ข่าวประชาสัมพันธ์

แบงก์ชาติผ่อนเกณฑ์ LTV ยกเลิกคุมบ้านหลังแรก-หลังที่สอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 มกราคม 2563 ที่กระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ “รองนายกรัฐมนตรี สั่งการและกำชับกับทุกหน่วยงาน ให้เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำลายอุปสรรคในการทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้คล่องตัวมากขึ้น คาดว่าจะมีมาตรการหลายอย่างออกมาใน 1-2 วันนี้” แหล่งข่าวจากที่ประชุมระบุ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้พิจารณาปรับปรุงมาตรการ Loan to Value Ratio (LTV) เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชาชนได้มีบ้านเป็นของตนเอง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 20 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ดังนี้ บ้านหลังแรก – สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยังคงเพดาน LTV 100% สำหรับสินเชื่อบ้าน – ผู้กู้สามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการเข้าอยู่อาศัยจริง เช่น ซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือ การตกแต่งบ้าน ซึ่งหนี้ส่วนนี้เมื่อกลายเป็นหนี้ที่มีบ้านเป็นหลักประกันจะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้แบบไม่มีหลักประกัน – สำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้วางเงินดาวน์น้อยลงจากเดิม 20% เป็น 10% บ้านหลังที่สอง – ผ่อนเกณฑ์ให้การกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ต้องมีเงินดาวน์ 10% หากผ่อนชำระสัญญาที่ 1 มาแล้วอย่างน้อย 2 ปี จากเดิมกำหนด 3 ปี – ยังไม่ยกเลิกเพดาน LTV สำหรับการกู้ซื้อบ้านสัญญาที่ 2 เพราะพบข้อมูลว่า มากกว่าครึ่งของผู้กู้ที่ซื้ออาคารชุด 2 หลังพร้อมกันมีระยะห่างระหว่างการกู้สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ไม่ถึง 1 ปี สะท้อนว่าเป็นการกู้เพื่อเก็งกำไรมากกว่าเพื่ออยู่อาศัยจริง – ปรับหลักเกณฑ์เงินกองทุนให้กับผู้กู้กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจริง เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ธปท. ยังได้ปรับหลักเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงสำหรับการกู้ซื้อบ้านหลังแรกที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และการกู้สร้างบ้านบนที่ดินปลอดภาระ เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวมากขึ้น นายรณดล เปิดเผยด้วยว่า ข้อมูลจากรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยประจำปี 2562 ชี้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงในระบบการเงินจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนาน ซึ่งเอื้อต่อการสะสมความเปราะบางในด้านต่าง ๆ อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs เช่นเดียวกับความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ โดยเฉพาะจากสหกรณ์ออมทรัพย์กลุ่มที่ขาดสภาพคล่อง เป็นต้น 10 คำตอบปัญหาการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-412453  

จำนวนผู้อ่าน: 2594

21 มกราคม 2020

ต่างชาติเทขายหุ้นไทยช่วง 10 ปี กว่า 5 แสนล้าน สัดส่วนถือครองเหลือ 28.2% ต่ำสุดรอบ 15 ปี

“บล.ทรีนีตี้” ชี้เศรษฐกิจโลก-ไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว มองจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 2.8-2.9% ขณะที่ภาระหนี้ท่วมโลกผลพวงจากการใช้มาตรการ QE ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาดหุ้นไทยผันผวนมองกรอบ 1,480-1,700 จุด แนะจัดพอร์ตถือหุ้น 30% ตราสารหนี้ 30% ทองคำ 10% เงินสด 20% รอซื้อช่วงปรับลดลงมา ส่วนฟันด์โฟลว์ยังไม่ไหลเข้า เปิดต้นปีต่างชาติเทขายแล้ว 3 พันล้านบาท และขายสุทธิ 10 ปี ย้อนหลังกว่า 5 แสนล้านบาท ระบุสัดส่วนต่างชาติถือครองเกือบต่ำสุดในรอบ 15 ปี เหลือแค่ 28.2% ของมาร์เก็ตแคป ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยในงาน “2020 จัดทัพลงทุน รับทศวรรษแห่งความเสี่ยง” ว่า กระแสเงินทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) จะยังไม่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 3,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2563 และเป็นขายสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยถือว่าลดลงเกือบต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยมีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยอยู่ที่ 28.2%ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศมียอดซื้อสุทธิกว่า 5 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ จะชะลอตัวลง หลังสิทธิพิเศษภาษีกองทุน LTF หมดลง และผันไปเป็นกองทุน SSF ซึ่งทำให้เม็ดเงินลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันเม็ดเงิน LTF ในระบบมีอยู่ 3.8 แสนล้านบาท จะทยอยหมดอายุภายในปี 2568 ถ้าไม่มีกองทุนอื่นมาทดแทน ปีนี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะเติบโตต่ำ (Low growth) และเงินเฟ้อต่ำ (Low inflation) โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ถึงแม้จะทรงตัวได้มากขึ้น และอาจฟื้นตัว เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนสงบลงชั่วคราว แต่มีปัจจัยที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงสภาพคล่อง ได้แก่ นโยบายทางการเงินเริ่มจำกัดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำมากและระดับหนี้สาธารณะในหลายประเทศที่สูงขึ้น ดังนั้นคาดว่ารัฐบาลหรือธนาคารกลางประเทศต่างๆ อาจจะออกมาตรการเพื่อช่วยผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มโดยตรงมากขึ้น บล.ทรีนีตี้ ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะขยายตัวที่ 2.8-2.9% ขณะที่คาดการณ์ทิศทางดัชนีหุ้นไทยปี 2563 จะแกว่งตัวเป็นไซด์เวย์ขนาดใหญ่ในกรอบ 1,480-1,700 จากประมาณการกำไรหรือ EPS ที่ยังคงไม่มีสัญญาณการถูกปรับขึ้น แต่ตลาดหุ้นไทยจะมีแรงจูงใจเรื่องเงินปันผล (Yield-Driven Market) ที่ดี โดยคาดการณ์ว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกตามปัจจัยฤดูกาลของหุ้นปันผลสูงก่อนที่จะปรับย่อตัวลงหลังจากนั้น ส่วนช่วงที่เหลือของปีนี้ทิศทางตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวไปตามพัฒนาการของประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งอิงกับปัจจัยสำคัญที่เข้ามากระทบทั้งความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ทิศทางของสงครามการค้า ราคาน้ำมันดิบ ค่าเงินบาท มาตรฐานบัญชีใหม่ มาตรการกำกับดูเแลสถาบันการเงิน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ขณะที่มองว่าภัยแล้งมีผลเสียหายทางเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่จะกระทบการบริโภคภาคครัวเรือน “เราประเมินดัชนีเป้าหมายปี 63 จะขึ้นไปได้สูงสุดที่ระดับ 1,700 จุด อิง Forward PE ที่ระดับ 15.4 เท่า และประมาณการ EPS ปี 2564 ที่ระดับ 110.9 บาท โดยประเมินว่า ประมาณการ EPS ในตลาดหุ้นไทยจะเริ่มแกว่งแรงอีกครั้งในช่วงใกล้ประกาศกำไร บจ.งวดไตรมาส 4/62 ซึ่งเริ่มตั้งแต่การประกาศกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์(แบงก์) แต่ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโบายลงอีก 0.25% เป้าหมายของ PE จะถูกปรับเพิ่มขึ้นจาก 15.4 เท่าเป็น 15.8 เท่า ทำให้เป้าหมายดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้นได้อีก 40 จุด มาสู่ระดับ 1,740 จุด” ดร.วิศิษฐ์กล่าว ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นคือ สงครามการค้าที่ผ่านพ้นความตึงเครียดสูงสุดไปแล้ว ทำให้ผู้ผลิตและผู้จัดซื้อมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากสงครามการค้าที่รุนแรงลดลง ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังคงสูงอยู่ สะท้อนผ่านขนาดงบดุลของธนาคารกลางสำคัญที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่ประเทศไทยความคาดหวังสำคัญอยู่ที่การใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐ หลังพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯในไตรมาส 1/63 นี้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินมาก ส่วนปัจจัยที่เป็นลบคือ ค่าเงินบาทในเชิงเปรียบเทียบกับการแข่งขัน บ่งบอกถึงไทยกำลังสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน โครงสร้างประชากรที่สูงวัยมากขึ้น การเกิด Technology Disruption การจ้างงานที่ลดลงทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง การผลิตในประเทศลดลง “ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความเสี่ยงที่เป็น Tail Risks (ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ทำให้การลงทุนเสียหายมาก) คือการที่ Bond Yield ของสหรัฐมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาพันธบัตรลดลงอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลเสียหายต่อตลาดทุน แนะนำให้ใช้ทองคำหรือเงินสดเป็นตัวเฮดจิ้ง (Hedging)” สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 63 อาจเข้าสู่ช่วงทศวรรษแห่งความเสี่ยง (ปี 2020-2030) ว่าจะเป็นยุคที่นักลงทุนหาผลตอบแทนได้ยากขึ้นจากภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นผลพวงจากการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านกระบวนการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหรือ QE ของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ กว่า 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา การทำ QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ ทำให้สภาพคล่องในระบบสูงขึ้น ผลักดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นกว่า 174% ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นกว่า 115% นอกจากนี้ราคาสินทรัพย์เกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น เช่น ทองคำในรูปดอลลาร์ปรับตัวขึ้นกว่า 38% ราคาที่ดินในกรุงเทพและปริมณฑลปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 118% และผลตอบแทนพันธบัตรไทย โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 69% แต่หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นจาก 58% ของจีดีพีมาสู่ 80% ของจีดีพี หนี้สินทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้นจาก 161% ของจีดีพีมาสู่ 258% ของจีดีพี ในช่วงระยะเวลา10ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี บล.ทรีนีตี้ แนะนำการจัด Portfolio โดยให้ลงทุนในหุ้น 30% (แบ่งเป็นหุ้นไทย 10% และหุ้นต่างประเทศ 20% โดยเฉพาะหุ้นในเอเชีย เช่น หุ้นจีนและหุ้นเวียดนาม โดยเน้นกองทุนที่สามารถลงทุน โดยไม่มี Foreign Premium) ลงทุนในตราสารหนี้ 30% (ตราสารหนี้ไทย 10% และตราสารหนี้ต่างประเทศ 20%) ลงทุนทองคำ 10% (ลงทุนในกองทุนทองคำที่ Fully hedged ค่าเงิน) ลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 10% (กองทุนในประเทศ 5% และกองทุนต่างประเทศ 5%) ที่เหลือให้ถือเป็นเงินสด 20% เพื่อใช้เป็นจังหวะในการซื้อสินทรัพย์ ในช่วงที่ราคาปรับตัวลงมา นอกจากนี้ยังได้ให้คำแนะนำลงทุนในกลุ่มหุ้นปันผลสูง High Dividend Stock ซึ่งประเมินว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดี โดยจากงานวิจัยพบว่าสถิติ 9 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา การลงทุนในหุ้นปันผลสูงจะมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนประมาณ 9.6% (ด้วยความเชื่อมั่น 90%) ในช่วงระยะเวลาการลงทุนเพียง 4 เดือนของการถือครองหุ้น (ม.ค.-เม.ย.) ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-412870

จำนวนผู้อ่าน: 2025

21 มกราคม 2020

“สรยุทธ” โพสต์ความในใจ ก่อนฟังคำพิพากษา “ยากที่จะได้อิสรภาพ”

ภายหลัง ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลางพิพากษาลงโทษ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าว จำคุก 6 ปี 24 เดือน กรณีคดีไร่ส้ม เบี้ยวโฆษณา อสมท. จำนวน 138 ล้าน แอดมินเพจของนายสรยุทธ ได้โพสต์ข้อความ ดังนี้ … ไม่ว่าผลคำพิพากษาวันนี้จะออกมาอย่างไร ผมยอมรับ เตรียมตัวเตรียมใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตผมจากนี้ไปเอาไว้แล้ว ๒ ศาลพิพากษาว่าผมผิด พิพากษาจำคุกผม ๑๓ ปี ๔ เดือน ผมรู้ว่ามันคงยากที่จะหวังให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ผมได้รับอิสรภาพ ผมได้ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาอย่างครบถ้วนแล้ว ผลออกมาอย่างไร ผมก็ต้องยอมรับ ผมได้พยายามแสดงให้เห็นว่า ไร่ส้มโฆษณาเกิน ในขณะที่ อสมท.โฆษณาเกินมากยิ่งกว่า โดยไร่ส้มไม่เคยไปเบียดบังเวลาโฆษณาของ อสมท. แต่เมื่อเห็นว่าสถานีเป็นเจ้าของเวลา จะทำอะไรก็ได้ ผมก็ยอมรับ กระบวนการโฆษณา ไม่เคยมีการปกปิด และถึงจะต้องการปกปิด ก็ปกปิดไม่ได้โดยเจ้าหน้าที่ธุรการเพียงคนเดียว โดยมีกระบวนการที่เปิดเผยเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมาเกินกว่า ๕๐๐ ครั้ง เจ้าหน้าที่คนนี้ได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาแล้วผ่านใบคิวโฆษณาทุกวัน แต่เมื่อเห็นว่าโฆษณาเกินปกปิดได้ ผมก็ต้องยอมรับ การจ่ายเช็คทั้ง ๖ ฉบับ มีที่มาที่ไปว่าเป็นการจ่ายค่าจ้างเพื่อให้ทำงานเกี่ยวกับการขายโฆษณา มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างครบถ้วน ยอดเงินเป็นเศษสตางค์ และตัวเลขไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโฆษณาเกินเลย แต่เมื่อเชื่อว่าเป็นการจ่ายสินบน ผมก็ต้องยอมรับ เงินค่าโฆษณาเกิน ๑๓๘ ล้าน ผมได้ชำระให้ อสมท.ไปครบถ้วนแล้วตั้งแต่ยังไม่เกิดคดีความ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ผมไม่ทำให้ อสมท.เสียหาย แต่เมื่อมันชดใช้สิ่งที่เห็นว่าผิดไปแล้วไม่ได้ ผมก็ยอมรับ ผมยอมรับคำพิพากษา โดยไม่เคยคิดว่าจะหลบหนี เพราะนั่นจะเท่ากับผมไม่เคารพกระบวนการของกฎหมายบ้านเมืองที่ผมเกิดและเติบโตมา แน่นอนว่าผมย่อมกลัวการติดคุกติดตาราง แต่ชีวิตผมไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง ไม่ได้สุขสบาย ไม่เคยลำบากตรากตรำ จนจะไปใช้ชีวิตในเรือนจำไม่ได้ หรืออยู่ลำบากไม่ได้ บางทีระหว่างที่ผมใช้ชีวิตทำงานมาร่วม ๓๐ ปี ถ้าพูดถึงความยากลำบากทางกาย อาจจะลำบากกว่าการใช้ชีวิตในเรือนจำ แต่สำคัญที่ร่วม ๓๐ ปีนั้นผมมีอิสรภาพ ร่วม ๓๐ ปี ผมไม่เคยได้นอนหลับเต็มอิ่ม ทำงานที่ผมรักตลอดทั้งวัน ไม่มีวันหยุด เพียงแต่ทุกวันที่ตื่นไปทำงาน ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมไปทำงาน ผมแค่ตื่นออกไปใช้ชีวิตของผม แม้จะยากลำบากทางกาย แต่ผมก็สุขใจในแบบของผมเสมอมา กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๙ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาผม และผมต้องหยุดทำงานที่ผมเคยทำมาทุกวัน ทั้งที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ใครไม่เป็นผมคงไม่รู้ว่ามันทุกข์ทรมานขนาดไหนกับการต้องตื่นขึ้นมาทุกวันแล้วไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตของผมอย่างที่เคย ช่วงนั้น ผมไม่กล้าแม้กระทั่งเปิดโทรทัศน์ อย่าว่าแต่รายการที่ตัวเองเคยทำ เพราะถ้าต้องเห็นสิ่งที่ผมรักและเคยทำมาตลอด มันจะหยุดน้ำตาของตัวเองไม่ได้ ผมทำได้อย่างเดียวคือ พยายามลืมชีวิตที่เคยเป็นมา สำหรับผม การต้องหยุดทำงาน เหตุเพราะคำพิพากษาของสังคม คือความทุกข์ทรมานที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิต เพราะคือการห้ามผมใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่การห้ามผมทำอาชีพของผม อิสรภาพในการใช้ชีวิตของผมหมดไปตั้งแต่เมื่อ ๔ ปีก่อนแล้ว ผมติดคุกสังคมมา ๔ ปีแล้ว ตลอด ๔ ปีของการต่อสู้คดีก็ไม่เคยมีความสุขเลยแม้แต่วันเดียว ความรู้สึกเสมือนยิ่งสู้ยิ่งแพ้ แต่ก็ต้องสู้ วันนี้ผมคงติดคุกตามคำพิพากษาของศาลสูงสุด ความยากลำบากเดียวคือ ทำใจ ซึ่งผมยังไม่รู้ว่าจะทำได้ขนาดไหน จะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ที่จะทำความคุ้นเคยกับมัน แต่ที่สุดผมก็ต้องยอมรับให้ได้ ชีวิตต้องดำเนินต่อไป อย่างน้อยวันนี้ชีวิตผมก็จะได้เริ่มต้นใหม่เสียที แม้จะต้องเริ่มต้นจากติดลบ อยู่ในคุกตะราง จุดต่ำสุดของชีวิต แต่ก็ได้เริ่มต้น ซึ่งมันจะมีวันหนึ่งในที่สุดที่จะได้นับหนึ่งใหม่ ขอบคุณทุกคนที่เจอกันก็เข้ามาจับมือให้กำลังใจ ไม่ได้เจอกันก็ส่งกำลังใจมาให้ จนกว่าจะมีโอกาสพบกันใหม่ครับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ๒๑ มกราคม ๒๕๖๓ คลิกอ่านข่าว >>> ศาลฎีกาลงโทษ “สรยุทธ” จำคุก 6 ปี 24 เดือน คดีไร่ส้ม เบี้ยวโฆษณา 138 ล้าน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-412867

จำนวนผู้อ่าน: 2032

21 มกราคม 2020

“มาครง” เปิดเจรจา “ทรัมป์” หาทางยุติสงครามการค้าจากภาษีดิจิทัล

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานคำกล่าวของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ม.ค. 2020) ซึ่งระบุว่าทาง “มาครง” ได้มีการหารือกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส โดยทางฝรั่งเศสประกาศเก็บภาษีบริษัทดิจิทัลที่ทำธุรกิจในประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ขณะที่ทางสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการข่มขู่การขึ้นภาษีสินค้าไวน์ที่นำเข้าจากฝรั่งเศส โดยผู้นำจากสองประเทศตกลงกันว่าทั้งสองฝ่ายจะยุติการเพิ่มภาษีระหว่างกันตลอดปี 2020 พร้อมทั้งหาทางดำเนินการเพื่อเจรจายุติประเด็นความขัดแย้งดังกล่าว โดยนักการทูตชาวฝรั่งเศสซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหารือดังกล่าวเปิดเผยว่า ทางประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นพ้องตรงกันว่าทั้งสองประเทศควรยุติความพยายามขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้กันตลอดระยะเวลาของปี 2020 รวมถึงหาทางเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเรื่องภาษีดิจิทัล โดยทั้งสองฝ่ายจะเริ่มเจรจากันในช่วงการประชุมองค์การความร่วมมือและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประจำปี 2020 ขณะที่ทาง “จัดด์ เดียร์” โฆษกทำเนียบขาวแถลงข่าวยืนยันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ม.ค. 2020) ระบุว่า ผู้นำจากทั้งสหรัฐและฝรั่งเศสได้มีการหารือกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันหาแนวทางเพื่อยุติความขัดแย้งจากประเด็นภาษีดิจิทัล นอกจากนี้ผู้นำทั้งสองยังมีการหารือกันในประเด็นอื่น ๆ อีกด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-412866

จำนวนผู้อ่าน: 1984

21 มกราคม 2020

ราชกิจจาฯเผยแพร่ประกาศ “กำหนดราคากลางยา”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยา ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยา เพื่อให้การบริหารจัดการราคากลางยาเป็นปัจจุบัน จึงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรายการยาให้ถูกต้องและทันสมัย อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๘ (๔) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยา” ข้อ ๒ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางยา ลงวันที่ 5 เมษายน ๒๕๖๒ ข้อ ๓ ให้ใช้ราคากลางของยา ตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ คลิกดูรายละเอียดประกาศฉบับเต็มที่นี่ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-412845

จำนวนผู้อ่าน: 2124

21 มกราคม 2020

หุ้นไทยวันนี้ ปิดตลาดภาคเช้า -5.01 จุด ดัชนี SET อยู่ที่ระดับ 1,584 จุด

แฟ้มภาพ การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยวันนี้ (21 ม.ค.) ดัชนี SET Index ปิดตลาดภาคเช้า อยู่ที่ระดับ 1,584.10 จุด ปรับลง -5.01 จุด หรือคิดเป็น -0.32% มีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 37,638 ล้านบาท โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,579.90-1,587.85 ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมา สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. BAM มูลค่าซื้อขาย 4,352.99 ล้านบาท ราคาหุ้น -0.75 (-2.83%) 2. AOT มูลค่าซื้อขาย 2,415.33 ล้านบาท ราคาหุ้น -2.50 (-3.37%) 3. GPSC มูลค่าซื้อขาย 2,103.24 ล้านบาท ราคาหุ้น +1.00 (+1.06%) 4. SCB มูลค่าซื้อขาย 1,934.17 ล้านบาท ราคาหุ้น +1.00 (+0.98%) 5. BBL มูลค่าซื้อขาย 1,887.41 ล้านบาท ราคาหุ้น -2.00 (-1.33%) 6. GULF มูลค่าซื้อขาย 1,811.42 ล้านบาท ราคาหุ้น +1.50 (+0.76%) 7. KBANK มูลค่าซื้อขาย 1,621.10 ล้านบาท ราคาหุ้น +4.00 (+2.96%) 8. BGRIM มูลค่าซื้อขาย 1,484.64 ล้านบาท ราคาหุ้น +4.00 (+6.23%) 9. PTTGC มูลค่าซื้อขาย 1,181.67 ล้านบาท ราคาหุ้น -3.75 (-6.76%) 10. BDMS มูลค่าซื้อขาย 1,014.41 ล้านบาท ราคาหุ้น -0.60 (-2.35%) ขณะที่ดัชนี SET50 ปรับลง -4.07 จุด หรือ -0.38% อยู่ที่ 1,067.73 จุด ส่วนตลาด mai ปรับลง -0.37 จุด หรือ -0.12% อยู่ที่ระดับ 308.45 จุด นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันที่ 21 ม.ค.63 ว่า วันนี้ตลาดจะแกว่งไซด์เวย์แบบซึมลง เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นโลกเมื่อคืนนี้ ที่ซื้อขายเงียบเหงา เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐปิดทำการ เนื่องในวัน “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง” และนักลงทุนรอการประชุม World Economic forum โดย IMF จะมีการเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกใหม่ในปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันนี้และอีก 2 วันข้างหน้า ส่วนปัจจัยในประเทศต้องรอการประกาศงบแบงก์ที่เหลือ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ออกมาไม่ค่อยดีคือ SCB-TMB ที่กำไรออกมาต่ำกว่าคาด และมีแนวโน้มหนี้เสีย(NPL)ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้ตลาดมีการปรับประมาณการกำไร และเป้าราคาพื้นฐานลง จึงทำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังมากขึ้น เกี่ยวกับการประกาศงบในหุ้นแบงก์ใหญ่ที่เหลืออีก 3 แบงก์วันนี้คือ BBL-KBANK-KTB ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-412819

จำนวนผู้อ่าน: 2080

21 มกราคม 2020

ไม่ยุบอนาคตใหม่! ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้อง คดีล้มล้างการปกครอง

วันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัย กรณีนายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำ ของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3 และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ หรือที่พรรคอนาคตใหม่เรียกว่า คดีอิลลูมินาติ ในเวลา 12.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัย มีใจความสำคัญ บางตอนดังนี้ ศาลได้วินิจฉัยประเด็นเดียวคือ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ประกอบด้วย อนค., นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค เข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ เมื่อพิจารณาตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบที่ผู้ร้องอ้างถึงการออกข้อบังคับพรรค การจัดทำนโยบายพรรค และสัญลักลักษณ์ของพรรคว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลเห็นว่าข้อบังคับพรรคเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งต่อมานายทะเบียนพรรคการเมืองก็รับจดทะเบียนจดตั้งพรรค และได้รับการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว “ข้อบังคับพรรค ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”  อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าข้อบังคับไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะรายงาน กกต. ให้เพิกถอนข้อบังคับได้…จึงไม่ปรากฏข้อมูลหลักฐานเพียงพอว่าผู้ถูกร้องทั้ง 4 ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 ที่ระบุว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง” ทั้งนี้ การยื่นคำร้องเป็นเพียงข้อห่วงในฐานะพลเมืองต่อสถาบันกษัตริย์และประเทศชาติเท่านั้น ส่วนข้อบังคับของพรรคอนาคตใหม่ ที่ใช้คำว่า “หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การใช้ถ้อยคำในข้อบังคับของพรรคควรให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ หรือแตกต่างจากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกของชนในชาติได้ พร้อมระบุว่า กกต. มีหน้าที่และอำนาจจะให้พิจารณาเพิกถอนข้อบังคับพรรคได้ตามกฎหมาย และสมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้แก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-412828

จำนวนผู้อ่าน: 2096

21 มกราคม 2020

พระราชกฤษฎีกาประกาศ “ลดภาษีที่ดิน” 50%-90% ให้กับ”ที่ดิน-บ้านคอนโด”มรดก รวมถึงโรงไฟฟ้า

BANGKOK, THAILAND - 2007/05/08: The Chao Praya River, with the State Tower (Royal Charoen Krung Tower) at left.. (Photo by Thierry Falise/LightRocket via Getty Images) พระราชกฤษฎีกาประกาศ “ลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง” 50% สำหรับ”ที่ดิน-บ้านคอนโด”มรดกตกทอด รวมทั้งโรงผลิตไฟฟ้าต่างๆและที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า พร้อมลด 90% สำหรับที่ดินของโครงการจัดสรรบ้าน-คอนโด ที่ได้รับอนุญาตไม่เกิน 3ปี และทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน เป็นเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่อสังหาฯตกเป็นของหน่วยงาน รวมถึงที่ดินของสถาบันอุดมศึกษาและโรงเรียนเอกชน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่20 มกราคม2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศพระบรมราชโองการ ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลปัจจุบัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรลดภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังกล่าว ทั้งนี้ได้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้   อ่านฉบับเต็มคลิกที่นี่ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-412696

จำนวนผู้อ่าน: 2072

21 มกราคม 2020

“ลดใช้ถุงพลาสติก” ทุบ 500 ผู้ผลิตอ่วมดัน “หนี้เสีย” พุ่ง

เอฟเฟ็กต์มาตรการ “ลดใช้ถุง” กระทบหนี้เสียกลุ่มผู้ผลิต “พลาสติก-หลอด” พุ่ง ชี้อุตสาหกรรม “ซันเซต” แบงก์ขึ้นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ ยอมรับโอกาสปล่อยกู้ใหม่ยาก “กสิกรไทย” ยันกระทบทั้งอุตสาหกรรมหนุนผู้ประกอบการปรับตัวหนีตาย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินถึงปีนี้ เอ็นพีแอลมีโอกาสแตะ 10% นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2563 นี้ กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกชนิดอ่อน (ถุงพลาสติก, หลอด) ถือเป็น กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ทำให้แบงก์จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กลุ่มนี้ยากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)เพิ่มขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยที่จดทะเบียนนิติบุคคล มีจำนวน 1,373 ราย คิดเป็น 77% และไม่ใช่นิติบุคคลอีก 401 ราย คิดเป็น 23% โดยมีปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกลดลงต่อเนื่อง และปี 2562 ปริมาณจำหน่ายอยู่ที่ราว 1 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น รายได้จากถุงพลาสติก-หลอด 6.45 หมื่นล้านบาท และพลาสติกประเภทอื่น ๆ 1.2 แสนล้านบาท หนี้เสียพุ่ง-สินเชื่อติดลบ นายนริศกล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ผลิตถุงพลาสติก-หลอด มีอยู่ประมาณ 500 รายแบ่งเป็นรายใหญ่ 14 ราย มีส่วนแบ่งตลาดในแง่ยอดขายประมาณ 51% รายกลาง 86 ราย ส่วนแบ่งตลาด 36% และรายเล็ก 393 ราย ส่วนแบ่งตลาด 12% ซึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวนผู้ประกอบการ 387 ราย ยอดสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้ ณ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 5.06 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น รายใหญ่ 1.76 หมื่นล้านบาท รายกลาง 1.99 หมื่นล้านบาท และรายเล็ก 1.29 หมื่นล้านบาท โดยจากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 กลุ่มผู้ผลิตถุงพลาสติก-หลอด มีเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 6.9% ซึ่งพบว่าทุกกลุ่มได้รับผลกระทบหมด แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีโอกาสปรับตัวง่ายกว่า ตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ 3.5% ขณะที่รายกลางหนี้เสียอยู่ที่ระดับ 6.3% และรายเล็กอยู่ที่ 8.8% และคาดว่าในปีนี้น่าจะเห็นเอ็นพีแอลขึ้นไปแตะระดับ 10% ขณะที่สินเชื่อก็มีโอกาสติดลบ” นายนริศกล่าว อุตสาหกรรม “ซันเซต” กู่ไม่กลับ นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกสิกรไทยมีทีมที่ดูทิศทางของอุตสาหกรรม ก็เห็นสัญญาณผลกระทบกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกและที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกมีความเสี่ยงสูงขึ้นในทุกขนาดธุรกิจ โดยเฉพาะผลกระทบจากเลิกซื้อถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งของกลุ่มห้างสรรพสินค้า และแนวโน้มอุตสาหกรรมไม่น่าจะฟื้นกลับมาได้ ดังนั้นหากแบงก์จะปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องคัดเลือกลูกค้าที่มีความแข็งแรงและมั่นคงระดับหนึ่ง สำหรับกสิกรไทย ปัจจุบันมีพอร์ตลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องกับพลาสติกอยู่ประมาณ 100 ราย ซึ่งยังไม่พบสัญญาณผลกระทบรุนแรง แต่ยอมรับว่ายอดขายของลูกค้าหายไปบ้าง จากการรณรงค์การใช้ถุงพลาสติก “ในมุมธนาคารมองว่าอุตสาหกรรมนี้เทรนด์ไม่น่าจะกลับมา เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่โดนดิสรัปชั่น ลูกค้ารายใหญ่ก็น่าจะกระทบเยอะ เพราะห้างสรรพสินค้าลดหรือหยุดซื้อ ส่วนรายเล็กรายกลางก็ยอดขายลดลง แต่ข้อดีของรายใหญ่ คือ ทุนหนา และปรับตัวได้เร็วกว่ารายเล็ก อย่างไรก็ดี ธนาคารก็หาทางช่วยเหลือลูกค้าในเบื้องต้น ตามเครื่องมือที่มี ทั้งยืดหนี้ ลดต้น ลดดอกเบี้ย ปรับการชำระให้สอดคล้องกับยอดขาย และดูวิธีการปรับตัวของลูกค้าไปก่อน หากปรับตัวได้ ผันตัวไปส่งออกแทน หรือผลิตอย่างอื่นแทน ธนาคารก็สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้” นายสุรัตน์กล่าว BBL หันปล่อยกู้ผลิตแพ็กเกจจิ้ง นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ กล่าวยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการถุงพลาสติกมีผลประกอบการไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากภาพรวมยอดขายทั้งตลาดลดลง 30-40% ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี ธนาคารกรุงเทพมีฐานลูกค้าที่ผลิตถุงพลาสติกจำนวนน้อย เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดมีการแข่งขันด้วยราคาที่สูง และให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารไปเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มผู้ผลิตแพ็กเกจกิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธุรกิจมีมูลค่าสูง เช่น ซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และพลาสติกลามิเนต เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ยังไปได้ดี “กลุ่มผลิตถุงพลาสติกไม่ดีแน่นอน เป็นไปตามภาวะตลาดที่ยอดขายตกลง แต่ธนาคารกรุงเทพโชคดีที่เราไม่ได้เน้นกลุ่มนี้อยู่แล้วตั้งแต่แรก ทำให้เรามีพอร์ตกลุ่มนี้น้อยมาก แต่เราก็ไม่ละเลยให้ความช่วยเหลือตามปกติ หากลูกค้ามีปัญหา” นายศิริเดชกล่าว ผู้ประกอบการหมดหวัง ขณะที่นายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย กล่าวว่า จากที่สมาคมได้เข้าหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2562 เพื่อขอให้เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลที่เร่งโรดแมปเลิกใช้ถุงพลาสติกเร็วขึ้น แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องมาตรการเยียวยาใด ๆ ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมและปลัด ทส.ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก และนายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ซึ่งทำหนังสือถึงกระทรวงกรณีอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกบางกว่า 36 ไมครอน (ถุงก๊อบแก๊บ) ทางผู้ประกอบการ มีความเข้าใจอันดี เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และแนวทางก็คือให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนการผลิตถุงแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นถุงที่มีความหนามากกว่า 36 ไมครอน อาจจะเป็น 40, 50 หรือ 70 ไมครอน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ซ้ำได้ รวมถึงให้มุ่งพัฒนาการผลิตสู่พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 16-17% เพราะหากนำพลาสติกดังกล่าวบรรจุอาหารจะสามารถย่อยสลายไปพร้อมกับเศษขยะอาหารได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาไปได้ “เอกชนยินดีที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตมาผลิตถุงที่หนากว่า 36 ไมครอน ในรูปแบบถุงซอฟต์ลูฟ และไซต์กราสเซต แทนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเท่าที่หารือการผลิตถุงรูปแบบนี้ ผู้ผลิตไม่ต้องลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ สามารถใช้ตัวเป่าเดิมและปรับโมเดลเพียงเล็กน้อย ส่วนต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นมั่นใจว่าผู้บริโภคไม่ต้องรับภาระมาก เช่น ค่าถุงปกติอาจจะต้นทุนใบละ 20 สตางค์ อาจจะเพิ่มเป็น 50 สตางค์ เชื่อว่าคนไทยรับได้ แต่หากเทียบกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ค่าถุงใบละเท่านี้ถือว่าไม่มาก ทุกประเทศทั่วโลกก็มุ่งสู่การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน” ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-412314

จำนวนผู้อ่าน: 2067

21 มกราคม 2020

“สายสีส้ม” ดันที่พุ่งวาละ 6 แสน “พระราม 9-รามคำแหง-ลำสาลี” คอนโดฯล้น จับตา “สถานีมีนบุรี” ทำเลบลูโอเชี่ยน

คอลัมน์ เล็งทำเลทอง รถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 23 กม. ที่จะเชื่อมการเดินทางใจกลางเมืองไปยังโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเร่งงานก่อสร้างให้เสร็จตามแผน ปัจจุบันแม้ว่ารถไฟฟ้าสายนี้จะสร้างเสร็จเปิดให้บริการในปี 2567 แต่ก็เป็นรถไฟฟ้าอีกหนึ่งสายที่ภาคเอกชนทั้งค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์รอคอยและถมการลงทุนไปรอล่วงหน้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่คึกคักมากสุด คือ สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อ ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรม จะเชื่อมสายสีน้ำเงิน สถานีลำสาลีเชื่อมกับสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสถานีมีนบุรีเชื่อมกับสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ขณะที่ในเส้นทางมีทั้งโครงการเก่าและการลงทุนใหม่กระจายไปตามศักยภาพของทำเล แห่ยึดศูนย์วัฒนธรรมฯ-พระราม 9 “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจเส้นทาง เริ่มจากทำเล “สถานีศูนย์วัฒนธรรม” จะเป็นสถานีใต้ดินเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน สถานีศูนย์วัฒนธรรมและสถานีพระราม 9 และต่อเนื่องไปถึงสถานี รฟม. บริเวณแยกผังเมือง พบว่าจะมีโครงการคอนโดมิเนียมของบิ๊กแบรนด์ทั้งโครงการเก่าและโครงการใหม่เปิดขายไปแล้ว และยังมีแลนด์แบงก์ยังไม่ได้พัฒนาก็มี รอบสถานีศูนย์วัฒนธรรม ยังมีที่ดินแปลงใหญ่อีกหลายแปลงรอพัฒนา เช่น ที่ดินของ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค 2 แปลง ฝั่งห้างบิ๊กซีและติดกับปั๊มน้ำมัน, ที่ดิน นพ.พงษ์ศักดิ์ และที่ดินของกลุ่มแหลมทองค้าสัตว์ อยู่เยื้องกับศูนย์การค้าเอสพลานาด ส่วนทางด้านถนนเทียมร่วมมิตร เยื้องกับศูนย์วัฒนธรรม จะมีที่ดินของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และที่ดินของ อสมท ตรงข้ามกับศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สำหรับคอนโดมิเนียม ก่อนถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 9 และฟอร์จูน มีคอนโดมิเนียมแต่งครบพร้อมอยู่ “โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา” ของ บมจ.โนเบิลดีเวลลอปเมนต์ ห่างจากสถานี 80 เมตร สูง 42 ชั้น 755 ยูนิต จัดโปรโมชั่นขายราคาเดียว 20 ยูนิต แบบ 1 ห้องนอน 3.49 ล้านบาท แบบ 2 ห้องนอน 6.59 ล้านบาท โครงการ “ไอวี่ แอมพิโอ” ห่างจากสถานีพระราม 9 ประมาณ 800 เมตร และสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ 500 เมตร ตรงข้ามกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สร้างเสร็จเมื่อต้นปี 2558 สูง 29 ชั้น 289 ยูนิต ด้านหลังศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา มีเมกะโปรเจ็กต์ “เดอะ แกรนด์ พระราม 9” ของค่ายแกรนด์คาแนล มูลค่าร่วม 1 แสนล้านบาท ผุด “ซูเปอร์ ทาวเวอร์” สูง 125 ชั้น 615 เมตร ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลเทกโอเวอร์ พร้อมปรับรูปแบบการพัฒนาใหม่ เลยแยกตรงไป ฝั่งขวามือตรงหัวมุมถนนเป็นโครงการ “แอชตัน อโศก-พระราม 9” ของค่ายอนันดาฯ คอนโดฯตึกคู่ super luxury สูง 50 และ 46 ชั้น รวม 600 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 6.49 ล้านบาท สร้างเสร็จในปีนี้ ถัดไปฝั่งถนนมุ่งหน้าดินแดง เป็น “เดอะไลน์ อโศก-รัชดา” คอนโดฯร่วมทุนของแสนสิริ-บีทีเอส สูง 38 ชั้น 1 อาคาร 473 ยูนิต และ “ศุภาลัย อโศก-รัชดาฯ” จากศุภาลัย สูง 29 ชั้น 500 ยูนิต ขณะที่ฝั่งมุ่งหน้าไปเพชรบุรี มีค่ายเอพี (ไทยแลนด์) ลงทุน 2 โครงการ มี “ริทึ่ม อโศก 1” สูง 37 ชั้น 385 ยูนิต และ “ริทึ่ม อโศก 2” อาคารสูง 30 ชั้น 346 ยูนิต ตรงข้ามเป็น “ชีวาทัย เรสซิเดนซ์ อโศก” เป็นโครงการเก่าซื้อมาจาก “เอคิว เอสเตท” ชื่อ “เอคิว อาเรีย อโศก” มูลค่า 586 ล้านบาท เป็นอาคารสูง 29 ชั้น 315 ยูนิต แสนสิริ-บีทีเอสตุนที่รอ เมื่อเลาะจากแยกพระราม 9 ไปยังรามคำแหง ส่วนใหญ่เป็นโครงการสร้างเสร็จมาหลายปีแล้ว เยื้อง “เดอะแกรนด์ พระราม 9” มี “ไอดีโอ โมบิ พระราม 9” ของค่ายอนันดาฯ ห่างจากสถานีพระราม 9 ประมาณ 100 เมตร สร้างเสร็จพร้อมอยู่ สูง 28 ชั้น 705 ยูนิต ติดกันเป็นคอนโดฯจากพฤกษา “คอนโดเลต มิสท์ พระราม 9” สูง 30 ชั้น 433 ยูนิต และของเอพี (ไทยแลนด์) “แอสปาย พระราม 9” และค่ายปรีชา กรุ๊ป โครงการ “พีจี พระราม 9” มี 3 อาคาร สูง 15 ชั้น 1 อาคาร 8 ชั้น 2 อาคาร รวม 900 ยูนิต ทางฝั่งยูนิลีเวอร์ก็คึกคักมีที่ดินเปล่าล้อมรั้วโดย “แสนสิริ” ที่รอขึ้นโครงการแบรนด์ใหม่ ใกล้ ๆ กันเป็นคอนโดฯสูง 61ชั้น 2,234 ยูนิต มูลค่าโครงการ 13,000 ล้านบาท ของทุนจีน “บจ.ทีซี ดีเวลอปเมนท์” ที่รีแบรนด์ใหม่จาก “ทีซีกรีน” เป็น “One9Five อโศก-พระราม 9” เข้ากับชื่อทำเลทองฝังเพชร ใกล้ถึงแยกผังเมืองห่างจากสถานี รฟม.ของสายสีส้ม ประมาณ 200 เมตร มีคอนโดฯลุมพินีของ LPN ถัดไปเป็นที่ดินเปล่าซึ่งไม่รู้ว่าเป็นของใคร และที่ดินเปล่าของแสนสิริ-บีทีเอส เตรียมขึ้นโครงการใหม่อยู่บริเวณทางแยกพอดี เลยแยกผังเมืองตรงข้ามกับ รฟม. ใกล้กับโรงพยาบาลปิยะเวท เป็น “ทีซี กรีน พระราม 9” คอนโดฯสร้างเสร็จพร้อมอยู่ สูง 32 ชั้น 4 อาคาร 1,600 ยูนิต ติดกันมีตึกเก่าประกาศขาย ตรงไปก่อนถึงแยกทางด่วนมีที่ดินเปล่า 43 ไร่ ประกาศขาย ซึ่งเจ้าของตั้งราคาขาย 6 แสนบาทต่อตารางวา รวม 43 ไร่เท่ากับเป็นวงเงิน 10,500 ล้านบาท ยังมีโครงการ “ศุภาลัย ไพร์ม พระราม 9” สูง 8 ชั้น 2 อาคาร 217 ยูนิต เริ่มต้น 2.53 ล้านบาท สร้างเสร็จปลายปีนี้ อยู่ตรงข้ามกับโครงการ “ไอ-เฮ้าส์ พระราม 9” ของ บจ.ริเวอร์ไซด์ การ์เด้นส์ มารีน่า เป็นคอนโดฯโลว์ไรส์ 2 อาคารพร้อมอยู่ ราคาเริ่มต้น 3.39 ล้านบาท และเมื่อผ่านวัดพระราม 9 ด้านซ้ายมือจะมีคอนโดฯโลว์ไรส์ 1 โครงการ ทำเลรามคำแหงต้น ๆ คึก จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนรามคำแหง ซ้ายมือเป็นคอนโดฯ “ไอดีโอ นิว พระราม 9” ของอนันดาฯ สูง 24 ชั้น 994 ยูนิต เริ่มต้น 2.39 ล้านบาท ใกล้กันเป็น “เดอะเบส การ์เด้น พระราม 9” 1 อาคาร 36 ชั้น เริ่มต้น 2.7 ล้านบาท ฝั่งตรงข้ามค่ายเมเจอร์ฯส่งคอนโดฯ “แมทริส พระราม 9-รามคำแหง” สูง 33 ชั้น 1 อาคาร 570 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 3.2 ล้านบาท จะเสร็จปีนี้ ถัดไปเป็น “ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง” ที่กำลังปรับโฉมครั้งใหญ่ ยึดหัวหาด 2 ฝั่งถนน รับสถานีรามคำแหง 12 เยื้อง ๆ กันอยู่ฝั่งเดียวกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคอนโดฯเก่า “ศุภาลัย ซิตี้ รีสอร์ท” ของศุภาลัย และได้ลงทุนโครงการ “ศุภาลัย วอเรนดา รามคำแหง” ติดสถานีราชมังคลา จำนวน 1 อาคาร 3 ทาวเวอร์ มี A สูง 33 ชั้น B สูง 35 ชั้น และ C สูง 27 ชั้น รวม 2,073 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 1.89 ล้านบาท สร้างเสร็จกลางปี 2565 หัวหมากแข่งเดือด ใกล้ “สถานีหัวหมาก” มีคอนโดฯ “ชีวาทัย รามคำแหง” ของชีวาทัย สูง 33 ชั้น 1 อาคาร 535 ยูนิต เริ่มต้น 1.89 ล้านบาท โครงการเดอะทรี หัวหมาก ของพฤกษาฯ เป็นคอนโดฯสูง 31 ชั้น 3 อาคาร และสูง 4 ชั้น ห้องชุดเพื่อการพาณิชย์ อาคารจอดรถ 10 ชั้น รวม 5 อาคาร 590 ยูนิต เริ่มต้น 1.99 ล้านบาท จะเสร็จปลายปีนี้ และมี “เดอะพาร์คแลนด์ หัวหมาก” จากนารายณ์พร็อพเพอตี้ คอนโดฯสูง 33 ชั้น 1 อาคาร 598 ยูนิต จากนั้นเป็นคอนโดฯ “นิช โมโน” จากเสนา ดีเวลลอปเมนต์ 2 อาคาร สูง 37 และ 33 ชั้น สูง 7 ชั้น 3 อาคาร รวม 1,698 ยูนิต เริ่มต้น 1.99 ล้านบาท สร้างเสร็จปลายปี 2564 โครงการ “ไนท์บริดจ์ คอลลาจ รามคำแหง” ของค่ายออริจิ้น เป็นคอนโดฯสูง 25 ชั้น 1 อาคาร 682 ยูนิต ราคาเริ่มต้น 2.59 ล้านบาท เสร็จในเดือน ก.ย.นี้ มี “ลุมพินี วิลล์ รามคำแหง 44” ของ LPN คอนโดฯ อนันดาฯ-LPN-พฤกษาฯรุมลำสาลี มุ่งหน้าแยก “ลำสาลี” จุดตัดสถานีรถไฟฟ้า 2 สาย ก่อนถึงแยกตรงซอยรามคำแหง 89/1 ห่างจากสถานี 50 เมตร มี “ไอดีโอ รามคำแหง-ลำสาลี อินเตอร์เชนจ์” จากอนันดาฯ ราคาเริ่มต้น 2.19 ล้านบาท จัดโปรฯลงทะเบียนรับไอโฟน 11 จะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ เลยแยกซอยรามคำแหง 60 มีโครงการ “แบงค็อก ฮอไรซอน รามคำแหง” ติดกันเป็นคอนโดฯ “ลุมพินีรามคำแหง” ของ LPN ตรงรามคำแหง ซอย 60/2 มี 3 อาคาร ได้แก่ A 25 ชั้น B 15 ชั้น C 15 ชั้น รวม 1,212 ยูนิต เริ่มต้น 1.13 ล้านบาท เข้าในซอยจะมี “พลัม คอนโด ราม 60 อินเตอร์เชนจ์” จากค่ายพฤกษาฯ อยู่ในซอยรามคำแหง 60 เป็นคอนโดฯ 8 ชั้น 8 อาคาร 960 ยูนิต เริ่มต้น 1.35 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งตรงข้ามมีล้อมรั้วกำลังก่อสร้างอีก 1 โครงการ เลยไปถึงรามคำแหง 64 มี “ดี คอนโด” โครงการเก่าของแสนสิริ เป็นคอนโดฯ 8 ชั้น 5 อาคาร 1,114 ยูนิต เริ่มต้น 1.5 ล้านบาท เลยแยกมุ่งหน้ามีนบุรี ตลอดเส้นทางยังไม่มีตึกสูง มีโรงพยาบาลนวมินทร์ และเกษมราษฎร์ คอมมิวนิตี้มอลล์ “พาซิโอ” มาร์เก็ตเพลซ เพียวเพลส หน้าหมู่บ้านสัมมากร โกลเด้นเพลส โฮมโปร บิ๊กซี โลตัส และโครงการหมู่บ้านเก่า เช่น นันทวัน กรีนเนอรี่วิลล์ โฮมเพลส สัมมากร โชคชัยปัญจทรัพย์ รื่นฤดี ปรีชา ส่วนโครงการใหม่กำลังเปิดขาย เช่น เพอร์เฟคเพลส เดอะริค พาร์คเวย์ และยังมีที่ดินเปล่ารอพัฒนาอยู่บ้าง ออริจิ้นยืนหนึ่งสถานีมีนบุรี โดยการพัฒนาคอนโดฯจะไปเห็นที่ “สถานีมีนบุรี” เป็นสถานีปลายทางของสายสีส้ม และเป็นจุดเชื่อมกับสายสีชมพู ซึ่งสถานีอยู่บริเวณแยกร่มเกล้า มีจุดจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่ในบริเวณนี้ และมีไทวัสดุ บิ๊กซี SCG ปัจจุบันมี “ดิ ออริจิ้น ราม 209 อินเตอร์เชนจ์” จากค่ายออริจิ้น เข้าไปปักธงอยู่หนึ่งเดียวย่านนี้ เยื้องกับไทวัสดุ บนพื้นที่ 4 ไร่ สูง 31 ชั้น รวม 1,007 ยูนิต เริ่มต้น 1.29 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท กำลังเปิดขายและก่อสร้าง เสร็จในปี 2564 ชี้เป็นทำเลบลูโอเชี่ยน “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่เข้าไปพัฒนาคอนโดฯที่มีนบุรี เพราะมองว่าต่อไปจะเป็นทำเลบลูโอเชี่ยน เป็นจุดตัดของสายสีชมพูกับสีส้มและยังไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากย่านนี้ไม่มีคอนโดฯเลย ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการแนวราบ แต่เราเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหาคอนโดฯอยู่อาศัยเอง “กลยุทธ์เราเหมือนกับที่ไปบุกเบิกที่สะพานใหม่และแบริ่ง จะไปก่อนคนอื่น ซึ่งก็ถือว่าดีเพราะโครงการขายดีมาก จริง ๆ ปิดการขายไปแล้ว แต่ยังมีห้องหลุดดาวน์ 10% ที่นำมารีเซลใหม่ ปรับราคาเพิ่ม 3%” นายพีระพงศ์กล่าวอีกว่า หากวิเคราะห์ทำเลรามคำแหง ซึ่งเป็นถนนที่ยาวมาก ค่อนข้างจะมีการแข่งขันดุเดือด ตลอดเส้นทางจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ย่านพระราม 9-ลำสาลี 2.ลำสาลี-วงแหวน และ 3.วงแหวน-มีนบุรี “ซัพพลายในตลาดค่อนข้างล้นช่วงพระราม 9 ม.รามคำแหง มาถึงลำสาลี เราเข้าไปลงทุนมีรามคำแหง 42 กำลังส่งมอบโครงการ จากนั้นเข้าไปปักหมุดวงแหวน-มีนบุรี และปลายปีนี้จะพัฒนาช่วงลำสาลี-วงแหวน จะเปิดขายโครงการใหม่ 1 โครงการ เป็นอาคารสูง มูลค่าประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ซื้อที่ดินไว้แล้ว” แลนด์ลอร์ดจ่อปัดฝุ่นแลนด์แบงก์ ด้าน นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวเพิ่มเติมว่า ทำเลสายสีส้มถือว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพในอนาคต เพราะจะเป็นรถไฟฟ้าสายหลักที่วิ่งจากโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ ยิงตรงเข้าสู่ใจกลางเมืองที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม โดยต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปยังในเมืองได้ และในอนาคตจะมีการสร้างต่อไปยังฝั่งธนบุรีถึงบางขุนนนท์ “แม็กเนตทำเลย่านนี้มีโรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนร่วมฤดี ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ มีคอมมิวนิตี้มอลล์ และมีหมู่บ้านจัดสรรเก่าอีกจำนวนมากที่อยู่อาศัยกันมานานแล้ว แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง” นายชายนิดกล่าวว่า สำหรับเพอร์เฟคมีเปิดขายโครงการเพอร์เฟคเพลส ยังมีที่ดินพัฒนาอีก 40 ไร่ เป็นแนวราบ ซึ่งคอนโดฯในทำเลนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังไม่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ถ้ารถไฟฟ้าเปิดบริการเชื่อว่าน่าจะเห็นการพัฒนาตึกสูงมากขึ้น ปัจจุบันยังมีที่ดินแปลงใหญ่ที่ยังเหลือพัฒนาในโซนนี้ ส่วนใหญ่เป็นแลนด์ลอร์ดเก่า เช่น ที่ดินของโชคชัยปัญจทรัพย์ ประมาณ 300 ไร่ ติดกับโรงเรียนร่วมฤดี และธารารมณ์ ประมาณ 100 ไร่ ที่เหลือเป็นแปลงเล็ก ๆ ส่วนรายใหม่ยังไม่มี ขณะที่การซื้อขายที่ดินยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คอนโดฯผุด 1.2 หมื่นยูนิต นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บจ.ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ กล่าวว่า หลังสายสีส้มมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้าง ทำให้พื้นที่ตามแนวเส้นทางเปลี่ยนแปลงพอสมควรในแง่การเปิดขายคอนโดฯใหม่ในรัศมีรอบสถานีตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมฯ-ลำสาลี และมีนบุรีสถานีปลายทางจะคึกคักบางพื้นที่ เมื่อ 3-4 ปีก่อนมีเปิดขายช่วงต้น ถนนรามคำแหง ก็ได้รับการตอบรับระดับหนึ่ง และในปี 2560 มีผู้ประกอบการเข้าไปซื้อที่ดินขึ้นโครงการกันมากขึ้น เพราะมีความมั่นใจหลังรถไฟฟ้าเริ่มสร้าง ในปี 2561 มีคอนโดฯเปิดขายมากกว่า 5,225 ยูนิต มากที่สุดในช่วง 20 ปี โดยอยู่บนถนนรามคำแหงและเสรีไทย โดยเฉพาะรอบสถานีหัวหมากที่มีเปิดขายมากถึง 4,791 ยูนิต หรือกว่า 92% “อัตราการขายคอนโดฯถนนรามคำแหงค่อนข้างสูงเพราะมีอัตราการขายมากกว่า 85% ถ้าพิจารณาเฉพาะโครงการที่เปิดขายในปี 2560 เป็นต้นมา จะมีอัตราการขายที่ 77% ของจำนวน 12,131 ยูนิต ที่เปิดขายมาตั้งแต่ปี 2560 อาจจะเพราะว่าหลายโครงการมีราคาขายไม่สูง บางโครงการเริ่มต้นที่ 60,000 บาทต่อตารางเมตร แต่มีบางโครงการที่มีราคาขายมากกว่า 145,000 บาทต่อตารางเมตร” ส่วนที่ดินมีหลายแปลงเปลี่ยนมือทำให้ราคาขายสูงขึ้น ซึ่งราคาที่ดินแนวสายสีส้ม มีตั้งแต่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อตารางวาขึ้นไปถึง 1 ล้านบาทต่อตารางวาในพื้นที่รอบสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แต่ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา อาจจะปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเดิม เช่น ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือรอบสนามราชมงคลากีฬาสถาน แยกลำสาลีที่เป็นสถานีร่วมกับสายเหลือง สถานีมีนบุรีที่เป็นสถานีร่วมกับสายชมพู มีการซื้อขายและพัฒนาเป็นคอนโดฯต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-407867

จำนวนผู้อ่าน: 2900

06 มกราคม 2020

3 เจ้าสัวฝ่าด่าน กม.ผูกขาด ชิงปิดดีล “เทสโก้ โลตัส”

เพียงแค่ 2 สัปดาห์เศษ ๆ กระแสข่าวการขายกิจการของ “เทสโก้ โลตัส” กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2562 “เทสโก้” ค้าปลีกรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ ออกแถลงการณ์ระบุว่ากำลังพิจารณาขายธุรกิจในไทยและมาเลเซีย หลังมีผู้สนใจและเสนอซื้อกิจการในไทยและมาเลเซีย ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ย้ำว่าแผนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นไม่สามารถให้รายละเอียดที่มากกว่านี้ได้ และไม่ยืนยันว่าสุดท้ายแล้วดีลนี้จะจบลงหรือไม่ โดยสื่อต่างประเทศหลายสำนักระบุว่า ดีลนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 273,000 ล้านบาท ความน่าสนใจที่บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินหลายแห่งต่างเห็นพ้องกันว่า ธุรกิจเทสโก้ในอาเซียน โดยเฉพาะไทยมีศักยภาพสูง ด้วยอัตรากำไรถึง 6% มากเป็น 2 เท่าของธุรกิจในอังกฤษ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงมีทรัพย์สินเป็นสาขาจำนวนมาก หรือประมาณ 1,980 สาขา มีรายได้ 194,000 ล้านบาท (ณ สิ้น 28 กุมภาพันธ์ 2561) ถัดมา 28 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศพร้อมใจขยายผลข่าวนี้ต่อว่า มี 3 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยแสดงความสนใจดีลนี้ ซึ่งล้วนเป็นชื่อที่หนังสือพิมพ์ธุรกิจหลาย ๆ ฉบับเคยนำเสนอมาแล้วว่ามีศักยภาพและมีความเป็นไปได้สูงที่จะซื้อเทสโก้ โลตัส เริ่มจากกลุ่ม ซี.พี. ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่สื่อต่างประเทศอ้างอิง “แหล่งข่าว” ว่า มีการประชุมหารือร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเตรียมจะยื่นประมูลซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ถัดมาเป็นทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ถูกคาดหมายว่าอาจจะนำไปต่อยอดกับธุรกิจค้าปลีกที่มีอยู่เดิม คือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เช่นเดียวกัน กลุ่มเซ็นทรัล โดยทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการกลุ่มเซ็นทรัล ร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” และ “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” แต่ละค่ายล้วนมีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันทั้งเครือข่ายเงินทุน หากพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละค่าย เริ่มจากค่าย ซี.พี. ที่วันนี้มีทั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีสาขาประมาณ 11,700 สาขา และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร ที่มีราว ๆ 135 สาขา ภายใต้การดูแลของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง 2 ธุรกิจนี้มีรายได้รวมเบาะ ๆ 527,860 ล้านบาท แต่ก็ต้องไม่ลืมการชนะการประมูลรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.24 แสนล้านบาท อาจจะเป็นการปิดศึกหลายด้านที่ทำให้เจ้าสัวธนินท์พิจารณาดีลนี้อย่างละเอียด ขณะที่อาณาจักรทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ อยู่ในช่วงของการปลุกปั้นธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” ที่อยู่ใต้ร่มเงาของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) ให้เติบใหญ่ มีสาขามากกว่า 1,379 สาขา มีรายได้ 172,000 ล้านบาท และเป็นที่รับรู้ในแวดวงว่า ที่ผ่านมาเจ้าสัวเจริญใช้บริษัทในเครือข่ายเป็นหัวหอกในการลงทุนและซื้อกิจการมาไว้ในครอบครอง แต่ละดีลใช้เงินตั้งแต่หลักหมื่นล้าน (บาท) ไปจนถึงแสนล้าน (บาท) และนี่ไม่นับรวมการซื้อกิจการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้เงินหลักร้อยล้านไปจนถึงหลักพันล้านอีกนับไม่ถ้วน แม้ค่ายนี้อาจจะมีภาระเรื่องหนี้ที่จะต้องทยอยจ่ายคืนสถาบันการเงิน แต่ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาส่วนเซ็นทรัล โดยพื้นฐานนอกจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 32 สาขา โรบินสัน 49 สาขา ยังมีเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และแฟมิลี่มาร์ท 1,008 สาขา ท็อปส์ 265 สาขา ฯลฯ ซึ่งกลุ่มรีเทล มีรายได้ราว 240,294 ล้านบาท ซึ่งเตรียมนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีแผนเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง แหล่งข่าวระดับสูงวงการค้าปลีก ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “ดีลนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นการแข่งขันของ 3 เจ้าสัวคนไทย” ใครคว้าเทสโก้ โลตัสมาครองได้ ก็จะสามารถต่อยอดธุรกิจได้ทันทีอย่างไรก็ตาม หากรายใดรายหนึ่งที่ตกลงปลงใจที่จะซื้อ “เทสโก้ โลตัส” จริง ก็จะต้องผ่านด่านสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ว่า การได้มาซึ่ง “กิจการค้าปลีก” อย่างเทสโก้ โลตัสนั้นได้ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ออกมาเตือนแล้วว่า ธุรกิจค้าปลีกที่จะมีการควบรวมกิจการต้องแจ้งต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก่อนมีการซื้อขายกิจการจริง โดยต้องแจ้งรายละเอียดของโครงสร้างตลาดของธุรกิจก่อนควบรวมและหลังจากการควบรวมด้วยว่า จะมีผลทำให้ตลาด (ค้าปลีก) เกิดการผู้ขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดหรือมีสภาพการแข่งขันลดลง การควบรวมนั้นจะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน “หากเกิดการซื้อขายเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยขึ้นจริง ผู้ซื้อจะต้องดําเนินการขออนุญาตและต้องได้รับการอนุญาตจาก กขค.หากฝ่าฝืนไม่ดําเนินการตามที่กฎหมายกําหนด ต้องถูกลงโทษทางปกครอง ซึ่งกำหนดปรับสูงสุดในอัตราร้อยละ 0.5 ของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ” นายสันติชัยกล่าว นั่นหมายถึงในแนวปฏิบัติในการควบรวมกิจการได้กำหนดไว้ 2 แนวทางด้วยกันคือ 1) เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด ในประเด็นนี้หมายถึง มีส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินร้อยละ 75 ก็ต้องขออนุญาตจาก กขค.ก่อน และต้องได้รับการอนุญาตจึงจะรวมธุรกิจได้กับแนวทางที่ 2) เมื่อมีการรวมธุรกิจแล้วอาจก่อให้เกิดการแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ต้องแจ้งให้ กขค.ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ โดย กขค.ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า เป็นการรวมธุรกิจที่มียอดเงินขายในตลาดตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาด “เคสนี้จะเป็นเคสแรกในการควบรวมกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาพิจารณาโครงสร้างตลาดที่ผู้ประสงค์จะเข้าประมูลยื่นมาอย่างรอบด้าน เบื้องต้น ตลาดค้าปลีก หมายรวมถึง ธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนี่ยนสโตร์) หรือประเภทอื่น ๆ แม้ว่าผู้ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสครั้งนี้จะส่งบริษัทในเครือที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจค้าปลีกมาประมูลก็ตาม แต่คณะกรรมการก็จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย” หากส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประกอบเข้ากับยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ผู้ซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสก็จะเข้าข่ายผู้มี “อำนาจเหนือตลาด” ขึ้นมาทันที โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การมีอำนาจเหนือตลาด จากการซื้อกิจการและควบรวมเทสโก้ โลตัสเข้าไปในธุรกิจค้าปลีกของตนได้ก่อให้เกิด “การผูกขาด” หรือไม่ และการผูกขาดนั้น “คนไทย” จะได้รับประโยชน์อย่างไร หากผลการพิจารณาออกมาว่า “ไม่” ดีลการเข้าซื้อกิจการของ 3 เจ้าสัวก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ต่อไปในวันข้างหน้า ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-407828

จำนวนผู้อ่าน: 2039

06 มกราคม 2020

“อสังหาภูธร” ทรุดหนักข้ามปี คิวเฮ้าส์-ศุภาลัยหั่นราคาสู้

อสังหาฯภูธรยังทรุดหนัก เจอปัญหาหลายเด้ง ทั้งมาตรการ LTV กู้ไม่ผ่าน 40% ล่าสุดแบงก์ปรับสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ DSR เข้มขึ้นอีก ทำผู้ประกอบการหืดจับ สต๊อกบวม แม้ปรับแผนเร่ขายโครงการแล้ว แต่ยังไม่มีคนซื้อ จำใจตัดขายขาดทุนหนีตาย หั่นราคา 20-30% แก้ขาดสภาพคล่อง เผยตลาดระยองแข่งเดือด 3 แบรนด์ใหญ่ “พฤกษา-คิวเฮ้าส์-ศุภาลัย” ลดราคาสู้ทุนท้องถิ่น ชี้ปี”63 คาดตลาดตะวันออกติดลบ 10% ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดยังคงชะลอตัว ทั้งจำนวนโครงการเปิดใหม่และกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้หลายโครงการของทุนท้องถิ่นต้องประกาศขายยกโครงการ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องตั้งแต่ปี 2562 แต่ปรากฏว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีโครงการใดที่ขายได้ ทำให้ปัญหายิ่งทรุดหนัก อสังหาฯภูธรดิ้นหนีตาย แหล่งข่าวจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัดเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ของตลาดภูธรโดยรวมในขณะนี้ยังไม่ดีขึ้นและดูจะทรุดหนัก เพราะได้รับผลกระทบหลายเด้ง ทั้งมาตรการ LTV ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และล่าสุดสาขาธนาคารพาณิชย์ในต่างจังหวัดหลายแห่งได้ปรับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) แบบเข้มงวดขึ้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่ออกมาตรการมาบังคับใช้ก็ตาม คาดว่าเป็นนโยบายของสำนักงานใหญ่ที่เข้มงวดสินเชื่อ เพื่อลดปัญหาหนี้เสีย ส่งผลให้ลูกค้ากู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ยากขึ้นไปอีก เช่น ธนาคารยูโอบี เดิมกำหนดสัดส่วน DSR 70-80% ของรายได้ ปัจจุบันปรับมาที่ 50% แล้ว ซึ่งเข้มงวดมาก รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ เดิมกำหนด DSR ไว้ 80% ของรายได้ ล่าสุดปรับมาที่ 70% ธนาคารทหารไทย จะพิจารณาตามความสามารถของลูกค้าแต่ละรายเฉลี่ย 80-100% จากผลของมาตรการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการเหลือสต๊อกในมือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบ้านระดับราคา 1- 2.5 ล้านบาท ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยและมีปัญหากู้ไม่ผ่าน บางรายยื่นกู้ ถึง 10 ครั้ง ทำให้โครงการจัดสรรปิดการขายไม่ได้เช่นกัน ส่งผลให้เจ้าของโครงการขาดสภาพคล่องและประกาศขายยกโครงการในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 ที่ผ่านมา ล่าสุดการเร่ขายโครงการเริ่มลดลง เนื่องจากไม่มีคนซื้อ ผู้ประกอบการหลายรายจึงหันมาใช้วิธีตัดขายขาดทุน (cut loss) โดยหั่นราคาขายบ้าน 20-30% เพื่อให้ได้เงินมาหมุน โดยเฉพาะจังหวัดภาคตะวันออกจะดัมพ์ราคาขายชัดเจน จาก 2 ล้านกว่าบาท ลดเหลือ 1 ล้านกว่าบาท “ทุนภูธรตัดราคากันมาก เหมือนเอากำไรมาลด หนีตาย เพื่อให้ขายบ้านออกไปได้เร็วที่สุด บางพื้นที่ทุนใหญ่จากส่วนกลางถึงกับหยุดสร้างโครงการชั่วคราว เพราะสู้ราคาไม่ไหว” รายงานข่าวระบุจัดสรรบิ๊กแบรนด์ที่ลงทุนในจังหวัดระยองก็มีหลายกลุ่ม เช่น บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่มีแผนเปิดโครงการแนวราบ แต่เป็นโครงการไม่รีบเร่ง ทั้งบ้านตัวอย่างและสาธารณูปโภคในโครงการ จากการสำรวจทำเลภาคตะวันออกพบว่า มีโครงการจัดสรรประเภททาวน์โฮมทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ตัดราคาขายกันมากขึ้น เช่น ในจังหวัดระยอง พบว่าเมื่อทุนท้องถิ่นขายโครงการไม่ได้ ทำให้ต้องลดราคาขายลงมา 3-4 แสนบาทต่อยูนิตส่งผลให้ตลาดเกิดการแข่งขันหนักขึ้น เมื่อ 3 จัดสรรรายใหญ่ อาทิ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ และ บมจ.ศุภาลัย ที่กำลังเปิดขายโครงการในจังหวัดเดียวกัน และทำเลใกล้กันก็ต้องลดราคาขายตาม เพื่อจูงใจลูกค้า เช่น บมจ.พฤกษาฯเปิดทาวน์โฮม 2 ชั้น อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ตั้งราคาขาย 1.59 ล้านบาท แต่ทุนท้องถิ่นลดเหลือ 1.1-1.2 ล้านบาท ทำให้ทุนส่วนกลางต้องปรับแผนเช่นเดียวกับโครงการใหม่ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง กลุ่มคิวเฮ้าส์เปิดขายบ้านเดี่ยว 2 ชั้นในเมือง ใกล้โรงพยาบาลกรุงเทพ-ระยอง แรกเริ่มตั้งราคา 3.39 ล้านบาท ได้ปรับลดเหลือ 2.99 ล้านบาท รวมถึงคอนโดมิเนียมของกลุ่มศุภาลัย ใกล้ถนนสุขุมวิท แรก ๆ เปิดขายราคา 1.69 ล้านบาท และปรับขึ้น 2 ครั้ง ไปที่ 1.79 ล้านบาท และ 1.89 ล้านบาท ในที่สุดกลับมายืนขายในราคาแรก 1.69 ล้านบาท ชลบุรีติดลบ 10% นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ของจังหวัดชลบุรีก็ชะลอตัวลงเช่นกัน จากผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะส่งออกติดลบ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทยอยปิดตัวและเลิกจ้างพนักงาน ประกอบกับมาตรการ LTV ทำให้การปล่อยสินเชื่อทั้งระบบถูกปฏิเสธสูงขึ้นถึง 40% รวมถึงกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม 2563 และการปรับตัวสูงขึ้นของราคาที่ดินด้วย คาดว่าภาพรวมปี 2563 ตลาดจะติดลบไม่น้อยกว่า 10% “ปีนี้คงหนักกว่า โดยเฉพาะไตรมาส 1-2 กำลังซื้อจริงยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้ผันผวนและขาดเสถียรภาพจากการจ้างงาน ขณะที่ราคาบ้านและที่ดินแพงเกิน เป็นเหตุให้ลูกค้าชะลอตัดสินใจซื้อ” ในส่วนของผู้ประกอบการเริ่มทิ้งร้างโครงการประมาณ 5-10% ที่เร่ขายกิจการมีให้เห็นบ้าง แต่ยังไม่มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่ถูกสถาบันการเงินยึดกิจการมีไม่เกิน 5% ขอนแก่นยอดวูบ 20% นายชาญณรงค์ บุริสตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสานพิมานกรุ๊ป จำกัด กลุ่มอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น ประเมินสถานการณ์โดยรวมว่า ยอดขายในจังหวัดนี้หายไป 20% เนื่องจากสินค้าเกษตรราคาไม่ดี เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง และมาตรการ LTV ทำให้ลูกค้ากู้ยาก ส่วนโครงการใหม่ก็เปิดน้อยลง ดังนั้นปี 2563 ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังและบริหารสภาพคล่องให้ดี “ตอนนี้ผู้ประกอบการทำไปก็ปรับตัวไป โครงการเหลือก็ขายไปก่อน ขายหมดก็ยังไม่ขึ้นโครงการใหม่ ส่วนคนที่ขึ้นโครงการใหม่ มีบ้างเป็นพวกที่มีที่ดินซื้อไว้นานแล้ว ขณะที่สินเชื่อยังคงเป็นปัญหา เพราะธุรกิจนี้ลงทุนสูง” พิษณุโลกรายเล็กทรุด นายยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ในภาพรวมธุรกิจอสังหาฯในจังหวัดยังไม่ดี ลูกค้าหดหายไป 20% สาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่รู้ ๆ กันตามข่าว โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางจะขาดสภาพคล่อง เนื่องจากขายบ้านได้ แต่โอนไม่ได้เพราะกู้ไม่ผ่าน “ผู้ประกอบการบางรายที่ปรับตัวไม่ไหวก็หาพันธมิตรมาลงทุนร่วม บางรายมีภาระหนี้ท่วม เป็น NPL กับแบงก์ มีการบอกขายโครงการบ้าง อย่างไรก็ตาม ทิศทางตลาดอสังหาฯในพิษณุโลกปี 2563 น่าจะดีขึ้นกว่าปี 2562 เพราะมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐบาล เช่น ลูกค้าที่ซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้าน ลดค่าโอนลงเหลือ 0.01 หรือโครงการบ้านดีมีดาวน์ ให้เงิน 50,000 บาท แต่ปัญหาคือผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีบ้านราคาขายเกิน 3 ล้าน อาจใช้โปรโมชั่นลดค่าโอน 0.01 ไม่ได้ และผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงรายชื่อลูกค้าที่ได้รับโปรโมชั่นจากรัฐบาล” ภูเก็ตอสังหาฯวูบ นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตมีอัตราการเติบโตต่ำ ตั้งแต่ต้นปี 2562 ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แต่ผลจากมาตรการกระตุ้นช่วงปลายปีน่าจะส่งผลในแง่บวก ส่วนความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของตลาดจีนยังมีอยู่ แต่การโอนย้ายเงินออกนอกประเทศมีความเข้มงวด และค่าเงินบาทแข็ง ทำให้จีนมีความระมัดระวังขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงโค้งสุดท้ายปี 2562 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าจีนที่ซื้อคอนโดฯในไทยลดลงเกิน 10% เป็นสาเหตุให้สต๊อกหมุนเวียนเติมเข้ามาในตลาด สมทบกับซัพพลายที่เหลือ ขณะที่การซื้อผ่านเซลส์ออฟฟิศของชาวจีนลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบจากปี 2561 แนวโน้มธุรกิจอสังหาฯภูเก็ตปี 2563 สัมพันธ์กับธุรกิจท่องเที่ยว จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ปี 2563 ภูเก็ตมีอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวลดลง ทิศทางค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้น +9.6% ส่งผลต่อรายได้ต่อหัวของประชากรในจังหวัด ซึ่งทำให้อสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตมีการเติบโตต่ำ รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังไม่ชัดเจน และมาตรการ LTV ส่งผลให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นคงชะลอโครงการต่อไป อสังหาฯเชียงใหม่กำลังซื้อลด นายสรนันท์ เศรษฐี อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวว่า สัญญาณการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่กลางปี 2562 โดยพบว่ากำลังซื้อลดลงมาก หากนำมาตรการ DSR มาใช้ จะทำให้อสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวหนักขึ้น ในปี 2563 คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่จะมีทิศทางดีขึ้น โดยปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐ ทั้งลดค่าโอน ลดค่าจดจำนอง บ้านดีมีดาวน์ และดอกเบี้ยอัตรา 3.0% ช่วง 3 ปีแรก รวมถึงปัจจัยบวกจากโครงการขยายสนามบินแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-407831

จำนวนผู้อ่าน: 2298

06 มกราคม 2020

ค่าเงินบาท​แข็งค่าที่​ 30.15​ บ./ดอลลาร์​ “กรุงไทย” มองแนวรับระยะ​สั้นที่​ 30.10-15 บาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้า​นักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่า​เงินบาทเปิดเช้านี้​ (6​ ม.ค.)​ แข็งค่าที่ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทวันนี้ 30.10-30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ โดยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา​ (3​ ม.ค.)​ ตลาดการเงินตอบรับความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลางอย่างรุนแรง ตลาดทุนเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวลง 9bps มาที่ระดับ 1.77% หรือดัชนี S&P500 ที่ปิดร่วงถึง 0.71% ซึ่ง​ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศยังส่งผลต่อทิศทางการลงทุนอื่นๆ ที่หลากหลาย เช่นดัชนีหุ้นยุโรปอย่าง Euro Stoxx 50 ที่ปรับตัวลง 0.52% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาทองคำปรับตัวขึ้น 1.25% และ 1.12% ตามลำดับ ด​ร.จิติพลกล่าว​ว่า​ วันนี้ อาจเห็นตลาดฝั่งเอเชียที่จะเปิดตัวในด้านลบพร้อมกับปริมาณความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่สูงขึ้น​ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของดอลลาร์ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยบวกกับพื้นฐานของ Emerging Markets เช่นกัน จึงเชื่อว่าตลาดน่าจะอยู่ในภาวะเลือกซื้อ (Selective buy) ในสัปดาห์นี้ จุดที่ต้องจับตาเพิ่มเติมคือตัวเลขเศรษฐกิจ เพราะท้ายสัปดาห์ก่อนมีการรายการตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตในสหรัฐ (ISM Manufacturing PMI) ออกมาแย่กว่าคาดที่ระดับ 47.2 จุด ขณะที่ในสัปดาห์นี้ จะมีการรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิตในคืนวันอังคาร และตัวเลขตลาดแรงงานในคืนวันศุกร์ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวด้วย ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นนักลงทุนทยอยขายเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ฝั่งสหรัฐอีกครั้ง ส่วนของเงินบาท ในระยะสั้นเชื่อว่ามีแนวรับจิตวิทยาที่ 30.10-15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดและเป็นระดับปิดสิ้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี วันนี้ต้องจับตาทิศทางของค่าเงิน Emerging Markets ไปพร้อมกัน เพราะส่วนใหญ่มักเห็นการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียในภาวะ Risk Off และถ้าสกุลเงินเพื่อนบ้านถูกขาย ก็เชื่อว่าจะมีความพยายามขายเงินบาทและสินทรัพย์เสี่ยงในไทยตามมาด้วยเช่นกัน  กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้  30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-407851

จำนวนผู้อ่าน: 1952

06 มกราคม 2020

พรเพชร : รัฐธรรมนูญมีชีวิต ฆ่าทั้งฉบับ เท่ากับ “รัฐประหาร” ทางนิติบัญญัติ

เกือบ 6 ปีที่แล้ว “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นบุคคลร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อันเป็น “ต้นขั้ว” ของรัฐธรรมนูญ 2560 “พรเพชร” นั่ง “เรือแป๊ะ” คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เริ่มแรก เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช.เป็นต้นกำเนิดคำถามพ่วงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯ นาน 5 ปี เป็นช่องให้ “พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา” ครองอำนาจผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 2 หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “พรเพชร” กลับมารับตำแหน่งประธานส.ว. แบบนอนมา เป็น “ไม้ค้ำยัน” ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง แต่แล้วรัฐธรรมนูญ 2560 กำลังถูก”สภาล่าง” เริ่มต้นกระบวนการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้าน-ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รื้อ-โละ ทั้งฉบับ เพราะเป็น “มรดก คสช.” ตรงข้ามฝ่ายรัฐบาล-ต้องการแก้ไขรายมาตราเฉพาะที่อยากแก้ “ประชาชาติธุรกิจ” ถามใจ “พรเพชร” ในฐานะบุคคลพิเศษที่อยู่ร่างรัฐธรรมนูญ 2557 เป็น “ต้นขั้ว” รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อรัฐธรรมนูญที่เขามีส่วนร่วมทำคลอด ถึงคราวชำระ สะสาง “พรเพชร” ตอบจากใจว่า เขาเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ “ผมชี้ได้ทันทีเลยว่ามาตราไหนต้องแก้ไข เช่น มาตราว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่ห้าม ส.ส.และ ส.ว.ถือหุ้นสัมปทานของรัฐ รวมถึงคู่สมรส และบุตร ซึ่งการรวมถึงคู่สมรส และบุตร ต้องคิดให้ดี เพราะความเป็นครอบครัวมีอยู่และยากที่จะไปดูแลถึงข้อจำกัดนี้” “ผมยอมสำหรับคู่สมรส แต่พอไปถึงบุตรผมเห็นว่าต้องแก้ เพราะคู่สมรสเราพูดจากันได้ พูดจาไม่รู้เรื่องก็หย่าขาดกันได้ แต่บุตรเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้วเราไล่เขาออกจากความเป็นบุตรไม่ได้…ต้องแก้ถ้ามองว่าใช้ลูกเป็นนอมินีอย่าว่าแต่เป็นลูกใช้ใครก็ผิดไปเขียนทำไม” ส่วนวิธีการเลือกตั้งที่นักการเมืองมองว่าเป็นปัญหา “พรเพชร” เห็นด้วย โดยเฉพาะระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว ต้องมีรายละเอียดถี่ถ้วนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทำกฎหมายให้เคลียร์ที่สุด… แก้ทั้งฉบับเท่ากับรัฐประหาร แต่เมื่อผลการศึกษาของ กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญในชั้น ส.ส.ไม่ว่าตกผลึกแก้เป็นรายมาตราหรือแก้ทั้งฉบับโดยให้มี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมผูกพันกับ ส.ว.ในฐานะที่ต้องยกมือโหวต ทางออกแบบไหนจะไม่ทำให้ ส.ว.อึดอัด “พรเพชร”ขอตอบตรง ๆ ณ วันนี้ว่า “ในความคิดของผม ไม่เปลี่ยน และเชื่อว่าเป็นความคิดของ ส.ว.ส่วนใหญ่ เราต้องเดินตามรัฐธรรมนูญในการแก้ไข บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้แก้อย่างไรก็แก้ไปตามนั้น” “ผลการศึกษาจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องใด มาตราใด ข้อใด ส.ว.ก็ต้องรับฟังและพร้อมร่วมพิจารณา ส่วนการยกเลิก ลบ รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (นำไปสู่การมี ส.ส.ร.ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ) มันไม่ใช่ เป็นการทำไม่ได้ในทางกฎหมาย เปรียบเสมือนการรัฐประหารทางนิติบัญญัติ” “มันทำไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ก็จบเรื่อง เสนอมาสิจะแก้กี่มาตรา ก็เถียงกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ว่าไปตามนั้น” ย้อนไปในคราวพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้ชงวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.มาแล้ว 1 ครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญ “แนะนำ” ให้รัฐบาลเพื่อไทย กลับไปทำประชามติถามความเห็นประชาชน และให้แก้ไขรายมาตราแทนทั้งฉบับ “พรเพชร” เชื่อว่า ถ้าครั้งนี้มีการลบล้างรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สถานการณ์จะซ้ำรอยพรรคเพื่อไทย “แน่นอน…ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว เผลอ ๆ จะหนักแน่นกว่าเป็นการแก้ไขในทางที่ไปไม่ได้ในทางนิติบัญญัติ” ขวางรื้อมรดก คสช. ทว่า แผนฝ่ายค้านแก้เกมด้วยการ “ทำมวลชน” นอกสภา บีบให้นักการเมืองในสภา ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นำไปสู่การมี ส.ส.ร.เหมือนปี 2540 “พรเพชร” ไม่ขอตอบ แต่เมื่อถามในฐานะคนที่อยู่ร่วมกับคสช.ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นมรดกของ คสช.ที่ต้องลบล้างออกไป “พรเพชร” ตอบกลับว่า “มรดก คสช.ถ้ามันดีแล้วจะทำไม ลืมไปแล้วเหรอว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งใครพูดก่อน ประชาชนพูดกันทั้งประเทศ ผมมาทำกับ คสช.ก็ปรึกษากันว่า เรื่องปฏิรูปประเทศต้องทำให้ได้ เพราะประชาชนต้องการ ผมก็ต้องทำ โดยเฉพาะด้านกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจอื่น” “แก้ไขรายมาตรา ทำได้ แก้ไขเยอะ ๆ ได้ไหม ได้ เว้นแต่มาตราใดที่ห้าม เช่น การแบ่งแยกประเทศ หมวดพระมหากษัตริย์ ผมยังไม่มาอ้างสักนิดว่า ห้าม ทำไม่ได้” “ในฐานะสอนกฎหมาย เป็นนักกฎหมายรู้อยู่เสมอว่ากฎหมายมีชีวิต ต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ และมีกระบวนการของมันแล้ว จะไปฆ่าแล้วเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เลยเหรอ” ส.ว.เป็นทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อน กับ “ธงการเมือง” ของฝ่าย ส.ส.ต้องการรื้อ ส.ว. 250 คน เพราะเป็นกลไกของการสืบทอดอำนาจ “พรเพชร” ชี้แจงว่า มันไม่ใช่เรื่องสืบทอดอำนาจ เป็นการปฏิรูปประเทศที่เราตั้งใจไว้ “ผมพูดด้วยความสัตย์จริงตอนที่เพิ่มคำถามพ่วง ไม่ได้คิดว่าใครจะเป็นนายกฯจึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานนั้น แต่เชื่อว่าด้วยจิตวิญญาณของ ส.ว. ต้องเลือกคนที่ดีและมีแนวคิดตรงกันเรื่องปฏิรูปประเทศ” เมื่อถามว่า ส.ว.เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ “พรเพชร” นิ่งคิด ก่อนตอบว่า “มีทั้งคู่ จุดแข็งคือ…เรื่องการปฏิรูปประเทศ จุดอ่อน ก็อย่างว่า…กลายเป็นเรื่องสืบทอดอำนาจ ส.ว.ไปมีส่วนช่วย ผมขอบอกเลยว่าไม่ใช่ ส.ว.ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญมีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการปฏิรูปประเทศ” เปิดผลงานของ ส.ว. อย่างไรก็ตาม “พรเพชร” ฉายภาพผลงาน ส.ว.ว่า ตั้งแต่ตนเข้ามาได้สั่งให้มีการตั้งคำสั่ง 2 คำสั่ง คือ ส.ว.พบประชาชน ถ้าไม่พบประชาชนแล้วจะทำเรื่องปฏิรูปได้อย่างไร ปฏิรูปการปลูกข้าว ถ้าไม่เคยเห็นจะไปปฏิรูปเกษตรกรรมได้อย่างไร ต้องไปสัมผัสชีวิตจริงของชาวบ้าน ซึ่งเตรียมการเรียบร้อย และสัมมนาศึกษาหาความรู้ ให้สมาชิกเข้าใจระบบรัฐสภา กระบวนการนิติบัญญัติ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ ส.ว.สนใจในการตรวจสอบรัฐบาล ทั้งสองโครงการจะเป็นเครื่องมือที่ทำงานต่อไปทั้งด้านการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากเป็นสภาที่ 2 ยังมีหน้าที่ปฏิรูปประเทศในปี 2563 “เมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ในบทเฉพาะกาลเขียนมาโดยหวังว่าการที่รัฐธรรมนูญไปเขียนเรื่องปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ ถ้ากลไกไม่ได้มีการขับเคลื่อน มีแต่การประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ไม่มีการขับเคลื่อนทางนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการร่างกฎหมาย ซึ่งปฏิรูปบางอย่างต้องร่างกฎหมาย กรธ.จึงต้องการ ส.ว.ที่เป็นองค์ประกอบใหม่ขึ้นมา” “ดังนั้น ส.ว.จึงมีอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือการที่ให้ ส.ว.เข้าไปร่วมพิจารณากฎหมายในชั้นแรก ถ้ากฎหมายนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป ซึ่งเกิดขึ้นในบทเฉพาะกาลช่วง 5 ปีแรก โดยรัฐบาลเพิ่งเสนอมา 1 ฉบับ เพื่อเป็นการชิมลาง คือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กรณีไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” “รัฐบาลชิมลางก็ต้องเอากฎหมายประเภทไม่มีข้อโต้แย้งมาก ต้องดูต่อไปกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปจะเสนอมาอย่างไรต่อไป ที่พูดกันมากว่าเมื่อไหร่จะเข้ามา คือ กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปการศึกษา” อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านมักดักคอว่า กฎหมายที่ผ่านสภายาก ๆ รัฐบาลอาจพลิกสถานการณ์ ใช้แท็กติกเปลี่ยนให้เป็นกฎหมาย “หมวดปฏิรูป” เพื่อใช้เสียง ส.ว.มาช่วยโหวต”พรเพชร” ตอบว่า “มันก็คิดได้ แต่กฎหมายต้องมีที่มาที่ไป เหตุผลและหลักการ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปประเทศ กฎหมายบางอย่างไม่ได้ทำได้ตามอำเภอใจ” “ประวัติศาสตร์มันมีที่เกิดเรื่องจนมี คสช.ขึ้น กฎหมายสุดซอยมันผิดกระบวนการนิติบัญญัติที่ไหน แม้จะประชุมกันถึงตีสี่ ตีห้า แต่ก็ไปไม่ได้ ผมไม่คิดว่าใครจะทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการอย่างนั้น บทเรียนมันมี ผมจึงอยากเตือนว่าอย่าไปทำอะไรอย่างนั้นเลยแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ก็ต้องดูให้ดี ไม่ใช่ว่าฉันจะแก้ไปสุดซอยได้” ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407837

จำนวนผู้อ่าน: 2085

06 มกราคม 2020

จัดทัพองค์กรสู้เศรษฐกิจซบ อาชีพวิศวะระบบ-วิเคราะห์ข้อมูลมาแรง

4 กูรูส่องเทรนด์เอชอาร์ปี ภาคธุรกิจพลิกกลยุทธ์สู้เศรษฐกิจซบ เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น เน้นจัดทัพบุคลากรตอบโจทย์องค์กร บริหารกำลังคนอย่างคุ้มค่า ชี้พนักงานต้องเพิ่ม 4 ทักษะสร้างความโดดเด่น ฟันธง 2 สาขาอาชีพมาแรง วิศวกรระบบ-นักวิเคราะห์ข้อมูล รองรับเอไอ-บิ๊กดาต้า ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากปัจจัยลบที่ยังมีต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจต้องให้น้ำหนักไปที่การปรับการบริหารกำลังคนแบบไม่ให้สูญเปล่า (lean manpower) รวมถึงต้องปรับ และเพิ่มทักษะพนักงาน เพราะการ lean คือ การที่แต่ละองค์กรจะใช้คนทำงานอย่างคุ้มค่า และทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง หากไม่ปรับตัวอาจทำให้การลาออกจากงานมีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมตัวรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบในอนาคต และเรื่องสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความแตกต่างตามเจเนอเรชั่น นางสาวพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเฟล็คซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า ปีนี้หน่วยงานด้านบุคลากร หรือทรัพยากรมนุษย์ (เอชอาร์) ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องการคัดสรรหาคน พัฒนาคน และประเมินผลงาน นอกจากนั้นจะมีความท้าทายมากขึ้นในการจัดทัพคนให้ตอบโจทย์เป้าหมายทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อน ๆ องค์กรจะเปลี่ยนวิธีสรรหามาเป็นการสรรหาผ่านโซเชียลมีเดียแทน เช่น linkedin ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ว่าจ้าง และผู้ถูกจ้าง อีกทั้งจะได้เห็นภาพการทำงานแบบที่มีลำดับขั้นในองค์กรมาก ๆ (hierarchy) “น้อยลง” และเปลี่ยนมาเป็นการทำงานแบบ network organization ซึ่งหมายถึงการที่คนต่างตำแหน่งและต่างแผนกมาทำงานร่วมกันในหนึ่งโปรเจ็กต์ ซึ่งเมื่อการทำงานเปลี่ยนไป คนต้องเพิ่มทักษะด้านการทำงานเป็นทีม ทักษะความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของคน นางสาวนิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล ผู้อำนวยการบริหาร สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน หรือเอสอีเอซี (SEAC-South East Asia Center) กล่าวว่า นอกเหนือจากประสบการณ์ที่คนทำงานจะต้องมีแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ ด้วย คือ 1) ทักษะเรียนรู้ active learning skill ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพิ่มความถี่ในการปรับทักษะ 2) ทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิผลกับงานได้ 3) ทักษะด้านความคิด เนื่องจากโลกของธุรกิจจะมีความซับซ้อน พร้อมกับมีข้อมูลมากขึ้น ทำให้คนทำงานจะต้องสามารถคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เมื่อเกิดปัญหาต้องมองให้เห็นครบทุกมิติที่เกิดขึ้น และ 4) ทักษะด้านอารมณ์ (soft skills) ซึ่งทักษะทางอ้อมที่สร้างความโดดเด่นให้กับคนทำงาน ทำให้คนต่างจากเครื่องจักร เพราะเมื่อทุกองค์กรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกัน จะทำให้องค์กรหันกลับมองหาทักษะนี้มากขึ้น ด้านนายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติไทยด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี กล่าวว่า หลายองค์กรจะเปิดรับคนทำงานด้านวิศวกรระบบ (software engineer) และการวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) มากขึ้นในปี 2563 เพราะช่วง 2-3 ปีก่อน หลาย ๆ องค์กรได้วางกลยุทธ์ในการนำปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI) และข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนคนที่มีทักษะด้านนี้ เพราะคนรุ่นใหม่ที่เรียนสาขานี้ยังจบออกมาไม่ทันความต้องการ ทำให้ในปี 2563 นี้ จะเห็นการซื้อตัวคนทำงานด้านนี้มากขึ้น   ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-407819

จำนวนผู้อ่าน: 2141

06 มกราคม 2020

สทนช.ถกรับมือน้ำประปากร่อยวันนี้-กรมชลฯ ระดมแผนรับแล้งอีสาน

แฟ้มภาพ สทนช.ถกรับมือน้ำประปากร่อย ด้านกรมชลประทานระดมแผนรับแล้งอีสาน เขื่อนอุบลรัตน์-จุฬาภรณ์น้ำน้อย สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ วอนประชาชนใช้น้ำตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด ผู้สื่อข่าว ”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (6 ม.ค.2563) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือมาตรการรับมือวิกฤตภัยแล้งและภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้หลายพื้นที่ใน กทม.และปริมณฑล พบปัญหาประปามีรสกร่อย รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่วานนี้ (5 มกราคม 2563) สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 62/63 ไว้เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า กรมชลประทานขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลางหลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า ปัจจุบัน (5 ม.ค. 63) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ปัจจุบันที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร ยืนยันไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อน ส่วนที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, ชัยภูมิ , มหาสารคาม, กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมกับรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เช่น ในพื้นที่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม โครงการชลประทานมหาสารคามและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องกระจายเสียง ออกวิ่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด โครงการชลประทานร้อยเอ็ด และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ ประชุมร่วมกับอาสาสมัครชลประทาน เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอาสาสมัครชลประทาน และแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 พร้อมส่งรถติดเครื่องขยายเสียงลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ ด้านจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพรม-เชิญ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปาอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอชุมแพจังหวัดขอนแก่น พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ลงพื้นที่ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน JMC ของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ทุกอ่างฯ เพื่อชี้แจงแผนการบริการจัดการน้ำ พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอีกด้วย ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-407883

จำนวนผู้อ่าน: 2130

06 มกราคม 2020

ชิงเค้ก 3.2 ล้านล้าน งบฯ 63 วาระสาม ลด งบฯกลาง-เงินประชารัฐ-กองทัพ

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ล่าช้ากว่าปฏิทินปีงบประมาณมากว่า 4 เดือน ทำให้งบประมาณกว่า 3.2 ล้านล้านบาท “ค้างท่อ” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎร “กาปฏิทิน” พิจารณาวาระ 2-3 ในวันที่ 8-9 มกราคม 2563 มีการ “ปรับลด” ตามมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 16,231,217,700 บาท จัดสรรเพื่อให้ส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น จำนวน 13,177,466,400 บาท จัดสรรให้หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอัยการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 วรรคสอง จำนวน 3,053,751,300 บาท มาตรา 5 แปรญัตติ “ขอเพิ่ม” ข้อความเป็น อาทิ การใช้ “งบฯราชการลับ” การจัดการประชุม สัมมนาและการเดินทางไปต่างประเทศ และการขอขยายระยะเวลาโครงการ-ผูกพันข้ามปี ต้องรายงาน-ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา “มาตรา 5/1 การใช้งบฯราชการลับให้ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายรายงานการสั่งจ่ายงบฯราชการลับต่อประธานรัฐสภา ทุกเดือนผ่านนายกรัฐมนตรี หากมีงบฯราชการลับให้คืนเป็นรายได้แผ่นดิน” “มาตรา 5/2 รัฐบาลต้องไม่เปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายอื่นเป็นงบฯราชการลับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา” “มาตรา 5/3 ในเดือนสิงหาคมและกันยายน หน่วยรับงบประมาณจะจัดประชุม สัมมนา การเดินทางไปต่างประเทศมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา” “มาตรา 5/4 หน่วยรับงบประมาณจะทำโครงการขอขยายเวลาในการใช้งบประมาณในปีต่อไป หรือทำโครงการผูกพันงบประมาณในปีต่อไป ต้องได้ความเห็นชอบจากประธานรัฐสภา” โดยเฉพาะมาตรา 6 งบประมาณรายจ่าย “งบฯกลาง” ที่ตั้งงบประมาณไว้ “สูงลิบ” จำนวน 518,770,918,000 บาท มีกรรมาธิการขอความเห็น-ส.ส.ขอแปรญัตติ “ปรับลดลง” จำนวนมาก อาทิ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 96,000,000,000 บาท เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง จำนวน 500,000,000 บาท และการขอแปรญัตติเพิ่มความเป็น มาตรา 6/1 รัฐบาลต้องไม่เปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายงบฯกลางเพื่อนำไปใช้ในโครงการที่มีผลผูกพันต่องบประมาณในปีต่อ ๆ ไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภา ขณะที่มาตรา 7 งบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 30,017,877,700 บาท ปรับลดลงเป็น 29,823,246,400 บาท โดยเฉพาะการขอสงวนความเห็น-แปรญัตติ “เงินราชการลับ” ภายใต้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อาทิ เงินราชการลับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 60 ล้านบาท เงินราชการลับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 50 ล้านบาท เงินราชการลับสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ 232 ล้านบาทรวมถึงมาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ จำนวน 125,918,522,500 บาท ถูก “ขอหั่น” ทุบหม้อข้าวกองทัพ เหลือ 124,400,250,000 บาท กองทัพบก 52,943,083,300 บาท เหลือ 52,103,193,700 บาท กองทัพเรือ 25,229,478,500 บาท เหลือ 25,065,956,200 บาท กองทัพอากาศ 29,670,466,300 บาท เหลือ 29,326,466,300 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 10,868,253,600 บาท เหลือ 10,781,960,800 บาท สำหรับมาตรา 52 งบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบุคลากรภาครัฐ ที่ “สูงขึ้น” สวนทางกับแผน “ลดกำลังคน” จากจำนวน 777,267,620,100 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 777,549,875,400 บาท โดยมีการสงวนความเห็น-แปรญัตติหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรับลด ร้อยละ 50 มาตรา 53 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 202,268,635,400 บาท ที่ถูกปรับเพิ่มเป็น 204,173,895,700 บาท อาทิ ปรับลด “เงินประชารัฐ” จากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม 40,000,000,000 บาท จะถูกสงวนความเห็น-แปรญัตติ “ปรับลด” กึ่งซักฟอกแบบคาบลูกคาบดอก ทว่า “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ต้องใช้กำลังภายใน “ดึงกลับ” คืนให้ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม หลังจากถูก “แปลงสาร” ดิสเครดิตเป็นการใช้เงิน “วิจัยข้าวต้มมัด” 8,000 ล้านบาท ขณะที่ “งบฯอีอีซี” ที่ถูกปรับลด จาก 17,009,095,000 บาท เหลือ 16,036,514,700 บาท จะถูกชำแหละ-ตีแผ่ความล้มเหลวของโครงการ และงบฯบูรณาการพัฒนา-ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากที่ถูกหั่น จาก 3,185,556,700 บาท ลดลงเหลือ 3,018,446,600 บาท แต่ส่วนที่ “งอก” ขึ้นมา คือ การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวน 27,576,100 บาท เพิ่มขึ้นไว้ในส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกฯเกือบทุกกระทรวง-หน่วยงาน-จังหวัด ถูกหั่นลด-ผ่าครึ่ง เพื่อกองรวม ก่อนจัดสรร-แบ่งเค้กลงพื้นที่ทุกภาค ยกเว้น มาตรา 36 งบประมาณรายจ่ายของส่วนราชการในพระองค์ ไม่มีการแก้ไข ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407834

จำนวนผู้อ่าน: 1930

06 มกราคม 2020

สะดวกซัก 24 ชม. แห่เปิดสาขารับตลาดโต

ร้านสะดวกซัก-เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ โตต่อเนื่อง รับพฤติกรรมคนเมือง แฟรนไชส์ร้านดัง”อ๊อตเทริ-ลอนดรี้บาร์-มารุลอนดรี้” เพิ่มสปีดขยายสาขาเกาะค้าปลีก-ปั๊มน้ำมัน-โครงการอสังหาฯ “ไฮเออร์” โดดร่วมวงส่ง “สมาร์ท พลัส” สู้ศึก เผยพื้นที่เมืองกรุงเริ่มหายากแข่งหนัก หลายค่ายเบนเข็มเจาะหัวเมืองต่างจังหวัด เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น เพียบ แหล่งข่าวระดับสูงจากธุรกิจร้านซักผ้าหยอดเหรียญเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2563 นี้ ภาพรวมของธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญยังมีความคึกคักและคาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ตามแหล่งย่านชุมชนเมืองใหญ่ คอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบาย รวมถึงการขยายตัวของความเป็นเมืองที่กระจายออกรอบนอกมากขึ้น ปัจจุบันร้านซักผ้าหยอดเหรียญมีรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และแฟรนไชส์ ล่าสุดผู้ประกอบการแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดให้บริการในเมืองไทยหลายค่ายมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นลอนดรี้บาร์จากมาเลเซีย และมารุลอนดรี้จากไต้หวัน ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิม ๆ อาทิ อ๊อตเทริวอช แอนด์ ดราย, วอซเอ๊กซ์เพรส, ลอนดรี้ยู, คลีนโปร ฯลฯ ต่างเดินหน้าทำตลาดและขยายสาขาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมือง “ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญเป็นตลาดที่มีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากตลาดในประเทศไทยเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่ม ในแง่ของจำนวนผู้เล่นและร้านสะดวกซักยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร อย่างในมาเลเซียที่มีประชากรราว ๆ 32-33 ล้านคน แต่มีร้านสะดวกซักมากกว่า 2 พันแห่ง แต่ไทยมีประชากรประมาณ 66-67 ล้านคน แต่มีเพียงประมาณ 400 ร้าน” คึกคัก-เติบโตต่อเนื่อง นายกวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารเชนร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย” กล่าวว่า ธุรกิจร้านสะดวกซักยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี จากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่มูลค่าสูงอย่างเครื่องซักผ้า สะท้อนจากตัวเลขการใช้บริการในปีที่ผ่านมาที่มีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ต่อสาขาปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มประมาณ 50 สาขา เป็นแฟรนไชส์ 80% และลงทุนเอง 20% จากเดิมที่มีประมาณ 200 สาขา โดยจะมุ่งเปิดสาขาตามสาขาของไฮเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีกรายใหญ่ สถานีบริการน้ำมันในต่างจังหวัด รวมทั้งมีการเจรจากับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเข้าไปเปิดสาขาในโครงการด้วย นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเซเว่นอีเลฟเว่นให้บริการสะดวกซักในสาขาเซเว่นฯที่ปิ่นเกล้า มีเครื่องซัก 3 เครื่อง เครื่องอบ 3 เครื่อง และมีแผนจะเปิดอีก 3 สาขาในเดือนมกราคมนี้ ปี”63 เพิ่มอีก 300 ร้าน นายสุกรี กีไร ผู้จัดการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาค บริษัท อัลลิแอนซ์ ลอนดรี้ ซิสเต็มส์ ผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องซักผ้าเชิงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประเมินยอดขายและยอดสั่งจองเครื่องซักผ้าของบริษัทที่มีมากกว่า 5,500 เครื่อง คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมาจำนวนร้านสะดวกซักจะมีไม่ต่ำกว่า 420-450 สาขา จากกว่า 10 แบรนด์ และปี 2563 นี้คาดว่าตลาดมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 250-300 สาขา โดยจำนวนหนึ่งเริ่มการก่อสร้างแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทแฟรนไชส์ร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญหลายรายมองว่า ตลาดมีแนวโน้มที่จะเติบโตและได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีการสั่งเครื่องซักผ้าไปสต๊อกไว้จำนวนหนึ่ง เช่นเดียวกับยอดสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเปิดร้านของตนเอง ทำให้ยอดจองเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว นายสุกรีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เนื่องจากปัจจุบันการหาทำเลเพื่อเปิดร้านเริ่มหายากและมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้หลาย ๆ ค่ายเริ่มหันไปรุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่, ชลบุรี, ขอนแก่น, ภูเก็ต, หาดใหญ่ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็พบว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการในต่างจังหวัดให้ความสนใจและติดต่อขอข้อมูลเครื่องซักผ้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ไฮเออร์โดดร่วมวง นายจาง เจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทดลองเปิดร้านสะดวกซัก 24 ชั่วโมง ภายใต้แบรนด์ “สมาร์ท พลัส” เป็นร้านแฟลกชิปที่ซอยมหาดไทย รามคำแหง ใช้งบฯลงทุน 1.5-2 ล้านบาท ขนาดประมาณ 50 ตร.ม. มีเครื่องซักผ้าให้บริการ 10 เครื่อง มีแผนเปิดให้ดีลเลอร์ ที่สนใจเข้ามาลงทุน จากนั้นจะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาร่วมลงทุนต่อไป ปีนี้ตั้งเป้าเปิดเพิ่มประมาณ 30-50 สาขา โดยเครื่องในร้านจะใช้แบรนด์ไฮเออร์ทั้งหมด มี 4 รูปแบบให้เลือกคือ เอ, บี, ซี และดี ราคาเริ่มตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเน้นการขายเครื่องซักผ้าแบบใช้เครื่องอุตสาหกรรม และแบบใช้เครื่องครัวเรือนติดตั้งกล่องหยอดเหรียญซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มาก คืนทุนเร็ว ซึ่งขณะนี้เริ่มมีออร์เดอร์ทยอยเข้ามาเป็นจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัท กันยงวัฒนา จำกัด ได้ร่วมทุนกับร้านสะดวกซักแฟรนไชส์รายใหญ่จากประเทศไต้หวัน ตั้งบริษัทกันยงอัพยัง จำกัด เพื่อรุกตลาดร้านสะดวกซักภายใต้แบรนด์ “มารุ ลอนดรี้” เน้นเปิดเกาะแนวสถานีรถไฟฟ้า ทั้งในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และสแตนด์อะโลน ปี 2563 ตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มอีก 20 สาขา จากปัจจุบันมี 2 สาขา ที่ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง และฟอร์จูน คอนโดทาวน์ 2 ถนนสาธุประดิษฐ์ เช่นเดียวกับลอนดรี้บาร์ แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักรายใหญ่จากประเทศมาเลเซีย ที่ปัจจุบันมีสาขาทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดกว่า 10 สาขา อาทิ โรงพยาบาลล้านนา เชียงใหม่, รามคำแหง 53, นิคมอุตสาหกรรมบางปู สมุทรปราการ, สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, บิ๊กซี เชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-407825

จำนวนผู้อ่าน: 2242

06 มกราคม 2020

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จาก “รบพิเศษ” สู่นายกรัฐมนตรี-ประธานองคมนตรี รัชกาลที่ 10

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ ‘บิ๊กแอ้ด’ ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 และรักษาการประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 10 ดำรงตำแหน่ง องคมนตรีเมื่อ 8 เมษายน 2551 เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2486 ที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นบุตรของ พ.ท.โพยม และ นางอัมโภช จุลานนท์ ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ มีบุตรชาย 2 คน เข้ารับการศึกษาที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย, ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 (จปร.12), หลักสูตรชั้นนายร้อย เหล่า ร. ปี 2509, หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศ, หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่า ร.ที่ฟอร์ทเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ปี 2511, หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 ปี 2514, หลักสูตร เสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา ปี 2517, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36 พล.อ.สุรยุทธ์ เคยรับราชการในตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการ และตำแหน่งหน้าที่สำคัญๆ อาทิ รองเสนาธิการกองพลที่ 1, เสนาธิการกองพลรบพิเศษ และช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่ง เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายข้าว จนกระทั่งคณะกรรมการชุดนี้ถูกยุบไป จึงกลับไปอยู่กองพลรบพิเศษที่ลพบุรี ต่อมา ก็ได้ทำหน้าที่เป็น นายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี และรับตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2529 จากนั้น จึงเข้าประจำกองบัญชาการกองทัพบก, ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, แม่ทัพภาคที่ 2, ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก, ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์, ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ต.ค. 2546 พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก่อนลาออกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2541 ต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 และพ้นจากตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2549 เพื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จนถึง 29 มกราคม 2551 ได้รับฉายาจากสื่อมวลชน ว่าเป็น “รัฐบาลขิงแก่” พล.อ. สุรยุทธ์ เคยกล่าวไว้เมื่อครั้ง ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี ในรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “ผมได้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านไม่ว่าจะเป็น การนำบุคคลสำคัญจากต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ หรือว่าเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงาน การดำเนินการต่าง ๆ ทำให้ผมได้ประจักษ์แจ้งชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ในทุก ๆ ด้านอย่างแท้จริง” “สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานมาให้นั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวทางพระราชดำริ พระราชดำรัสเตือน หรือว่าพระราชดำรัสชมเชย กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายกฯ อย่างผมมีความเชื่อมั่นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องไปได้” “ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พระองค์ท่านพระราชทานพระราชดำรัส แนะนำให้ทำอย่างนี้อย่างนั้น แต่เป็นลักษณะที่ถือว่าพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำอย่างจริง ๆ เช่น ปีที่สหพันธรัฐรัสเซียมีความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยครบหนึ่งร้อยปี ผมได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งท่านประธานาธิบดีได้ยืนยันที่จะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย ในวาระอันเป็นมงคลนี้และผมรับปากว่า จะนำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ปรากฏว่า เมื่อผมนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำว่า” “การที่จะรักษาความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสัมพันธ์กับเรามาเป็นเวลานานนั้น เป็นสิ่งที่ดี” “นั่นคือพระองค์ท่านทรงเห็นด้วย แต่มีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระองค์ท่านเสด็จฯไปไม่ได้ แต่อยากจะให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ซึ่งเป็นที่มาของการเสด็จฯ เยือนสหพันธรัฐรัสเซียของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งครบรอบความสัมพันธ์ หนึ่งร้อยปีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สหพันธรัฐรัสเซีย พ.ศ. 2550” “พระราชประสงค์ข้อนี้ ผมคิดว่า คนไทยทุกคนน่าจะพอทราบอยู่แล้วบ้าง หากได้ติดตามพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี พระองค์ท่านมักพระราชทานแนวทางกว้าง ๆ แก่ประชาชน มีทั้งพระราชดำรัสแนะนำ ตักเตือน และพระราชทาน กำลังใจ ซึ่งทั้งสามประการนี้ ถ้าใครได้ย้อนกลับไปอ่านพระราชดำรัสที่มีคนตีพิมพ์ให้ดี จะเห็นว่า ล้วนเป็นพระราชดำรัสที่ไม่ได้ทรงเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่หลั่งไหล ออกมาจากน้ำพระราชหฤทัยจริง ๆ” อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ‘พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์’ เป็นประธานองคมนตรี ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407728

จำนวนผู้อ่าน: 1971

06 มกราคม 2020

มิตรสหรัฐเมิน ‘แบนหัวเว่ย’ หวั่นงบฯพัฒนา ‘5G’ พุ่ง

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo การบรรลุข้อตกลงการค้าใน “เฟสแรก” คลายความกังวลทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังไม่ยุติลง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมสมัยใหม่อย่าง “5 G” เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ โดยสหรัฐประกาศสงครามเทคโนโลยีด้วยการขึ้นบัญชีดำ “หัวเว่ย” และกดดันให้พันธมิตรทั่วโลกร่วมกันแบนเทคโนโลยี “5 จี” ของหัวเว่ยอีกด้วย ทั้งนี้ “หัวเว่ย” เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม “5G” ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IOT) เป็นต้น โดยสหรัฐกังวลว่าความเป็นผู้นำ 5G ของหัวเว่ยจะสร้างความได้เปรียบให้กับจีนในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันของ 2 มหาอำนาจโลก รวมถึงสร้างความกังวลต่อสหรัฐในมิติความมั่นคงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม “ซีเอ็นเอ็น” รายงานว่า อินเดียเพิ่งประกาศยืนยันเมื่อ 30 ธ.ค. 2019 อนุมัติให้หัวเว่ยสามารถเข้าร่วมการทดลองระบบ 5G ในเดือน ม.ค. 2020 ซึ่งอาจเป็นการปูทางการขยายตลาดสู่การพัฒนาโครงข่าย 5G ในประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว 500 ล้านราย นอกจากนี้เมื่อต้น ธ.ค.ที่ผ่านมา “เทเลโฟนิก้า เยอรมนี” ผู้ให้บริการโทรคมนาคมข้ามชาติได้ประกาศแผนการลงทุนระบบเครือข่าย 5G โดยใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยท่ามกลางบรรยากาศการถกเถียงกันต่อประเด็นดังกล่าวในรัฐสภาของเยอรมนี ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกปฏิเสธข้อเรียกร้องของทางสหรัฐเช่นกัน “ฟอเรียน โพลิซี” รายงานว่าสหรัฐสามารถกดดันให้พันธมิตรอย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงนิวซีแลนด์ แบนอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยเป็นผลสำเร็จ ขณะที่พันธมิตรในยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี โปแลนด์ รวมถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ ก็กำลังถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว นิตยสาร “ฟอร์จูน” รายงานถึงเหตุผลที่สหรัฐไม่อาจโน้มน้าวประเทศพันธมิตร “แบนหัวเว่ย” ได้ เพราะข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยทำการจารกรรมข้อมูลและก่อวินาศกรรมทางไซเบอร์ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ถึงแม้มีข้อสงสัยว่าหัวเว่ยมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปักกิ่งก็ตาม ขณะที่การปฏิเสธไม่ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยจะส่งผลให้ต้นทุนโครงข่าย 5G เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ รอยเตอร์สรายงานถึงผลงานวิจัยของ “จีเอสเอ็มเอ” สมาคมธุรกิจโทรคมนาคม ระบุว่าการแบนหัวเว่ยจะส่งผลให้ยุโรปมีต้นทุนในการวางระบบ 5G เพิ่มขึ้นถึง 62,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังทำให้การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องล่าช้าไปอีก 18 เดือน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงทางไซเบอร์โปแลนด์ กล่าวเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่า ความกังวลเรื่องของต้นทุนเป็นสาเหตุที่ “โปแลนด์” จะไม่แบนหัวเว่ยตามคำเตือนของสหรัฐ ขณะที่ “โวดาโฟน กรุ๊ป” บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของอังกฤษ และ “ดอยช์ เทเลคอม” ของเยอรมนี แสดงความกังวลว่าการแบนหัวเว่ยส่งผลให้ต้นทุนของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น และทำให้การพัฒนาระบบเครือข่าย 5G ล่าช้าถึง 2 ปี สอดคล้องกับงานวิจัยของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” ซึ่งทำการศึกษาใน 8 ประเทศ พบว่าการแบนหัวเว่ยจะส่งผลให้ต้นทุนการพัฒนา 5G เพิ่มขึ้นประมาณ 8-29% ส่งผลให้ประชากรหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงเครือข่าย 5G ได้ภายในปี 2023  ทั้งส่งผลต่อความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงกล่าวได้ว่าการให้หัวเว่ยร่วมพัฒนา 5G มีเหตุผลทางเศรษฐกิจรองรับ และถึงแม้ว่าหัวเว่ยจะเป็นผู้นำด้านเครือข่ายโครงสร้าง 5G แต่ “ซิลิคอนวัลเลย์” ยังเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมบนเครือข่าย 5G ดังนั้นการเปิดใจยอมรับหัวเว่ยอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเอง รวมถึงเศรษฐกิจโลก ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-407681

จำนวนผู้อ่าน: 2033

06 มกราคม 2020

ไซยะบุรี สู่ หลวงพระบาง เขื่อนใหม่บนความกังวล 2 ฝั่งโขง

น้ำโขงจัดเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ 6 ประเทศ จีน-เมียนมา-ไทย-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเนิ่นนาน จนมาเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน ได้เริ่มพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง การขึ้นลงของระดับน้ำ “ผิดปกติ” ตามการปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ของจีน ตามมาด้วยโครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใน สปป.ลาว ที่เพิ่งเปิดดำเนินการอย่าง เขื่อนไซยะบุรี ของบริษัท CK Power ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ช.การช่าง โดยเขื่อนนี้เป็นเขื่อนแบบฝายน้ำล้น(Run-of-River) ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกกะวัตต์(MW) หรือ 7(125 MW)+1(60 MW) ระยะเวลาสัมปทานกับรัฐบาลลาว 31 ปี และจะขายไฟให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) 95% GdL 5% และล่าสุด สปป.ลาวกำลังพัฒนาโครงการเขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนยกระดับแม่น้ำโขงที่กลุ่ม ช.การช่าง เข้าร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน ช.การช่างเอี่ยวเขื่อนหลวงพระบาง ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในระหว่างการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลโครงการเขื่อนหลวงพระบางที่ จ.นครพนม เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สปป.ลาวมีแผนก่อสร้างเขื่อนทั้ง 5 แห่งในแม่น้ำโขง โดยเขื่อนแรกจะเป็น เขื่อนปากแบง ด้านเหนือน้ำ กับเขื่อนไซยะบุรี ด้านท้ายน้ำ ซึ่งจะเห็นว่าทุกเขื่อนเชื่อมโยงกัน (ตามกราฟิก) ปัจจุบันเขื่อนไซยะบุรีก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว แน่นอนว่าเขื่อนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชน และภาคประชาสังคมทั้งในไทยและ สปป.ลาว ในเรื่องของระบบนิเวศ การทำประมง การขึ้นลงของน้ำ นำมาซึ่งการปรับแผนแบบร่าง การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบด้วยการทำแผนร่วมกันจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะในอนาคตจะมีเขื่อนเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงอีกหลายเขื่อน ล่าสุด สปป.ล่าวได้เริ่มดำเนินโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จัดเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่ “ถอดแบบ” มาจากเขื่อนไซยะบุรี มีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดป็นโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงสายประธานลำดับที่ 5 ต่อจากโครงการไซยะบุรี-ดอนสะโฮง-ปากแบงและปากลาย ตามลำดับ เขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river dam) ตัวสันเขื่อนมีความยาว 275 เมตร สูง 79 เมตร กว้าง 97 เมตร ขนาดกำลังผลิต 1,460 เมกะวัตต์ (MW) อยู่ในแม่น้ำโขงตอนบนเหนือนครหลวงพระบาง ประมาณ 25 กิโลเมตร ก่อนการก่อสร้างได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2562 และสิ้นสุดกระบวนการในวันที่ 7เมษายน 2563 ซึ่งแผนการดำเนินงานจะให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อไป โดยโครงการนี้มีผู้ร่วมทุน 3 ประเทศ ประกอบด้วย PetroVietnam Power Corporation รัฐวิสาหกิจเวียดนาม ทำหน้าที่หลักในการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ร่วมกับ สปป.ลาว ในนามบริษัท ไฟฟ้าหลวงพระบาง จำกัด (The Lu-ang PrabangPower Limited : LPCL) และบริษัทเอกชนจากฝั่งไทยร่วมทุนด้วย คือ บริษัท CK Power บริษัทลูกของ ช.การช่าง การก่อสร้างตามแผนจะเริ่มขึ้นในปี 2563 และคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2570 หรือใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 7 ปี กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้กับประเทศไทยและเวียดนาม “ที่ผ่านมาจะพบว่า ท้ายเขื่อนไซยะบุรีส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อาจต้องปรับรูปแบบให้น้อยลง ดังนั้น เมื่อเขื่อนหลวงพระบางอยู่เหนือเขื่อนไซยะบุรี ลาวเองก็จะต้องปรับรูปแบบ ระยะเวลา การก่อสร้าง เราเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน มีทางเดียวก็คือ การบริหารน้ำภายใต้กฎกติกาเดียวกัน เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด (เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลฯ) แต่ในอีกด้านหนึ่งจังหวัดเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้นในฐานะชาติสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะแสดงความคิดเห็นเพื่อส่งผ่านไปยังเจ้าของโครงการ คือ สปป.ลาว” ดร.สมเกียรติกล่าว จี้จีนแจ้งข้อมูลระดับน้ำโขง อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ร่วมกับอธิบดีกรมนโยบายแผนพลังงาน สปป.ลาว ดร.จันสะแหวง บุนยง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างกังวลกับโครงการก่อสร้างเขื่อนไม่ต่างกับเขื่อนแห่งอื่น ๆ ทั้งในแง่ของวิถีชีวิต-การประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกับหลวงพระบาง-ปากแบงจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 3 เวที เพื่อแจ้งให้ สปป.ลาวทราบ โดยมีเจ้าของโครงการเขื่อนหลวงพระบางมาหารือเอง ประกอบกับ สทนช.จะขับเคลื่อนแผนงานในปีหน้า 2563 ได้รับการพัฒนาจากไจก้า ให้เข้ามาศึกษารองรับ “ภัยแล้ง” ในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด โดยมีประเทศจีนเข้าร่วมศึกษาด้วย “มีการกล่าวกันว่า น้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง เป็นเพราะจีนไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อน หรือเกิดประเด็นอ่อนไหวต้องศึกษาให้รอบด้านว่า เพราะอะไร เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจีนเองได้เปิดเผยข้อมูลปริมาณน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน จากนี้ไปจะต้องขอข้อมูลว่า ช่วงฤดูเเล้ง จะศึกษาร่วมกันได้หรือไม่อย่างไร บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจเพราะที่ผ่านมาการแจ้งเตือนน้ำโขง เราได้รับข้อมูลจากจีน 2 สัปดาห์ล่วงหน้า เราต้องขอเพิ่มมากกว่านี้ และ MOU จะเพิ่มความเข้มข้น โดยที่รัฐบาลไทยจะเป็นประธานเพื่อติดตามใกล้ชิดดังนั้นจะเห็นว่า ‘ข้อมูล’ สำคัญที่สุด การหารือ ผลกระทบ วางมาตรการ ทั้งหมดเพื่อหากเกิดผลพิสูจน์ต้องมีกฎหมายเพื่อรองรับการเรียกร้องค่าชดเชย และประเทศเพื่อนบ้านต้องมีมาตรการท้ายน้ำจะกระทบเท่าไร ใครจะดูเเล ซึ่งควรมีราคาโครงการลงทุน ผ่านการศึกษาวิจัยร่วมกัน” นายสมเกียรติกล่าว โขงเปลี่ยนสี-ปลาหายไป ล่าสุดได้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีฟ้าใสขึ้นบริเวณจังหวัดหนองคาย-นครพนม สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนริมฝั่งโขง เนื่องจากไม่เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ประเด็นแม่น้ำโขงเปลี่ยนสีเป็นสีฟ้านี้ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำโขงในหน้าแล้งจะน้อยลง นิ่ง ตะกอนหาย เมื่อน้ำใสเกิดการสะท้อนสเปกตัมเกิดการชะล้าง น้ำโขงจึงเปลี่ยนสี แน่นอนว่า ในอดีตน้ำโขงมีปริมาณมาก ส่งผลให้กระแสน้ำทำให้ตะกอนลดลงไป ต่อจากนี้จึงต้องคำนึงถึงแผนเพิ่มตะกอน ผู้สร้างเขื่อนต้องเสนอแนวทางแก้ปัญหานี้ ถือเป็นความร่วมมือ “ปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสีต้องเข้าใจก่อนว่า ช่วงปี 2535 มีปริมาณน้ำต่ำที่สุดแล้ว ส่วนปีนี้ปริมาณน้ำโขงยิ่งต่ำกว่าปี 2535 ลงไปอีก แต่ข้อตกลงปี 2538 ระบุจะต้องไม่ต่ำสุดไปกว่านี้ แต่กระทั่งวันนี้ต่ำลงมากเกินข้อตกลงที่เคยระบุไว้แล้ว เราต้องเฝ้าจับตามองปริมาณน้ำกันใหม่” อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือทางระบบนิเวศกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตชาวประมงลุ่มน้ำโขง โดย นายอดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า สถานการณ์ของระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ลดลงมากถึงขั้นวิกฤต และมีการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำอย่างกะทันหัน สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง จากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น ทั้งภัยแล้ง การปล่อยน้ำของเขื่อนจีนที่อยู่ต้นน้ำโขง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็วได้อีก หากไม่เป็นไปตามระบบนิเวศ ลุ่มน้ำธรรมชาติส่งผลให้สัตว์น้ำทั้งในแม่น้ำโขง แม่น้ำสาขาของประเทศทั้งไทยและลาว และที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงในกระชังได้รับความเสียหายเพราะ สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน “เนื่องจากแม่น้ำโขงในส่วนของไทยเป็นแนวเขตพรมแดนและมีความต่อเนื่องกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สัตว์น้ำในแม่น้ำโขงโดยส่วนใหญ่มีแหล่งช่วงวัยที่แตกต่างกัน ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงต้องบูรณาการจัดการแบบข้ามพรมแดนผ่าน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพราะแม่น้ำโขงไม่ได้อยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของไทยเพียงประเทศเดียว “ผมยอมรับว่าจำนวนสัตว์น้ำบางชนิดในแม่น้ำโขงหายไปแล้ว หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบจำนวนและชนิดของสัตว์ เพื่อทำการขยายพันธุ์ กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ ต้องทำงานร่วมกันเพราะ ต่อจากนี้ไปปริมาณในแม่น้ำโขงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไวมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา เราต้องร่วมกันพัฒนาระบบการแจ้งเตือนแม่น้ำโขงไปยังเกษตรกรและชาวประมงริมน้ำให้เร็วมากยิ่งขึ้น” นายอดิศรกล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-407210

จำนวนผู้อ่าน: 2067

03 มกราคม 2020

วายแอลจี บูลเลี่ยน รายงานราคาทองคำประจำวันที่ 3 มกราคม 2563

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รายงานราคาทองคำประจำวันที่ 3 มกราคม 2563 ปัจจัยพื้นฐาน ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.51 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำที่อยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮเมื่อคืนนี้ ขานรับข่าวธนาคารกลางจีนประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) รวมทั้งความคืบหน้าในการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แม้ปกติแล้วการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นจะส่งผลเชิงลบต่อทองคำ แต่การทะยานขึ้นต่อเนื่องของตลาดหุ้นนั้นเริ่มทำให้นักลงทุนบางส่วนวิตกถึงการปรับฐานในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยง สถานการณ์ที่กล่าวมาช่วยหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนบริเวณ 1,531.33 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างวัน ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +2.05 ตัน ขณะที่เช้านี้ สื่ออิรักรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศที่สนามบินในกรุงแบกแดดของอิรัก โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิต คือ นายพลกอซิม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังอัลกุดส์อิหร่าน เหตุการณ์นี้อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางบานปลายมากยิ่งขึ้น จึงช่วยกระตุ้นแรงซื้อทองคำเพิ่มเติมในช่วงเช้าของวันนี้ สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐจาก ISM และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้าง ปัจจัยทางเทคนิก ราคาทองคำมีแรงขายทำกำไรระยะสั้นสลับออกมา หลังจากสร้างระดับสูงสุดใหม่ ทั้งนี้ หากแรงขายไม่มากพอจนกดดันให้ราคาหลุดบริเวณ 1,519 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ราคามีแนวโน้มจะกลับตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านด้านบน โดยเบื้องต้นจะมีกรอบแนวต้านราคาระหว่าง 1,536-1,546 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลยุทธ์การลงทุน พิจารณาเปิดสถานะซื้อหากราคาอ่อนตัวลงในโซน 1,519 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนหากราคาหลุด 1,510 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่หากราคากลับขึ้นไปยืนเหนือ 1,536 ดอลลาร์ต่อออนซ์ การถือสถานะขายต้องเพิ่มความระมัดระวัง คำแนะนำ หากราคายืนเหนือ 1,519 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แนะนำเปิดสถานะซื้อ(ตัดขาดทุนหากหลุด 1,510 ดอลลาร์ต่อออนซ์) โดยราคาทองคำยังคงค่อยๆ ปรับตัวขึ้นและทรงตัวในระดับสูง ดังนั้นการเปิดสถานะขายอาจต้องชะลอออกไปก่อน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-407283

จำนวนผู้อ่าน: 1977

03 มกราคม 2020

“ธนกร” เย้ย ไปสภาไม่เจอ “เฉลิม” ท้า “วัน” ซักฟอกรัฐบาลประยุทธ์

“ธนกร” ย้ำรัฐบาลเน้นทำงานให้ประชาชน เลี่ยงความขัดแย้งทางการเมือง มั่นใจ “บิ๊กตู่” พาประเทศไปต่อได้ เหน็บ พท.ศึกซักฟอกระวังหอกหันพุ่งใส่ตัวเอง นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางการเมืองปี 2563 มีแนวโน้มจะเข้มข้นขึ้น แต่ตนเชื่อว่าคงไม่มีการลุกลามบานปลายสร้างความเสียหายให้ประเทศเหมือนในอดีต เพราะพี่น้องประชาชนมีบทเรียนมาแล้ว คงไม่ยอมให้ประเทศเสียหาย และจะเป็นการซ้ำเติมประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะไม่ขอเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการเมือง มุ่งเน้นทำงานให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะจะมีการเร่งดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน การดูแลสวัสดิการ รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สามารถนำพาประเทศไปสู่จุดหมายที่ประชาชนคาดหวังได้ แม้ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคมากมายก็ตาม นายธนกรกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมขุนพล 25 คนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นเรื่องที่ดีที่ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบรัฐบาลตามกลไกรัฐสภา รัฐบาลพร้อมที่จะชี้แจงทุกประเด็น ไม่กลัวถูกน็อกกลางสภาฯ ตามที่ฝ่ายค้านขู่ เพราะมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต แต่ทางที่ดีฝ่ายค้านเองก็ต้องระวังด้วย เพราะหอกอาจจะหันพุ่งใส่ตัวเองก็ได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย สมัยที่เป็นรัฐบาลก็เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นใช่หรือไม่ ดังนั้น การจะอภิปรายกล่าวหารัฐบาล หากนำข้อมูลหลักฐานที่ไม่ถูกต้องก็ต้องรับผิดชอบด้วย  นายธนกรกล่าวด้วยว่า สำหรับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลการอภิปรายนั้น ด้วยความเคารพผู้อาวุโส แต่เท่าที่เห็นขณะนี้ยังไม่น่ากลัวอะไร โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ร.ต.อ.เฉลิมเองก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ท่านอยู่นอกสภาฯ ไม่ได้มาอภิปรายเอง ทำให้เวลามาสภาฯ คงไม่เจอเฉลิมแล้ว จะเจอก็แต่นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ลูกชายท่าน วันนี้ประชาชนจึงอยากให้นายวันเป็น 1 ใน 25 ขุนพลด้วย เพราะหวังว่าจะได้ฟังการอภิปรายที่ดีกว่า ส.ส.หน้าเดิมๆ ที่หมุนเวียนกันอภิปรายจนประชาชนเริ่มจะเบื่อ และเชื่อว่านายวันอาจจะมีลีลาการอภิปรายที่น่าสนใจมากกว่าก็เป็นได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-407266

จำนวนผู้อ่าน: 2460

03 มกราคม 2020

ค่าเงินบาท​เปิดที่​ 30.14 บาท/ดอลลาร์​ เทรน​ด์วันนี้​อ่อนค่า

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้า​นักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ เงินบาทเปิดเช้านี้​ (3​ ม.ค.)​ แข็งค่าที่ระดับ 30.14 บาทต่อดอลลาร์​สหรัฐ จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ โดย​กรอบเงินบาทวันนี้อยู่​ที่​ 30.10-30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ ทั้งนี้​ ในวันทำการแรกของปี​ (2​ ม.ค.)​ ตลาดการเงินทั่วโลกอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) หุ้นแทบทุกประเทศที่เปิดทำการปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งสหรัฐดัชนี S&P500 บวก 0.84% ทำสถิติใหม่ตลอดกาล เช่นเดียวกันกับฝั่งยุโรปที่ดัชนี Euro STOXX 50 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3793 จุดห่างจากจุดสูงสุดเดิมในช่วงปี 2015 ไม่ถึง 1% ฝั่งเศรษฐกิจยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก และประเด็นที่น่าสนใจจะเริ่มมีมากขึ้นในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่สัปดาห์ล่าสุด (Initial Jobless Claims) ที่ระดับ 2.22 แสนตำแหน่ง อาจทำให้มีความสงสัยว่าการจ้างงานในสหรัฐจะสามารถไปได้ต่ออีกแค่ไหน ขณะที่ในฝั่งตลาดการเงิน เริ่มเห็นเงินดอลลาร์หยุดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ในระยะสั้นหลังจากที่หุ้นสหรัฐปรับตัวบวกแรง แม้อัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปีจะทรงตัวที่ 1.87% แต่นักลงทุนบางกลุ่มยังคงมุมมองว่าเฟดจะ “ลดดอกเบี้ย” ต่อในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ต่อในระยะยาว ฝั่งเงินบาท หลังจากกระโดดขึ้นมาซื้อขายในระดับเดียวกับช่วงครึ่งเช้าของวันสิ้นปีที่ 30.10 บาทต่อดอลลาร์ ก็แทบไม่เคลื่อนไหว มีการไล่ราคาขึ้นอีกครั้งท้ายตลาดไปปิดที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ กลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดของเอเชียในวันทำการแรกของปี “สำหรับวันนี้ มองเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ตามทิศทางของดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินเอเชีย ขณะเดียวกันผู้ส่งออกกว่า 50% ก็ยังไม่กลับมาเปิดทำการทำให้เราไม่มีแรงขายดอลลาร์กดดัน” ด​ร.จิติพลกล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-407269

จำนวนผู้อ่าน: 1993

03 มกราคม 2020

10 อันดับสนามบินภูธร อุดรฯแชมป์ ผู้โดยสารมากสุดปี 62

จากสถิติข้อมูลการขนส่งทางอากาศของกรมท่าอากาศยานพบว่า ปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานภายใต้การดูแลกรมท่าอากาศยาน จำนวน 24 ท่าอากาศยานทั่วประเทศไทย มียอดผู้โดยสารใช้บริการกว่า 16,938,062 ล้านคน 131,194 เที่ยวบิน ซึ่งมีแนวโน้มความเป็นไปได้ จากการขยายตัวของความนิยมการเดินทางด้วยเครื่องบินในระดับภูมิภาค ที่ได้รับอิทธิพลจากสายการบินโลว์คอสต์ที่แพร่หลาย โดยท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารเป็น 10 อันดับแรกคือ 1.ท่าอากาศยานอุดรธานี มีจำนวนผู้โดยสารตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2,374,436 คน มี 17,058 เที่ยวบิน รองลงมาคือ 2.ท่าอากาศยานกระบี่ ผู้โดยสาร 2,278,575 คน มี 15,706 เที่ยวบิน ตามมาด้วย 3.ท่าอากาศยานขอนแก่น ผู้โดยสาร 1,782,391 คน มี 13,349 เที่ยวบิน 4.ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ผู้โดยสาร 1,692,462 คน มี 11,372 เที่ยวบิน 5.ท่าอากาศยานสุราษฎ์ธานี ผู้โดยสาร 1,646,427 คน มี 10,846 เที่ยวบิน 6.ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ผู้โดยสาร 1,395,571 คน มี 14,620 เที่ยวบิน 7.ท่าอากาศยานพิษณุโลก ผู้โดยสาร 650,443 คน มี 5,375 เที่ยวบิน 8.ท่าอากาศยานตรัง ผู้โดยสาร 643,117 คน มี 4,152 เที่ยวบิน 9.ท่าอากาศยานสกลนคร ผู้โดยสาร 365,951 คน มี 2,707 เที่ยวบิน และ 10.ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ผู้โดยสาร 361,768 คน มี 2,520 เที่ยวบิน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบิน ทั้งหมด 10 อันดับ ดังนี้ 1) ท่าอากาศยานอุดรธานี ขาเข้า 1,182,702 คน ขาออก 1,191,734 คน 2) ท่าอากาศยานกระบี่ ขาเข้า 1,113,510 คน ขาออก 1,165,065 คน 3) ท่าอากาศยานขอนแก่น ขาเข้า 886,503 คน ขาออก 895,888 คน 4) ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ขาเข้า 1,182,702 ขาออก 1,191,734 5) ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ขาเข้า 820,031 คน ขาออก 850,773 คน 6) ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ขาเข้า 694,691 คน ขาออก 700,880 คน 7) ท่าอากาศยานพิษณุโลก ขาเข้า 323,195 คน ขาออก 327,248 คน 8) ท่าอากาศยานตรัง ขาเข้า 318,886 คน ขาออก 324,321 คน 9) ท่าอากาศยานสกลนคร ขาเข้า 183,552 คน ขาออก 182,399 คน และ 10) ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ขาเข้า 178,861 คน ขาออก 182,907 คน รวมผู้โดยสารขาเข้า 6,543,620 คน ขาออก 6,647,545 คน ในขณะที่ท่าอากาศยานอื่น ๆ 14 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าอากาศยานเลย 2) ท่าอากาศยานแพร่ 3) ท่าอากาศยานแม่สอด 4) ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน 5) ท่าอากาศยานชุมพร 6) ท่าอากาศยานนครพนม 7) ท่าอากาศยานนครราชสีมา 8) ท่าอากาศยานนราธิวาส 9) ท่าอากาศยานน่านนคร 10) ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 11) ท่าอากาศยานปาย 12) ท่าอากาศยานระนอง 13) ท่าอากาศยานลำปาง และ 14) ท่าอากาศยานหัวหิน พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน มีอัตราผู้โดยสารขาเข้า 1,181,285 คน และขาออก 1,205,009 คน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-406909

จำนวนผู้อ่าน: 2102

03 มกราคม 2020

บีทีเอสขยายเวลานั่งฟรี ไม่มีกำหนด จากห้าแยกลาดพร้าว – ม.เกษตรฯ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTSC) เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562 กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดทดลองให้บริการเดินรถฟรีถึงวันที่ 2 ม.ค.2563 รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 4 สถานี จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนพหลโยธินฃและถนนวิภาวดีรังสิต ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้งจากกทม.ให้เก็บค่าโดยสารแต่อย่างใด รายงานข่าวจากกทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดว่าสายสีเขียวต่อขยายจากห้าแยกลาดพร้าว-เกษตศาสตร์และส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จะเปิดให้บริการฟรีไปจนกว่าสัญญาสัมปทานสายสีเขียวทั้งโครงการจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งในรายละเอียดจะมีการเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น15บาท สูงสุด65บาทและเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว สำหรับสายสีเขียวช่วงหมอชิต- สะพานใหม่- คูคต เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบนส่งมวลชนทางรางตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561- พ.ศ.2580) ของรัฐบาล ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อสร้างฯ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยได้เริ่มก่อสร้างในปี 2558 ส่วนกทม.ดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเดินรถไฟฟ้าตามมติของคณะกรรมการจัดการระบบจราจรทางบกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เรื่องการมอบหมายให้เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเกือบ 100% โดยกทม.คาดว่ามีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 100,000 เที่ยวคนต่อวัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ สถานศึกษา ศูนย์การค้า และย่านที่พักอาศัยหนาแน่น และหากเปิดเดินรถเต็มระบบจากสถานีหมอชิตถึงสถานีปลายทางคูคต ในช่วงปลายปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 200,000 เที่ยวคนต่อวัน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-406984

จำนวนผู้อ่าน: 1940

03 มกราคม 2020

การเมืองร้อนปีหนูดุ จัดแถว 10 ปลัด-โยกบิ๊กรัฐวิสาหกิจ 4 เหล่าทัพสับเปลี่ยนกำลัง

การเมืองปี 2563 ร้อนแรง-เข้มข้น เสียดทานเสถียรภาพของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ภายหลังผ่านจุดปริ่มน้ำ-ลอยลำ 264 เสียง แต่ยังต้องเผชิญหน้าสภาวะศึกใน-ศึกนอกพรรคร่วมรัฐบาล ศึกในพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดจากการจัดสรร-ปันส่วนไม่ลงตัว เขย่า 6 มุ้งใหญ่ กระเพื่อม 10 ก๊กย่อย ขย่มเก้าอี้หัวหน้า-เลขาธิการพรรค สะเทือนเก้าอี้รัฐมนตรี การเมืองร้อนปีหนูดุ เมื่อ “ทีมสมคิด-สี่กุมาร” ผนึก “สามมิตร” เปิดแนวรบ “มุ้งบิ๊กป้อม” รอวันเปิดศึกครั้งใหม่ สะท้านสะเทือนถึงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ศึกในพรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ยังเป็น “พรรคขั้วตัวแปร” ซุ่มสั่งสม ตุนคะแนนเสียง-จำนวนมือ (งูเห่า) ตั้งป้อม ต่อรอง-พิทักษ์โควตา ยังมี 10 เสียง “พรรคจิ๋ว” ที่สร้างเกมปั่นราคา ตีรวน ผสมโรง “งูเห่า” นอกรัฐบาล ต่อรองทุกวาระ สารพัดสนิมเนื้อในกัดกร่อนรัฐบาล 18 พรรค 264 เสียง ที่อาจพลิกผันเป็นทั้งฝ่ายชนะและพ่ายแพ้ได้ชั่วข้ามคืน สับเปลี่ยนกำลัง 4 เหล่าทัพ ในราวไตรมาสแรกของปี 2563 ก่อนขึ้นไตรมาสที่สอง รัฐบาลจะขับเคี่ยวกับเกมอภิปราย-วาระงบประมาณ 2563 รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ จาก 3 พรรค อยู่ในเป้าหมายของฝ่ายค้าน รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง-และเนติบริกรรุ่นใหญ่ หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 1เชื่อมต่อกับการหมดวาระของเหล่าผู้บริหารรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ ในช่วงเดือนเมษายน 2563 จึงมีการเตรียมการสับเปลี่ยนกำลังใหม่อีกครั้งทั้งสนามใหญ่และสนามเล็กที่เสาชิงช้ากรุงเทพมหานคร ที่เป็นการปะทะกันระหว่างทีม “รัฐบาลพลังประชารัฐ” วางเดิมพันสูง หวังชนะเด็ดขาด-ไร้รอยต่อเป็นเนื้อเดียวกับศูนย์รวมอำนาจ ทั้งโครงสร้างอำนาจหลัก ที่ค้ำยันรัฐบาลบิ๊กทหาร-บิ๊กตำรวจ และบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ถูกนำรายชื่อเข้าลิสต์ใหม่ เตรียมแต่งตั้ง-โยกย้ายนอกฤดูกาล เชื่อมต่อกับข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ที่เข้าสู่โหมดเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2563 อีกนับ 10 ตำแหน่ง ในส่วนกำลังหลัก-กองกำลังรบ เคียงบ่าเคียงไหล่ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-3 ป. ตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมปลดระวาง-จัดแถวใหม่ ครบทุกตำแหน่งในผู้บริหารเหล่าทัพบก-เรือ-อากาศ และตำรวจ ทั้ง 4 ตำแหน่งใหญ่เกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2563 ดังนี้ 1.”บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงจากตำแหน่งโดยมี “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เป็นแคนดิเดต 2.”บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ครบวาระ มี “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็นแคนดิเดต 3.”บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) 4.”บิ๊กนัต” พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ ผู้เป็น”ดาวฤกษ์” มีแสงในตัวเอง ถูกจับจ้องเป็น “ทายาท” พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ และ “วิธีพิเศษ” เป็น “ดุลอำนาจที่ 4” ค้ำยัน “รัฐบาลพิเศษ” ขณะที่ “ระเบิดเวลา” การเมืองฝ่ายนิติบัญญัติ ยังผูกติดกับเกมแก้รัฐธรรมนูญตลอดทั้งปี 2563 แม้เป็นเพียงระดับคณะกรรมาธิการขั้นศึกษาแต่ธงของฝ่ายรัฐบาลปักหลักแก้เฉพาะ “รายมาตรา” เท่านั้น ! สวนทางฝ่ายค้านที่ต้องการรื้อทั้งฉบับ จึงวัดกันที่ชอตด่านสุดท้ายคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่เป็นลูกคู่ฝ่ายบริหาร-รัฐบาล ที่กระโดดขวางการรื้อทั้งฉบับตั้งแต่ไก่โห่ คดียุบพรรคอนาคตใหม่ อีกด้าน สถานการณ์ร้อนแรงที่สุดตั้งแต่เปิดศักราช 2563 โฟกัสสำคัญอยู่ที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คืออนาคตของพรรคอนาคตใหม่ จากที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ได้ 81 เสียงจากการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แต่กำลังกลายเป็นดาวร่วงต้องเผชิญหน้ากับ 2 คดียุบพรรค กรณีแรก คำร้องของ “ณฐพร โตประยูร” ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ หัวหน้าพรรค-เลขาพรรค และกรรมการบริหารพรรคใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ที่เรียกว่าคดีอะลูมินาติ โดยนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันอังคารที่ 21 ม.ค. 63 โดยไม่มีการไต่สวน กรณีที่สอง คำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่ “ธนาธร” ให้พรรคกู้เงิน ซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญให้พรรคอนาคตใหม่ส่งคำชี้แจงภาย 15 วัน จะครบกำหนดวันที่ 9 ม.ค. 2563 ชะตากรรมอนาคตใหม่ อาจวัดดวงกันในวันที่ 21 ม.ค. 2563 หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” กรณีล้มล้างการปกครอง เท่ากับว่า คดีเงินกู้อาจไม่ต้องพิจารณาอีก เพราะพรรคมีพรรคเดียว ยุบแล้วยุบเลย “ธนาธร” หัวหน้าพรรค กล่าวว่า “ยุบพรรคยุบได้ แต่จะยุบอุดมการณ์ หรือยุบความตั้งใจแน่วแน่อย่างนี้ไม่ได้ ยุบก็สร้างใหม่ ยุบก็สู้ต่อ ซึ่งหากโดนยุบพรรคเราก็ยังมี ส.ส.ในสภาอยู่ ยุบพรรคไม่ได้หมายความว่า ส.ส.ของเราจะหายไป” อนาคตใหม่ อาจย้ายไปอยู่พรรคใหม่ที่เตรียมไว้ และอีกขาหนึ่งจะลงถนน เปิดเกมนอกสภาอันดุเดือด ยังมีอีก 2 คดีในศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2563 ที่อาจกลายเป็นจุดพลิกผัน คือ “ถือหุ้นสื่อ” ของ 64 ส.ส.ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณาฝ่ายละ 32 คน เนื่องจากถือหุ้นในบริษัทที่อาจเข้าข่ายประกอบกิจการสื่อ ทั้ง 2 คดี 2 ฝ่าย มีสุ่มเสี่ยงที่จะ ส.ส.หายไปหลายคน (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images) ฝ่ายค้านระส่ำ-เสียงต่ำกว่าครึ่ง เกมในสภาก็ดุเดือดเข้มข้น แม้ว่าฝ่ายค้าน 7 พรรค จะถูกกร่อนกำลังทั้งจากเกม “งูเห่า” เกม “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ และเกม “เลือกตั้งซ่อม” จากเดิมฝ่ายค้านมีเสียงในสภา 244 เสียง แต่ตอนนี้ฝ่ายค้านเหลือเสียง “อย่างเป็นทางการ” แค่ 239 เสียง หลังเสีย 4 ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ ไปอยู่ขั้วรัฐบาลจาก “พิษงูเห่า” จนต้องขับ ส.ส.4 รายออกจากพรรค และเลือกตั้งซ่อมขอนแก่น เขต 7 ที่พรรคเพื่อไทย เสียที่มั่นสำคัญให้กับพลังประชารัฐ และหากนับ 4 เสียง “ไม่เป็นทางการ” ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ขอ “โหวตตามใจฉัน” ไม่แคร์มติพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้น จำนวนมือในสภาของฝ่ายค้าน ทั้ง “ทางการ” และ “ไม่ทางการ” จะเพียงแค่ 235 เสียงเท่านั้น จากสถานการณ์นี้ผกผันให้ฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงในสภาโดดขึ้นจาก 255 เสียง ทะลุไป 264 เสียง กลายเป็น “รัฐบาลเหนือน้ำ” ทันที ภารกิจจานร้อนที่สุด 264 เสียงรัฐบาล เปิดหน้าสู้กับ 235 เสียง ต่างกัน 29 เสียง ต้องสู้ศึกใน 2 ศึกสำคัญ ศึกแรก การอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะเข้าสู่การลงมติวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 8-10 ม.ค. 2563 จากนั้นอีก 3 วัน 7 พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 13 ม.ค. 2563 เพื่อไทย ดัน “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” ในฐานะประธานกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย เตรียมข้อมูลซักฟอกรัฐบาล 4 ชื่อที่เปิดเผยคือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ หัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ 2.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ 3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ 4.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ยังมีอีก 2 ชื่อที่ยังไม่เปิดเผย คาดการณ์ว่า จะเป็นผู้มีบารมี 2 ป.ในรัฐบาล “ป้อม-ป๊อก” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย การเมืองปี 2563 จึงดุ-เด็ด-เผ็ด-ร้อน ตั้งแต่สนามเล็ก-สนามใหญ่ ระดับชาติ ทั้งในทำเนียบรัฐบาล-รัฐสภา และท้องถนน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-406954

จำนวนผู้อ่าน: 2226

03 มกราคม 2020

ถอดบทเรียน วิกฤต “ละตินอเมริกา” ติดกับดัก “ประชานิยม”

REUTERS/Ueslei Marcelino ปี 2019 “ละตินอเมริกา” เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก “ไฟแนนเชียลไทมส์” รายงานว่า ปัญหาของละตินอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุด “วัฏจักรการเติบโตของสินค้าโภคภัณฑ์” ทั้งน้ำมัน ทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตร ซึ่งแม้จะได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่หลายประเทศกลับขาดการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเสพติดนโยบาย “ประชานิยม” ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาร์เจนตินา เวเนซุเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และอีกหลายประเทศ บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ “แมคคินซีย์” ระบุว่า ช่วงปี 2000-2016 ละตินอเมริกามีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.8% ต่อปี ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกามาจาก “วัฏจักรการเติบโตของราคาสินค้าโภคภัณฑ์” ซึ่งมีความเปราะบางมาก อย่างไรก็ตาม ในการลดความยากจนนับว่าประสบความสำเร็จในแง่ของตัวเลข โดยนับตั้งแต่ปี 2000 ชาวละตินอเมริกากว่า 56 ล้านคน หลุดพ้นความยากจน โดยมีรายได้มากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ทำให้สัดส่วนของคนยากจนลดลงจาก 27% เป็น 13% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของรายได้มีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงนโยบายประชานิยม เช่น การอุดหนุนราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน รวมถึงการแจกเงินประชาชน นอกจากนี้พบว่าประชากรประมาณ 152 ล้านคน หรือราว 30% ยังมีรายได้เพียง 5-11 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะกลับเข้าสู่ความยากจน เมื่อรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาสินค้า จึงกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทั้งการยึดสินทรัพย์ของเอกชนมาเป็นของรัฐบาล ขณะที่บางประเทศมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจแต่ผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของนายทุนเพียงแค่ไม่กี่คน สร้างระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดขึ้นมา โดยพบว่าบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในละตินอเมริกาผูกขาดอยู่กับธุรกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อสร้างความนิยมจากประชาชน และรักษาฐานอำนาจ กลับยิ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันตลาดเสรี รายงานยังระบุอีกว่า บรรยากาศทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีจำนวนบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งกับความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้จากการผูกขาดตลาด ทำให้แรงงานจำนวนมากทำงานอยู่ในบริษัทขนาดเล็กที่ประสิทธิภาพต่ำ และส่วนใหญ่จัดตั้งอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเพิ่มรายได้ของประชาชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงพบว่าประชากรจากฐานล่างของพีระมิด 90% มีสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศเพียง 64% ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นทั่วโลก ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหาส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ, ปัญหาเงินเฟ้อ, การขาดดุลชำระเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดดุลการค้าและเงินทุนไหลออก, การขาดดุลงบประมาณซึ่งทำให้เกิดหนี้สาธารณะมหาศาลในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยิ่งส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ทำให้หลายประเทศต้องขอความช่วยเหลือจาก “ไอเอ็มเอฟ” ซึ่งตั้งเงื่อนไขว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำนโยบายรัดเข็มขัด ทั้งนี้ การลดรายจ่ายรัฐบาลย่อมกระทบกับนโยบายประชานิยมในหลายประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน โดย อัลจาซีรา รายงานว่า ประชาชนใน “เอกวาดอร์” ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล จากสาเหตุการยุติการอุดหนุนราคาน้ำมัน รวมถึงในอีกหลายประเทศที่เผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกัน ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดใน “อาร์เจนตินา” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง นำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล “เฟอร์นานเดซ” ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย โดยภายหลังเข้าสู่อำนาจ รัฐบาลดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับภาคธุรกิจ รอยเตอร์ส รายงานเมื่อ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า “มาร์ติน กุซแมน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอาร์เจนตินา ประกาศเสนอกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดเวอร์ชั่น”เอียงซ้าย” เข้าสู่สภา โดยการเก็บภาษีภาคธุรกิจเพิ่ม เช่น ภาษีแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพิ่ม 30% ภาษีสินค้าส่งออกซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรเพิ่ม 3% โดยกฎหมายฉบับนี้ได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาอาร์เจนตินา เมื่อ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เปรียบเสมือน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ” ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ กฎหมายดังกล่าวเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เอื้อในการทำธุรกิจและการแข่งขัน ซึ่งเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของวิกฤตที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าติดตามว่า ปี 2020 รัฐบาลอาร์เจนตินาอาจออกมาตรการที่กระทบกับภาคธุรกิจอีก ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดในอีกหลายประเทศด้วยการลดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมต่าง ๆ ทำให้เกิดการประท้วงของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ละตินอเมริกาติดกับดักทางเศรษฐกิจที่ยากจะหาทางออกได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : prachachat.net/world-news/news-407252

จำนวนผู้อ่าน: 2003

03 มกราคม 2020

ยักษ์ร้านอาหารเปิดศึกชิง 4 แสนล้าน ทุ่มซื้อกิจการ-ดีลิเวอรี่สปีดรายได้

แฟ้มภาพ สมรภูมิร้านอาหารระอุข้ามปี ! ค่ายใหญ่เงินหนาส่งสัญญาณกว้านซื้อแบรนด์เติมพอร์ตรัว ๆ หวังขยายฐานลูกค้าคลุมทุกเซ็กเมนต์ “ซีอาร์จี-ไมเนอร์-เซ็น-โออิชิ” เปิดศึกชิงกำลังซื้อ เฟ้นกลยุทธ์รอบด้านเติมรายได้/กำไร พร้อมปรับตัวรุกหนักดีลิเวอรี่ ปั้นแพลตฟอร์มเองไม่ง้อแกร็บฟู้ด/ไลน์แมน ตลอดปี 2562 แม้ตลาดร้านอาหารมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท จะเผชิญหน้ากับกำลังซื้อที่มีปัญหา แต่ในภาพรวมก็ยังเติบโตได้ 3-4% จากการปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ โดยเฉพาะร้านอาหารค่ายใหญ่ที่เดินหน้าไล่ซื้อแบรนด์หรือปั้นแบรนด์ใหม่ ๆ ควบคู่กับการพัฒนาเมนูใหม่เพิ่มทางเลือก รวมถึงเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ ใช้ฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นหัวหอกเพิ่มโอกาสในการขาย นับวันช่องทางนี้ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท ก็จะเติบโตเพิ่มขึ้นและแข่งขันมากขึ้น “ซีอาร์จี” รุกรอบทิศ นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ระบุว่า ปี 2563 จะยังเน้นการพัฒนาแบรนด์ใหม่ ทั้งสร้างแบรนด์เอง และควบรวมหรือซื้อกิจการ พัฒนาช่องทางขายดีลิเวอรี่ที่เติบโต 10-15% ต่อปี และจะเพิ่มเมนูใหม่ ๆ ส่งเฉพาะช่องทางดีลิเวอรี่เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาครัวกลาง “คลาวด์คิตเช่น” รวมเมนูร้านอร่อยดี และร้านอาหารแบรนด์ดังกว่า 10 แบรนด์ และให้บริการผ่านแอป “ฟู้ด ฮันต์” เป้าหมายต่อไปจะมุ่งต่อยอดการสร้าง “ไฮบริดคิตเช่น” มีช่องทางจำหน่าย 4 รูปแบบ ได้แก่ สั่งอาหารนั่งทานที่ร้าน สั่งซื้อกลับบ้าน หรือสั่งล่วงหน้าทางออนไลน์แล้วมารับเองที่หน้าร้าน และดีลิเวอรี่ ซึ่งปัจจุบันดีลิเวอรี่ของทุกแบรนด์ในเครือซีอาร์จี (ยกเว้นเคเอฟซี) มียอดขาย 300 ล้านบาท เป็นโทร.สั่ง 30% และสั่งผ่านแอป 70% ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ซีอาร์จีเป็นหนึ่งในเครือร้านอาหารที่เปิดตัวแบรนด์ใหม่มากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาเปิดตัว 5 แบรนด์ เป็นร้านที่ซีอาร์จียังไม่เคยทำตลาดมาก่อน แบ่งเป็นแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นเอง 4 แบรนด์ ได้แก่ อร่อยดี ร้านอาหารแนวสตรีตฟู้ด, สุกี้เฮาส์, ซอฟต์แอร์ ร้านไอศกรีมแบบซอฟต์เสิร์ฟ, เกาลูน ร้านอาหารจีน และอีก 1 แบรนด์ที่เทกโอเวอร์เข้ามาล่าสุดเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ สลัด แฟคทอรี่ ทุ่มเงิน 137 ล้านบาท ถือหุ้น 51% บริษัท กรีน ฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด เจ้าของสลัด แฟคทอรี่ มี 7 แห่ง ปัจจุบันซีอาร์จีมีร้านอาหาร 16 แบรนด์ รวมกว่า 1,037 สาขา “ไมเนอร์ฟู้ด” รุกหนักดีลิเวอรี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเข้าซื้อกิจการไก่ทอดเกาหลี บอนชอน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหาร อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง ฯลฯ ได้พัฒนาเมนูใหม่ ๆ และปรับปรุงภาพลักษณ์แบรนด์ที่มีให้ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อรับกับการแข่งขันที่รุนแรง เพิ่มจำนวนลูกค้าและค่าใช้จ่ายต่อบิล ตลอดจนพัฒนาบริการดีลิเวอรี่ให้ครอบคลุมมากขึ้น ก่อนหน้านี้ นางสาวจุฑาทิพย์ อดุลพันธุ์ รองประธานฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้เปิดตัวแอป “1112 ดีลิเวอรี่” เพื่อขยายช่องทางขาย นำร่องจัดส่งในกรุงเทพฯและปริมณฑลและจะทยอยให้บริการทั่วประเทศ พร้อมจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่างเก็ท หรือแกร็บฟู้ดและเตรียมพัฒนาเมนูนวัตกรรมใหม่ ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 พร้อมขยายสาขาเดอะ พิซซ่า คอมปะนี แดรี่ควีน เดอะคอฟฟี่คลับ ไซซ์เล็ก เน้นในสำนักงานและปั๊มน้ำมัน ตั้งเป้าใน 5 ปีร้านในเครือไมเนอร์จะมี 4,400 สาขา “โออิชิ” สร้างแพลตฟอร์มตัวเอง นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ระบุถึงการตั้งบริษัทใหม่ “โออิชิ ดีลิเวอรี่ จำกัด” เพื่อรุกตลาดดีลิเวอรี่ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ Bev Food สำหรับสั่งอาหารจากร้านในเครือโออิชิทั้ง 7 แบรนด์ อาทิ โออิชิแกรนด์ โออิชิอีทเทอเรียม โออิชิบุฟเฟต เป็นต้น ก่อนขยายไปสู่ธุรกิจร้านอาหารอื่น ๆ ในเครือของไทยเบฟรองรับกับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาแบรนด์ใหม่ “โอโยกิ” ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟสไตล์ญี่ปุ่น ปัจจุบันมี 2 สาขาที่สีลมคอมเพล็กซ์ และสามย่านมิตรทาวน์ ZEN-MK ไม่หยุดหาแบรนด์ใหม่ นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ให้บริการร้านอาหารเซ็น, ออนเดอะเทเบิล, ตำมั่ว, เขียง ฯลฯ เปิดเผยว่า บริษัทต้องการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้ครอบคลุมขึ้น ผ่านสินค้า แบรนด์ และประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ล่าสุดเปิดตัว FOO Flavor ร้านอาหารสไตล์อาเซียน และมีแบรนด์ร้านอาหารจีน DINS ในรูปแบบแฟรนไชส์ที่จะเปิดที่สามย่านมิตรทาวน์ ทั้งมีแผนลงทุนเพื่อพัฒนาครัวกลางรองรับดีลิเวอรี่ทดแทนการเปิดหน้าร้านใช้พื้นที่ 100-200 ตร.ม. ล่าสุดนำร่องแบรนด์ “เขียง” ทีศาลาแดง โดยปี 2563 มีแผนเปิดสาขาเพิ่ม 100 แห่ง เป็นครัวกลาง 40% จากที่ผ่านมาได้เข้าไปจับมือกับแอปพลิเคชั่นฟู้ดแพนด้า, ไลน์แมน, แกร็บฟู้ด ฯลฯ รวมถึงบริการดีลิเวอรี่ที่สั่งผ่านเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละสาขา รับกับเทรนด์ที่ตลาดดีลิเวอรี่จะเติบโตสูงในอนาคต ด้านนายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ ว่า เอ็มเคจะยังคงให้ความสำคัญกับการมุ่งขยายธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มประเภทของกลุ่มเมนูอาหารให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบการซื้อไลเซนส์ การร่วมทุน และซื้อกิจการ ตลอดจนการพัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ ขึ้นมา จากก่อนหน้านี้ที่เพิ่งซื้อกิจการแหลมเจริญซีฟู้ด ซึ่งเอ็มเคจะเข้าไปช่วยสร้างแบรนด์และทำการตลาด เพื่อบุกตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมีแผนจะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการ ล่าสุดได้นำแอปพลิเคชั่นสำหรับการจองคิวเพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้ลูกค้า และเตรียมนำระบบเอไอเข้ามาช่วยวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการได้ตรงจุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารมีการเปลี่ยนมือจากการซื้อขายกิจการกันหลายราย โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่พยายามหาแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ตฯอย่างต่อเนื่อง อาทิ ไมเนอร์ กรุ๊ป ที่ซื้อกิจการบอนชอน ไก่ทอดเกาหลีชื่อดังมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท, สิงห์ ซื้อกิจการ ซานตา เฟ่ สเต็ก เฮ้าส์ มูลค่า 1.5 พันล้านบาท, เอ็มเค ซื้อแหลมเจริญซีฟู้ด มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท, ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของบาร์บีคิวพลาซ่า ซื้อกิจการร้านอาหารเกาหลี เรดซัน, วีรันดา ซื้อร้านคาเฟ่ขนมหวาน แกรม และพาลโบ จากเครือใบหยกกว่า 110 ล้านบาท เป็นต้น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-406869

จำนวนผู้อ่าน: 1933

03 มกราคม 2020

2 ทศวรรษ ป.ป.ช.! “วรวิทย์” ขีดเส้นปี 63 สาง 15 คดีร้อน จีทูจีล็อต2-โรลส์-รอยซ์ ระทึก

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวในวาระครบรอบ 20 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. “2 ทศวรรษ ป.ป.ช. ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล” กับความมุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต” ว่า ในปี พ.ศ. 2563 จะดำเนินการไต่สวนคดีให้แล้วเสร็จ 15 อย่างน้อย 15 คดี ได้แก่ 1. คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและของประเทศ ปี 2556 2. คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปี 2557 3. คดีทุจริตในการดำเนินการก่อสร้างฝายและเพาะชำปลูกหญ้าแฝกตามโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ (ฝายแม้ว) 4. คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ 5. คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ภาค 2 6. คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ 7. คดีทุจริตเงินทอนวัด (36/47) 8. คดีทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT200 และอัลฟ่า 6 (17/20) 9. คดีทุจริตสร้างสนามกีฬาฟุตซอล 10. คดีทุจริตเรียกรับเงินจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระทำให้ผู้นำเข้าเสียภาษีน้อยลง (รถหรู) 11. คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มและผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย 12. คดีทุจริตในการซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777 – 200 ER ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) (โรลส์-รอยซ์) 13. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง และในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ 14. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินตำบลเขากะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด และ 15. คดีทุจริตในการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนเขาเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเตียนและป่าเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา ​นายวรวิทย์กล่าวว่า งานสำคัญที่เป็นเรื่องท้าทายการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในลำดับต่อไป ได้แก่ 1. เร่งรัดการดำเนินคดีค้างเก่าและใหม่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด 2. พัฒนาบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช.ให้มีประสิทธิภาพเป็นมืออาชีพทั้งงานปราบปราม งานตรวจสอบทรัพย์สิน และงานป้องกัน 3. พัฒนาสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้เป็นสถาบันป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในระดับสากล 4. การป้องกันการทุจริตเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม 5. เป็นศูนย์กลางข้อมูลงานปราบปรามการทุจริต 6. หน่วยงานของรัฐเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมความโปร่งใสมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2565 7. เป็นองค์กรดิจิทัลด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและระดับสากล   ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-392756

จำนวนผู้อ่าน: 2227

19 พฤศจิกายน 2019

“ทรัมป์” เมินลดภาษีกดดันหุ้นไทยเสี่ยงทดสอบ 1,600 จุดวันนี้

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เปิดเผยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้าวันที่ 19 พ.ย.62 ว่า เรามีมุมมองเป็นลบ คาดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) อ่อนตัวลงทดสอบ 1,600 จุดก่อนจะสลับรีบาวด์ จากความไม่แน่นอนการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าจะไม่มีการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทางจีนเรียกร้องก่อนที่จะทำข้อตกลงการเค้าเฟสแรก ส่งผลให้บรรยากาศ (sentiment) การลงทุนเป็นลบ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง นอกจากนี้ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/62 ของไทยที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดโดยขยายตัวเพียง 2.4% และสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.6% (จากเดิม 2.7 – 3.2%) รวมถึงกระแสเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ยังคงชะลอตัวจะเป็นแรงกดดันต่อภาวะตลาด ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกลงทุนรายตัว (Selective Buy) ในกลุ่มที่คาดว่างบไตรมาส 4/62 ยังคงเติบโตขึ้น ได้แก่ CPF, ERW, TASCO, EPG, SAWAD, MTC และ JMT รวมถึงหุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive Stock) ได้แก่ AOT, INTUCH, ADVANC, BEM, BTS, BDMS, BCH, CHG, GPSC และ TTW นอกจากนี้ แนะนำหุ้นที่ได้รับการปรับน้ำหนักเข้าคำนวณในดัชนี MSCI (MSCI Rebalance) ได้แก่ KKP มีผล 26 พ.ย.62 โดยกลุ่มมาตรฐานโลก (Global Standard) จะเพิ่ม BGRIM, GPSC, OSP และ SAWAD เข้าคำนวณ ส่วนกลุ่มหุ้นเล็ก (Small Cap) จะเพิ่ม CENTEL, DOHOME, JMT, SPRC, STPI, TPIPP และ TQM เข้าคำนวณ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392746

จำนวนผู้อ่าน: 2147

19 พฤศจิกายน 2019

ค่าเงินบาทเช้า​นี้อยู่​ที่​ 30.19 บ./ดอลลาร์​ แข็งค่า​หลุด​ 30.20 บ.อีกครั้ง​ หลังดอลลาร์​อ่อน-เจรจาเทรดวอร์ไม่​คืบ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้า​นักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาท เปิดเช้าวันนี้​ (19​ พ.ย.)​ แข็งค่ามาที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ จากปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ โดย​กรอบเงินบาทวันนี้อยู่​ที่​ 30.15- 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ สำหรับ​ช่วงนี้ตลาดการเงินยังติดอยู่กับข่าวการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ไม่ได้มีความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็มีการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงในฮ่องกงกับตำรวจ ทำให้อารมณ์การลงทุนชะงักงัน ล่าสุดดัชนีหุ้น S&P500 ฝั่งสหรัฐปรับตัวบวก 0.1% และ HSI Future ของฮ่องกงเตรียมเปิดลบ 0.33% ทั้งนี้​ ในฝั่งตลาดเงิน เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.1% และผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวลงมาที่ระดับ 1.81% หลังจากมีข่าวว่านาย​โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดี​สหรัฐอเมริกา​ได้พบกับประธานธนาคารกลาง​สหรัฐ (เฟด)​ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ทั้งหมดมีการหารือกันเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ขณะเดียวกัน ฝั่งอังกฤษค่าเงินปอนด์ก็แข็งค่าขึ้น 0.4% เนื่องจากพรรค Conservative มีคะแนนนำคู่แข่งมากในการทำโพลล์ล่าสุด “ด้านเงินบาทในคืนที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนหลักจากหารอ่อนค่าของดอลลาร์ จึงปรับตัวลงหลุดระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง สำหรับวันนี้จึงต้องติดตามดูทิศทางของตลาดการเงินฝั่งเอเชียต่อ ถ้าสามารถเร่งตัวบวกขึ้นต่อ ก็จะสามารถหนุนให้สกุลเงินเอเชียและเงินบาทแข็งค่าต่อได้ด้วย” ด​ร.จิติพลกล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392721

จำนวนผู้อ่าน: 2138

19 พฤศจิกายน 2019

“ชิมช้อปใช้เฟส 3” รอบปชช.ทั่วไปครบแล้ว-รอบผู้สูงอายุยังลงทะเบียนได้อยู่อีก 381,052 สิทธิ

แฟ้มภาพ มาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” รอบประชาชนทั่วไปมีผู้ลงทะเบียนครบจำนวนแล้ว สำหรับรอบผู้สูงอายุยังสามารถลงทะเบียนได้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ได้เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ลงทะเบียนครบ 1.5 ล้านรายแล้ว และเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ที่เป็นการเปิดลงทะเบียนรอบพิเศษสำหรับผู้มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 28,773 สิทธิ ซึ่งผู้สูงอายุที่สนใจเข้าร่วมมาตรการยังสามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่องทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 – 18.00 น. ซึ่งกระทรวงการคลังจะประเมินความเหมาะสมในการยุติการลงทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ครบทุกคน และสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถลงทะเบียนด้วยตนเองได้ ทางธนาคารกรุงไทยมีบริการอำนวยความสะดวกช่วยลงทะเบียน โดยสามารถติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทยที่อยู่ใกล้บ้าน สำหรับการใช้จ่ายของประชาชนตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 พบว่า เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังคาดหมายไว้ กล่าวคือ มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 11,738,468 ราย มีการใช้จ่ายรวม 13,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจาก g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 11,569 ล้านบาท สำหรับ g-Wallet ช่อง 2 มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 117,859 ราย มียอดการใช้จ่ายรวม 1,548 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 13,134 บาท โดยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไข การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ให้สะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัดรวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน และขยายระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 ซึ่งรวมถึงผู้ได้รับสิทธิ์เดิมด้วย และการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 จะได้รับเงินคืน โดยไม่ต้องรอจนถึงสิ้นสุดโครงการ กล่าวคือ ตั้งแต่เริ่มมาตรการจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 จะได้รับเงินชดเชยในเดือนธันวาคม 2562 สำหรับการใช้จ่ายในเดือนธันวาคม 2562 และมกราคม 2563 จะได้รับเงินชดเชยในเดือนมกราคม 2563 และกุมภาพันธ์ 2563 ตามลำดับ ทั้งนี้ ร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถสมัครได้ที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2563 ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392710

จำนวนผู้อ่าน: 2175

19 พฤศจิกายน 2019

คลังเตรียมแก้ปัญหาการลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ผู้สูงวัย” ประสานธ.กรุงไทยให้คำแนะนำทุกสาขา

ลุงป้าที่ติดปัญหาลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ไม่สำเร็จ กระทรวงการคลังได้ประสาน ธนาคารกรุงไทย จัดเจ้าหน้าที่ประจำสาขาทั่วประเทศ ช่วยให้คำแนะนำเพื่อให้การลงทะเบียนผ่านฉลุย ส่วนจำนวนสิทธิคงเหลือให้ลงทะเบียนอีก 381,052 สิทธิ นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการลงทะเบียน “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” สำหรับผู้สูงอายุ (60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) โดยมีการจำกัดสิทธิ์ที่ 500,000 คน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.62 ที่ผ่านมา พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียน ทำให้ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงได้ประสานไปยังธนาคารกรุงไทย เพื่อให้สั่งการไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำขั้นตอนการลงทะเบียนแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะหมดไป การกันสิทธิ์ไว้ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 เม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900,000 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุราว 9,000–10,000 บาทต่อเดือน สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย ธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น นายชาญกฤช กล่าวว่า จากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยพบว่า มีการใช้จ่ายเพื่ออาหาร การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และเพื่อการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง ทั้งนี้อยากให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” ครบ 500,000 คน เพื่อท่องเที่ยวร่วมกันกับบุตรหลาน ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 10,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศและกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากราว 5,000 ล้านบาท สำหรับตัวเลขการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ยังเหลือสิทธิ์ลงทะเบียนสำหรับชิมช้อปใช้ สำหรับผู้สูงอายุ วันที่ 18 พ.ย. 2562 จำนวนสิทธิ์คงเหลือ 381,052  ทั้งนี้โครงการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 3” จะไม่แจกเงิน 1,000 บาท ในประเป๋าที่ 1 (G-wellet 1) แต่จะเน้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินตัวเองผ่านกระเป๋า 2 (G-wellet 2) เพื่อรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,500 บาท) และรับสิทธิ์เงินคืน (Cash back) 20% เมื่อใช้จ่ายเงินมากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินคืนไม่เกิน 4,000 บาท) รวมเงินคืนสูงสุดไม่เกิน 8,500 บาท โดยสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน จนถึง 31 ม.ค.63 พร้อมรับ 1 สิทธิ์ทุกการใช้จ่าย 1,000 บาท เพื่อลุ้นจับรางวัลทองคำทุกสัปดาห์อีกด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392694

จำนวนผู้อ่าน: 2108

19 พฤศจิกายน 2019

“กัมพล จันทวิบูลย์” แม่ทัพ SCBS ปรับโมเดลธุรกิจสู้ศึกหั่นค่าคอม

สัมภาษณ์ “ปีหน้าบริษัทเตรียมปรับโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อรับมือการแข่งขันด้านราคาค่าคอมมิสชั่น โดยมีแผนปรับสัดส่วนรายได้จากค่าคอมฯลดลงเหลือต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ระดับ 70% และหันไปเพิ่มรายได้จากบริการอื่น ๆ” นี่เป็นภาพแผนธุรกิจปี 2563 ที่ “กัมพล จันทวิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ฉายแก่สื่อมวลชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเขาบอกว่า ปีหน้าบริษัทจะขับเคลื่อนภายใต้วิสัยทัศน์มุ่งสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของธุรกิจหลักทรัพย์ (SCBS New Paradigm 2020) ที่ได้ชูแนวคิด “Easy & Smart” สร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้าในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เปิดบัญชีจนถึงการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่น “EASY INVEST” ธุรกิจแข่งหั่นค่าคอมฯเดือด “กัมพล” เล่าว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ไทยที่มี บล.อยู่ทั้งสิ้นราว 39 แห่ง กำลังเผชิญความท้าทายในการสร้างรายได้ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์โลก การคิดหารายได้จากวิธีเดิม ๆ จะเริ่มหายไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะรายได้ค่าคอมมิสชั่นจะเห็นชัดเจนมาก หลังจากเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บรรดาโบรกเกอร์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาลดค่าคอมมิสชั่นเป็น 0% เพื่อแข่งกับฟินเทคหน้าใหม่อย่าง “Robinhood” ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเทรดหุ้นในสหรัฐกับฮ่องกง โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม “โอกาสที่จะเกิดการลดค่าคอมฯเป็น 0% ในไทยคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมที่จะจ่ายค่าคอมฯเพิ่มขึ้น โดยโบรกเกอร์ต่าง ๆ จะต้องพัฒนาด้านบริการเพิ่มขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วถ้าไม่มีบริการหรือความแตกต่างที่ดีขึ้น การที่เราจะอยู่ได้โดยคงค่าคอมฯไว้อาจจะลำบาก” เร่งปรับตัวใช้เทคโนโลยี ขณะที่หลังจากการที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทและมีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้จำนวนสาขาของ บล. รวมทั้งอุตสาหกรรมมีการปิดตัวลงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จำนวนของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มีการปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกในการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และผ่านโครงการสร้างนักลงทุนหน้าใหม่ อย่างไรก็ตาม พบว่าสัดส่วนของบัญชีที่มีการลงทุนสม่ำเสมอยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ เฉลี่ยประมาณ 20% ในภาพรวมของทั้งตลาด ส่วนที่มาของรายได้บริษัทหลักทรัพย์ยังคงมาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (brokerage business) กว่า 55% รายได้ดอกเบี้ยรับจากบัญชีมาร์จิ้น (Interests) 20% รายได้ค่าธรรมเนียม (fees) 6% รายได้บริการเทรดหุ้น (trading) 10% และรายได้อื่น ๆ 9% อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าค้าหลักทรัพย์เฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.09% จากอดีตที่อยู่ที่ 0.13% “เมื่อ “transaction based” ไม่มีรายได้ ก็เริ่มเห็นการปรับตัวของ บล.ในต่างประเทศ ที่หันมาทำรายได้ผ่านการให้คำแนะนำ (advisory) โดยใช้หุ่นยนต์ (ROBO) เข้ามาช่วยบริการ แต่ธุรกิจหลักทรัพย์ไทยยังอยู่ในยุคของอินเทอร์เน็ตโมบาย หรือเราเรียกว่ายุค Hi-Touch คือใช้คน relationship marketing ระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการ อาจจะยังไม่ได้ไปสู่ยุคของดาต้าหรือเรียกว่า Hi-Tech เหมือนในต่างประเทศที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการลงทุน หรือตอบสนองความต้องการลูกค้า แต่อย่างไรก็ดี ปีหน้าเราคาดหวังจะพาตัวเองไปสู่ Hi-Tech” อัดงบฯ 100 ล้าน พัฒนา AI “กัมพล” บอกว่า ปี 2563 บริษัทได้เตรียมงบฯลงทุนไว้ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบ AI ให้มีความฉลาดยิ่งขึ้น โดยจะปรับปรุงบริการเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการตัดสินใจของลูกค้าในการลงทุนได้ดีที่สุด หรือวางกลยุทธ์ในการซื้อขายและออมเงิน ซึ่งจะเป็นบริการที่ครบวงจรมากขึ้น “ปัจจุบันเรามี ROBO Advisor ที่บริหารพอร์ตกองทุนรวมอัตโนมัติด้วย AI โดยมีแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อกองทุนได้ 17 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้า 3 ส่วน คือ 1.ซื้อกองทุนอะไร 2.ซื้อ/ขายตอนไหน และ 3.กองทุนใดที่เหมาะกับเรา นอกจากนี้ ในเดือน พ.ย. 62 นี้ บริษัทมีแผนจะเปิดตัว ROBO Advisor ที่มาช่วยลูกค้าตัดสินใจลงทุน กระจายกว่า 8 กองทุน เลือกลงทุนได้ทั้งในหุ้นไทย, หุ้นต่างประเทศ, ทองคำ, ตราสารหนี้ ซึ่งเริ่มต้นลงทุนเพียงแค่ 3,000 บาทเท่านั้น” ทั้งนี้ แผนธุรกิจระยะข้างหน้า บริษัทจะแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกค้าที่ชอบได้รับคำแนะนำ ทางบริษัทจะพัฒนากระบวนการในการให้คำแนะนำที่ดีขึ้น ส่วนลูกค้าที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีก็จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าลงทุนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยราวช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทจะพัฒนาระบบการลงทุนทั้งหมดให้อยู่ในแอปพลิเคชั่นเดียวกัน ลูกค้าสามารถจัดพอร์ตการลงทุน โดยซื้อหุ้นต่างประเทศได้ ซึ่งจะมีโรบอตช่วยในการเลือกและปรับพอร์ตของลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระจายรายได้ส่วนอื่น ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งตั้งเป้าจะช่วยเพิ่มยอดลูกค้าใหม่ได้อีกราว 5-6 หมื่นบัญชีในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.7 แสนบัญชี “เราต้องพยายามปรับตัว ทำอย่างไรให้เราอยู่รอดได้ ภายใต้ภาวะการแข่งขัน มันจะไม่ใช่แค่โบรกฯ อาจจะเป็น technology company อื่น ๆ ที่ต้องปรับตัวไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งจากยอดลูกค้าใหม่ที่เข้ามาในปีนี้ก็เป็นผลจากที่เราพัฒนาบริการที่ทำให้ลูกค้าลงทุนง่าย รวดเร็ว อยู่บนมือถือ” นายกัมพลกล่าว ทั้งหมดนี้เป็นเทรนด์ธุรกิจหลักทรัพย์ และฉายภาพแผนธุรกิจปีหน้าในเบื้องต้น ซึ่งทาง SCBS จะมีแถลงอย่างชัดเจนอีกครั้งในต้นปีหน้า ขอบคุณข้อมุลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392743

จำนวนผู้อ่าน: 2033

19 พฤศจิกายน 2019

แซ่บเกาะขอบเวที Property Tax 31 คำถามใคร่รู้-31 คำตอบไขข้อข้องใจ

สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาหัวข้อ “ไขประเด็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับกฎหมายลูกร่วม 19 ฉบับที่ต้องรู้” เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562 กล่าวได้ว่าเป็นเวทีสัมมนาที่คนฟังแน่นห้อง เป็นท้้งเรื่องใกล้ตัวและใกล้กระเป๋าเงิน เพราะมีเวลาอีกเพียง 1 เดือนเศษรัฐบาลเตรียมจัดเก็บจริงในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยมีตัวแทนจาก 3 กรมหลัก ประกอบด้วย “ชุมพล สุวรรณกิจบริหาร” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายภาษี สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, “วิลาวัลย์ วีระกุล” รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และผู้บริหารที่เป็นตัวแทนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,776 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่ไขความกระจ่างภาษีทุกซอกทุกมุม ที่ดินเกษตร-อยู่อาศัย-อื่น ๆ ผู้บริหารรัฐให้คาถา 1 เรื่อง คือ ทรัพย์สินถ้าไม่ใช่ “ทำเกษตรกรรม” และถ้าไม่ใช่ “ที่อยู่อาศัย” กฎหมายตีความเป็นประเภท “อื่น ๆ” หรือพาณิชยกรรมการค้าและที่ดินเปล่าทันที ข้อแตกต่างเพราะบทเฉพาะกาลในกฎหมายใหม่ กำหนดแนวปฏิบัติชัดเจน 2 ปีแรก (2563-2564) ฐานภาษีต่ำไปหาสูง ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม เริ่มต้นเก็บล้านละ 100-1,000 บาท ที่อยู่อาศัย เริ่มจัดเก็บล้านละ 200-3,000 บาท, อื่น ๆ (ทำการค้า) เริ่มจัดเก็บล้านละ 3,000-7,000 บาท และที่ดินเปล่า เริ่มจัดเก็บเท่าประเภททำการค้า คือเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท แต่ถ้าหากทุก ๆ 3 ปีเจ้าของที่ดินไม่ทำประโยชน์อะไร ภาษีจะถูกบวกเพิ่มล้านละ 3,000 บาท ทบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะชนเพดานไม่เกินล้านละ 30,000 บาท หรือเพดานภาษี 3% ราคาประเมินเลื่อนทางเทคนิค 1.”ราคาประเมินที่ดิน” เปิดวงเสวนาด้วยคำถาม ทำไมการประกาศราคาประเมินที่ดินรอบใหม่จึงต้องเลื่อนออกไป ข้อเท็จจริง คือ ราคาประเมินที่ดินปัจจุบันเป็นรอบปี 2559-31 ธันวาคม 2563 ประกาศใช้รอบละ 4 ปี ประเด็นคือ ช่วงรอยต่อปีเก่า-ปีใหม่มีกฎหมายอีกฉบับ “พ.ร.บ.ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ” มีผลบังคับใช้ 22 พฤศจิกายน 2562 ส่งผลให้การทำงานภายใต้ประมวลกฎหมายที่ดินถูกนำมาบังคับภายใต้กฎหมายใหม่ หมายความว่า ในทางปฏิบัติการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินต้องประกาศล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการประเมินราคาที่ดินก่อนบังคับใช้ ถ้าหากต้องประกาศใช้บังคับบัญชีใหม่ภายใน 1 ธันวาคม 2562 เท่ากับมีเวลาเตรียมตัว 8 วันเท่านั้น ระยะเวลาน้อยนิดแต่ต้องทำงานภายใต้กฎหมายใหม่ อำนาจหน้าที่ก็ถูกปรับไปขึ้นกับกฎหมายใหม่โดยอัตโนมัติ ผลของการ “ทำไม่ทัน” จึงต้องเลื่อนการบังคับใช้ราคาประเมินรอบใหม่ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ต้องบังคับใช้ 1 มกราคม 2563 เลื่อนเป็น 1 มกราคม 2564 แทน ผลประโยชน์ตกกับผู้ซื้อทรัพย์สิน เพราะยังใช้ราคาประเมินเก่าซึ่งฐานต่ำกว่า ทำให้การจ่ายภาษีก็น้อยกว่า ประเมินทุนทรัพย์ “ราคาเดียว” 2.”ราคาประเมินทุนทรัพย์” ใช้แบบปี 2535 ซึ่งของเดิมมี 59 แบบ กฎหมายใหม่ยุบเหลือ 36 แบบเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปใช้ มีผลให้บ้านเดี่ยว-บ้านแถว-ตึกแถว “มีราคาเดียว” ในทางปฏิบัติที่อยู่อาศัยไม่ได้มีเพียงมิติเดียว หากแต่ยังมีบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้, บ้านไม้ทั้งหลัง, บ้านชั้นเดียว สองชั้น สามชั้น ฯลฯ จะชี้วัดยังไงว่าใครต้องจ่ายถูกแพงกว่ากัน แนวคำตอบ รัฐจะยึดหลัก “ราคาเดียว” โดยเอาราคาต่ำสุดของประเภทบ้านเดี่ยวมาใช้ หรือใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ต่ำสุด จึงไม่ต้องกังวลราคาจะสูง ยิ่งจะใช้เพื่อการจัดเก็บภาษีต้องคำนึง 1.ง่าย 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ต้องใช้ดุลพินิจ รวมทั้งราคาประเมินทุนทรัพย์ใหม่ 36 แบบ สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดได้จากเว็บไซต์กรมธนารักษ์โดยตรง 3.”โกดังโรงงานกับส่วนควบ” ทรัพย์สินประเภทอุตสาหกรรม โกดัง นับส่วนควบด้วยหรือนับเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง แนวคำตอบให้นับเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรต่าง ๆ เป็นส่วนควบ ไม่ต้องนับหรือไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีทรัพย์สิน เช่น โรงงาน 1,000 ตารางเมตร คูณด้วยราคาโรงงาน 8,000 บาท แล้วหักค่าเสื่อมราคาตามจริง 4.”ที่จอดรถ” เหมือนจะไม่มีปัญหาแต่แท้จริงคือปัญหาใหญ่ เพราะต่างจังหวัดที่ดินมีเหลือเฟือ การเทลานคอนกรีตจะจ่ายภาษีแบบไหน เพราะถ้าทำที่จอดรถได้รับยกเว้นภาษีมูลค่า 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าทำที่จอดรถจะถูกตีความเป็น “อื่น ๆ (ทำการค้า)” เก็บภาษีเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท แนวคำตอบ เจ้าหน้าที่รัฐต้องดูประเภทที่จอดรถ ซึ่งการสำรวจขององค์กรท้องถิ่นจะแยกประเภท เช่น พื้นที่โรงงาน ที่จอดรถ ซึ่งค่าภาษีแตกต่างกัน จัดสรรเต้นกฎใหม่โอนคอนโดฯ 5.”โอนคอนโดฯโดนหางเลขกฎหมายใหม่” ประเด็นนี้สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.การประเมินทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้ 22 พฤศจิกายน 2562 มีประเด็นอาคารชุด จากเดิมสามารถกำหนดราคาก่อนจดทะเบียน แต่กฎหมายใหม่ต้องจดทะเบียนก่อนแล้วค่อยกำหนดราคา ทำให้คอนโดมิเนียมแม้สร้างเสร็จแล้วแต่การโอนอาจต้องล่าช้าออกไป ข้อกังวลดังกล่าว ทางกรมธนารักษ์ไขคำตอบว่า แม้ต้องปฏิบัติภายใต้กฎหมายใหม่ แต่ขั้นตอนปฏิบัติตั้งธงไว้แล้วว่าต้องจัดประชุมแค่รอบเดียวแล้วตัดสินราคาได้เลย ข้อกังวลที่ส่งขึ้นมาไม่ใช่แค่ผู้ซื้อ-ผู้ขาย แต่ยังมี “สินเชื่อ” เข้ามาเกี่ยวข้องเพราะมีอายุการอนุมัติ 3 เดือน ถ้าโอนห้องชุดล่าช้ากว่าเดิมกระบวนการขอสินเชื่ออาจต้องทำใหม่ 6.”การคัดค้านของประชาชน” สืบเนื่องจากราคาประเมินที่ดินเดิม กรมธนารักษ์สำรวจและประกาศใช้ได้เลย แต่ภายใต้ property tax เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์หรือคัดค้านราคาประเมินใหม่ได้ โดยคัดค้านกระบวนการประเมินไม่ถูกต้องได้ กรอบเวลาทำภายใน 90 วัน ขณะที่การคัดค้านราคาสามารถคัดค้านได้ทันที ประเด็นการคัดค้านทางมหาดไทยดูเหมือนไม่กังวล มองว่ามีแต่ข้อคัดค้านมโนสาเร่ อาทิ ตำแหน่งที่ดินผิด (เพราะราคาประเมินต่ำอยู่แล้ว) ประเมินภาษีผิด ใครรับผิดชอบ 7.”ประเมินราคาผิด จ่ายภาษีผิด ใครผิด” ข้อกังวลมาจากความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ประเมินพลาด เจ้าของไม่รู้ไม่ตั้งใจ หลักกฎหมายระบุชัดเจน ตั้งแต่การสำรวจจนถึงประกาศราคา สามารถทบทวนได้ภายใน 3 ปี 8.”ระหว่างปีมีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน” ข้อกังวลเพราะกลัวเสียภาษีผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ประเด็นนี้ แนวคำตอบคือ การเก็บภาษี property tax เป็นการเก็บภาษีล่วงหน้า ปีละ 1 ครั้ง เรียกว่าปีภาษี เพราะฉะนั้น ในระหว่างปีหากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ทรัพย์สิน รัฐเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร รอจนกว่าเจ้าของแจ้งประเภทเข้ามา และมีการประเมินใหม่ 9.”เขียนบิลระบบแมนวล” ปีแรก (2563) ระบบออนไลน์ทำงานบนคอมพิวเตอร์ยังไม่ 100% ดังนั้น ยังมีตกค้างบางส่วนที่ต้องเขียนบิลด้วยมือแบบระบบเก่า แนวคำตอบ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีระบบบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ แต่ของใหม่ต้องทดลองใช้ก่อน “…ปีแรกลำบากนิดนึง ถ้า อปท.ไหนไม่มีก็ใช้ระบบแมนวล กฎหมายลูกก็ยังออกไม่หมด เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้หรอกครับ” 10.”ถ้าระบบไม่พร้อม รัฐจะใช้วิธีเรียกเก็บภาษีไปก่อน” ประเด็นนี้แม้ภาครัฐไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็แก้ไขแนวทางมาให้แล้วว่า ถ้าท้องถิ่นใดไม่มีความพร้อม แต่ทรัพย์สินมีอยู่จริง ก็ยังมีฐานภาษีเดิมรองรับอยู่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เก็บภาษีตามฐานภาษีเดิมไปก่อน จ่ายแพงกว่าเดิมหรือเปล่า ? 11.”จ่ายภาษีแพงขึ้นจากเดิมหรือไม่” คำถามมาจากเดิมเคยจ่ายภาษีโรงเรือน 12.5% ของค่าเช่า แต่ภาษีใหม่จ่ายตามมูลค่าทรัพย์ หลักปฏิบัติ กรมธนารักษ์ยกตัวอย่าง ภาษีเก่าจ่ายปีละ 20,000 บาท กฎหมายใหม่เมื่อคำนวณแล้วถ้าจ่ายน้อยลงก็ยกเป็นประโยชน์กับเจ้าของทรัพย์ แต่ถ้าค่าภาษีมากกว่าเดิม เช่น 30,000 บาท ส่วนต่างที่เคยจ่าย คือ 10,000 บาท มีมาตรการบรรเทาภาษี 3 ปี โดยปีแรกจ่าย 25% ปีที่สองจ่าย 50% ปีที่สามจ่าย 75% 12.”สามีภรรยากับสิทธิยกเว้นภาษีบ้านหลังหลัก” สืบเนื่องจากที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง รัฐให้สิทธินำบ้านแพงที่สุดยื่นขอรับยกเว้นภาษีมูลค่า 50 ล้านแรก และเรียกว่า “บ้านหลังหลัก” คำถามคือสามีภรรยา ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะได้รับยกเว้นเพียง 1 หลัง แต่อยากใช้สิทธิยกเว้นบ้านหลังหลัก 2 หลัง ประเด็นนี้เจ้าหน้าที่รัฐขอใช้สิทธิไม่ตอบคำถาม เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปใช้อ้างอิง แต่ไกด์ไลน์กว้าง ๆ ออกมาว่า สิทธิบ้านหลังหลักทุกคนมีสิทธิ 1 สิทธิ เพียงแต่ปฏิบัติให้เข้าเงื่อนไข มีชื่อในโฉนด+ชื่อในทะเบียนบ้าน+ก่อน 1 มกราคม 2563 ที่ดินปลูกป่า เกษตรหรือการค้า 13.”ที่ดินปลูกป่า ตีความทำการค้าหรือเกษตรกรรม” หลากคำถามที่น่าสนใจ กรณีที่ดินนำไปขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้เพื่อปลูกป่า ได้รับยกเว้นหรือไม่ แนวคำตอบกรมธนารักษ์ คือ property tax ไม่มีเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีสำหรับการปลูกป่า แต่ถ้าปลูกป่าแสดงว่าทำเกษตรกรรม ตีความเข้าประเภทที่ดินเกษตรกรรม 14.”ที่ดินเลี่ยงจัดสรร สร้างเสร็จไม่พร้อมกัน เสียภาษีการค้าหรือที่ดินเปล่า” คำถามอันตรายนี้มีประเด็นที่ดินที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง 10 หลัง กรณีสมมุติเริ่มสร้างกลางปี 2563 สร้างเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และไปขอบ้านเลขที่ จะเสียภาษีที่ดินยังไง คำตอบชัดเจนมากว่าไม่เกี่ยวกับหน่วยงานรัฐ ในขณะที่ผู้บริหารสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร “อธิป พีชานนท์” ตอบคำถามได้ทันทีว่าไม่แนะนำให้ทำ เพราะไม่สามารถขอสิทธิประโยชน์จากรัฐได้เนื่องจากไม่ได้ขอใบอนุญาตจัดสรร ประเด็นนี้ มาจากการพัฒนาโครงการบ้าน-คอนโดมิเนียม มีการใช้ที่ดินเปล่าจำนวนมาก ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมีโอกาสขายโครงการไม่หมด กลัวว่าจะมีภาระจ่ายภาษีทรัพย์สินเยอะ ต่อมา รัฐได้ออกมาตรการผ่อนผันโดยให้จ่ายภาษีอัตราผ่อนปรน 90% ภายใน 3 ปีแรกนับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร กล่าวคือ ถ้าคำนวณภาษี 1 แสนบาท ภายในสามปีแรก ได้รับผ่อนผันไม่ต้องจ่าย 900% หรือ 9 หมื่นบาท มีภาระภาษีจ่ายจริง 1 หมื่นบาท 15.”ให้เกษตรกรเช่าทำเกษตรกรรม ได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านแรกหรือไม่” แนวคำตอบแบบเคลียร์คัตชัดเจน คือ property tax ยกเว้นภาษีที่ดินเกษตรกรรมสำหรับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่เป็น “บุคคลธรรมดา” มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้านิติบุคคลเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รัฐเก็บภาษีตั้งแต่บาทแรก (ไม่มีอัตรายกเว้นภาษี) สรุปหลักการ คือ ดูจากสภาพการใช้งานจริงว่าทำเกษตรหรือเปล่า ไม่ได้ดูว่าใครเช่า นิยามที่ดิน “เกษตรกรรม” 16.”นิยามที่ดินเกษตรกรรม” เป็นอีกเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมาก แนวคำตอบ ที่ดินมีมากน้อยแค่ไหนแต่ดูจากหน้างาน ถ้าทำเกษตรกรรมเท่าไหร่ก็คำนวณภาษีตามประเภทไปเท่านั้น ประเด็นเพราะที่ดินเกษตรกรรมมีภาษีถูกที่สุด เจ้าของทรัพย์สินจึงมีความสนใจอยากจ่ายภาษีในฐานะทำเกษตรกรรม สุดท้าย จึงต้องมีการทำนิยามหรือคำจำกัดความ “ที่ดินเกษตรกรรม” ต้องปลูกพืชกี่ต้น พันธุ์อะไรบ้าง ฯลฯ ในที่สุดเรื่องนี้จะต้องถูกกำหนดไว้ในแนบท้ายของกฎหมายใหม่ ที่สำคัญ ไม่ต้องกลัวปลูกไม่ทันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 เพราะขอให้มี “ต้นกล้า” ก็นับเป็นที่ดินเกษตรกรรมได้ เพียงแต่ต้องมีให้เต็มพื้นที่เท่านั้นเอง 17.”เลี่ยงประเภทที่ดิน คุ้มจริงหรือไม่” คำถามข้อนี้มาจากผู้ถือครองที่ดินเยอะในต่างจังหวัดเป็นหลัก ไม่อยากเสียภาษีที่ดินเปล่าก็เลยขวนขวายทำเกษตรบ้าง หรือเอามาให้เช่าบ้าง กรมธนารักษ์แชร์ข้อคิดเห็นเป็นการส่วนตัวว่า มีตัวอย่างเจ้าของที่ดิน 70 ไร่ในต่างจังหวัด เป็นที่ดินเปล่าเห็นฐานภาษีแพงก็เลยดิ้นรนจะลงทุนเพิ่มเพื่อใช้สิทธิจ่ายภาษีเกษตรกรรม ผลลัพธ์ที่คำนวณออกมา มูลค่าทุนทรัพย์หรือมูลค่าที่ดินไม่ได้สูงมากมาย แม้ต้องจ่ายภาษีล้านละ 3,000 บาทแต่จ่ายจริงไม่กี่ตังค์ เปรียบเทียบกับอยากแปลงร่างเป็นที่ดินเกษตรกรรม มีต้นทุนที่มองไม่เห็น ต้องคำนวณดูถ้าได้ไม่คุ้มเสียก็ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงที่ดินแต่อย่างใด เพราะอย่าลืมว่า property tax คำนวณภาษีจากราคาประเมิน ซึ่งไม่ได้สะท้อนราคาตลาดอย่างเต็มที่ แปลว่าถูกกว่าราคาตลาดเยอะ การดิ้นรนเพื่อหวังจ่ายภาษีถูกที่สุด อาจเป็นเรื่องไม่จำเป็นเลยก็ได้ 18.”ที่ดินเปล่าให้คนเช่าทำนา มีความเสี่ยง ?” ถ้าตัดประเด็นเรื่องความคุ้มค่าเพื่อให้ที่ดินเปล่าสามารถจ่ายภาษีถูกลงทางมหาดไทยมีข้อชี้แนะว่า เวลาให้ชาวนาเช่าที่ดินทำนา อย่าลืมชั่งน้ำหนักความเสี่ยงตอนไล่ที่ เพราะมีกฎหมายเกษตรกรเช่าทำนา ไม่สามารถขับไล่ผู้เช่าได้ทันที แต่ต้องรอ “รอบเก็บเกี่ยวผลผลิต” ให้แล้วเสร็จเสียก่อน ที่ดินภาระจำยอม ทำใจลำบาก 19.”ที่ดินภาระจำยอม” มีข้อสังเกตขึ้นมาว่า ไม่ได้มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นภาษีให้ กรมธนารักษ์ชี้แจงว่า กรณีที่ดินภาระจำยอมและใช้เป็นทางเข้า-ออก รัฐไม่เก็บภาษีอยู่แล้ว เป็นสภาพของการใช้ที่ดิน “ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์เป็นผู้ประเมินราคาที่ดิน แต่เอกสารที่กรมที่ดินส่งให้ไม่มีรายละเอียดว่าแปลงใดจดภาระจำยอม ซึ่งจะเซ็นสลักหลังโฉนด” ดังนั้น วิธีการกรมธนารักษ์จะประเมินจากสภาพข้อเท็จจริง ไม่ได้ประเมินจากลายเซ็นหลังโฉนด และส่วนใหญ่ที่ดินภาระจำยอมสภาพการใช้มักเข้าข่ายได้รับยกเว้นอยู่แล้ว รวมทั้งกรณีที่ดินภาระจำยอมใช้เป็นทางเข้า-ออกซอย ราคาประเมินกำหนดเหลือ 50% เท่านั้น 20.”ถนนส่วนบุคคล ได้รับลดหย่อนภาษีหรือไม่” เนื่องจากถนนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ไม่มีป้ายเขียนระบุชัดเจน แนวคำตอบ กฎหมายใหม่เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ภาษีได้ อุทธรณ์ราคาประเมินได้ ดังนั้น ถ้ามีที่ดินภาระจำยอมอยู่ในแปลงที่ดิน แต่ปรากฏว่าถูกประเมินภาษีเต็มแปลง ก็สามารถอุทธรณ์และให้สำรวจ พิจารณาราคาใหม่ได้ เพื่อให้เสียภาษีได้ถูกต้องตามสภาพทรัพย์สิน โดยสรุป ที่ดินภาระจำยอมไม่ได้รับการยกเว้น แต่ได้รับการลดหย่อนภาษี 21.”อปท.ทั่วประเทศขอเอกสารจากผู้ประกอบการ” ดูเหมือนเป็นความตกใจเล็ก ๆ เพราะองค์กรท้องถิ่นมีการส่งหนังสือเรียกขอเอกสารต่าง ๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการมองว่าข้อมูลกรรมสิทธิ์ทุกอย่างหน่วยงานรัฐก็มีอยู่แล้ว ทำไมไม่บูรณาการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน แนวคำตอบจากมหาดไทย กฎหมายใหม่บังคับให้องค์กรท้องถิ่นสำรวจทุกแปลงแบบปูพรม แต่ทำงานไม่ทันแน่นอน ทางลัด คือ ทำหนังสือขอข้อมูลเอกสารจากเจ้าของทรัพย์สิน ถ้าส่งให้ก็สามารถออกใบประกาศโดยตรง เช่น บริษัทเดียวแต่มี 20 ตึกเจ้าหน้าที่ทำงานไม่ทันจริง ๆ “การขอเอกสารต่าง ๆ เป็นการสำรวจอีกวิธีหนึ่ง สำหรับเอกชนลำบากปีแรกปีเดียว ปีต่อไปไม่ขอแล้ว” ที่ดินเปลี่ยนมือตลอดเวลา 22.”ที่ดินเปลี่ยนมือตลอดเวลา” ถือเป็นคลาสสิกเคสน่าจะกลัวการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนหรือผิดพลาด แนวคำตอบ หลักปฏิบัติชัดเจน ท้องถิ่นสำรวจและประกาศราคาประเมิน จากนั้นเรียกเก็บภาษี เจ้าของสามารถโต้แย้งได้ตลอดเวลา การเปลี่ยนมือจะถี่มากน้อยแค่ไหน จึงไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ 23.”ให้เช่าที่ดินแล้วผลักภาระให้ผู้เช่าได้หรือไม่” คำถามนี้มีแนวคำตอบชัดเจนว่า ดูแค่ผู้ถือกรรมสิทธิ์คือใคร ผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษี แม้แต่การจ่ายภาษีแทนก็ออกใบเสร็จชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ดี 24.”ที่ดินแปลงใหญ่แต่ปลูกบ้านหลังเล็ก” คำถามคือตีความเป็นที่อยู่อาศัยเต็มแปลงได้หรือไม่ แนวคำตอบ แม้ข้อเท็จจริงบ้านในต่างจังหวัดอาจสร้างบนที่ดิน 20 ไร่ แต่กฎหมายดูตามสภาพการใช้งานจริง ถ้าบ้านหลังเล็กแต่สนามหญ้าแต่งเล็มสวยงาม ปลูกต้นไม้และดูแลอย่างดี ตีความที่อยู่อาศัย เริ่มต้นล้านละ 20 บาท แต่ถ้าสนามหญ้ารกร้าง หญ้าสูงท่วมหัว ตีความเป็นที่ดินเปล่า เสียภาษีเริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท ที่ดินมิกซ์ยูส จ่ายภาษียังไง 25.”ที่ดินทำมิกซ์ยูส” แนวคำตอบชัดเจน ที่ดิน 1 แปลงมีการทำประโยชน์หลายรูปแบบ เพราะฉะนั้น กฎหมายจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดิน 1 ไร่ ปลูกบ้านอยู่ ทำแปลงผักไฮโดรฯ และเปิดร้านกาแฟ การประเมินภาษีจะมี 3 ประเภท คือ ทำเกษตรกรรม-ที่อยู่อาศัย-การค้า แยกจ่ายภาษี 3 ประเภทบนที่ดินแปลงเดียวกัน 26.”ที่ดินกงสี ชื่อ 12 เจ้าของ” จ่ายภาษียังไง และถ้ามีคนเบี้ยวจะทำยังไง กระทรวงการคลังให้แนวคำตอบว่า property tax ดูที่ทรัพย์เป็นหลัก ไม่ได้ดูว่ามีเจ้าของกี่คน ที่ดินกงสีจึงเป็นเรื่องภายในครอบครัว การเก็บภาษีก็เก็บจากการใช้ประโยชน์ทรัพย์ ถ้าทำเป็นที่อยู่อาศัยก็เก็บฐานภาษีที่อยู่อาศัย แต่กรณีมีชื่อ 12 คนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม บิลเรียกเก็บภาษีจะยึดตาม “ชื่อแรก” ที่ปรากฏ ที่เหลือใครจะเป็นชื่อแรกทางครอบครัวต้องตกลงกันเอง 27.”อัตราภาษีเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่” เรื่องนี้เป็นคำถามทางเทคนิค แนวคำตอบ คือ กฎหมายใหม่กำหนดราคาแนะนำให้เก็บภาษีในช่วง 2 ปีแรก (2563-2564) หมายความว่า ปี 2565 เป็นต้นไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงอัตราได้ เพราะเปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยับ-ปรับเปลี่ยนอัตราได้ จุดเน้นอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงราคาภาษี ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรม เพดานภาษีไม่เกินล้านละ 1,500 บาท ที่อยู่อาศัยไม่เกินล้านละ 5,000 บาท, ที่ดินอื่น ๆ (การค้า) ไม่เกินล้านละ 12,000 บาท และที่ดินเปล่าไม่เกินล้านละ 30,000 บาท ที่ดิน ส.ป.ก.-ที่ดินตาบอด 28.”ที่ดิน ส.ป.ก.เสียภาษีด้วยหรือไม่” แนวคำตอบ คือ ต้องจ่ายภาษีไม่มียกเว้น โดยผู้จ่าย คือ “ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ” เพราะฉะนั้น การเช่าที่ดินรัฐไม่ว่าทำการค้า เกษตรกรรม หรือทำที่อยู่อาศัย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีทุกแปลง 29.”ทรัพย์มรดก” แนวคำตอบมีเงื่อนไขเดียว ถ้ารับมรดกเป็นบ้านหลังหลัก อาจได้รับลดหย่อนกึ่งหนึ่ง แต่ถ้ารับมรดกที่ดินเปล่า จ่ายตามสูตรภาษีเป๊ะ เพียงแต่ถ้ามูลค่าสูง กฎหมายเปิดช่องให้มีการบรรเทาภาษี โดยสามารถผ่อนภาษีได้ 3 งวด แต่ต้องจ่ายภายใน 3 เดือน 30.”ผังเมืองจำกัดการใช้ประโยชน์” ข้อกังวลนี้มาจากเจ้าของที่ดินในเชียงใหม่ มีที่ดินในเมืองแต่ถูกควบคุมด้วยผังเมืองที่ใช้ประโยชน์ได้น้อยลง แต่ราคาสูงมาก แนวคำตอบ สามารถคัดค้านราคาได้ว่าประเมินเกินจริง แต่ต้องภายใต้ 3 เงื่อนไข 1.ที่ดินมีการซื้อขายต่ำกว่าราคาประเมินจริง ๆ 2.ประเด็นผังเมือง อาจต้องนำมาพิจารณาประกอบเพื่อกำหนดโซนนิ่งต่อไป 31.”ที่ดินตาบอด” ข้อกังวลคงมาจากกลัวว่าประเมินราคาสูงแล้วต้องจ่ายภาษีแพง กรมธนารักษ์แจ้งว่า แปลงที่ดินถ้าไม่มีทางเข้า-ออกตีความเป็นที่ดินตาบอดไว้ก่อน เรียกว่ายกประโยชน์ให้เจ้าของทรัพย์ เพราะราคาประเมินต่ำมากเหลือ 25-50% แต่ถ้ามีเคสที่ “ที่ดินตาดี” อยากเป็น “ที่ดินตาบอด” นามสกุลเดียวกัน หรือญาติกันมาช่วยกันซื้อกรรมสิทธิ์ล้อมที่ดินไว้ ถ้าสืบค้นเจอก็โดนเช็กบิลจ่ายภาษีตามจริง ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-392476

จำนวนผู้อ่าน: 2172

19 พฤศจิกายน 2019

ม.อ.ดัน “หาดใหญ่เมดิคอลทัวร์” ชง รมต.”พิพัฒน์” ใช้กัญชารักษาต่างชาติ

เที่ยวแนวใหม่ - โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมตัวกันเพื่อผลักดันโครงการเมดิคอลทัวริซึ่ม เพื่อผลันดันรายได้ภายในจังหวัด โดยใช้ธุรกิจโรงพยาบาล นำหน้าธุรกิจท่องเที่ยว “พิพัฒน์” เตรียมบินด่วนถกแนวทางขับเคลื่อน “โครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่ม แอนด์ อนามิสซิตี้” ที่ ม.อ. 19 พ.ย.นี้ ก่อน มอ.จัดงานใหญ่ “วันกัญชาโลก” เมษายน ปี 2563 ด้านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มอ. บอกมีแพทย์-พยาบาล-สถานที่-เครื่องมือพร้อมสูงสุดรองรับโครงการ นพ.เกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา เจ้าของคลินิก และ นพ.เกรียงศักดิ์ พญ.พิพิธพร อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ก่อตั้งหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อประชุมหารือถึงปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอเรื่องเข้าไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เงินทุน 2.การเดินทางไปโรดโชว์เพื่อหาลูกค้าในต่างประเทศ และ 3.การให้หน่วยงานภาครัฐช่วยติดต่อประสานงานการตลาดต่างประเทศ และนายพิพัฒน์ได้มอบเรื่องนี้ให้กับทีมยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลับไปพิจารณาศึกษาถึงรูปแบบการดำเนินโครงการ ขณะเดียวกัน ได้จัดทัพเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานต่าง ๆ “ยอมรับว่า เรื่องเมดิคอลทัวริซึ่มถือเป็นเรื่องใหม่ ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ลักษณะโครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มเป็นการใช้การแพทย์นำหน้าการท่องเที่ยวตามหลัง โดยผู้ที่เข้ามาทำการรักษาในโครงการเมดิคอลทัวริซึ่ม ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่เป็นผู้ที่ต้องการมารักษาตามแพทย์นัดหมาย เช่น มาทำศัลยกรรม ซึ่งต้องเดินทางมาพักที่ประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1-2 สัปดาห์ ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ที่มาทำศัลยกรรม และผู้ติดตามสามารถไปท่องเที่ยวชิม ช้อป ใช้ ภายในพื้นที่ได้ตลอดเวลา” นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวและว่า โครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มฯ ไม่ต้องการดึงคนไทยมาทำการรักษาเป้าหมายหลักคือ ต้องการชาวต่างประเทศมาทำการรักษาและมาท่องเที่ยวภายในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เฉพาะ 2 ประเทศนี้ประชากรเกือบ 300 ล้านคน และสิงคโปร์ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศจีน” ขณะเดียวกัน การทำโครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มฯจะต้องมีการออกมาตรการควบคุม ทั้งเรื่องการรักษาจะต้องมีคุณภาพมาตรฐาน จะไม่มีการตัดราคา โดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ม.อ. เป็นผู้นำร่อง เป็นศูนย์กลาง และตามด้วยโรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง ต่างเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และทันสมัย นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานโครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่มฯ ได้มีการหารือกันโดยมี รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เข้าร่วม ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการนำกัญชาเข้ามาใช้รักษาในโครงการ รวมถึงเรื่องการปลูกและการแปรรูปกัญชาทางการแพทย์ พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่ม แอนด์ อนามิสซิตี้” “แนวคิดที่จะนำกัญชามารักษาคนไข้ เพราะกัญชาเป็นยารักษาสารพัดโรค และโรคมะเร็งช่วงสุดท้าย รวมถึงการนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง อาหารเสริม เอ็นเตอร์เทน ฯลฯ ซึ่งหลายประเทศเปิดตลาดซื้อขายถูกต้องตามกฎหมาย เช่น กลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกามีการนิรโทษกัญชาเพิ่มขึ้นอีกบางรัฐ นอกจากนี้ ในประเทศมาเลเซียมีแนวโน้มดำเนินการเรื่องกัญชา มีแต่ประเทศไทยยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยกเว้นมีคำสั่งแพทย์ ดังนั้น ในเดือนเมษายน 2563 ทาง ม.อ.หาดใหญ่จะจัดงาน “วันกัญชาโลก” จะมีการรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้มีการปลดล็อกกัญชาในประเทศไทยต่อไป” นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวและว่า ที่ผ่านมาทางคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.หาดใหญ่ ได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ซี ดับบลิว เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาและปลูกกัญชาทางการแพทย์ ฯลฯ ทั้งนี้ เนื่องจากกัญชาในประเทศเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างปลูกยาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศจึงทำให้ต้นทุนการผลิตกัญชาสูง รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ม.อ.มีความพร้อมสูงสุดในการรองรับโครงการหาดใหญ่เมดิคอลทัวริซึ่ม แอนด์ อนามิสซิตี้ ทั้งคณะแพทย์ คณะพยาบาล สถานที่ ฯลฯ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-392434

จำนวนผู้อ่าน: 2139

19 พฤศจิกายน 2019

ธุรกิจไตรมาส 3 ทรุดยกแผง “สมคิด” สั่งคลังรับมือกำลังซื้อแผ่ว

เศรษฐกิจขาลงทุบธุรกิจกระอัก บริษัทจดทะเบียนโชว์ผลประกอบการไตรมาส 3/62 กำไรทรุดยกแผงต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 18% เผย 4 กลุ่มเจ็บหนักคือ “ปิโตรเคมี-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลังงาน-วัสดุก่อสร้าง” ขณะที่กลุ่มธุรกิจเชนร้านอาหาร-ค้าปลีกโดนหางเลข “ยอดขายต่อสาขา” ร่วง เหตุกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ สงครามการค้าลาม-ปัญหาแรงงานเริ่มปะทุ รองนายกฯสมคิดสั่งคลังจัดมาตรการรับมือเศรษฐกิจปีหน้า 4 กลุ่มกำไรทรุดหนัก นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) งวดไตรมาส 3/2562 ที่ทยอยประกาศออกมาแล้วทั้งหมด 569 บริษัท (ข้อมูล ณ 15 พ.ย. 62) คิดเป็นสัดส่วน 90% ของมูลค่าตลาด พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 2.11 แสนล้านบาท ลดลง 18% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่ทำได้ 2.57 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้น 1% เทียบช่วงไตรมาส 2/2562 (QOQ) จากกำไร 2.09 แสนล้านบาท โดยกลุ่มหุ้นที่ถูกกดดันมากที่สุด คือ 1.หุ้นปิโตรเคมี ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,984 ล้านบาท ลดลง 79.3% YOY และหดตัว 7.9% QOQ โดยพบว่า บจม.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC มีกำไรไตรมาส 3 เหลือแค่ 2,663 ล้านบาท ลดลง 79.2% YOY เช่นเดียวกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL ที่มีกำไร 793 ล้านบาท ลดลง 92.1% YOY 2.หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรรวมทั้งกลุ่ม 1,709 ล้านบาท ลดลง 53.8% YOY และหดตัว 12.8% QOQ หุ้นที่กำไรลงหนัก ๆ คือ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA กำไรสุทธิ 618 ล้านบาท ลดลง 63% YOY และลดลง 29.1% QOQ อันดับ 3.หุ้นกลุ่มพลังงาน กำไรทั้งกลุ่มอยู่ที่ 45,530 ล้านบาท ลดลง 39.6% YOY และหดตัว 24.3% QOQ ซึ่งหุ้นใหญ่ที่ลดลงหนัก คือ บมจ.ปตท. หรือ PTT ที่ประกาศกำไรออกมาอยู่ที่ 20,254 ล้านบาท ลดลง 33.2% YOY และลดลง 21.9% QOQ รวมทั้ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP กำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 11,019 ล้านบาท ลดลง 19.5% QOQ แต่เพิ่มขึ้น 5.9% YOY 4.หุ้นวัสดุก่อสร้าง กำไรของกลุ่มอยู่ที่ 9,507 ล้านบาท ลดลง 17.3% YOY และหดตัว 3.5% QOQ โดยหุ้นใหญ่อย่าง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC กำไรไตรมาส 3 อยู่ที่ 6,204 ล้านบาท ลดลง 34.5% YOY และลดลง 11.9% QOQ ปรับลดเป้ากำไรทั้งปี นายภราดร กล่าวว่า แรงกดดันจากทั้ง 4 เซ็กเตอร์หลักที่ทำให้ภาพรวมกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ลดลงมากเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/62 น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากไตรมาส 4/61 กำไร บจ.อยู่เพียง 1.52 แสนล้านบาท จากฐานปีที่แล้วที่ต่ำ ไม่น่าจะรุนแรง สำหรับกลุ่มธุรกิจที่จะมีกำไรหนุนตลาดในไตรมาส 4/62 คือ กลุ่มค้าปลีก เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น รวมถึงมีมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นทั้งเฟส 1-เฟส 3 นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ผลประกอบการลดลงถ้วนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ก็มีโอกาสที่ไตรมาส 4 จะมีกำไรเติบโตดีขึ้น เพราะเป็นช่วงการขายที่ปกติจะเป็นไตรมาสที่มีกำไรมากที่สุดของปี รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองสำหรับบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ออกมาสนับสนุน ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ น่าจะช่วยหนุนรายได้กลุ่มอสังหาฯได้ โดยปีนี้บริษัทคาดการณ์กำไรทั้งปีไว้ 9.99 แสนล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกทำไว้ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท รวมกับไตรมาส 3 จะมาอยู่ที่ใกล้ ๆ 7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนที่เหลือราว 2.9 แสนล้านบาท ก็ยากมากที่งวดไตรมาส 4 จะทำได้ อาจจะต้องปรับประมาณการลงมา “เอ็มเค-ZEN” รายได้สาขาร่วง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ในกลุ่มหุ้นอื่น ๆ ที่เป็นกำลังซื้อในประเทศอย่างกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และค้าปลีกต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบ อาทิ บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป รายงานว่า รายได้จากการขายและบริการในไตรมาส 3/62 เท่ากับ 4,102 ล้านบาท ลดลง 75 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.8 จากปีก่อนหน้า ขณะที่กําไรสุทธิอยู่ที่ 549 ล้านบาท ลดลง 19% YOY สาเหตุหลักเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิมปรับตัวลดลง ทั้งในส่วนร้านเอ็มเค สุกี้ และร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ โดยฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า สถานการณ์จะต่อเนื่องไปถึง Q4/62 สำหรับ บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ซึ่งมีแบรนด์ร้านอาหารจำนวนมาก อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN, On the Table, ตำมั่ว, แจ่วฮ้อน เป็นต้น แจ้งรายได้จากการขายและบริการไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 759.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผลจากการเปิดสาขาใหม่และยอดขายจากบริการดีลิเวอรี่ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม งวด 9 เดือนแรกปีนี้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ร้านอาหารสาขาเดิมลดลง -5.3% ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 22.1 ล้านบาท ลดลง 41.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิอยู่ที่ 87.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกัน 19.6% ค้าปลีก-บิ๊กซีโดนหางเลข ขณะที่บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า รายได้รวมไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 42,722 ล้านบาท ลดลง 24 ล้านบาท -0.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักเนื่องจากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (บิ๊กซี) ต่อสาขาลดลง -4.9% อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากการเติบโตของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น บริษัทแจ้งว่า กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/62 โดยได้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา ที่จังหวัดขอนแก่น, บิ๊กซีฟู้ดเพลส 1 สาขา ที่สามย่าน มิตรทาวน์, มินิบิ๊กซี 61 สาขา ขณะเดียวกันก็ได้มีการปิด 9 สาขา “โฮมโปร” รายได้สะดุด ด้านบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ไตรมาส 3/62 รายได้รวม 16,375.47 ล้านบาท ลดลง 118.48 ล้านบาท หรือ 0.72% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากยอดขายสาขาเดิมที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงจากสงครามทางการค้าและเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะภาคส่งออกที่เริ่มส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3/62 บริษัทยังมีผลกำไรสุทธิ 1,482.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับลดต้นทุนส่วนต่าง ๆ ทั้งในส่วนของต้นทุนค่าเช่า และค่าบริการในศูนย์การค้ามาร์เก็ต วิลเลจ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงการลดต้นทุนทางการเงิน จากการออกหุ้นกู้ใหม่ เซเว่นฯไม่กระทบกำไรโต ในส่วนของ บมจ.ซีพี ออลล์ แจ้งว่า ในงวดไตรมาส 3/62 บริษัทมีกําไรสุทธิ 5,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้รวมอยู่ที่ 141,072 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 8.2% ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมถึงจากธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิก “สยามแม็คโคร” สำหรับ 9 เดือนแรก มีรายได้รวม 423,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% กําไรสุทธิ 16,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน กำลังซื้ออ่อนแรงกด ศก.ปีหน้า นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะที่ “การบริโภค” ซึ่งเป็นพระเอก ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในช่วงที่ผ่าน ๆ โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ซึ่งปีนี้ยอดขายติดลบ การบริโภคเริ่มชะลอตัว และส่งผลไปยังยอดขายตามร้านอาหารต่าง ๆ สิ่งที่ห่วงคือเมื่อบริษัทเหล่านี้ลดกำลังการผลิต จะเริ่มเห็นผลกระทบไปยังแรงงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ลดค่าล่วงเวลา (โอที) ระยะหลังก็ได้ยินข่าวการปรับลดกำลังคน เช่น ให้หยุดงานมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องทำให้กำลังซื้ออ่อนแอลง ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจจากปลายปีนี้เข้าไปสู่ต้นปีหน้า ขายรถร่วงติดต่อ 5 เดือน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถิติการขายรถยนต์ในประเทศ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ของปี 2562 อยู่ที่ 838,847 คัน โดยเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมปีนี้ เทียบช่วงเดียวกันปีแล้วลดลงมากถึง 11.4% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทำให้ภาคส่งออกแย่ลง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับความเข้มงวดมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยอดส่งออกรถยนต์ก็ประสบปัญหาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องปรับลดกำลังการผลิต ทำให้กระทบต่อการจ้างงานของผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องมีการปรับลดเวลาทำงานของพนักงานลง ส่งผลต่อรายได้ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก “สมคิด” สั่งรับมือ ศก.ปีหน้า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังมอบนโยบายผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า ได้สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมพร้อมหามาตรการรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า “ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง ต้องช่วยกันระมัดระวังเรื่องการนำเสนอข่าวในเชิงลบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุน” แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รองนายกฯสั่งให้สถาบันการเงินของรัฐไปดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเศรษฐกิจฐานราก และกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกรมภาษีก็ให้มีมาตรการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะกรมสรรพากรต้องผลักดันการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามามีรายได้ในประเทศ หรือภาษีอีบิสซิเนส “อุตตม” ดูแลปิดโรงงาน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อออกมาตรการมาดูแลผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบจากภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนโรงงานหลายแห่งมีการปิดกิจการ ต้องเข้าไปพิจารณาในรายละเอียดถึงสาเหตุการปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมด้วยว่าสาเหตุมาจากส่วนใดบ้าง จะได้ดูแลได้อย่างครอบคลุม ส่วนมาตรการที่จะเตรียมออกมาใช้รับมือกับภาวะเศรษฐกิจปี 2563 นั้น นายอุตตมกล่าวว่า จะเตรียมมาตรการที่ดูแลครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น การบริโภค การลงทุน รวมถึงดูแลผู้ประกอบการด้วย ซึ่งชุดมาตรการที่จะออกมาจะต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-392404

จำนวนผู้อ่าน: 2160

19 พฤศจิกายน 2019

รถยนต์ไฟฟ้าสตาร์ตไม่ติด ยุโรป-ญี่ปุ่นเบรกลงทุนยาว

แผนปั้นประเทศไทยฮับรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลบิ๊กตู่สะดุด ค่ายรถทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเบรกลงทุน “เบนซ์” ล้มแผนทำตลาด EQC รถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทยแบบไม่มีกำหนด ชี้รัฐบาลส่งเสริมไม่ถูกจุด ระบุทุ่มลงทุนโรงงานแบตเตอรี่แค่รองรับกลุ่มรถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด หลายค่ายขู่ย้ายฐานไปจีน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยีหลัก ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดรูปแบบส่งเสริม 3 รูปแบบ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (ไฮบริด หรือ HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือ PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) โดยมีแพ็กเกจด้านภาษีสรรพสามิตสนับสนุนคิดในอัตรา 50% สำหรับสองแบบแรก และอัตรา 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกาศไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2560 ถึงวันนี้ปรากฏว่ายังไม่ค่ายรถยนต์แบรนด์ใดตัดสินใจลงทุนแบบเต็มรูปแบบ ส่วนใหญ่เลือกแค่เพียงบางส่วน อาทิ ไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริดเท่านั้น พร้อมทั้งปฏิเสธการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสิ้นเชิง เบนซ์ล้มแผนทำตลาดรถอีวี นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากตัดสินใจยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ เพื่อลงทุนทั้งโปรเจ็กต์ว่า ถึงวันนี้แผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะแนวทางการทำตลาดที่บริษัทเซตไว้กับนโยบายของรัฐบาลไทยไม่สอดรับกัน การจะปลุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องเริ่มต้นจากการสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นก่อนแล้วการลงทุนจึงจะตามมา แม้ว่าโดยในข้อกำหนดการลงทุนเปิดช่องให้ค่ายรถยนต์สามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% เข้ามาทำตลาดได้ก่อนโดยรับการยกเว้นอากรขาเข้า แต่มีข้อจำกัดด้านจำนวนซึ่งในเชิงการตลาดทำไม่ได้ นายโฟล์เกอร์กล่าวว่า การจะนำรถยนต์สักรุ่นเข้ามาทำตลาดจำเป็นต้องวางระบบการขายอย่างเป็นระบบ มีการสร้างเน็ตเวิร์ก ยิ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% จำเป็นจะต้องมีโครงข่ายสาธารณูปโภค สถานีชาร์จและอื่น ๆรองรับ ดังนั้น วอลุ่มที่รัฐบาลกำหนดให้แค่หลักร้อยไม่คุ้มค่าการลงทุนแน่ เมอร์เซเดส-เบนซ์จำเป็นต้องประกาศยกเลิกแผนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่น EQC เข้ามาจำหน่ายภายในปีนี้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด “ตรงนี้คงต้องคุยรายละเอียดกันอีกครั้ง โดยเฉพาะจำนวนรถยนต์ที่จะเอาเข้ามาขาย จริง ๆ บริษัทแม่ที่เยอรมนีและเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ เชื่อเหมือนกันว่าประเทศไทยเป็นตลาดรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ใหญ่ที่สุด โอกาสที่จะพัฒนาไปสู่อิเล็กทริกเวฮิเคิลไม่น่ายาก” จ้องย้ายฐานไปจีน อีกประเด็นหนึ่งที่กังวล คือ ประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้ากับจีน ซึ่งสามารถนำรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาขายได้ เสียภาษี 0% เปิดโอกาสให้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนทะลักเข้ามาได้ง่ายขึ้น จุดนี้ทำให้บริษัทแม่กำลังพิจารณาเรื่องการลงทุนใหม่ โดยมีแนวคิดหันไปลงทุนในจีน เพื่อผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์พวงมาลัยขวา แล้วเอาเข้ามาขายในประเทศไทยแทน ในลักษณะเดียวกับที่บริษัทรถยนต์จากจีนได้รับสิทธิพิเศษนี้ “เราอยากให้ภาครัฐทบทวน อย่างน้อยวอลุุ่มต้องมี 300-500 คันในปีแรกก่อนเพื่อสร้างตลาด และทำให้ลูกค้าสามารถจับต้องรถยนต์ไฟฟ้าได้ก่อน สิ่งที่น่าอายคือบ้านเราแอดวานซ์ที่สุดในโลกในการใช้รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือไมลด์ไฮบริด แต่วันนี้เบนซ์ส่งรถยนต์ไฟฟ้า EQC ไปขายทั่วโลกแล้ว แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ใช้” ผุดโรงงานแบตเตอรี่ แหล่งข่าวฝ่ายบริหารเมอร์เซเดส-เบนซ์ ไทยแลนด์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประกาศลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ไปเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา โดยร่วมลงทุนกับพันธมิตรใช้เม็ดเงินมากกว่า 100 ล้านยูโร ทั้งขยายโรงงานผลิตและตั้งโรงงานสามารถเริ่มผลิตได้เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดกลุ่มรถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริดเท่านั้น โรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 6 ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์มีใน 3 ทวีป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่ต่างจากค่ายอื่น ๆ อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู ที่ร่วมมือกับแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก เปิดตัวโรงงานประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูง ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี มูลค่า 700 ล้านบาท รองรับรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด 4 รุ่น ได้แก่ ซีรีส์ 3, 5, 7 และเอ็กซ์ 5 และก้าวต่อไปคือการเตรียมความพร้อมสำหรับแบตเตอรี่แรงดันสูง พร้อมด้วยเทคโนโลยีลํ้ายุคอื่น ๆ ขณะที่ค่ายโตโยต้าก็เพิ่งเปิดสายการผลิตแบตเตอรี่ที่โรงงานประกอบรถยนต์ โตโยต้า เกตเวย์ ไปเป็นกลางปี 2562 ที่ผ่านมา หลัก ๆ ก็ยังเป็นการป้อนตลาดกลุ่มรถยนต์ไฮบริด บีโอไอไฟเขียวลงทุนแล้ว สำหรับโครงการส่งเสริมกิจการรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 แบบนั้น ก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์ให้ความสนใจยื่นขอส่งเสริมเยอะมาก โดยเมื่อปี 2560 เป็นกลุ่มรถไฮบริดทั้งสิ้น 5 ราย ได้รับการส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน และมาสด้า ส่วนอีก1 รายที่ยังไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน คือ ค่ายรถยนต์ซูซูกิ ขณะที่ปี 2561 มีค่ายรถยนต์ยื่นรับส่งเสริมการลงทุนรถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด จำนวน 6 ราย ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส-เบนซ์, ฮอนด้า, โตโยต้า, นิสสัน, มิตซูบิชิ, เอ็มจี ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) มีมากถึง 10 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์, บีเอ็มดับเบิลยู และออดี้ ค่ายรถญี่ปุ่น ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ, นิสสัน, ฟอมม์, เอ็มจี และพลังงานมหานคร ซึ่งได้เริ่มลงทุนกับรถยนต์ยี่ห้อไมน์ แต่ก็มีเพียงแบรนด์เล็ก ๆ เท่านั้นที่สนใจลงในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ในขณะที่บิ๊กแบรนด์กลุ่มยุโรปและญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสนใจ   ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/motoring/news-392401

จำนวนผู้อ่าน: 2046

19 พฤศจิกายน 2019

รุมค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท ธุรกิจขอ 6 เดือน หวั่นซ้ำศก.

“หอการค้า-ส.อ.ท.-สภาผู้ส่งออก” ประสานเสียงค้าน “ขึ้นค่าแรง” หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ ขอ 6 เดือนค่อยนำกลับมาทบทวนใหม่ ด้าน ส.เครื่องนุ่งห่มฯมองต่างมุม ชี้ช่วยหนุนกำลังซื้อ ปรับขึ้น 2% รับได้ ฝ่ายลูกจ้างทวงสัญญานโยบายหาเสียงค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง วันที่ 20 พ.ย. 2562 ซึ่งจะมีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ทันประกาศใช้ภายในปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน หลังถูกชะลอปรับขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กำลังถูกจับตามองว่า ที่ประชุมบอร์ดไตรภาคีจะมีมติให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองหรือไม่ ขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการ นายจ้างเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน หอการค้าฯชี้อีก 6 เดือนค่อยขึ้น นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะเวลาเหมาะสมที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอ การส่งออกหดตัวจากเงินบาทที่แข็งค่า กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน หากรัฐบาลขึ้นค่าแรงงานไม่ว่าจะอัตราเท่าใด จะกระทบผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบันขาดทุนอยู่แล้ว หากเป็นไปได้ควรชะลอขึ้นค่าแรงงานออกไปอย่างน้อย 6 เดือน แล้วค่อยกลับมาทบทวนปัจจัยต่าง ๆ อีกครั้ง ทั้งนี้จะหยิบยกประเด็นนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันครั้งต่อไปด้วย “รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงได้อย่างไร ตอนนี้จะเจ๊งกันหมดอยู่แล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี หากปรับขึ้นจะกระทบต้นทุนผู้ประกอบการ ผมว่าปัญหาค่าแรงงานน่าห่วงน้อยกว่า ห่วงว่าจะไม่มีงานให้ทำดีกว่า อีก 6 เดือนค่อยมาคุยกันอีกที” สภาอุตฯชี้ขึ้นไม่เท่ากันทั่ว ปท. นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ให้เป็นหน้าที่ไตรภาคีพิจารณาว่าการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในระดับ 2-10 บาทเหมาะสมหรือไม่ แต่หากปรับขึ้นระดับนี้มองว่าไม่ต่ำไม่สูงเกินไป และต้องไม่ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ พิจารณาตามศักยภาพแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี เอกชนมีต้นทุนหลายด้านต้องรับภาระ ต้องลดต้นทุน แต่ไม่ใช่การปลดคน จึงขอให้เอกชนคิดตรงนี้ให้มาก และหันไปปรับปรุงเทคโนโลยีให้สามารถผลิตได้มากขึ้น คุณภาพดีขึ้น หาตลาดใหม่ ๆ ถือเป็นทางรอดที่ดีตอนนี้ ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประเทศไทย มองว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน จากที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง 2 ปี หลายอุตสาหกรรมส่งออกไม่ได้ ต้องลดกำลังการผลิต รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการใช้แรงงานเข้มข้น ตั้งแต่ต้นน้ำในภาคเกษตรจนถึงปลายน้ำในอุตฯอาหารสำเร็จรูป หากขึ้นค่าแรงในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้จะยิ่งซ้ำเติม ทำให้แข่งขันไม่ได้ เพราะปัจจุบันต้นทุนค่าแรงงานของไทยสูงสุดในอาเซียนอยู่แล้ว 325 บาท อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ 197-341 บาท เวียดนาม 156-173 บาท อินโดนีเซีย 99-271 บาท เป็นต้น “แต่หากรัฐจะปรับค่าแรงงานก็ต้องคำนึงเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคู่ขนานไปด้วย เพราะขึ้นค่าแรงแล้วผลิตได้เท่าเดิม ต้นทุนต่อหน่วยจะสูง และหากส่งออกไม่ได้ แม้จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ไม่รู้จะขายให้ใคร จึงต้องสร้างสมดุลทุกฝ่ายรัฐอาจเสริมมาตรการการเงิน มาตรการการคลัง ช่วยผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ด้วยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ เพราะหากผู้ประกอบการแข่งขันไม่ได้จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นในอาเซียนที่ต้นทุนแรงงานและวัตถุดิบได้เปรียบกว่า หรือลงทุนนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคน ประเด็นที่เอกชนกังวลมากที่สุดขณะนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสจะซึมยาว จึงประคองอุตสาหกรรมเดิมให้อยู่รอดก่อน” อุตฯเครื่องนุ่งห่มรับได้ 2% ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากจะขึ้นค่าแรงงานควรอยู่ในระดับที่อุตสาหกรรมรับได้ประมาณ 2% หรือ 6-7 บาท หรือจากปัจจุบัน 320 บาท เป็น 326-327 บาท/วัน ถ้าขึ้นเกินกว่า 3% จะทำให้ ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อส่งออกในอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีสัดส่วน 40% จะกระทบ เพราะไม่เพียงต้นทุนค่าแรงสูงที่สุดในอาเซียน และมีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม หากไม่ปรับขึ้นค่าแรงเลยก็อาจกระทบเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะปัจจุบันการผลิตเครื่องนุ่มเพื่อจำหน่ายตลาดในประเทศมีสัดส่วน 60% ซึ่งพบว่าตลาดในประเทศไม่ขยายตัวเลย เพราะแรงงานไทยไม่มีการปรับค่าแรงมา 2 ปีแล้ว เทียบกับกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ค่าแรงต่ำกว่าแต่ปรับขึ้นทุกปี ทำให้ความแตกต่างค่าแรงของไทยและ CLMV เริ่มลดลง สำหรับต้นทุนการใช้แรงงานคิดเป็นสัดส่วน 50% ของการผลิต เช่น เสื้อตัวละ 500 บาท เป็นต้นทุนค่าแรง 250 บาท หากขึ้นค่าแรงงาน 2% จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต 1% แต่สามารถปรับราคาจำหน่ายเสื้อเพียง 0.5% หรือเฉลี่ยตัวละไม่เกิน 5 บาท ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตฯเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอรวมกันใช้แรงงาน 3 แสนคน เป็นต่างด้าว 40% และคนไทย 60% แต่ได้รับสัญญาณว่าจะปรับขึ้นค่าแรงเมื่อ 2 ปีก่อน ประกอบกับเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้แรงงานเย็บผ้าที่มีอายุมาก ลาออกปีละ 5,000-10,000 คน ไม่สามารถหาแรงงานมาทดแทนได้ ผู้ประกอบการจึงได้ปรับตัวหันไปใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ โรงงานเครื่องนุ่งห่ม 50 โรง ขยายฐานการผลิตไปในประเทศกลุ่ม CLMV เพื่อผลิตเพื่อส่งออกแทน ลูกจ้างทวงรัฐค่าแรง 400 บาท ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงงานเปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ชุดที่ 20 (บอร์ดค่าจ้าง) ที่มีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน 20 พ.ย.นี้ บัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่จะถูกนำเข้าพิจารณา อยู่ที่ตัวเลข 2-10 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ทุกฝ่ายรับได้ แม้นายจ้างยังไม่อยากให้ปรับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะไม่ได้ปรับขึ้นก้าวกระโดด ขณะที่ลูกจ้างก็น่าจะเห็นชอบแม้สภาพเศรษฐกิจขณะนี้ค่าครองชีพพุ่งขึ้นมากกว่า ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้รายได้ไม่พอดำรงชีวิตแต่ละวัน จึงอยากให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่เป็นจริง “ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นใจนายจ้าง แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ทำให้รายรับ รายจ่ายไม่สมดุลกัน จึงอยากให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นไปตามนโยบายหาเสียงของฝ่ายการเมือง ทำให้ลูกจ้างคาดหวัง เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐจะมีมาตรการต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มลูกจ้างที่หาเช้ากินค่ำ และหากไม่ขึ้นค่าแรง รัฐก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างรูปแบบอื่น อาจเป็นสวัสดิการด้านแรงงาน อุดหนุนการจ่ายประกันสังคม ที่สำคัญนโยบายหาเสียงที่ให้คำมั่น ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ต้องตอบสังคมให้ได้” น.ส.ธนพรกล่าว  ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-392398

จำนวนผู้อ่าน: 2069

19 พฤศจิกายน 2019

โบรกฯ หวั่น IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจกระทบดัชนีหุ้นอ่อนตัว

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี เปิดเผยแนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้าวันที่ 21 ต.ค.62 ว่า เรามีมุมมองเป็นกลางคาดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) แกว่งตัว 1,625 – 1,640 จุด แม้ว่าภาวะตลาดจะได้ปัจจัยบวกจากงบประมาณปี 2563 วาระแรกผ่านสภาฯ ด้วย 251 คะแนน อย่างไรก็ตาม ประเด็นลบจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้ลงต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ระดับ 3.0% (จากเดิม 3.2%) จากผลกระทบสงครามการค้า สถานการณ์เบร็กซิต (Brexit) ที่ยังยืดเยื้อซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะต้องส่งหนังสือถึงอียูเพื่อขอเลื่อนเบร็กซิตออกไปอีก 3 เดือน นอกจากนี้กระแสเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ที่ยังคงไหลออกต่อเนื่อง โดยขายสุทธิ (Net sell) 6.6 พันล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือนถึงปัจจุบัน (MTD) รวมถึงความกังวลผลประกอบการไตรมาส 3/62 ของกลุ่มพลังงานที่คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (Stock Loss) จะกดดันให้ดัชนีอ่อนตัวลง ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกลงทุนรายตัว (Selective Buy) ในหุ้นที่คาดว่างบไตรมาส 3/62 จะเติบโต ได้แก่ GPSC, BGRIM, EA, ADVANC, BCH, CHG, EPG, TASCO ,PRM, JMT, JMART และ BGC รวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์ ได้แก่ MTC และ SAWAD ที่ได้ประโยชน์ต้นทุนลดลงจากทิศทางดอกเบี้ยขาลง และกลุ่มหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) AOT, INTUCH, ADVANC, BEM, BTS, BDMS, BCH, CHG, GPSC, TTW และ CPALL ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-382589

จำนวนผู้อ่าน: 2200

21 ตุลาคม 2019

“ซีไอเอ็มบี” ตั้ง “อดิศร เสริมชัยวงศ์” เป็นเอ็มดีใหม่มีผล 19 ต.ค.62

“ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้ง “อดิศร เสริมชัยวงศ์” เป็นกรรรมการผู้จัดการใหญ่-ประธานเจ้าหน้าที่บริการ แทน “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” ที่ครบวาระ มีผลตั้งแต่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ (CIMBT) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 นั้น คณะกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) ในการประชุมครั้งที่ 8/2562 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ไม่รวมถึงตำแหน่งกรรมการ) แทนนายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ โดยธนาคารได้ยื่นขอความเห็นชอบการแต่งตั้งนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธปท.ได้อนุมัติตามที่ธนาคารยื่นเรื่องขอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-382585

จำนวนผู้อ่าน: 2404

21 ตุลาคม 2019

เงินบาท​แข็งโป๊กที่​ 30.28 บาท/ดอลลาร์​ เบร็กซิตไร้ข้อสรุป-จับตากำไร ​บจ.สหรัฐ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาท​เปิดเช้าวันนี้​ (21​ ต.ค.)​ ที่ระดับ 30.28 บาทต่อ​ดอลลาร์สหรัฐ​ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์​สหรัฐ โดย​กรอบเงินบาทวันนี้อยู่​ระหว่าง​ 30.25 ถึง 30.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ ส่วน​กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่​ที่​ 30.00 ถึง 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ โดย​ปัจจัย​ล่าสุด นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยื่นจดหมายบขอเลื่อนการพิจารณาข้อตกลง Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักร (UK) กับสหภาพยุโรป (EU) ออกไปถึงวันที่ 31 มกราคมปีหน้าส่งผลให้ความไม่แน่นอนเรื่อง Brexit จะกลับมากดดันเงินปอนด์อีกครั้ง โดยเชื่อว่าจุดสูงสุดของเงินปอนด์ครั้งนี้จะเป็นแนวต้านใหม่ ขณะที่ในระยะยาว ข้อตกลงล่าสุดที่ทาง UK และ EU กำลังต่อรองอยู่ ถือว่าไม่ดีกับเศรษฐกิจ ขณะที่หลายบริษัทในอังกฤษก็เข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกัน ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ในวันที่ 24 ตุลาคม เป็นครั้งสุดท้ายของนายมาริโอ ดรากี้ โดยรวม เชื่อว่า ECB จะ “คง”นโยบายการเงินทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่า ECB จะไม่ใช้เพียงนโยบายการเงิน แต่จะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปด้วยนโยบายทางการคลังระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ระหว่างสัปดาห์ก็ต้องระวังการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา แม้กำไรส่วนใหญ่จะออกมาดีกวาคาดแต่กลับเป็นการกดดันให้ตลาดปรับฐาน เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรเมื่อดัชนี S&P500 เข้าใกล้จุดสูงสุดเก่า ด​ร.จิ​ติ​พล​ กล่าว​อีกว่า​ ส่วนของเงินบาท ช่วงสั้นมีแรงขายจากผู้ค้าต่างประเทศกลับมากดดัน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่มีความชัดเจนในเรื่องนโยบายที่คาดว่าจะใช้ในการควบคุมความเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันสกุลเงินเพื่อนบ้านก็เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แล้ว “ในสัปดาห์นี้เรามองความผันผวนของตลาดทุนสหรัฐเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดทิศทางเงินบาท ถ้าผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐยังแข็งแกร่ง ก็อาจเห็นดอลลาร์ทรงตัวได้พร้อมกับอัตรา​ผลตอบแทน​พันธบัตร​ (บอนด์ยีลด์)​ สหรัฐอายุ 10ปีที่จะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% แต่ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทเทคโนโลยีเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำไรที่ชะลอตัว ก็อาจมี แรงเทขายดอลลาร์ตามมาเพราะความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้อง”ลด”ดอกเบี้ยทันทีในการประชุมสิ้นเดือนนี้” ด​ร.จิติพลกล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-382573

จำนวนผู้อ่าน: 3067

21 ตุลาคม 2019

ซีพีขอฤกษ์ “ปิยมหาราช” ไฮสปีดเลื่อนลงนาม 24 ตุลาคมนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นประธานในการลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพีเอช) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงนามในครั้งนี้เลื่อนมาจากวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ฝ่ายซีพีเอช เคยแสดงความประสงค์จะลงนามในวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็น “วันปิยมหาราช” แต่นายกรัฐมนตรี ติดภารกิจ ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น และจะเดินทางกลับในช่วงเช้าของวันที่ 24 ตุลาคม ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/prachachat-top-story/news-382569

จำนวนผู้อ่าน: 2094

21 ตุลาคม 2019

ไทยกระหึ่มจัด “กัญชาเอ็กซ์โป” ผนึกท็อปไฟฟ์โลกปั้นยอดขาย 2 หมื่นล้าน

เอเลเวทเต็ด เอสเตท ผนึกพันธมิตรผุด “กัญชาเอ็กซ์โป 2019” ขึ้นครั้งแรกในไทย 18 พ.ย.นี้ ดึงท็อป 5 ผู้ผลิตกัญชาโลก BEDROCAN-Dutch Passion-Pistilpoint-Arcview Group อัพเดตเทรนด์ตลาด-กฎระเบียบการค้าโลก โอกาสทำตลาด ตั้งเป้าดันยอดค้า6 ปี ทะลุ 20,000 ล้านบาท นางช่อขวัญ คิตตี้ ช่อผกา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท เอเลเวทเต็ด เอสเตท จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากประเทศไทยได้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมาให้สารสกัด CBD จากพืชกัญชงเป็นสารที่ได้รับการอนุญาตให้สามารถผลิตทางการแพทย์สามารถใช้ในทางการค้าได้ ทางบริษัทร่วมกับพันธมิตรเตรียมจัดงาน Elevating Cannabis Expo 2019 : Asia”s Green Rush ซึ่งเป็นการสัมมนาทางวิชาการและกัญชาเอ็กซ์โป 2019 ขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ดึงตัวแทนผู้ผลิตกัญชาจากทั่วโลกมาเข้าร่วมงานประมาณ 1,000 ล้านคน “หลังจากกฎหมายผ่านมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการปลูก การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์อย่างมาก และไทยยังขาดข้อมูลเรื่องนี้อย่างรอบด้าน การดึงงานนี้เข้ามาจัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรกจะช่วยให้ทราบว่าถ้าจะทำธุรกิจด้านนี้จริง ๆ จะต้องทำอะไรอย่างไร ตลาดกัญชาทั่วโลกและเทรนด์การค้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาทั่วโลกเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่สินค้ากัญชา แต่ยังมีพวกอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการจัดงานในลักษณะเอ็กซ์โป นำสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการผลิตมาแสดงก่อนที่จะตัดสินใจว่าหากจะก้าวกระโดดลงไปในตลาด green rush ต้องทำอย่างไรบ้าง” ทั้งนี้ ในเวทีสัมมนามีตัวแทนจาก 28 องค์กรที่สำคัญเข้าร่วม เช่น เอกชนรายใหญ่ระดับท็อป 5 จากทั่วโลก เช่น กลุ่มสหภาพยุโรปมี BEDROCAN ซึ่งเป็นผู้ผลิตสารสกัดกัญชาทางเภสัชกรรมที่ใหญ่ที่สุดจากอัมสเตอร์ดัม และ Dutch Passion ซึ่งเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์กัญชาจากอัมสเตอร์ดัม ขณะที่ฝั่งสหรัฐ Pistilpoint ผู้ผลิตจากสหรัฐ ซึ่งเป็นรายที่มีโรงเรือนขนาดใหญ่ที่โอเรกอน และ Arcview Group ซึ่งเป็นกองทุนด้านกัญชาจากสหรัฐ เป็นต้น และแคนาดาซึ่งเป็นเบอร์ 1 กัญชาโลกก็จะมีตัวแทนมาร่วมงานนี้ด้วย ส่วนในไทยจะมีตัวแทนจากอภัยภูเบศร และในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีการจัดสัมมนากลุ่มอาเซียนพาเนล ซึ่งจะมีตัวแทนจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาร่วมอัพเดตข้อมูลทั้งด้านการผลิตและกฎหมายในแต่ละประเทศด้วย พร้อมกันนี้ ภายในงานนี้จะมีข้อมูลสำหรับสตาร์ตอัพที่สนใจลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรเอ็กซ์พาร่า จัดตั้งกองทุนสตาร์ตอัพ (venture capital) ชื่อ Expara Cannabis Tech Fund ซึ่งมีวงเงินตั้งต้นประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการลงทุนของสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านกัญชา รวมถึงการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาด้านนี้ “เราต้องการให้มีสตาร์ตอัพที่มีไอเดียและมีเทคโนโลยี นวัตกรรมเกี่ยวกับกัญชามากขึ้น จึงได้ร่วมกันพัฒนากองทุนนี้ขึ้นมา โดยเอ็กซ์พาร่าเป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งตอนนี้มีสตาร์ตอัพที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 10 รายแล้ว และภายในงานนี้จะมีการจัดพิตชิ่งด้วย” นางช่อขวัญกล่าวว่า ไทยมีโอกาสที่จะขยายตลาดผลิตภัณฑ์กัญชา เพราะในปัจจุบันตลาดกัญชาทั่วโลกปี 2018 มีมูลค่า 14,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี หรือในปี 2025 ขณะที่ในประเทศไทยก็มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าตลาดเป็นประมาณ 661 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024 หรือ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไทยต้องศึกษาเทรนด์ตลาดกัญชาโลกอย่างรอบด้าน ตลาดนี้เปิดกว้างมาก โดยมีหลายประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ปลูกและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วทั่วโลกนับ 10 ประเทศ เช่น แคนาดา เป็นเบอร์ 1 สหรัฐ โคลอมเบีย สหภาพยุโรปหลายประเทศ อังกฤษให้เฉพาะรัฐบาลเป็นผู้ปลูก สเปน สวิตเซอร์แลนด์ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนจาเมกากำลังจะส่งออก เป็นต้น “การพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชานั้นต้องขอให้ภาครัฐช่วยหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎระเบียบให้รวดเร็ว ตอนนี้เอกชนรอกฎหมายและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ รวมถึงการส่งเสริมด้านเงินทุน เช่น กองทุนต่าง ๆ เพราะกัญชาจะเป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น อาหาร ยา บุหรี่ และแอลกอฮอล์ ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ข้อมูลภาพรวมของเราก่อน จากนั้นขยายวงไปอาเซียนและโกลบอล” ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-382530

จำนวนผู้อ่าน: 2176

21 ตุลาคม 2019

จับตาบอร์ดวัตถุอันตราย การเมืองสั่ง “แบน” พาราควอต ?

ยิ่งใกล้วันประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคม เข้ามาเท่าไร ความเคลื่อนไหวของทั้งกลุ่มคัดค้าน และกลุ่มสนับสนุน การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ก็ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเท่านั้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางด้านกลุ่มสนับสนุนการใช้สารเคมีเสี่ยงสูงทั้ง 3 สาร ก็ได้เปิดตัวละครใหม่ในนามสมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (Thai Agricultural Innovation Trade Association หรือ TAITA) ขึ้นมา เพื่อรณรงค์ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่ต่อต้านการ “แบน” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ชัดเจนว่า TAITA ได้แจ้งจดวัตถุประสงค์ของสมาคมการค้าไว้ว่า “เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีเพื่อใช้ในการเกษตรและสาธารณสุข” โดยสมาคมนี้เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพุ่งขึ้นสูงสุด ในอีกฟากหนึ่งของฝ่ายสนับสนุนให้ “แบน” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดที่นำโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมอย่าง มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ก็ออกแถลงการณ์และรณรงค์อย่างกว้างขวางผ่านทางเครือข่ายพันธมิตรภาคประชาสังคม เพื่อ “กดดัน” ให้รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ประกาศแบนพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส ทันที โดยไม่ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับแสดงข้อมูลสำคัญเปิดเผยว่า แท้ที่จริงแล้ว TAITA มีความเกี่ยวพันกันกับ Croplife ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทผู้ค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้คัดค้านการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่างเปิดเวทีสาธารณะให้ข้อมูลเป็นวงกว้าง รวมไปถึงมีการ “เกณฑ์” หัวหน้าเกษตรกรรายสำคัญออกมาแสดงจุดยืน เสมือนหนึ่งเป็น “สงคราม” ครั้งสุดท้ายที่จะตัดสินแพ้ชนะ ด้วยการจับจ้องไปที่ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ทว่า หลงลืมกับการพิจารณา “ท่าที” สำคัญของฟากการเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยประกาศต่อสาธารณชน “ไม่สนับสนุน” ให้มีการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดต่อไป แต่ “อำนาจ” ที่จะสั่งให้ “แบน” หรือ “ไม่แบน” ไม่ได้ขึ้นกับนักการเมืองทั้ง 3 ท่าน แต่เป็นอำนาจเต็มของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่เล่นบท “ซื้อเวลา” ในกรณีนี้ มาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยมีข้อน่าสังเกตว่า เป็น 3 ปีที่คาบเกี่ยวกับ คสช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ได้แสดงท่าที โดยมี “บัญชา” ให้ศึกษาผลกระทบ ลดการใช้-ลดการนำเข้า ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเดือนมิถุนายน 2561, การตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ในเดือนกรกฎาคม 2561, การสร้างความรับรู้ ความเดือดร้อนของเกษตรกร ต้องมอง 2 ทาง ลองหาวิธี แต่ยังไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด (บัญชาในเดือนเมษายน 2562) และบัญชาครั้ง ล่าสุดในเดือนกันยายน 2562 ให้จัดการหารือ 4 ส่วน (รัฐบาล-เกษตรกร-ผู้บริโภค-ผู้นำเข้า) เพื่อ “แสดงความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจ” เกี่ยวกับการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งหมดนี้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า นักการเมืองที่บอกให้ “แบน” แท้จริงแล้วไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้ “แบน” ในขณะที่ตัวหัวหน้ารัฐบาลเองก็ยังไม่เคยมีบัญชาให้ “แบน” แม้แต่สักครั้งเดียว ส่งผลให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตราย และความเสี่ยงสูง ตกอยู่ใน “กำมือ” ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่เพียงชุดเดียว เป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจ “เหนือ” กว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เหนือกว่า คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เหนือกว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน และเหนือกว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ล้วนแล้วแต่มีมติ-ข้อเสนอแนะ-ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส โดยสิ้นเชิง จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า สารเคมีทั้ง 3 ชนิดมีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงและความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ได้รับและสัมผัสสารเคมี มีการถ่ายทอดพิษตกค้างจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ แต่จนแล้วจนรอด คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับพิจารณาผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ด้วยการให้ “จำกัด” การใช้สารเคมี (มติเดือนพฤษภาคม 2561) ซึ่งแปลว่า ยังเปิดให้มีการนำเข้าและการใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสต่อไปได้ โดยให้มีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด และจะ “ทบทวน” การกำจัดการใช้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 หรือจนกว่าจะมีสารเคมีการเกษตรที่สามารถทดแทนได้ (ประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชและราคาใกล้เคียงกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี ตามเงื่อนไขดังกล่าว กลับกลายเป็นว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ “ปิดทาง” ที่จะ “แบน” พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส จากเหตุผลทางวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์ จนแม้แต่ นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานเจ้าของมติ “คัดค้าน” การใช้ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ถึงกับกล่าวว่า การแบนหรือไม่แบน มีความเกี่ยวพันกับ 1) ผลประโยชน์ใหญ่ของการเป็นประเทศเกษตรกรรม 2) มีธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้อง และ 3) เกิดการเคลื่อนไหวรวมตัวทั้งเครือข่ายประชาสังคม-วงวิชาการ กับผู้ค้าและผู้นำเข้าสารเคมีการเกษตร จนต้องเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและการเจรจา “ประเด็นในตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล เป็นเรื่องการตัดสินใจทางการเมือง” นพ.ประทีปกล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-382548

จำนวนผู้อ่าน: 2055

21 ตุลาคม 2019

ตั้งทีมเจาะข้อมูล”บริษัทเสี่ยง” สรรพากรเพิ่มฐาน 4 ล้านคน

สรรพากรเร่งสปีดไล่ล่าภาษี ลุยใช้ “ดาต้าอะนาไลติกส์” เจาะลึกผู้เสียภาษีทุกมิติ ดันเป้ารายได้ 2.116 ล้านล้านบาท “เอกนิติ” เร่งเข็นกฎหมาย “แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ-อีบิสซิเนส” เข้าสภา ปิดช่องโหว่บริษัทข้ามชาติเลี่ยงภาษี พร้อมแผนขยายฐานภาษีให้ถึง 15 ล้านคน ขีดเส้นเก็บภาษีกูเกิล-เฟซบุ๊กปี”63 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำขอระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างประเทศ (AEOI) ซึ่งร่างกฎหมายได้ผ่านการตรวจและปรับปรุงจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากร ระหว่างวันที่ 16-31 ต.ค. 2562 ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) หรือแพลตฟอร์มต่างประเทศ (อาทิ กูเกิล เฟซบุ๊ก เน็ตฟลิกซ์ อโกด้า เป็นต้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ส่วนภาษีในลักษณะ turn over tax เหมือนที่ฝรั่งเศสนำมาใช้เก็บภาษีบริษัทต่างชาติที่ไม่จดทะเบียนในประเทศ แต่มีรายได้เกิดในประเทศ ในอัตรา 3% นั้น ทางกรมสรรพากรเพียงแค่ศึกษา แต่ยังไม่ได้มีนโยบายว่าจะนำมาใช้ “กฎหมาย 2 ฉบับนี้หากผ่านออกมาบังคับใช้ จะทำให้กรมมีช่องทางเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติได้มากขึ้น ซึ่งสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล น่าจะทันบังคับใช้ได้ในปี 2563 เพราะผ่านกฤษฎีกาไปแล้ว กำลังเฮียริ่งรอบสุดท้ายก่อนเข้าสภา ซึ่งก็ต้องลุ้นให้ผ่านสภา” นายเอกนิติกล่าว สำหรับภาษีอีบิสซิเนสนั้น ก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กรมสรรพากรประเมินว่า หากมีผลบังคับใช้จะทำให้กรมเก็บรายได้เพิ่มขึ้นราว 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี รายงานข่าวสรรพากรระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศนั้น เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ไม่มีพรมแดน ทำให้มีการโยกย้ายกำไรไปในประเทศที่มีความจูงใจด้านภาษีอากร ส่งผลให้การติดตามจัดเก็บภาษีอากรของแต่ละประเทศเป็นไปอย่างลำบากยิ่งขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการเลี่ยงภาษีจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ปิดหีบปี”62 เกินเป้าในรอบ 8 ปี ด้านนายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา PwC Thailand”s Symposium 2019 ว่า ในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) นี้ รัฐบาลตั้งรายจ่ายรวมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยกรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 2,116,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่ได้รับเป้าจัดเก็บ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งถึงสิ้นปีงบประมาณ กรมสามารถจัดเก็บได้ 2.009 ล้านล้านบาท หรือเกินเป้าราว 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดเก็บเกินเป้าปีแรก นับตั้งแต่ปี 2554 “ขณะที่การจัดทำประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ซึ่งถึงตอนนี้ตัวแปรต่าง ๆ เปลี่ยนไปหมด ดังนั้น ต.ค. 62 ที่เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 หากไม่ทำอะไร ภาษีก็จะหายไปราว 80,000 ล้านบาท เพราะตอนจัดทำประมาณรายได้คำนวณราคาน้ำมันที่ 72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันเหลือ 60 เหรียญ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนคำนวนที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ตอนนี้เหลือ 31 บาท ดังนั้น สรรพากรต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ” นายปิ่นสายกล่าว สแกนข้อมูลผู้เสียภาษีละเอียด นายปิ่นสายกล่าวว่า นโยบายการเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2563 อธิบดีกรมสรรพากรได้นำระบบการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ data analytics มาใช้ ซึ่งมุ่งเน้น 2 ด้าน คือ ปรับกระบวนการทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนยื่นภาษี จนกระทั่งจ่ายภาษี หรือแม้แต่การคืนภาษี ต่อไปจะไม่มีการคืนเป็นเงินสดหรือเช็คแล้ว แต่จะคืนทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็คืนผ่านอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 100% แล้วในด้านการตรวจสอบภาษีก็จะใช้ data analytics นำข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกเข้ามา ทั้งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีประเภทต่าง ๆ ไปจนถึงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ข้อมูลประกัน ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฯลฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดกลุ่มผู้เสียภาษีออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มดีที่อยู่ในฐานภาษี, กลุ่มดีที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี, กลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในฐานภาษี และกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่อยู่ในฐานภาษี ซึ่งกลุ่มดีที่เสียภาษี กรมก็จะอำนวยความสะดวกให้ เช่น คืนภาษีให้เร็ว เป็นต้น ส่วนกลุ่มเสี่ยงก็จะถูกกรมประกบรายตัว “การนำระบบดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษีอยู่ในกระบวนการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ด้วย ขณะที่หลายเรื่องก็ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา” ชี้อีคอมเมิร์ซโตฉุด VAT ต่ำเป้า นายปิ่นสายกล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ถึงปัจจุบันพบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 3 เท่า ขณะที่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้ จากผู้ค้าขายออนไลน์ในประเทศยังมีข้อติดขัด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษี VAT ในประเทศต่ำกว่าเป้าหมายเดือนละ 2,000 ล้านบาท โดยแนวทางเก็บภาษีกลุ่มนี้ก็ต้องใช้ data analytics รวมถึงใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ สำหรับการเก็บภาษีจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่มีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือภาษีอีบิสซิเนส ปัจจุบันร่างกฎหมายอยู่กฤษฎีกา โดยแนวทางคือจะมีการให้แพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ VAT ทางช่องทางออนไลน์ และเป็นผู้หักภาษี VAT จากค่าสินค้าและบริการที่ขายให้แก่คนไทยไว้ ซึ่งแต่ละเดือนแพลตฟอร์มจะต้องนำส่ง VAT มาให้กรมสรรพากร “เรื่องภาษีอีบิสซิเนส ผมคิดว่าประเทศไทยควรจะมีออกมา ไม่อย่างนั้นรายได้ VAT ก็คงจะลดลงไปเรื่อย ๆ” นายปิ่นสายกล่าว ลุยรื้อภาษีบุคคลธรรมดา ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นายปิ่นสายกล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี โดยประเทศไทยมีประชากร 67 ล้านคน ซึ่งเมื่อตัดผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปีและกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีออกไป เช่น เกษตรกร เป็นต้น จะเหลือผู้ที่ควรอยู่ในฐานภาษีประมาณ 15 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ 11 ล้านคน ดังนั้น กรมต้องขยายฐานอีก 4 ล้านคนที่ยังอยู่นอกระบบ “และถึงแม้จะมีในฐานภาษี 11 ล้านคน แต่จริง ๆ ผู้ที่เสียภาษีอยู่มีแค่กว่า 4 ล้านคน ส่วนอีกกว่า 6 ล้านคน ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบ แต่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องชำระ ดังนั้น สรรพากรได้รับมอบหมายให้ศึกษาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาใหม่” นายปิ่นสายกล่าว ตั้งหน่วยงาน Transfer Pricing นายปิ่นสายกล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมสรรพากรมีแนวคิดจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา เพื่อดูแลส่วนของภาษี transfer pricing หรือมาตรการกำหนดราคาโอน ที่มีผลบังคับใช้ในรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เพื่อเป็นทีมตรวจสอบ รวมถึงจัดหาโปรแกรมมาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อไม่ให้มีการใช้ดุลพินิจในการตรวจสอบภาษี เนื่องจากบริษัทที่เข้าข่ายเสียภาษี transfer pricing คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และมีรายได้เกินกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจัดทำเอกสารที่เรียกว่า “disclosure form” ยื่นต่อกรมสรรพากร พร้อมกับแบบแสดงรายการภาษี ทำให้จะมีเอกสารเข้ามาจำนวนมาก นอกจากนี้ โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพที่มีการลงทุนปรับปรุงระบบการผลิตไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะมีการให้หักลดหย่อนภาษีมากขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มีการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-382552

จำนวนผู้อ่าน: 2181

21 ตุลาคม 2019

แผนสกัดเบี้ยวภาษีที่ดิน บัญชีดำห้ามโอน-ซื้อขาย

มหาดไทย-คลังแท็กทีมรับจัดเก็บภาษีที่ดิน 1 ม.ค. 63 สั่งธนารักษ์-กรมที่ดิน หนุนท้องถิ่นเต็มพิกัด ป้อนบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ 32 ล้านแปลงถึงมือ อปท. 7.7 พันแห่ง งัดไม้เด็ดสกัดค้างชำระภาษี ขึ้นบัญชีดำสำนักงานที่ดินทั่วประเทศห้ามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง คาดช่วงใช้มาตรการบรรเทาภาระภาษี 3 ปีแรก อบต. เทศบาล กทม. เมืองพัทยามีรายได้เพิ่ม 3-4 หมื่นล้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ 13 มี.ค. 2562 และให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เท่ากับว่า อีก 2 เดือนเศษ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ รวมทั้งผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทน อาทิ ผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ผู้แทนนิติบุคคล ผู้ชำระบัญชี เจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่ง ฯลฯ ต้องยื่นเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ขณะที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา รวมทั้งหน่วยงานสนับสนุนอย่างกรมที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมบังคับคดี ฯลฯ ได้ทยอยประกาศบังคับใช้กฎหมายระดับรอง ตลอดจนระเบียบ คำสั่ง เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและปลูกสร้าง ใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% แล้ว ท้องถิ่น 7.7 พันแห่งติวเข้ม ในส่วน อปท. 7,776 แห่ง จาก 7,852 แห่ง ประกอบด้วย เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดเวลากว่า 1 ปี ตั้งแต่ช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ อยู่ระหว่างพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดฝึกอบรมติวเข้มเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ฝ่ายปฏิบัติในส่วนการสำรวจ จัดทำแผนที่ภาษี ประเมินภาษี ศึกษาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและอาคารชุด โดยเชื่อมโยงข้อมูลที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง หรือ 32 ล้านโฉนดกับสารบบที่ดินของกรมที่ดิน และเชื่อมโยงข้อมูลบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมธนารักษ์ ค้างภาษีขึ้นบัญชีดำห้ามโอน ล่าสุด กรมที่ดินทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดิน และสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ ให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายใหม่ที่ให้จัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ดังนี้ 1.จัดส่งข้อมูลรูปแปลงที่ดิน และข้อมูลเอกสารสิทธิที่ดิน ประกอบด้วยข้อมูลทะเบียนที่ดิน และข้อมูลห้องชุดในแต่ละพื้นที่ให้กับ อปท. เพื่อใช้เตรียมการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2.ให้สำนักงานที่ดิน และสำนักงานที่ดินสาขาทั่วประเทศ มีหน้าที่แจ้งการโอน หรือจดทะเบียนการเช่า กรณีที่โอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือจดทะเบียนการเช่าในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างต่อ อปท.เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป 3.ให้สำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา มีหน้าที่รับแจ้งรายการภาษีค้างชำระจาก อปท. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ภายในเดือน มิ.ย.ของทุกปี หรือภายในระยะเวลาที่ อปท. และสำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขา จะตกลงกำหนดเวลาเป็นอย่างอื่น กรณีมีภาษีค้างชำระ กฎหมายห้ามสำนักงานที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินสาขารับจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง เข้มผู้ถือกรรมสิทธิ์-ครอบครอง ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ย. 2562 สาระสำคัญ คือ ให้สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา แจ้งการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง หรือการจดทะเบียนเช่าในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อ อปท.ที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่เป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเท่ากับ อปท.จะมีข้อมูลและรู้ความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนมือผู้ถือกรรมสิทธิ์ ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษี แจงยิบใครอยู่ในข่ายต้องจ่าย แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รวบรวมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยอธิบายว่า ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูก สร้างประกอบด้วย 1.ที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล เช่น โฉนด ตราจอง ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์ น.ส.3 น.ส.3 ก และ น.ส.3 ข และที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เช่น ส.ป.ก.4 ก.ส.น. ส.ค.1 น.ค.1น.ค.3 ส.ท.ก.1 ก น.ส.2 (ใบจอง) เป็นต้น 2.สิ่งปลูกสร้าง หมายถึง โรงเรือน ตึก อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้ทรัพย์สินได้ อาทิ บ้านเดี่ยว บ้านเรือนแพ บ้านแถวหรือทาวน์เฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว คลังสินค้า สถานศึกษา โรงแรม โรงมหรสพ สถานพยาบาล สำนักงาน ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชยกรรม สถานีบริการน้ำมัน โรงงาน ถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงบนดิน ไซโลเก็บอาหาร โรงสีข้าว คอนโดมิเนียม กระท่อม ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เป็นสำนักงาน-ที่อยู่อาศัย สระว่ายน้ำ บ้านผีสิงในสวนสนุก บ้านบนต้นไม้ เต็นท์โครงหลังคาเหล็กถาวร เป็นต้น ตัวอย่าง สิ่งปลูกสร้างที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษี อาทิ ตู้ฝาก-ถอนเงินสด กังหันลมลานไกไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ เครื่องเล่นในสวนสนุก เสาสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถนน บ่อบำบัดน้ำเสีย รั้ว ลาน ทางเดินรถไฟ เสาไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น รายได้เข้าท้องถิ่น 4 หมื่น ล. นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 โดย 2 ปีแรกเป็นไปตามบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ดี การบรรเทาภาระภาษีสำหรับผู้ที่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เคยเสียอยู่เดิม จะบรรเทาให้เป็นเวลา 3 ปี “ตอนนี้มีรายละเอียดหมดแล้ว ทุกคนประเมินภาระภาษีตัวเองได้ตามบทเฉพาะกาล จะกำหนดอัตราจัดเก็บช่วงแรก2 ปี จากนั้นค่อยดูว่าจะอย่างไรต่อไป ส่วนการบรรเทาภาระภาษีจะอยู่ช่วง 3 ปีแรกซึ่งการบรรเทาจะคิดเฉพาะส่วนที่ถูกเก็บภาษีมากขึ้นกว่าที่เคยเสียอยู่ส่วนที่เคยเสียอยู่ก็จะเสียเหมือนเดิม สมมุติเคยเสียภาษีอยู่ 300 บาท ต้องเสียเพิ่มเป็น 500 บาทในส่วน 300 บาทก็ต้องเสียไปก่อน ส่วนอีก200 บาท ค่อยมาบรรเทา ปีแรก 25% ของ200 บาท ปีที่สอง 50% ปีที่สาม 75% คิดรวมกับ 300 บาทเดิม ดังนั้นภาพรวมภาษีไม่ได้น้อยลง” นายลวรณกล่าว ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีแรก การเก็บรายได้ภาษีที่ดินของ อปท. ทั่วประเทศจะอยู่ที 3-4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เก็บได้ปีละ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้น มาจากที่ดินเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนที่รกร้างว่างเปล่าจะเริ่มต้นเก็บอัตราเท่ากับที่ดินเชิงพาณิชย์ จากนั้นจึงทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากยังไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดิน สนามกอล์ฟลดหย่อน 90% กรณีสนามกอล์ฟจะได้รับลดหย่อนภาษีให้ 90% เฉพาะในส่วนที่เป็นสนามกอล์ฟ เพราะถือว่าเป็นการสนับสนุนกีฬา แต่ส่วนคลับเฮาส์จะไม่ได้รับยกเว้นภาษี แต่จะมีการจัดเก็บภาษี ซึ่งการลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์นี้ ไม่ใช่เฉพาะกรณีสนามกอล์ฟ แต่รวมถึงกีฬาประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น สนามฟุตบอล เป็นต้น “จะลดหย่อนให้เฉพาะส่วนที่เป็นสนาม โดยจะได้ลดหย่อน 90% คือ 100 บาท เสียแค่ 10 บาท ซึ่งรวมถึงที่ดินที่ใช้ในทางกีฬาอื่น ๆ ด้วย” นายลวรณกล่าว แจงเหตุผลเลื่อนราคาประเมิน นายลวรณกล่าวด้วยว่า กรณีที่กรมธนารักษ์เลื่อนการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นใช้วันที่ 1 ม.ค. 2564 นั้น เนื่องจากหากไม่เลื่อนใช้ราคาประเมินใหม่ จะสร้างความยุ่งยากให้ท้องถิ่นที่ต้องนำราคาประเมินใหม่มาใช้ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันต่อการเก็บภาษีที่ต้องเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย. 2563 “วันนี้ท้องถิ่นเขาต้องทำการบ้านว่า ที่ดินแต่ละแปลง หรือโรงงานแต่ละแห่ง ต้องประเมินแล้วเสียภาษีเท่าไหร่ ซึ่งใช้ราคาที่ดินปัจจุบันมาทำจนเสร็จแล้ว แต่ถ้าพอวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะไปเปลี่ยนราคาใหม่ สิ่งที่ทำมาก็จะผิดหมด ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกันก็ต้องชะลอไป 1 ปี เพราะถ้าไปประกาศราคาใหม่ ก็ต้องทำการบ้านกันใหม่ ก็จะไม่ทันเก็บภาษีภายในเดือน เม.ย.” นายลวรณกล่าว 3 ปีแรกที่ร้างเก็บเท่าเชิงพาณิชย์ ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่าอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บช่วงปี 2563-2564 หากเป็น 1.ที่ดินเกษตรกรรม มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01%, 75-100 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%, 100-500 ล้านบาท เสียอัตรา 0.05%, 500-1,000 ล้านบาท เสียอัตรา 0.07% และ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียอัตรา 0.1% ซึ่งในกรณีบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นปีที่ 4 เป็นต้นไป จะได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในแต่ละ อปท. รวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นการถาวร 2.ที่อยู่อาศัย กรณีเป็นบ้านรวมที่ดิน หากเป็นหลังหลัก (มีชื่อในทะเบียนบ้าน) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษี, 50-75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.03%, 75-100 ล้านบาท เสีย 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 0.1% กรณีสิ่งปลูกสร้าง หากใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลัก มูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี, 10-50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.02%, 50-75 ล้านบาท เสีย 0.03%, 75-100 ล้านบาท เสีย0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้น เสีย 0.1% บ้านที่ไม่ใช่หลังหลัก ไม่เกิน 50 ล้านบาทเสีย 0.02%, 50-75 ล้านบาท เสีย 0.03%,75-100 ล้านบาท เสีย 0.05% และ 100 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 0.1% 3.อื่น ๆ (พาณิชยกรรม/รกร้างว่างเปล่า) มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียอัตรา 0.3%, 50-200 ล้านบาท เสีย 0.4%, 200-1,000 ล้านบาท เสีย 0.5%, 1,000-5,000 ล้านบาท เสีย 0.6% และ 5,000 ล้านบาทขึ้น เสีย 0.7% กรณีที่ว่างเปล่า หากไม่มีการทำประโยชน์ ภาษีจะเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 3% ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-382555

จำนวนผู้อ่าน: 2030

21 ตุลาคม 2019

ค้าปลีก “มือถือ-ไอที” แห่ปรับตัว สู้แคมเปญ “ดับเบิลเดย์” อัดหนัก

แคมเปญดับเบิลเดย์อีคอมเมิร์ซพ่นพิษ “มือถือ-ไอที” ปรับตัวจ้าละหวั่น “เจมาร์ท” หนีแข่งราคา รุก “อุปกรณ์เสริม” ชูคอนเซ็ปต์ “Gadget Destination” ด้าน “เจไอบี” แนะบริหารช่องทางขายแยกสินค้า-เติมโปรโมชั่นเสริม ชี้ “โน้ตบุ๊ก-คอมพิวเตอร์” แค่โดนหางเลขไม่หนักเท่าสมาร์ทโฟน นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายสมาร์ทโฟนผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซส่งผลกระทบต่อช่องทางร้านค้าปลีกบ้าง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นด้านราคา ซึ่งเจมาร์ทก็มีการขายออนไลน์ทั้งผ่านเว็บไซต์ของตนเอง และบนมาร์เก็ตเพลซ รวมถึงมีการจัดโปรโมชั่นในช่วงวัน “ดับเบิลเดย์” ควบคู่ไปกับการทำการตลาดแบบออมนิแชนเนลที่สามารถส่งของได้ภายใน 3 ชั่วโมง เจมาร์ทปรับแผนมุ่งแก็ดเจต “ตลาดสมาร์ทโฟนยังมีสัดส่วนยอดขายบนออนไลน์เป็นตัวเลขหลักเดียว ซึ่งเราไม่ได้ปรับอะไรมาก เพราะถ้าจะไปทำโปรโมชั่นแฟลชเซลแบบลดขาดทุนก็คงไม่ทำ ตลาดออนไลน์ของเราจะเน้นสินค้าประเภทแก็ดเจตที่ได้มาร์จิ้นสูงกว่าสมาร์ทโฟน ขณะที่ในภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนตอนนี้ค่อนข้างดรอป” ขณะเดียวกัน เจมาร์ทจะหันมาเน้นการทำตลาดอุปกรณ์เสริมมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์เสริมที่รองรับเทคโนโลยี IOT เรียกว่าเป็น “Gadget Destination” โดยปรับหน้าร้าน 20 แห่งให้มีสัดส่วนในการขายอุปกรณ์เสริม และดีไวซ์ IOT เพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิมมีแค่ 20% และภายในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 60 แห่ง รวมถึงขยายสาขาร้าน “Jaymart ioT” โดยเฉพาะจากที่เปิดแล้ว 1 แห่ง เป็น 5 แห่ง และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากอุปกรณ์เสริมเป็น 10% จากเดิมแค่ 2% ภายในปีหน้าด้วย “ปีนี้เป็นปีที่เราตั้งใจว่าจะกลับมาทำกำไรให้ได้ จากปีที่ผ่านมาขาดทุนโดยพยายามรักษายอดขายที่ 8,000 ล้านบาทในปีนี้ และคงไม่คาดหวังเรื่องการเติบโตเพราะการแข่งขันสูงมาก” ด้านนายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมโทรศัพท์มือถือ แสดงความเห็นว่า การขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมีผลกระทบกับธุรกิจค้าปลีกหรือเชนสโตร์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เว็บอีคอมเมิร์ซทั้งหลายมีการจัดแคมเปญ “ดับเบิลเดย์” เพราะมีโปรโมชั่นลดราคาลงมาเยอะมาก เช่นเดียวกัน นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การทำโปรโมชั่นของออนไลน์มาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อตลาดไอทีแน่นอน โดยเฉพาะตลาดโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากผู้บริโภคไม่กังวลเรื่องการรับประกัน เมื่อเจอสินค้าราคาถูกกว่าหน้าร้านก็ตัดสินใจซื้อได้ง่าย บริหารพอร์ตสินค้า-ช่องทางขาย “คนซื้อมือถือรู้ว่าประกันศูนย์ไปห้างไหนก็มีแบรนด์ช็อป เขาจึงไม่กังวล ดังนั้น ค้าปลีกสมาร์ทโฟนจึงต้องปรับตัวมาก” สำหรับเจไอบีมีการขายสินค้าในทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงบนมาร์เก็ตเพลซมีการทำโปรโมชั่นดับเบิลเดย์ ทั้งบนเว็บไซต์ของตนเอง และบนมาร์เก็ตเพลซ มีการแบ่งแยกสินค้าที่ขายให้แตกต่างกันในแต่ละช่องทาง นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างแบรนดิ้งให้แข็งแรงเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือปัจจุบันเจไอบีมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 800 ล้านบาท สัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ประมาณ 12% แบ่งเป็นเว็บไซต์บริษัท 10% ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนมาร์เก็ตเพลซ 2% “ตอนนี้ลูกค้ารู้ว่าวันดับเบิลเดย์อย่าง 11.11/12.12 เป็นวันโปรโมชั่นออนไลน์เขาก็รอ ดังนั้น คนขายของออนไลน์ควรทำโปรโมชั่นในวันนั้น ต้องบอกว่าพื้นที่ออนไลน์น่ากลัวมาก สามารถทำยอดขายได้ถึง 30 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10 เท่าจากช่วงเวลาปกติ” เสริมโปรฯสู้-ตจว.ยังไม่กระทบ นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอที และสมาร์ทโฟน กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นคนละตลาด โดยผู้ที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิรซ์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่แล้ว ขณะที่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าหน้าร้านก็จะเน้นซื้อที่หน้าร้านเป็นหลัก อีกทั้งสินค้าที่ขายบนอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาไม่สูงมาก ขณะที่โปรโมชั่นในวันดับเบิลเดย์ทางบริษัทก็เข้าร่วมด้วย รวมทั้งทำโปรโมชั่นเองผ่านหน้าเว็บไซต์ด้วย “สัดส่วนการขายออนไลน์ของเรา 70% มาจากกรุงเทพฯ เนื่องจากมีหน้าร้านแค่ 11 แห่ง ขณะที่ต่างจังหวัดก็สะดวกเดินทางมาซื้อที่ร้าน เพราะสาขาครอบคลุมถึงระดับอำเภอ” ปัจจุบันยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 13% จากยอดขายรวม และคาดว่าในปีนี้จะเติบโตประมาณ 30% โดยบริษัทมีเว็บไซต์ของตนเองและออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนเว็บ “ช้อปปี้” และไม่มีแผนเปิดออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนมาร์เก็ตเพลซอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากขายส่งให้ผู้ประกอบการจึงไม่อยากขายตัดหน้าคู่ค้า นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. คอมเซเว่น เจ้าของเชนสโตร์ขายโทรศัพท์มือถือและสินค้าไอที กล่าวว่า การขายสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟนผ่านอีคอมเมิร์ซมีมานานแล้ว แม้ช่วงหลังจะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาในช่วง “ดับเบิลเดย์”แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับคอมเซเว่นแต่อย่างใด ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-382542

จำนวนผู้อ่าน: 2071

21 ตุลาคม 2019

ไฮสปีดซีพี ติดล็อกเวนคืนเต็มที่แค่ 72% สั่ง3กระทรวงสนธิกำลังรื้อท่อก๊าซ-เสาไฟฟ้า-ท่อประปา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณา ความก้าวหน้าโครงการ EEC Project List 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 นั้นสัญญาร่วมทุนได้ผ่าน ครม. ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะเสนอขอขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมเข้า ครม. ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยเอกชนพร้อมลงนามในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ 2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งศาลปกครองเห็นตาม คณะกรรมการคัดเลือก และมติอุทธรณ์ของบอร์ด EEC ไม่รับเอกสาร 2 กล่อง (กล่องข้อเสนอแผนธุรกิจ และกล่องข้อเสนอผลตอบแทนทางการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง ซึ่งบริษัทฯ ได้ไปยื่นคำร้องกับศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการต่อโดยกำหนดพิจารณาเอกสารทางเทคนิคให้จบภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 และเปิดซองการเงิน เพื่อหาผู้เข้าเจรจาสัญญา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและลงนามได้ภายในเดือนตุลาคม 2562 3) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งบอร์ด EEC รับทราบ การวางกำหนดการส่งมอบที่ดินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คือ ส่งมอบที่ดิน 72% ภายใน 1 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการ และเห็นชอบให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการรื้อย้ายท่อก๊าซ ยาว 12 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 16 จุด กระทรวงมหาดไทย เร่งรัด ย้ายท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 จุด ย้ายเสาส่ง ไฟฟ้าแรงสูงยาว 14 กม. ยกเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 39 จุด ย้ายท่อประปาขนาดใหญ่ยาว 2 กม. และกระทรวงคมนาคม โดย รฟท.ใช้สิทธิ์เร่งรัดให้ย้ายท่อน้ำมันของบริษัทเอกชน ระยะทาง 44 กม. รวมทั้งเร่งรัด พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน พ.ศ. … ซึ่งจะทำให้การส่งมอบพื้นที่โครงการเป็นไปตามแผนงาน และโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย คาดว่าจะลงนามได้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ 4.) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ซึ่งศาลปกครองมีมติให้คำพิพากษา ดังนี้ 1. ให้ถอนฟ้องคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ไม่ผ่านการประเมินในซองที่ 2 2.ให้การเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีคำสั่ง และให้มีผลต่อไป จนกว่ามีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด 3.ให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กพอ.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ) 4.คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเร่งดำเนินการต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-376254

จำนวนผู้อ่าน: 2056

01 ตุลาคม 2019