นักวิทยาศาสตร์แนะเคลียร์บ้านให้โล่ง“ป้องกันงู”มาเยือน

ช่วงนี้มีข่าวงูเข้าบ้านกันบ่อย แต่ขึ้นชื่อว่า "งู" แล้วไม่ว่าจะมีพิษหรือไม่มีพิษ ก็เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เข้ามาปะปนในบ้านเป็นแน่ แต่จะทำอย่างไรหากบ้านเราเป็นทางผ่านของพวกมัน จะด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย เพราะอยู่ใกล้ห้วย หนอง คลอง บึง หรือป่าละเมาะที่เป็นแหล่งกบดานของเจ้าสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ หากโชคร้ายพวกมันแอบกบดานอยู่ในละแวกใกล้เคียงบ้านอยู่แล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่าทำอย่างไร ถึงจะไม่ให้งูทุกชนิดหลบเลื้อยเข้ามาในบ้านเรา   สูตรสำเร็จในการป้องกันไม่มี แต่ก็มีวิธีป้องกันที่ใช้ได้ผลดี ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ คือ การทำสภาพแวดล้อมของบ้านให้งูไม่ชอบ โดยจัดการบริเวณบ้านให้ไม่เหมาะสมในการอยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด

 

นายธนพงษ์ ตวัน นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ สวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องงู ให้คำแนะนำเบื้องต้นว่า สิ่งสำคัญที่สุด ในการป้องกันงูเข้าบ้าน คือ ต้องหมั่นสังเกตลักษณะบริเวณบ้านว่า มีความเสี่ยงที่งูจะเข้ามาหลบซ่อน หรือหาอาหารหรือไม่ เช่น ที่ตั้งของบ้านเป็นพื้นที่ใกล้พงป่ารกทึบ หรือมีบึงน้ำให้งูหลบซ่อนหรือไม่ ถ้ามีพื้นที่เหล่านี้อยู่ในบริเวณที่ต่อเนื่องกับบ้าน ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษต้องมีอุปกรณ์ปิดกั้นพื้นที่ป่ากับบริเวณบ้านไม่ให้เข้าถึงกันได้ง่าย อาจใช้ลวด หรือตาข่ายขึงปิดกั้นไว้

ต้องทำให้บริเวณบ้านไม่มีอาหารของงู เช่น หนู กบ คางคก อึ่งอ่าง ฯลฯ ดูแลบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีเศษอาหารสะสม เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากินเศษอาหาร จากนั้นก็ลดพื้นที่เสี่ยงบริเวณที่งูจะเข้ามาอยู่อาศัย เช่น หากบ้านมีโพรง หรือรอยร้าวทรุด เป็นช่องระหว่างตัวบ้านกับพื้นดิน ก็ให้ทำการถม หรือเทปูนปิดรอยทรุดใต้ตัวบ้านให้เรียบร้อย ไม่ให้มีโพรงหรือช่องว่างระหว่างตัวบ้านกับพื้นดิน

นอกจากนี้ก็ให้กำจัดกองวัสดุต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้งาน พร้อมป้องกันช่องทางที่งูอาจใช้เป็นหนทางเข้าสู่ตัวบ้าน เช่น ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเข้ามาในบริเวณบ้านให้เรียบร้อย ติดตะแกรงที่ฝาท่อระบายน้ำ ติดมุ้งลวดประตูหน้าต่าง อุดช่อง อุดรู หรือรอยแตกบริเวณบ้านให้เรียบร้อย อาจใช้ตาข่ายตาถี่ๆ ขึงโดยรอบบริเวณที่ไม่อยากให้งูผ่าน เพราะโดยส่วนใหญ่ เมื่องูเลื้อยมาเจอวัตถุที่ขวางหน้า มันจะพยายามเลื้อยออกไปทางด้านข้างมากกว่าเลื้อยขึ้นไปทางด้านบน

 

 

ส่วนวิธีป้องกันที่มีคนแนะนำเรื่อง การใช้ น้ำมันเครื่องเก่า หรือการใช้น้ำมันกลิ่นฉุน ไล่งู นายธนพงษ์ กล่าว่าทางสวนงูได้มีการทดสอบพิสูจน์แล้วพบว่าไม่ได้ผล รวมทั้งการใช้สารเคมีต่างๆ นอกจากไม่ได้ผลในการป้องกันงูแล้ว ยังจะเป็นพิษกับผู้อยู่อาศัยในบ้านด้วย วิธีป้องกันที่ได้ผล คือการป้องกันทางกายภาพดังกล่าวมาแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การใช้ตัวช่วยอย่างการเลี้ยงสุนัข ก็อาจช่วยขับไล่สัตว์ไม่พึงประสงค์ได้ เพราะสุนัขมักจะไม่นิ่งเฉยหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาใกล้ ส่วนงูก็เป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย ดังนั้น หากงูเริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้บ้าน สุนัขก็จะส่งเสียงเห่าทำให้งูตกใจและเลื้อยหนีไปเอง

“หัวใจของการป้องกัน คือการทำความสะอาดบ้าน และบริเวณบ้านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ไม่เป็นที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หมั่นกำจัดหนู และสัตว์ต่างๆ ที่เป็นห่วงโซ่อาหาร และกำจัดสิ่งสกปรกในบ้าน จะช่วยไม่ให้งูมีแหล่งอาหารและที่พักพิง เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง”

หากบ้านมีบริเวณสวน มีต้นไม้ ก็ควรหมั่นตัดหญ้าและดูแลสวนอย่างสม่ำเสมอ งูจะได้ไม่ใช้เป็นที่แฝงตัว ควรหาวัสดุมาปิดรูท่อ หรือใส่ตะแกรงท่อระบายน้ำเอาไว้ด้วย งูจะได้ไม่เลื้อยเข้าบ้านทางท่อระบายน้ำ หรือท่อน้ำทิ้ง นอกจากการป้องกันเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว มีผู้แนะนำการใช้อุปกรณ์ในการป้องกัน เช่น แผ่นกันงู ซึ่งเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับติดไว้ที่ผนัง หรือเสาไฟ เพื่อดักไม่ให้งูเลื้อยผ่าน โดยแผ่นกันงูทำจากพลาสติกที่มีความลื่นสูง จึงทำให้เป็นอุปสรรคในการเลื้อย อาจทำให้งูตกลงมาหรือหมดแรงไปก่อน ตาข่ายป้องกันงู การติดตั้งตาข่ายเอาไว้รอบบริเวณที่คาดว่าจะเป็นทางเดินของงู เพื่อเข้าสู่ตัวบ้าน ก็จะช่วยดักงูไว้ได้อีกทาง ซึ่งตาข่ายที่นำมาติดตั้งนั้น ควรเลือกที่มีตาชิด ให้งูไม่สามารถลอดผ่านได้ หรือใช้ตาข่ายดักปลาแทนก็ได้

 

 

มุ้งลวดป้องกันงูเข้าบ้าน ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันงูได้ในกรณีที่อยากใช้ในการปิดทางเดิน ไม่ให้งูเลื้อยผ่าน ซึ่งมุ้งลวดอาจมีความแตกต่างที่ไม่สามารถดักให้งูติดอยู่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันขวางทางเอาไว้ได้ หลายคนอาจสงสัยว่าจะหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันงูได้ที่ไหนแนะนำให้หาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ค้นหา “อุปกรณ์ป้องกันงู” จะพบว่ามีจำหน่ายอยู่บ้างไม่มากนัก หรือหากเป็นวัสดุพื้นฐาน เช่น ตะแกรง ลวดตาข่าย มุ้งลวด ก็หาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไป

แจ้งจับงูสายด่วน 199 แต่ถ้าโชคร้ายมีงูเข้ามาเยือนถึงบ้านก็อย่าพึ่งตื่นตระหนกไป และอย่าใช้วิธีไล่ตีหรือทำร้ายงู เพราะเสี่ยงที่จะถูกแว้งกัด แต่ให้ปิดบริเวณที่พบงู ไม่ให้คนหรือสัตว์เลี้ยงเข้าใกล้ แล้วรีบติดต่อสายด่วน 199 เป็นสายด่วนดับเพลิง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้พื้นฐานในการจับงูพร้อมให้บริการในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว หรือง่ายที่สุดเรียกรปภ.หน้าบ้าน หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง มาช่วยในเบื้องต้น

 

ที่มา : thansettakij.com

พยายามหาอุปกรณ์ ตะแกรง หรือลวดตาข่ายมาปิดอุดช่องทางที่งูมีโอกาสเลื้อยเข้าบ้านได้ เช่น ท่อระบายน้ำ ท่อน้ำทิ้ง เหล่านี้ ควรมีตะแกรงป้องกันงูเลื้อยเข้ามา และต้องหมั่นทำความสะอาดบริเวณบ้าน เก็บของไม่ให้รกรุงรังเป็นที่หลบซ่อนของงู และพยายามทำบ้านให้ปลอดหนู เพื่อจะไม่เป็นอาหารล่องู มั่นตรวจตราร่องต่างๆ ของบ้าน เช่น ร่องประตูกับพื้นบ้าน หรือร่องบานเกล็ด ควรติดมุ้งลวดป้องกัน ทั้งหมดนี้เน้นป้องกันทางกายภาพของพื้นที่เป็นหลัก


Person read: 2755

20 July 2017