เล่น Social Network ให้ปลอดภัย “รู้” ไว้เลี่ยงอันตราย

ทุกวันนี้ วิธีการสื่อสารของเรานั้นดูเหมือนจะไม่ใช้การโทรศัพท์หากันอีกต่อไป แต่กลายเป็นการส่งข้อความผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Social Network นั่นเอง ซึ่งแนวโน้มความนิยมใช้ Social Network ทำให้เห็นว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นสื่อหลักในการสื่อสารอย่างแน่นอน เรียกว่าเป็น “ยุคของการแพร่หลายทางสังคมออนไลน์ (Social Ubiquity)” ดังจะเห็นจากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประเทศไทยปี 2556 ของ ETDA พบว่า มีผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ถึงร้อยละ 93.8 จากจำนวนคนที่ทำการสำรวจ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก

Social Network มีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะในการแสดงออกทางความคิด และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลจากผู้อื่น ด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เช่นกัน Social Network ทำให้ผู้ขายได้ประชาสัมพันธ์สินค้าง่ายขึ้น ผู้ซื้อก็มีโอกาสเข้าถึงสินค้าได้ง่ายเช่นกัน แต่การที่ผู้ใช้งาน Social Network มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลได้ง่าย รวมทั้งทุกคนสามารถใช้งานได้ ก็ทำให้ข้อมูลใน Social Network อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งมีโอกาสที่จะสูญเสียความเป็นส่วนตัวไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่เสมอไปที่เราจะเจอกับปัญหาต่างๆ ใน Social Network แต่การรู้ทันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็เป็นการดีที่เราจะได้ป้องกันและระวังภัยต่างๆ ได้ ดังนี้

 

1.   คิดให้รอบคอบก่อนโพสต์ข้อมูลใดๆ เพราะอย่าลืมว่าข้อมูลเหล่านี้จะเปิดเผยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโพสต์ข้อมูลที่สุ่มเสี่ยงก็อาจจะส่งผลร้ายต่อตัวเราเองก็เป็นได้

2.   ใช้ความระมัดระวังในการคลิกลิงก์ต่างๆ ที่มากับการแชร์หรือข้อความ หลีกเลี่ยงลิงก์แปลกปลอม หรือมาจากคนที่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่เพื่อนซึ่งใช้ภาษาในการสื่อสารที่ดูแปลกไปจากปกติ เพราะอาจเป็นลิงก์ที่นำไปสู่ไวรัสหรือช่องทางขโมยข้อมูลของเหล่าแฮกเกอร์

3.   พิมพ์ที่อยู่ URL ของเว็บไซด์โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นๆ โดยตรง โดยบนเบราว์เซอร์ให้หลีกเลี่ยงการเข้าเครือข่ายทางสังคมผ่านทางคลิกลิงก์จากผลแสดงการค้นหา หรือจากอีเมล เพราะอาจเป็น URL ปลอมที่นำเราไปยังเว็บไซต์ปลอม เพื่อหลอกเอาบัญชีผู้ใช้และ Password ได้ เช่น www.facebook.com อาจมี URL หลอกเป็น www.faeebook.com เป็นต้น

4.   คัดกรองคนที่ขอเป็นเพื่อน หรือขอเชื่อมโยงกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเรา หลีกเลี่ยงการตอบรับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เพราะผู้ไม่หวังดีอาจแฝงมากับคนที่ขอเข้ามาเป็นเพื่อนเรา และหากพบคนที่เป็นเพื่อนซึ่งเราไม่รู้จักและน่าสงสัยก็ควรลบออกไป

5.   ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ผู้ให้บริการแต่ละรายจะกำหนดการตั้งค่าส่วนตัวไว้เพื่อไม่ให้ข้อมูล หรือสิ่งที่เราทำ หลุดออกไปยังคนที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้น เราควรตั้งค่าให้เพื่อนเท่านั้นที่เห็นกิจกรรมของเรา และหลีกเลี่ยงการตั้งค่าสิ่งที่เราทำให้เป็นสาธารณะ หรือคนทั่วไปเห็นได้

6.   ไม่แสดงข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรเครดิตลงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบข้อความ หรือรูปภาพ เพราะแฮกเกอร์และผู้ไม่หวังดีสามารถแฝงตัวมากับกลุ่มเพื่อนที่เราอนุญาตให้เข้าชมได้

7.   เปิดใช้งาน Do Not Track เพื่อป้องกันการติดตามและการเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการ ซึ่งอาจรวมไปถึงผู้ไม่หวังดีที่ลักลอบเข้ามาขโมยข้อมูลด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเว็บเบราว์เซอร์ที่เปิดใช้งาน Do Not Track ได้แล้ว เช่น Internet Explorer 10

8.   ใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการรับข่าวสาร และอย่าปักใจเชื่อข้อมูลที่เผยแพร่เข้ามาในทันที รวมทั้งการกล่าวอ้างถึงแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ เพราะอาจมีการสวมรอย หรือสมอ้างจากผู้ไม่หวังดีเพื่อสร้างข่าว หรือสร้างความเสื่อมเสียต่อแหล่งที่มานั้นได้

9.   ดูแลและควบคุมการใช้งานของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด สอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ข้อมูล และรู้จักเล่นอย่างถูกวิธี เพราะความรู้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็มีอยู่มากมาย และปัจจุบันครูอาจารย์ก็ทันสมัยจนแจ้งเรื่องต่างๆ แก่ลูกศิษย์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook หรือ Twitter กันแล้ว นอกจากนี้ อาจหาเครื่องมือในการควบคุมการใช้งานของบุตรหลายได้ เช่น โปรแกรม Windows Live Family Safety ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ไมโครซอฟต์เปิดให้ใช้งานได้ฟรีๆ นอกจากจะใช้ควบคุมการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้แล้ว ยังสามารถกำหนดช่วงเวลาในการใช้คอมพิวเตอร์ และป้องกันการใช้โปรแกรม หรือเล่นเกมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รับอนุญาตได้อีกด้วย

10.    ตระหนักว่ามันเป็นสังคมเสรี แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น แต่ทุกคำพูดและการกระทำที่ไม่เหมาะสมก็สามารถเป็นเหตุในการฟ้องร้องได้ และศาลก็อาจจะรับฟังคำร้องด้วย

 

การหลบหลีกภัย Social Network คงไม่ใช่การเลิกใช้งานไปเลย เพราะยังมีประโยชน์ดีๆ อีกมากมายในเครือข่ายสังคมออนไลน์นี้ แต่ถ้ารู้จักใช้อย่างระมัดระวังก็จะช่วยให้เราสามารถสนุกสนานกับสังคมออนไลน์อย่างมั่นใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ก็อาจมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละ Social Network ที่เราสามารถศึกษาได้จากคำแนะนำบนเว็บไซต์เหล่านั้น

ที่มา: www.etda.or.th


Person read: 3208

19 September 2017