9 มาตรการประหยัดน้ำ “ขั้นเทพ” “ครม.คุณละเอียด” ตรวจส้วม-เปลี่ยนสบู่-งดสายยาง

ครม.เห็นชอบ  สุดยอดมาตรการประหยัดน้ำ คิดให้เสร็จสรรพละเอียดยิบ ทั้งตรวจก๊อกน้ำ ตรวจส้วม จดมาตรวัดน้ำ อย่าทิ้งเศษอาหารลงชักโครก ใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อน ดื่มน้ำให้หมดทุกครั้ง ล้างจานในอ่าง ไม่เปิดสายยางล้างรถรดน้ำต้นไม้ ไม่เปิดน้ำทิ้งขณะล้างหน้า ชี้หน่วยราชการไหนทำไม่ได้เจอดีแน่
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กรมทรัพยากรน้ำในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน สั่งการให้จัดทำแนวทางประหยัดน้ำในหน่วยงานภาครัฐตามความเห็นที่ประชุม โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณการใช้น้ำลงอย่างน้อย 10% เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้น้ำในปีงบประมาณ 2557 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งสร้างความเสมอภาคระหว่างภาคส่วนต่างๆในการลดปริมาณการใช้น้ำและเป็นการปลูกฝังค่านิยมร่วมกันในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและรู้คุณค่ารวมถึงลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้น้ำอย่างไม่เหมาะสม</p>
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้มีกลไกบริหารจัดการในระดับนโยบาย คือให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง จัดตั้งคณะทำงานปฏิบัติการประหยัดน้ำ ขณะที่ในระดับปฏิบัติ ทางกรมทรัพยากรน้ำจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รณรงค์และให้คำแนะนำ วิธีการประหยัดน้ำกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป
สำหรับแนวทางปฏิบัติภายในหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติการขาดแคลนน้ำควรกำหนดให้มีตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินมาตรการประหยัดน้ำเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้การประหยัดน้ำเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บริหารระดับสูงของทุกหน่วยงานรัฐรวมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานตุลาการ รัฐสภาและโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยทางสำนักงาน ก.พ.ร.และกรมทรัพยากรน้ำจะร่วมกันพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการประเมินผล นอกจากนั้นให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามผลและรายงานให้ ครม.ทราบ

จดมาตรวัดน้ำเพื่อตรวจสอบการรั่วซึม
ส่วนแนวทางลดปริมาณการใช้น้ำระยะสั้น ประกอบด้วย 1.การสำรวจตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำตั้งแต่ท่อน้ำรั่วภายในหน่วยงาน โดยการปิดก๊อกน้ำทุกตัวหลังจากที่ทุกคนกลับบ้านแล้วให้จดเลขมาตรวัดน้ำไว้ หากมีการเคลื่อนไหวโดยที่ไม่มีใครเปิดน้ำใช้ให้เรียกช่างมาซ่อมทันที 2. ตรวจสอบชักโครกว่ามีจุดรั่วซึมหรือไม่ โดยหยดสีผสมอาหารลงในถังพักน้ำและสังเกตดูคอห่านหากมีน้ำสีลงมาโดยไม่ได้กดชักโครกให้รีบซ่อมแซม 3.ไม่เปิดน้ำไหลตลอดเวลาขณะล้างหน้าเพราะจะสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์นาทีละหลายๆลิตร

ไม่ทิ้งเศษกระดาษลงชักโครก

4.ไม่ทิ้งเศษอาหาร กระดาษ สารเคมีทุกชนิด ลงในชักโครกเพราะจะสูญเสียน้ำปริมาณมากในการชักโครกเพื่อไล่สิ่งของดังกล่าวลงท่อ 5.ให้ใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อนเมื่อต้องการล้างมือเพราะการใช้สบู่ก้อนล้างมือจะใช้เวลามากกว่าการใช้สบู่เหลว ที่ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมากกว่า แต่การล้างมือด้วยสบู่เหลวที่เข้มข้นก็จะใช้น้ำมากกว่าการล้างมือด้วยสบู่เหลวที่ไม่เข้มข้นเช่นกัน 6.ไม่ทิ้งน้ำดื่มที่เหลือในแก้วโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด อาจนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้ชำระพื้นผิวหรือใช้ทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ตลอดจนให้ใช้เหยือกน้ำกับแก้วเปล่าในการบริการน้ำดื่มและให้ผู้ที่ต้องการดื่มรินน้ำดื่มเองและควรดื่มให้หมดทุกครั้ง 7.การจะล้างจานให้ล้างในภาชนะที่ขังน้ำไว้ จะประหยัดน้ำได้มากกว่าการล้างจานด้วยวิธีที่ปล่อยให้น้ำไหลจากก๊อกน้ำตลอดเวลา

ไม่เปิดสายยางรดน้ำต้นไม้
8.การล้างรถไม่ควรใช้สายยางและเปิดน้ำให้ไหลตลอดเวลา เพราะจะใช้น้ำมากถึง 400 ลิตร แต่การล้างด้วยน้ำและฟองน้ำในกระป๋องหรือภาชนะบรรจุน้ำจะลดการใช้น้ำได้มากถึง 300 ลิตรต่อการล้าง 1 ครั้ง ที่สำคัญไม่ควรล้างรถบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำแล้วยังทำให้เกิดสนิมตัวถังได้ด้วย 9.การรดน้ำต้นไม้ให้ใช้สปริงเกิลหรือฝักบัวรดน้ำแทนการฉีดน้ำด้วยสายยางและไม่ควรรดน้ำต้นไม้ตอนแดดจัด เพราะน้ำจะระเหยหมดไปเปล่าๆ แต่ควรรดน้ำต้นไม้ในตอนเช้าที่อากาศยังเย็นอยู่จะช่วยประหยัดน้ำได้มาก จากนั้นให้นำหลักการ 3R คือลดการใช้น้ำ (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับหน่วยงานด้วย
ส่วนแนวทางปฏิบัติเพื่อประหยัดน้ำในระยะยาวให้รณรงค์ส่งเสริมและปลูกฝังค่านิยมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและรู้คุณค่า รวมทั้งสร้างพฤติกรรมการประหยัดน้ำ และให้ออกแบบติดตั้งระบบน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเก็บและการจ่ายน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไปสูบและจ่ายน้ำภายในอาคาร นอกจากนี้ กรณีที่อุปกรณ์ชำรุดจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ค้นหาอุปกรณ์ที่ประหยัดน้ำทดแทน และให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เติมอากาศ เพื่อช่วยเพิ่มอากาศให้แก่น้ำที่ไหลออกจากหัวก๊อกและลดปริมาณการไหลของน้ำด้วย.

 

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/514802


Person read: 4968

12 July 2018