การท่าเรือสนับสนุนเงิน 400 ล้าน บรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประกอบการและประชาชนสู้ COVID-19 ลดค่าภาระตู้ 3 เดือน แก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ท่าเรือกรุงเทพ ลดค่าเช่าพื้นที่หลังท่าแหลมฉบัง 20% 3 เดือนพ่วงจ่ายคืนค่าขน 1,000 บาท/ทีอียู เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.ดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในช่วงเวลาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คิดเป็นมูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและชุมชนโดยรอบทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) สู้โควิด โดยได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่ ปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพในอัตรา 1,000 บาท ต่อทีอียู. เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2564) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลของท่าเรือกรุงเทพ เป็นจำนวนเงินประมาณ 5,280,000 บาท เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ซึ่งในส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง มีการชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าให้แก่เอกชนผู้ประกอบการ โดยจ่ายส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู. เป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นจำนวนเงินประมาณ 384,000,000 บาท พร้อมทั้งปรับลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าพื้นที่หลังท่า ทลฉ. ยกเว้นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ กลุ่มผู้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งเสาโทรคมนาคม ผู้เช่าพื้นที่ใต้ดินสำหรับวางท่อส่งก๊าซ และบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งมีลักษณะของธุรกิจหรือลักษณะของการทำงานที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โดยปรับลดค่าเช่าลงร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลา 3 เดือน และขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่าหรือค่าตอบแทน โดยไม่คิดค่าปรับกรณีล่าช้าตลอดระยะเวลาการผ่อนผันไม่เกิน 1 เดือน ของแต่ละรอบการชำระค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญาสำหรับผู้เช่าพื้นที่หลังท่าทุกกลุ่ม สำหรับการช่วยเหลือประชาชน กทท. ได้ดำเนินโครงการ “ท่าเรือสู้ COVID-19 ไปด้วยกัน” โดยมอบเงินจำนวน 1.06 ล้านบาท ให้กับชุมชนโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 25 ชุมชน นำไปจัดซื้อหน้ากากอนามัยแบบผ้า (ซักได้) ซึ่งตัดเย็บโดยคนในชุมชนคลองเตย เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้ และจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (2 in 1) พร้อมเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์แบบเจลระบบอินฟาเรด และแบบเติม รวมทั้งสนับสนุนเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อร่วมแบ่งปันและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ได้มอบเงินจำนวน 100,000.- บาท สนับสนุนผู้นำชุมชนร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) เพื่อนำไปจัดซื้อน้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อไวรัสภายในชุมชน รวมทั้งจัดโครงการ “The Local Market ตลาดรอบการท่าเรือเพื่อคนคลองเตย” ด้วยการเปิดพื้นที่ขายของบริเวณอาคารที่ทำการ กทท. เป็นประจำทุกเดือน เพื่อช่วยให้ชาวชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ กทท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการก้าวไปด้วยกัน ก้าวไปได้ไกล ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-611875
จำนวนผู้อ่าน: 37
11 กุมภาพันธ์ 2021
“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ยืนยันไม่ประกาศ “น้ำมันปาล์ม” เป็นสินค้าควบคุม ชี้ราคาสูงส่งผลต่อดีต่อเกษตรกร วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมันมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงถึงกิโลกรัมละ 7.50 บาท ทำให้ต้นทุนผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดสูงขึ้นตามไปด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น พาณิชย์สั่งตรวจสอบการจำหน่าย “น้ำมันปาล์มขวด” ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์พยายามหารือกับผู้ประกอบการหากเป็นสต๊อกเดิมก็ต้องจำหน่ายในราคาเดิม ห้ามขายเกินราคา หากเป็นสต๊อกใหม่ ขอให้ขายพยายามคุมราคาขายไว้เท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นายจุรินทร์ ระบุว่า ตนได้กำชับให้กรมการค้าภายใน (คน.) หารือกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ต้องให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ พร้อมยอมรับว่า หากไปกดราคาปาล์มที่เกษตรกรควรได้รับลง เพื่อจะได้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาที่ต่ำลง จะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ ส่วนจะประกาศให้น้ำมันปาล์มกลับมาเป็นเป็นสินค้าควบคุมราคาสูงสุดหรือไม่นั้น เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะยังสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยการทำตารางผลผลิต ราคา ต้นทุน เพื่อกำหนดราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นที่ยอมรับ “แม้ว่าจากราคาผลปาล์มที่สูงขึ้นก็ต้องยอมรับว่า ราคาน้ำมันปาล์มอาจสูงขึ้นไปมากกว่า 42 บาทต่อขวด แต่ภายใต้การประสานงานของกรมการค้าภายในกับผู้ผลิต ยังสามารถกดราคาลงได้แม้ว่าจะสูงกว่าราคาก่อนหน้านี้บ้าง ซึ่งต้องเข้าใจเพราะราคาผลปาล์มต่างกันมาก” “เราต้องมอง 2 ด้าน คือในช่วงนี้ผลปาล์มราคาดีเพราะผลผลิตออกมาน้อย ส่งผลดีต่อเกษตรกร ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าใจ แต่ในเดือนมีนาคม ที่จะถึงนี้ ผลผลิตจะทยอยออกมามากขึ้นตามฤดูกาล กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์ปริมาณและราคาอย่างใกล้ชิด เพราะราคาตอนนั้นอาจตกลงมาได้” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำมันปาล์มเคยเป็นสินค้าควบคุมที่กำหนดราคาสูงสุด แนะนำให้จำหน่ายที่ราคา 42 บาท แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการยกเลิกให้ราคาแนะนำ เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-611862
จำนวนผู้อ่าน: 39
11 กุมภาพันธ์ 2021
Photo by SAUL LOEB / AFP ไบเดนเตรียมมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมียนมา มุ่งโจมตีผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้บัญชาการทหารที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกภายในครอบครัว วันที่ 11 ก.พ. 2564 สำนักข่าวเอ็นบีซีรายงานว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ แถลงการณ์ว่า จะมีมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมียนมา และเรียกร้องให้กองทัพโอนคืนอำนาจไปยังรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตย การคว่ำบาตรครั้งนี้มุ่งโจมตี ประโยชน์ทางธุรกิจของผู้บัญชาการทหารและสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร โดยไบเดนจะเปิดเผยรายชื่อกลุ่มแรกที่จะโดนมาตรการคว่ำบาตร ตั้งแต่อาทิตย์นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ รัฐบาลไบเดนได้เตรียมจำกัดควบคุมการส่งออกไปยังเมียนมา และระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ผลประโยชน์ (freeze asset) แต่จะยังคอยสนับสนุนบริการทางการแพทย์ และกิจการอื่น ๆ ที่ช่วยเหลือประชากรเมียนมาโดยตรง ไบเดนระบุว่า ต้องการให้ทหารเมียนมาปล่อยตัวนักการเมืองและนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกคุมขัง โดยกองทัพต้องสละอำนาจที่ได้ยึดครองมา และแสดงความนับถือต่อเสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เมื่อปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ “พล.อ.มิน อ่อง ลาย” ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา กล่าวว่าต้องรัฐประหารประเทศ เนื่องจากทางคณะกรรมการตรวจสอบการเลือกตั้งล้มเหลวในการตรวจสอบความผิดปกติในผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และทางพรรคการเมืองไม่ได้หาเสียงอย่าง “ยุติธรรม” ซึ่งผลการเลือกตั้งจากครั้งนั้น “อองซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) รวมทั้งสมาชิกพรรคชนะขาดลอย โดย ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนทั่วประเทศได้ออกมาประท้วง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และการเข้าไปคุมตัว “อองซาน ซูจี” สมาชิกภายในพรรคเอ็น แอล ดี รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-611878
จำนวนผู้อ่าน: 40
11 กุมภาพันธ์ 2021