ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในวงการพลังงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล หรือ นโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมสีเขียวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนตลอดมาเพื่อเข้าสู่ยุค Energy 4.0 คือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือที่เรียกกันว่า “โซลาร์รูฟท็อป” นับเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด
โซลาร์รูฟท็อป ถือเป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองแบบใหม่ที่แหล่งผลิตอยู่ใกล้สถานที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือเป็นการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Generation) นั่นเอง การผลิตไฟฟ้าลักษณะนี้เป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่เพียงแหล่งผลิตเดียว แม้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยยังมีปริมาณไม่มาก (น้อยกว่าร้อยละ 0.1) เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการไฟฟ้าของประเทศโดยรวม แต่ปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ เช่น ราคาแผงโซลาร์ที่ต่ำลงมากกว่าร้อยละ 90 ภายในระยะเวลา40 ปีราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกที่มีความผันผวน และนโยบายการสนับสนุนพลังงานทดแทนจากภาครัฐ เป็นต้น น่าจะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้การใช้พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์รูฟท็อปมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการพลิกโฉมธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศอย่างแท้จริง เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสังคมโลก ในต่างประเทศจึงมีการเรียกเทคโนโลยีโซลาร์รูฟท็อปว่า “Disruptive Technology” ดังนั้น ภาคส่วนต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างไรให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้? จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะวงการพลังงาน
แต่เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อปขึ้นกับความเข้มของแสงอาทิตย์และสภาพอากาศบริเวณจุดผลิตเป็นหลัก ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีความแน่นอนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับการพยากรณ์ศักยภาพของแสงอาทิตย์ในประเทศไทยยังมีเทคโนโลยีที่ใช้พยากรณ์อยู่ในระดับจำกัด จึงก่อให้เกิดเป็นความวิตกกังวลแก่การไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายจำหน่ายในการบริหารจัดการและพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อดำเนินการขยายการลงทุนให้สอดคล้องกับพันธกิจในการจัดหาไฟฟ้าและไฟฟ้าสำรองให้เกิดความมั่นคงสูงสุด นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าแบบใช้เองจากโซลาร์รูฟท็อปยังก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของการไฟฟ้าจากการจำหน่ายไฟฟ้าในช่วงเวลาที่โซลาร์รูฟท็อปทำงานอีกด้วย
อย่างไรก็ดี โซลาร์รูฟท็อปไม่ได้มีเพียงผลกระทบด้านลบ จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ เช่น งานวิจัยจาก Lawrence Berkeley National Laboratoryปี 2014 ชื่อ Financial Impacts of Net-Metered PV on Utilities and Ratepayers: A Scoping Study of Two Prototypical U.S. Utilities และ จากEnergy+Environmental Economics (E3) ปี2013 ชื่อ California Net Energy Metering (NEM) Cost Effectiveness Evaluation) พบว่าโซลาร์รูฟท็อปสามารถช่วยชะลอการลงทุนขยายระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตไฟฟ้าและใช้เองได้ โดยเฉพาะในเวลากลางวัน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่บ่อยค
รั้ง รวมทั้งสามารถลดความสูญเสียที่เกิดในสายส่งและสายจำหน่าย ด้วยเหตุที่ว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปอยู่ในลักษณะใกล้สถานที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า นอกเหนือประเด็นทางด้านเทคนิคแล้ว โซลาร์รูฟท็อปยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึง ผลดีและผลเสียจากการเพิ่มขึ้นของโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งคงต้องอาศัยการประเมินอย่างถี่ถ้วนผ่านมุมมองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่างๆโดยละเอียด เพื่อประเมินถึงคุณค่าของโซลาร์รูฟท็อป (Value of Solar) ที่แท้จริง
การปรับตัวขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดนโยบาย(Policymaker) ผู้กำกับนโยบาย (Regulator) และการไฟฟ้า (Utility) จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปในประเทศ โดยผู้ออกแบบนโยบายจำเป็นต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ราคา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกลไกตลาด และคุณค่าของโซลาร์ที่มีต่อประเทศ เพื่อวางแผนและออกแบบนโยบายสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นผู้กำกับนโยบาย ยังต้องช่วยอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการสมัครเข้าร่วมของโครงการโซลาร์รูฟท็อปของภาครัฐ พร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง เพื่อการดำเนินการที่รวดเร็ว และอีกหน้าที่สำคัญของผู้กำกับนโยบายคือ การทบทวนและศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมในอนาคต เพื่อสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการผลิตไฟฟ้าและไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป
ในส่วนสุดท้าย การไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิตและฝ่ายจำหน่าย อาจจะถึงเวลาที่ต้องเกิดการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังทั้งในด้านเทคนิคและด้านรูปแบบธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น รายงานของ International Energy Agency ปี 2017 ชื่อ Getting Wind and Sun onto the Grid: A Manual for Policy Makersพบว่าเมื่อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาในระบบของการไฟฟ้าอยู่ในช่วงร้อยละ 3-15 ของการผลิตไฟฟ้าของประเทศ การไฟฟ้าจะต้องนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการ เช่น เทคโนโลยี Smart Grid ผนวกรวมกับเทคโนโลยที่มีอยู่แล้วของการไฟฟ้า เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้า ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การพัฒนาโรงไฟฟ้าให้มีลักษณะที่สามารถเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกเหนือจากประเด็นทางด้านเทคนิคแล้ว รูปแบบธุรกิจของการไฟฟ้าเอง อาจจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงให้ตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของโซลาร์รูฟท็อปมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มหน่วยธุรกิจ หรือ บริการให้คำปรึกษาต่างๆ ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้จากหน่วยไฟฟ้าที่ขายได้ลดลง นอกจากนั้นผู้กำกับ อาจเปลี่ยนมาตรการกำกับดูแลการไฟฟ้า ให้เกิดแรงจูงใจในการชะลอการลงทุนในระบบไฟฟ้า เน้นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในระบบไฟฟ้าปัจจุบันมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกกันว่า Performance-based regulation
จะเห็นแล้วว่า รูปแบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอาจถึงเวลาที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เรียกว่า โซลาร์รูฟท็อป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามกลไกของราคา ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่างๆต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของประเทศ ในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่การเป็นสังคมสีเขียวและพึ่งพาตัวเองได้ตามแนวนโยบาย Energy 4.0 ที่ได้วางไว้
ที่มา: www.vcharkarn.com
Person read: 3249
20 September 2017