01 ล้านบาท โดยธนาคารดำเนินการอนุมัติไปแล้ว จำนวน 156 ราย วงเงินรวม 657.01 ล้านบาท กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารหันมาใช้แนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการที่รวมกลุ่มในธุรกิจเดียวกัน อาจทำในนามของสมาคม สมาพันธ์การค้า คลัสเตอร์ หรือผู้แทนกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อให้มีคนกลางคอยรวบรวมความต้องการของสมาชิกทั้งหมด รวมถึงการการันตีคุณสมบัติเพื่อยืนยันการมีตัวตนว่าทำธุรกิจในพื้นที่จริง โดยจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธนาคารสามารถเข้าไปสนับสนุน พัฒนา ยกระดับทั้งในเรื่ององค์ความรู้ควบคู่แหล่งเงินทุนได้ตรงกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือคนตัวเล็ก นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริการแพลตฟอร์ม SME D Bank กู้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิ๊กผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์บนสมาร์ทโฟน บริการรถม้าเติมทุน ส่งเสริมSMEs ไทย ฉับไวไปถึงถิ่น ที่พร้อมลงพื้นที่เข้าถึงแบบคลอบคลุมทุกกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-208850

จำนวนผู้อ่าน: 2588

23 สิงหาคม 2018

IFLIX เปิดตัว iflix 3.0 โฉมใหม่! พร้อมปรับกลยุทธ์ใหม่ให้บริการฟรี

นางสาวอาทิมา สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า IFLIX (ไอฟลิกซ์) เปิดตัว iflix 3.0 โฉมใหม่ เปลี่ยนดีไซน์ ปรับเมนูฟีเจอร์ให้ใช้ง่าย และจัดคอนเทนต์บางส่วนให้สมาชิกรับชมแบบฟรี โดยแบ่งเป็น 1.หนังประจำวัน (Movie of the Day) ที่ให้ชมหนังและซีรีส์ฟรีในแต่ละวัน 2.ไอฟลิกซ์ สแนคซ์ (iflix Snacks) คอนเทนต์สั้น ๆ รูปแบบใหม่ที่ออกแบบให้ง่ายในการรับชมและเหมาะสำหรับผู้ใช้งานในมือถือนอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ดาวน์โหลดไว้ดูออฟไลน์ได้อีกด้วย สำหรับโซนวีไอพี (iflix VIP) สามารถดูคอนเทนท์ได้ไม่จำกัดบน iflix เพียงสมัครสมาชิกรายเดือนเพียง100 บาท ต่อเดือน หรือ 1000 บาท ต่อปี “เรายินดีเป็นอย่างมากที่สมาชิกไทยได้มีโอกาสชม หนัง ซีรีส์ รายการทีวี ไฮไลต์ฟุตบอล ไลฟ์สดอีเวนท์ คลิปข่าวและคอนเทนต์สั้นได้แบบฟรีๆบน iflix โดยการเปิดตัว iflix Free ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของเรา เพื่อส่งมอบประสบการณ์ความบันเทิงที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้บริการ iflix” ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-207942  

จำนวนผู้อ่าน: 2471

22 สิงหาคม 2018

ซักผ้าหยอดเหรียญแรงไม่หยุด หน้าใหม่แห่ผุดโมเดลแฟรนไชส์บุกตลาด

หน้าใหม่ร่วมวงชิงร้านสะดวกซัก “วีเจ อินเตอร์เนชั่นแนล” ผู้นำเข้าอุปกรณ์ทำอาหารแตกไลน์ธุรกิจดิสทริบิวเตอร์เครื่องซักผ้ารับดีมานด์ร้านสะดวกซักผุดทั่วประเทศ เน้นจุดขายวันสต็อปเซอร์วิสทั้งเครื่อง-โนว์ฮาว พร้อมซุ่มพัฒนาแฟรนไชส์ “คิเรอิ ลอนโดรแมท คาเฟ่” ชูมุมเบเกอรี่สร้างแตกต่าง-ดึงดูดลูกค้า นายไมค์ ฮอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเจ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารเชนร้านสะดวกซัก “คิเรอิ ลอนโดรแมท คาเฟ่” (Kirei Laundromat Cafe) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เดิมบริษัทมีธุรกิจหลักเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ครัวให้ภาคธุรกิจ เช่น โรงแรม ร้านเบเกอรี่ แคเทอริ่ง และได้ตัดสินใจเปิดธุรกิจใหม่ด้านร้านสะดวกซักและตัวแทนจำหน่ายเครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์ เนื่องจากผู้ประกอบการร้านสะดวกซักทั้งไทยและต่างชาติเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยจะเน้นสร้างการรับรู้-ความเข้าใจกับผู้บริโภคถึงจุดเด่นของบริการนี้ด้วยการขยายสาขาใน กทม.และจังหวัดหัวเมือง พร้อมระดมสื่อสารผ่านออนไลน์ชูจุดขายด้านความเร็วและความสะดวกที่มากกว่าการซักด้วยตนเอง หรือใช้บริการร้านซักรีด ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยมีร้านสะดวกซักประมาณ 120 แห่ง เพิ่มจากประมาณ 70 แห่งในปีที่แล้ว และคาดว่าสิ้นปีจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 แห่ง โดยมีผู้ประกอบการรายหลัก เช่น อ๊อตเทริ, คลีโปรเอ๊กซ์เพรส รวมถึงผู้เล่นใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวอีกอย่างน้อย 2 ราย “เชื่อว่าความนิยมร้านสะดวกซักของไทยจะเติบโตรวดเร็วเช่นเดียวกับ มาเลเซีย เริ่มมีธุรกิจนี้เมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีร้านสะดวกซักกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ” ทั้งนี้ จะโฟกัสที่การขายเครื่องซักผ้าพร้อมโซลูชั่นธุรกิจร้านสะดวกซักให้นักลงทุนนำไปเปิดร้านสะดวกซักของตนเอง ชูจุดขายวันสต็อปเซอร์วิส ตั้งแต่ตัวเครื่องซัก-อบผ้าพร้อมบริการติดตั้ง แนวทางการตกแต่ง-บริหารร้านไปจนถึงบริการหลังการขายและการรับประกันตัวเครื่องนาน 3 ปี มีบริการตรวจเช็กเครื่องทุก ๆ 3 เดือน เป็นต้น และวางระดับราคาประมาณ 2-3 แสนบาทต่อเครื่อง ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 10 ราย ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด อาทิ พัทยา, พิษณุโลก, ปัตตานี และเชียงใหม่ นอกจากนี้ ในปี 2562 เตรียมตั้งศูนย์บริการหลังการขายในต่างจังหวัด เสริมกับวิธีตั้งตัวแทนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับดีมานด์และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ขณะเดียวกันเดินหน้าพัฒนาโมเดลแฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก “คิเรอิ ลอนโดรแมท คาเฟ่” ซึ่งนอกจากความเร็วและความสะอาดแล้ว ยังเพิ่มจุดขายและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วย มุมร้านเบเกอรี่-เครื่องดื่มภายในร้าน ซึ่งบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เบเกอรี่ รวมถึงอยู่ระหว่างพัฒนาระบบไอโอทีให้ลูกค้าแฟรนไชซีสามารถตรวจสอบการทำงานของเครื่องแบบเรียลไทม์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าและสร้างรายได้เสริมให้กับแฟรนไชซี พร้อมระดมกลยุทธ์การตลาดเน้นสร้างการรับรู้ในวงกว้างแบบปากต่อปากทั้งด้วยราคาเริ่มต้น 30 บาท ต่ำกว่าคู่แข่งถึง 10 บาท และซักฟรีช่วงเปิดร้าน-หยุดยาว การใช้สื่อออนไลน์-โซเชียลมีเดีย โดยปัจจุบันลงทุนเปิดร้านต้นแบบแล้ว 3 สาขาในย่านรามคำแหง มี 2 ขนาด คือ เล็กและกลาง มูลค่าการลงทุน 1.5-3 ล้านบาท มีจำนวนเครื่องซัก-อบ รวม 9 และ 13 เครื่องตามลำดับ ส่วนไซซ์ใหญ่อยู่ระหว่างหาทำเล คาดว่าภายในสิ้นปีจะสามารถขยายสาขาเพิ่มได้อีกอย่างน้อย 3-4 สาขาในพื้นที่สุขุมวิท 101 และปุณณวิถี ก่อนจะเริ่มขายแฟรนไชส์ในปีหน้า “ปัจจุบันตลาดสะดวกซักอยู่ในช่วงตั้งไข่มีฐานลูกค้าน้อย ระยะเวลาคืนทุนของโมเดลแฟรนไชส์ยังยาวเกินไปไม่ดึงดูดนักลงทุน จึงเน้นขายเครื่องและโซลูชั่นให้ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการเพราะเป็นแบบจ่ายครั้งเดียวจบ ต่างจากแฟรนไชส์ที่มีค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง พร้อมใช้จังหวะนี้ปรับปรุงโมเดลแฟรนไซส์รอรับกระแสบูมที่คาดว่าจะเริ่มในปีหน้า” ทั้งนี้มั่นใจว่ากลยุทธ์เหล่านี้จะช่วยให้บริษัททำยอดขายเครื่องซัก-อบผ้าได้มากกว่า 50 ล้านบาท ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-207435  

จำนวนผู้อ่าน: 3646

22 สิงหาคม 2018

ซีพีเอฟ ลุยตลาด E-Commerce พัฒนาระบบสั่งซื้อ “หมูออนไลน์” ผ่านเว็ปไซต์ CP SMART ORDER and PAYMENT

ซีพีเอฟ ลุยตลาด E- Commerce พัฒนาระบบสั่งซื้อ “หมูออนไลน์” ผ่านเว็ปไซต์ CP SMART ORDER and PAYMENT หรือ CP SMART OP เพิ่มความสะดวกแก่เถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน คู่ค้ากลุ่ม HORECA ผู้จำหน่ายในตลาดสด และร้านอาหารอิสระ สั่งสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมพัฒนาแอพฯให้ผู้ซื้อปลีกทั่วไปสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ คาดเริ่มใช้ได้ภายในสิ้นปี 2561 นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาด E-Commerce ของประเทศไทย ที่เติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 13% จึงพัฒนา application CP SMART OP ซึ่งเป็น Website application สำหรับบริการคู่ค้าในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สุกรจากบริษัทโดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการสั่งสินค้า ขณะเดียวกันยังสามารถตรวจสอบรายละเอียดการสั่งซื้อย้อนหลัง และประวัติการชำระเงินได้โดยตรงกับบริษัท “ปัจจุบันการให้บริการคู่ค้าของซีพีเอฟ ที่จะสั่งซื้อสินค้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทำได้ง่าย รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา ขณะนี้มีคู่ค้าอยู่ในระบบสั่งซื้อออนไลน์นี้ร่วม 4,000 ราย โดยคาดว่าจะใช้ระบบนี้ทั้งหมดภายในปีนี้” นายสมพร กล่าว นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการสั่งซื้อออนไลน์ CP SMART ORDER เป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อต่อยอดความสำเร็จของเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน (CP PORK SHOP) ให้ลูกค้าทั่วไปสามารถสั่งซื้อสินค้าหมูสด สะอาด ปลอดภัย และผลิตภัณฑ์ซีพีจากเถ้าแก่เล็กได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้ลูกค้าทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์หมูปลอดภัยได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มความสะดวกแก่กลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมาก คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2561 นี้ ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-207870

จำนวนผู้อ่าน: 2502

22 สิงหาคม 2018

กรมการค้าภายใน เปิด “Application น้ำมันเต็มลิตร”

กรมการค้าภายใน เปิด “ Application น้ำมันเต็มลิตร” ช่องทางบริการสำหรับคนรุ่นใหม่ สามารถตรวจสอบการให้บริการน้ำมัน ถูกต้อง มั่นใจได้ โดยการให้บริการอย่างเป็นธรรม นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในจัดทำ Application “น้ำมันเต็มลิตร” เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ประชาชนได้ทราบว่าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับป้ายน้ำมันเต็มลิตรตั้งอยู่ในตำแหน่งใดของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม และสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานีบริการน้ำมันในอนาคต ซึ่งการเปิดแอพลิเคชั่น ครั้งนี้ ต่อยอดมาจาก โครงการ สถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร ที่เป็นโครงการที่กำกับดูแลมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการให้ถูกต้อง และสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค ปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ 3,7000 แห่ง ทั้งนี้ สถานีบริการน้ำมันเต็มลิตร ที่เป็นโครงการที่กรมการค้าภายในได้ดำเนินการนั้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการค้า ที่จะส่งผลต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ อีกทั้ง ทำให้ประชาชนผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในการเข้ารับบริการในสถานีบริการน้ำมันต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสถานีบริการน้ำมันเต็มลิตรได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น พร้อมต่อยอดแอพลิเคชั่นมาเปิดให้บริการ และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ Application “น้ำมัน เต็มลิตร” เชื่อว่าจะตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและทันสมัยได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้งานที่ง่ายบน smart phone ทุกระบบ เพียงเปิด Application ขึ้นมา ก็สามารถบอกได้ว่ามีสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ ณ ตำแหน่งใดบ้าง ไม่ใช่แค่สถานีบริการน้ำมันเต็มลิตรเท่านั้น แต่ยังบอกถึงตำแหน่งของสถานีบริการน้ำมันของผู้ให้บริการที่ร่วมกับเรา นอกจากนี้ยังสามารถค้นหา สถานที่ที่ต้องการโดยระบุชื่อสถานีบริการ, ประเภทน้ำมันเชื้อเพลิง, ชนิดเชื้อเพลิง (น้ำมัน, LPG, NGV), ร้านค้าสะดวกซื้อ ธนาคาร และตู้กดเงินสด ที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการนั้นๆ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค” Application น้ำมันเต็มลิตร สามารถใช้งานได้ทั้งในระบบ IOS และ Android พร้อมให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลดฟรีได้แล้ววันนี้ ที่ App Store และ Play Store เพียงค้นหาคำว่า “น้ำมันเต็มลิตร” ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-207638

จำนวนผู้อ่าน: 2570

21 สิงหาคม 2018

ค้าปลีกไทย VS อีคอมเมิร์ซ

ในโอกาสครบรอบ 30 ปี CBRE ทำซีรีส์ข้อมูลมานำเสนอ รอบนี้เป็นเรื่องราวพื้นที่ค้าปลีก จุดโฟกัสอยู่ที่การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในยุคปัจจุบัน กับผลกระทบที่เกิดขึ้น ย้อนเวลา 30 ปีที่แล้ว ค้าปลีกในกรุงเทพฯ มีห้างไม่กี่แห่ง เช่น เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว สร้างเสร็จปี 2525, อัมรินทร์พลาซ่า ปี 2528, สยามเซ็นเตอร์ ปี 2516 ที่เหลือมีแต่อาคารพาณิชย์และตลาดสด ปัจจุบันกรุงเทพฯมีพื้นที่ค้าปลีกรุ่นใหม่ 7.5 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นศูนย์การค้า 46.5% ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 17.7% ห้างสรรพสินค้า 15.1% คอมมิวนิตี้มอลล์ 14.5% พื้นที่ค้าปลีกอื่น ๆ 16.1% ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แห่งแรกเปิดในปี 2532 ล่าสุดปีนี้มี 10,268 สาขา ค้าปลีกขนาดใหญ่แห่งแรก แม็คโคร ลาดพร้าว ปี 2532 ปัจจุบันบิ๊กซี เทสโก้ โลตัส แม็คโคร มีสาขารวมกัน 450 แห่งในไทย ในขณะที่อีคอมเมิร์ซในสหราชอาณาจักรคาดว่าสูงถึง 18% ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมดในปี 2561 และอยู่ที่ 9.5% สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทย ยอดขายอีคอมเมิร์ซยังไม่ถึง 1% แต่คาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย CBRE สรุปรวบยอดไว้ว่า “ศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และจะไม่หายไปไหน แต่การแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซทำให้ต้องมีการวิวัฒนาการรูปแบบพื้นที่เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้” ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-206910

จำนวนผู้อ่าน: 3035

21 สิงหาคม 2018

ปตท.ผนึกบริษัทลูกกทม.บูมสมาร์ทซิตี้ ผุด 40 ปั๊มทั่วกรุงลุยพัฒนาที่ดินบางซื่อสู่ฮับอาเซียน

ปตท.ลุยสมาร์ทซิตี้เต็มสูบ ผนึกกรุงเทพธนาคมประเดิม 40 ปั๊มน้ำมันทั่วกรุง เป้าต่อไปยึดบางซื่อ 2.3 พันไร่ ร่วมญี่ปุ่นลงทุนระบบสาธารณูปโภค พลังงาน ขนส่งมวลชนขนาดรอง ต่อยอดโปรเจ็กต์ “เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์” ขึ้นฮับเมืองอัจฉริยะในภูมิภาคอาเซียน นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2561 บริษัทได้เซ็นบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศความร่วมมือพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี พัฒนาไปสู่กรุงเทพฯเมืองอัจฉริยะ มุ่งยกระดับสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ (Smart City) เชื่อมโยงคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดียิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมทางด้านพลังงานและดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มตลอดการดำเนินธุรกิจและการให้บริการ โดยใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมาเป็นพื้นฐานในการให้บริการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ สมาร์ทซิตี้ โดย ปตท.และกรุงเทพธนาคมจะร่วมกันส่งเสริมผลักดันการพัฒนานวัตกรรม และการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาเมืองทั้งในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและการขนส่งมวลชน “การที่เราจับมือกับ ปตท.เพื่อพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่ง ปตท.จะเริ่มพัฒนาในปั๊ม ปตท.ในพื้นที่เขต กทม.กว่า 40 ปั๊มก่อน หลัง MOU จะลงรายละเอียดทันทีและจะนำร่องที่ไหนก่อน จากนั้นจะร่วมมือกันหลังพอ ปตท.ลงเรื่องงาน IOT แล้ว ความร่วมมือเป็นเรื่อการแชร์ใช้ network ต่าง ๆ เช่น กทม.อยากรู้คุณภาพอากาศในปั๊มก็ขอข้อมูลจากเขาได้ หรือแม้แต่การจราจรก็สามารถขอใช้ข้อมูลจากปั๊มน้ำมันได้” นายกิติศักดิ์กล่าวและว่า ทั้งนี้ การพัฒนาสมาร์ทซิตี้แบบเต็มโครงการร่วมกับ ปตท.มีหลายเรื่องที่หารือร่วมกัน เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เรื่องการจัดการขยะ ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง โดยจะเริ่มจากการจัดทำข้อเสนอร่วมกัน มีกำหนดจะสรุปภายในเดือน ต.ค. 2561 นี้ ซึ่ง ปตท.จะเริ่มดำเนินการบริเวณศูนย์เอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ ย่านบางซื่อ ถนนวิภาวดีรังสิตที่ ปตท.มีแผนจะพัฒนาร่วมกับพันธมิตรต่างชาติคือญี่ปุ่น “การทำงานร่วมกับเอกชนเพราะ กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ต้องดูเรื่องกฎระเบียบ ใบอนุญาต จริง ๆ ก็เกี่ยวกับเขาหมด ทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ระบบสาธารณูปโภค ส่วนจะร่วมพัฒนาสมาร์ทซิตี้กับ ปตท.ด้วยไหมก็ดูเป็นเฉพาะเรื่องอีกทีหนึ่ง สมมุติเขาอยากทำระบบรถไฟฟ้าสายรองแบบที่ไอคอนสยามทำก็เป็นเรื่องที่ร่วมมือกันได้ในอนาคต” แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง ปตท.สนใจจะลงทุนสมาร์ทซิตี้ย่านบางซื่อ ซึ่งเป็นที่ดินของ ร.ฟ.ท.และได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการครอบคลุมพื้นที่ 2,325 ไร่ รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน PPP 30-50 ปี หรือรายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง ใน 15 ปีแรกใช้เงินลงทุน 358,700 ล้านบาท “ปตท.ร่วมกับญี่ปุ่นจะพัฒนาย่านบางซื่อเป็นสมาร์ทซิตี้ต่อยอดกับโครงการเอ็นเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ โดยจะเริ่มจากลงทุนด้านอินฟราสตรักเจอร์อุปโภคบริโภค เช่น ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น ทดแทนการใช้แอร์ ช่วยประหยัดพลังงาน ระบบไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต และพลังงาน ขายในโครงการรองรับคนทำงานและอยู่อาศัยย่านบางซื่อ จากนั้นถึงจะเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ปตท.เสนอการร่วมทุนกับ ร.ฟ.ท.เป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจกับรัฐวิสาหกิจ” แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ไจก้าได้นำโครงการสมาร์ทซิตี้ของ ปตท.ที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้มารวมกับของ ร.ฟ.ท.เพื่อให้การพัฒนาที่ดินมีศักยภาพมากขึ้นใช้เวลาดำเนินการ 30 ปี แบ่งพัฒนา 3 เฟส เฟสละ 5 ปี พัฒนา 9 โซน จากเดิม 4 โซน ระยะสั้นลงทุน 40,100 ล้านบาท ระยะกลาง 167,100 ล้านบาท และระยะยาว 151,500 ล้านบาท ในแต่ละเฟสมีการลงทุน 5 ส่วน 1.เชิงพาณิชย์ เช่น ออฟฟิศให้เช่า ร้านค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุม 2.สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบสมาร์ทซิตี้ 3.โครงข่ายคมนาคม เช่น บีอาร์ที 4.โครงข่ายการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น สวนสาธารณะ ระบบกักเก็บน้ำ และ 5.โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ โดย 5 ปีแรกเริ่มพัฒนาโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้ผ่านคณะกรรมการ PPP ไปแล้ว ให้สัมปทานเอกชนบริหาร 30 ปี ลงทุน 11,573 ล้านบาท จากนั้นเป็นโซน D บางส่วนที่จะพัฒนาเป็นทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ รูปแบบพัฒนาจะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดกลางปี 2563 อีก 5 ปีต่อมาจะพัฒนาโซน B (จตุจักร) โซน G ย่าน กม.11 และโซน C ตรง บขส.เป็นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ขณะที่ 5 ปีสุดท้ายจะพัฒนาโซนที่เหลือเช่น โซน D อยู่ติดโรงซ่อม แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่ผลศึกษาของ ปตท.ที่เสนอมาเมื่อปี 2559 ใช้เงินลงทุน 52,361 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่เป็นเมืองใหม่รอบสถานีรถไฟ โดยมีการออกแบบอาคารที่ประหยัดพลังงาน และพัฒนาพื้นที่ติดสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นย่านธุรกิจการค้าและบริการ โดยใช้ระบบการขนส่งขนาดรอง เช่น รถบีอาร์ทีที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาการลงทุนมารองรับการเดินทางภายในพื้นที่โครงการ มีทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ สำนักงาน และที่อยู่อาศัย ในแผนแม่บทการพัฒนา กำหนดให้ย่านบางซื่อเป็นประตูสู่กรุงเทพฯเมืองสวรรค์ เพราะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้านระบบราง มีทั้งรถไฟฟ้าในเมืองรถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง รถไฟขนส่งสินค้า รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ TOD และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-207587

จำนวนผู้อ่าน: 2450

21 สิงหาคม 2018

แอพฯเรียกรถแข่งเดือด “โกเจ็ก” เปิดฉากรุก ลอนซ์แคมเปญใหญ่เกณฑ์พี่วินเข้าระบบ

“โกเจ็ก” (Go-jek) ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถรายใหญ่จากอินโดนีเซียคู่แข่งตัวฉกาจของ “แกรบ” (Grab) ได้เปิดฉากรุกตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระดมแจกสิทธิประโยชน์ประกันรถ-สุขภาพ-เงินช่วยเหลือ พร้อมกิจกรรมบันเทิง-ชิงโชค หวังดึงพี่วินเข้าระบบ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “โกเจ็ก” ประกาศทุ่มงบ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ รุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการรุกประเทศไทย จะอาศัยการจับมือและสนับสนุนโนว์ฮาวน์-เทคโนโลยีให้กับ “เก็ท” สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ส่วนการบริหารและดำเนินการจะเป็นหน้าที่ของเก็ทเอง ล่าสุด “เก็ท” ได้ประกาศลอนซ์แคมเปญ “เก็ทแรกพบ” ในวันที่ 18-19 สิงหาคม หวังดึงบรรดาวินมอร์เตอร์ไซค์และผู้มีใบขับขี่รถสาธารณเข้าร่วมเป็นฐานผู้ขับเก็ทหรือ “เก็ทสเตอร์” ด้วยกลยุทธ์จัดเต็มทั้งแจกรางวัล อาทิ เครดิตเงินขวัญถุง รถมอร์เตอร์ไซค์ มือถือ สร้อยคอทองคำ มูลค่ารวม 7 แสนบาท และกิจกรรมที่ดึงนักร้องดัง “ก้อง ห้วยไร่” และ “ใบเตย อาร์ สยาม” จัดมินิคอนเสิร์ต และของสมนาคุณ พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้ขับเก็ท อาทิ ประกันภัยรถจักรยานยนต์, ประกันสุขภาพ, เงินช่วยเหลือยามฉุกเฉิน   โดย “ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเก็ท กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทพร้อมรับคนขับวิน หรือคนขับรถจักรยานยนต์ที่มีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะในพื้นที่กทม. เข้าร่วมงาน ซึ่งงาน ‘เก็ทแรกพบ’ จะช่วยสร้างการรับรู้และรับสมัครผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่สนใจ สำหรับผู้ขับวินรถจักรยานยนต์ที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนได้ที่ getthailand ด้านจ้าวตลาดอย่าง “แกรป” นั้น ก่อนหน้านี้ได้เตรียมรับคู่แข่งรายใหม่ ด้วยการเพิ่มฐานพันธมิตรแบรนด์ดัง อาทิ S&P, Major Cineplaex, นกแอร์, Sephora และ Shopee ที่ร่วมโปรแกรมสะสมคะแนน GrabRewards เพื่อผู้ใช้บริการนำแต้มจากยอดค่าโดยสาร มาแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ส่วนลดร้านอาหาร, ช้อปปิ้งและบันเทิง ได้หลากหลายยิ่งขึ้น ต้องจับตาดูกันว่า ศึกยักษ์ขนยักษ์ครั้งนี้จะทำให้การแข่งขันในตลาดแอพพลิเคชั่นเรียกรถดุเดือดแค่ไหน ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-205832

จำนวนผู้อ่าน: 2415

20 สิงหาคม 2018

จบแล้วประมูลคลื่น 1800 MHz“AWN-DTN” แบ่งคนละไลเซนส์ เงินเข้ารัฐ 25,022 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่น 1800 MHz ณ สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 กรุงเทพฯ โดยจะมีการประมูลทั้งหมด 9 ใบอนุญาต ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถเข้าประมูลได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาใบอนุญาตละ 12,486ล้านบาท  ผู้เข้าประมูลมี 2 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ในเครือดีแทค และ 2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอส ปรากฏว่า หลังเปิดประมูลรอบแรกเมื่อเวลา 10.00 น. ซึ่งผู้เข้าประมูลต้องเคาะรับราคาเริ่มต้นประมูล12,486 ล้านบาทมิฉะนั้นจะถูกตัดสิทธิ์จากการประมูลและริบเงินประกันละ 2,500 ล้านบาท ผู้เข้าประมูลเคาะรับราคาคนละ 1ไลเซนส์  ผู้เข้าประมูลทั้ง 2 รายเสนอราคาเพิ่มในการประมูลรอบ 2อีก 25 ล้านบาท และไม่เสนอราคาในรอบ 3 ทำให้การประมูลรอบที่ 4เข้าสู่รอบ Final และไม่มีผู้ใดเสนอราคาเพิ่มอีก ทำให้การประมูลสิ้นสุด โดยมีการประมูลออกทั้งหมด 2ไลเซนส์ ราคาปิดประมูลไลเซนส์ละ 12,511 ล้านบาท รวมเงินเข้ารัฐ25,022 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-206623

จำนวนผู้อ่าน: 2403

20 สิงหาคม 2018

ค่ายรถปรับแนวรุก เข็นเอาต์เลตไซซ์เล็ก ลดต้นทุน คลุมทุกพื้นที่บริการ

ค่ายรถปรับแนวรุกย่อส่วนดีลเลอร์เน็ตเวิร์กกระจายคลุมทุกพื้นที่ เจาะลึกเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เบรกโชว์รูมขนาดใหญ่ 3 เอส หันทำแค่ศูนย์ “เซอร์วิส-สแปร์พาร์ต” ย้ำคล่องตัว-เซฟคอสต์ ตอบรับเทรนด์ซื้อ-ขายออนไลน์ “เชฟโรเลต” นำร่องชูธง 4 โมเดล ผนึกอู่ซ่อมในพื้นที่สร้างความพึงพอใจลูกค้า ด้าน “มิตซูบิชิ” เลือกทำเลหันเน้นเฉพาะนำเปิดเอาต์เลตในห้างสรรพสินค้า แนวคิดการทำโชว์รูมไซซ์เล็กของค่ายรถยนต์ เพื่อแก้ปัญหาใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมากคืนทุนช้าและไม่คล่องตัว เข้าไม่ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ระยะหลังเริ่มมีความชัดเจนและเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ประกอบกับกระแสนิยมการซื้อขายรถยนต์แบบออนไลน์ขยายตัวในวงกว้าง ทำให้ค่ายรถยนต์เกือบทุกค่ายหันมาใช้แนวรุกขยายเอาต์เลตของตัวเองในรูปแบบ 2 เอส คือมีเฉพาะงานซ่อมและคลังอะไหล่ จากเดิมที่กำหนดให้ทุกดีลเลอร์ทำธุรกิจแบบฟูลสเกล ประกอบ 1.เซล มีพื้นที่โชว์รถยนต์เพื่อจูงใจงานขาย 2.เซอร์วิส เพื่อดูแลบริการหลังการขาย เน้นสร้างความพึงพอใจ และ 3.สแปร์พาร์ต หรือคลังอะไหล่ เพื่อซัพพอร์ตงานบริการหลังการขายแบบครบวงจร ล่าสุดค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกัน เชฟโรเลตได้ประกาศเปิดเเนวรบแบบกองโจรเพื่อขยายเน็ตเวิร์กแทรกซึมเข้าทุกพื้นที่ให้ความสำคัญกับงานบริการหลังการขาย และต่อยอดขยายความร่วมมือกับศูนย์ฟาสต์ฟิต หรืออู่ซ่อมรถในท้องถิ่น เชฟวี่ปูพรมเซอร์วิสทุกจังหวัด นางสาวปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแผนขยายเครือข่ายรองรับงานบริการว่า พยายามปูพรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดที่เชฟโรเลตยังไม่มีศูนย์บริการ ปัจจุบันเชฟโรเลตมีศูนย์บริการ 87 แห่งทั่วประเทศ และภายในปี 2562 บริษัทตั้งเป้าจะขยายเพิ่มให้ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ บริษัทได้ส่ง 4 โมเดลของโชว์รูมและศูนย์บริการ สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ชู 4 โมเดลใหม่ ได้แก่ 1.รูปแบบ 3S ขนาดใหญ่ที่สามารถจอดโชว์รถได้ 10-15 คัน มี 10 ช่องซ่อม 2.รูปแบบ 3S ไลฟ์ ขนาดจะเล็กลง จอดโชว์รถได้ 8-10 คัน มี 8 ช่องซ่อม 3.โชว์รูม 2S ขนาด 4 ช่องซ่อม และ 4.โชว์รูม 2S ไลฟ์ ขนาด 2 ช่องซ่อม โดยโชว์รูมทั้ง 2 รูปแบบนี้คือ 2S และ 2S ไลฟ์ จะเน้นให้บริการหลังการขายสำหรับรถที่อยู่ในวอร์แรนตีเป็นหลัก และ 5.โชว์รูม ออโตไลต์ เซอร์วิส โอเปอเรชั่น (ASO) อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด โดยเบื้องต้นคาดว่าบริษัทจะเข้าไปจับมือกับศูนย์ซ่อมที่เป็นนักลงทุนท้องถิ่นเพื่อให้บริการรับซ่อมตามระยะให้กับลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าการลงทุนข้างต้นจะช่วยการขยายเครือข่ายบริการหลังการขายให้ครอบคลุม โดยนักลงทุนจะมีกำไรและสามารถคืนทุนภายในระยะเวลา 2 ปี ประเดิม 2S พื้นที่ฝั่งอันดามัน นางสาวปิยะนุชกล่าวอีกว่า บริษัทได้เปิดเอาต์เลตมาตรฐานรูปแบบใหม่ “2S” แห่งแรกของประเทศไทย ที่จังหวัดภูเก็ต ฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้งบประมาณการลงทุน 5 ล้านบาท ไม่รวมที่ดินในรูปแบบสแตนด์อะโลน บนพื้นที่ขนาด 900 ตร.ม. โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มี 4 ช่องซ่อม และให้การบริการหลังการขาย การซ่อมแซมรถยนต์ และการรับประกันโดยช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ “เอาต์เลตแบบ 2S ของเรา ลูกค้าสามารถนั่งพักผ่อนได้ที่โซนรับรองลูกค้า ออกแบบและตกแต่งให้เป็นมุมพักผ่อน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า เราสามารถรองรับลูกค้าทั้งในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีศูนย์บริการมาตรฐานของเชฟโรเลต และหากลูกค้าต้องการนำรถมาจอดขายก็สามารถทำได้” เชื่อลูกค้าซื้อรถออนไลน์มากขึ้น สำหรับปีนี้ เชฟโรเลตมีแผนจะขยายเอาต์เลตแบบ 2S อย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ, บ่อวิน จังหวัดชลบุรี, อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีก 5-6 แห่งที่มีแผนจะขยายเข้าไป อาทิ จังหวัดเลย, พะเยา, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด “อีกปัจจัยที่เราหันมาขยายเอาต์เลตแบบ 2S เพราะวันนี้เชฟโรเลตเราขายรถผ่านระบบออนไลน์สูงถึง 70% ลูกค้าใช้บริการแค่ช่วงรับรถเป็นส่วนใหญ่ เราพยายามปรับรูปเเบบการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนี้ด้วย” นางสาวปิยะนุชกล่าว ฟอร์ดลุยสมอลไซซ์เอาต์เลต ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวคิดขยายเน็ตเวิร์กลงลึกระดับอำเภอชั้นรอง ก่อนหน้านี้ ค่ายฟอร์ดได้ทำไพลอตโปรเจ็กต์ ด้วยการส่ง “สมอลไซซ์” โชว์รูมกรุยทางเพื่อใกล้ชิดกับลูกค้าให้มากขึ้น โดยรูปแบบจะเป็น “สมอลโชว์รูม” มีโชว์รูมและศูนย์บริการแค่ 4 ช่องซ่อม มีพื้นที่ให้ลูกค้าได้พักผ่อนได้นิดหน่อย ตั้งเป้าไว้ 10 แห่ง โดยมีการพาสื่อมวลชนไปชมเอาต์เลตต้นแบบขนาดเล็ก ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มิตซูฯชิงธงทำเอาต์เลต 1 เอส นายเอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขยายเน็ตเวิร์กเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นแนวปฏิบัติของทุกค่ายรถยนต์อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับไทมิ่งและพื้นที่ ปัจจุบันมิตซูบิชิมีโชว์รูมอยู่ทั่วประเทศที่ 221 แห่ง และมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 231 แห่ง โดยปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยายโชว์รูมในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะย่านดาวน์ทาวน์ ภายใต้รูปแบบเอาต์เลตขนาด 1 เอส ซึ่งเน้นพื้นที่แสดงรถยนต์เพื่อการจัดจำหน่ายเท่านั้น โดยขณะนี้มีเปิดแล้ว 1 แห่ง ภายในปีนี้บริษัทตั้งเป้าจะเปิดเอาต์เลตแบบ 1 เอส อีกอย่างน้อย 4-5 แห่ง ในเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมณฑล จากปัจจุบันที่มีโชว์รูมและศูนย์บริการมิตซูบิชิในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ 46 แห่ง “เบื้องต้นเราให้สิทธิ์การขยายพื้นที่ของเอาต์เลตแบบ 1 เอส สำหรับดีลเลอร์ซึ่งทำแบบ 3 เอสอยู่แล้วมาเป็นอันดับแรก ๆ เนื่องจากเรามองว่าพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีราคาที่ดินค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงอยากจะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางขายให้กับดีลเลอร์” เช่นเดียวกับมาสด้า ล่าสุดได้มีการเจรจากับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เซ็นทรัลพระราม 3 เพื่อเปิดเอาต์เลตที่มีเฉพาะพื้นที่โชว์รถยนต์ เน้นเฉพาะงานขายเพียงอย่างเดียว ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-206539

จำนวนผู้อ่าน: 2712

20 สิงหาคม 2018

กาแฟ 3.8 หมื่นล้านโตสะพรั่ง ซีพีพุ่งทะยาน “แตกแบรนด์” ยึดทุกตลาด

“ซีพี ออลล์” แตกแบรนด์ยึดตลาดกาแฟไม่หยุด ปั้นออลล์ คาเฟ่, ออลล์ คาเฟ่ โกลด์, คัดสรร, มวลชน, เบลลินี่, อาราบิเทีย และจังเกิ้ลคาเฟ่ ชิงส่วนแบ่งตลาดกาแฟ 3.8 หมื่นล้านพร้อมเคลื่อนทัพส่งตีตลาดต่างประเทศด้วยสูตรเร่งเติบโต “แฟรนไชส์” เปิดโมเดลราคาแฟรนไชส์เบา ๆ 4 แสนจูงใจตลาดกาแฟมูลค่าประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาทโตแรงไม่หยุด ไม่เพียงเฉพาะในกลุ่มร้านพรีเมี่ยมที่ยึดสัดส่วน 20% ของตลาด แต่ยังรวมถึงรถเข็นกาแฟและทูอินวันที่ขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายสาขาและเพิ่มการลงทุนของแบรนด์ร้านกาแฟที่เดินหน้าไม่หยุด เช่นเดียวกับยักษ์ค้าปลีก “ซีพี ออลล์” ที่แตกสารพัดแบรนด์กาแฟออกมาเพื่อเป็นทางเลือกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดที่โตร้อนแรงนี้ เจ้าสัวธนินท์ตัดริบบิ้นอินเดีย   ความเคลื่อนไหวของแบรนด์กาแฟในเครือ “ซีพี ออลล์” ลอนช์ออกมาครอบคลุมทุกตลาด ตั้งแต่ราคาระดับแมสไปจนถึงตลาดระดับกลางบนทั้งที่ไปกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 และการเข้าไปเปิดสแตนด์อะโลนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ ออลล์ คาเฟ่, ออลล์ คาเฟ่ โกลด์, มวลชน, เบลลินี่, อาราบิเทีย และจังเกิ้ลคาเฟ่ ซึ่งบางแบรนด์ได้นำร่องออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศแล้ว ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เดินทางไปอินเดียเพื่อร่วมฉลองเปิดร้านกาแฟ “อาราบิเทีย” สาขาแรกที่เปิดแฟรนไชส์ในตลาดอินเดีย พร้อม ๆ กับการเปิดร้านค้าส่ง LOTS Wholesale Solutions แห่งแรกในอินเดีย ลุยเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ นายนริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดกาแฟในปัจจุบันเติบโตประมาณ 15-20% มีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าตลาดร้านกาแฟสามารถเติบโตได้อีกมาก บริษัทจึงได้ขยายช่องทางจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น และเร่งเดินหน้าขยายธุรกิจร้านกาแฟอย่างต่อเนื่อง และได้เปิดทดลอง “เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ” ที่สามารถชงกาแฟเพียงแค่กดปุ่มสัมผัส โดยเริ่มเปิดให้บริการสาขาแรกที่สำนักงานใหญ่ ซีพี ทาวเวอร์ และในเดือนหน้าขยายสาขาเพิ่มที่ตึกฟอร์จูน รัชดาภิเษก จำนวน 10 ตู้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และพนักงานออฟฟิศซึ่งเป็นย่านของธุรกิจใจกลางเมืองที่สำคัญ ขายแฟรนไชส์ราคา 4 แสน ในส่วนของธุรกิจกาแฟปัจจุบันมีร้านกาแฟมวลชนกว่า 120 สาขา ปีนี้มีเป้าหมายจะเปิดสาขาเพิ่ม โดยมีแฟรนไชส์ 3 แบบ คือ ไซซ์ S, M, L ค่าแรกเข้าตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึงกว่า 1 แสนบาท รวมงบฯในการลงทุนอุปกรณ์และวัตถุดิบตั้งแต่ 4 แสนบาทถึง 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพัฒนาแบรนด์จังเกิ้ลคาเฟ่ เมื่อปีที่แล้วได้ประเดิมสาขาแรกที่ประเทศลาว และจะขยายเพิ่มอีกเป็น 3 สาขา ส่วนอาราบิเทีย คาเฟ่ มีสาขาที่กัมพูชา อยู่ในช่วงวางแผนขยายสาขา และยังเปิดที่เมืองจีนอีก 3 สาขา และขยายสาขาไปประเทศจีนเพิ่มกว่า 30 สาขาในขณะที่ตลาดต่างประเทศ บริษัทได้ขยายธุรกิจกาแฟด้วยการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ อาทิ จีน กัมพูชา เวียดนาม พม่า เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความพร้อมในเรื่องของการจับจ่าย ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น อาจมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเช่นกัน ส่งสินค้าใหม่เสริมทัพกาแฟ นอกจากนี้ยังมองเห็นการเติบโตของธุรกิจกาแฟและธุรกิจเครื่องครัว จึงเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้ครอบคลุม ซึ่งในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจร้านกาแฟเติบโตกว่า 30% สำหรับยอดขายในครึ่งปีหลัง บริษัทตั้งเป้าเติบโตกว่า 30% อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พัฒนาโครงการกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน ส่งเสริมสร้างอาชีพให้ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจร้านกาแฟพร้อมพัฒนาร้านต้นแบบรีเทลลิงค์ คอฟฟี่ และได้ขยายสาขากาแฟสร้างอาชีพเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งมีโชว์รูมแสดงสินค้า และอุปกรณ์ อาทิ เครื่องทำกาแฟ เครื่องปั่นสมูทตี้ เครื่องทำน้ำแข็งเกล็ด เครื่องจ่ายเครื่องดื่มเย็น เครื่องล้างจาน เป็นต้น ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-205538

จำนวนผู้อ่าน: 4610

17 สิงหาคม 2018

ไลน์ เปิดตัว “LINE Ads Platform” เครื่องมือการตลาดใหม่เจาะกลุ่ม SMEs

Line เปิดตัว “LINE Ads Platform” หรือ “LAP” เครื่องมือการตลาดแบบ self-bidding ที่ช่วยให้ธุรกิจ นักการตลาด และ SMEs สามารถโฆษณาโปรโมทสินค้าและธุรกิจบน Timeline ของ LINE ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและสื่อโฆษณา กล่าว “การโฆษณาบน LINE มีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นออฟฟิเชียลแอคเคาท์หรือบัญชีทางการ สปอร์นเซอร์สติกเกอร์หรือสติกเกอร์แบรนด์ การโฆษณาบน LINE TV LINE Today ซึ่งก่อนหน้านี้ LINE เปิดให้เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันความต้องการของธุรกิจ นักการตลาด และ SMEs มีมากขึ้น ทำให้เราได้นำเครื่องมือการตลาดแบบ Self-Bidding เข้ามาใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากการ Timeline เป็นเซอร์วิสแรก สำหรับนักการตลาด และธุรกิจ SMEs ที่สนใจสามารถติดต่อซื้อโฆษณาผ่านเอเจนซี่ได้ โดย LINE จะเพิ่มเอเจนซี่ที่ลงทะเบียนกับ LINE อย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนนี้ ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-205556

จำนวนผู้อ่าน: 2429

17 สิงหาคม 2018

บัตรเครดิตกรุงศรี เปิดเกมรุกตลาดครึ่งปีหลัง ดันเพิ่มฐานลูกค้า 10% แตะ 2.2 ล้านบัญชี

บัตรเครดิตกรุงศรี เปิดเกมรุกตลาดครึ่งปีหลัง ดันเพิ่มฐานลูกค้า 10% แตะ 2.2 ล้านบัญชี ทั้งปรับผลิตภัณฑ์-อัดโปรโมชั่นและบริการเพิ่ม ล่าสุด เปิดตัวแคมเปญ “บัตรเครดิตกรุงศรี…ที่สุด…ทุกสิ่ง” ปรับภาพลักษณ์แบรนด์หวังดึงดูดคนรุ่นใหม่ นายสมหวัง โตรักตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวแคมเปญสื่อสารแบรนด์ใหม่ “บัตรเครดิตกรุงศรี…ที่สุด…ทุกสิ่ง” เพื่อปรับภาพลักษณ์แบรนด์บัตรเครดิตกรุงศรีฯ ให้เป็นแบรนด์ที่ลูกค้านึกถึงและใช้จ่ายเป็นบัตรหลัก ทั้งสำหรับกลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งเป็นวัยทำงานที่อายุราว 35-45 ปี และดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าอยู่ 2 ล้านบัญชี “จากการวิจัยตลาดของเรา พบว่า แม้บัตรเครดิตกรุงศรีฯ จะมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากถึง 2 ล้านบัญชี และมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย แต่ภาพลักษณ์ที่ลูกค้าจดจำยังไม่ชัดเจนนัก เราจึงต้องการปรับภาพลักษณ์ให้โดดเด่นขึ้น โดยเน้นสื่อสารถึงจุดเด่นของบัตรเครดิตกรุงศรีฯ ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย เติมเต็มทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างตอบโจทย์ ทั้งกลุ่มลูกค้าพรีเมียม กลุ่มไลฟ์สไตล์เฉพาะด้าน ไปจนถึงกลุ่มบัตรโคแบรนด์ รวมทั้งยังมอบสิทธิประโยชน์ และโปรโมชั่นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และสามารถใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่อง กิน เที่ยว ช้อปปิ้ง และไลฟ์สไตล์เฉพาะด้านต่าง ๆ” นายสมหวังกล่าว สำหรับแคมเปญดังกล่าว มุ่งเน้นการสื่อสารแบรนด์ผ่านภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ 3 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องจะนำเสนอความเป็นที่สุด ในแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ ที่สุดของการให้ ที่สุดของความชอบ และ ที่สุดของการเดินทาง เพื่อสื่อถึงจุดเด่นของบัตรเครดิตกรุงศรี ที่สามารถเติมเต็มที่สุดแห่งประสบการณ์ที่หลากหลายในสไตล์ของแต่ละคน ผ่านสื่อดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย รวมทั้งสื่อโฆษณา Out-of-home สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อการตลาดของบัตรเครดิตกรุงศรีฯ รวมถึงสื่อที่สาขาธนาคารกรุงศรีอยุธยา นายสมหวัง กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลังนี้ บัตรเครดิตกรุงศรีฯ มีแผนจะรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยปรับทั้งผลิตภัณฑ์ ที่จะมีการปรับสิทธิประโยชน์หลักของผลิตภัณฑ์ ทั้งในกลุ่มพรีเมี่ยม และกลุ่มลูกค้าแมส ให้ใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม “ตัวอย่างเช่น การปรับสิทธิประโยชน์บัตรกรุงศรี เอ็กซ์คลูซีฟ ซิกเนเจอร์ ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา หรือบัตรกรุงศรี เจซีบี แพลทินัมที่มอบสิทธิประโยชน์ใหม่ กินอะไรก็ได้เครดิตเงินคืน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายสมหวังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2561 นี้ มีแผนออกบัตรโคแบรนด์ใหม่ ร่วมกับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ อย่างทาคาชิมาย่าของประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกันบริษัทจะขยายฐานบัตรเครดิตใบที่ 2 จากกลุ่มลูกค้าที่มีการใช้จ่ายบัตรเครดิตใบแรกเพิ่มเติมอีก จากปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับบัตรเครดิตใบที่ 2 แล้ว คิดเป็น 20-30% ของฐานลูกค้าทั้งหมด 2 ล้านบัญชี โดยหากบัตรเครดิตใบแรกมียอดการใช้จ่ายขั้นต่ำ 10,000 บาท/เดือน จะได้รับข้อเสนอได้บัตรเครดิตใบที่ 2 ไปใช้จ่ายเพิ่มเติม นายสมหวัง กล่าวอีกว่า ในส่วนของโปรโมชั่นและบริการ ทางบริษัทมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์โปรโมชั่นและบริการอย่างต่อเนื่อง เช่น บริการออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น UCHOOSE ซึ่งจะเป็นช่องทางหลักให้ลูกค้าทำธุรกรรมต่าง ๆได้ เช่น การตรวจสอบข้อมูลบัญชี แลกคะแนน แลกรับอีคูปอง เพื่อเป็นส่วนลดหรือรับสินค้า ณ จุดขาย เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ ทางบริษัทเตรียมเปิดตัวแชทบอทใหม่ผ่าน Facebook Messenger เพื่อให้บริการตอบคำถาม และให้คำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ โปรโมชั่นต่าง ๆแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการนำ Big Data ร่วมกับเทคโนโลยี Machine Leaning และ Geolocation มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในเชิงลึก เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดให้สอดคล้องกับไลฟสไตล์ของลูกคาแต่ละกลุ่ม นายสมหวัง กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันบัตรเครดิตกรุงศรีฯ มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (สเปนดิ้ง) อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท หรือเติบโต 9% โดยคาดว่าทั้งปี 2561 จะมียอดสเปนดิ้งอยู่ที่ 190,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าบัตรเครดิตเป็น 2.2 ล้านบัญชี ในสิ้นปีนี้ หรือฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 10% ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-205608

จำนวนผู้อ่าน: 2467

17 สิงหาคม 2018

รถติดหลอนอีก 3 ปี “ลำสาลี”คิวต่อไป ขอครม. 3 พันล. แก้จุดทับซ้อนสายสีส้ม-สะพานข้าม

รถติดหลอนคนกรุง 3 ปี รัฐโหมสร้างรถไฟฟ้าสารพัดสี ขุดพรุนทั่วกรุง หนักสุดพหลโยธิน ลาดพร้าว รามคำแหง พระราม 9 ศรีนครินทร์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา เล็งจัดฟีดเดอร์รับคนจากในซอยส่งถึงบันไดรถไฟฟ้า รฟม.เร่งเคลียร์ กทม.ยุติจุดทับซ้อน ชง ครม.อัดเพิ่ม 3 พันล้าน เจาะอุโมงค์สายสีส้ม รอสะพานยกระดับพาดยาวลำสาลี-คลองบ้านม้า จับตาอิตาเลียนไทยฯ รับส้มหล่น กลับลำไม่ทุบทิ้งสะพานแยกบางกะปิ ตำรวจจัดจราจรเร่งระบายรถเช้า-เย็น ออกกฎเหล็กคุมรถบรรทุกวิ่งในพื้นที่ก่อสร้าง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน รฟม.กำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค สายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ซึ่งทำให้ผิวการจราจรบนถนนสายหลักทั้งถนนประชาราษฎร์ จรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม พหลโยธิน ลาดพร้าว ศรีนครินทร์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา ติวานนท์ รามคำแหง และพระราม 9 ถูกจำกัด ส่งผลกระทบต่อการจราจรติดขัดมากขึ้น โดยเฉพาะถนนลาดพร้าวและรามคำแหง ที่ผิวจราจรคับแคบและเป็นพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ “ด้วยข้อจำกัดผิวจราจร ทำให้รถติดมากขึ้น ยิ่งหน้าฝนยิ่งหนัก รฟม. ผู้รับเหมา และตำรวจจราจร เร่งหาทางบรรเทาปัญหา เช่น ลาดพร้าวที่ติดหนักในขณะนี้เพราะปิดถนน 2 เลนจาก 6 เลนเหลือ 4 เลน จะจัดช่องเว้าให้รถสาธารณะเข้าไปจอด 21 จุดตลอดแนว เช่น หน้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว จะประสานกับการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง เพราะมีย้ายเสาไฟฟ้าและท่อประปาด้วย อีกทั้งจะประสาน ขสมก.นำรถเมล์วิ่งเป็นฟีดเดอร์รับส่งคนจากในซอยไปยังสถานีรถไฟฟ้า เช่น ซอยภาวนา ลาดพร้าว 71 วัดบึงทองหลาง” เร่งเคลียร์จุดทับซ้อน กทม. นอกจากนี้จะเร่งเคลียร์พื้นที่จุดทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างของ กทม. เพื่อให้งานก่อสร้างเดินหน้าตามแผน และคืนผิวจราจรได้เร็วขึ้น ที่มีข้อยุติแล้วคือสะพานข้ามแยกลำสาลีในแนวสายสีส้ม ซึ่ง กทม.มีโครงการขยายสะพานข้ามแยกไปถึงคลองบ้านม้า พร้อมสร้างอุโมงค์ทางลอดตั้งแต่คลองบ้านม้าไปถนนราษฎร์พัฒนา และให้ รฟม.ออกเงินและก่อสร้างให้ไปก่อนพร้อมกับรถไฟฟ้า ในเร็ว ๆ นี้จะเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขยายกรอบวงเงินก่อสร้างเพิ่มเฉพาะสะพานข้ามแยก เพราะเป็นคนละโครงการกัน คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างอีกหลาย 1,000 ล้านบาท “ได้รับอนุมัติแล้ว จะให้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้างรวมเข้าไปกับงานอุโมงค์ของสายสีส้ม ส่วนที่เป็นอุโมงค์ทางลอดยังสามารถรอได้ เพราะช่วงนั้นเป็นโครงสร้างยกระดับ ขณะที่สะพานข้ามแยกบางกะปิ ในแนวสายสีเหลือง เดิม กทม.อยากจะให้ทุบแล้วสร้างใหม่ อาจจะไม่ต้องรื้อ เพราะถ้ารื้อจะต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่ม อาจจะปรับแบบโครงสร้างให้วิ่งเกาะด้านข้างสะพานแทน” ติดหนึบ – พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลกำลังเผชิญกับปัญหารถติดอย่างสาหัส ส่วนหนึ่งมาจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายที่ต่อขยายเส้นทางจากในเมืองไปยังชานเมืองมากขึ้น มีกำหนดทยอยเปิดใช้ปี 2562-2566 เท่ากับคนกรุงต้องเผชิญรถติดอีก 3-5 ปี คิวต่อไปปิดสะพานแยกลำสาลี นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการรองผู้ว่าการ รฟม.ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า ทางอิตาเลียนไทยฯได้ปรับแผนเจาะอุโมงค์ช่วงแยกลำสาลี-คลองบ้านม้าออกไป 2 เดือน จากเดิมจะปิดสะพานข้ามแยกชั่วคราว 6 เดือนเพื่อรื้อบางส่วนรองรับกับโครงสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าและโครงการของ กทม.ภายในเดือน ต.ค.นี้เป็นปลายปี ซึ่งยอมรับว่าการปิดสะพานข้ามแยกจะส่งผลกระทบต่อการจราจร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีโครงการจะก่อสร้างแก้ปัญหาการจราจรบนถนนรามคำแหง วงเงินรวม 5,770 ล้านบาท แยกเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรจากแยกลำสาลี-คลองบ้านม้า วงเงิน 3,120 ล้านบาท และอุโมงค์ทางลอดใต้ถนนกาญจนาภิเษกจากคลองบ้านม้า-ถนนราษฎร์พัฒนา วงเงิน 2,000 ล้านบาท และขยายผิวจราจรถนนราษฎร์พัฒนาเชื่อมกับคลองบ้านม้า เป็น 8 ช่องจราจร วงเงิน 650 ล้านบาท “สำนักการโยธา กทม. กำลังร่วมกับ รฟม.ที่กำลังสร้างสายสีส้มเพื่อปรับแบบ เพราะมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ลักษณะจะเหมือนกับอุโมงค์ลอดใต้ถนนจรัญสนิทวงศ์-แยกบางพลัด ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งการก่อสร้างจะต้องไปพร้อมกัน ครั้งนั้นกว่าจะสร้างอุโมงค์ได้ก็ 3-4 ปี กว่าจะสร้างเสร็จ” ส่วนสะพานข้ามแยกบางกะปิที่ก่อนหน้านี้มีแนวคิดจะรื้อออกเพื่อก่อสร้างสายสีเหลือง ล่าสุด รฟม.แจ้งมาว่า จะไม่รื้อออกแล้ว แต่จะสร้างเสาตอม่อบริเวณกลางสะพานแทน จะใช้พื้นที่บางส่วนของสะพานเท่านั้น แต่อาจจะต้องสร้างช่องทางจราจรทดแทนเมื่อเสาตอม่อเสร็จ ซึ่ง รฟม.กำลังปรับแบบอยู่เช่นกัน แต่ผู้ที่รับภาระการก่อสร้างยังคงเป็น รฟม. เพราะเป็นการใช้พื้นที่สะพานของ กทม.ในการก่อสร้าง รามฯ-ลาดพร้าวติดหนึบ 3 ปี พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า สถานการณ์รถติดพื้นที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะติดมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนที่ยิ่งทำให้รถติดหนักขึ้น เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ากระจายในหลายพื้นที่ กว่าจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือถนนลาดพร้าวและรามคำแหง เพราะเป็นถนนที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากทั้งเช้าและเย็น และมีพื้นผิวจราจรถูกใช้ไปในโครงการก่อสร้างค่อนข้างมาก “ถนนลาดพร้าวที่ติดหนักมากเกิดจากยกเลิกช่องทางพิเศษบริเวณขาออก ช่วงแยกบางกะปิ-โชคชัย 4 ได้หารือกับผู้รับเหมาก่อสร้าง จะถอนแนวกั้นออกไปในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า 06.00-09.00 น. และเย็น 15.00-21.00 น. ให้เหลือช่องจราจร 3 ช่อง ส่วนป้ายรถประจำทางทั้ง 21 ป้ายที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง จะขยับออกไปตลอดแนว 50 เมตร และงดใช้ป้ายรถเมล์หน้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว ให้รถประจำทางเข้าไปจอดรับผู้โดยสารบริเวณถนนคู่หน้าห้างแทน ให้จราจรคล่องตัวขึ้น” แนะใช้ทางลัดทางเลี่ยง อย่างไรก็ตาม อยากให้ใช้เส้นทางลัดใน ซ.ลาดพร้าว 30, 32 และ 36 เนื่องจากสามารถลัดไปออกถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว-วังหิน ถนนโชคชัย 4 ถนนลาดปลาเค้า-วังหิน ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และถนนประเสริฐมนูกิจได้ ขณะที่ฝั่งขาเข้า ให้ใช้ซอยลาดพร้าว 64 และซอยลาดพร้าว 80 เพื่อไปออกถนนรัชดาภิเษกซอย 18 และแยกรัชดาฯ-สุทธิสารยังมีแนวคิดจะเจาะเกาะกลางถนนบริเวณหน้าศาลอาญาไปถึงแยกรัชโยธิน เพื่อเป็นถนนให้รถที่มาจากลาดพร้าวเลี้ยวขวาได้ทันที ไม่ต้องกลับรถไกล อยู่ระหว่างหารือกับ กทม. เชื่อว่าปัญหาบนถนนรัชดาภิเษกจะคลี่คลายเมื่ออุโมงค์ลอดใต้แยกรัชโยธินสร้างเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ และเมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคตแล้วเสร็จในปี 2563 พล.ต.ต.จิรพัฒน์กล่าวอีกว่า อีกจุดจะวิกฤตบริเวณแยกลำสาลีในแนวสายสีส้มที่จะก่อสร้างสถานีใต้ดิน มีความจำเป็นต้องรื้อสะพานข้ามแยกออก ตอนนี้ได้รื้อสะพานช่วงขาลงออกแล้ว คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถรื้อในช่วงขาขึ้นได้ทั้งหมด โดยเมื่อสร้างเสร็จแล้ว รฟม.จะต้องสร้างสะพานนี้คืน กทม.ในภายหลัง คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี ไม่ทุบสะพานบางกะปิ ส่วนสะพานข้ามแยกบางกะปิ เดิมที่มีแนวคิดจะรื้อสะพานออกด้วยนั้น ตอนนี้ผู้รับเหมามีแนวคิดใหม่ที่จะสร้างตอม่อบริเวณกลางสะพาน และขยายสะพานออกไปข้างละ 1 ช่องแทน อยู่ระหว่างการออกแบบร่วมกับ กทม. ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจะได้ข้อสรุป และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในจุดที่มีปัญหา พร้อมจัดกำลังช่วยเหลือกรณีน้ำท่วมและช่างเคลื่อนที่เร็วกรณีเกิดอุบัติเหตุรถเสีย โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า 06.00-08.00 น. และช่วงเย็น 15.00-21.00 น. ออกกฎเหล็กคุมรถ 6 ล้อ นอกจากนี้เตรียมออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักรว่าด้วยการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป เดินและห้ามจอดรถในทางบางสายในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อบังคับใช้ในถนนที่มีการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ เช่น ถนนแจ้งวัฒนะ รามอินทรา ลาดพร้าว รามคำแหง คาดว่าสามารถประกาศใช้ได้ในเร็ว ๆ นี้ ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-205133

จำนวนผู้อ่าน: 2615

17 สิงหาคม 2018

Paypal สวยสดใสสไตล์ธนาคารออนไลน์

“Paypal” ธนาคารออนไลน์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คอยรับ-ส่งเงินจากผู้ใช้ทั่วโลก ทั้งยังมีสาขาอยู่ในหลายประเทศ ล่าสุดได้ปรับปรุงการตกแต่งสำนักงานสาขาในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยสะท้อนรูปลักษณ์องค์กรใหม่ให้สดใสกว่าเดิม ออฟฟิศแห่งนี้มี 1 ชั้น บนพื้นที่กว่า 5,381 ตารางฟุต โดยถูกแบ่งออกให้ตั้งอยู่บนตึก 2 ตึก โดยมีพื้นที่เชื่อมตรงกลาง อันเป็นจุดสำคัญของการรวมตัวของพนักงาน โดยพื้นที่ตรงกลางจะประกอบไปด้วย ห้องประชุม, พื้นที่ต้อนรับ และพื้นที่นั่งผ่อนคลาย ส่วนสีสันของออฟฟิศจะเน้นเฟอร์นิเจอร์ไม้, พื้นคอนกรีต ที่ตัดกันกับโซฟานุ่ม ๆ สีสันสดใส เพื่อให้ความรู้สึกสะดวกสบาย เหมาะสำหรับกับ smart office ที่สำคัญ ยังมีมุมให้พนักงานผ่อนคลาย ด้วยการเล่นเกมโต๊ะฟุตบอลอีกด้วย ส่วนโต๊ะนั่งทำงานไม่มีฉากกั้น เพราะต้องการส่งเสริมการทำงานร่วมกันของพนักงานต่างแผนก เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนั้น การออกแบบยังเน้นความโปร่งใสของกระจกขนาดใหญ่ เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องเข้ามาในออฟฟิศ เพื่อจะได้เกิดความกระฉับกระเฉงให้กับการทำงาน ซึ่งถือเป็นอีกออฟฟิศหนึ่งของธนาคารออนไลน์ที่น่าสนใจทีเดียว ที่มา : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-204978

จำนวนผู้อ่าน: 2718

16 สิงหาคม 2018

มิตซูบิชิ คอร์ปฯ ปลื้ม Qเเรก ขายกระฉูด กว่า2.92 แสนคัน

นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (วันที่ 1 เมษายน 2561 – วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562) พบว่ามียอดจำหน่ายสุทธิ เพิ่มขึ้น 27% อยู่ที่ระดับ 560.0 พันล้านเยน (ประมาณ 167.9 พันล้านบาท) ผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 20.6 พันล้านเยน (ประมาณ 6.1 พันล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ 2560  เป็น 28.1 พันล้านเยน (ประมาณ 8.3 พันล้านบาท) เพิ่ม 36.4%เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้านผลกำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 5% โดยบริษัทฯ สามารถทำกำไรสุทธิอยู่ที่ 28.2 พันล้านเยน (ประมาณ 8.4 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้น 22.6%เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายรวมทั่วโลกของ เพิ่มขึ้น21% ทำได้ 292,000 คันเเบ่งเป็น – ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 28% ที่จำนวน 69,000 คัน – ประเทศจีน เพิ่มขึ้น 50% ที่จำนวน 36,000 คัน – อเมริกาเหนือ เพิ่มขึ้น 25% ที่จำนวน 45,000 คัน             ทั้งนี้คาดว่าผลดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงผลการดำเนินการ ซึ่งได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์โตเกียวไปก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา นายมาสุโกะ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีที่สองของการดำเนินงานตามแผนระยะกลาง เราสามารถเริ่มต้นปีได้อย่างแข็งแกร่งและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในส่วนของจำนวนยอดจำหน่ายและผลกำไร เราจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานสู่เป้าหมายและทำการลงทุนที่จำเป็นเพื่อการเติบโตในอนาคต ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-205005

จำนวนผู้อ่าน: 2456

16 สิงหาคม 2018

“ซิตี้มาร์ท” เสริมทัพธุรกิจ รับมือต่างชาติทะลัก…เมียนมา

กฎหมายใหม่ของเมียนมาซึ่งปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นใหญ่ในกิจการค้าปลีกได้ ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นการแข่งขันดุเดือดในวงการธุรกิจ ที่บริษัทยักษ์ต่างชาติจากหลายประเทศต่างจับจ้องหาโอกาสเจาะเข้าสู่ตลาดนี้มานาน แต่ต้องเผชิญอุปสรรคหลายด้าน รวมถึงข้อกฎหมายเดิมซึ่งบังคับให้ต้องร่วมทุนกับชาวเมียนมา ความเสี่ยงที่จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ บีบให้ “ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้ง” เจ้าตลาดค้าปลีกเมียนมา ซึ่งครองบัลลังก์มานานนับสิบปีต้องรีบปรับตัวรับมือ โดยล่าสุดยักษ์ค้าปลีกได้เสริมแกร่งซัพพลายเชนและไลน์อัพสินค้าของตนเอง ด้วยการเข้าซื้อกิจการผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ หลังจากก่อนหน้านี้ จับมือ “โซจิส ลอจิสติกส์” บริษัทขนส่งสัญชาติญี่ปุ่น เพื่อใช้ระบบขนส่งด้วยรถบรรทุกห้องเย็นไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนโฟกัสเซ็กเมนต์ของสดอย่างผักและผลไม้ที่ยังเป็นจุดอ่อนของโมเดิร์นเทรนด์เมียนมา สำนักข่าวนิกเคอิ รายงานว่า ซิตี้มาร์ท โฮลดิ้ง ร่วมกับกลุ่มทุนญี่ปุ่นเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ “ยูนิ เวก” (Uni Vege) ซึ่งมีฐานผลิตอยู่ในย่านเศรษฐกิจสำคัญอย่างกรุงย่างกุ้ง เพื่อเสริมไลน์อัพสินค้าเจาะเซ็กเมนต์ของสด ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคชาวเมียนมายังนิยมหาซื้อในตลาดสดอยู่ ขณะเดียวกันจุดขายด้านสุขภาพของผักไฮโดรโปนิกส์ยังตอบโจทย์ความต้องการอัพเกรดไลฟ์สไตล์ของชนชั้นกลางตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นโดยช่วง 2-3 ปีนี้มีแผนลงทุนหลายร้อยล้านเยน เพื่อขยายกำลังผลิตเป็น 3 เท่า ด้านซิตี้มาร์ทเองเดินแผนโปรโมตผัก-ผลไม้ปลอดสาร อาทิ ตั้งจุดขายบริเวณทางเข้าในสาขาขนาดใหญ่ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้ผู้บริโภคยอมรับราคาสินค้าที่สูงกว่าซื้อในตลาดสด ทั้งนี้ เดิมยูนิ เวก ส่งผลผลิต 80% หรือประมาณ 48 กิโลกรัมต่อวันให้กับซิตี้มาร์ท เพื่อขายในรูปแบบสลัดพร้อมทานอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ซิตี้มาร์ทยังเดินหน้าหาซื้อของสดจากเกษตรกรในพื้นที่รอบย่างกุ้งเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยระบบขนส่งด้วยรถห้องเย็นของโซจิส ลอจิสติกส์ เพื่อรองรับดีมานด์ ต้องรอดูกันว่ายักษ์ค้าปลีกเมียนมาจะสามารถปั้นตลาดอาหารสุขภาพได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-204958

จำนวนผู้อ่าน: 2395

16 สิงหาคม 2018

ก.ล.ต. เผยรายชื่อผู้สามารถประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไปได้ตามบทเฉพาะกาล

ก.ล.ต. เปิดเผยรายชื่อผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 7 ราย ที่ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ตามบทเฉพาะกาล ในระหว่างที่ ก.ล.ต. พิจารณาคุณสมบัติ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือคำขอถูกปฏิเสธ สืบเนื่องจาก พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 อนุญาตให้ผู้ที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วก่อนวันที่กฎหมายมีผล และได้ยื่นคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. ภายในกำหนด 90 วัน (ภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2561) สามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต ทั้งนี้ จนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2561 มีผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมที่ยื่นขออนุญาตตามบทเฉพาะกาลซึ่งจะสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จำนวน 7 ราย ดังนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) 5 ราย ได้แก่ (1) บริษัท บิทคอยน์ จำกัด (BX) เว็บไซต์ : bx.in.th (2) บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB) เว็บไซต์ : bitkub.com (3) บริษัท แคชทูคอยน์ จำกัด (Cash2coin) เว็บไซต์ : cash2coins.com (4) บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TDAX) เว็บไซต์ : tdax.com (5) บริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด (Coin Asset) เว็บไซต์ : coinasset.co.th ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Dealer) 2 ราย ได้แก่ (1) บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด (Coins TH) เว็บไซต์ : Coins.co.th (2) บริษัท ดิจิทัลคอยน์ จำกัด (ThaiWM) เว็บไซต์ : thaiwm.com นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างสอบทานข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอีก 2 ราย ที่ได้ยื่นคำขออนุญาตตามบทเฉพาะกาล เพื่อยืนยันว่าได้มีการประกอบธุรกิจอยู่ก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 หรือไม่ และจะเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th/digitalasset ต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอข้างต้นก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตต่อไป นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ผู้ที่สนใจลงทุนต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และสามารถรับความเสี่ยงในการสูญเงินลงทุนได้ และในกรณีที่มีผู้มาชักชวนให้ลงทุน ผู้ลงทุนควรตรวจสอบว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามรายชื่อที่ ก.ล.ต. เปิดเผยไว้หรือไม่ โดยผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าวและประสงค์จะประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถยื่นขอใบอนุญาตต่อ ก.ล.ต. ได้ และจะสามารถประกอบธุรกิจได้ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-204914

จำนวนผู้อ่าน: 2400

15 สิงหาคม 2018

บราเดอร์ลุยชิงแชร์ 80% พิมพ์ A3

บราเดอร์ชี้ตลาดเครื่องพิมพ์ยังสำคัญ แม้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ลุยส่งเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต A3 ระบบแท็งก์ตัวแรกเจาะกลุ่มสถาปนิก หวังเพิ่มแชร์เป็น 80% นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดเครื่องพิมพ์ในกลุ่มอิงก์เจ็ตโตขึ้น 13% จากการใช้งานสีมากขึ้น และการใช้อิงก์แท็งก์ช่วยลดต้นทุน ทั้งผู้ใช้ยังต้องการย้ายจากเครื่องพิมพ์ซิงเกิลฟังก์ชั่นมาเป็นมัลติฟังก์ชั่น ทำให้อิงก์เจ็ตขยับกินตลาดเครื่องพิมพ์เลเซอร์ ขณะที่ตลาดเลเซอร์ก็ขยับกินตลาดเครื่องถ่ายเอกสารตลาดเครื่องพิมพ์ A3 คาดว่าปีนี้จะโตถึง 20% จากเทคโนโลยีใหม่ที่มาทดแทนรูปแบบเดิมที่มักใช้เครื่องถ่ายเอกสารหรือใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์ที่มีราคาแพงและต้นทุนต่อแผ่นสูง ปัจจุบันบราเดอร์เป็นผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์ A3 มีมาร์เก็ตแชร์ 72% ซึ่งต้องการเพิ่มให้เป็น 80% เร็วที่สุด โดยมองเห็นโอกาสจากธุรกิจออกแบบหรืองานตกแต่ง ที่เติบโตสูงและต้องการนำเสนอชิ้นงานที่คมชัด ให้รายละเอียดครบถ้วน ทั้งการแข่งขันยังไม่รุนแรงเพราะมีเพียง 2 แบรนด์ จึงใช้จุดเด่นเรื่องความเร็วการพิมพ์และลดค่าใช้จ่าย” ล่าสุดได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต A3 ระบบแท็งก์ตัวแรก ได้แก่ รุ่น MFC-T4500DW และเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต รุ่น HL-T4000DW ระบบรีฟิลแท็งก์ (refill tank system) ราคาเริ่มต้นที่ 20,000 บาท เน้นเจาะธุรกิจสถาปนิก, นักออก แบบ ก่อนขยายไป SMEs และโซโหที่ต้องการงานพิมพ์เพื่อการนำเสนองานที่ใหญ่และมองได้ง่ายกว่าขนาด A4ภาพรวมธุรกิจเครื่องพิมพ์ของบราเดอร์ ในไตรมาสแรกโตขึ้น 9% โตกว่าที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 6% มีปัจจัยจากสินค้าที่ครบทุกเซ็กเมนต์ ปัจจุบันรายได้เครื่องพิมพ์เกิน 80% จักรเย็บผ้า 10% และอื่น ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ฉลาก 10% ปีนี้คาดว่าบราเดอร์จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่ต่ำกว่า 10 โมเดล “แม้ว่าทั่วโลกจะมีเทรนด์การงดใช้กระดาษ แต่ด้วยปริมาณข้อมูลที่มากขึ้น การพิมพ์จึงยังเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเทรนด์ทั่วโลกก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะพิมพ์น้อยลง แต่จะทรงตัวแบบนี้” ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-204889

จำนวนผู้อ่าน: 2373

15 สิงหาคม 2018

“EEC- เพียร์สัน” ปั้นแรงงานชิ้นส่วนอากาศยาน-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“สกพอ.” ร่วม “เพียร์สัน” เดินหน้ารุกแผนพัฒนาการศึกษาจัดหลักสูตร 2 สาขาระยะแรก “ชิ้นส่วนอากาศยาน – อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” ปั้นบุคลากรคุณภาพตามมาตรฐาน BTEC ของเพียร์สัน ป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะผู้แทนบริษัท เพียร์สัน (Pearson Education Limited) จากประเทศอังกฤษ ได้เข้ามาร่วมหารือถึงแนวทางการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเน้นการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามแนวทาง “สัตหีบโมเดล” ให้เป็นไปตามมาตรฐานการพัฒนาแรงงานด้วยระบบ Business and Technician Education Council (BTEC) ซึ่งเป็นหลักสูตรอาชีวะศึกษา ของบริษัทเพียร์สันที่เป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั่วโลก โดยกำหนดสาขาเบื้องต้นที่จะจัดทำหลักสูตรใน 2 สาขา คือ สาขาชิ้นส่วนอากาศยาน และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งนี้ผู้แทนทางเพียร์สันได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา เพื่อศึกษาความพร้อม และเก็บข้อมูล สถาบันการศึกษาเป้าหมาย เพื่อจะนำไปพิจารณาในการบรรจุหลักสูตรอยู่ในโปรแกรมการเรียนการสอน โดยกำหนดวิทยาลัยที่เข้าไปศึกษา ดูงาน อาทิ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี เนื่องจาก ทั้ง 3 สถาบันการศึกษามีหลักสูตรที่ใกล้เคียงและสามารถพัฒนาและยกระดับหลักสูตรเข้าสู่มาตรฐาน BTEC ได้ และยังเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่พื้นที่เป้าหมาย “ขณะนี้เพียร์สัน และอีอีซี ได้เตรียมวางแนวทางในการดำเนินงานด้านการพัฒนาด้านการศึกษาในพื้นที่ที่อีอีซี โดยระยะแรกจะเป็นการศึกษาความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายในพื้นที่อีอีซี และความพร้อมของผู้เรียนผู้สอน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับการยกระดับหลักสูตรเข้าสู่มาตรฐาน BTEC ของบริษัทเพียร์สัน” นายคณิศ กล่าว สำหรับการพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อรองรับ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาบุคลากรให้ทันกับการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการร่วมมือกับบริษัทเพียร์สัน ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจับมือกับบริษัทชั้นนำที่มีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะศึกษาจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลก นายคณิศ กล่าวว่า การพบปะและลงพื้นที่ศึกษาดูงานของบริษัทเพียร์สันในครั้งนี้ ถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงนามความร่วมมือระหว่าง สกพอ.และ บริษัทเพียร์สัน ในการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการจัดหานักเรียนและนักศึกษาที่มีทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านเทคนิค การใช้เทคโนโลยี มีขีดความสามารถการพัฒนาที่ตรงกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยบริษัท เพียร์สัน จะนำหลักสูตร BTEC เข้ามาสู่โปรแกรมการเรียนการสอนสายอาชีพในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยในระยะแรก ก่อนที่จะขยายหลักสูตรดังกล่าวไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-204906

จำนวนผู้อ่าน: 2777

15 สิงหาคม 2018

อี-พาเล็ตต์ รถไฟฟ้าบาย “โตโยต้า”

ออโต้นิวส์ รายงานว่า โมเดลรถยนต์แห่งอนาคตที่โตโยต้านำไปจัดแสดงที่งาน CES งานจัดแสดงสินค้านวัตกรรม ณ ลาสเวกัส ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เตรียมสัมผัสพื้นถนนกรุงโตเกียว วิ่งจริง ขับเคลื่อนจริง ในช่วงโอลิมปิกฤดูร้อน และพาราลิมปิก 2020 ที่กำลังจะมาถึงยานพาหนะ 2 รูปแบบที่โตโยต้าเตรียมอวดโฉมและใช้งานจริงในอีก 2 ปีข้างหน้า โมเดลแรกคือ “คอนเซ็ปต์-ไอ” รถยนต์ไฟฟ้าทรงไข่สุดล้ำที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ ที่นอกจากจะขับเคลื่อนอัตโนมัติได้แล้ว ยังตรวจสอบอารมณ์คนขับได้ด้วย จากสีหน้า การกระทำ น้ำเสียง และกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์   อีกโมเดลคือ “อี-พาเล็ตต์” รถไฟฟ้าทรงกล่องสี่เหลี่ยมแปลกตา ดีไซน์เหมือนหลุดออกมาจากหนังไซไฟ คือนวัตกรรมแห่งอนาคตที่โตโยต้าคาดหวังไว้ว่าจะปฏิวัติชีวิตคนในเมือง ทางค่ายออกแบบให้รถยนต์รุ่นนี้สามารถใช้ห้องโดยสารทำอะไรก็ได้แบบออนดีมานด์ ไม่ว่าจะเป็นรถสำหรับไรด์แชริ่ง ออฟฟิศเคลื่อนที่ ร้านขายของเคลื่อนที่ ตลอดจนร้านอาหารเคลื่อนที่ก็ได้ ทั้งนี้ โตโยต้าเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของโตเกียวโอลิมปิก 2020 และเป็นพาร์ตเนอร์ด้านยานพาหนะหลักของรายการแข่งขันทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิก ดังนั้นทางค่ายจึงคาดหวังใช้เวทีกีฬาระดับโลกครั้งนี้ พรีเซนต์นวัตกรรมสุดล้ำด้านการจราจร ตลอดจนบริการด้านการคมนาคมสำหรับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถขับรถได้ด้วยตนเอง โดยอี-พาเล็ตต์กำลังถูกพัฒนาเพื่อให้ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดโอลิมปิก รวมถึงบริการรับส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ตลอดการแข่งขัน นอกจากนี้ โตโยต้าเตรียมแผนทดลองรถยนต์ไร้คนขับเลเวล 4 บริการรับ-ส่งบริเวณโตเกียววอเตอร์ฟรอนท์และรอบ ๆ สนามบินฮาเนดะอีกด้วย โอลิมปิก 2020 จึงถือเป็นเวทีสำคัญที่โตโยต้าจะได้โชว์ว่า ทางค่ายไม่ได้ตกขบวนพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์แห่งโลกอนาคต แบบที่เคยโดนสบประมาทเอาไว้ ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-202091

จำนวนผู้อ่าน: 2502

14 สิงหาคม 2018

“Drop” ผู้พลิกโฉม Reward Programs

คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ ใคร ๆ ก็ชอบของฟรีทั้งนั้น ยิ่งยุคข้าวยากหมากแพง ส่วนลด5 บาท 10 บาท ก็มีค่า จึงไม่แปลกที่กระเป๋าสตางค์ของเราจะตุงและบวมขึ้นทุกวันอัดแน่นไปด้วยสารพัดบัตรส่วนลด บัตรสะสมแต้มอีกบานตะไท ปัญหาคือ เจ้า Reward Programs ต่าง ๆ นี้ มักซับซ้อนซ่อนเงื่อนผู้ใช้ต้องมีสมองอันชาญฉลาดจึงจะเข้าใจและจดจำเงื่อนไขการใช้งานได้ครบ สตาร์ตอัพที่เราจะนำเสนอในวันนี้จึงพัฒนาบริการขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ส่วนลดหรือของกำนัลต่าง ๆ โดยไม่ต้องเปลืองสมองอีกต่อไป สตาร์ตอัพแห่งนี้ชื่อว่า “Drop” เป็นเจ้าของแอปพลิเคชั่นชื่อเดียวกัน เมื่อดาวน์โหลดมาปุ๊บเพียงแค่ผูกบัญชีเข้ากับบัตรเครดิต/เดบิต (กี่ใบก็ได้ ยิ่งเยอะยิ่งดี) จากนั้นทุกครั้งที่ใช้บัตรรูดซื้อสินค้าหรือบริการอะไรระบบจะคำนวณแต้มสะสมตามยอดเงินที่รูดไปทันที สะสมได้ตามยอดแล้วก็ใช้แลกเป็นส่วนลดหรือรับสินค้าฟรีจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท ปัจจุบันมีหลายร้อยแบรนด์ เช่น Walmart, Jet.com, Boxed, Groupon, Hotels.com, ASOS, Warby Parker, Costco, Starbucks, Forever 21, adidas เป็นต้น Drop ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมโปรแกรมสมนาคุณลูกค้าของห้างร้านต่าง ๆ ไว้ในแอปเดียว ทำให้เข้าถึงแต้มสะสมเพื่อรับส่วนลดต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม เพราะใช้แต้มสะสมกับทุกร้านที่เป็นพันธมิตร เช่น หากซื้อกาแฟที่สตาร์บัคส์ แล้วได้แต้มสะสม ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้ใช้เพื่อรับเป็นส่วนลดค่ากาแฟในครั้งต่อไปเท่านั้น แต่เลือกเปลี่ยนเป็นส่วนลดค่าแท็กซี่ Uber หรือส่วนลดเวลาซื้อแว่นตาที่ Warby Parker ได้เช่นกัน ข้อดีเมื่อเทียบกับ reward/loyalty program แบบเก่า ก็คือ 1.ใช้ง่าย เพียงแค่มีมือถือและบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของแบงก์ไหนก็ได้ 2.ไม่ต้องพกบัตรส่วนลดหรือบัตรสะสมแต้มให้กระเป๋าตุงเสียทรง 3.ไม่ต้องกลัวไม่ได้รับสิทธิหากลืมบัตร 4.ไม่ต้องเปลืองสมองจดจำว่ามีแต้มสะสมเท่าไร ใช้แลกเป็นส่วนลดอะไรได้บ้าง เพราะพอเปิดแอป ก็จะเห็นยอดสะสม พร้อม offers ลด แลก แจก แถม ต่าง ๆ ทันที และ 5.ซื้อของร้านไหนก็ได้แต้มสะสม ไม่จำเป็นต้องเข้าเฉพาะร้านใดร้านหนึ่ง ห้างร้านที่จ่ายเงินเพื่อเป็นพันธมิตรของ Drop ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะ 1.ใช้แอปเป็นช่องทางเจาะเข้าหาลูกค้าเป้าหมายโดยดูจากประวัติการช็อป ผ่านบัตรที่ผ่านมา 2.มี data insights เพื่อวัดผลโปรโมชั่นต่าง ๆ ได้ทันที และ 3.ใช้ข้อมูลในระบบออกแบบ loyalty program ใหม่ ๆ ตามเทรนด์การใช้งานที่เปลี่ยนไปของลูกค้าเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนต่อไป Drop ก่อตั้งโดย “แดริก ฟัง” เปิดบริการครั้งแรกในโทรอนโต แคนาดา ปี 2016 ขยายบริการมาฝั่งอเมริกาปี 2017 บริษัทระดมทุนได้ทั้งสิ้น 52 ล้านเหรียญ ปีที่แล้วเป็นแอปที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับ 2 ในหมวดไลฟ์สไตล์ของ Apple app store ปัจจุบันยังติด 1 ใน 5 อันดับแรก โดยมีผู้ดาวน์โหลดไปใช้กว่า 1 ล้านคน และจะขยายไปประเทศอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และโปแลนด์ ต่อไป ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-203602

จำนวนผู้อ่าน: 2498

14 สิงหาคม 2018

“SCG-AA”เลิกผลิตกระดาษแมกาซีน

“เอสซีจี-ดั๊บเบิ้ล เอ” เลิกไลน์ผลิตกระดาษโค้ต-แมกาซีน หันนำเข้าตามออร์เดอร์ พร้อมปรับราคา “เอสซีจี” ปรับธุรกิจใหม่เพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่มแพ็กเกจจิ้งแทน ทุ่มงบฯ 800 ล้านลงทุนนวัตกรรมเยื่อกระดาษ Fest ตั้งเป้า 5 ปีทำรายได้แพ็กเกจจิ้งแซงกระดาษพิมพ์ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า จากการที่กลุ่มผู้ผลิตนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทยอยปิดตัวไปมากกว่า 100 ราย ส่งผลให้ความต้องการใช้กระดาษโค้ต หรือกระดาษมันสำหรับผลิตนิตยสาร หรือที่เรียกว่า กระดาษแมกาซีนลดลง จนทำให้ผู้ผลิตกระดาษแมกาซีน 2 รายใหญ่ของประเทศคือ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) หรือ “กระดาษดั๊บเบิ้ล เอ”กับบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย หรือ “กระดาษเอสซีจี” ตัดสินใจยกเลิกไลน์การผลิตกระดาษแมกาซีนลงอย่างสิ้นเชิง และหันไปใช้วิธีการนำเข้าแทน ส่งผลให้กระดาษประเภทนี้ต้องถูกปรับราคาจำหน่ายขึ้นในที่สุด แมกาซีนเจ๊งทำยอดขายตก นางวิมล จันทร์เทียร ผู้อำนวยการแบรนด์เฟสท์ กลุ่มธุรกิจ fibrous ในเครือบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เอสซีจีได้เลิกผลิตกระดาษสำหรับแมกาซีน (โค้ตเต็ดเปเปอร์) กระดาษอาร์ต 2 ด้าน ที่เป็นกระดาษเคลือบมันสำหรับทำแมกาซีนแล้ว และหันไปนำเข้าจากแหล่งต่าง ๆ เช่น สหภาพยุโรป, เกาหลี, จีน, อินโดนีเซีย เข้ามาตามคำสั่งซื้อแทน ตามความต้องการใช้กระดาษที่ลดลงจากการปิดตัวของนิตยสาร ซึ่งเป็นเทรนด์อย่างนี้ไปทั่วโลกส่งผลให้ผู้ผลิตกระดาษพิมพ์ทั่วโลกหันมาผลิตกระดาษแพ็กเกจจิ้ง ออนไลน์แพ็กเกจจิ้ง สำหรับใส่อาหาร หรือใส่ส่งของออนไลน์กันมากขึ้น ก่อนหน้านี้เอสซีจีได้แถลงผลประกอบการธุรกิจไตรมาส 2 โดยระบุว่า ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ธุรกิจของเอสซีจีขยายตัว 12% มียอดขาย 21,792 ล้านบาท โดยแยกเป็นบรรจุภัณฑ์กระดาษ (แพ็กเกจจิ้งเปเปอร์) กับกลุ่ม fibrous ขยายตัว 12% ในส่วนของธุรกิจ fibrous จะดูแลผลิตภัณฑ์หลัก 2 ตัวคือ 1) กราฟิกเปเปอร์หรือกลุ่มกระดาษพิมพ์เขียนและกระดาษถ่ายเอกสาร IDEA และ 2) กลุ่มบรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกกลุ่มกระดาษพิมพ์เขียนลดลง 6-10% “ยกเว้น” กระดาษ IDEA ที่ขยายตัว 1% ตามทิศทางการศึกษาและการพัฒนาการศึกษาของไทยยังขยายตัวได้ดี โดยบริษัทมีกำลังการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนประมาณ 350,000 ตัน/ปี ในขณะที่รายได้ของกลุ่มฟู้ดแพ็กเกจจิ้ง(บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร) ขยายตัว 2.6% ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เพื่อการผลิตสำหรับบรรจุอาหารที่ผลิตต่อเนื่องในไลน์การผลิต (process food) และอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 35% แพ็กเกจที่ใช้แล้วทิ้งสำหรับธุรกิจบริการร้านอาหาร (food service) ร้านแฟรนไชส์อาหาร ควิกเชนเรสเตอรองต์ ผู้ประกอบการสตรีตฟู้ด SMEs ร้านอาหาร ที่มีบริการดีลิเวอรี่ และกลุ่ม global หรือ regional chain ซึ่งทางบริษัทจะมุ่งเน้นการรุกตลาด 3 กลุ่มนี้ให้ได้มากขึ้น เอสซีจีรุกบรรจุภัณฑ์อาหาร สำหรับภาพรวมของธุรกิจ fibrous นั้น นางวิมลกล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จะกลับด้านกัน โดยกลุ่มกราฟิกเปเปอร์-กระดาษพิมพ์เขียน-กระดาษ IDEA ปัจจุบันเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 60% ของ 100% ก็จะลดลงเหลือ 20% โดยจะเร่งทรานส์ฟอร์มกลับด้านให้บรรจุภัณฑ์อาหารมีสัดส่วนเพิ่มจาก 40% เป็น 80% เนื่องจากสังคมการใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป คนไทยนิยมทานอาหารนอกบ้านหรือไม่ก็สั่งดีลิเวอรี่ทำธุรกิจจัดส่งอาหาร เช่น ฟู้ดแพนด้า GRAB Food เติบโตดี ในขณะที่กลุ่มกระดาษพิมพ์เขียน2 ตัวก็คงต้องติดตามสถานการณ์ดิจิทัล เพราะ “ดีมานด์การใช้ลดลง ทางเราก็ยอมรับสภาพ และพยายามพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า แต่จะมุ่งเน้น transform ไปสู่การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจแพ็จเกจจิ้งให้เร็วที่สุด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าตอนนี้ดีมานด์หาย ถ้าไม่รีบทรานส์ฟอร์มธุรกิจเราไปให้ได้เร็วที่สุด ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกับอุตสาหกรรมของเรา” นางวิมลกล่าว ล่าสุดบริษัทได้มีการลงทุน 800 ล้านบาทที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในการขยายการผลิตผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษจากยูคาลิปตัสขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์จากเยื่อธรรมชาติ Fest ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เฟสท์ที่ทำจากกระดาษ Fest ที่เปิดตัวไปเมื่อ 2 ปีก่อน (2559) จนได้รับผลการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค โดยนวัตกรรมใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อยสลายได้ มีความคงทน สามารถเข้าไมโครเวฟได้ และที่สำคัญไม่ได้มีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากเยื่อกระดาษเฟสท์เดิมมากนัก “โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อธรรมชาติเฟสท์แห่งใหม่ที่ อ.น้ำพอง เฟส 1 มีกำลังการผลิต 150 ล้านชิ้น/ปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์เยื่อกระดาษเฟสท์เดิมประมาณ 250 ล้านชิ้น/ปี หากสามารถทำตลาดและเพิ่มกำลังการผลิตได้ 85% ทางบริษัทก็มีความตั้งใจจะขยายการลงทุนเฟส 2 ต่อไป โดยเน้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ ต้นทุนการผลิต ขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งหลอดกระดาษ ช้อน มีด ส้อม โดยวางเป้าหมายขยายตัว 300% เป็น 3,000 ล้านบาทใน 5 ปี” นางวิมลกล่าว ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกลุ่มผู้ผลิตนิตยสาร-แมกาซีนที่ยังเปิดดำเนินการอยู่เข้ามาว่า การยกเลิกไลน์การผลิตกระดาษแมกาซีนของดั๊บเบิ้ล เอ กับเอสซีจี และหันไปนำเข้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้านั้น มีผลทำให้กระดาษแมกาซีนต้องปรับราคาจำหน่ายขึ้นมาประมาณ 10-20% หรือประมาณรีมละ 10-15 บาท และต้องสั่งซื้อล่วงหน้า โดยการปรับขึ้นราคาครั้งนี้ใกล้เคียงกับกลุ่มผู้นำเข้ากระดาษแมกาซีนรายเดิมที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน ที่ีมา : https://www.prachachat.net/economy/news-203707

จำนวนผู้อ่าน: 2358

14 สิงหาคม 2018

กม.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ กูรูกระตุ้นประชาชน “ต้องมีส่วนร่วม”

ยกร่างกันมาหลายปีกับ “พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” และเป็นอีกกฎหมายร้อนที่ถูกจับตา ขณะนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยกร่างเสร็จแล้ว อยู่ในระหว่างการประสานงานกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเตรียมเข้าของ ครม. เมื่อเร็ว ๆ นี้ สพธอ.เปิดเสวนา “กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ กับการดูแล CII และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามไซเบอร์” “ปริญญา หอมอเนก” ประธานและผู้ก่อตั้ง, ACIS Professional Center Co.,Ltd. หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ของไทย กล่าวว่า ไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็น top 5 ของเทรนด์ไอที แต่ไทยยังไม่มีทั้ง พ.ร.บ. ไม่มีทั้งหน่วยงานถาวรที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ไม่มีแนวทางพัฒนาคน “กม.จำเป็นต้องมี แต่ควรเป็นอย่างที่ควรจะเป็นตามแบบนานาอารยประเทศ ถามว่าถ้ามีแล้วชีวิตชาวบ้านจะดีขึ้นหรือไม่ ก็อยู่ที่กฎหมายจะออกมาอย่างไร ถ้ามีนโยบายที่ชัดเจน มีการพัฒนาบุคลากร ทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางไซเบอร์ได้ดีขึ้น ก็น่าจะตอบโจทย์ คือต้องมีเพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อให้อำนาจใครคนใดคนหนึ่งบังคับใช้กฎหมายนี้” สมัยนี้หมดยุคที่รัฐบาลจะใช้อำนาจแต่ฝ่ายเดียวแล้ว แต่ต้องทำหน้าที่ในแง่นโยบายและคอยสนับสนุน ให้คำแนะนำกับประชาชน มีหน่วยงานให้ความรู้ด้านนี้กับประชาชนอย่างจริงจัง มีการเตรียมพร้อมเมื่อเกิดวิกฤตกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีการฝึกซ้อมรับมืออย่างจริงจัง ต้องตระหนักถึงความสำคัญที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานทุกด้านมีความมั่นคง “จะต้องกำหนด CII (criticalinformation infrastructure หรือกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวด) ให้ชัด ขั้นต่ำคือ ประปา ไฟฟ้า สนามบิน โทรคมนาคม ต้องกำหนดว่า เขาต้องรับมือและเตรียมตัวอย่างไร ส่วนสำคัญคือกำลังคนที่ต้องพร้อม ไม่อย่างนั้นการซื้อเทคโนโลยีมาก็ไม่มีประโยชน์ ขณะเดียวกันการป้องกันการสร้างไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ไม่ใช่แค่การป้องกันมัลแวร์ การถูกโจมตีด้วยรูปแบบต่าง ๆ” “ภูมิ ภูมิรัตน์” ที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงปลอดภัยจาก G-ABLE และหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า จำเป็นที่ทุกหน่วยงานต้องจับมือร่วมมือกัน และต้องรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดว่า จะต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไร เพราะโลกไซเบอร์พัวพันกับทุกอย่างในชีวิตและความสงบบนโลกไซเบอร์ยังกระทบคนที่อยู่ข้างนอกด้วย “กรณี BTS ติด ๆ ดับ ๆ ก็กระทบคนวงกว้าง ไม่ใช่มุมของการโดนโจมตี แต่เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรของโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถให้บริการได้อย่างปกติ หรือการโจมตีหน่วยงานสาธารณสุขของสิงคโปร์ที่ถูกเจาะข้อมูลของประชาชนไปกว่า 1 ล้านคน” ในระหว่างนี้จึงต้องเตรียมการ2 ประเด็นที่เร่งทำคือ การสร้างกำลังคน แนวทางผลักดัน และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนา กับการกำหนดว่า ใครเข้าข่ายเป็น CII บ้าง และผลักดันให้เกิดการจับมือรวมตัวกัน ด้าน พลเอกบรรเจิด เทียนทองดี อีกหนึ่งในคณะกรรมการฯเตรียมการ กล่าวว่า กฎหมายมีความจำเป็นในแง่ของรัฐ และการบริหารจัดการความเรียบร้อยของภาคประชาชน “ขอทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม อย่าปล่อยให้ภาคราชการคิดแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วปล่อยผ่าน เมื่อเราไม่ได้ร่วมคิดเลยก็จะเป็นปัญหา อย่างที่ห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรเลย แต่บังคับไม่ได้ ฉะนั้นการออกกฎหมายต้องมีความพิถีพิถันและอยู่บนพื้นฐานโลกของความจริง” ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-202797

จำนวนผู้อ่าน: 2457

10 สิงหาคม 2018