“ซีพีออลล์” ขยายธุรกิจต่อยยอดร้านสะดวกซื้อเซเว่นฯ ตั้งบริษัทใหม่ “ออลล์ เวลเนส” เปิดธุรกิจดูแลสุขภาพกับชุมชนด้วยนวัตกรรมดิจิตัล วันที่ 9 สิงหาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) (CPALL) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติงบการเงินไตรมาส2 พร้อมกับพิจารณารับทราบการจัดตั้งบริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด (ALL Wellness Co., Ltd.) ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยบริษัท ซีพี ออลล์ เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด100% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพให้กับชุมชนด้วยนวัตกรรมระบบดิจิตัล และสร้างความสะดวกในการดูแลสุขภาพให้กับชุมชน รวมถึงแนะนําให้คําปรึกษาการดูแลสุขภาพโดยผู้เชียวชาญทางการแพทย์ นอกจากนี้บริษัทได้รายงานผลประกอบการบริษัทในไตรมาส 2/ 2561 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 129,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี ก่อน 7.5% ขณะที่กําไรสุทธิอยู่ที่ 4,779.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.84% สำหรับงวดหกเดือนแรกปี 2561 มีรายได้รวม 257,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้น8.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกําไรสุทธิ 10,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% โดยไตรมาส 2 ที่ผ่านมาบริษัทเปิดร้านเซเว่นฯใหม่รวม 227 สาขา ทำให้ณ ไตรมาส2 บริษัทมีจํานวนร้านเซเว่นฯ ทั้วประเทศทั้งสิ้น 10,760 สาขา และมีเป้าหมายที่จะขยายให้ครบ13,000สาขา ภายในปี 2564 ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-202693
Person read: 2218
10 August 2018
“สิงห์” เขย่าตลาดสแน็กสาหร่าย 2.8 พันล้าน ส่ง “มาชิตะ” ผนึก “บาร์บีคิวพลาซ่า” ลุยกลยุทธ์โคแคมเปญ ดึงน้ำจิ้มในร้านเปิดตัวรสใหม่ พร้อมโปรโมชั่น ก่อนเดินหน้าแจกสินค้าตัวอย่าง สร้างอะแวร์เนสผ่านออนไลน์ รุกขยายฐานลูกค้าวัยรุ่น ชิงส่วนแบ่งตลาด 20% นายธิติพร ธรรมาภิมุขกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาด ธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสแน็กสาหร่าย มาชิตะ ระบุว่า ตลาดสแน็กสาหร่ายมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 2,882 ล้านบาท เติบโต 9.4% ส่วน 4 เดือนแรกปี 2561 ตลาดมีมูลค่าประมาณ 990 ล้านบาท เพื่อรับกับโอกาสดังกล่าวและสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ ได้ร่วมมือ (collaboration) กับร้านอาหารปิ้งย่าง “บาร์บีคิวพลาซ่า” พัฒนาสินค้าร่วมกัน โดยดึงจุดเด่นของน้ำจิ้มสูตรเฉพาะของที่ร้าน ทำเป็นรสชาติใหม่ คือ เบคอนย่างซอสบาร์บีคิวพลาซ่าและยังนำโลโก้บาร์บีกอน ซึ่งเป็นไอคอนของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่ามาอยู่บนซอง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ ตลอดจนสร้างสีสันและความแปลกใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้น อายุระหว่าง 12-25 ปี “การ collaboration กับแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า นอกจากช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์สาหร่ายมาชิตะมีความแข็งแรงด้านความหลากหลายของสินค้า ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์มีความโดดเด่น ฉีกหนีการแข่งขันในตลาดได้อย่างดี” สำหรับสินค้าดังกล่าวจะจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม-30 กันยายน 2561 รวมระยะเวลา 3 เดือน และจะต่อยอดสู่การเปิดตัวชุดอาหารพิเศษที่ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า กับชุดเครื่องเคียงเกาหลี สำหรับทานคู่กับเมนูปิ้งย่างต่าง ๆ ประกอบด้วย ข้าวสวยโรยสาหร่ายปรุงรส สาหร่ายแผ่นอบกรอบรสออริจินอล ซอสโคชูจัง กิมจิ ไชเท้าดอง และผักกาดหอม โดยสาหร่ายที่นำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์สาหร่ายคุณภาพจากมาชิตะ โดยชุดพิเศษดังกล่าวจะทำตลาดเป็นเวลา 3 เดือนเช่นกัน นอกจากนี้ยังร่วมกันทำโปรโมชั่น ซื้อสาหร่ายรสเบคอนย่างซอสบาร์บีคิวพลาซ่า จำนวน 2 ซอง แลกรับส่วนลด 50 บาท เมื่อสั่งเมนูชุดเครื่องเคียงเกาหลีที่ร้าน จากปกติราคา 79 บาท ลดเหลือ 29 บาท ตลอดจนกิจกรรมแจกสินค้าตัวอย่างให้เกิดการทดลองชิม และสร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไลน์ ทีวี ฯลฯ ทั้งนี้ คาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้มาชิตะ มีส่วนแบ่งการตลาดเป็น 20% และสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย และผู้นำตลาดสแน็กสาหร่ายสำหรับวัยรุ่น นางสาวบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า การที่บาร์บีคิวพลาซ่าจับมือกับสาหร่ายมาชิตะ เพราะแบรนด์มีแนวคิดในการทำตลาดกับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่ากลยุทธ์การทำตลาดครั้งนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ เพิ่มสีสันให้กับผู้บริโภคและธุรกิจร้านอาหารและตลาดสแน็ก อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของแบรนด์ในการเข้าไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อย่างสแน็ก ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งและการรับรู้ในวงที่กว้างขึ้น เชื่อมต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคนอกเหนือจากธุรกิจอาหาร เนื่องจากตลาดสแน็กมีฐานการเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-202705
Person read: 2577
10 August 2018
สัมภาษณ์ นิ่งเป็นหลับ ขยับเป็นแชต คงสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้แบรนด์และนักการตลาดต้องคิดให้เร็ว เปลี่ยนให้ทัน เพื่อมัดใจผู้บริโภคให้ได้ ขณะเดียวกัน สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเป็นตัวกลาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความเคลื่อนไหวของแวดวงการตลาด ก็ได้เปิดตัวนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยคนใหม่ เพื่อเข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพของนักการตลาดและผู้ประกอบการไทยอีกแรง “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทุกธุรกิจกำลังถูกเปลี่ยนอีกครั้งจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล นั่นหมายถึง องค์ความรู้ทุก ๆ อย่างกำลังถูกเก็บไว้บนสื่อดิจิทัล ทำให้การหาข้อมูลข่าวสารทำได้ง่าย เร็วขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงการทำงานของนักการตลาดด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว “เทคโนโลยีที่ขยายตัวขึ้น เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างรวดเร็ว วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคซับซ้อนมากขึ้น และพร้อมทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ผู้บริโภคโพสต์ให้กำลังใจทีมหมูป่า ก็แชตคุยกับเพื่อน ควบคู่กับการช็อปปิ้งออนไลน์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน” “อรรถพล” ขยายความว่า ดังนั้นในแง่ของรูปแบบทางธุรกิจ ก็ต้องเปลี่ยนด้วย โดยต้องร่วมมือกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือเล็กก็ต้องอาศัยความร่วมมือกัน (collaboration) จะเติบโตแบบเดี่ยว ๆ เหมือนที่ผ่านมาคงทำได้ยาก ในส่วนของแนวทางการตลาดและบทบาทของนักการตลาดก็เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่นักการตลาดเคยมองแยกส่วนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้า ราคา โปรโมชั่น ณ จุดขาย หรือการสื่อสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ยุคนี้ทุกอย่างถูกหล่อหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer centric) และต้องเน้นความสะดวกสบายและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ถูกใจผู้บริโภคยุคนี้ “นักการตลาดยุคนี้ต้องไม่ยึดติดกับทฤษฎีและความสำเร็จเดิม ๆ แต่ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และอย่าคิดว่าบทบาทของนักการตลาดคือการวางแผนทางการตลาดเท่านั้น แต่ต้องคิดว่ากำลังสร้างธุรกิจใหม่อยู่เสมอ เพราะแพลตฟอร์มธุรกิจเปลี่ยนไป ไม่มีเส้นระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (หน้าร้าน) อีกแล้ว” เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น “อรรถพล” ย้ำว่า นักการตลาดยุคนี้ต้องมี 5 คุณสมบัติหลัก ๆ คือ ช่างสงสัย ช่างสังเกต หามุมมองหาไอเดียใหม่อยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมปรับตัว เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่างไรก็ตาม ในแง่ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ก็ต้องทำทุกอย่างให้เร็วขึ้นด้วยกัน เพื่อสนับสนุนนักการตลาดและธุรกิจต่าง ๆ ให้เดินหน้าต่อได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ล่าสุดได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ ภายใต้แนวคิด “การใช้ความเยี่ยมยอดทางการตลาด มาเป็นพลังขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ที่จะถูกขับเคลื่อนด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1.head : การสร้างแพลตฟอร์มในการรวมตัวของนักการตลาด รวบรวมความคิด เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ 2.hand : สร้างเครือข่ายด้านการตลาด มุ่งสร้างเครือข่ายที่แบ่งปันความรู้ในการทำธุรกิจและการตลาด เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยตามด้วย 3.heart : ปลุกจิตวิญญาณในการทำธุรกิจ สร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้อง 4.hope : จุดประกายนักธุรกิจรุ่นใหม่ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ด้านการตลาดให้กับเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ เพื่อสร้างความหวัง ความเชื่อมั่นในการที่จะใช้การตลาดนำพาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพราะการทำตลาดยุคนี้ คือ การเข้าใจผู้บริโภค เข้าใจตลาด ขณะที่สิ่งที่นักการตลาดต้องทำ คือ การสร้างเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าและบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ มามัดใจผู้บริโภคเน้นสะดวกยุคนี้ ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-201570
Person read: 2462
09 August 2018
PTTGC เปิดศูนย์ความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เหลือใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งกลยุทธ์ของบริษัทที่จะขยายในสิ่งเหลือใช้ให้มีมูลค่าและสร้างกำไรให้กับบริษัท นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทมองเห็นถึงโอกาสและการเติบโตในตลาดเคมีภัณฑ์ จึงได้เปิดศูนย์ความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Customer Solution Center by GC) ซึ่งเป็นศูนย์ที่ GC ได้เปิดขึ้นเพื่อให้บริการแก่คู่ค้าและลูกค้าที่สนใจเข้ามาใช้บริการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก โดยศูนย์นี้จะพร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริมด้านการแข่งขัน พัฒนาวัตถุดิบที่เหลือใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ รวมไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่สนใจ โดยศูนย์นี้พร้อมให้ความรู้และพัฒนาอย่างเต็ม ดังนั้น การเดินหน้าเปิดศูนย์ความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงเป็นกลยุทธสำคัญที่บริษัทให้ความสำคัญ อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่มีการแข่งขันสูงด้วย สำหรับ ศูนย์ความร่ววมือฯ จะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการ และให้บริการแก่ลูกค้าและคู่ค้าแบบครบวงจร ซึ่งศูนย์นี้จะเป็นช่องทางในการสร้างนวัตกรรมและไอเดียผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม หรือเหลือใช้ มาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้เกิดขึ้น พร้อมทั้ง พัฒนาระบบการออกแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การสร้าง Collaboration Model ร่วมกับลูกค้า นธมิตรด้วย อย่างไรก็ดี เพื่อสนับสนุนในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทพร้อมนำทุกไอเดีย ทุกความคิด สร้างสิ่งใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และความต้องการของตลาด ซึ่งเชื่อว่าโอกาสตลาดนี้ยังมีอีกมาก และบริษัทเองก็เป็นผู้นำในด้านนี้ เห็นได้จากที่ผ่านมาสามารถสร้างกำไรให้กับบิษัทได้เพิ่มขึ้น ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-202340
Person read: 2485
09 August 2018
“อาลีบาบา” ขนสารพัดแพลตฟอร์มธุรกิจปักธงอีอีซี ตั้งฐานค้าปลีก-ส่ง,ท่องเที่ยว, การเงิน ชูช่องทางเข้าถึงฐานลูกค้าจีน-โลก หวังกวาดเอสเอ็มอีไทยเข้าระบบเสริมแกร่งไลน์อัพสินค้า-บริการ ก่อนสปริงบอร์ดรุกอาเซียน อินเดีย ตะวันออกกลาง นายเจม ชู รองหัวหน้าอาลีบาบากรุ๊ป-ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ด้วยดีมานด์ทั้งจากเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องการเข้าสู่อีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันผู้บริโภคหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย และสหรัฐ ต้องการสินค้าไทย รวมถึงแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่มีสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเข้ามาช่วยหนุน กลายเป็นโอกาสของบริษัทที่เข้ามาลงทุน โดยบริษัทมีแพลตฟอร์ม โนว์ฮาว รวมถึงฐานลูกค้า จึงเข้ามาเป็นตัวกลาง ด้วยการลงทุนตั้งฐานในประเทศไทยเป็นฮับสำหรับต่อยอดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และตะวันออกกลาง พร้อมชิงความได้เปรียบในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังดุเดือด ทั้งนี้ ได้เดินหน้านำบียูต่าง ๆ ของบริษัทเข้ามาให้บริการในประเทศไทย นำโดยแพลตฟอร์มค้าปลีก-ส่ง ทั้งห้างออนไลน์ “ทีมอลล์” มาร์เก็ตเพลซ “เถาเป่า” และค้าส่ง “อาลีบาบา” หนุนด้วยแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ “ไช่เหนี่ยว” ตามด้วยแพลตฟอร์มท่องเที่ยว “ฟลิกกี้” รวมถึงแพลตฟอร์มการเงิน “อาลีเพย์” ชูจุดขายด้านความสะดวกในการเข้าถึงฐานลูกค้าชาวจีนและทั่วโลก รวมถึงโนว์ฮาวด้านอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ ก่อนจะนำธุรกิจอื่นในเครือตามเข้ามาในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นบริหารด้วยตนเองหรือจับมือพาร์ตเนอร์ ซึ่งตามเป้าหมายที่วางไว้จะดึงผู้ประกอบการค้าปลีก-ส่งและท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่ระบบอาลีบาบา ซึ่งนอกจากบริษัทจะได้รายได้จากค่าบริการ จำนวนซัพพลายเออร์และไลน์อัพสินค้า-บริการที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังตอบรับดีมานด์ของผู้บริโภคชาวจีนได้ครอบคลุมขึ้น และเป็นฐานสำหรับต่อยอดรุกตลาดอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลางต่อไป สำหรับแพลตฟอร์มค้าปลีก-ส่งนั้น จะใช้ทีมอลล์ เถาเป่า และอาลีบาบา เป็นหัวหอกหนุนการส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปยังจีนก่อนขยายไปทั่วโลก เน้นสินค้าที่มีดีมานด์สูงอย่างผลไม้ ซีฟู้ด เครื่องสำอาง ขนม และหมอนยางพารา โดยจูงใจผู้ประกอบการด้วยความสะดวกให้สามารถขายสินค้าให้ชาวจีนได้โดยไม่ต้องเปิดบริษัท-บัญชีธนาคารหรือเช่าโกดังในจีน ขณะเดียวกันยังสามารถรุกตลาดอินเดียและอาเซียนผ่านอีคอมเมิร์ซในเครือทั้งเพย์ทีเอ็มและลาซาด้า ตามด้วยกลยุทธ์การตลาดหนุนสินค้าไทยในเทศกาลช็อปปิ้งต่าง ๆ ทั้งเทศกาลสินค้าเกษตรที่จะมีการแจกคูปองลดราคา แฟลชเซลล์ รวมถึงส่งสินค้าไทยร่วมมหกรรมช็อปวันที่ 11 เดือน 11 และซูเปอร์เซปเทมเบอร์ เป็นต้น “ปัจจุบันซัพพลายเออร์บนอาลีบาบามีการสั่งของถี่ขึ้นและจำนวนขั้นต่ำลดลง จึงเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่ตลาด โดยมีแพ็กเกจทั้งฟรีและเสียค่าบริการ 5,999-13,999 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น” พร้อมใช้บริการบิ๊กดาต้าด้านการขนส่งสินค้าของไช่เหนี่ยวอย่างการเลือกเส้นทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ระบบโกดังสินค้าอัตโนมัติ การคาดการณ์จำนวนออร์เดอร์ล่วงหน้า มาอัพเกรดระบบโลจิสติกส์ในไทย ด้านการท่องเที่ยวจะเน้นดึงผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นคู่ค้าในฟลิกกี้ บริการด้านท่องเที่ยวแบบวันสต๊อปสำหรับชาวจีนมีไฮไลต์เป็นการขอวีซ่าออนไลน์ครอบคลุม 15 ประเทศรวมถึงไทย แพลนทริป จองตั๋ว แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ชูจุดขายการเข้าถึงฐานลูกค้าของอาลีบาบารวมกว่า 200 ล้านราย และสามารถโปรโมตในแคมเปญช็อปปิ้งต่าง ๆ รวมถึงโซลูชั่นอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ประกอบการ โดยเน้นจับผู้ประกอบการในเมืองรองซึ่งยังมีช่องวางให้เติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันเดินหน้าขยายเครือข่ายคู่ค้าที่ใช้บริการการเงินของอาลีเพย์ อาศัยเทรนด์สังคมไร้เงินสดและการเป็นพันธมิตรกับทรู คอร์ปอเรชั่นซึ่งมีบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ทรูวอลเลต เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าของบริการต่าง ๆ ของบริษัทและพันธมิตรเข้าด้วยกัน ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-202434
Person read: 2182
09 August 2018
ตลาดออนไลน์ฟู้ดดีลิเวอรี่ของจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านหยวนหรือประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐกำลังร้อนระอุ หลังยักษ์อีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา” ตัดสินใจเปิดศึกกับ “เทนเซนต์” ยักษ์อีกรายในวงการไอที ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนให้กับ “ไอ้เหลอหม่า” (Ele.me) บริษัทในเครือซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหาร เพื่อท้าชนกับผู้นำตลาดอย่าง “เม่ยถวนหว่าง” (Meituan-Dianping) ของเทนเซนต์ หวังชิงตำแหน่งเบอร์ 1 ของตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูงนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อาลีบาบา ประกาศแผนลงทุน 450 ล้านเหรียญสหรัฐภายในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ เพื่อช่วยผลักดันธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหาร “ไอ้เล่อหม่า” ซึ่งบริษัทซื้อมาด้วยมูลค่า 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือน เม.ย. ทั้งการขึ้นค่าจ้างพนักงานส่งอาหาร ขยายพันธมิตรร้านอาหาร รวมถึงเพิ่มบริการใหม่ ๆ อย่างการส่งด่วนภายใน 60 นาทีหรือ 24 ชั่วโมง เพื่อดึงดูดลูกค้าและชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเตรียมเชื่อมบริการส่งอาหารนี้เข้ากับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ของตนทั้งอีคอมเมิร์ซและบันเทิง พร้อมจัดโปรโมชั่นร่วมกัน เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า ไอ้เล่อหม่าพยายามระดมทุนจากนักลงทุนอิสระอีกกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ “ฮัว ไหล” ซีอีโอของไอ้เหลอหม่า กล่าวว่า ตลาดบริการส่งอาหารของจีนนั้น แม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่มีโอกาสเติบโตสูง และด้วยเม็ดเงินจำนวนนี้ รวมถึงการอัพเกรดด้านต่าง ๆ บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเก็บส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 39.5% ในปัจจุบันเป็นมากกว่า 50% แซงหน้าเม่ยถวนหว่างที่ครองส่วนแบ่ง 46.1% ในระยะสั้นถึงระยะกลางแน่นอน “ตลาดบริการส่งอาหารมีความสำคัญมาก ดังนั้นเราพร้อมลงทุนแบบไม่อั้นเพื่อครองตำแหน่งเจ้าตลาดให้ได้” ด้าน “เม่ยถวนหว่าง” นั้นยังคงแสดงความมั่นใจ โดยโฆษกของบริษัทระบุถึงการรับมือการแข่งขันครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาบริษัทสามารถรับมือคู่แข่งได้เป็นอย่างดีจนสามารถครองตำแหน่งผู้นำตลาดได้ในปัจจุบัน สะท้อนจากตัวเลขส่วนแบ่งตลาดซึ่งเพิ่มจาก 31.7% ในปี 2558 เป็น 59.1% เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้เม่ยถวนหว่างจะไม่มีเม็ดเงินอัดฉีดจากเทนเซนต์ แต่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเสนอขายหุ้นตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือน มิ.ย. หวังระดมทุน 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสำหรับขยายธุรกิจ ส่วนบรรดานักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การทุ่มทุนของอาลีบาบาน่าจะส่งผลกระทบกับเม่ยถวนหว่างแน่นอน เพราะธรรมชาติของธุรกิจส่งอาหารนั้นไม่มีลอยัลตี้หรือความจงรักภักดีในแบรนด์อยู่เลย ผู้บริโภคส่วนใหญ่พร้อมเปลี่ยนใจไปใช้บริการกับรายที่ถูกกว่าเสมอ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งไอ้เล่อหม่าและเม่ยถวนหว่างต่างระดมโปรโมชั่นลดราคาเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการจนขาดทุนหนักทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นหากไอ้เหลอหม่านำเม็ดเงินของอาลีบาบามาจัดโปรโมชั่นจะทำให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้อย่างน้อยในระยะเวลาสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม เดิมพันของการแข่งขันนี้ไม่ได้มีเฉพาะตำแหน่งเจ้าตลาดบริการส่งอาหาร แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจออนไลน์เพย์เมนต์อีกด้วย เพราะแต่ละรายต่างใช้ออนไลน์เพย์เมนต์จากสปอนเซอร์หลักของตนเอง เช่น อาลีเพย์และเม่ยถวนซีฝู ดังนั้นผู้นำตลาดจะสามารถกวาดฐานผู้ใช้งานได้ถึง 2 ธุรกิจ “เสียง ยี่” หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาธุรกิจ บริษัท ไอมีเดียรีเสิร์ช ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันในตลาดบริการส่งอาหารของจีนนั้น ผู้เล่นที่จ่ายเยอะกว่าจะเป็นผู้ชนะ เพราะผู้บริโภคจะแห่กันไปใช้บริการที่ให้ราคาดีที่สุดเสมอ ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงความดุเดือดของการแข่งขันในตลาดบริการส่งอาหารของแดนมังกร ที่ผู้เล่นรายใหญ่พร้อมทุ่มงบฯแบบไม่อั้น ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-200898
Person read: 2068
08 August 2018
ลุ้นระทึกอีกระลอกเมื่อ “กสทช.” ขีดเส้น 8 ส.ค. 2561 เป็นวันยื่นคำขอเข้าประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ซึ่งเป็นช่วงคลื่นภายใต้สัมปทานของ“ดีแทค” กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ที่กำลังจะหมดสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 โดยกำหนดวันเคาะราคาประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค. 2561 ส่วนคลื่น 1800 MHz คือวันที่ 19 ส.ค. 2561 แม้ 3 ค่ายมือถือจะเคยพร้อมใจกัน “เท” ไม่ยื่นคำขอเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งก่อน จน “กสทช.” ต้องลุกขึ้นมารื้อเกณฑ์ประมูลยกใหญ่ ทั้งจัดคลื่น 900 MHz ออกมาประมูลด้วย และซอยย่อยใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz เป็น 9 ใบ เหลือใบละ 5 MHz ตามคำขอของ “ดีแทค” รวมถึงเพิ่มเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 MHz ให้ย้ายบล็อกคลื่นได้ เพื่อดึงดูดให้ “เอไอเอส-ทรู” ที่ชนะประมูลหนก่อนเข้าร่วมด้วย แต่ทั้งหมดก็ยังรับประกันไม่ได้ว่าใครจะยื่นซองเข้าประมูลบ้าง เพราะทุกเจ้ารอตัดสินใจก่อนยื่นซองไม่กี่ชั่วโมง 900 MHz ส่อแห้ว 3 ค่ายเมิน โดยแหล่งข่าวภายในดีแทค เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ดจะตัดสินใจอีกครั้งในช่วงค่ำของวันที่ 7 ส.ค. หลังชัดเจนว่ามีผู้มารับซองกี่บริษัท แต่แนวโน้มจะไม่เข้าประมูลคลื่น 900 MHz เพราะมีความไม่แน่นอนด้านกฎหมายเรื่องสิทธิ์การใช้คลื่นและการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน ซึ่งคาดว่าค่ายอื่นก็น่าจะไม่เข้าเหมือนกัน “แต่อาจจะประมูล1800 MHz สักไลเซนส์เพื่อให้ได้สิทธิ์เยียวยาลูกค้า” แหล่งข่าวภายใน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เข้าประมูลทั้ง 2 คลื่น เพราะมีภาระค่าไลเซนส์ที่ต้องจ่ายอีกกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และยังมีคลื่นเพียงพอ นอกจากนี้ ทรู โดยนายวิลเลี่ยม แฮริส หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน ยังทำหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ยืนยันว่าไม่เข้าร่วมประมูล โดยระบุว่า คณะผู้บริหารได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า บริษัทฯไม่ควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz และ ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดโดยคณะกรรมการการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในวันที่ 18 และ 19 สิงหาคม 2561 ขณะที่ฟาก “เอไอเอส” ยังสงวนท่าที เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังเชื่อมั่นว่าการประมูลคลื่นที่เตรียม งบประมาณไว้กว่า 20 ล้านบาทจะเกิดขึ้น แต่อาจจะได้แค่ 3-4 ใบอนุญาต ในคลื่น 1800 MHz เพราะเงื่อนไขของคลื่น 900 MHz มีข้อกังวลเยอะ โดยเฉพาะเรื่องความไม่ชัดเจนของเส้นทางและแผนการตั้งสถานีของระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้ชนะประมูลต้องติดตั้งระบบป้องกันคลื่นรบกวน หวังประมูลกระตุ้นแสนล้าน “ดีแทคกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนนี้ ถ้าไม่เอาแล้วคลื่น 900 MHz ก็ต้องปรับมาใช้ย่าน 1800 MHz เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก เพราะปัจจุบันลูกค้าดีแทคใต้สัมปทานจริง ๆ มีแค่ 1.5 แสนราย แต่อีก 20 กว่าล้านราย ต้องโรมมิ่งใช้คลื่นย่าน 900 MHz นี้ เมื่อ กสทช.ยืนยันไปแล้วว่า ดีแทคจะไม่มีสิทธิ์เข้าสู่มาตรการเยียวยา ก็ต้องมีคลื่น 1800 MHz เพิ่มเพื่อทดแทน ส่วนเอไอเอสกับทรูก็อาจจะเข้าประมูลแค่ 1 ไลเซนส์ เพื่อขยับบล็อกคลื่นที่มีให้ไม่ถูกล็อก” ดังนั้น กสทช.ประเมินว่า หากการประมูลเกิดขึ้นจะมีเงินเข้ารัฐราว 50,000 ล้านบาท จากไลเซนส์ 1800 MHz ประมาณ 4 ใบอนุญาต ซึ่งมีราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท ทำให้ปีนี้จะมีเงินเข้ารัฐจากการจ่ายเงินงวดแรก 50% คือ 25,000 ล้านบาท ขณะที่การประมูลจะผลักดันการลงทุนโครงข่ายเพิ่ม รวมถึงการจ้างเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท หากนับรวมมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการใช้งานน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท โดยการประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อ ธ.ค. 2558 และ พ.ค. 2559 ประเมินว่าหนึ่งปีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทางตรงกว่า 3.26 แสนล้านบาท ทั้งก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้คาดการณ์ว่า การลงทุนรวมของทั้ง 3 ค่ายมือถือในช่วงปี 2561-2564 จะสูงถึง 1.2 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับลงทุนด้านอุปกรณ์ เสารับสัญญาณ และ small cell เพื่อรองรับความต้องการใช้งานด้านข้อมูลจะโตขึ้นกว่า 3 เท่า รอประมูลอีกทีปี 62 แต่ถ้า “พลิกโผ” กสทช.โดนเทอีกครั้ง ไม่มีรายใดยื่นคำขอเข้าร่วมประมูลเลย เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า จะรอประมูลใหม่อีกทีในปลายปี 2562 โดยบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ที่รัฐบาลจะเปิดสรรหาเข้ามาพิจารณาว่าจะ ทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขใด ๆ หรือไม่ รวมถึงกรณีที่คลื่นเหลือจากการจัดประมูลด้วย “ถ้าการประมูลไม่เกิด ไม่มีเงินส่งเข้ารัฐ ก็ต้องยอมรับ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้บีบบังคับให้ กสทช.ต้องเร่งหาเงินเข้ารัฐ แค่อยากให้เร่งผลักดันการประมูลเพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่านั้น ก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เพราะก็เข้าใจได้ว่าแต่ละค่ายมือถือจะต้องการคลื่นลอตใหญ่ ๆ อีกครั้งเมื่อเข้ายุค 5G ซึ่ง กสทช.และรัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นในปี 2563 จึงยังมีเวลาดึงเกมกันเงินลงทุนไว้ก่อน เพราะนอกจากดีแทคที่มีแค่คลื่น 2100 MHz 15 MHz ที่ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพแล้ว ทรูกับเอไอเอสยังมีภาระจากเงินประมูลลอตก่อน เมื่อรัฐบาลไม่ออกมาตรการยืดเวลาชำระเงินให้ คลื่นในมือก็ยังพอใช้งานได้ถึงปี 2562” ด้านประธาน กสทช. “พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้าไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดยื่นคำขอเข้าประมูลเลยก็ต้องยอมรับว่า ภารกิจหาเงินรายได้เข้ารัฐทำไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่า กสทช.ทำดีที่สุดแล้ว เพราะได้แก้ไขทุกอย่างตามที่มีข้อท้วงติงแล้ว ยกเว้นเรื่องราคาเริ่มต้นคลื่นที่แก้ไขให้ไม่ได้จริง ๆ “ก็ต้องให้บอร์ดชุดใหม่เขาทบทวน เมื่อมีการลดราคา ลดเงื่อนไขให้ แต่ทุกโอเปอเรเตอร์ปฏิเสธ ซึ่งก็อาจบ่งชี้ได้ว่าคลื่นในมือแต่ละค่ายมีมากพอ จนเขาไม่อยากลงทุน เพราะยังมีภาระค่าไลเซนส์คลื่น 900 MHz อีกหลายหมื่นล้านบาท” สำหรับรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ที่ “กสทช.” นำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 156,779.62 ล้านบาท ยังคงเหลือที่ “เอไอเอส-ทรู” ต้องชำระในปี 2562 อีก 8,602.80 ล้านบาท และปี 2563 อีก 128,177.44 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 ที่ “เอไอเอส” รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า มีกำไรสุทธิ 8,005 ล้านบาท ลูกค้า 40.1 ล้านราย มีอัตราเงินกู้สุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ 1.2 เท่า “ดีแทค” ระบุว่า กำไรสุทธิ 179 ล้านบาท ลูกค้ารวม 21.6 ล้านราย อัตราหนี้สินต่อ EBITDA 0.6 เท่า ส่วน “ทรู” รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 มีผลขาดทุนสุทธิ 387 ล้านบาท ลูกค้าทรูมูฟ เอช 27.63 ล้านราย อัตราหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA 2.8 เท่า ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-201408
Person read: 2136
08 August 2018
บิ๊กแบรนด์อสังหาฯงัดทีเด็ดแก้ทางที่ดินแพงมหาโหด แห่ผุดหมู่บ้านเมกะไซซ์ 100-400 ไร่ ชูกลยุทธ์ซื้อที่ตาบอด 60% ถัวเฉลี่ยทำเลติดถนนใหญ่-ถนนซอย 40% กดต้นทุนพัฒนาโครงการต่ำลง มีผลพลอยได้สร้างพื้นที่ส่วนกลางใหญ่กว่าปกติ กระตุ้นลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น แค่ 6 บิ๊กแบรนด์เปิดตัวทะลัก 70,000 ล้าน ชี้รายกลาง-รายเล็กแข่งลำบาก ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจแผนลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลัง 2561 พบว่าเปิดตัวโครงการแนวราบอย่างคึกคัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเน้นพัฒนาโครงการบิ๊กไซซ์ขนาดที่ดิน 100 ไร่ขึ้นไป สะท้อนถึงการแข่งขันยังเป็นเกมของผู้เล่นรายใหญ่ และการปรับพอร์ตเพิ่มรายได้จากแนวราบมากขึ้น 6 บิ๊กเนมแข่งผุด 7 หมื่นล้าน ซึ่งบิ๊กแบรนด์ 6 ราย ได้แก่ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, พฤกษา เรียลเอสเตท, เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชัน, โกลเด้นแลนด์, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และศุภาลัย ได้พัฒนาโครงการ 100 ไร่ มูลค่ารวมกัน 7 หมื่นกว่าล้านบาท กระจายทำเลทุกมุมเมืองของกรุงเทพฯขนาดที่ดินเริ่มต้น 98-100 ไร่ บางรายอาจเริ่มที่ 100-200 ไร่ และจัดซื้อที่ดินเพิ่ม ถ้าผลตอบรับดีจากลูกค้า เน้นเจาะตลาดกลาง-ล่าง มีทั้งทาวน์เฮาส์ 2-3 ล้านบาท/ยูนิต บ้านเดี่ยว 5-8 ล้านบาท ถึงบ้านเดี่ยวตลาดกลาง-บน 8-15 ล้านบาท/ยูนิต และตลาดพรีเมี่ยมราคา 15-30 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงเซ็กเมนต์ตลาดลักเซอรี่ 30-100 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ทำให้ต้องแบ่งการพัฒนาหลายเฟส โดยใช้เวลาปิดการขายอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป เทียบกับการพัฒนาโครงการไซซ์ปกติ 20-50-80 ไร่จะใช้เวลาพัฒนาและขายหมดทั้งโครงการ 3-5 ปี เพอร์เฟคเปิดใหม่ 2 ฮับ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพอร์เฟคประสบความสำเร็จมากจากโมเดลธุรกิจแนวราบขนาด 100 ไร่ขึ้น ล่าสุดไตรมาส 3/61 เปิดตัวบ้านเดี่ยวแบรนด์ใหม่ “เพอร์เฟค เรสซิเดนซ์” มูลค่า 1,500 ล้านบาท ที่พระราม 9-กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ กับสุขุมวิท 77 “พอร์ตโครงการขนาดร้อยไร่ขึ้นไปเป็นเรื่องถนัดของเพอร์เฟค เดิมมี 4 ฮับใหญ่ ๆ อยู่โซนรัตนาธิเบศร์ รามคำแหง สุขุมวิท 77 และรังสิต เริ่มจาก 200-300 ไร่ จนปัจจุบันเนื้อที่ 1,000 ไร่แล้วทุกฮับ ตอนนี้เราก็เปิดฮับใหญ่ขึ้นมาอีก 2 ฮับคือโซนกรุงเทพกรีฑา 400 ไร่ มูลค่าโครงการ 12,000 ล้าน กับโซนถนนชัยพฤกษ์ ที่ตัดแลนด์แบงก์บางส่วนขายให้ ม.หอการค้าฯ เราเหลืออีก 400 กว่าไร่ มูลค่าโครงการ 9,000 ล้าน” ทั้งนี้ มูลค่าโครงการจากเดิม 3,000-9,000 ล้านบาท เมื่อซื้อแลนด์แบงกเพิ่มเป็นขนาด 1,000 ไร่ มูลค่าโครงการจึงปรับเพิ่มเกิน 10,000 ล้านบาท เช่น ฮับโครงการทำเลรัตนาธิเบศร์ เปิดขายมา 28 ปีแล้ว บ้านเดี่ยวเคยเริ่มที่ 3 ล้านปัจจุบันราคาขยับเป็น 10 ล้านบาท “เฟสที่เหลือขายในทำเลรัตนาธิเบศร์ รังสิต รามคำแหง คาดว่าในปี 2562 ปิดโครงการได้แน่นอน ส่วนสุขุมวิท 77 คงขายอีก 2 ปีก็จะจบโครงการ เราก็เลยเปิดฮับใหญ่ขึ้นอีกหลายฮับ ที่กรุงเทพกรีฑา เดิมมีที่ดิน 300 ไร่ ก็จัดซื้อเพิ่มเป็น 400 ไร่ในปัจจุบัน มูลค่าจาก 5,700 ล้าน เพิ่มเป็น 12,000 ล้านบาท ส่วนฮับที่เหลืออยู่ระหว่างรวบรวมที่ดิน” ซื้อที่ตาบอดถัวราคาริมถนน สำหรับกลยุทธ์ทำไมต้องพัฒนาโครงการร้อยไร่ นายวงศกรณ์กล่าวว่า เพื่อบริหารต้นทุนให้ถูกลง แต่เป็นโมเดลเหมาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงในการจัดซื้อที่ดินตุนไว้ เปรียบเทียบกับโครงการแนวราบไซซ์อยู่ที่ 30-40-50-80 ไร่ ใช้เวลาพัฒนาโครงการจนถึงปิดการขายภายใน 2-3 ปี แลกกับจุดด้อยกว่าตรงที่ต้นทุนที่ดินในภาพรวมจะแพงกว่า ขณะที่โมเดลธุรกิจบิ๊กไซซ์ วิธีการจะถัวเฉลี่ยต้นทุนที่ดินราคาถูก-แพงในโครงการเดียวกัน กล่าวคือจัดซื้อที่ดินตาบอดแปลงใหญ่ 60-70% ของขนาดโครงการ จากนั้นสัดส่วนที่ดิน 30-40% เกาะกลุ่มทำเลแพงซึ่งอาจอยู่ริมถนนสายหลัก ริมถนนซอย เมื่อคำนวณต้นทุนเป็นก้อนเดียวกัน ทำให้มีราคาถูกกว่าการพัฒนาโครงการไซซ์เล็ก ไม่เกิน 100 ไร่ ไม่ต้องขอ EIA ส่วนวิธีการพัฒนามีอีกหลายเทคนิค นายวงศกรณ์กล่าวว่า กลยุทธ์หมู่บ้านร้อยไร่มีจุดเด่นที่แบ่งการพัฒนาได้หลายเฟส สามารถนำเสนอสินค้าได้ครบทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ซึ่งการทำบ้านหลายแบรนด์ทำให้เจาะลูกค้าเป้าหมายได้ครบทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่ทาวน์เฮาส์เมทโทร 4 ล้านบาท, บ้านเดี่ยวเพอร์เฟค เพลส 8-15 ล้านบาท, เพอร์เฟค เรสซิเดนซ์ 10-20 ล้านบาท ไปถึงเพอร์เฟค มาสเตอร์พีซ 20-50 ล้านบาท เทคนิคการพัฒนาโครงการบิ๊กไซซ์ ยังรวมถึงการแบ่งเฟสไม่ให้เกิน 100 ไร่ เพื่อจะได้ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการขออนุมัติมีเอกชนยื่นขอให้พิจารณาจำนวนมาก จึงทำให้ล่าช้าและอาจเป็นอุปสรรคในการสร้าง-ขาย-ส่งมอบให้กับลูกค้า การบริหารจัดการไม่ต้องยื่น EIA เป็นทางเลือกที่ดีเวลอปเปอร์นิยมนำมาใช้ในการวางแผนโครงการ “การลงทุนโครงการไซซ์เล็กมีข้อดี ทำจบเร็วกว่า รับเงินเร็วกว่า เทียบโครงการร้อยไร่มีต้นทุนดีกว่า แต่ละโมเดลก็มีความได้เปรียบอยู่ เราผสมผสานทำโครงการใหญ่และโครงการเล็ก ควบคู่ไปด้วยกัน” นายวงศกรณ์กล่าว ส่วนกลางจัดเต็ม-ลูกค้าชอบ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดเผยว่า พฤกษาฯมีการลงทุนโครงการ 300 ไร่ ทำเลบางนา-กิ่งแก้ว โดยซื้อแลนด์แบงก์บางส่วนจากโครงการเจโมโพลิสเดิมมาพัฒนาแนวราบหลายแบรนด์ รวมทั้งพรีเมี่ยมแบรนด์ “เดอะปาล์ม” มูลค่าโครงการรวม 8,000 ล้านบาท นายปิยะกล่าวว่า การจัดซื้อแลนด์แบงก์ขนาด 200-300 ไร่ มีข้อได้เปรียบตรงที่บริหารต้นทุนที่ดิน ภายใต้แนวคิดแลนด์อินเวสต์เมนต์ เนื่องจากต้นทุนที่ดินขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% จากเดิมซื้อที่ดินแปลงเล็ก 30-50 ไร่ พัฒนาและขายจนแบรนด์ติดทำเล มีฐานลูกค้ารอซื้อ เวลาจัดซื้อที่ดินเพิ่มในทำเลเดิมกลายเป็นอุปสรรคเพราะราคาแพงขึ้น ดังนั้นการซื้อที่แปลงใหญ่จึงเท่ากับล็อกต้นทุนล่วงหน้า ทำให้แข่งขันได้ง่ายกว่าเดิม “โครงการบิ๊กไซซ์มีผลตอบรับดีมาก เป็นกลยุทธ์ที่เราชอบ และมองหาโอกาสลงทุนทำเลใหม่ ๆ นอกจากต้นทุนที่ดินถูกลงแล้ว พื้นที่ส่วนกลางก็เป็นจุดขายเพราะทำขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เร่งการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้เร็วขึ้น” ศุภาลัย-โกลด์ผุด 2 มุมเมือง นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย เปิดเผยว่า เพิ่งเปิดตัวโครงการศุภาลัย ไพรด์ บางนา-ลาดกระบัง เนื้อที่ 149 ไร่ 142 ตารางวา มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ทำเลวัดศรีวารีน้อย-กิ่งแก้ว มีครบทั้งทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น 3 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 113 ตารางเมตร และบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ฟังก์ชั่น 3-4 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 139-233 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้น 1.89-4.95 ล้านบาท โดยศักยภาพทำเลอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมสำคัญและใกล้แหล่งงาน แหล่งช็อปปิ้งของกรุงเทพฯโซนตะวันออก ใกล้สถานศึกษาชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยพื้นที่ส่วนกลางในโครงการมีถึง 5 ไร่เศษ ฟังก์ชั่นพิเศษมีพื้นที่ออกกำลังกายสำหรับสัตว์เลี้ยง หรือ dog park ด้วย นายภวรัญชนม์ อุดมศิริ กรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาโครงการทาวน์เฮาส์และบ้านแฝด และนายวิรัชต์ มั่นเจริญพร กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาโครงการบ้านเดี่ยว บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ เปิดเผยว่า บริษัทเปิดโครงการบิ๊กไซซ์ทำเลที่ 3 “โกลเด้น เอ็มไพร์ บางแค” ห่างเดอะมอลล์ บางแค 2 กม. บนที่ดินรวม 170 ไร่ มูลค่ารวม 6,100 ล้านบาท แบ่งพัฒนา 4 เฟส มีครบทั้งทาวน์เฮาส์ 2-3 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวราคา 5-100 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จจากโครงการโกลเด้น เลค โคโม อ่อนนุช-พัฒนาการ บนที่ดิน 180 ไร่ มูลค่า 4,000 ล้านบาท กับโครงการบริติช อเวนิว ที่ดินรวม 120 ไร่ มูลค่า 4,000 ล้านบาท หลังจากนี้บริษัทวางแผนลงทุนเพิ่มอีก 2 โครงการ ไซซ์เกิน 100 ไร่ขึ้นไป เอสซีฯบุก 2 ทำเลหมื่นล้าน นายณัฏฐกิตติ์ ศิริรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ครึ่งปีหลัง เอสซีฯเดินหน้าแผนลงทุนตามที่ได้ประกาศนโยบาย Township Concept Development 2 โครงการ 2 ทำเล แบ่งเป็นทำเลถนนกรุงเทพกรีฑา เนื้อที่รวม 115 ไร่ มูลค่าโครงการ 4,000 ล้านบาท กับทำเลบางกะดี จังหวัดปทุมธานี อีก 200 ไร่ มูลค่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกัน 10,000 ล้านบาท ตามแผนลงทุนนำร่องเฟสแรก ๆ เป็นสินค้าตลาดกลาง-บน มูลค่ารวมกันเกือบ 4,000 ล้านบาท ได้แก่ ทำเลกรุงเทพกรีฑามีทั้งทาวน์โฮม-บ้านเดี่ยวแบรนด์ “เวิร์ฟ พระราม 9” กับบ้านเดี่ยว “บางกอก บูเลอวาร์ด พระราม 9-2” มูลค่าโครงการ 2,525 ล้านบาท กับทำเลบางกะดีที่วางแผนพัฒนา 8 เฟส เปิดตัวทาวน์เฮาส์ “เวิร์ฟ ติวานนท์ รังสิต” กับบ้านเดี่ยว “เวนิว ติวานนท์ รังสิต” ราคาเริ่มต้น 1.99-4.9 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,410 ล้านบาท “สินค้าในกลุ่ม Luxury และคอนโดมิเนียมอยู่ระหว่างศึกษาตลาด หลังจากเปิดโครงการในเฟสแรกออกไป” นายณัฏฐกิตติ์กล่าว “แลนด์ฯ” พูดน้อยต่อยหนัก นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจแผนลงทุนของกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พบว่ามีการเปิดตัวโครงการไซซ์ใหญ่ 6 โครงการ 6 ทำเลด้วยกัน ขนาดที่ดินตั้งแต่ 98-173 ไร่ มูลค่าโครงการ 2,000-4,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกัน 19,320 ล้านบาท “การพัฒนาโครงการขนาด 100 ไร่ เป็นเกมของดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ เนื่องจากต้องมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ต้นทุนจะไปจมกับการจัดซื้อที่ดินในการพัฒนาโครงการ และเป็นกลยุทธ์ที่บิ๊กแบรนด์นำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน” นายภัทรชัยกล่าว ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-200228
Person read: 2224
08 August 2018
จับตาครึ่งปีหลังกระแส cryptocurrency กลับมาบูมอีกครั้งในไทย หลังครึ่งปีแรกราคาดิ่ง “คอยน์ แอสเซท” ชี้กฎ ก.ล.ต.ชัดเจนเอื้อต่อนักลงทุน คาดสิ้นปียอดเทรดทั้งตลาดโตจาก 3,000 ล้านบาท/วันได้อีก 2-3 เท่าตัว ลุยยื่นขอไลเซนส์พร้อมเปิดตัว “crypto ATM” ตู้ซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลอัตโนมัติแห่งแรกในอาเซียน นายศิวนัส ยามดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท คอยน์ แอสเซท จำกัด (Coin Asset) ผู้ให้บริการศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล Coinasset.co.th เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ยังได้รับความนิยมในไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาจะซบเซาลงไปบ้างเนื่องจากราคาเงินดิจิทัลหลายสกุลอยู่ในช่วงขาลง แต่คาดว่าในช่วงหลังจากนี้จนถึงสิ้นปีจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง “มูลค่าการเทรด cryptocurrency ในไทยประเมินกันว่าอยู่ราว 3,000 ล้านบาทต่อวัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการเทรดใต้ดิน ส่วนที่อยู่บนเว็บไซต์ตลาดแลกเปลี่ยนกลาง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 3-4 รายที่กำลังขอรับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) รวมมีมูลค่าราว 10% เท่านั้น โดยในส่วนของ Coinasset.co.th อยู่ที่ราว 2-3 ล้านบาทต่อวัน มีลูกค้ามาเปิดบัญชีสำหรับเทรดราว 10,000 ราย แต่คาดว่าภายใน 2-3 เดือนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ราย ขณะที่มูลค่าเทรดทั้งตลาดรวมเชื่อว่าจะโตขึ้น 2-3 เท่าภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากตลาด Coinasset.co.th กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง” หลังจากเมื่อต้น ม.ค.ที่ผ่านมาค่าเงินบิตคอยน์อยู่ที่ 5.9 แสนบาท ลงไปต่ำสุดปลายเดือน มิ.ย.ที่ 1.9 แสนบาท ล่าสุดอยู่ราว 2.6 แสนบาทต่อ 1 บิตคอยน์ สำหรับ Coinasset.co.th เป็นตลาดกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล เปิดให้บริการมา 6 เดือนแล้ว หลังจากใช้เวลาพัฒนาระบบราว 2 ปีด้วยเงินลงทุน 50 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับใบอนุญาตชั่วคราวให้ประกอบธุรกิจได้ 90 วัน ในระหว่างกำลังยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก ก.ล.ต.หลังจากมีประกาศให้ผู้ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมายื่นขอรับใบอนุญาตเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา “คาดว่าบริษัทจะสามารถคืนทุนได้ภายในกลางปี 2562 ปัจจุบันมีสกุลเงินดิจิทัลที่ซื้อขายบน Coinasset.co.th5 สกุล และกำลังจะอัพเกรดระบบเพื่อเพิ่มสกุลเงิน ราวสิ้นปีจะรองรับได้ถึง 10 สกุล โดยบริษัทมีรายได้จากค่าธรรมเนียม 0.25% ต่อธุรกรรม” ล่าสุดได้เปิดตัวตู้อัตโนมัติสำหรับซื้อ-ขายเงินดิจิทัล “Crypto ATM” โดยสามารถรองรับการใช้เงินบาท เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินหยวน สำหรับแลกเปลี่ยนกับเงินดิจิทัลสกุล Bitcoin (BTC), Ether (ETH), Litecoin (LTC), Bitcoin cash (BCH), Monero (XMR) และ DASH โดยสามารถเพิ่มสกุลเงินที่จะใช้แลกเปลี่ยนในระบบได้เรื่อย ๆ ตามความต้องการของตลาดได้ “ตู้ Crypto ATM สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัล โดยไม่ต้องทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ แต่ใช้เงินสดซื้อและถอนออกเป็นเงินสดได้ทันที แค่มีบัญชีวอลเลตเงินดิจิทัลของผู้ให้บริการรายใดก็ได้ ก็สามารถทำธุรกรรมที่ตู้ได้ โดยในการใช้งานครั้งแรกต้องมีการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลด้วยระบบ KYC (know your customer) เพื่อความปลอดภัย หลังจากนั้น ก็เลือกทำธุรกรรมได้ทันที เริ่มต้นการซื้อขายได้ตั้งแต่ 100 บาท” สำหรับ Crypto ATM ถือเป็นตู้แรกในอาเซียนที่สามารถแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลกับเงินสกุลต่างประเทศได้หลากหลายในตู้เดียว เนื่องจากปกติจะออกแบบให้เป็นการใช้งานเฉพาะสกุลเงินที่กำหนดไว้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอรับใบอนุญาตให้บริการจาก ก.ล.ต. หากได้รับใบอนุญาตแล้วจะเริ่มนำร่องติดตั้งตู้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และเชียงใหม่ ก่อนขยายไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจลงทุนในเงินดิจิทัลที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี “ผู้ที่สนใจจะลงทุนในเงินดิจิทัลต้องระมัดระวัง และขอให้ทำความเข้าใจด้านเทคนิคที่ซัพพอร์ตเงินดิจิทัลก่อน อย่าโฟกัสแค่ว่าจะเข้ามาหากำไร ขอให้ค่อย ๆ ศึกษาเพราะตลาดมีไซเคิลของมันอยู่แล้ว อย่างตอนนี้ก็เป็นช่วงที่ตลาดกำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากภาครัฐมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น และเปิดกว้างในการทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น” ขณะที่ข้อมูลจาก ก.ล.ต.ระบุว่า ล่าสุดมีผู้ประกอบการราว 30 รายที่ยื่นขอรับไลเซนส์สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มา : https://www.prachachat.net/ict/news-199997
Person read: 2243
06 August 2018
บอร์ดเฉพาะกิจ EEC เตรียมเสนอบอร์ดใหญ่อนุมัติศึกษาส่วนต่อขยาย “อู่ตะเภา-ระยอง” ไอสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 30 กม. เงินเพิ่มเหยียบหมื่นล้านใช้รูปแบบ PPP เส้นทางใหม่เวนคืนที่ดินเลี่ยง “มาบตาพุด” คาดเชิญชวนนักลงทุนไตรมาส 1 ปี”63 กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งทีมใหม่ Proactive ผลักดันโครงการเต็มรูปแบบ ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุม คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2561 ในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า ที่ประชุม “รับทราบ” ส่วนต่อขยายโครงการรถไฟความเร็วสูงจากอู่ตะเภาไปยังจังหวัดระยอง ระยะทาง 30 กม. จำนวน 1 สถานี มูลค่าลงทุนจะเพิ่มเป็นหลัก 10,000 ล้านบาท โดยจะเป็นส่วนต่อขยายจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่มีระยะทาง 220 กม. มูลค่าลงทุน 300,000 ล้านบาท โดยจะใช้ระยะเวลาเริ่ม 18 เดือนจึงจะเสร็จสิ้นขั้นตอนอนุมัติ “ส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง ทาง กบอ.จะนำเรื่องเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อให้บอร์ด EEC รับทราบและพิจารณาอนุมัติเริ่มทำการศึกษาส่วนต่อขยายต่อไป” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธาน กบอ.กล่าว ทั้งนี้ กรอบการดำเนินการส่วนต่อขยายจะเริ่มทำการศึกษาออกแบบในเดือนพฤศจิกายน 2561 ใช้เวลา 4 เดือนแรก ผลการศึกษาก็จะแล้วเสร็จ จากนั้นไตรมาส 4/2562 ก็จะเริ่มทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นไตรมาส 1/2563 จะออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนจนถึงไตรมาส 4/2563 ก็จะลงนามสัญญาและเปิดให้บริการภายในปี 2567 โดยส่วนต่อขยายนี้จะเป็นสัญญาใหม่ในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) “เดิมเส้นทางรถไฟไฮสปีด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เคยทำการศึกษาไว้แล้วจากช่วงดอนเมืองไประยอง สถานีสุดท้ายหยุดที่อู่ตะเภา ส่วนการจะเดินรถไปจนถึงระยองนั้นจะผ่ากลางเข้ามาบตาพุด ซึ่งเรากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเส้นทางใหม่กลายมาเป็นโครงการส่วนต่อขยายอู่ตะเภาไประยองเส้นใหม่ที่จะอ้อมมาบตาพุด โครงการนี้จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่บ้างบางส่วน และต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ จากเดิมที่จะใช้เส้นรถไฟเก่าเลียบชายหาด เมื่อเส้นส่วนต่อขยายเส้นนี้เสร็จ รัฐบาลมีแผนที่จะศึกษาส่วนต่อขยายไปยังจังหวัดจันทบุรี และตราด ในโอกาสถัดไป” นายกอบศักดิ์กล่าว ขยับแนวเลี่ยงมาบตาพุด นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ได้รายงานความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. ที่ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost 50 ปี เงินลงทุนกว่า 224,000 ล้านบาท และเตรียมศึกษา “ส่วนต่อขยาย” จากอู่ตะเภาไประยอง และตราด เพื่อให้คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) รับทราบ โดยจะเร่งศึกษาส่วนต่อขยายไประยอง ระยะทางประมาณ 30-40 กม. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะมีสถานีจอดรถที่ระยองด้วย “ตามแผนเดิมจะสร้างจากกรุงเทพฯ-ระยองอยู่แล้ว แต่เมื่อมี EEC จึงตัดสร้างถึงอู่ตะเภาก่อน เพราะช่วงจากอู่ตะเภา-ระยอง แนวเส้นทางจะต้องตัดผ่านพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะต้องใช้เวลาพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) นาน จำเป็นที่จะต้องปรับแนวใหม่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยแนวใหม่อาจจะขยับไปตรงพื้นที่ว่างที่อยู่ด้านซ้ายและด้านขวาแทน จะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มหรือจะเบี่ยงแนวไปใช้พื้นที่ทางหลวงหมายเลข 3 สัตหีบ-บ้านฉาง-ระยอง ของกรมทางหลวง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา ขณะที่ที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงระยองจะห่างจากศูนย์กลางเมืองประมาณ 4 กม. ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจุดตัดของถนน 36 กับถนน 3138” นายวรวุฒิกล่าว ส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง จะเป็นการลงทุนเฟสที่ 2 เอกชนที่เข้าร่วมประมูลหากมีที่ดินรองรับก็สามารถเสนอแผนลงทุนเพิ่มเติมได้ โดยเสนอเข้ามาเป็นซองที่ 4 ถ้าหากมองว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการได้ เพราะผลการศึกษาเดิมระบุไว้อยู่แล้วว่า โครงการจะคุ้มทุนก็ต่อเมื่อสร้างไปถึงระยอง เนื่องเป็นแหล่งงานและที่อยู่อาศัยทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) กล่าวว่า นอกเหนือจากโครงการส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยองแล้ว ที่ประชุม กบอ.ยังรับทราบ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 2) ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ระยะที่ 1, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 และ 3) โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่ได้ดึงเข้าไปเป็นโครงการที่ใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อต้องการให้ได้นักลงทุนผู้บริหารพื้นที่ที่มีคุณภาพและเก่ง (master developer) เรื่องการก่อสร้างเพื่อเป็นต้นแบบของเมืองอัจฉริยะ (smart city) ตั้งทีม Proactive ส่วนความคืบหน้าด้านอื่น ๆ นั้นในระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคมนี้ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (เทียบเท่ารองนายกรัฐมนตรี) ซึ่งจะเดินทางมาประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) มีกำหนดการจะลงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย ทางสำนักงาน EEC ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และอาจใช้โอกาสนี้เจรจาให้นักลงทุนรายใหญ่ที่เดินทางร่วมมากับคณะอย่าง “หัวเว่ย” ได้เห็นศักยภาพและโอกาสของ EEC เช่นกัน นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ตั้ง “ทีม Proactive” ขึ้นมา เพื่อที่จะนำโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้ว รวมถึงโครงการที่เคยลงนาม (MOU) กับทางหน่วยงานรัฐและเอกชนของต่างชาติ (ญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน) นำมาเชื่อมโยงการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น การสนับสนุนมาตรการให้ SMEs ลงทุนใน EEC, การให้นักลงทุนต่างชาติช่วยพัฒนา SMEs ไทย, การดึงนักลงทุนรายเล็ก SMEs เข้าไปเป็นซัพพลายเออร์เพื่อซัพพอร์ตให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนใน EEC ให้กลายเป็นคลัสเตอร์ในภาคอุตสาหกรรม “อาจเรียกทีมนี้ว่า proactive หรืออะไรยังไม่ชัดเจน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเซตทีมขึ้นมา โดยยุบทีมเดิมที่เคยตั้งขึ้นให้เหลือเพียงทีมเดียว และเราจะสรุปรวมโครงการและแผนงานทั้งหมดที่จะเชื่อมโยงเข้าไปใน EEC เสนอต่อนายอุตตมพิจารณาต่อไป” นายสมชายกล่าว ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-200007
Person read: 2101
06 August 2018
“ฮอนด้า” เอาแน่ “อีโคคาร์-ไฮบริด” หลังยื่นบีโอไอผลิตรถยนต์ 3 ประเภท ระบุสัดส่วนกลุ่มรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขยายตัวรวดเร็ว สอดรับวิชั่นฮอนด้าปี 2030 ลั่นปีนี้ขายตามเป้า 1.26 แสนคัน นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท ได้แก่ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มูลค่า 5,821 ล้านบาท และซัพพลายเออร์ฮอนด้าอีก 1.8 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทิศทางฮอนด้าต่อจากนี้จะเน้นทำตลาดรถยนต์ทั้ง 3 ประเภทนี้ให้มากขึ้น นายพิทักษ์กล่าวว่า โปรดักต์แรกที่จะทำตลาดได้แก่ รถซีดานขนาดใหญ่ แอคคอร์ด ไฮบริด ซึ่งเงื่อนไขบีโอไอยังเปิดช่องให้ค่ายรถนำแพ็กเกจที่ได้รับการส่งเสริมแล้วมารวมได้ เช่น อีโคคาร์เฟสแรก หรือเฟส 2 ถ้าใช้เทคโนโลยีไฮบริด สามารถนับรวมได้ตามเงื่อนไขอีโคคาร์ที่กำหนดจำนวนการผลิต ซึ่งฮอนด้ามองเห็นเป็นช่องทางทำตลาด โดยเฉพาะอีโคคาร์-ไฮบริด ที่ตอบเทรนด์โลกด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้งานที่สะดวก ประหยัด “เราเชื่อว่าสัดส่วนของรถไฮบริดในอนาคตจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ฮอนด้า รถยนต์หนึ่งรุ่นที่ผลิตเกินกว่าครึ่งน่าจะเป็นไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ประเด็นนี้จะสอดรับกับวิชั่นของฮอนด้าปี 2030 ที่ประกาศผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามากกว่า 2 ใน 3 จากที่ผลิตทั้งหมด และไปได้ว่าอีโคคาร์รุ่นต่อไป หรือไมเนอร์เชนจ์ อาจได้เห็นอีโคคาร์ที่ใช้เทคโนโลยีไฮบริด” ส่วนยอดขายฮอนด้าช่วงครึ่งปีแรกทำได้ตามเป้าหมาย มียอดขายสะสมเดือนมกราคม-มิถุนายน 2561 จำนวน 59,838 คัน ทั้งนี้ นับรวมฮอนด้า บีอาร์-วี เอชอาร์-วี และซีอาร์-วี ครองส่วนแบ่งตลาด 26.1% และครองที่ 1 ใน 4 เซ็กเมนต์หลัก ทั้งซับคอมแพ็กต์ ซิตี้ และแจ๊ซ, กลุ่มคอมแพ็กต์ ซีวิค และซีวิค แฮตช์แบ็ก, กลุ่มแฟมิลี่ แอคคอร์ด และแอคคอร์ด ไฮบริด และกลุ่มเอสยูวี บีอาร์-วี, เอชอาร์-วี และซีอาร์-วี “เรามั่นใจว่าตลาดฟื้นตั้งแต่ปีที่แล้ว จากปัจจัยเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จะทำให้ยอดขายในตลาดรวมปีนี้มากกว่า 950,000 คัน ฮอนด้าคาดทำยอดขายได้ตามเป้า 126,000 คัน” สำหรับแผนรุกตลาดครึ่งปีหลัง จะมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตยนตรกรรมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะมุ่งเน้นพัฒนายนตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ คู่ไปกับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฮอนด้าจะเน้นกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ “ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแบบไหน สิ่งที่ฮอนด้าไม่เคยเปลี่ยน และเราโฟกัสมากที่สุดคือลูกค้า ฮอนด้าได้รับรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม ทาก้าอวอร์ด ด้านภาพลักษณ์ดีเด่นประเภทยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ 6 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 ชี้ชัดว่า ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ฮอนด้ามาอย่างต่อเนื่อง” นายพิทักษ์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอีโคคาร์-ไฮบริด ก่อนหน้านี้มีค่ายรถญี่ปุ่นเข้าไปหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง พร้อมเสนอรายละเอียดการลงทุนแพ็กเกจอีโคคาร์ เฟส 2 แต่จะขอพ่วงแพ็กเกจไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวีด้วย โดยเห็นว่าเทคโนโลยีที่แต่ละค่ายมีอยู่ในปัจจุบัน สามารถผลิตรถยนตตามความต้องการลูกค้าได้ตามเงื่อนไขทั้ง 2 แพ็กเกจ ประหยัด ปลอดภัย และรักษ์โลก โดยมีการร้องขอว่า หากสามารถผลิตได้ตรงตามข้อกำหนดกระทรวงอุตสาหกรรม สมควรได้รับสิทธิประโยชน์รวม 2 แพ็กเกจพร้อมกันคือ อีโคคาร์เฟส 2 ใช้น้ำมันอี 85 เสียอัตราภาษี 10% พ่วงแพ็กเกจไฮบริด ซึ่งกระทรวงการคลังคิดอัตราภาษีสรรพสามิตลดลงอีก 50% แต่ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพียงแต่เลขาฯบีโอไอยืนยันว่าสามารถนับจำนวนรวมกันได้เท่านั้น ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-200222
Person read: 2270
06 August 2018
กรณีเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D (ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร สูง 16 เมตร) ซึ่งเป็นส่วนเสริมกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัวจนเขื่อนแตกออกและมีปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักลงสู่พื้นที่ท้ายน้ำและลำน้ำเซเปียน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นวงกว้างในบริเวณเมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ มีประชาชนลาวได้รับผลกระทบมากกว่า 6,600 คน ผู้เสียชีวิตล่าสุด 27 คน ด้าน นายคำมะนี อินทิรัด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาว ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์เขื่อนดินแตกครั้งนี้ว่า เกิดจากการก่อสร้างที่ “ต่ำกว่า” มาตรฐาน โครงสร้างเขื่อนไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างหนักได้ และฝ่ายลาวกำลังรอผลการสอบสวนสาเหตุที่แท้จริงอยู่ RATCH ออกหน้ารับเขื่อนแตก โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังผลิต 354 เมกะวัตต์ (MW) ตัวอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมีขนาดพื้นที่ความจุ 1,043.27 ล้าน ลบ.ม. อายุสัญญาโครงการ 27 ปี ตามแผนจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบได้ในปี 2562 โดยโครงการนี้ดำเนินการโดย บริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SK Engineering & Construction Company ถือหุ้นร้อยละ 26, Korea Western Power Company ร้อยละ 25, Lao Holding State Enterprise ร้อยละ 24 และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้นร้อยละ 25 โครงการตั้งอยู่ในแขวงอัตตะปือ กับแขวงจำปาสัก ในลาวใต้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการ 354 MW จะถูกส่งมาขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร้อยละ 90 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 จะถูกใช้ใน สปป.ลาว ดังนั้นการทรุดตัวและแตกออกของเขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขาส่วน D ที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นหลัก 3 ฝ่าย คือ ไทย-ลาว และเกาหลี กลับกลายเป็นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ต้องออกมา “รับหน้า” แทนอีก 2 ฝ่าย ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวนั่นเอง Battery of Asia เป็นความจริงที่ว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ภายในประเทศขึ้นมาได้ จากเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อม-มวลชนต่อต้าน และความหวาดกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นทางเดียวที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ. หรือภาคเอกชน ก็คือหาทางที่จะไปก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย โดยในบรรดาเพื่อนบ้านเหล่านี้ ปรากฏ “สปป.ลาว” จัดเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ของพื้นที่ตั้ง ทรัพยากรน้ำ และที่สำคัญก็คือ “ไม่มีปัญหาทางด้านมวลชน” รัฐบาล สปป.ลาวสามารถสั่งย้ายหมู่บ้าน หรือย้ายเมืองได้เป็นเมือง ๆ เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนจากประเทศไทย รัฐบาลลาวได้กำหนดนโยบาย Battery of Asia ด้วยการพัฒนาศักยภาพของพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกไปจำหน่ายให้กับประเทศข้างเคียง มีการประมาณการกันว่า ลาวสามารถใช้น้ำภายในประเทศผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 MW สามารถทำรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าได้ “มากกว่า” การส่งออกสินค้าโดยรวมของประเทศ ไม่เพียงแต่การใช้พลังงานน้ำ ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการส่งออกเท่านั้น รัฐบาลลาวยัง “ยินยอม” ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินนามโครงการหงสาลิกไนต์ มูลค่า 3,700 ล้านเหรียญ กำลังผลิตถึง 1,473 MW ปรากฏชื่อของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) (ร้อยละ 40) กับ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (ร้อยละ 40) อยู่ด้วย ทุนไทยสร้างโรงไฟฟ้าลาว อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากนโยบาย Battery of Asia ของฝ่ายไทย ได้ถูกดำเนินการภายใต้ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยมีการลงนามใน MOU ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2536 ด้วยคำมั่นสัญญาที่ว่า ไทยจะรัฐซื้อไฟฟ้าจากลาว 1,500 MW ภายในปี 2543 ต่อมาความร่วมมือนี้ฉบับนี้ได้ถูก “ต่ออายุ” มาเรื่อย ๆ มาถึงฉบับล่าสุดปี 2559 จะรับซื้อไฟฟ้าจากลาวถึง 9,000 MW หรือเกือบ 1 ใน 3 ของไฟฟ้าที่ลาวคาดการณ์ว่า “จะผลิตได้” ล้อไปกับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่กำหนดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศไว้ร้อยละ 20 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ แน่นอนว่าสัดส่วนร้อยละ 20 ดังกล่าว ถูกถือครองโดยการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มากกว่าร้อยละ 90 จนก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “กลุ่มทุนพลังงาน” ประสาน “สถาบันการเงิน” เกิดโครงการโรงไฟฟ้าไทยใน สปป.ลาว มากกว่า 10 โครงการ (เฉพาะที่มีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.) คิดเป็นกำลังผลิตเกือบ 6,000 MW ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย จะไม่ใช่โครงการที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด (354 MW) แต่ผู้ถือหุ้นในโครงการนี้ คือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) กลับถือครองกำลังผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว มากถึง 1,827 MW ในขณะที่อันดับ 2 จะเป็นกลุ่ม ช.การช่าง จากโครงการโรงไฟฟ้าไซยะบุรี กำลังผลิต 1,220 MW ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-199084
Person read: 2662
03 August 2018
คนไทยได้ใช้รถอีวีเร็วขึ้น บีโอไอแย้มไฟเขียว FOMM จากญี่ปุ่น ลงทุน 700 ล้าน ปีหน้าพรึ่บทั่วประเทศ เคาะราคาขาย 5.9 แสน ตั้งเป้าปีแรก 500 คัน “นิสสัน” สบช่องส่ง “ลีฟ” นำเข้าทั้งคันทำตลาดก่อน 2 ปีแรกก่อนขึ้นไลน์ผลิตในประเทศ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า นอกจากบอร์ดชุดใหญ่ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาแพ็กเกจลงทุนกิจการรถไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้กับค่ายนิสสันหมื่นกว่าล้านบาท และฮอนด้า 5.8 พันล้านบาท เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาแล้ว เร็ว ๆ นี้บีโอไอจะอนุมัติรถยนต์หมวดอีวีอีกหนึ่งโครงการ ไฟเขียว FOMM 700 ล้านบาท แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ายรถยนต์อีกรายที่อนุกรรมการกำลังพิจารณารายละเอียดและคาดว่าจะอนุมัติให้สิทธิ์ดำเนินการผลิตรถยนต์อีวี ได้แก่ กลุ่ม “FOMM” จากญี่ปุ่น ซึ่งแพ็กเกจนี้มีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งโรงงานผลิต การใช้วัตถุดิบในประเทศโดยเฉพาะแบตเตอรี่และแนวทางการรุกตลาด ด้านนายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ฟอมม์ (FOMM) สัญชาติญี่ปุ่นเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ยื่นรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท คือ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ภายใต้หมวด A3 หรือในกลุ่มบีอีวีเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรออนุมัติ ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นขอรับส่งเสริมมูลค่าการลงทุน 700 ล้านบาท สำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1 รุ่น คือ ฟอมม์วัน ด้วยกำลังการผลิต 10,000 คันต่อปี รวมถึงการสนับสนุนการใช้ซัพพลายเออร์ภายในประเทศจากเดิม 40%เพิ่มเป็น 70% หรือมากกว่าภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ หรือภายในปี 2563 โดยจะใช้โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จบนพื้นที่ขนาด 7 ไร่ และรอการอนุมัติการส่งเสริมจากบีโอไอ จากนั้นบริษัทจะได้นำเข้าเครื่องจักร เคาะราคาขาย 5.9 แสนบาท เบื้องต้นบริษัทนำเข้าแบตเตอรี่เพื่อมาใช้ประกอบรถอีวี ในอนาคตคาดว่าเมื่อโรงงานแบตเตอรี่ของบริษัท เบลต้าโซลูชั่น ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเช่นกัน คาดสามารถดำเนินการผลิตได้ราวไตรมาส 2 ปีหน้า ก็พร้อมจะใช้แบตเตอรี่ จากโรงงานแห่งนี้ “ช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ เราจะเริ่มทดลองประกอบรถฟอมม์วันขึ้นมาเป็นคันแรกก่อน จากก่อนหน้านี้ได้มีการนำรถจากประเทศญี่ปุ่น มาจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงต้นปี ได้รับ การตอบรับจากลูกค้าในไทยเกินความคาดหมาย เคาะราคาขายช่วงแนะนำ 599,000 บาท” ทั้งนี้ บริษัทมียอดจองรถฟอมม์วันแล้วกว่า 300 คัน ซึ่งเป็นลูกค้าผู้ใช้งานทั่วไปและลูกค้าหน่วยงานต่าง ๆ ในสัดส่วนเท่ากัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า และจะทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าได้ภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ขณะที่ปลายปีนี้บริษัทจะนำรถอีวีเข้าจัดแสดงในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และเปิดจอง ทำให้คาดว่าทั้งปีจะมียอดจองไม่น้อยกว่า 500 คัน ผนึก กฟภ.ผุดสถานีชาร์จ ด้านแผนการจัดจำหน่ายนั้นขณะนี้บริษัทได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นตัวแทนจำหน่ายรถฟอมม์วันโดยจะใช้สาขาของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นสถานที่จำหน่ายและรับจองรถยนต์ สำหรับปีนี้จะเปิดโชว์รูม 1-2 แห่งก่อน จากแผนที่จะเปิด 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ปัจจุบันที่มีโชว์รูมและสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในซอยทองหล่อ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กฟภ. ได้ทำการศึกษาวิจัยและจัดทำระบบโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 11 สถานี ในเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประกอบด้วย สายภาคเหนือ(กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา) จำนวน 2 สถานีสายภาคใต้ (กรุงเทพฯ-หัวหิน) จำนวน 3 สถานี, สายภาคตะวันออก (กรุงเทพฯ-พัทยา) จำนวน 2 สถานี, สายภาคตะวันตก (กรุงเทพฯ-นครปฐม) จำนวน 1 สถานี, สายตะวันออกเฉียงเหนือ(กรุงเทพฯ-โคราช) จำนวน 2 สถานี, สำนักงานใหญ่ กฟภ. จำนวน 1 สถานี พร้อมคลอดโมเดล 2 และ 3 ผู้จัดการทั่วไป บริษัทเอฟโอเอ็มฯ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเตรียมแนะนำรถยนต์อีกสองโมเดลออกสู่ตลาดคือ โมเดล 2 และโมเดล 3 ซึ่งจะเป็นรถอีวี L7E เช่นเดียวกับรถฟอมม์วัน แหล่งข่าวจากบีโอไอกล่าวเสริมว่า กระแสรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีกำลังเป็นเทรนด์ใหม่และเป็นที่ต้องการของตลาด ประเทศไทยค่อนข้างโชคดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และรถอีวีมาเร็วกว่าที่คิดไว้เยอะ นอกจากค่าย FOMM แล้ว ในส่วนของค่ายรถยนต์ซึ่งปกติทำตลาดเครื่องยนต์สันดาปภายในก็ให้น้ำหนักกับรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อย นิสสันนำร่องส่ง “ลีฟ” ทำตลาด ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของบริษัทแม่ และนายอันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยืนยันว่า นิสสันจะมีการนำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์นิสสันลีฟรถอีวีรุ่นล่าสุด ออกสู่ตลาดประเทศไทยภายในปีงบประมาณนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ประกาศไว้สำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศไทย 3 ประการ คือ การเพิ่มความหลากหลายของรถยนต์ที่ทำตลาด, การพัฒนาเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายนิสสันเพื่อบริการที่มีคุณภาพและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าและการใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตของนิสสัน รวมทั้งการพัฒนาและวิจัยยานยนต์เพื่อนำเสนอรถยนต์รุ่นพิเศษและรถยนต์รุ่นเฉพาะที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ โดยนิสสันลีฟจะมีจำหน่ายใน 60 ประเทศทั่วโลก และไทยคือหนึ่งในนั้น “เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้ลูกค้าคนไทยน่าจะได้ใช้รถไฟฟ้าของนิสสัน” แหล่งข่าวยังกล่าวต่อไปว่า เดิมนิสสันตั้งใจว่าเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ น่าจะถูกจัดเข้าหมวดรถอีวี แต่บีโอไอมองอีกมุม ทำให้นิสสันต้องปรับแผน เลือกนำเข้า “นิสสันลีฟ” มาวางจำหน่ายก่อน ตามเงื่อนไขที่บีโอไอได้เปิดช่องไว้ให้ ต่อจากนั้นจึงขึ้นไลน์ผลิตภายในประเทศในปีที่สามส่วนโควตาการนำเข้าน่าจะมีการพูดคุยกันอีกรอบ “นิสสันลีฟถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก และมียอดขายทั่วโลกกว่า 238,000 คัน” บีโอไอยกเว้นอากรขาเข้า 80% แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กฎหมายบีโอไอสามารถกำหนดเรื่องการลดหรือยกเว้นอากรขาเข้าได้ โดยในกรณีการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV หรือรถอีวี) ที่ผู้ผลิตจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอเพื่อให้คณะกรรมการบีโอไออนุมัติภายในสิ้นปี 2561 โดยมีเงื่อนไขว่ากรณีจะผลิตรถอีวี ผู้ผลิตสามารถนำเข้ารถอีวีทั้งคันมาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาดได้ก่อน เป็นเวลา 2 ปี โดยจะมีการยกเว้นอากรขาเข้าให้ แต่จะต้องเสียภาษี VAT อัตรา 7% และภาษีสรรพสามิตรถอีวี 2% “แต่ทั้งนี้จะมีเงื่อนไข่กำหนดโควตาจำนวนรถที่จะนำเข้ามาว่าได้ปีละกี่คัน ไม่ใช่นำเข้าได้ไม่จำกัด” อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นขอรับการส่งเสริมผลิตรถอีวี แต่ตามกรอบเวลายังสามารถยื่นได้ภายในปี 2561 นี้ นายชัยยุทธ คำคุณ ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการผู้ผลิตรถยนต์ได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ โดยให้สามารถนำเข้ารถอีวีมาทดลองตลาดได้ก่อนนั้นตามปกติแล้วหากบีโอไอมีการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการผลิตในโครงการใด ก็จะแจ้งมาให้กรมศุลกากรทราบ เพื่อปฏิบัติตามแนวทางการส่งเสริมอีกที ที่มา : https://www.prachachat.net/motoring/news-198663
Person read: 2004
03 August 2018
นับเป็นเมกะโปรเจ็กต์ไฮไลต์ของรัฐบาลทหารที่หลายคนเฝ้าจับตาว่าวาระสุดท้ายของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มีเม็ดเงินลงทุนสูงกว่า 2.24 แสนล้านบาท จะไปได้ฉลุยดั่งหวังหรือไม่ แจกสัมปทาน 50 ปีแลกลงทุน ในเมื่อโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง ถึงรัฐจะเปิดทางให้เอกชนที่มาร่วมลงทุนรับสัมปทาน 50 ปี แต่หากทุนไม่หนา สายป่านไม่ยาว ก็อาจจะไปไม่ถึงฝั่งฝันเช่นกัน เพราะกว่าโครงการจะคุ้มทุนใช้เวลานับ 10 ปี ขณะที่เอกชน 31 รายที่ซื้อซองประมูล ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ขอเวลาศึกษารายละเอียดทีโออาร์อย่างถี่ถ้วนก่อนจะเคาะว่าจะลงสนามแข่งประมูลหรือไม่ เพราะไม่ใช่แค่เม็ดเงินลงทุนที่สูง ยังต้องหาหุ้นส่วนมาร่วมลงขันหลายส่วนทั้งงานก่อสร้าง ติดตั้งระบบเดินรถและพัฒนาที่ดิน ที่ว่ากันว่าเป็นหัวใจหลักที่จะมาหล่อเลี้ยงโครงการ จนถึงขณะนี้บรรดาบิ๊กธุรกิจทั้งซีพี-บีทีเอส-ปตท.และขาใหญ่รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ก็ยังไม่เผยโฉมหน้าพันธมิตรที่จะร่วมชิงไฮสปีด คสช.จนกว่าจะถึงวันยื่นซองวันที่ 12 พ.ย.นี้ ห่วงสร้างทับซ้อนโครงการอื่น หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ปิดการซื้อซองประมูลเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมชี้แจงทีโออาร์พร้อมพาลงพื้นที่ดูโครงการรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ที่เอกชนประมูลได้จะต้องรับช่วงบริหารโครงการต่อ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯกล่าวว่า ขอบเขตงานโครงการจะครอบคลุมทั้งการเดินรถ การก่อสร้าง และการพัฒนาที่ดิน สัญญาเป็นสัญญาเดียว มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี แบ่งเป็นก่อสร้าง 5 ปี และเดินรถ 45 ปี โดยเอกชนส่วนใหญ่จะสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดด้านงานวิศวกรรม และการใช้ระบบรางร่วมกับ 3 โครงการ ได้แก่ สายสีแดง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น มีระยะทางประมาณ 10 กม. ซึ่งในหลักการแล้วโครงการใดที่มีความพร้อมที่สุดก็ต้องทำโครงสร้างรองรับไว้ก่อน ซึ่งเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสนามบินดอนเมือง เมื่อออกจากสถานีกลางบางซื่อจะมีราง 2 คู่ แบ่งแยกไว้สำหรับรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว 1 คู่ วิ่งขนานกันไป จนเมื่อใกล้จะถึงดอนเมืองทั้ง 2 คู่จะมีคู่หนึ่งยกระดับขึ้นมาซ้อนกัน เพราะบริเวณดอนเมืองมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะอยู่ชั้นล่าง ส่วนรถไฟไทย-จีนจะอยู่ข้างบน ใครพร้อมเดินหน้าสร้างก่อน “ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินพร้อมมากที่สุด จึงต้องก่อสร้างก่อน ส่วนเรื่องระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ หากจะใช้รางร่วมกันเจ้าของเทคโนโลยีก็สามารถคุยกันได้ หากทางชินคันเซ็นของญี่ปุ่นแจ้งว่าจะไม่สามารถใช้รางร่วมกับระบบอื่นได้ ก็แล้วแต่ความจำเป็น เพราะเส้นทางจากบางซื่อไปถึงดอนเมืองมีระยะทางแค่ 10 กม. ทางคมนาคมจะต้องไปจัดการต่อไป สำหรับความเร็วที่จะใช้วิ่งแบ่ง 2 ช่วง จากสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 250 กม./ชม. เพราะออกนอกเมือง ช่วงในเมืองสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองไม่เกิน 160 กม./ชม” ส่วนความคืบหน้าของรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) กำลังทยอยส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาก่อน เพื่อให้ได้รับอนุมัติภายในปีนี้ เพื่อเริ่มการก่อสร้างภายในปีหน้า ส่วนช่วงส่วนต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง-ตราด จะเสนอเป็นอีกโครงการเพิ่มในภายหลัง อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากมีการคัดค้านไม่ให้ตัดผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เวนคืน 850 ไร่ 254 ครัวเรือน ขณะที่การเวนคืนที่ดินนายวรวุฒิกล่าวว่า ทั้งโครงการจะเวนคืนที่ดิน 850 ไร่ ใช้งบประมาณ 3,570 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ จ.ฉะเชิงเทราจำนวน 550 ไร่ วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (depot) ประมาณ 300 ไร่ แนวทางวิ่ง 100 ไร่ และสถานีรถไฟอีก 70 ไร่ ที่เหลือจะเป็นค่าสิ่งปลูกสร้างทดแทนผู้อยู่อาศัยเดิม 254 ครัวเรือนที่ต้องย้ายออกจากแนวเขตทาง นอกจากนี้ มีเวนคืนที่สถานีลาดกระบังเพิ่ม เพื่อทำทางวิ่งไปสนามบินอู่ตะเภา และมีบางส่วนบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิและอู่ตะเภาอีกประมาณ 300 ไร่ จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและจะพยายามเวนคืนให้เสร็จในปี 2562 “การเวนคืนอยู่ระหว่างร่างและเก็บสำรวจรายละเอียดให้ครบถ้วนอยู่ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากรายละเอียดการเวนคืนต้องเก็บข้อมูลให้ครบและตรงกับพื้นที่จริง ถ้าสำรวจไม่ละเอียดจะทำไม่ได้” นายวรวุฒิกล่าวและว่า สถานีมักกะสันติดโรงซ่อม สำหรับการส่งมอบพื้นที่เพื่อพัฒนาเชิงพาณิย์ที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ จะส่งมอบ 100 ไร่แรกด้านหน้าสถานีได้ในวันที่เซ็นสัญญา อีก 50 ไร่จะทยอยส่งมอบภายใน 5 ปี เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนเป็นโรงซ่อมรถไฟอยู่บริเวณทางเข้าออกต้องรื้อย้ายออกไป ซึ่ง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างศึกษารื้อย้ายเพื่อไปอยู่พื้นที่อื่น ส่วนพื้นที่ศรีราชา 25 ไร่ไม่มีปัญหาสามารถส่งมอบได้ทันที เพราะพื้นที่ทั้งหมดเป็นของ ร.ฟ.ท.อยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักพนักงานของ ร.ฟ.ท. โดยจะมีการก่อสร้างบ้านพักทดแทนในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบอยู่เช่นกัน เหมือนจะง่าย แต่ก็ไม่ง่าย ! ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-198694
Person read: 2170
03 August 2018
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2562 บริษัทเตรียมนำบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ซึ่งบริหารธุรกิจค้าปลีกและอาหาร เช่น ร้านกาแฟอเมซอน ฮั่วเซงฮง เป็นต้น เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่สเต็ปถัดไปคือการปั้นแบรนด์ร้านกาแฟ ‘อเมซอน’ ให้เป็นโกบอลแบรนด์ภายใน 5-10 ปี หลังจากนั้น โดยจะมีสาขาทั้งสิ้น 20,000 สาขา หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสาขาของโกบอลแบรนด์อย่างสตาร์บัคส์ จากปัจจุบันที่อเมซอนมีประมาณ 2,300-2,400 สาขาทั้งไทยและต่างประเทศ “ช่วง 3-5 ปีแรกจากนี้จะเริ่มขยายสาขาในภูมิภาคเอเซียก่อน ล่าสุดเตรียมเปิดสาขาที่โอมาน ญี่ปุ่น จีน ซึ่งโมเดลการขยายธุรกิจก็หลากหลาย ทั้งการตั้งมาสเตอร์แฟรนไซส์ การร่วมทุน เป็นต้น หลังจากนั้นจะค่อยๆข้ามทวีปไปขยายสาขาในภูมิภาคอื่นๆ” นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ตอนนี้ได้ตั้งทีมโกลบอลแบรนด์ขึ้นเพื่อศึกษาตลาดกาแฟในระดับโกลบอลแบรนด์ และศึกษาตลาดกาแฟในต่างประเทศ เพื่อปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศที่เข้าไปเปิดสาขา “อเมซอนต้องโมเดลให้สอดรับกับพฤติกรรมคนแต่ละประเทศ เพื่อสร้างให้อเมซอนเป็นพ๊อพปูล่าแบรนด์ ของแต่ละประเทศ นั่นคือ Value for money แต่ยังยึดคอนเซ็ปต์หลักคือ “Green OASIS” หรือร้านกาแฟที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม” ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-198176
Person read: 2105
02 August 2018
“พาณิชย์” เปิดตัวโครงการ “อาหารไทยต้อง Thai SELECT” รองรับนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” พร้อมเชิญชวนนักท่องเที่ยวชิมรสอาหารไทยตามมาตรฐานไทยแท้ วันที่ 1 สิงหาคม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดกิจกรรมเปิด “โครงการอาหารไทยต้อง Thai SELECT” ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับร้านอาหารไทยภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคอาหารไทย ยกระดับร้านอาหารไทยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารไทย เอาใจผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่ต้องการรับประทานอาหารไทยแท้ๆ สามารถมองหาตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ก่อนเลือกร้านอาหารได้ ภายในงานประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) ชมและชิม Authentic Thai Cuisine on Runway เป็นการนำเสนออาหาร 12 เมนู จากร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT อาทิ ร้านบ้านสุริยาศัย (กรุงเทพฯ) ร้านทับขวัญ รีสอร์ท แอนด์ สปา (นนทบุรี) ร้านสวนเกษตรอินทรีย์บ้านวสุนธารา แอนด์ โฮมสเตย์ (เชียงใหม่) ร้านแซบนัวครัวอิสาน (ขอนแก่น) ร้านวิวยอ (พัทลุง) ร้านครัวเข้าท่า (ตราด) เป็นต้น 2) ชิมและชมสาธิตการทำอาหารที่มีส่วนผสมจากวัตถุดิบของไทยทั้งหมด โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร และ ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ Food Celebrity ให้คำวิจารณ์พร้อมเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาหารไทย และ 3) Showcase “Signature Menu ที่เป็นที่สุดจากร้านอาหาร Thai SELECT” ชิมเมนูต้นตำรับพร้อมพูดคุยกับเชฟและทีมงานของร้านอาหารฯ รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ภาคบริการมากขึ้น รวมทั้ง ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” มาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยให้ใส่ใจในด้านการบริการ รสชาติ และความมีคุณภาพ โดยได้กำหนดให้มีตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ขึ้น เพื่อสร้างการจดจำและเป็นสัญลักษณ์ที่การันตีถึงคุณภาพมาตรฐานของอาหารไทย จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจบริการไทยให้มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารไทยที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก และต่อยอดตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ซึ่งใช้รับรองมาตรฐานคุณภาพร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในต่างประเทศกว่า 19 ปี จนถึงปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT ในต่างประเทศจำนวนกว่า 1,300 ร้าน กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชีย และ แอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา : ร้าน Nahm Thai Cusine, Arun’s Thai Restaurant, Chat Thai สหราชอาณาจักร : ร้าน Patara Fine Thai Cusine ฝรั่งเศส : ร้าน Blue Elephant เป็นต้น ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) Thai SELECT PREMIUM (ได้รับคะแนนการประเมิน 90 คะแนนขึ้นไป) 2) Thai SELECT (ได้รับคะแนนจากการประเมิน 75 – 89 คะแนน) และ 3) Thai SELECT UNIQUE (ร้านอาหารไทยที่มีรายการอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น หรืออาหารประจำถิ่น เมื่อผ่านเกณฑ์การประเมินจากคณะกรรมการฯ แล้วจะได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT UNIQUE ทำให้ทราบว่าร้านอาหารไทยนี้ นอกจากจะเป็นร้านอาหารที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรฐาน Thai SELECT แล้ว ยังมีรายการอาหารประจำถิ่นอยู่ด้วย) สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ประกอบด้วย 1) รสชาติอาหาร 30 คะแนน 2) วัตถุดิบ 20 คะแนน 3) สุขอนามัย (Food Safety) 20 คะแนน 4) รายการอาหาร 10 คะแนน 5) การตกแต่งร้านภายนอก/ภายในและบรรยากาศร้าน 10 คะแนน และ 6) การบริการ 10 คะแนน ทั้งนี้ ร้านอาหารไทยที่ติดตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จะต้องเป็นร้านอาหารที่มีรายการอาหารไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายการอาหารทั้งหมด มีมาตรฐานวิธีการปรุงตามแบบฉบับอาหารไทย ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารของไทย รวมถึงมีการตกแต่งบรรยากาศร้านที่มีกลิ่นไอของความเป็นไทย ทำให้ผู้บริโภคนอกจากจะได้รับความอร่อยจากอาหารไทยแท้ๆ แล้ว ยังจะได้ดื่มด่ำบรรยากาศความเป็นไทยจากการตกแต่งร้านอีกด้วย ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เป็นการบ่งชี้ว่าร้านอาหารสามารถปรุงอาหารได้ตามมาตรฐานอาหารไทย ตามแบบฉบับวิธีการปรุงอาหารไทย ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารไทย แต่ไม่ใช่การรับรอง (Certify) มาตรฐานสถานประกอบการ เนื่องจากมีหน่วยงานของสาธารณสุขดำเนินการอยู่แล้ว โดยขณะนี้มีร้านอาหารไทยที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแล้ว จำนวน 500 ร้าน ซึ่งร้านอาหารไทยที่สนใจสมัครเข้ารับการประเมินเพื่อรับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ติดต่อได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือ e-Mail : Thaiselectdbd@gmail.com, Facebook : Thaiselectthailand หรือ กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 0 2547 5962 ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-198312
Person read: 2326
02 August 2018
เพื่อตอกย้ำความสำคัญในการค้นพบศักยภาพตนเองและอาชีพในฝัน ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้เรียนรู้อาชีพหลากหลาย ก่อนตัดสินใจเลือกเส้นทางศึกษาต่อได้ตรงกับทักษะและความต้องการของตัวเอง “สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย” ร่วมกับ “บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด” และ “มหาวิทยาลัยรังสิต” จัดการประชุมวิชาการและการประชุมสามัญประจำปี 2561 เพื่อพัฒนาครูแนะแนวของไทยให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก “วาริท จรัณยานนท์” ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมกันหาแนวทางในการร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ จากความท้าทายดังกล่าว ซัมซุงได้ริเริ่มโครงการสำคัญ ได้แก่ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต (Samsung Smart Learning Center)” เพื่อพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทย และนวัตกรรม “ค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ (Samsung Career Discovery)” เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเอง และวางแผนเส้นทางการศึกษาต่อสู่การทำงานอาชีพเป้าหมายในอนาคต โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าใช้งานนวัตกรรมนี้แล้วกว่า 1 ล้านครั้ง สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ ซัมซุงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูแนะแนวทั่วประเทศ เพื่อให้ครูที่เข้ารับการอบรมได้รู้จักนวัตกรรม Samsung Career Discovery ที่ประกอบด้วย แบบสำรวจตัวเองตามแนวคิดพหุปัญญา (multiple intelligences) และวีดิทัศน์แนะนำอาชีพกว่า 45 เรื่อง เพื่อให้ครูสามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน “กิจกรรมที่เราจัดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการแนะแนวเด็กที่มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ให้พวกเขาตระหนักถึงศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ และสามารถเห็นแนวทางในการพัฒนาตัวเอง เพื่อไปสู่ความสำเร็จในวิชาชีพต่าง ๆ ได้” อีกทั้งการอบรมในครั้งนี้ได้จัดขึ้นในรูปแบบ active โดยให้ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นนักเรียน และร่วมทำกิจกรรมที่จะต้องนำกลับไปใช้ที่โรงเรียน เพื่อให้เข้าใจในกระบวนการเรียนรู้อย่างถ่องแท้ พร้อมเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน เพื่อให้ครูทุกคนสามารถนำประสบการณ์เหล่านั้นไปปรับใช้สำหรับจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ “มณีรัตน์ แก้วการไร่” ครูแนะแนว โรงเรียนราชดำริ กรุงเทพมหานคร หนึ่งในครูแนะแนวที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ช่วยให้ครูได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ที่นำไปปรับใช้กับนักเรียนได้ทุกระดับชั้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนที่ยังไม่รู้ตัวว่าต้องการศึกษาต่อในด้านไหน ได้ค้นพบความถนัดของตัวเอง และค้นพบอาชีพที่เหมาะสมในอนาคต “เด็กในยุค 4.0 มีความสนใจในเทคโนโลยี ครูจึงต้องปรับตัวในการใช้สื่อใหม่ ๆ ซึ่งหากครูนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ทำกิจกรรมแนะแนว เด็กก็จะไม่รู้สึกเบื่อ และรู้สึกสนุกในการทำกิจกรรมมากกว่าเดิม” ทั้งนี้ นวัตกรรม Samsung Career Discovery ที่ซัมซุงได้จัดทำขึ้นนั้น ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปทดลองทำแบบสำรวจพหุปัญญา และรับชมวีดิทัศน์แนะนำอาชีพได้ที่ www.samsungslc.org/scd ที่มา : https://www.prachachat.net/education/news-198514
Person read: 2127
02 August 2018
– ราคาน้ำมันดิบปรับลด หลัง Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ในเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 32.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในปี 2561 โดยซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เพิ่มระดับการผลิตขึ้นจากเดือนก่อนหน้า – นักวิเคราะห์สหรัฐฯ มีความคิดเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่ช่องแคบ Bab El-Mandeb มีแนวโน้มคลี่คลาย หลังซาอุดิอาระเบียประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางช่องแคบดังกล่าวเป็นการชั่วคราว – ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ของสถาบันปิโตรเลียมสหรัฐฯ (API) พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 2.8 ล้านบาร์เรล + อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มที่สหรัฐฯ และจีนพร้อมที่จะกลับมาเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน ประกอบกับการส่งออกจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน ประกอบกับการส่งออกอย่างต่อเนื่องจากประเทศอินเดีย ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่น่าจับตามอง จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab al-Mandeb strait) หลังกองกำลังกบฎฮูตีในเยเมนเข้าโจมตีเรือขนส่งน้ำมัน 2 ลำ ในวันพุธที่ผ่านมา ส่งผลให้นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงการณ์ ยุติการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะคลี่คลาย ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศที่ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 61 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 93.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสูงสุดที่ร้อยละ 97.5 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังในการประชุมช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่าน ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-198033
Person read: 2068
01 August 2018
นายกรกฏ ชาตะสิงห์ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย-ประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และวันแม่แห่งชาติ วันที่ 12 สิงหาคม 2561 บริษัทฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระคุณของผู้เป็นแม่ จึงจัดโปรโมชั่น “สิงหาพาแม่เที่ยว 2561” สำหรับเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเวลาสำคัญ โดยจำหน่ายบัตรโดยสารชั้นประหยัดราคาพิเศษของการบินไทยในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-กระบี่ และ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต ซึ่งผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งออกบัตรโดยสารได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2561 และเริ่มเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2561 มีรายละเอียดดังนี้ – เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เดินทางเที่ยวเดียว ราคาต่อท่านเริ่มต้นที่ 1,500 บาท เดินทางไป-กลับ ราคาต่อท่านเริ่มต้นที่ 3,000 บาท – เส้นทางกรุงเทพฯ-กระบี่ เดินทางเที่ยวเดียว ราคาต่อท่านเริ่มต้นที่ 1,600 บาท เดินทางไป-กลับ ราคาต่อท่านเริ่มต้นที่ 3,150 บาท – เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต เดินทางเที่ยวเดียว ราคาต่อท่านเริ่มต้นที่ 1,700 บาท เดินทางไป-กลับ ราคาต่อท่านเริ่มต้นที่ 3,400 บาท บัตรโดยสารราคาพิเศษ “สิงหาพาแม่เที่ยว 2561” ได้รวมค่าภาษี และค่าธรรมเนียมทุกประเภทแล้ว มีจำนวนจำกัดในแต่ละเที่ยวบิน และเป็นบัตรโดยสารแบบมีเงื่อนไข ผู้โดยสารจะได้รับไมล์สะสมตามเงื่อนไขของ รอยัล ออร์คิด พลัส ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมทั้งสำรองที่นั่ง และออกบัตรโดยสารได้ที่สำนักงานขายการบินไทยและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-197905
Person read: 2033
01 August 2018
“เอ็กซอน”ยักษ์พลังงานสหรัฐ ยึดไทยเป็น”ศูนย์บริการงานหลังบ้าน” ซัพพอร์ตธุรกิจในเครือ 64 ประเทศ เผยภารกิจครอบคลุมทั้งงานบัญชี-ไอที-ศูนย์บริการลูกค้าและเอชอาร์ ดูแลพนักงาน 90,000 คนทั่วโลก “เอ็กซอนไทย”เร่งขยายคนเพิ่มทะลุ 2,200 คน เดินสายจีบคนทำงานทั้งนักเรียนทุน -นักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังร่วมงาน ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “เอ็กซอนโมบิล”เครือข่ายธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในประเทศไทยมี3 ธุรกิจหลัก คือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดูแลโรงกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมี และค้าปลีกน้ำมัน ,บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราชอิงค์ จำกัด ดูแลธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่น แหล่งสินภูฮ่อม ในจังหวัดอุดรธานี และบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการธุรกิจ(Business Support Center) ให้กับเครือข่ายธุรกิจของเอ็กซอนโมบิลทั่วโลก เอ็กซอนยึดไทยฐาน”แบ็คออฟฟิศ” นางยุพา ว่องไวทยา ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ศูนย์บริการธุรกิจ หรือ BSC (Business Support Center) ในไทยได้กลายเป็นศูนย์บริการธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของ เอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น (บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา) เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและให้บริการธุรกิจในเครือเอ็กซอน 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเดิมเอ็กซอนในเอเชียแปซิฟิกเอ็กซอนมีศูนย์ BSC อยู่ที่กรุงเทพฯ มาเลเซีย เซียงไฮ้ ประเทศจีน แต่เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นมาก ทางบริษัทแม่จึงปรับเปลี่ยนงานในส่วนสาขาเซี้ยงไฮ้มาไว้ที่ศูนย์ในประเทศไทยแทน ศูนย์บริการธุรกิจ จะดูแลระบบ “ภายในองค์กร”เกือบทั้งหมด ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ทำงานได้” ครอบคลุมทั้งงานด้านบัญชี งานจัดซื้อ งานด้านไอที ศูนย์บริการลูกค้า งานทรัพยากรบุคคล (HR) เช่น การจัดโปรแกรมอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร พร้อมทำระบบแจ้งเตือนพนักงานให้เรียน หรืออบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับงานที่รับผิดชอบ การจัดการคำนวนผลตอบแทนพนักงาน ตามอัตราค่าครองชีพที่ต่างกัน การจัดการส่งพนักงานไปทำงานต่างประเทศ รวมจนถึงการดูแลพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้ว เบ็ดเสร็จศูนย์บริการฯ จะต้องดูแลพนักงานในเครือเอ็กซอนทั่วโลก 90,000 คน และหากธุรกิจในเครือเอ็กซอนทั่วโลกขยายตัว ศูนย์บริการฯ นี้ก็จะต้องขยายตัวตามด้วยเช่นกัน “ยกตัวอย่างงานของศูนย์ไอที ที่ทุกวันนี้กลายเป็นส่วนเสริมให้การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทุกกลุ่มธุรกิจในเอ็กซอนต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมไปถึงโรโบติกและระบบออโตเมชั่นต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น รวมถึงงานตอบรับอีเมลล์ที่ส่งเข้ามาจากลูกค้า ซึ่งลูกค้าอาจจะไม่รู้ว่าทางเอ็กซอนได้รับอีเมลล์หรือไม่ เอ็กซอนจึงต้องสร้างระบบช่วยตอบอีเมลล์ เป็นต้น” รับพนักงานเพิ่ม 300 คน นางยุพากล่าวว่า จากปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทต้องสรรหาพนักงานใหม่รวม 400 คน เพื่อรองรับงานทั้งในส่วนของ BSC และธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน แต่เป็นสัดส่วนไม่มากเท่ากับส่วนงาน BSC สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีการเปิดรับพนักงานอีกประมาณ 300 คน โดยตั้งแต่ต้นปีรับไปแล้วราว 250 คน โดยปัจจุบันเอ็กซอนในไทยมีพนักงานทั้งหมด 2,900 คน ในจำนวนนี้เป็นพนักงานของศูนย์บริการธุรกิจประมาณ 2,200 คน ซึ่งประจำอยู่ที่สำนักงานอยู่ 3 แห่ง คือ เอสโซ่ ทาวเวอร์ , อาคารหะรินธร และอาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี “ศูนย์ BSC ของเอ็กซอนในประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากบริษัทแม่ที่ให้ดูแลงานเกี่ยวกับหลังบ้านทั้งหมด จากเดิมที่ดูแลเฉพาะแถบเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก เหตุผลที่เลือกไทยเป็นศูนย์ดูแลงานหลังบ้านทั้งหมดเพราะต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ และบุคลากรมีประสิทธิภาพ ซึ่งพนักงานในศูนย์นี้เป็นคนไทย 90% และเป็นต่างชาติราว 10% เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า ศูนย์นี้สามารถบริการคนของเอ็กซอนได้ทั้งโลก”นางยุพากล่าวและว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางบริษัทแม่ ก็มีการพิจารณาที่จะเปิดศูนย์บริการธุรกิจที่ประเทศอินเดีย เพิ่มอีกแห่งเพื่อรองรับงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอินเดียมีบุคลากรให้เลือกสรรจำนวนมาก รวมทั้งมีความได้เปรียบได้ต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ ปลดล็อกปัญหาเรื่องคน ขณะที่นโยบายด้านบุคลากรของเอ็กซอนคือ”สร้างคน” มากกว่าใช้วิธี “ซื้อคน” เข้ามาทำงาน โดยพนักงานที่รับเข้ามาในแต่ละปี กว่าจะทำงานได้เต็มที่จนถึงระดับเชี่ยวชาญต้องใช้เวลาถึง 10 ปี แม้จะเป็นองค์กรใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนพนักงานค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน แต่บริษัทก็ต้องเผชิญปัญหาเรื่องบุคลากรเช่นกัน ใน 3 ประเด็นคือ 1. ถูกบริษัทใหญ่ทาบทามเสนออัตราเงินเดือนสูงกว่า 2. เอ็กซอนต้องการพนักงานที่เก่งด้านภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จึงมาจากคณะศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ซึ่งขาดความรู้ในเชิงธุรกิจ และ 3. พนักงานรุ่นใหม่จะทำงานไม่เกิน 3 ปี และจะลาออกเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโททั้งในและต่างประเทศ จากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวทำให้ฝ่ายพัฒนาบุคคลของเอ็กซอนต้องหาวิธีแก้ไข และจูงใจพนักงานมากขึ้น ขณะนี้บริษัทได้ลงพื้นที่ทาบทามหาพนักงานตั้งแต่ระดับนักเรียนทุนเช่น นักเรียนแลกเปลี่ยน AFS และนักศึกษาที่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงเข้ามาทำงานหลังเรียนจบ และเพื่อแก้ปัญหาในส่วนของพนักงานที่ต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาโท-เอก จะใช้วิธีให้ “ทุนการศึกษา” ที่มีเงื่อนไขว่ายังคงทำงานกับเอ็กซอนฯ และใช้เวลาหลังเลิกงานหรือเรียนในวันหยุดแทน นางยุพากล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายส่งพนักงานที่มีความสามารถไปทำงานต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการทำงานในบริษัทแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเอ็กซอนจะผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่ ค่าที่พัก การหาโรงเรียนให้กับบุตรของพนักงาน เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้งานการทำงานในระดับสากล และนำประสบการณ์ที่ได้กลับมาพัฒนาสาขาในไทยต่อไป นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการโชว์ศักยภาพของคนไทยที่ทำงานได้ตามมาตรฐานสากล และเติบโตในอาชีพต่อไป “แต่ละปีพนักงานไทยเทิร์นโอเวอร์อยู่ที่ 7-8% หรือประมาณ 200 คน เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องหาพนักงานใหม่มาเติม ส่วนใหญ่บริษัทจะรับเป็นพนักงานประจำ เพราะต้องการเทรนด์คนต่อเนื่อง ที่สำคัญเอ็กซอนต้องการพนักงานที่มีความสนใจในงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานในแผนกของตัวเอง ซึ่งเป็นนโยบายของเอ็กซอนที่พนักงานจะต้องมีความรู้ในงานอื่นๆ ด้วยการเวียนย้ายคนทำงานให้มีความรู้ในธุรกิจของเอ็กซอนอย่างน้อย 14-15 จ๊อบ” ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-197999
Person read: 2065
01 August 2018
สู้รอบใหม่ ศูนย์การค้า “โชว์ดีซี” เปลี่ยนทีมบริหาร ทุนมาเลย์ขึ้นแท่นเตรียมยกเครื่องครั้งใหญ่ตุลาคมนี้ หลังแม็กเนตไฮไลต์สำคัญ “หิมพานต์ อวตาร-องค์บากไลฟ์” ถอนทัพ แบกรับต้นทุนไม่ไหว พร้อมเติมร้านค้าเสริมทัพใหม่อีกครั้ง แม้เปิดบริการมาตั้งแต่กลางปี 2560 แต่จำนวนผู้เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าโชว์ดีซีก็ยังไม่กระเตื้องขึ้น เช่นเดียวกับร้านค้าแม็กเนตสำคัญต่างถอนทัพและปิดตัว อาทิ โชว์ “หิมพานต์ อวตาร” ที่ได้ปิดรอบการแสดงลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านี้ “องค์บากไลฟ์” ได้ปิดรอบการแสดงลงไปเมื่อปลายปี 2560 เช่นเดียวกับ “ลอตเต้ ดิวตี้ฟรี” ที่ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ครบตามแผน ท้ายที่สุด ศูนย์การค้าโชว์ดีซีได้เปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้นายโก ซู ซิง เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธาน บริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด ขณะที่สถานการณ์ของศูนย์การค้าโชว์ดีซีก็ยังไม่มีสัญญาณบวก ร้านค้าสำคัญ ๆ ที่ทางทีมผู้บริหารเดิมเคยดีลไว้ก็ทยอยออกจากศูนย์ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2555-2559 โดยล่าสุดทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,450 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนถือหุ้นปัจจุบันแบ่งเป็น พีพีเอ็ม โกลบอล ลิมิเต็ด 46.28% บริษัท เออีซี แคปปิตอล จำกัด 43.71% และนายเพ่งเพียร เหล่ากำเนิด 10% สำหรับผลประกอบการตั้งแต่ปี 2555-2559 ก็ขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกัน โดยปี 2555 ขาดทุน 47 ล้านบาท ปี 2556 ขาดทุน 58 ล้านบาท ปี 2557 ขาดทุน 60 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 162 ล้านบาท และปี 2559 ขาดทุน 534 ล้านบาท เตรียมรีลอนช์โฉมใหม่ ต.ค.นี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โชว์ดีซีได้เปลี่ยนผู้บริหารใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้แต่งตั้งผู้บริหารจากมาเลเซีย นายโก ซู ซิง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธาน บริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด คนก่อน พร้อมกับเตรียมรีลอนช์ศูนย์ใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา โชว์ดีซีก็พยายามปรับรูปแบบและบริหารจัดการภายในมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งแม็กเนตหลักที่ดึงมา อย่างลอตเต้ ดิวตี้ฟรี กลับมีปัญหา เปิดไม่ได้ตามแผน ทำให้จำนวนทราฟฟิกของนักท่องเที่ยวก็ลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น สอดรับกับนโยบายใหม่ของผู้บริหารใหม่ นายโก ซู ซิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด ที่ประกาศว่าจะปรับโฉมและยกระดับศูนย์การค้าโชว์ ดีซี สร้างความหลากหลายของธุรกิจทั้งด้านศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์เพื่อดึงดูดผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวให้ได้ “โดยพร้อมต่อยอดให้เป็นแลนด์มาร์กย์การค้าไลฟ์สไตล์ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีไอเดียและแผนธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งในส่วนของค้าปลีกและเอ็นเตอร์เทนเมนต์แล้ว ซึ่งจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้” ร้านค้า-แม็กเนตทยอยถอยทัพ แหล่งข่าวจากธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ศูนย์การค้าโชว์ดีซีค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากแม็กเนตต่าง ๆ ที่ทางทีมผู้บริหารเดิมเคยดีลไว้ทยอยปิดตัวลง เช่น โชว์ “หิมพานต์ อวตาร” ของบริษัท ซีเอ็มโอ โชว์ คอร์ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนบริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด กับบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ปิดรอบการแสดงลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 หลังจากก่อนหน้านี้ “องค์บากไลฟ์” ได้ปิดรอบการแสดงลงไปเมื่อปลายปี 2560 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้แม็กเนตต่าง ๆ เริ่มทยอยปิดตัวลง เนื่องจากตัวศูนย์ไม่สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้ามาใช้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะมีปัญหาด้านการคมนาคม การเดินทางไม่สะดวก แม้ทางศูนย์จะแก้ปัญหาด้วยการนำรถชัตเติลบัสมาบริการรับ-ส่งแล้วก็ตาม ประกอบกับมีปัญหาภายใน และแม็กเนตหลัก ๆ อย่าง ลอตเต้ ดิวตี้ฟรี ที่เปิดให้บริการได้ไม่ครบ ทำให้ศูนย์ไม่ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ด้วย โชว์ดีซีมีจุดขายที่ชัดเจนว่าเจาะนักท่องเที่ยว ด้วยการวางระบบ โครงสร้างการบริหารจัดการและแม็กเนตต่าง ๆ ให้รองรับลูกค้ากลุ่มนี้ แต่แม็กเนตหลักที่ดึงมาอย่างลอตเต้ ดิวตี้ฟรี กลับเปิดไม่ได้ จำนวนทราฟฟิกก็ลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นร้านค้า รวมถึงโชว์ต่าง ๆ ก็จำเป็นต้องปิดการแสดงลง เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว “ต้องจับตาอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ว่า ทีมผู้บริหารใหม่จะรีลอนช์ศูนย์การค้าอย่างไร และจะใส่แม็กเนตอะไรเข้ามาปลุกทราฟฟิก” รอดู…ทิศทางลม สอดรับ นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ตัดสินใจปิดการแสดง “หิมพานต์ อวตาร” ลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากศูนย์การค้าโชว์ดีซีไม่สามารถเพิ่มทราฟฟิกของนักท่องเที่ยวได้ตามที่วางแผนไว้ ทำให้กระทบต่อโชว์ต่าง ๆ ภายในศูนย์ ซึ่งการปิดการแสดงโชว์ลงครั้งนี้ บริษัทจึงถือโอกาสเตรียมพัฒนารูปแบบโชว์ใหม่อีกครั้ง แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนว่าจะเปิดแสดงอีกครั้งในเดือนใด เนื่องจากทางโชว์ดีซีเองก็มีการเปลี่ยนผู้บริหาร เปลี่ยนนโยบายใหม่ ดังนั้นจึงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง บรรยากาศยังเงียบเหงา จากการสำรวจพื้นที่ของผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า ขณะนี้บรรยากาศภายในศูนย์โชว์ดีซีค่อนข้างเงียบเหงา ร้านรวงต่าง ๆ มีผู้มาใช้บริการไม่มาก แม้กระทั่งร้านแม็กเนตอย่างแมคโดนัลด์ สตาร์บัคส์ ทราฟฟิกก็ยังไม่มากนัก หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างโชว์หิมพานต์ อวตาร หรือองค์บากไลฟ์โชว์ ก็มีแต่เพียงสแตนดี้วางไว้ ตลอดจนพื้นที่เช่าจำนวนมากได้ปิดบริการหรือย้ายสาขาออกไปแล้ว ในส่วนของร้านค้าเชนใหญ่ที่ยังเปิดบริการ ได้แก่ ไนกี้ เอาท์เล็ท, พูม่า เอาท์เล็ท, เอชแอนด์เอ็ม ฯลฯ และโซนไฮไลต์อย่าง YG Republique ที่มีร้านอาหาร คาเฟ่ และผับ สไตล์เกาหลี จำนวน 3 ร้าน ตลอดจนร้านค้าปลอดภาษี ลอตเต้ ดิวตี้ฟรี ซึ่งมีการเปิดให้บริการเพียง 1 ชั้น (บริเวณชั้น 3) จากเดิมที่วางแผนว่าจะมีทั้งหมด 2 ชั้น (บริเวณชั้น 2-3) เพิ่มจุดรถตู้ฟรีรับขาช็อป ทั้งนี้จากการสอบถามพนักงานของลอตเต้ ดิวตี้ฟรีระบุว่า สินค้าที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าที่วางขายในห้างสรรพสินค้าทั่วไป เช่น เสื้อผ้า ชุดชั้นใน เครื่องหอม ขนม ยาดม ยาหม่อง เป็นต้น ในราคาปกติ ซึ่งลูกค้าที่ไม่มีบอร์ดิ้งพาสก็สามารถซื้อได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นสินค้าปลอดภาษี ที่จะต้องมีจุดรับสินค้าภายในสนามบิน ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กแฟนเพจ “โชว์ ดีซี” ได้แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป จะนำรถตู้มาให้บริการรับ-ส่งผู้เข้ามาใช้บริการแทนรถบัส โดยจะออกทุก ๆ 15-30 นาที เพื่ออำนวยความสะดวกใน 2 จุด คือ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี และโรงพยาบาลพระราม 9 รวมถึงลดจำนวนการบริการรับ-ส่งของรถชัตเติลบัสเหลือ 3 เส้นทาง ได้แก่ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี จากก่อนหน้าที่มีให้บริการรับ-ส่งในหลายจุด เช่น ถนนข้าวสาร อิมแพ็ค เมืองทองธานี โรงแรมโนโวเทล สยาม เป็นต้น ส่องจุดขายบิ๊กโปรเจ็กต์ 9,500 ล. ทั้งนี้ ศูนย์การค้าโชว์ ดีซี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเมษายนปี 2560 ด้วยงบฯการลงทุนกว่า 9,500 ล้านบาท ด้วยฝีมือกับปลุกปั้นของนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ในฐานะประธาน บริษัท โชว์ ดีซี คอร์ป จำกัด ตั้งอยู่ย่านพระราม 9 บนพื้นที่ 43 ไร่ ชูจุดขายที่แตกต่างจากศูนย์การค้าอื่น ๆ คือการเป็นศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งวางสัดส่วนกลุ่มเป้าหมายผู้มาใช้บริการเป็นคนไทย 50% และชาวต่างชาติ 50% ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน ขณะที่ตั้งเป้าหมายใหญ่ที่วางไว้ คือ การเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมระดมแม็กเนตต่าง ๆ โดยเฉพาะจากเกาหลี ด้วยการสร้าง “K-District by Mall Of Korea @SHOW DC” เป็นแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ตามด้วยการร่วมทุนกับบริษัท บีอีซี เทโร เอนเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ตั้งบริษัท บีอีซี-เทโร โชว์ จำกัด บริหารจัดการพื้นที่จัดงานในโชว์ดีซี ทั้งในและนอกอาคาร หวังดึงโชว์ต่าง ๆ เข้ามาพร้อม ๆ กับการเพิ่มทราฟฟิกให้แก่ศูนย์ ที่มา : prachachat.net
Person read: 2123
31 July 2018
เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการจันทบุรีมหานครผลไม้ ได้เชิญ ศ.ดร.ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr.Shela Gorinstein) นักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ประเทศอิสราเอล (Hebrew University, Jerusalem, Israel) นักวิจัยอาคันตุกะของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของงานวิจัย “เรื่องสารแอนติออกซิแดนต์ ในผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต” โดยงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ใช้เวลาลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนของไทยมาเกือบ 10 ปีแล้ว และผลงานวิจัยได้ถูกนำมาเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยเนื้อหาของงานวิจัยพอสรุปได้ว่า เริ่มแรกงานวิจัยนี้ทำการเปรียบเทียบทุเรียนจากสวนจังหวัดจันทบุรีจำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และชะนี เพื่อต้องการศึกษาปริมาณสารแอนติออกซิแดนต์ (antioxidant) หรือสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เมืองร้อน : ซึ่งมีประโยชน์ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดชนิด LDL สามารถป้องกันเส้นเลือดอุดตันที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้ ผลการทดลองพบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงกว่าพันธุ์ก้านยาวและชะนี จึงทำการทดลองต่อไปว่า ระยะความสุกระดับใดจะให้สารแอนติออกซิแดนต์สูงสุด พบว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกพอดีมีสารแอนติออกซิแดนต์สูงและช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด เมื่อเปรียบเทียบกับยังไม่สุก (ดิบห่าม) และสุกเกินไป (ปลาร้า) จึงนำมาเลี้ยงกับหนูทดลองได้ผลสรุปว่า หมอนทองที่สุกพอดีลดค่าคอเลสเตอรอล LDL ได้สูงสุด และตรงกับผลการทดลองในห้องแล็บ นอกจากนี้ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองยังมีโปรตีนไฟบริโนเจน (fibrinogen) ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (ช่วยให้เลือดหยุดไหล) และมีสารเควอร์ซิติน (quercetin) ในปริมาณสูง สามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ และมะเร็งได้” “สรุปได้ว่าลักษณะสำคัญ คุณลักษณะพิเศษของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง คือ มีสารแอนติออกซิแดนต์สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีสารโปรตีนพิเศษเควอร์ซิตินที่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน รศ.ดร.รติพรกล่าวว่า หากมีการนำงานวิจัยนี้ไปต่อยอดเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานทุเรียนได้หรือไม่ เพราะในงานวิจัยพบว่า หนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทองไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หนูที่ใช้ทดลองไม่ได้เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นโอกาสดีหากมีการต่อยอดทดลองกับผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากได้การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง ด้าน รศ.ดร.สุมิตรา ภู่วโรดม อดีตอาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ ดร.ชีล่า โครินสไตน์ สนใจทำงานวิจัยนี้ โดยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากเงินกองทุนจัดงานพืชสวนก้าวหน้า ถ้าเป็นการทำงานวิจัยโดยทั่ว ๆ ไปต้องใช้วงเงินมหาศาลและหานักวิจัยที่เก่งจริงมาทำยากมาก เพราะแม้กระทั่งห้องปฏิบัติการที่จะทำในสัตว์ทดลองได้จะต้องมีใบรับรอง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ งานนี้ต้องไปใช้ห้องแล็บถึงมหาวิทยาลัยวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ซึ่ง ดร.ชีล่ามีเครือข่ายงานวิจัยนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมเกษตรไทยแลนด์ 4.0 หากภาครัฐส่งเสริมให้มีการทำวิจัยต่อยอดให้สำเร็จ นำไปใช้ประโยชน์กับคนได้จริง จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมกับยุทธศาสตร์ที่ให้จันทบุรีเป็นเมืองมหานครผลไม้ “อนาคตพื้นที่ปลูกทุเรียนมีทั้งในไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปริมาณทุเรียนในตลาดจำนวนมหาศาลจะนำข้อมูลอะไรไปบอกผู้บริโภคในตลาดโลกว่า ควรบริโภคทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากไทย หรือเจาะลึกว่าต้องเป็นทุเรียนหมอนทองของ จ.จันทบุรี หากมีการวิจัยต่อยอดงานนี้ให้ได้คำตอบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยมีคุณภาพที่เหมาะกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ แตกต่างจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกทั่ว ๆ ไป นั่นคือความยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะได้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหมุนเวียนกันเช่นอดีตที่ผ่านมา” ด้าน ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรีกล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยนี้มีประโยชน์มากและเหมาะกับโอกาสที่เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดทุเรียน เป็นจุดขายทำให้ทุเรียนหมอนทองไทยแข่งขันกับทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียได้ เพราะมูซังคิงเป็นทุเรียนที่สุกเกินพอดี นอกจากนี้ ผลวิจัยเรื่องผลไม้เมืองร้อนยังเป็นประโยชน์กับแพทย์แผนโบราณ ด้านเภสัชกรรม แต่น่าเสียดายที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก มหาวิทยาลัยบูรพากำลังทำข้อมูลให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ทั้งภาคภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปใช้ในทางปฏิบัติ หากได้ต่อยอดจะทำให้นำผลวิจัยออกไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ นายปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย อดีตประธานกรรมการหอการค้าภาคตะวันออกและจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กระแสทุเรียนฟีเวอร์ทำให้เกษตรกรหลงทางเสาะหาทุเรียนพันธุ์โบราณ หรือพันธุ์แปลก ๆ มาปลูก ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่การสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่งานวิจัยทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยว่ามีลักษณะพิเศษทั้งสารแอนติออกซิแดนต์ ต้านอนุมูลอิสระและสารพิเศษที่มีโปรตีน ภาครัฐควรให้ความสำคัญสนับสนุนงบประมาณไปต่อยอดให้งานวิจัยมีผลกับผู้บริโภค นั่นคือการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน เพราะสามารถตอบคำถามให้ผู้บริโภคทุเรียนในตลาดโลกได้ว่า ทำไมต้องรับประทานทุเรียนหมอนทองไทย นั่นคือจุดขายที่สุดยอด ซึ่งจะทำให้การปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยยั่งยืน โดยเฉพาะกับจังหวัดจันทบุรีที่ยุทธศาสตร์ของประเทศปั้นให้เป็นเมืองมหานครผลไม้ ที่มา : prachachat.net
Person read: 2001
31 July 2018
บอร์ดบีโอไอโชว์ผลงาน จัดแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์กระชากเม็ดเงินลงทุนค่ายรถกว่า 50,000 ล้านบาท ญี่ปุ่น ยุโรปแข่งเดือด ไม่มีใครถอย ฮอนด้าระบุจัดเต็มทุกแพ็กเกจรวมถึงแบตเตอรี่ ฟากนิสสันเร่งเครื่องส่งอี-พาวเวอร์ทำตลาด ทัพยุโรปดาหน้าปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโปรเจ็กต์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท คือ ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีว่า ปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 บอร์ดบีโอไอจะพิจารณาอนุมัติอีก 2 ค่ายที่ยื่นเสนอเข้ามา ได้แก่ นิสสัน มูลค่าลงทุน 10,960 ล้านบาท และฮอนด้า มูลค่า 5,821 ล้านบาท ในประเภทกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) ทั้งนี้ผู้ขอรับส่งเสริมต้องยื่นข้อเสนอแบบแผนงานรวม (Package) และจะต้องมีแผนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะเลือกเป็น แบตเตอรี่ หรือ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะได้รับการ “ยกเว้น” อากรขาเข้าเครื่องจักร แต่กรณีที่ได้รับการส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์ให้สามารถนับรวมกับรถยนต์ไฮบริดได้ รถอีวีขาใหญ่มาครบ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ค่ายรถที่ผ่านการพิจาณาแล้ว ได้แก่ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง, บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย และเบนซ์ รวมมูลค่าลงทุน 18,000 ล้าน ซึ่งโครงการที่มีการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทต้องเข้าบอร์ดชุดใหญ่ ฮอนด้าจัดเต็มทุกแพ็กเกจ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุนไปยังบีโอไอเรียบร้อย โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงรายละเอียด รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมโดยเฉพาะมีการเพิ่มจำนวนรุ่นรถยนต์ที่จะผลิตภายใต้โครงการ รวมทั้งซัพพลายเออร์ที่จะเข้ามาลงทุน “โครงการลงทุนของเรามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด และเป็นการลงทุนแบบเต็มที่ รวมทั้งแบตเตอรี่ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นเราคงต้องรอดูจากข้อมูลล่าสุด หรือข้อมูลสุดท้ายที่บีโอไอประกาศ” ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจาก บีโอไอเมื่อต้นปีที่ผ่านมาระบุว่า ฮอนด้าขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 1,070 ล้านบาท ใช้โรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ปราจีนบุรี กำลังผลิต 37,000 คันต่อปี อย่างไรก็ตามจากข้อมูลโครงการที่เข้าพิจารณาในบอร์ดบีโอไอ วันที่ 25 ก.ค.นี้ มีมูลค่า 5,821 ล้านบาท นิสสันรับอี-พาวเวอร์ คือไฮบริด เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับบริหารจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นิสสันยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำเสนอเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ ของนิสสัน ด้วยมูลค่า 10,960 ล้านบาท ที่โรงงานนิสสัน กม.21 บางนา-ตราด เบื้องต้นคาดว่าจะมีกำลังผลิต 80,000 คันต่อปี ส่วนรายละเอียดโมเดล ที่คาดว่าจะเป็นนิสสันโน๊ต อี-พาวเวอร์นั้น ยังไม่มีความชัดเจน และมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นโมเดลอื่นติดตั้งเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้านี้ นิสสันนำเสนอเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ให้อยู่ในแพ็กเกจการลงทุนในหมวดรถยนต์ไฟฟ้า โดยระบุว่า ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนเช่นเดียวกับนิสสัน ลีฟ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวรถ จึงทำให้มีอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ในรถไฮบริดทั่วไป อีกทั้งยังสามารถลดความวิตกกังวลเมื่อต้องหาสถานีชาร์จไฟฟ้าได้อีกด้วย แต่ข้อสรุปเทคโนโลยีอี-พาวเวอร์ ถูกจัดวางให้อยู่ในหมวดรถยนต์ไฮบริดเท่านั้น โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ล้วน ๆ ยุโรปดาหน้าปลั๊ก-อิน, อีวี เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับบริหารของค่ายยุโรป โดยบีเอ็มดับเบิลยูกรุ๊ปประกาศชัดว่า ได้ขอแพ็กเกจกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี ไปเป็นที่เรียบร้อย ภายใต้มูลค่าการลงทุน 705 ล้านบาท โดยบีเอ็มดับเบิลยูจะใช้โรงงานในจังหวัดระยองเป็นฐานการผลิต ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ประเภทนี้ของบริษัทมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปีที่แล้วมียอดขายคิดเป็น 15% และปีนี้ในช่วง 4 เดือน สัดส่วนเพิ่มเป็น 18% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่นายอันเดรอัส เลทเนอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ลงทุนเกือบ 4 พันล้านบาท หรือ 100 ล้านยูโร เพื่อขยายเครือข่าย การผลิตแบตเตอรี่แห่งที่ 6 ในโลกที่ประเทศไทย ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างเนื่อง โดยเป็นการลงทุนร่วมระหว่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด โรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้จะเปิดทำการในปี 2562 และจ้างงานใหม่อีก 300 ตำแหน่ง นอกจากการสร้างโรงงานแบตเตอรี่แล้ว งบประมาณดังกล่าวยังจะใช้ในการขยายกำลังการผลิตในประเทศไทย จากปีที่ผ่านมาที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 12,000 คัน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โปรเจ็กต์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 3 ประเภท ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวี รวมเม็ดเงินน่าจะทะลุ 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่ายโตโยต้า ลงทุน 20,000 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน ใช้โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา นิสสัน 10,960 ล้านบาท กำลังผลิต 80,000 คันต่อปีมาสด้าขอรับส่งเสริมลงทุน 11,400 ล้านบาท ใช้โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ จ.ระยอง กำลังผลิต 120,000 คันต่อปี ฮอนด้า 5,821 ล้านบาท ซูซูกิขอรับส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 2,500 ล้านบาท ใช้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด ด้วยกำลังผลิต 12,000 คันต่อปี ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-195186
Person read: 2117
25 July 2018
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของเขื่อนดินย่อยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียง-เซน้ำน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนเป็นเหตุให้สันเขื่อนดินย่อยเกิดรอยร้าว และมีน้ำไหลออกสู่พื้นที่ท้ายน้ำ โดยเขื่อนดังกล่าวไม่ได้เป็นเขื่อนของบริษัท และโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากน้ำที่ไหลดังกล่าว โดยสามารถจ่ายไฟได้ตามปกติ ที่มา : https://www.prachachat.net/general/news-195169
Person read: 2277
25 July 2018
กทม.บีบ BTS เจรจารับหนี้ 1.1 แสนล้าน พ่วงเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท สายสีเขียวส่วนต่อขยายให้จบก่อนเปิดหวูดสายแบริ่ง-สมุทรปราการ ด้าน “อัศวิน” ลั่นคุยไม่จบ ส่งโครงการคืนสู่อ้อมอก รฟม. ดึงเข้าร่วมทุน PPP ด้าน “คีรี กาญจนพาสน์” แอ่นอกช่วยรับหนี้ก้อนโตแน่ แต่ค่าโดยสารต้องรื้อใหม่ทั้งพวง เริ่มเก็บ ธ.ค.นี้ ดีเดย์ ส.ค.นำรถขบวนใหม่ ซื้อจากซีเมนส์ วิ่งทดสอบระบบ คนกรุงจ๊ากค่าครองชีพพุ่ง รถไฟฟ้าใต้ดินเริ่มเก็บค่าโดยสารใหม่ 3 ต.ค.นี้ ส่วนทางด่วนจ่อปรับขึ้นอีก 5 บาท พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างเตรียมรายละเอียดการรับโอนทรัพย์และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 111,175.20 ล้านบาท จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบเดินรถให้ต่อเนื่องกันทั้งโครงข่ายให้สภา กทม.พิจารณา จะเร่งให้ได้ข้อสรุปก่อนเปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 13 กม.ภายในเดือน ธ.ค.นี้ บีบ BTS รับหนี้แสนล้าน “แนวทาง กทม.จะไม่รับภาระหนี้ทั้งหมด เพื่อจะไม่ให้เป็นภาระผูกพันงบประมาณประจำปีของ กทม.ในระยะยาว เพราะเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่า 1 แสนล้านบาท แต่จะให้เอกชนมารับสัมปทานโครงการและรับภาระหนี้ทั้งหมดไป อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้รับสัมปทานรายเดิม มีหลายโมเดล รวมถึงโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้งโครงข่าย ที่จะต้องปรับใหม่ คิดตามระยะทาง มีอัตราสูงสุด 65 บาท ซึ่งบีทีเอสยังไม่รับปากค่าโดยสารจะเก็บตามนี้หรือไม่” พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า หากไม่สามารถตกลงกับบีทีเอสได้ก่อนที่ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.นี้ จะคืนโครงการกลับไปให้ รฟม. รวมถึงการที่ กทม.ขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้เงินให้ เพื่อหาแหล่งเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกแทนนั้น ก็จะไปบอกยกเลิกทันทีเช่นกัน นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะกำกับดูแลสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ เริ่มทดสอบระบบเดินรถแล้ว ส่วนภาระการรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินนั้น กำลังจะเสนอร่างข้อบัญญัติกู้เงินจากกระทรวงการคลังให้สภา กทม.พิจารณาในวันที่ 25 ก.ค.นี้ โดยยังยืนยันตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. คือ การรับโอนหนี้และทรัพย์สินทั้งหมดจะไม่ให้ กทม.ต้องเสียงบประมาณแม้แต่บาทเดียว จึงเปิดประมูลให้เอกชนมารับภาระตรงนี้แทน ยัน ธ.ค.เก็บค่าโดยสารใหม่ “ส่วนท่าทีของบีทีเอสจะให้ กทม.รับหนี้ไปบางส่วนนั้น ต้องยืนยันตามนโยบายผู้ว่าฯก่อน ถ้าเอกชนรายใดรับภาระไม่ไหวก็ไม่ควรเข้ามาประมูล เราต้องการให้มีเอกชนเจ้าอื่นเข้ามาแข่งขันนอกจากบีทีเอส ปัญหานี้จะไม่กระทบกับการเปิดเดินรถเดือน ธ.ค.นี้ และจะไม่เปิดให้ใช้บริการฟรี จะมีการเก็บค่าโดยสาร อยู่ระหว่างพิจารณาเก็บค่าโดยสารตามโครงสร้างใหม่ที่ไม่เกิน 65 บาท” นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กล่าวว่า ในฐานะบีทีเอสเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถให้ กทม. มีความพร้อมจะช่วยรับภาระหนี้ของสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา แต่จะต้องเข้าไปดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยมีการเจรจาในรายละเอียดต่าง ๆ เช่น ลักษณะการจ้างเดินรถหรือจะเป็นการให้สัมปทาน แล้วถ้าเป็นสัมปทานจะมีการขยายระยะเวลาเพิ่มหรือไม่ ในเมื่อสัมปทานเดิมของบีทีเอสจะครบกำหนดในปี 2572 เรื่องของอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากจะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก จะกำหนดรูปแบบไหน โดยที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.มีนโยบายจะให้เก็บตามระยะทางเริ่มต้น 16 บาท สูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี เพื่อจะให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคาถูก แต่ต้องคิดถึงหลักการในการปฏิบัติจริง ซึ่งในผลศึกษาระบุค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 144 บาท แต่จะให้เก็บ 65 บาทก็ได้ แล้วส่วนต่างที่เหลือใครจะรับภาระไป ถ้าจัดสรรได้ก็ถือเป็นสิ่งดี ๆ ให้คน กทม. แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ทำไม่ได้ ตอนนี้กำลังเจรจาร่วมกัน ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ซึ่งอยากให้จบก่อนเดือน ธ.ค.นี้ที่จะเปิดบริการช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ส.ค.อวดโฉมรถขบวนใหม่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเริ่มทดสอบระบบของสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการแล้ว และภายในเดือน ส.ค.นี้รถไฟฟ้าใหม่ขบวนแรกที่สั่งซื้อจากซีเมนส์ จะมาถึงประเทศไทย เพื่อนำมาวิ่งทดสอบระบบ จากนั้นทางซีเมนส์จะทยอยส่งมอบรถให้จนครบทั้งหมด 22 ขบวน โดยรถขบวนใหม่จะนำมาวิ่งให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และวิ่งบริการในเส้นทางเดิม เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่หนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน ซึ่งรถขบวนใหม่ได้ปรับโฉมใหม่ให้ดูโฉบเฉี่ยวทันสมัยยิ่งขึ้น รวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีพื้นที่จุคนได้มากขึ้นอีกด้วย ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-194647 รฟม.จ่อดึงสายสีเขียวเข้าPPP ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ คาดว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือน ม.ค. 2562 มี 9 สถานี มีผู้โดยสาร 160,000 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มี 16 สถานี จะเปิดบริการปี 2563 โดยปี 2562 คาดว่าจะเปิดก่อน 1 สถานี จากหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว คาดว่ามีผู้โดยสาร 330,000 เที่ยวคนต่อวัน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หาก กทม.ไม่สามารถรับภาระหนี้ของสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ เพื่อให้การเปิดเดินรถได้ตามแผนในเดือน ธ.ค.นี้ รฟม.จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost 30 ปี ในส่วนของงานระบบมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้เสนอผลการศึกษาตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 ให้กับกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว อาจจะเชิญบีทีเอสมาเจรจาก่อน รถไฟฟ้าใต้ดิน-ทางด่วนขึ้นราคา นอกจากนี้นายภคพงศ์ยังกล่าวถึงการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้รับสัมปทาน จะเก็บค่าโดยสารใหม่วันที่ 3 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เริ่มต้น 16 บาท สูงสุด 42 บาท โดยมี 3 สถานีเก็บเพิ่ม 1 บาท คือ สถานีที่ 5, 8 และ 11 นับจากสถานีต้นทาง หลังเลื่อนจากวันที่ 3 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่แล้ว ในส่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) อนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางเพิ่ม 5 บาท ในส่วนของทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2ที่มี BEM รับสัมปทาน จะครบกำหนดตามสัญญาวันที่ 1 ก.ย.นี้ ที่มีการพิจารณาปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) สำหรับอัตราค่าผ่านทางปัจจุบัน ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) รถ 4 ล้อ 50 บาท รถ 6-10 ล้อ 75 บาท มากกว่า 10 ล้อ 110 บาท ส่วนทางพิเศษศรีรัช ส่วน C รถ 4 ล้อ 15 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 35 บาท ส่วน D รถ 4 ล้อ 25 บาท รถ 6-10 ล้อ 55 บาท มากกว่า 10 ล้อ 75 บาท ขณะเดียวกันจะมีทางด่วนอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ที่ BEM รับสัมปทานและมีรายได้ค่าผ่านทาง 100% จะครบกำหนดวันที่ 1 พ.ย. 2561 จากปัจจุบันช่วงแจ้งวัฒนะ-เชียงราก รถ 4 ล้อ 45 บาท รถ 6-10 ล้อ 100 บาท มากกว่า 10 ล้อ 150 บาท และช่วงเชียงราก-บางไทร รถ 4 ล้อ 10 บาท รถ 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 30 บาท ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-194647
Person read: 2175
25 July 2018
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานสองเจนเนอเรชั่น ได้แก่ Gen Y และ Gen Z ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการหางาน สมัครงาน โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศจำนวน 3,184 คน ในหัวข้อ “ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกเข้าทำงานกับองค์กร” “แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า ในโลกการทำงานปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลุ่มคน Gen Y และ Gen Z เริ่มมีบทบาทในโลกของการทำงานมากขึ้น และแน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เริ่มกลายมาเป็นกำลังแรงงานหลักของหลายองค์กร เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมจึงทำการสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานสองเจนเนอเรชั่น ได้แก่ Gen Y และ Gen Z โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศจำนวน 3,184 คน ในหัวข้อปัจจัยที่ใช้พิจารณาเลือกเข้าทำงานกับองค์กร พบว่ามี 5 ปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญเหมือนกันมากที่สุด ได้แก่ 1. เงินเดือน คิดเป็น 27.96% – เป็นปัจจัยแรกที่คนทำงานทั้งสองเจนเนอเรชั่นให้ความสำคัญ และมีผลต่อการตัดสินใจเลือกงานมากที่สุด โดยมีความเห็นตรงกันว่า หากคนทำงานทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ทุกคนย่อมต้องการเงินเดือนที่เหมาะสมเป็นสิ่งตอบแทน 2. สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ คิดเป็น 19.59% – สวัสดิการถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วยบริหารคนได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถจูงใจให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กรยาวนานขึ้น รวมถึงสามารถดึงดูดให้คนภายนอกอยากมาทำงานกับองค์กรได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น การให้สวัสดิการที่ดีนอกจากจะเป็นการใส่ใจคุณภาพชีวิตพนักงานแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมั่นคงขององค์กรนั้น ๆ เช่น เงินสนับสนุนตามโอกาสพิเศษ ส่งพนักงานไปอบรมพัฒนาความรู้ จัดสรรเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้ 3.หน้าที่รับผิดชอบ คิดเป็น 14.59% – ทั้งสองเจนเนอเรชั่นมีมุมมองคล้ายกันในเรื่องภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่ถือเป็นการสร้างความท้าทายในชีวิต และเป็นโอกาสในการสร้างเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ยิ่งหากได้ทำงานตรงสายก็จะรู้สึกว่าตนเองได้แสดงศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ 4.การเดินทางสะดวก คิดเป็น 12.81% – คนทำงานส่วนใหญ่นิยมหาสถานที่ทำงานใกล้บ้าน หรือเดินทางได้สะดวก เพื่อช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงช่วยลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดจากปัญหาการจราจรติดขัด ดังนั้น หากองค์กรอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกต่อการเดินทางก็จะทำให้มีโอกาสในการได้รับความสนใจจากคนทำงานมากขึ้น 5.มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน คิดเป็น 12.12% – เพราะจุดมุ่งหมายของคนทำงานทุกคนคือการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ดังนั้น องค์กรต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเติบโตในสายอาชีพได้ เช่น โอกาสในการปรับตำแหน่ง การขึ้นเงินเดือน เพื่อสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจเลือกเข้าทำงานกับองค์กร นอกจากนี้ การมอบหมายงานที่ท้าทายมากขึ้น ก็สามารถสะท้อนให้พนักงานเห็นถึงโอกาสก้าวหน้าในงานที่ทำได้เช่นกัน ผลสำรวจยังเผยให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยพบว่าปัจจัยที่ Gen Z ให้ความสำคัญรองจาก 5 อันดับข้างต้นคือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ชื่อตำแหน่ง ประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงองค์กร ตามลำดับ ด้าน Gen Y ให้ความสำคัญกับชื่อตำแหน่ง ชื่อเสียงองค์กร สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ประเภทธุรกิจ และทำเลที่ตั้ง ตามลำดับ โดยจะเห็นว่า Gen Z ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมากกว่าการสนใจเรื่องชื่อเสียงองค์กร ในขณะที่ Gen Y ให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่งและชื่อเสียงองค์กรมากกว่า อาจเป็นเพราะ Gen Y เข้าสู่ช่วงชีวิตการทำงานที่มีตำแหน่งงานอยู่ในระดับกลางถึงสูง ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องชื่อตำแหน่ง และชื่อเสียงองค์กรมากกว่า Gen Z “ปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรต้องเริ่มปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงหันมาทำความเข้าใจในสิ่งที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการให้มากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาพนักงานลาออก หรือคนวัยแรงงานไม่สนใจทำงานประจำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ในอนาคตจะเป็นแรงงานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไป”
Person read: 2307
24 July 2018
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ได้จัดงาน “Future Economy and Internet Governance : Big Chang to Big Chance” ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2561 ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากงานสัมมนาแล้ว ยังมี Job Matching กับบริษัทชั้นนำในแวดวงดิจิทัล ในสายงานด้าน Digital Technology, e-Commerce, Cybersecurity, Digital Financial, Internet กิจกรรม Knowledge Sharing Class รวมคอร์สความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจและบุคลากรเฉพาะด้าน ทั้งเรื่อง e-Tax Invoice, Trusted e-Document ความรู้เกี่ยวกับ GDPR พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดงานว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และกระบวนการทางสังคมอื่น ๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นประเทศไทยจึงเร่งปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานตลอดระยะเวลา 3 วันไม่ต่ำกว่า 5,000 คน จะมีการจัดแสดง EXHIBITION & SHOWCASE ที่เป็นไฮไลต์ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยในส่วนไฮไลต์ของ ETDA ได้มีการจัดโซน ETDA Pavilion เพื่อแสดงผลงานและโครงการที่สำคัญของETDAได้แก่ Cybersecurity Park, e-Commerce Park, Digital Tourism, Durian Platform, Big Data Analytics และ Digital ID ขณะที่โซนของผู้สนับสนุน และพาร์ตเนอร์ทั้งจากไทยและต่างประเทศ ได้เตรียมนำเสนอเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อนทั้งด้าน Cybersecurity, e-Commerce, และ Digital Technology ด้วย สำหรับงานดังกล่าวจะเน้นใน 3 เรื่องสำคัญตามแต่ละวัน วันแรก คือ (Future Economy) เรื่องของเศรษฐกิจอนาคตควรเป็นอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นว่า การมาของเทคโนโลยีควอนตัม AI หรือ Blockchain ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างและจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร วันที่ 2 (Today’s Economy Waiting to Change) จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจวันนี้มีอะไรที่กำลังเปลี่ยน และต้องเปลี่ยน พร้อมข้อมูลสถิติมูลค่าอีคอมเมิร์ซ และการใช้ Content เพื่อสร้างจุดแตกต่างทางธุรกิจ วันสุดท้ายคือ Internet Governance หรือธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่สังคมควรให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนจากประสบการณ์ในเวทีระดับโลก และการเผยแพร่สถิติพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตล่าสุด ติดตามตารางสัมมนาได้ที่ www.etda.or.th/bigchange2018/, FB: ETDA Thailand
Person read: 1964
24 July 2018
ด้วยการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมทั่วโลก ไม่พ้นแม้กระทั่งในอุตสาหกรรมน้ำมันที่ปัจจุบันจะต้องหันมาทำตลาดในธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น และต้องยอมรับว่าธุรกิจส่วนนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างมากของบริษัทน้ำมัน ในวันนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้แยกองค์กรเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกออกมา เพื่อความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของ “นางสาวจิราพรขาวสวัสดิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน PTT ในฐานะรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR Q : ภาพรวมธุรกิจ PTTOR บริษัท PTTOR นั้นถูกแยกออกมาจาก PTT หรือ ปตท. ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในฐานะผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน จากคณะกรรมการหรือบอร์ดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยทำการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมันทั้งหมดมายังบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ PTTOR มีสถานะเป็นบริษัทเอกชนอย่างเป็นทางการ หลังผ่าน ครม.ไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่การแข่งขันอย่างเต็มตัว จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของ PTTOR มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ยังคงดำเนินการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเช่นเดิม Q : ทรัพย์สินที่ยังคงอยู่ จากที่ได้ประเมินมูลค่าทรัพย์สินเบื้องต้นที่ ปตท.โอนให้กับ PTTOR จะมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยในส่วนของทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ เช่น คลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และคลังน้ำมันที่ศรีราชา, เขาบ่อยา, บ้านโรงโป๊ะ จะยังอยู่กับ ปตท.เช่นเดิม ขณะที่แนวทางการบริหารธุรกิจของบริษัทนั้น แน่นอนว่าเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2561 บริษัท PTTOR ของเราที่เพิ่งได้รับการถ่ายโอนทรัพย์สินจาก ปตท. และมีผลตามกฎหมายตั้งแต่ 1 ก.ค. 2561 ได้เริ่มเดินหน้าชี้แจงกับทางพนักงานและทำมาโดยตลอด จนถึงวันที่เราจัดงาน Welcome All to PTTOR ให้กับพนักงานกว่า 1,500 คน ที่เดิมเคยเป็นพนักงานของ ปตท. แต่โอนย้ายมาเป็นพนักงานของ PTTOR เป็นสัญญาณว่าจากนี้ธุรกิจของเราจะเดินหน้าไปด้วยกัน เป้าหมายของบริษัทยังคงมุ่งไปสู่เรื่องของน้ำมันและการค้าปลีกเป็นหลัก ซึ่งเป็นการค้าปลีกน้ำมันเหมือนแบบมาตรา 7 ทุกราย Q : ความคืบหน้าของการเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น ขั้นตอนหลังจากนี้ PTTOR จะเตรียมยื่นแบบเสนอขายหุ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อนำหุ้นบริษัท PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงเดือน พ.ย. 2561 คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เข้าตลาดหุ้นได้ในช่วงไตรมาส 2/2562 โดยขณะนี้รอแจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/2560 และจะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่มีอุปสรรคในเรื่องของอะไรที่จะทำให้การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัทจะต้องสะดุด Q : นโยบายการต่อสัญญาดีลเลอร์ ตอนนี้เราทราบว่าในกลุ่มธุรกิจดีลเลอร์นั้นมีความกังวลเรื่องของการเปลี่ยนสัญญาคู่ค้าระหว่าง ปตท.เดิมไปเป็น PTTOR เรายืนยันว่าตอนนี้ได้มีการหารือกับทางกลุ่มดีลเลอร์และจะไม่มีการเปลี่ยนอะไรในสัญญาเดิมที่เราเคยทำไว้ เพียงแต่มาคุยกันว่าจากนี้เมื่อเราเป็น PTTOR แล้วนั้น ในรายละเอียดจะปรับอะไรบ้างที่ไม่ใช่สาระสำคัญถึงขั้นเกิดผลกระทบต่อดีลเลอร์ที่เป็นคู่ค้ากับเรา เช่น เปลี่ยนว่าเราคือใคร ในส่วนของปัญหาเรื่องจ็อบเบอร์เรายังคงใช้ระบบการค้าปกติแบบมาตรา 7 เหมือนเดิม ดังนั้น ไม่ว่าในสัญญากับดีลเลอร์เดิมเป็นยังไง ทุกอย่างจะคอนเวิร์สต่อไปเหมือนเดิมจึงไม่อยากให้ต้องกังวล หากจ็อบเบอร์ดำเนินตามธุรกิจแบบมาตรา 7 ก็ทำธุรกิจต่อไปได้ Q : บทบาทในการส่งเสริม B20 เราเริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 รวมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดตัว B20 ไป เพราะขณะนี้เรามีคู่ค้าที่เป็นปั๊มน้ำมันรายใหญ่ 5 ราย (ผู้ค้ามาตรา 7) ที่เริ่มเข้าโครงการ B20 สำหรับภาคการขนส่งในรถบรรทุก โดย บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกส่งให้กับผู้ค้าอย่างบริษัท เอสซี แคริเออร์ จำกัด, บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น ส่งให้ผู้ค้า 3 ราย คือ บริษัท ทองธาราขนส่ง บริษัท คุณอนันต์ แอนด์ เค-แมน เซอร์วิส บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยาส่วน บจ.ซัสโก้ ดีลเลอร์ส ส่งให้ ผู้ค้า หจก.ท.เที่ยงขนส่ง ซึ่งทั้ง 3 รายได้เริ่มโครงการขาย B20 แล้ว โดยจากนี้จะหารายอื่นเพิ่มเติมโดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้การใช้ B20 ได้สนับสนุนเรื่องของปาล์มในประเทศให้มากที่สุด ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-192933
Person read: 2318
20 July 2018
ตลาดอีคอมเมิร์ซ 2.8 ล้านล้านแข่งดุ แบรนด์ดังทุ่มหนัก วัดสายป่าน “11 street” ขายหุ้นให้ทายาทเนสกาแฟ หลังขาดทุนพันล้าน “เซ็นทรัล-JD” ชูจุดแข็งสมาชิก 14 ล้านอวดโฉม ก.ย.นี้ เดินเครื่อง New Business คลุมออนไลน์ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” ผลประกอบการแดงเถือก “24 Shopping” ซีพี ออลล์ สวนกระแสกำไรดี ตลาดรวมอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่า 2.8 ล้านล้านและเติบโตถึงปีละ 20-25% ถือเป็นตลาดที่ท้าทายที่มีแรงกระเพื่อมรอบใหม่อีกครั้ง ทายาทเนสกาแฟ ซื้อ 11 street ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจาก อีเลฟเว่น สตรีท อีคอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลีใต้ ของบริษัท เอสเค เทเลคอม ยักษ์โทรคมนาคมเข้ามาทำตลาดในไทยได้ปีกว่า และทุ่มงบฯเฉียด 1,000 ล้านบาท ทำการตลาดอย่างหนักทั้งปูพรมโฆษณา ใช้พรีเซ็นเตอร์สุดฮอต “ซงจุงกิ” จากเกาหลี และ “มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน” ได้ขายกิจการให้นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาทเนสกาแฟ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการซื้อขาย ขณะที่ผลประกอบการปีล่าสุดติดลบกว่า 952 ล้านบาท นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ยอมรับว่า ที่ซื้ออีเลฟเว่น สตรีท เป็นการซื้อในนามส่วนตัวและถือหุ้น 100% ซึ่งโอนหุ้นเรียบร้อยแล้ว เพราะเห็นแนวโน้มการเติบโตของช็อปปิ้งออนไลน์ที่สูงขึ้นตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเปลี่ยนชื่อใหม่ และหาโมเดลที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่ เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยแข่งขันหนักและมีแผนจะลงทุนในสตาร์ตอัพ เพื่อต่อยอดด้านเทคโนโลยีในอนาคต เซ็นทรัล JD ดีเดย์กันยาฯนี้ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงการร่วมทุนระหว่างเซ็นทรัล และเจดีดอทคอม เพื่อสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์ JD.co.th ว่า บริษัทจะเปิดตัวเป็นทางการในเดือนกันยายนนี้ พร้อมความร่วมมือเปิดแพลตฟอร์ม อีโลจิสติกส์ในไตรมาส 4 และอีไฟแนนซ์ ในไตรมาส 1 ปี 2562 จากก่อนหน้านี้ได้ซอฟต์ลอนช์ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งฟีดแบ็กค่อนข้างดี ทั้ง ๆ ที่ยังไม่โปรโมตส่วนหนึ่งมาจากความมั่นใจในแบรนด์เซ็นทรัล “ตลาดแข่งขันรุนแรง หลายค่ายต้องใส่เงินเข้าไปจำนวนมากเพื่อสร้างฐานลูกค้าและทราฟิก ซึ่งเซ็นทรัลมีจุดแข็งในเรื่องของฐานลูกค้าจากเดอะวันการ์ดถึง 14 ล้านคน” นายญนน์ย้ำว่า นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจออนไลน์ เซ็นทรัลกรุ๊ปยังมี “ลุคสิ” (LOOKSI) และเซ็นทรัลออนไลน์ ที่จะผลักดันไปคู่กัน รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ 6 กลุ่ม อาทิ ท็อปส์ เพาเวอร์บาย บีทูเอส ออฟฟิศเมท ฯลฯ ก็มีช่องทางออนไลน์ครบทุกกลุ่มแล้ว เพื่อสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งแบบออมนิแชนเนล เชื่อมออนไลน์-ออฟไลน์เพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์เป็น 10-15% ใน 5 ปีข้างหน้า “ลาซาด้า-ช้อปปี้” ขาดทุนอ่วม รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลดำเนินงานของบริษัทอีคอมเมิร์ซพบว่า ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน อาทิ อีเลฟเว่น สตรีท (ประเทศไทย) ปี 2559 มีรายได้ 1.46 ล้านบาท ขาดทุน 184 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีรายได้ 65.4 ล้านบาท ขาดทุน 943 ล้านบาท ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มทุนจดทะเบียนถึง 5 ครั้ง จากเดิมทุนจดทะเบียนแรกตั้ง 4 ล้านบาท เป็น 1,493 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ลาซาด้า จำกัด ปี 2559 มีรายได้ 4,266 ล้านบาท ขาดทุน 2,115 ล้านบาท ปี 2560 (รอบบัญชีสิ้นสุดมีนาคม 2560) มีรายได้ 1,757 ล้านบาท ขาดทุน 568 ล้านบาท ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนถึง 4 ครั้ง จาก 4 ล้านบาท เป็น 7,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ปี 2559 มีรายได้ 56,606 บาท ขาดทุน 528 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 139 ล้านบาท ขาดทุน 1,404 ล้านบาท ทุนจดทะเบียน เป็น 50 ล้านบาท บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด เครือบมจ.ซีพีออลล์ ทำตลาดผ่าน 3 เว็บไซต์ www.24catalog.com, www.shopat24.com และ www.amulet24.com พบว่า ปี 2559 มีรายได้ 4,641 ล้านบาท กำไร 215 ล้านบาท ปี 2560 รายได้ 5,626 ล้านบาท กำไร 305 ล้านบาท นายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง กล่าวว่า ทั้ง 3 เว็บไซต์มีฐานลูกค้ารวมกว่า 2 ล้านราย กลยุทธ์หลักจะเร่งผลักดันยอดขายโดยเชื่อมช่องทางออฟไลน์หรือร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก เข้ากับออนไลน์ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ให้มีอัตราการเติบโตดับเบิลดิจิตต่อเนื่องทุกปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ได้เริ่มทดลองตลาดใน สปป.ลาว ด้วยการขายสินค้าออนไลน์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นผ่าน Shop at 24 และส่งสินค้าจากไทยผ่านช่องทางคลังสินค้าของซีพีเอฟ ที่เป็นจุดรับ-ส่งสินค้าให้ลูกค้า ซึ่งพบว่ามีการตอบรับดี คนลาวเริ่มซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น สินค้าที่นิยมเป็นกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง เช่นเดียวกับตลาดในไทย ที่มา : https://www.prachachat.net/marketing/news-190605
Person read: 2145
18 July 2018
ลุ้นโค้งสุดท้าย “สมคิด” ไล่บี้เมกะโปรเจ็กต์คมนาคม วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้าน เดดไลน์สปีดประมูลให้เสร็จสิ้นปีนี้ก่อนเลือกตั้ง ครบทุกโหมด บก ราง น้ำ อากาศ หวังเป็นพระเอกขับเคลื่อนการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้าน “อาคม” จัดไทม์ไลน์ประมูลละเอียดยิบ ทั้งรถไฟฟ้าสารพัดสี ทางคู่เฟส 2 และสายใหม่ ท่าเรือ สนามบิน รถไฟรางเบา ลั่น พ.ย.นี้ชง ครม.เกลี้ยง ปีหน้าขายทีโออาร์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลา 7-8 เดือนที่เหลือก่อนจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2562 ได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ เนื่องจากโครงการใหญ่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ถ้าโครงการไหนที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง ประมูล หรือเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอให้เสร็จสิ้นปีนี้ ห้ามล่าช้าอีกเด็ดขาด เร่งเวนคืนบางใหญ่-กาญจน์ จากการติดตามงานของกรมทางหลวง (ทล.) มีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ที่ยังล่าช้า เช่น มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน ก็สั่งให้รีบเคลียร์ให้จบ เพื่องานก่อสร้างจะได้เดินหน้าต่อไป ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ให้คิดเส้นทางคู่ขนานเลียบชายฝั่งทะเลกับถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นเส้นทางในโครงการ “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” หรือถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย เพราะรัฐบาลกำลังโปรโมตการท่องเที่ยวภาคใต้อยู่ จะให้เริ่มต้นภายในปี 2562 นี้ โดยให้ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อนำมาสนับสนุนโครงการนี้ สั่งสร้างไฮสปีดถึงสุราษฎร์ ขณะที่โครงการระบบรางถือว่าเป็นพระเอกของคมนาคม ภาพรวมคืบหน้าตามเป้าหมายทั้งสายเหนือและอีสาน แต่มีให้ศึกษาส่วนที่จะเชื่อมต่อลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. ได้สั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมให้เชื่อมต่อลงไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี ให้รับกับรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม.ที่มีแผนศึกษาจะตัดเข้า จ.ระนอง และต่อไปยังฝั่งทะเลอันดามัน “หากเชื่อมต่อทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันได้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้นอย่างน้อยทั้งทางคู่และความเร็วสูงจะต้องถึง จ.สุราษฎร์ธานี ก่อน จะรับกับนโยบายของรัฐบาลกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ลูปรถไฟตามภาคต่าง ๆ จะต้องมีความคืบหน้า จึงให้เพิ่มเส้นทางรถไฟเข้าไปเสริม ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และการรถไฟฯจะต้องไปหารือร่วมกัน” ยังเร่งรัดกรมการขนส่งทางบกพัฒนาโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า จะเป็นสถานีย่อย (sub terminal) สำหรับขนส่งสินค้า หากทำเองไม่ได้ก็เปิดให้เอกชนในระดับโลกเข้ามาประมูล ยก 4 สนามบินภูธรให้ ทอท. ด้านทางอากาศ เป็นที่สรุปว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จะรับ 4 สนามบินจากกรมท่าอากาศยานไทย (ทย.) ไปดูแลเพิ่ม 4 แห่ง ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานอุดรธานี 2.ท่าอากาศยานสกลนคร 3.ท่าอากาศยานตาก และ 4.ท่าอากาศยานชุมพร ซึ่งภายในปีนี้จะเปิดประมูลให้เสร็จ พร้อมกันนี้ให้มีทางเลือก โดยให้ผู้ประกอบการภายนอกที่นอกเหนือจาก ทอท.เข้ามาดูแลสนามบินที่มีศักยภาพด้วย งานของกรมเจ้าท่าต้องให้มองภารกิจที่กว้างและใหญ่ขึ้น เพราะมีเส้นทางทะเลที่ต้องดูแลค่อนข้างยาว เช่น เพิ่มเรือเส้นทางสัตหีบ-หัวหิน เปิดวิ่งเส้นทางอื่นจากภาคกลางลงไปตามแนวไทยแลนด์ ริเวียร่า และเส้นทางสุราษฎร์ธานี-เกาะสมุย เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนและเพิ่มการท่องเที่ยวทางน้ำให้มากขึ้น “ทั้งหมดนี้จะชักช้าไม่ได้ เหลือแค่ 7-8 เดือนก่อนเลือกตั้ง ผมไม่อยากให้ปล่อยไว้เฉย ๆ ไปตามกระบวนการ อีกทั้งเศรษฐกิจที่เติบโตในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการของคมนาคมที่เชื่อมต่อกันได้หมด จึงไม่อยากให้ชักช้า อยากให้เร่ง และต้องคิดเป็นภาพใหญ่ทั้งประเทศ ถ้าเราสร้างเส้นทางที่เชื่อมต่อกันได้หมดและเกิดประโยชน์กับภูมิภาค เราจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง ทางเหนือและอีสานเชื่อมกับเส้นทาง belt and road ของจีน ทางใต้เชื่อมต่อได้ทั้งสองฝั่งทะเล ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของ CLMV” เปิดไทม์ไลน์ประมูล นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คมนาคมมี 21 โครงการสำคัญจะต้องผลักดัน ซึ่งเดือน ส.ค.-ต.ค.นี้ จะมีโครงการเสนอ ครม.จำนวนมาก ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง 2,217 กม. มูลค่ารวม 3.98 แสนล้านบาท ซึ่งเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พร้อมมากที่สุด จะเสนอ ครม.สิ้นก.ค.นี้ วงเงินกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท อีก 8 เส้นทาง ให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ซึ่งบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้ทำข้อมูลเสร็จแล้ว รอส่งกลับให้คมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอ ครม.ในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ 2.รถไฟฟ้ามีสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้าน จะเปิดประมูลต.ค.นี้ ส่วนสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี 23 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่สายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 13.4 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท จะเสนอ ครม.เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ พร้อมกับสายสีแดงเข้มรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,596 ล้านบาท กับสีแดงอ่อนตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา 19,042 ล้านบาท และยังได้เร่งการก่อสร้างสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ให้เสร็จตามกำหนดในปี 2563 ส่วนระบบอาณัติสัญญาณ กำลังเริ่มเข้าพื้นที่ ขณะที่ขบวนรถทางรองนายกฯสมคิดจะเดินทางไปญี่ปุ่นวันที่ 17-21 ก.ค.นี้ เพื่อติดตามและเร่งรัดการผลิตจากบริษัทฮิตาชิ ส่วนสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. วงเงิน 46,643 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. วงเงิน 45,797 ล้านบาท กรมทางหลวงส่งมอบพื้นที่ให้แล้ว ยังเหลือพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้านโครงการรถไฟรางเบา จ.ภูเก็ต ระยะทาง 60 กม. กว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จะเสนอ ครม.อนุมัติในสิ้นปีนี้และออกทีโออาร์ในปีหน้า 3.โครงการทางน้ำ จะเป็นโครงการใน EEC มีท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเสนอ ครม.และประมูลสิ้นปีนี้ 4.ด้านการบิน มีจัดหาเครื่องบิน 23 ลำ กว่า 1แสนล้านบาทของการบินไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดสภาพัฒน์ จะเสนอครม.สิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน ให้ ทอท.แก้ปัญหาแออัดสนามบินภูเก็ต ถึงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศได้เปิดให้บริการแล้ว แต่ยังพบการใช้ระบบปรับอากาศเก่าและช่องตรวจคนเข้าเมืองแคบ ส่วนสนามบินดอนเมืองจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมและมีทางเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-191273
Person read: 1986
17 July 2018
PTTOR สนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านพลังงานทดแทน ด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 และจำหน่ายให้บริษัทรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ 270,000 ลิตรต่อเดือน ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล 360 ตันต่อปี ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ณ บริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (PTTOR) นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ผู้บริหารบริษัท เอส ซี แคริเออร์ จำกัด ร่วมพิธี ดร.ศิริ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงพลังงานได้หาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ซึ่งมีเป้าหมายในการจำหน่ายที่ 15 ล้านลิตรต่อวัน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น จากเดิม 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 2 ล้านตันต่อปี โดยกำหนดให้ราคาขายปลีกน้ำมัน บี 20 ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปกติ 3 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลต่อการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและค่าโดยสาร รวมถึงค่าครองชีพของประชาชนที่จะลดลงได้อีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาทดลองใช้น้ำมัน บี 20 ในรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่บางยี่ห้อบางรุ่น พบว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ อีกทั้งยังทำให้ระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นางสาวจิราพร กล่าวว่า PTTOR มีความยินดีที่ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดย PTTOR ให้ความสำคัญกับกระบวนการควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต จัดเก็บ และจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ให้ได้มาตรฐานตลอดทั้งกระบวนการ โดยผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากคลังน้ำมันลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีเพียงแห่งเดียว เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และได้เริ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 แล้วตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมจำนวนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันทั้งสิ้นประมาณ 270,000 ลิตรต่อเดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ประมาณ 30 ตันต่อเดือน หรือ 360 ตันต่อปี และมีแผนจะขยายผลโครงการด้วยการเชิญชวนผู้ประกอบการรถขนส่งรายอื่นเข้าร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ไบโอดีเซลให้มากขึ้นต่อไป
Person read: 2208
16 July 2018
ปตท.วางแผนยุทธศาสตร์สร้างบุคลากร 1,500 คนรับธุรกิจใหม่ New S-curve เน้น “โรโบติกส์-AI-ดาต้าอนาไลติกส์” ยอมรับมือโปรหายาก ปรับกลยุทธ์จ้าง “ฟรีแลนซ์” ผลตอบแทนเทียบเท่าพนักงานประจำ ประเดิมดึงหัวกะทิลอตแรก 30 คนร่วมงาน พร้อมเปิดให้พนักงานในองค์กรโยกย้าย น้องใหม่ PTTOR ยังต้องการคนเพิ่มอีก 300 คน ปั้น 1.5 พันคนรับธุรกิจใหม่ นายกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้ทีมผู้บริหาร ปตท.จะมีการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ รวมถึงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการบุคลากรต่อคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ซึ่งภาพรวมจำเป็นต้องสรรหาบุคลากรเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคตของ ปตท. หรือ New S-curve ทั้งหมด 3 ประเภทด้วยกัน คือโรโบติกส์ (Robotics) ครอบคลุมทั้งหุ่นยนต์, ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) รวมถึงในส่วนของการสรรหาบุคลากรเพื่อรองรับการแยกธุรกิจน้ำมันและธุรกิจเสริมออกไปอยู่ภายใต้บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด หรือ PTTOR (PTT Oil and Retail Business Company Limited) “ในส่วนของ PTTOR มีพนักงานสมัครใจโยกย้ายไปอยู่บริษัทใหม่ 1,400 คน จากปัจจุบันที่บริษัท ปตท.มีพนักงานรวม 4,700 คน เท่ากับว่า ปตท.จะเหลือพนักงานประมาณ 3,000 คนเท่านั้น และเพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องจึงต้องสรรหาบุคลากรเข้ามารองรับธุรกิจใหม่ของ ปตท.ในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะมีการโยกย้ายคนในองค์กรที่สนใจและมีความพร้อมไปรองรับการพัฒนาธุรกิจใหม่ ซึ่งตามแผนต้องการบุคลากรประมาณ 1,500 คน โดยเบื้องต้นจะมีการดึงหัวกะทิจากที่ต่าง ๆเข้ามาร่วมงานประมาณ 30 คน” ปรับรูปแบบจ้างงาน “ฟรีแลนซ์” นายกฤษณ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการจัดหาพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญใน 3 ด้านดังกล่าวค่อนข้างหายาก เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้ต่างเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ที่สำคัญส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเป็นพนักงานประจำ ขอเพียงแค่มาหาประสบการณ์ที่หลากหลาย จึงทำให้ ปตท.ต้องปรับวิธีการสรรหาบุคลากร ด้วยการใช้วิธีว่าจ้างในรูปแบบ “ฟรีแลนซ์” ระยะเวลาสั้น ๆ เป็นโปรเจ็กต์ หรือประมาณ 3 ปี ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาเป็นรายกรณีไป เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เข้ามาทำงาน โดยมีอัตราค่าตอบแทนเหมือนกับพนักงานประจำทุกอย่าง (แต่ไม่ได้รับสวัสดิการ) ขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดให้พนักงานภายในที่สนใจในงานประเภทอื่น สามารถขอโยกย้ายได้ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลนั้นเหมาะสมจริง ๆ จึงจะให้โยกย้าย ตรงนี้ถือเป็นนโยบายของ ปตท.อย่างชัดเจนที่กำหนดว่าพนักงาน 1 คนจะต้องมีความรู้และความสามารถมากกว่า 1 ประเภท “ทุกครั้งเมื่อมีการเปิดโยกย้ายตำแหน่งงาน เราจะเลือกคนภายในองค์กรก่อน แต่ถ้าไม่ได้ หรือไม่มีจริง ๆ จึงค่อยเปิดสรรหาจากบุคคลภายนอก เพราะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่เรากำลังจะมุ่งไปข้างหน้ามีจำนวนน้อยมาก ที่สำคัญ บุคลากรเหล่านี้มีทางเลือกในการทำงานยังที่ต่าง ๆ มากด้วย จึงทำให้ค่อนข้างหายาก เหมือนอย่างคนเก่งทางด้านโรโบติกส์และเอไอส่วนใหญ่จะรวมตัวกันอยู่ที่ประเทศอินเดีย แม้เขาจะเข้ามาทำงานกับ ปตท.แต่ก็เข้ามารับจ๊อบช่วงสั้น ๆ เพียง 3-6 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าเขาชอบการทำงานกับเราจริงก็จะจ้างต่อ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันต้องการทำงานและหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างโปรไฟล์ให้กับตัวเอง ว่าเคยผ่านงานอะไรมาบ้าง เช่น ถ้าเขาผ่านงาน ปตท.มา โปรไฟล์ของเขาจะยิ่งน่าสนใจมากขึ้น ตรงนี้เป็นส่วนประกอบของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว” ทีมพิเศษลุยหาโอกาสธุรกิจ นายกฤษณ์ยังกล่าวว่า บุคลากรที่จะเข้ามาร่วมงานกั ปตท.จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ ต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ (Digital Mindset) เพื่อเรียนรู้โลกอนาคตอยู่เสมอ และต้องมีจิตสาธารณะ สิ่งนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากเพราะเวลา ปตท.จะทำธุรกิจอะไรสักอย่างต้องตอบโจทย์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีการทำโปรเจ็กต์-เบส (Project-based) เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม และคิดสิ่งใหม่ให้กับองค์กร ยกตัวอย่างทีม “ExpresSo” (Express Solution) ที่ดูแลธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อการลงทุนในรูปแบบ Capital Venture ทั้งใน และต่างประเทศ คนกลุ่มนี้จะถูกส่งไปเรียนรู้ธุรกิจในต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาปรับใช้ “บุคลากรที่เข้ามาอยู่ใน ปตท.ต้องผ่านการกรองอย่างหนัก เพราะแต่ละปีเราไม่ได้รับพนักงานมากอยู่แล้ว ขณะที่เทิร์นโอเวอร์ก็น้อยมาก ดังนั้นในกระบวนการทำงานจึงพยายามสร้างคนที่มีอยู่เดิมให้ทำอะไรใหม่ ๆ วิธีการคือเราพยายามพัฒนาให้เหมือนปลาถูกน้ำ ซึ่งเหมือนกับเอ็กเพรสโซ่ ที่มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่มีความหลากหลายอาชีพมาอยู่รวมกัน ซึ่งทุกคนสามารถ cross functional กันได้ทุกคน ที่สำคัญทีมนี้จะรายงานตรงต่อผู้บริหาร เพราะพวกเขาถือเป็น young talent ที่สำคัญขององค์กร เพราะอนาคตเขาจะต้องไปดูบิสซิเนสยูนิตใหม่ ๆ ที่พวกเขาคิดค้นขึ้นมา” โยกคนมา PTTOR ไร้ปัญหา ในส่วนของการจัดตั้งบริษัทใหม่ PTTOR ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาเริ่มการซื้อขายน้ำมันอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีการวางเป้าหมายว่าจะต้องมีพนักงานรวม 1,700 คน แต่มีพนักงานในธุรกิจน้ำมันเดิมของ ปตท.สมัครใจที่จะทำงานกับ PTTOR ประมาณ 1,400 คน ฉะนั้นในส่วนที่ขาดอีก 300 กว่าคน PTTOR จะต้องสรรหาเองเพิ่มเติม นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า แม้จะแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันออกมาแล้ว แต่ในแง่ของธุรกิจยังคงมีการเชื่อมโยงกับบริษัทแม่อยู่ อย่างเช่น ระบบบัญชี งานกฎหมายและงานสื่อสารองค์กรในบางเรื่อง เพราะ PTTOR จะต้องออกไปแข่งขันกับเอกชนรายอื่น ๆ ก็จะต้องปรับลดต้นทุนการผลิต ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักก็ควรใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยทำให้ “การมูฟคนจาก ปตท.ไปอยู่ PTTOR ครั้งนี้มีประมาณ 70% ของกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ถือว่าพนักงานพร้อมใจกันไปอยู่บริษัทใหม่ โดยไม่มีการบีบบังคับ เพราะเขามองเห็นอนาคตที่จะทำงานในอีกมิติหนึ่ง เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว เพราะต้องออกไปแข่งในตลาดที่มีการซื้อขายแบบเสรี” คน ปตท.เกษียณ 100 คน/ปี สำหรับบุคลากรที่จะต้องเกษียณอายุงาน นายกฤษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คน ปตท.จะเกษียณทุกปีเฉลี่ย 100 คน เฉพาะปี” 61นี้จะมีเกษียณประมาณ 97 คน และมีทุกระดับชั้นตั้งแต่ซีเนียร์ เอ็กเซ็กคิวทีฟไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่ง ปตท.จะรับพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนในอัตรา 1:1 เช่นกัน และในส่วนที่ต้องเพิ่มเติมตามธุรกิจใหม่จะอยู่ที่เฉลี่ยปีละ 150 คน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ ปตท.ภายใต้การบริหารของนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีนโยบายชัดเจนที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานกับ ปตท.เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจทั้งที่เป็นธุรกิจพลังงานและไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการศึกษาอย่างจริงจังและต้องการพัฒนาให้เป็นธุรกิจต่อไปใน 3 ประเภทคือ โรโบติกส์, เอไอ และดาต้าอนาไลติกส์ ที่มา : prachachat.net
Person read: 2068
13 July 2018
“วิศวกรปิโตรเลียม-นักธรณีวิทยา” ขาดแคลน หลังเปิดประมูลปิโตรเลียมชะงักกว่า 10 ปี ราคาน้ำมันดิ่งยาว เร่ง ก.พลังงานเปิดประมูลรอบใหม่ต่อจากแหล่งบงกช-เอราวัณ ชี้นิสิตจบใหม่ ไม่เชื่อมั่นนโยบายรัฐ แห่ทำงานต่างประเทศ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีแนวโน้มว่าบุคลากรด้านวิศวกรปิโตรเลียม และนักธรณีวิทยา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมี และธรณีวิทยาจะขาดแคลน หรือหาได้ยากขึ้น เพราะแม้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเปิดประมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ และ G2/61 หรือแหล่งบงกช ซึ่งจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลภายในเดือน ธ.ค. 2561 และมีแผนจะเปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งอื่น ๆ รอบใหม่ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการเปิดประมูลปิโตรเลียมล่าช้ามาก หลังชะงักมาตั้งแต่ปี 2550 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรด้านวิศวกรปิโตรเคมี และธรณีวิทยาในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมบางส่วนหันไปทำงานในต่างประเทศ หรือทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นแทน ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำลงต่อเนื่อง จากเดิมที่ราคาอยู่ในระดับมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล พบว่า ในปัจจุบันภาวะราคาอยู่ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมขาดทุนอย่างหนัก กระทบคนทำงานในธุรกิจสำรวจและผลิตที่ต่างเคลื่อนย้ายการทำงานไปสู่ธุรกิจอื่นแทนทั้งในและต่างประเทศ ประมูลรอบใหม่ส่อขาดวิศวกร นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงแรงงานส่วนสนับสนุนบนแท่นผลิต (platform) และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายด้าน อย่างผู้รับขุดเจาะหลุมผลิตซึ่งต้องขนย้ายเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังพื้นที่อื่น ที่มีความต้องการใช้ เช่น ประเทศเมียนมา เวียดนาม กรมเชื้อเพลิงฯจึงมองว่ากระทรวงพลังงานต้องแสดงความชัดเจนว่าจะมีการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่หรือไม่ และเมื่อใด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักลงทุน รวมถึงวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญ และคนทำงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดด้วย มิฉะนั้นอุตสาหกรรมปิโตรเลียมจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรมากขึ้นอีก “เมื่อพ้นช่วงหลังจากประมูลเพื่อต่ออายุแหล่งบงกช และเอราวัณแล้วเสร็จในช่วงต้นปี”62 หากไม่เปิดประมูลรอบใหม่ คนทำงานในธุรกิจสำรวจจะหันไปสู่ธุรกิจอื่นมากขึ้น ในเมื่อคนไหลออกแล้วไม่มีมาเติม ปัญหาขาดแคลนจะเกิดขึ้นแน่” บริษัทต่างชาติให้เงินดีกว่า แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเปิดเผยว่า อีกเหตุผลที่ทำให้ในประเทศไทยขาดแคลนวิศวกรปิโตรเลียม และนักธรณีวิทยา เป็นเพราะบุคลากรที่สำเร็จการศึกษา 2 สาขาวิชาชีพนี้บางส่วนเลือกทำงานในบริษัทต่างชาติ ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับดีกว่า อย่างตำแหน่งวิศวกรปิโตรเลียมไม่มีประสบการณ์จะได้รับค่าตอบแทน 28,000-30,000 บาท/เดือน กรณีเป็นลูกจ้างบริษัทที่เป็น service contractor เช่น บจ.ชลัมเบอร์เจอร์ หรือฮัลลิเบอร์ตัน อัตราค่าจ้าง 30,000-35,000 บาท/เดือน เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่รับพนักงานทั้งไทยและต่างชาติ อย่าง บจ.เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต มีพนักงานประจำ รวมกับผู้รับเหมา (contractor) เป็นคนไทย 93.68%, ต่างชาติ 6.32% เช่นเดียวกับ บจ.ชลัมเบอร์เจอร์ บจ.ฮัลลิเบอร์ตัน เป็นต้น ขณะที่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (TTEP) มีพนักงานคนไทย 98.53% ต่างชาติ 1.47% มหา”ลัยเปิดหลักสูตรน้อย ในส่วนของการผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แม้ปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาเกี่ยวกับวิศวกรรมปิโตรเลียม และธรณีวิทยา จะมีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ แต่หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนมีค่อนข้างจำกัด โดยระดับอาชีวศึกษาที่เปิดสอนมี วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เปิดสอนระดับ ปวส. สาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม และสาขาเทคโนโลยีหลุมเจาะปิโตรเลียม ระดับปริญญาตรี มีสาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมและเทคโนโลยีธรณี ม.เทคโนโลยีสุรนารี ส่วนด้านธรณีวิทยา ได้แก่ สาขาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาเทคโนโลยีธรณี ม.ขอนแก่น, สาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์, สาขาวิศวกรรมธรณี ม.เทคโนโลยีสุรนารี และสาขาธรณีศาสตร์ ม.มหิดล เด็กจบใหม่แห่ทำงาน ตปท. ด้าน รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นิสิตหลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเลียม บางส่วนจะได้ทุนจากบริษัทเอกชน อาทิ บจ.เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. โดยให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนกับนิสิตทุกคน พร้อมทั้งรับเข้าทำงานหลังเรียนจบ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บวกกับราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่งลง ภาคเอกชนได้ลดการสนับสนุนโดยให้ทุนการศึกษาลดลงด้วย “หลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรท็อปของคณะ โอกาสในการทำงานไม่ได้มีแค่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ เด็กจึงเลือกไปหางานทำต่างประเทศมากกว่า เพราะเงินเดือน สวัสดิการดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้นิสิตที่เรียนจบหลักสูตรนี้กว่า 50% เลือกไปทำงานต่างประเทศ” รศ.ดร.สุพจน์กล่าว ที่มา : prachachat.net
Person read: 2283
10 July 2018
ศูนย์ประชุมรายใหญ่แห่ชิงลูกค้างานอีเวนต์ รับศูนย์สิริกิติ์ปิดรื้อใหญ่ 3 ปี ตั้งแต่ เม.ย. 62 “อิมแพ็คฯ” ประเดิมคว้า 2 งานใหญ่ ยอมหั่นค่าเช่า 50% ดึงงาน “สัปดาห์หนังสือ” หวังเช่ายาว 3 ปีปั้นแลนด์มาร์กงานหนังสือ “ไบเทค”มาแรงดูด “บิ๊กอีเวนต์” 3 ยักษ์ชิงดำ “มหกรรมบ้าน-คอนโด” คลังเตรียมต่อสัมปทานศูนย์สิริกิติ์กับเจ้าสัวเจริญอีก 50 ปี ส.ค.นี้คลังต่อสัญญา NCC 50 ปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ได้อนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการต่ออายุสัญญาเช่า 50 ปี จากเดิม 25 ปี และปรับปรุงการก่อสร้าง โดยดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถ รวมไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท แทนการก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว รวม 400 ห้อง ตามสัญญาเดิม เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย ล่าสุดนางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดี กรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมธนารักษ์กับทางบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ได้เจรจาเงื่อนไขในสัญญากับทางบริษัทจนได้ข้อสรุปแล้ว และได้ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจแล้ว คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ในเดือน ส.ค.นี้ หรืออย่างช้า ก.ย. 2561 ปิด 3 ปีปรับปรุงครั้งใหญ่ แหล่งข่าวในธุรกิจการจัดแสดงสินค้า เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้จะยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็ค่อนข้างจะแน่นอนแล้วว่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะปิดปรับปรุงครั้งใหญ่อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยงานใหญ่งานสุดท้ายที่จัดทิ้งทวนคือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 จากแผนการปิดปรับปรุงของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่คาดว่าจะใช้เวลาถึง 3 ปี ส่งผลให้ผู้จัดงานและสินค้าต่าง ๆ อิมแพ็คฯคว้า 2 งานใหญ่ แหล่งข่าวจากบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีผู้จัดงานกว่า 10 รายที่เคยจัดงานที่ศูนย์สิริกิติ์เข้ามาเจรจาเช่าพื้นที่ของอิมแพ็คฯ โดยมีทั้งที่สรุปผลแล้วและส่วนที่อยู่ระหว่างการเจรจา นางสาวจินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้จัดงาน 2 รายใหญ่ ที่ยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วคือ งานมหกรรมแสดงสินค้าบริการเพื่อแม่และเด็ก ครั้งที่ 31 ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 5-8 ก.ค. และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งบริษัทได้เซ็นสัญญากับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯแล้วเป็นเวลา 3 ปี โดยจะเริ่มครั้งแรกช่วงเดือน ต.ค. 2562 โดยคณะผู้จัดงานแจ้งเบื้องต้นยังคงกำหนดช่วงเวลาจัดงานตามเดิม ซึ่งเคยจัดศูนย์สิริกิติ์ 2 ครั้งต่อปี ซึ่งหากรวมกับงานมหกรรมหนังสือนานาชาติ Big Bad Wolf ซึ่งเป็นงานประจำที่อิมแพ็คฯปีละ 2 ครั้ง จะทำให้อิมแพ็คฯเป็นแลนด์มาร์กของการจัดงานหนังสือของประเทศไทย “ภาพรวมอิมแพ็คฯมีอัตราการใช้พื้นที่จัดงานแสดงสินค้า 60% ของพื้นที่ทั้งหมด 140,000 ตร.ม. และพื้นที่จัดงานประชุม งานเลี้ยง คอนเสิร์ต และกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ อยู่ที่ 30-40% โดยอัตราการใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มงานประชุมระดับนานาชาติ และงานคอนเสิร์ต ส่งผลให้อัตราการใช้พื้นที่รวมของปีงบประมาณ 2560/2561 เท่ากับ 53% สูงกว่าปีก่อนที่อัตราใช้พื้นที่ประมาณ 50% ยังสามารถรองรับงานเพิ่มเติมได้อีกจำนวนหนึ่ง” ลด 50% ให้สัปดาห์หนังสือ แหล่งข่าวจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาสถานที่จัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ในช่วงปลาย มี.ค. ถึงต้น เม.ย. 2562 และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ในช่วง ต.ค. 2562 ทั้งกับศูนย์ประชุมไบเทค บางนา และอิมแพ็ค เมืองทองฯ ซึ่งในที่สุดก็ได้เลือกใช้พื้นที่ของศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองฯ เนื่องจากมีข้อเสนอลดราคาค่าเช่าพื้นที่ 50% ในการจัดงานครั้งแรก จาก 6 ครั้ง ในช่วง 3 ปี ที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ปิดรีโนเวต “หลังจากนั้นจะขยับขึ้นราคาครั้งละ 25% อย่างไรก็ตามสมาคมรับหลักการเพียง 1 ครั้ง คืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ช่วงต้นปี จากนั้นจะมีการเจรจาเป็นครั้ง ๆ ไป เพราะมีแนวโน้มว่าบรรดาผู้พิมพ์หนังสือรายเล็กจะไปร่วมงานน้อยราย เนื่องจากไม่คุ้มค่าใช้จ่าย และคาดว่าจะมีนักอ่านไปร่วมงานน้อย ขายหนังสือไม่ได้ตามเป้า” บันเทิง-ไลฟ์สไตล์ยึดพารากอน นายทาลูน เทง กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้จัดงานแสดงสินค้า 10-15 ราย ที่ใช้พื้นที่ศูนย์สิริกิติ์ได้ติดต่อพูดคุยกับรอยัล พารากอน ฮอลล์ แล้ว ส่วนใหญ่เป็นงานด้านไลฟ์สไตล์ และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ รวมถึงงานเทรดที่เจาะผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งผู้จัดงานพิจารณาจากขนาดพื้นที่ใช้งานและโลเกชั่นซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า BTS จากปกติมีปริมาณ 80-90 งานต่อปี “ไบเทค” ช็อปยันทีมงาน แหล่งข่าวจากธุรกิจออร์แกไนเซอร์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของศูนย์ประชุมไบเทค บางนา นอกจากจะมีลูกค้าทั้งที่เป็นบริษัทออร์แกไนเซอร์ และบริษัทขนาดใหญ่วิ่งเลือกใช้บริการแล้ว ขณะเดียวกันทางไบเทคก็ได้มีการดึงตัวพนักงานฝ่ายขายบางส่วนของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เข้ามาร่วมงาน เพื่อตามไปดูแลลูกค้าด้วย ก่อนหน้านี้ นางสาวปนิษฐา บุรี กรรมการผู้จัดการศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา (BITEC) กล่าวว่า มีลูกค้าบางส่วนที่เคยจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เข้ามาเจรจาเช่าพื้นที่ศูนย์ประชุมไบเทคหลายราย ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการสรุปแผนและวางแผนเรื่องช่วงเวลาจัดงานเนื่องจากไบเทคมีลูกค้าประจำอยู่แล้วจำนวนมาก “ห้องจัดงานของไบเทคมีขนาด 4,000 ตารางเมตรต่อห้อง หากรายไหนเคยจัดอยู่ที่สเกล 5.000-6,000 ตารางเมตร ก็คงคิดหนัก เพราะต้องใช้ 2 ห้อง ซึ่งต้นทุนค่าพื้นที่ก็จะเพิ่มขึ้น” นางสาวปนิษฐากล่าวที่ผ่านมาก็มีทางสหพัฒน์ที่ได้ย้ายไปจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์เมื่อช่วงกลางปี ชิงเค้กงานมหกรรมบ้านฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการสามย่านมิตรทาวน์ ทำเลหัวมุมสามย่านตรงข้ามจตุรัสจามจุรี ของบริษัท โกลเด้นแลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีการเร่งก่อสร้างให้เสร็จเร็วขึ้น 4 เดือน คาดว่าสามารถเปิดบริการภายใน ต.ค. 2562 โดยมีพื้นที่จัดประชุมและนิทรรศการ ห้อง Multi-purpose Hall 1,800 ตารางเมตร มีโอกาสรองรับการประชุมไซซ์เล็กและต้องการสถานที่ในเมือง ขณะที่นายวรัทภพ แพทยานันท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุด สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มีงานใหญ่ คือมหกรรมบ้านและคอนโดฯ กำหนดจัดปีละ 2 ครั้งในช่วง มี.ค.กับส.ค. โดยมีกำหนดจัดที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ได้จนถึง มี.ค. 2562 จากนั้นต้องย้ายสถานที่จัดงาน ส่วนงานมหกรรมบ้านและคอนโดช่วงเดือน ส.ค. 2562 อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล ตัวเลือกตอนนี้มี 3 แห่ง คือ ไบเทค บางนา, สยามพารากอน และอิมแพ็ค แจ้งวัฒนะ โดยมีเงื่อนไขต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 8,000-10,000 ตารางเมตร สำหรับจัดบูทอย่างต่ำ 500 บูท และต้องเดินทางสะดวกรองรับผู้เยี่ยมชมงาน 100,000 คนภายในช่วงจัดงาน 4 วัน “เรื่องการย้ายสถานที่จัดมหกรรมบ้านฯ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องหารือในที่ประชุมคณะกรรมการจัดงาน ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ก่อนหน้านี้มีการติดต่อมาที่สมาคม 2 ราย คือไบเทคกับพารากอน ล่าสุดมีอิมแพ็คฯเพิ่มขึ้นมา ในขณะที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ เซนทาราเวิลด์ก็มีความน่าสนใจ” นายวรัทภพกล่าว “เดอะ แบงเควทฯ” ลูกค้าทะลัก นางสุภาพร ธรรมนุญกุล กรรมการผู้จัดการ เดอะ แบงเควท ฮอลล์ แอท นาทอง กล่าวว่า หลังจากที่ได้เปิดตัวเป็นทางการเมื่อปลายปี 2560 ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด จากที่วางเป้าว่าจะเน้นรองรับงานแต่งงานเป็นหลัก แต่พบว่ามีงานประเภทเปิดตัวสินค้า ประชุมสัมมนา เข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก “ช่วงนี้ซึ่งเป็นโลว์ซีซั่นของธุรกิจ อัตราการจองใช้พื้นที่เข้ามาแล้วประมาณ 60% แต่ยอดจองช่วง พ.ย.ซึ่งเป็นไฮซีซั่น ขณะนี้เข้ามาแล้วกว่า 90% และเดือน ธ.ค.ประมาณ 70% แสดงว่าในตลาดยังมีความต้องการใช้พื้นที่สำหรับจัดงานอีเวนต์จำนวนมาก” นางสุภาพรกล่าว และว่า จากผลตอบรับที่ดีทำให้ขณะนี้ทางศูนย์ฯ มีแผนขยายเฟส 2 เพิ่มเติมอีกในปีหน้า ที่มา : prachachat.net
Person read: 2177
10 July 2018
นับจากรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศ พร้อมประกาศจะผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ประเดิมเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นสายแรก ระยะทาง 253 กม. ด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศจีน ร่วมกันแจ้งเกิดรถไฟหัวจรวดสายนี้ให้เป็นจริง โดยรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมดด้วยเม็ดเงิน 179,412 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจีนจะช่วยออกแบบรายละเอียดและจัดหาระบบรถไฟความเร็วสูงให้ หลัง “ไทย-จีน” ประชุมร่วมกันมาแรมปี ถึงขณะนี้ไฮสปีดเทรนสายแรกของประเทศไทย กำลังเดินหน้าด้วยความละเมียดละไม จากไทม์ไลน์การก่อสร้างของโครงการ ที่แบ่งออกเป็น 14 ตอน หลังคิกออฟช่วงแรกจากสถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. โดยกระทรวงคมนาคมให้ “กรมทางหลวง” รับหน้าที่เนรมิตถมคันดินด้วยวงเงิน 425 ล้านบาท เปิดไซต์เมื่อเดือน มี.ค. 2561 ปัจจุบันผลงานคืบหน้ากว่า 7% มีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนอีก 13 สัญญาที่เหลือ มีข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่างานช่วงแรกการก่อสร้างเป็นที่น่าพอใจและมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยมีวิศวกรชาวจีนเป็นที่ปรึกษาควบคุมงาน ส่วนตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. กำลังตรวจสอบแบบรายละเอียดที่ฝ่ายจีนจัดส่งและมีปรับแก้ไข ทางจีนจะส่งให้ภายในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ คาดว่าจะประกวดราคาในเดือน ส.ค. และเริ่มการก่อสร้างในเดือน พ.ย.นี้ อีก 12 ตอน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 ตอน ฝ่ายจีนจะส่งแบบรายละเอียดทั้ง 2 กลุ่ม ให้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งไทยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบแบบรายละเอียดและเสนอความเห็นให้จีน หากต้องมีการปรับแก้ไข เช่น การออกแบบอาคารสถานีที่ไทยต้องการให้มีเอกลักษณ์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคากลุ่มแรก จำนวน 5 ตอน ได้ประมาณเดือน ก.ย.นี้ เริ่มก่อสร้างประมาณเดือน มี.ค. 2562 ประกอบด้วย สัญญาที่ 3 ช่วงแก่งคอย-บันไดม้า ระยะทาง 32 กม. สัญญา 4 ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 11.7 กม. สัญญา 5 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 24.8 กม. สัญญา 6 ช่วงลำตะคอง-โคกกรวด ระยะทาง 37.6 กม. สัญญา 7 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 13.7 กม. จากนั้นประมาณเดือน พ.ย.นี้จะเริ่มดำเนินการประกวดราคากลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ตอน เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างประมาณเดือน เม.ย. 2562 ประกอบด้วย สัญญา 8 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 11 กม. สัญญา 9 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 22.6 กม. สัญญา 10 ช่วงนวนคร-บ้านโพธิ์ ระยะทาง 23 กม. สัญญา 11 เชียงรากน้อย (เดโป้) สัญญา 12 ช่วงบ้านโพธิ์-พระแก้ว ระยะทาง 14.4 กม. สัญญา 13 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 30.5 กม. สัญญา 14 ช่วง สระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 13 กม. “การประมูลสัญญาที่เหลือ การรถไฟฯจะดำเนินการปกติและเป็นการทั่วไป ตามขั้นตอน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง 2560 จะกำหนดเป็นทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลต่อไป” นายอาคมกล่าวและว่า ขณะเดียวกันยังมีการเจรจาหารือสัญญา 2.3 เป็นงานระบบรถไฟความเร็วสูงและการฝึกอบรม วงเงินลงทุนกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งเจรจาร่วมกันให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้จัดหาแหล่งเงินกู้ต่อไป ซึ่งรวมถึงเงินกู้จากประเทศจีนด้วย นายอาคมยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯยังมีการติดตามความก้าวหน้า แผนการก่อสร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 350 กม. ที่จะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ที่เวียงจันทน์ ที่กำลังก่อสร้างด้วยระยะทาง 420 กม.ในอนาคต “หลักการฝ่ายไทยจะออกแบบรายละเอียดเอง โดยจีนเป็นที่ปรึกษา เพราะใช้เทคโนโลยีจีนและมีส่วนเชื่อมต่อกับลาวไปยังจีน และให้จีนประเมินกรอบวงเงินเบื้องต้น ตั้งเป้าจะศึกษาออกแบบให้เสร็จอย่างเร็วในปี 2561 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 โดยจีนต้องการเร่งเฟส 2 ให้ทันกับเฟสแรก ในปี 2566 เพื่อเปิดเดินรถพร้อมกันตลอดสายจากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง” ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย สปป.ลาวและจีน เพื่อกำหนดตำแหน่งสะพาน ตำแหน่งที่ตั้งสถานีฝั่งลาว เนื่องจากจะต้องสร้างสะพานแห่งใหม่มารองรับกับแนวเส้นทางโครงการ เนื่องจากติดปัญหาการจราจรคอขวดบนสะพานที่ใช้ร่วมกับรถยนต์ โดยตำแหน่งที่จะสร้างจะตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ปัจจุบันห่างออกไปประมาณ 30 เมตร จะสร้างคู่ขนานไปกับสะพานเดิม และจะสามารถรองรับได้ทั้งรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร สำหรับระบบรถไฟความเร็วสูงและรางขนาด 1 เมตร สำหรับรถไฟทางคู่ ส่วนสะพานมิตรภาพเดิมจะยกเลิกทางรถไฟในปัจจุบัน และให้สะพานรองรับรถยนต์เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ในผลการศึกษาของ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ก่อนหน้านี้ ในเบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนจากนครราชสีมา-หนองคาย ประมาณ 170,725 ล้านบาท เป็นความก้าวหน้าล่าสุดของไฮสปีดไทย-จีน ที่ใช้ระบบรถไฟหัวจรวดจากแดนมังกร ว่ากันว่า…กลุ่มบริษัทจีน 7 ราย ที่ลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเวียงจันทน์-คุนหมิงเมืองเอกในมณฑลยูนนาน ประตูการค้าทางฝั่งตะวันตกของประเทศจีน กำลังรุกคืบมายังกระดานประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อต่อยอดกับเส้นทางที่กำลังสร้างอยู่ฝั่งลาวให้เชื่อมโยงประตูการค้าให้ไปด้วยกัน หากเข้าป้ายเท่ากับ “จีน” ดันเส้นทางสายไหมโดยรวบรถไฟความเร็วสูงไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางรางของไทยสู่การค้ากับ 64 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน ได้อย่างราบรื่นด้วยรถไฟความเร็วสูง ที่มา : prachachat.net
Person read: 2307
27 June 2018
รัฐบาลฟาสต์แทร็ก 6 เมกะโปรเจ็กต์ EEC มูลค่ากว่า 6 แสนล้าน ดึงต่างชาติร่วมลงทุน 75% ใช้โมเดลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินเป็นต้นแบบ เพิ่มการแข่งขัน เฟ้นหาของดี ดีเดย์ ส.ค.ประกาศทีโออาร์พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 พื้นที่ 1.6 พันไร่ มูลค่า 1.5 แสนล้าน คาดเซ็นสัญญาครบทุกโครงการก่อนเลือกตั้งปีหน้า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายในปีนี้รัฐบาลจะเร่งเปิดประมูลและเซ็นสัญญาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการสำคัญในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 6 โครงการ เงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาทให้เสร็จ เพื่อให้เริ่มเดินหน้าพัฒนาได้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป โดยการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP fast track เปิดให้เอกชนไทยและต่างชาติเข้าร่วมลงทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศมีเป้าหมายจะให้เข้าร่วมลงทุนให้มากที่สุด เนื่องจากเป็นโครงการที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการดำเนินการมาก่อน ซึ่งจะใช้ทีโออาร์ประมูลของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท ที่กำลังประกาศเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกให้ซื้อเอกสารประมูลวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เป็นโมเดลต้นแบบการเปิดประมูลโครงการที่เหลืออีก 5 โครงการ เช่น การให้ต่างชาติเข้าร่วมลงทุนได้ 75% เป็นต้น สำหรับ 5 โครงการที่เหลือ ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3, พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และดิจิทัลพาร์ก (EECd) “ทุกโครงการรัฐบาลขับเคลื่อนมากว่า 2 ปี ในปีนี้จะต้องเป็นปีแห่งการลงหลักปักฐานของโครงการต่าง ๆ ใน EEC จะประมูลให้ เสร็จอย่างช้าต้นปีหน้า และเซ็นสัญญาให้ได้ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า EEC จะเกิดขึ้นจริง และเพื่อไม่ให้โครงการ EEC ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีก” นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ล่าสุดกำลังทดสอบความสนใจ (market sounding) ภาคเอกชนลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เนื้อที่ 1,600 ไร่ มูลค่าลงทุน 1.5 แสนล้านบาทเป็นครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ซึ่งหลังจากนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะนำไปจัดทำรายละเอียดให้สอดรับกับความต้องการต่อไป ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นท่าเรือของประเทศในแถบอินโดจีนทั้งหมด เพราะจะต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึงทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ในอนาคต ทั้งนี้ให้แนวคิด กทท.ในการจัดทำร่างทีโออาร์ไปว่า นอกจากการก่อสร้างท่าเรือแล้ว ต้องคำนึงถึงพื้นที่โรงงานภายในบริเวณท่าเรือและโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งหมดไปสู่พื้นที่ภายนอกด้วย รัฐบาลจึงมีการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์, ถนนเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย และรถไฟทางคู่ที่สามารถขนส่งสินค้ามาที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ และต้องมีระบบอัตโนมัติสำหรับเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือขนส่งสินค้ามาสู่ท่าเรือ และส่งต่อไปยังรถไฟได้อย่างรวดเร็ว “ภายในเดือน ส.ค.นี้ทีโออาร์จะแล้วเสร็จ จากนั้นประมาณเดือน ธ.ค.กระบวนการประมูลจะต้องเสร็จ จะเปิดประมูลแบบนานาชาติ เพื่อเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย เพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด ส่วนจะให้ร่วมทุนได้สูงสุดถึง 75% แบบเดียวกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่นั้น ขอตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนว่า ติดขัดจุดใดหรือไม่ แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีการล็อกสเป็กผู้ชนะแต่อย่างใด ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.พ. 2562 ใช้เวลา 5 ปี จะสร้างเสร็จในปี 2568” มีประมาณการไว้ใน 5 ปีข้างหน้า หากอัตราการส่งออกของประเทศไทยโตขึ้นอย่างน้อย 5% ขีดความสามารถที่มีอยู่ปัจจุบัน 11.1 ล้านคอนเทนเนอร์/ปีจะเต็มพอดี ยังไม่รวมความต้องการของต่างประเทศ จึงทำให้ยิ่งต้องเร่งสร้างท่าเรือเฟส 3 ตั้งแต่วันนี้เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต และลดต้นทุนของเอกชนด้วยในทางหนึ่ง โดยขีดความสามารถจะเพิ่มขึ้น 40% เป็น 18.1 ล้านคอนเทนเนอร์/ปี การส่งออกรถยนต์จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านคัน ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างปรับแก้การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คาดว่าในเดือน ส.ค.นี้ น่าจะได้รับอนุมัติ จะเดินหน้าคู่ขนานไปกับการเปิดประมูลโครงการ ขณะที่ผลตอบรับจากการทดสอบความสนใจครั้งนี้ มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจถึง 90% ในส่วนงานก่อสร้างท่าเรือตู้สินค้าทั้ง 4 ท่า คือ E1, E2, F1 และ F2 ทั้งนี้จะแบ่งพื้นที่พัฒนาใหม่เป็นฝั่ง E มีความยาวรวม 1,500 เมตร รองรับตู้สินค้าได้ 3 ล้านตู้/ปี และฝั่ง F มีความยาว 2,000 เมตร รองรับตู้สินค้าได้ 4 ล้านตู้/ปี เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาดในอนาคต ที่มา : prachachat.net
Person read: 2454
27 June 2018
ท่ามกลางข่าวคราวการปิดสาขาของบรรดาค้าปลีกหลายรายในสหรัฐ และที่อื่น ๆ ทั่วโลก ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาไม่นานมานี้ ทางการของรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เพิ่งอนุมัติการก่อสร้างมอลล์ขนาดใหญ่ บนพื้นที่ 6.2 ล้านตารางฟุต ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐเลยก็ว่าได้ สำนักข่าววอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า ห้างดังกล่าวมีชื่อว่า “อเมริกัน ดรีม ไมอามี” ซึ่งอาจเป็นศูนย์ที่ใช้งบฯการก่อสร้างแพงที่สุดเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของ “ทริเปิล ไฟฟ์ เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป” บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ออกมาระบุว่ามูลค่าของโครงการนี้จะอยู่ที่ราว ๆ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ที่นี่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ รองรับทั้งรีเทลและเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เช่น โรงแรมขนาด 2,000 ห้อง ลานสกีในร่ม กิจกรรมปีนหน้าผาน้ำแข็ง ไปจนถึงสวนน้ำขนาดใหญ่ และร้านรวงต่าง ๆ อีกประมาณ 1,200 ร้านค้า “ทริเปิล ไฟฟ์” ตระหนักดีว่า พวกเขาไม่สามารถเติมเต็มศูนย์การค้าด้วยสินค้าแค่เสื้อผ้า ร้านอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่ผู้คนสามารถซื้อในช่องทางออนไลน์ได้อีกต่อไป แต่การชูแม็กเนตเหล่านี้ขึ้นมา จะทำให้ผู้บริโภคออกมาใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หาซื้อไม่ได้ในออนไลน์แทน “Miguel Diaz de la Portilla” ผู้บริหาร ทริเปิล ไฟฟ์ ระบุว่า พื้นที่คร่าว ๆ ในศูนย์ จะถูกแบ่งออกเป็นรีเทลประมาณ 3.5 ล้านตารางฟุต และเอ็นเตอร์เทนเมนต์อีก 1.5 ล้านตารางฟุต ซึ่งจะทำให้หน้าตาของศูนย์นี้ดูเหมือนสวนสนุกที่ทันสมัยมากกว่าศูนย์การค้าแบบเก่า แม้ว่าจะยังไม่ประกาศว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่มีการประเมินเอาไว้ว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการที่นี่ปีละกว่า 30 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แค่การเพิ่มแม็กเนตที่ดูทันสมัยและหวือหวา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้หน่วยงานท้องถิ่น รวมถึงบรรดาแหล่งเงินทุนจะมองว่าการสร้างห้างใหม่เป็นสิ่งที่จำเป็นนัก เพราะบางโปรเจ็กต์ที่แพลนเอาไว้ใหญ่โตอย่างอเมริกัน ดรีม มีโดว์แลนด์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวมาแล้ว หลังจากเริ่มก่อสร้างในปี 2003 และยังไม่เสร็จจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนความกังวลของคนในท้องถิ่น ด้านปัญหาการจราจร และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และคู่แข่งที่อยู่ในสนามค้าปลีกด้วยกันทั้งนี้ทริเปิล ไฟฟ์ เป็นบริษัทเอกชนของตระกูล “Ghermezian” เจ้าของค้าปลีกและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ขนาดใหญ่ในอเมริกาเหนือ อย่างเวสต์ เอดมอตัน มอลล์ และมอลล์ ออฟ อเมริกา ในบลูมิงตัน ในยุคที่กระแสอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลเข้ามาดิสรัปต์ทุกอุตสาหกรรม การตัดสินใจเช่นนี้ย่อมท้าทายไม่น้อย… ที่มา : prachachat.net
Person read: 2165
27 June 2018
EA ยิ้มรับเครดิตเรตติ้ง A-กระแสเงินสดแข็งแกร่ง เร่งเดินหน้าลงทุนรง.ผลิตแบตฯ สถานีชาร์จไฟฟ้า เตรียมรับอีวี ลั่นรายได้-กำไร ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องหลัง COD หนุมาน 260 MW ปลายปี EA สร้างผลประกอบการประทับใจ กระแสเงินสดแข็งแกร่ง TRIS ปรับเพิ่มเครดิตเรตติ้งทันควันเป็น “A-” พร้อมลุยเต็มที่ เร่งเดินหน้าลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เฟสแรก 1 GWh และสถานีชาร์จไฟฟ้าตามแผน เตรียมรองรับรถยนต์ไฟฟ้า มั่นใจแผนบริหารการเงินพร้อม ไม่ต้องกวนใจผู้ถือหุ้น ด้านโรงไฟฟ้าโครงการหนุมาน ขนาดกำลังการผลิต 260 MW เริ่มติดใบพัดปั่นไฟตามแผน คาด COD ไตรมาส 4/61 ไม่มีสะดุด ส่งผลปี 62 กวาดรายได้จากการขายไฟเต็มกำลัง 664 MW หนุนรายได้-กำไร ปี 61-62 ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้า (2561-2562) คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม “โครงการหาดกังหัน” ได้เริ่ม COD ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ปี 2560 และจะต่อเนื่องด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานลม “โครงการหนุมาน” จ.ชัยภูมิ ขนาดกำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะ COD ในช่วงไตรมาส 4/61 ทำให้ทริสเรตติ้งวิเคราะห์เราแล้ว เชื่อมั่นในความมั่นคงในการดำเนินงาน กระแสเงินสด และแผนการดำเนินงานของบริษัท จนปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อให้เป็น “A-” เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลจากการที่บริษัทได้รับการปรับเพิ่มเรตติ้งเป็น A- นั้น ส่งผลดีต่อแผนการจัดหาเงินทุนและต้นทุนเงินทุนที่จะนำมาใช้ลงทุนในโครงการต่างๆ ที่บริษัทเตรียมการไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่สำคัญที่สุดคือ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ เฟสที่ 1 ขนาดกำลังการผลิต 1 GWh มูลค่าการลงทุน 4 พันล้านบาท ที่จะมุ่งเน้นการนำแบตเตอรี่ที่ผลิตไปใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ที่ได้เตรียมการไว้ โดย ณ ปัจจุบัน บริษัทได้ทำการสั่งซื้อเครื่องจักรบางส่วนไปแล้ว และอยู่ในช่วงการเตรียมการที่จะก่อสร้างในกลางปีนี้ และนอกจากนี้ บริษัทยังได้เร่งรัดการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศให้แล้วเสร็จ 1,000 สถานีตามแผน เพื่อรองรับการใช้งานของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า MINE Mobility ของบริษัท รวมถึงจากค่ายรถยนต์รายอื่นๆ ในงาน Bangkok International Motor Show 2018 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวไว้เตรียมรุกในธุรกิจนี้แล้ว สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมโครงการหนุมาน มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งเสากังหัน ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 103 ชุด ขนาดชุดละประมาณ 2.5 เมกะวัตต์ ซึ่งมีความคืบหน้าในงานฐานไปเกือบ 70% และล่าสุดได้ทะยอยติดตั้งใบพัดกังหันลมและชุดอุปกรณ์แล้ว เราจะเริ่มทำการทดสอบระบบการผลิตปลายไตรมาสที่ 3 ก่อนที่จะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 4/61 ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ ทั้งในส่วนของโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์ม เพิ่มเป็น 664 เมกะวัตต์ ผลักดันรายได้และกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปี 2562 ที่จะรับรู้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิตของบริษัท และรับรู้เต็มปี “อนาคตการเติบโตของ EA ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะขึ้นอยู่กับโครงการผลิตแบตเตอรี่ที่จะขยายกำลังการผลิตในเฟสที่ 2 เป็น 50 GWh ต่อปี อย่างไรก็ตาม ด้วยมูลค่าการลงทุนที่สูงเกินกว่า 1 แสนล้านบาท EA จึงวางแผนการเงินไว้ว่า นอกจากจะใช้เงินจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแล้ว ยังเตรียมแผนการออกหุ้นกู้ การกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน ตลอดจนการร่วมทุนจากพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผมมั่นใจในแผนธุรกิจของที่ได้เตรียมการไว้อย่างรอบคอบแล้ว” นายอมรกล่าวในที่สุด อนึ่ง ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 979 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 98.76% โดยมีรายการพิเศษทางบัญชีจากการเข้าลงทุนใน Amita ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการราว 895 ล้านบาท ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานตามปกติ บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.45% จากการรับรู้รายได้และกำไรจากการเริ่ม COD ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการหาดกังหันเป็นหลัก ที่มา : prachachat.net
Person read: 2303
25 June 2018
แผนใช้หุ่นยนต์ 8 บริษัทยักษ์ “SCG-CPF-ปตท.-WHA-โฮมโปร-ยาวาต้า-KV-สุพรีมฯ” สะดุด ติดเงื่อนไข BOI “วืด” เว้นภาษีเงินได้ 3 ปี “อุตตม” รมว.อุตฯ สั่งเร่งหาทางออก ด้านสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหนุนส่งเสริมให้เอกชนลงทุนระบบอัตโนมัติ ตั้งเป้าปีนี้มูลค่าการใช้หุ่นยนต์ขยับขึ้น 6 หมื่นล้าน ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานภายหลังจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต รองรับการก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 แต่เอกชนทั้ง 8 รายที่พร้อมลงทุนในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ (demand side) ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประกอบไปด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัทโฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์, บริษัทสุพรีม โพรดักส์, บริษัทเควี อีเลคทรอนิกส์ และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ติดเงื่อนไข BOI สาเหตุเกิดจาก “คำขอ” ผิดเงื่อนไขภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ อาทิ เอสซีจี เป็นกลุ่มธุรกิจปูนซีเมนต์ หรือโฮมโปร เป็นประเภทกิจการค้าปลีก ขณะที่ CPF เคยยื่นขอตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพทางด้านพลังงานไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่สามารถขอ BOI ปรับปรุงใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้ ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ BOI ส่งเสริมการลงทุนใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์ กับกลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์ โดยกลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ มีเงื่อนไขส่งเสริม คือ บริการออกแบบทางวิศวกรรม ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีไม่จำกัดวงเงิน, ผลิตเครื่องจักร/อุปกรณ์อัตโนมัติที่มีการออกแบบทางวิศวกรรม (มีขั้นตอนพัฒนา automation system integration+ ระบบควบคุมสมองกลอัตโนมัติ) ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีไม่จำกัดวงเงิน แต่ถ้ากรณีไม่มีระบบ automation system integration ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และประเภทประกอบหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์/ชิ้นส่วน ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ส่วนกลุ่มผู้ใช้หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติ แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 (กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้) เพื่อปรับปรุงในสายการผลิต/บริการเดิมกรณีใช้ระบบ automation ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี วงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ กับกลุ่มที่ไม่ใช้ระบบ automation ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี วงเงินยกเว้นไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในเครื่องจักร และหากเป็นโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่เดิมแล้ว สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ (ยกเว้น/ลดหย่อนภาษี) ต้องสิ้นสุดลงไปแล้วเสียก่อน จึงมาขอรับส่งเสริมในกลุ่มนี้ได้ กลุ่มที่ 2 (กิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้) มีการลงทุนใหม่หรือปรับปรุงในสายการผลิต/บริการ จะต้องลงทุนระบบ automation เท่านั้น จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี วงเงินยกเว้นไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติ โดยกิจการที่ไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ (กลุ่มที่ 2) ได้แก่ กิจการรถยนต์/จักรยานยนต์/รถไฟฟ้า-พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์-สถานีบริการก๊าซธรรมชาติ-สนง.ใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ)-บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)-กิจการสนับสนุนการค้า/ลงทุน (TISO) และโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในกรณีนำเครื่องจักรมาใช้ปรับปรุง ประชุมบอร์ดหาทางออก ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 1 ในกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) กล่าวว่า กรณีกลุ่มบริษัทผู้ใช้หุ่นยนต์ไม่สามารถขอรับส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากผิดเงื่อนไขนั้น ได้มีการหารือกับ BOI มาโดยตลอด “เรากำลังดูว่า BOI จะช่วยพิจารณาแนวทางออกอะไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันบางบริษัทมีหลายโครงการเชื่อมโยงกันหมด BOI จะพิจารณาให้ได้ไหมว่า ความเชื่อมโยงตรงนี้ควรให้สิทธิประโยชน์ได้ยังไง ยกตัวอย่าง SCG เป็นธุรกิจปูนไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ SCG จะนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาอาจไม่ชัดเจนว่าจะไปใช้ตรงไหน ในกรณีแบบนี้สามารถให้การสนับสนุนเขาได้อย่างไร BOI อาจมานั่งคุยกันในบอร์ด ดูอย่างกรณี อาลีบาบาก็สามารถหาทางออกให้ได้ อย่างการออกมาตรการส่งเสริมด้านโลจิสติกส์ หรือ smart digital ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปิดโอกาสให้กิจการเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมได้ด้วย” นายอุตตมกล่าว นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์และที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เมื่อเกิดผู้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ คือ การสร้าง demand ขึ้นมา โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการยื่นขอรับส่งเสริมแล้วกว่า 40 ราย BOI อนุมัติไปแล้ว 12 ราย เช่น บริษัทนาชิ ฟูจิโกชิ คอปอเรชั่น ผู้ผลิตหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติอันดับ 2 ในญี่ปุ่น และอันดับ 4 ของโลก ที่ได้อนุมัติลงทุนในไทยเพื่อผลิตแขนกลไปแล้ว และมีแผนขยายการลงทุนเพิ่ม รวมถึงศูนย์เทรนนิ่ง ที่ศรีนครินทร์เป็นโครงการต่อมา เฉพาะปี 2561 ทาง FIBO คาดว่ามีมูลค่าการใช้หุ่นยนต์ 60,000 ล้านบาท จากความต้องการใช้หุ่นยนต์/ระบบอัตโนมัติในประเทศ 140,000 ตัว/ปี นายณัฐพล รังสิตพล รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่าประเทศไทยมีผู้ออกแบบติดตั้งระบบอัตโนมัติ system integrator (SI) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคต 200 ราย สศอ.ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1,400 รายภายใน 5 ปี โดยสิ่งที่ต้องทำตามโรดแมป คือ การกระตุ้นอุปสงค์ให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการในประเทศนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าทำให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 60,000 ล้านบาทในปีแรก และขยายการลงทุนได้กว่า 200,000 ล้านบาทใน 5 ปี ที่มา : prachachat.net
Person read: 2289
25 June 2018
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ เปิดตัว รถยนต์ “ฮอนด้า เอชอาร์-วี เปิดตัวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบันมียอดขายสะสมกว่า 66,000 คัน และสามารถ ครองตำแหน่งยอดขายสูงสุดในตลาดเอสยูวี 3 ปีซ้อน ล่าสุดบริษัทได้เตรียมส่ง ฮอนด้า เอชอาร์-วี ใหม่ พร้อมตั้งเป้ายอดขาย18,000 คันภายใน 1 ปี รถคันนี้ พร้อมความสปอร์ตโฉบเฉี่ยว ดีไซน์ใหม่ที่ทันสมัยทั้งภายนอกและภายใน โฉบเฉี่ยวด้วยกันชนหน้า-หลัง และกระจังหน้าดีไซน์ใหม่ ไฟหน้าแบบ Full LED พร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบLED เพิ่มความสปอร์ตด้วยเบาะนั่งดีไซน์ใหม่ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ยกระดับไปอีกขั้น เพิ่มความมั่นใจในทุกการเดินทาง ทั้งระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน(Honda LaneWatch) ระบบเตือนและช่วยเบรกที่ความเร็วต่ำ (City Brake Active System) และระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมทอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock) สำหรับรุ่น RS มาพร้อมดีไซน์สปอร์ตรอบคัน ตั้งเเต่กันชนหน้า-หลังสไตล์สปอร์ต กระจังหน้าดีไซน์ใหม่โครเมียมรมดำแบบสปอร์ต โฉบเฉี่ยวยิ่งขึ้นด้วยไฟหน้าแบบ Full LED พร้อมไฟส่องสว่างสำหรับการขับขี่ในเวลากลางวันแบบ LED ชายกันกระแทกด้านข้างสีดำแบบสปอร์ต มือจับเปิดประตูด้านหน้าแบบโครเมียมรมดำ กระจกมองข้างสีดำแบบสปอร์ต พร้อมแป้นเหยียบคันเร่งและเบรกแบบสปอร์ต ล้ออัลลอยลายใหม่ขนาด 17 นิ้วแบบสปอร์ต และสัญลักษณ์ RS บนฝากระโปรงท้าย ขวางสะดวกสบายในสไตล์รถอเนกประสงค์ ด้วยพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่บรรทุกสัมภาระด้านท้ายขนาดใหญ่ ที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน มาพร้อมเบาะนั่งอเนกประสงค์ที่สามารถปรับพับได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ Utility Mode, Tall Mode และ Long Mode รองรับการขนย้ายสัมภาระที่หลากหลายในทุกรูปแบบ เอชอาร์-วี ใหม่ มาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 1.8 ลิตร SOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว 141 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 172 นิวตัน-เมตร ที่ 4,300 รอบต่อนาที เกียร์ CVT ใหม่ ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม รองรับพลังงานทางเลือก E85 ครบครันด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับพรีเมียมในทุกรุ่น ทั้งระบบเบรกมือไฟฟ้า (Electric Parking Brake) ระบบ Auto Brake Hold ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) พร้อมระบบกระจายแรงเบรก (EBD) ระบบควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง (VSA)ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (HSA) สัญญาณไฟฉุกเฉินอัตโนมัติขณะเบรกกะทันหัน (ESS) กล้องส่องภาพด้านหลัง ปรับมุมมอง 3 ระดับ (Multi-Angle Rearview Camera) และระบบถุงลม 6 ตำแหน่ง (เฉพาะรุ่น RS และ EL) ฮอนด้า เอชอาร์-วี ใหม่ มีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ – รุ่น E ราคา 949,000 บาท – รุ่น EL ราคา 1,059,000 บาท – รุ่น RS ราคา 1,119,000 บาท มี 5 สี โดยมีสีใหม่ คือ สีแดงแพสชั่น (มุก) และอีก 4 สี ได้แก่ สีขาวออร์คิด (มุก) สีดำคริสตัล (มุก) สีเงินลูนาร์ (เมทัลลิก) และสีเทารูสแบล็ค (เมทัลลิก) พบกับ ฮอนด้า เอชอาร์- วี ใหม่ ตั้งเเต่ วันที่ 8กรกฎาคมนี้ ที่โชว์รูมฮอนด้าทั่วประเทศ หรือสัมผัสกับ ฮอนด้า เอชอาร์- วี ใหม่ ได้ก่อนใคร ที่งาน ฟาสต์ ออโต้ โชว์ ไทยแลนด์ 2018 ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม ที่ไบเทค ฮอลล์ 106 และงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล ออโตซาลอน 2018 ระหว่างวันที่ 4-8 กรกฎาคม นี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่มา : www.prachachat.net
Person read: 2900
18 June 2018
ปตท. ประกาศทำแอพจ่ายเงินของตัวเองชื่อ PTT e-Wallet โดยให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ร่วมพัฒนาระบบ แอพ PTT e-Wallet จะใช้กับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และร้านค้าปลีกในเครือ ได้แก่ Cafe Amazon, Texas Chicken, Daddy Dough, ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ, ศูนย์บริการรถยนต์ FIT Auto, ร้านสะดวกซื้อ Jiffy โดยเชื่อมต่อกับระบบสะสมแต้มของ PTT Blue Card ด้วย นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่าจะใช้ความเชี่ยวชาญจากแอพ K PLUS มาช่วยออกแบบให้มีประสบการณ์ใช้งานที่ดี เชื่อมต่อกับแอพ K PLUS เพื่อทำการยืนยันตัวตน (KYC) และโอนเงินจาก K PLUS เข้ามายัง e-Wallet ได้ แอพ PTT e-Wallet มีกำหนดเปิดบริการในไตรมาส 4 ของปี 2561 ปตท. บริษัทน้ำมันรายแรกของไทยร่วมพัฒนา PTT e-Wallet กับ KBank ตอบสนองผู้บริโภคยุคดิจิทัล ตอบรับนโยบายสังคมไร้เงินสด ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าและบริการ ณ สถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีก ปตท. ด้วย PTT e-Wallet เริ่มให้บริการในไตรมาส 4 นี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนา PTT e-Wallet ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย และ ธนาคารกสิกรไทย โดย นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต เพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการชำระเงินของผู้บริโภคด้วย PTT e-Wallet สนองนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล ตามนโยบาย Thailand 4.0 นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นวัตกรรมการเงินในยุคดิจิทัลสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการใช้เงินสดลดลง ปตท. จึงปรับทัพธุรกิจค้าปลีก ด้วยการนำเทคโนโลยีด้านการเงินมาพัฒนา PTT e-Wallet รองรับกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้บริโภค โดย ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันรายแรกในประเทศที่พัฒนาระบบนี้เพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติมากขึ้น ทั้งความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว และความปลอดภัยด้วย PTT e-Wallet ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้มีช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ณ สถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีก ปตท. ได้แก่ ร้านคาเฟ่ อเมซอน เท็กซัส ชิคเก้น แด๊ดดี้โด ฮั่วเซ่งฮง ติ่มซำ ศูนย์บริการยานยนต์ฟิตออโต้ และร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถตรวจสอบธุรกรรมย้อนหลังได้ นอกจากนี้ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากการสะสมแต้ม PTT Blue Card การค้นหาร้านค้าที่ใกล้เคียง และโปรโมชั่นจากร้านค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด โดยจะสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Application หรือใช้ผ่านรูปแบบบัตรก็ได้ นอกจากนี้ ด้วยจำนวนสาขาของสถานีบริการน้ำมัน และร้านค้า ปตท. ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและความสะดวกเหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดให้ร้านค้าย่อยและชุมชนได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นช่องทางในการเสนอสินค้าและบริการให้แก่ผู้บริโภค เพื่อเติบโตร่วมกับ ปตท. อีกด้วย “ปตท. นอกจากจะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเชื่อมั่นว่าในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในแง่ของการสร้างความรวดเร็ว สะดวกสบาย ความปลอดภัย และลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ PTT e-Wallet จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของ ปตท. ในการต่อยอดเทคโนโลยี สร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ พร้อมรับมือต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวจิราพร กล่าวเพิ่มเติม นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาบริการยุคใหม่ ธนาคารกสิกรไทย ได้นำความเชี่ยวชาญจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน K PLUS ซึ่งเป็นแอปที่มีลูกค้าไว้วางใจและใช้บริการมากถึง 8.4 ล้านราย มาเป็นแนวทางในการวางโครงสร้างการพัฒนาแอปพลิเคชัน PTT e-Wallet ใน 2 ด้าน ดังนี้ 1. ออกแบบประสบการณ์การใช้งาน โดยมีโจทย์ตั้งต้นจาก ปตท. ที่มีความเข้าใจในลูกค้าเป็นอย่างดี เพื่อให้แอป PTT e-Wallet ใช้งานง่าย และ ปลอดภัย ช่วยให้ลูกค้าของ ปตท. สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของ ปตท. ได้อย่างครบถ้วน 2. ออกแบบโครงสร้างวอลเล็ต ที่ตอบโจทย์ความต้องการของ ปตท. ได้แก่ เชื่อมต่อเทคโนโลยีกับแอป K PLUS ช่วยให้ลูกค้าที่ใช้แอป K PLUS สามารถสมัครใช้งาน PTT e-Wallet ได้ง่าย ๆ ด้วยการยืนยันตัวตน (KYC) และสามารถโอนเงินเข้าวอลเล็ตได้ทันที สร้างระบบการเก็บข้อมูลแบบเดียวกับแอป K PLUS ช่วยรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก ภายใต้ความปลอดภัยระดับโลก และออกแบบระบบให้ API สามารถเชื่อมต่อกับพันธมิตรอื่น ๆ เพิ่มโอกาสในการสร้างสิทธิประโยชน์ใหม่ ๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ร้านค้าอื่น ๆ ภายในสถานีบริการ รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมในการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายและชำระค่าสินค้าผ่านวอลเล็ตได้ในอนาคต นายปรีดี กล่าวเสริมว่า ด้วยการออกแบบ PTT e-Wallet ตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะตอบสนองการใช้งานของลูกค้าให้ได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว จะสามารถตอบโจทย์ธุรกิจของ ปตท. ในการยกระดับการให้บริการลูกค้า ด้วยการนำฐานข้อมูลการใช้งานวอลเล็ตไปใช้ในการออกแบบแคมเปญที่ถูกใจตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแบบรายบุคคลได้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนลดต้นทุนในการบริหารจัดการข้อมูลให้กับ ปตท. อีกด้วย ที่มา : blognone.com/
Person read: 2179
16 June 2018
“รถไฟฟ้า-สื่อโฆษณา” ดันรายได้บีทีเอสโตต่อเนื่อง ผลประกอบการปีที่ผ่านมาโกย 1.4 หมื่นล้าน ผู้โดยสารทะลัก 241 ล้านเที่ยวคน ตั้งเป้าปีนี้คนใช้บริการเพิ่ม 4-5% ตุนเงินในกระเป๋า ลุยประมูลเมกะโปรเจ็กต์รัฐ ผนึกซิโน-ไทย ราชบุรีโฮลดิ้ง ปตท.ชิงเค้ก 2.2 แสนล้านไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมา (เม.ย. 2560-มี.ค. 2561)มีรายได้จากการดำเนินการปรับตัวดีขึ้น 63.9% จากปีก่อน เป็น 14,102 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนและธุรกิจสื่อโฆษณา โดยธุรกิจระบบขนส่งมวลชนยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท ในปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้รวม 9,112 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.1% หรือ 4,875 ล้านบาทจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการบริการรับเหมาติดตั้งระบบ ก่อสร้างและจัดหาขบวนรถไฟฟ้าขบวนใหม่ในรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต เพิ่มขึ้นเป็น 6,028 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 244.8% จากปีก่อน และรายได้จากการเดินรถและซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน เป็น 1,865 ล้านบาท “ปีที่ผ่านมา BTS มียอดผู้โดยสารรวม 241.2 ล้านเที่ยวคน เพิ่มขึ้น 1.3% อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4% เป็น 28.3 บาท/เที่ยว ส่วนเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มียอดผู้โดยสารรวม 17.4 ล้านเที่ยวคน ลดลง 1.8% จาก เม.ย. 2560 เป็นผลมาจากมีวันหยุดทำการต่อเนื่องหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 29.4 บาท/เที่ยว เพิ่มขึ้น 3.2%” ส่วนธุรกิจสื่อโฆษณาในนาม บมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย ทำรายได้อยู่ที่ 3,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.7% หรือ 893 ล้านบาทจากปีก่อน เป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน และการควบรวมธุรกิจกับ บมจ.มาสเตอร์ แอด ที่เข้าไปถือหุ้นใหญ่คิดเป็น 37.42% ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลังจากโอนพอร์ตจาก บจ.ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ ไปอยู่ภายใต้ บมจ.ยูซิตี้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รับรู้กำไรจากการทำธุรกรรม 1,880 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ 639 ล้านบาท โดยธุรกิจอสังหาฯเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 616 ล้านบาท เป็นผลมาจากการดำเนินการของธุรกิจโรงแรมและโครงการธนาซิตี้ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต คลับ ส่วนที่อยู่อาศัย รายได้รวมอยู่ที่ 24 ล้านบาท ลดลง 10 ล้านบาทจากปีก่อน เป็นผลมาจากยอดขายโครงการบ้านธนาซิตี้ลดลง อย่างไรก็ตามจากข้อมูลทั้งหมด ทำให้ฐานะทางการเงินอยู่ที่ 101,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน มีหนี้สินรวม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% และมีผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 3% นายสุรยุทธกล่าวว่า ในปี 2561 นี้บีทีเอสคาดว่าผู้โดยสารจะเติบโต 4-5% จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนเที่ยวคนต่อวัน เนื่องจากจะมีการเปิดสายสีเขียวส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนค่าโดยสารเฉลี่ยจะปรับขึ้น 1.5-2% จากปีก่อน คาดว่าจะมีรายได้จากการซ่อมบำรุงและเดินรถเพิ่มขึ้น 30% จะรับรู้รายได้จากการติดตั้งงานระบบและจัดหาขบวนรถไฟฟ้าสำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ-ใต้อยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท และจากงานก่อสร้างสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ก็ให้ความสนใจในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐด้วย เพราะตามที่นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการที่ภาครัฐจะออกมาให้เอกชนลงทุน ทางบริษัทจะเข้าร่วมด้วยทุกโครงการ โดยมีพันธมิตรอย่าง บมจ.ซิโนไทยและ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จะร่วมกันเข้าประมูลในนามกิจการร่วมค้า BSR ในเบื้องต้นที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลคือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรรายอื่น เช่น ปตท.ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนโครงการอื่นที่สนใจในตอนนี้มีรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท ที่มา : prachachat.net
Person read: 2134
12 June 2018
เปิดข้อมูลสาขาจาก ธปท. พบ 4 เดือนแบงก์พาณิชย์ปิดสาขาแล้ว 34 สาขา ไทยพาณิชย์นำโด่งปิดสาขา 65 สาขา ตามด้วยกรุงไทย-ซีไอเอ็มบี ไทย-ยูโอบี-แบงก์กรุงเทพ ด้านไทยพาณิชย์ปิดสาขาตามเป้า 3 ปี เหลือ 400 สาขา แต่เปิดศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีแทนที่ ด้านกรุงไทยลั่นไตรมาส 3 เห็นโฉมใหม่ของสาขา เปลี่ยนโฉมสาขาเป็นสาขาไร้กระดาษ หวังลดต้นทุนสาขา 25% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวสาขาของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ทั้งระบบ ณ สิ้น เม.ย. 2561 ว่า ล่าสุดสาขาโดยรวมของแบงก์ทั้งระบบปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 6,750 สาขา ลดลง 34 สาขา เทียบจากสิ้นปี 2560 ที่มีจำนวน 6,784 สาขา และหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) พบว่าสาขาลดลง 193 สาขา พิกุล ศรีมหันต์ สำหรับในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารที่มีการปรับลดสาขาลงมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีจำนวนลดลง 65 สาขา มาอยู่ที่ 1,096 สาขา จากสิ้นปีก่อนมีจำนวน 1,161 สาขา รองลงมาจะลดลง 2 สาขาในหลายแบงก์ นำโดย ธนาคารกรุงไทย ลดเหลือ 1,119 สาขา จาก 1,121 สาขา, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จาก 84 สาขามาเหลือ 82 สาขา และธนาคารยูโอบี เหลือ 151 สาขา จาก 153 สาขา ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ลดลง 1 สาขา เหลือ 1,165 สาขา จาก 1,166 สาขา อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้น 5 สาขา นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารมีแนวโน้มจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน และจะเห็นสาขาในรูปแบบใหม่ ๆ มาแทนที่ ซึ่งล่าสุดการปรับสาขาในรูปแบบใหม่สู่การเป็นธนาคารที่ลดการใช้กระดาษจนถึงระดับไม่ใช้กระดาษในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการขอสินเชื่อ เงินฝาก เป็นต้น จะเป็นการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยทำงานมากขึ้น เพื่อให้บริการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแทน โดยที่ผ่านมาได้นำร่องแล้ว 2 สาขา ส่งผลให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนของสาขาได้ถึง 25% และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับรูปแบบสาขาดังกล่าวต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค “ปีนี้เริ่มเห็นสาขาธนาคารลดลงต่อเนื่อง และเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ การลดสาขาก็จะเห็นสปีดที่ช้าบ้าง เร็วบ้าง แต่รูปแบบสาขาบางจุดก็อาจดัดแปลง บางพื้นที่ก็อาจเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างอื่น ๆ ซึ่งก็คาดว่าจะเห็นสาขารูปแบบใหม่ ๆ ในปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 10 สาขา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสาขาค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3-4 ปีนี้” นายผยงกล่าว นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากนโยบายของธนาคารที่มีแผนปรับลดสาขาต่อเนื่องจากกว่า 1,000 สาขา ให้เหลือราว 400 สาขา ภายใน 3 ปี (2563) ซึ่งขณะนี้ยังดำเนินการในทิศทางดังกล่าวอยู่ แต่จะมีสาขารูปแบบใหม่ ๆ มาแทนที่ เช่น ศูนย์ธุรกิจ (business center) สำหรับดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดแล้ว 5 แห่ง และปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 50 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 200 แห่ง ภายในปีཻ ซึ่งแต่ละแห่งใช้งบฯลงทุนเฉลี่ย 10 ล้านบาท นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มสาขาของธนาคารกสิกรไทยปีนี้ คาดว่าจะเห็นสาขาปรับลดลงต่ำกว่า 1,000 สาขา จากปัจจุบันที่มีจำนวน 1,134 สาขา โดยจะมีการเปลี่ยนสาขาเป็นรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth) และธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น นางธีรนุช ขุมทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปีนี้น่าจะเห็นสาขาของธนาคารปรับลดลงไม่ถึง 10 สาขาแล้ว เนื่องจากปีก่อนปรับลดสาขาลงค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้นสาขาในระดับปัจจุบันเป็นระดับที่อยู่ตัวแล้ว แต่อาจเห็นการย้ายทำเลที่ตั้งของสาขา “มีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่อยากมาสาขาอยู่ และลูกค้าส่วนหนึ่งมาทำธุรกรรมบนมือถือได้ ดังนั้นเราก็ยังจำเป็นต้องมีสาขาทั้งสองรูปแบบ เพื่อให้ลูกค้าค่อย ๆ ปรับตัว และปัจจุบันยอมรับว่าการทำธุรกรรมที่สาขาก็ลดลงบ้าง ปีนี้จะไม่เห็นขยับแรงเหมือนปีก่อน เพราะเราลดลงมาเยอะแล้ว” นางธีรนุชกล่าว ที่มา : prachachat.net
Person read: 2562
01 June 2018
เรียกว่าคืบหน้าทีละนิดเลยก็ว่าได้รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง “บางซื่อ-รังสิต” ระยะทาง 26 กม. หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ใช้เงินลงทุนไป 93,950 ล้านบาท โดยเริ่มลงเข็มสร้างเดือน ก.พ. 2556 ถึงขณะนี้มีความก้าวหน้ากว่า 62% ที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคระหว่างทางและปรับแผนอยู่หลายครั้งกว่าจะลงตัว ตามแผนงานหลังเคลียร์ทุกอย่างเสร็จสรรพล่าสุด ร.ฟ.ท.ตั้งเปิดบริการเชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 2563 คิดค่าโดยสาร 14-45 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นจะผลิตขบวนรถให้ทันหรือไม่ เพราะถึงขณะนี้ยังไม่เปิดไลน์การผลิต และกว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลาร่วม 2 ปี “จากความล่าช้าดังกล่าว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้ไปเร่งรัดให้ญี่ปุ่นเร่งการผลิตให้ ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ จะส่งมอบให้ช่วง ต.ค. 2562 หากทำได้ตามแผนนี้ คาดว่าจะเปิดบริการได้ทันในปี 2563” รายงานข่าวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สินและรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า งานก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต หลังปรับแผนงานก่อสร้างมีความก้าวหน้าด้วยดี โดยงานสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงคืบหน้า 69.18% ยังล่าช้าจากแผนอยู่ 1% โดยสถานีกลางบางซื่อขณะนี้คืบหน้าแล้ว 49.31% ยังล่าช้าจากแผน เพราะติดรื้อย้ายท่อน้ำมันของบริษัท FPT คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2562 “สถานีกลางบางซื่อมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 3 แสนตารางเมตร หรือ 1 ใน 3 ของสนามบินสุวรรณภูมิ งานก่อสร้างจะช้าไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการตกแต่งพื้นที่ภายในและพื้นที่เชิงพาณิชย์มีร้านค้า บริการต่าง ๆ และติดตั้งระบบอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งจะต้องเปิดบริการพร้อมกับการเดินรถในปี 2563” สำหรับสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต และสถานียกระดับ 8 สถานี มีความคืบหน้า 97.94% ล่าช้าจากแผนอยู่ 2% เนื่องจากติดการส่งมอบพื้นที่สร้างสกายวอล์กเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต และสัญญาที่ 3 งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ของกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) จากประเทศญี่ปุ่น มีความคืบหน้า 27.60% ล่าช้าจากแผน 25% เนื่องจากเปลี่ยนระบบเดินรถเป็น ETCS ตามมาตรฐานยุโรป ที่สามารถรองรับรถไฟฟ้าได้หลายระบบ “การจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าได้สั่งซื้อไปแล้ว 130 ตู้ โดย 1 ขบวนจะมี 4-6 ตู้ เป็นรถของฮิตาชิ จะใช้วิ่งบริการทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อมี.ค. 2559 คาดว่าเดือน ก.ค.นี้จะเริ่มผลิตก่อนจะส่งมอบให้ครบปลายปี 2562 จากนั้นเริ่มทดสอบระบบว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ก่อนจะทดสอบวิ่งเสมือนจริง ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึงจะเปิดบริการได้ จะล่าช้าจากกำหนดเดิม 3 เดือน จาก มิ.ย.เป็น ต.ค.2563” นายวรวุฒิกล่าวและว่า โดย ร.ฟ.ท.จะตั้งบริษัทลูกมาเดินรถ มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท จะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติวันที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในเดือน ก.ค.นี้ “บริษัทลูกที่ตั้งใหม่ จะรับบุคลากรลอตแรก 600 คน มีบางส่วนอาจจะโยกจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เพราะเมื่อได้เอกชนลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะต้องรับการบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย ทำให้บริษัทลูกแอร์พอร์ตลิงก์จะสิ้นสภาพใน 2 ปี ถือเป็นการอัพเกรดพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ไปในตัว” ทั้งนี้รัฐบาลกำชับ ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินงานใน 5 ปีแรกให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ไม่ได้มีเพียงผู้โดยสาร แต่มีด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย โดย ร.ฟ.ท.ต้องทำให้ได้ หากทำไม่ได้รัฐบาลจะยกให้เอกชนเข้ามาบริหารแทน เนื่องจากมีบทเรียนการตั้งเป้าผู้โดยสารคลาดเคลื่อนจากสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินก่อนหน้านี้ เมื่อเปิดบริการปีแรกจะมีผู้โดยสารเฉลี่ย 50,000 เที่ยวคน/วัน และเพิ่มเป็น 100,000 เที่ยวคน/วันใน 5 ปี เก็บค่าโดยสาร 14-45 บาท ในช่วงแรกจะมีโปรโมชั่นจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการ อาจจะลดราคาอยู่ที่ 32-34 บาท ซึ่งโครงการจะเริ่มมีกำไรในปีที่ 7 ที่มา : prachachat.net
Person read: 2743
31 May 2018
ทุเรียนแรงจัด ราคาดี-อนาคตสดใส ชาวสวน-เกษตรกร ทั่วสารทิศ ตะวันออก-เหนือ-ใต้-อีสาน ทยอยโค่น “ยางพารา-ส้ม-เงาะ-กาแฟ” ปลูกทุเรียนแทน ต้นกล้าราคาพุ่ง 300-500 บาท/ต้น รับดีมานด์ทะลัก “หมอนทอง” พันธุ์ยอดนิยม กระทรวงเกษตรฯสำรวจพบ ปี”60 ทั่วประเทศแห่ปลูกเพิ่มกว่า 5 หมื่นไร่ ปีนี้ความต้องการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลหลายเท่าตัว ส่งผลให้ราคาทุเรียนในประเทศไทยพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชต่าง ๆ ถึงกับโค่นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกอยู่ ทั้งยางพารา เงาะ ส้ม รวมถึง กาแฟ และหันมาปลูกทุเรียนแทน ตะวันออกเพิ่มพื้นที่ปลูก นายสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ถือเป็นปีทองของทุเรียนอีกปีหนึ่ง เพราะตลาดมีความต้องการสูงมาก โดยเฉพาะตลาดจีน ทำให้ราคายืนอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-170 บาท หรือหากพันธุ์หายาก เช่น พวงมณี นกหยิบ จะราคา 200-300 บาท เกษตรกรในภาคตะวันออกจึงมีการโค่นยางพาราที่มีราคาตกต่ำและหันมาปลูกทุเรียนกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4,000-5,000 ไร่/ปี ส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทองตามความต้องการของตลาด คาดว่าผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้นปีละ 30,000 ตัน “นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังมีโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยให้ปลูกพืชอื่นเสริม โดย จ.จันทบุรี มีโครงการส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาคุณภาพให้ผลิตทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม เพื่อขยายตลาดในจีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมา เพิ่ม” นายทรงธรรม ชำนาญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง กล่าวเสริมว่า ราคาทุเรียนที่สูงจึงจูงใจให้เกษตรกรนิยมปลูกมากขึ้น ขณะที่ กยท.ก็มีโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยอุดหนุนฟรีไร่ละ 10,000 บาท ใน จ.ระยองมีประมาณ 10,000 ไร่ นอกจากหมอนทองแล้ว พันธุ์อื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่น หลงลับแล หลินลับแล นกกระจิบ พวงมณี ก้านยาว ชะนี เป็นต้น นายโอภาส ชอบรส หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจังหวัดตราดมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นปีละ 30,000-40,000 ต้น ทั้งในรูปแปลงใหญ่ และรายย่อย ซึ่งมีพื้นที่ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ที่ได้ทุนอุดหนุนจาก กยท.อีก 4,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะต้องวางแผนการตลาดรองรับ รวมถึงให้เกษตรกรผลิตทุเรียนคุณภาพมีมาตรฐาน GAP รองรับ และรวมกันปลูกเป็นแปลงใหญ่ทำการตลาดด้วยระบบสหกรณ์ สร้างแบรนด์ของสหกรณ์ให้มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากปัจจุบันทุเรียนไทยมีคู่แข่งมากขึ้น นายกรีฑา งาเจือ เจ้าของสวนทุเรียนหลงบูรพา ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมืองตราด จ.ตราด กล่าวว่า ราคาทุเรียนเฉลี่ยปี 2560 อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท ราคาสูงสุดกิโลกรัมละ 130 บาท ปี 2561 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 บาท และราคาสูงสุดอยู่ที่ 150 บาท จากราคาทุเรียนที่พุ่งสูงขึ้นมาเรื่อย ๆ และปีนี้ได้ราคาดีมาก ทำให้เกษตรกรโค่นยางพารา เงาะ หันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมาก ภาคเหนือโค่นสวนส้มปลูกทุเรียน นายธุวานนท์ สืบสันติธรรม ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็มแอล เจ้าของสวนทุเรียน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่ทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางการตลาดสูง ราคาดี และจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต ขณะนี้พบว่าเจ้าของสวนส้มหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่ อ.ฝาง อ.แม่อาย และ อ.ไชยปราการ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกส้มแหล่งใหญ่ของภาคเหนือ ได้เริ่มทยอยทิ้งสวนส้มและหันมาปลูกทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก สำหรับผลผลิตที่ได้ นอกจากจะขายในพื้นที่แล้ว หลายรายก็กำลังมองลู่ทางส่งออกไปตลาดจีนด้วย “ปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากการทำสวนส้มที่มีอยู่กว่า 100 ไร่ มาปลูกทุเรียนแทน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสวนส้มประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งภาวะโรค แมลง ต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่มีกำไร โดยพื้นที่ 100 ไร่ แบ่งเป็น 60 ไร่ ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 1,000 ต้น และอีก 40 ไร่ ปลูกลำไย และทุเรียนที่ออกมาค่อนข้างมีคุณภาพและรสชาติเหมือนกับทางภาคตะวันออก” ภาคใต้โค่นยางพารา-กาแฟ แหล่งข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ให้ข้อมูลว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีการปลูกทุเรียนมากในหลายจังหวัด อาทิ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ส่วน จ.พัทลุง มีการปลูกทุเรียนที่ อ.ศรีนครินทร์ ตะโหมด กงหรา มีการโค่นต้นยางพาราประมาณ 4,000 ไร่ เพื่อมาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาเป็นพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ทางเลือก เช่น สาลิกา หลงลับแล แต่ไม่มากนัก สำหรับระนอง ที่ผ่านมาเกษตรกรที่เคยปลูกกาแฟได้เปลี่ยนมาปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับสงขลา พื้นที่ปลูก อ.รัตภูมิ สะเดา สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี โดยเกษตรกรปลูกทุเรียน จะปลูกเสริมผสมผสานกันระหว่างทุเรียน มังคุด เงาะ เป็นต้น ด้านแหล่งข่าวจากสำนักส่งเสริมและพัฒนาเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดสงขลา(สสก.ที่ 5) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการจัดทำข้อมูลบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ พบว่าตั้งแต่ปี 2559 มีการโค่นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยทุเรียนให้ผลผลิต ประมาณ 220,000 ตัน/ปี พื้นที่ปลูกประมาณ 400,000 ไร่ และมีแนวโน้มปลูกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ขณะที่พื้นที่ปลูกมังคุดจำนวน 250,000 ไร่ พื้นที่ปลูกเงาะ 120,000 ไร่ และพื้นที่ปลูกลองกอง 230,000 ไร่ มีแนวโน้มทยอยลดลง สำหรับภาคใต้ในปี 2561 มีพื้นที่ปลูกผลไม้รวมกว่า 857,000 ไร่ มีผลผลิตรวมประมาณกว่า 590,000 ตัน โดยมากกว่าปีที่แล้วประมาณกว่า 310,000 ตัน โดยเป็นทุเรียนกว่า 315,000 ไร่ มีผลผลิตประมาณกว่า 283,000 ตัน มากกว่าปีที่แล้วถึงประมาณกว่า 110,000 ตัน นอกนั้นเป็นมังคุด เงาะ ลองกอง “ศรีสะเกษ” แห่ปลูกเพิ่ม 200% นายหมุน แซ่จึง ประธานเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันศรีสะเกษมีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมกว่า 18,000 ไร่ จากเดิมมีประมาณ 4,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 200% แบ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตได้แล้วประมาณ 3,000 ไร่ ทุเรียนอายุประมาณ 4-5 ปี ประมาณ 5,000 ไร่ และทุเรียนที่เริ่มปลูก 1-2 ปี ราว 10,000 ไร่ ส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากราคาหน้าสวนอยู่ที่ 100 บาท/กิโลกรัม “ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และจากความต้องการที่มากขึ้นทำให้ราคาต้นกล้าพันธุ์ทุเรียนสูงขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิม 150-200 บาท/ต้น ปัจจุบันขยับมาเป็น 300-500 บาท/ต้น” นายหมุนกล่าว ปี”60 ปลูกเพิ่มกว่า 5 หมื่นไร่ รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า รายงานพื้นที่ปลูกทุเรียนที่สำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2561 พบว่า พื้นที่ปลูกปีการผลิต 2560 ทั้งประเทศมี 787,822 ไร่ เพิ่มขึ้น 52,203 ไร่ จาก ปี 2559 ที่มี 735,619 ไร่ ขณะที่จำนวนผลผลิตปี 2560 มีปริมาณ 635,031 ตัน เพิ่มขึ้น 122,580 ตัน จากผลผลิตปี 2559 มีปริมาณ 512,451 ตัน โดยทุกภูมิภาคมีการปรับเพิ่มพื้นที่ปลูก ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มจาก 3,022 ไร่ เป็น 3,988 ไร่ ภาคกลาง เพิ่มจาก 315,295 ไร่ เป็น 328,281 ไร่ และภาคใต้ เพิ่มจาก 368,255 ไร่ เป็น 406,506 ไร่ ขณะที่ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกคงเดิมเท่ากับปี 2559 จำนวน 49,047 ไร่ จังหวัดที่มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพิ่ม เช่น ชุมพร มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 15,972 ไร่ เป็น 164,099 ไร่ จันทบุรี มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 4,313 ไร่ เป็น 207,483 ไร่ ตราด มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 4,113 ไร่ เป็น 34,911 ไร่ ระยอง มีพื้นที่เพิ่ม 2,426 ไร่ เป็น 69,187 ไร่ และศรีสะเกษ มีพื้นที่เพิ่ม 944 ไร่ เป็น 3,536 ไร่ ที่มา : prachachat.net
Person read: 2216
31 May 2018
ทุนไทย-เทศขานรับ TOR ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน ประกาศ 30 พ.ค.นี้ เปิดทางรัฐวิสาหกิจจีนถือหุ้นใหญ่ 75% เผย 5 กลุ่มจ้องประมูล BTS เฮ ! ได้ ปตท.ร่วมลงขัน ด้าน ซี.พี.ผนึกจีน กลุ่มญี่ปุ่น-ยุโรปเคลื่อนไหวคึก “โตคิว” พันธมิตร “แสนสิริ-สหพัฒน์-ช.การช่าง” แย้มสนใจโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส “มักกะสัน-ศรีราชา” นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-17 มิ.ย. 2561 จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนทั่วโลกเข้าร่วมประมูลลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือ PPP EEC Track ตั้งเป้าได้เอกชนร่วมลงทุนภายในสิ้นปี 2561 จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ เซ็นสัญญา และเริ่มงานก่อสร้างต้นปี 2562 ใช้เวลา 5 ปี แล้วเสร็จปี 2566-2567 “โครงการนี้ใช้รูปแบบลงทุน PPP Net Cost เอกชนที่ชนะได้รับสัมปทานโครงการ 50 ปี คือ สร้าง 5 ปี เดินรถ 45 ปี เมื่อครบ 50 ปี รัฐบาลจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดรวมรถไฟความเร็วสูง สถานี และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด รวมมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท” เอกชนไทย-เทศ 5 รายสนใจ ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงเปิดกว้างทั้งนักลงทุนจากในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลแบบนานาชาติ (international bidding) ซึ่งวันที่ 30 พ.ค. เป็นการนับหนึ่งโครงการอย่างเป็นทางการ “ตอนนี้มีเอกชนไทยและต่างชาติที่สนใจจะเข้าร่วมประมูล 5-6 กลุ่ม มีทั้งเดี่ยวและร่วมกันหลายราย ซึ่ง 7 มิ.ย.นี้ จะชี้แจงกับทูตต่างประเทศ” นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะทางรวม 220 กม. แบ่งการเดินรถเป็น 3 ช่วง 1.รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ 29 กม. 2.ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท 21 กม. 3.รถไฟความเร็วสูงสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา 170 กม. นอกจากนี้จะรวมการเช่าพื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ ที่เอกชนจะได้สิทธิ์พัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วยมูลค่าโครงการรวม 224,544.36 ล้านบาท “เอกชนรายไหนเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐสูงสุด ให้รัฐสนับสนุนค่างานโยธาน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ” ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจต่างชาติแจม กรอบเวลาดำเนินโครงการ หลังประกาศเชิญชวน 30 พ.ค.-17 มิ.ย.แล้ว วันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค. จะขายซองประกวดราคา 1 ล้านบาท และให้ยื่นซองประมูล 12 พ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ร่วมลงทุนสิ้นปีนี้ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ จึงอนุญาตให้บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจต่างชาติร่วมได้เกิน 1 ราย โดยจะต้องทำข้อตกลงว่าไม่ได้ฮั้วกัน และสถานทูตประเทศนั้น ๆ ต้องรับรอง ยื่นประมูล 4 ซอง ขณะที่นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ กล่าวว่า การให้ยื่นซองประกวดราคาจะให้ยื่น 4 ซอง คือ 1.ซองคุณสมบัติทั่วไป 2.ซองเทคนิค เช่น ผลงานก่อสร้าง การออกแบบ ประสบการณ์เดินรถไฟความเร็วสูง 5 ปี 3.ซองด้านการเงิน เช่น ผลตอบแทนให้รัฐ หรือการที่ให้รัฐสนับสนุนไม่เกินค่างานโยธา โดยจะเริ่มชำระในปีแรกที่เปิดเดินรถ เป็นระยะเวลา 10 ปี 4.ซองข้อเสนอพิเศษ เช่น การพัฒนาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อรถไฟและปริมาณผู้โดยสาร จะไม่นำมาพิจารณาเป็นคะแนนตัดสิน แต่หากคิดว่าเป็นประโยชน์ถึงจะเปิดซองพิจารณา แต่การลงทุนเป็นของเอกชนทั้งหมด ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 75% รายงานข่าวแจ้งว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติได้มากกว่า 49% จากที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่เกิน 75% แต่ต้องมีบริษัทไทย 1 รายร่วมถือหุ้น 25% และจดทะเบียนมาแล้ว 3 ปี เนื่องจากไม่มีกฎหมายระบุห้ามต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% ยกเว้นเป็นธุรกิจที่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ เช่น การพัฒนาที่ดินรูปแบบมิกซ์ยูส เป็นต้น สาเหตุที่ทีโออาร์เปิดให้รัฐวิสาหกิจต่างประเทศเข้าร่วมประมูลได้ เป็นเพราะบริษัทรถไฟจีน เช่น บริษัท CRRC มีรัฐถือหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ ทีโออาร์กำหนดผู้ที่จะเข้ามาร่วมลงทุน จะต้องเป็นนิติบุคคลรายเดียวหรือมากกว่า 1รายร่วมกัน ในรูปกิจการร่วมค้าหรือจอยต์เวนเจอร์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ไม่น้อยกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละรายต้องมีสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) หรือการันตีไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้านบาท ใช้แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศได้ แต่ต้องมาเปิดสาขาอยู่ในประเทศไทย ชี้ กม.เปิดช่องต่างด้าว ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางดำเนินการกรณีบริษัทต่างด้าวเข้าร่วมประมูลไฮสปีดว่า กรณีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจใน EEC แบ่งเป็น 3 กรณี คือ หากเป็นคู่สัญญากับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ สามารถประกอบธุรกิจได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต เป็นไปตามกฎกระทรวงที่กำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 กรณีที่ต่างด้าวได้รับการส่งเสริมจาก BOI จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 12 และขอหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือหากคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะ จะได้รับยกเว้นตามมาตรา 10 และ 11 สามารถขอหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เช่นกัน “พ.ร.บ.อีอีซีไม่ได้มีบทบัญญัติให้สิทธิตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวฯ ทำให้การใช้สิทธิคนต่างด้าวไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่คนต่างด้าวได้รับการส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจในเขตดังกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถขอยกเว้นตามมาตรา 10” KBANK-SCB ร่วมชิงเค้ก ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แบงก์ก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าประมูลโครงการนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้ว เชื่อว่าการปล่อยกู้โครงการใหญ่ขนาดนี้อาจปล่อยกู้คนเดียวไม่ได้ ต้องปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารอื่น ๆ (syndicated loan) เช่นเดียวกับที่นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด multicorporate segment ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่ามีกลุ่มทุนมาหารือเรื่องนี้ แต่ต้องรอดูเงื่อนไขรายละเอียด TOR ก่อน บีทีเอส-ปตท. VS ซี.พี.-จีน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอกชนไทยที่สนใจเข้าประมูลโครงการ อาทิ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จะร่วมกับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี นอกจากนี้ บมจ.ปตท.ก็จะร่วมกับบีทีเอสด้วย, กลุ่ม ซี.พี.จะร่วมกับจีนและบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อปี 2558 อิโตชูร่วมกับ ซี.พี. ได้เข้าไปลงทุนใน บจ.ซิติก ลิมิเต็ด จากจีน โดยซิติก ลิมิเต็ด เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ของจีน มีธุรกิจหลากหลาย อาทิ การให้บริการทางการเงิน ทรัพยากร และพลังงาน การผลิต อสังหาฯ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้าง ก่อนหน้านี้ร่วมกับ ซี.พี. เข้าไปเสนอการลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองให้คมนาคมพิจารณา โตคิวร่วมจอยต์เวนเจอร์ ส่วนบริษัทต่างชาติที่สนใจ จะมีกลุ่มบริษัทรถไฟจากจีน บริษัทยุโรป ล่าสุดมีกลุ่มโตคิว จากญี่ปุ่น พันธมิตรพัฒนาโครงการคอนโดฯของ บมจ.แสนสิริ โดยนายโทชิยูคิ โฮชิโนะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า สนใจโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยและมิกซ์ยูสที่สถานีมักกะสัน และศรีราชา อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของโตคิวพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้เช่าที่ศรีราชา คิดว่าการพัฒนาโครงการรองรับกับรถไฟความเร็วสูง เช่น สถานีมักกะสัน ถ้ามีโอกาสก็อยากเข้าไปพัฒนา และสนใจการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในไทยด้วย สำหรับโตคิว คอร์ปอเรชั่น เริ่มต้นทำธุรกิจก่อสร้างทางรถไฟสาย เมกุโระ-คามาตะ ตั้งแต่ปี 2465 มีบริษัทในเครือ 220 บริษัท ส่วนการลงทุนในไทย มี บจ.โตคิว ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ เจ้าของห้างโตคิว ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์, บจ.โตคิว คอนสตรัคชั่น ร่วมกับ บมจ.ช.การช่าง ก่อตั้ง บจ.ช.การช่าง-โตคิว รับงานก่อสร้างทางหลวง สร้างโรงงานบริษัทญี่ปุ่น, บจ.โตคิว คอร์ปอเรชั่น และสหกรุ๊ป ตั้งบริษัทร่วมทุน สหโตคิว คอร์ปอเรชั่น บริหารอาคารอพาร์ตเมนต์ฮาโมนิค ในศรีราชา จ.ชลบุรี ที่มา : prachachat.net
Person read: 2273
30 May 2018
28 พฤษภาคม 2561 เมื่อเวลา 17.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมืองคลาร์ก ประเทศฟิลิปปินส์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดเอนกประสงค์ (SUV) 7 ที่นั่ง รุ่น TERRA แบบตัวถังบนแชสซีส์ตามคำสัญญาที่จะขยายตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับลูกค้าในประเทศฟิลิปปินส์สามารถสั่งจองนิสสัน เทอร์ราใหม่ล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันนี้ โดยการส่งมอบจะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ขณะที่นิสสันมีแผนเปิดตัวนิสสัน เทอร์รา ในประเทศไทยราวเดือนกรกฎาคมนี้ และประเทศอินโดนีเซียภายในปีงบประมาณนี้ (เม.ย. 2561 – มี.ค. 2562) ก่อนจะตามมาด้วยการทำตลาดในประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามต่อไป “นิสสัน เทอร์รา ใหม่ พัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จของนิสสัน เอสยูวีที่ยาวนานกว่า 60 ปี เช่น นิสสัน เพโทร (Nissan Patrol) ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากที่สุด” มร. อัชวานี กุปตา รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจโครงสร้างรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ของนิสสันกล่าว “สำหรับนิสสันเอสยูวีใหม่ได้ออกแบบให้เทอร์ราใหม่ มีความแข็งแกร่งรองรับทุกภารกิจการใช้งานในชีวิตประจำวันอย่างมั่นใจ ขณะเดียวกันยังช่วยให้ลูกค้าของเรา สามารถปลดปล่อยความจำเจ และออกผจญภัยได้อย่างเต็มที่” มร. อัชวานี กล่าวเสริม ทั้งนี้นิสสันเทอร์ราใหม่ พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเอสยูวีขนาดกลาง และลูกค้าที่กำลังมองหารถยนต์รุ่นใหม่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเซกเมนท์ของรถเอสยูวียังคงมียอดขายอยู่ในสามอันดับแรกในตลาด และถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคนี้และนิสสันเทอร์ราใหม่จะใช้ฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “นิสสัน เทอร์รา ใหม่ มีฐานการผลิตเพื่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งยืนยัน และแสดงถึงความมุ่งมั่นของนิสสัน ที่จะนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลูกค้าในภูมิภาคนี้” มร. ยูทากะ ซานาดะ รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียกล่าว “เทอร์ราใหม่ นับเป็นก้าวสำคัญล่าสุด ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์เชิงรุกสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ และเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินแผนงานระยะกลางของนิสสัน หรือ Nissan M.O.V.E. 2022 สำหรับภูมิภาคนี้อีกด้วย”มร. ซานาดะกล่าวเสริม นิสสันเทอร์ราใหม่ ตั้งชื่อตามภาษาละตินแปลว่า“โลก”(Earth)ได้รับการเปิดตัวสู่ภูมิภาคนี้วันนี้ ในพื้นที่ราบที่ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาไฟอันสูงตระหง่านของเมืองคลาร์ก ประเทศฟิลิปปินส์ นับเป็นตลาดลำดับที่สองในโลกหลังจากนิสสันเปิดตัวเทอร์ราเป็นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นิสสันเทอร์ราใหม่เป็นรถยนต์เอนกประสงค์แบบ7ที่นั่งสะดวกสบายด้วยพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่กว้างขวางที่สุดในระดับเดียวกัน มีฟังค์ชันการปรับและพับเบาะที่นั่งแถวที่สองที่พับได้เก็บได้แบบแบนราบเหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองและการผจญภัยบนเส้นทางออฟโรดร่วมกับครอบครับ และเพื่อนๆ “ความชาญฉลาดในการออกแบบรถยนต์เอนกประสงค์ให้มีสมรรถนะสูงมีพื้นที่ในห้องโดยสารกว้างขวางไม่เป็นรองใครเทคโนโลยีอัจฉริยะภายใต้แนวคิดนิสสัน อินเทลลิเจนท์โมบิลิตี้(Nissan IntelligentMobility) ทำให้ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงร่วมเดินทางไปด้วยกันได้อย่างมั่นใจ” มร. วินเซนต์วิจเนน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย กล่าว นิสสันเทอร์ราใหม่พัฒนาบนแชสซีส์อเนกประสงค์แบบขั้นบันได ซึ่งทำให้ตัวถังเหนียวแน่นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเหมาะกับการขับขี่บนทางแบบออฟโรดระบบกันสะเทือนด้านหลังเป็นแบบไฟว์-ลิงค์ คอยล์สปริง (five-link coil spring rear suspensionsystem) และเพลาหลังที่มั่นคงแข็งแรง สร้างความมั่นใจว่าความสะดวกสบายและความนุ่มนวลที่มาพร้อมกับความทนทานและความแข็งแกร่ง ในฟิลิปปินส์เครื่องยนต์ดีเซล YD25 มีสมรรถนะสูงสุด 190 แรงม้าและแรงบิดขนาด 450 นิวตันเมตรอัตราเร่งที่ดี และต่อเนื่องไม่เป็นรองใคร นิสสันเทอร์ราใหม่ยังโดดเด่นด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำหน้าเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยยิ่งกว่า และมั่นใจยิ่งขึ้นด้วย“นิสสัน อินเทลลิเจนท์โมบิลิตี้” ประกอบด้วยระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง (Lane Departure Warning)ระบบเตือนจุดบอดกับจุดอับสายตา (Blind Spot Warning) และกล้องอัจฉริยะมองรอบทิศทาง (IntelligentAroundViewMonitor) พร้อมระบบตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุและบุคคลที่เคลื่อนไหว (Moving Object Detection) นิสสันเทอร์ราเป็นรถเอสยูวีรุ่นแรกที่มาพร้อมกระจกมองหลังอัจฉริยะ (Smart Rear View Mirror) ช่วยให้ผู้ขับขี่มองเห็นทัศนวิสัยด้านหลังโดยไม่มีการบดบังในห้องโดยสารจากกล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังของรถ เทคโนโลยีความปลอดภัย ยังมาพร้อมการควบคุมที่ดียิ่งขึ้นด้วยระบบ 4WD-DIFF หรือ ดิฟเฟอเรนเชียล-ล็อก 4 ล้อ และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist) รวมถึง ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control) ที่ช่วยควบคุมความเร็วเมื่อขับขี่ลงในเส้นทางที่ลาดชัน รถยนต์เอสยูวีรุ่นนื้คือ ยนตรกรรมที่สมบูรณ์แบบสำหรับภูมิภาคนี้ด้วยระยะความสูงจากพื้นถึงท้องรถถึง225มม.ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการขับขี่บนถนนขรุขระและเส้นทางที่ไม่ราบเรียบ รวมถึงในพื้นที่น้ำท่วมอีกด้วย ที่มา : prachachat.net
Person read: 2643
30 May 2018
“สมคิด” ดันอาหารวาระแห่งชาติ สั่งพาณิชย์ตั้งทีมดันส่งออก-อัดงบฯปั้นสตาร์ตอัพ ด้านสมาคมทูน่าลุ้นไทยหลุดใบเหลืองหลังอังกฤษชมไทยแก้ IUU ดันส่งออกทูน่าโต 15% นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “กำหนดทิศธุรกิจอาหารไทยในยุค Digital Economy” ในงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX–World of Food Asia 2018 ว่า รัฐบาลต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารเป็นวาระแห่งชาติ มอบให้กระทรวงพาณิชย์จัดตั้งทีมอาหารไทย เพื่อผลักดันการส่งออกตามแนวทางครัวไทยสู่ครัวโลก พร้อมทั้งให้งบประมาณสนับสนุนกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหอการค้า และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เร่งสร้างสตาร์ตอัพด้านอาหารไทยกระจายไปทั่วโลก “อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 85% ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้จากการส่งออกปีละ 1 ล้านล้านบาท ทำให้มีการจ้างงานภาคเกษตร 20-30 ล้านคน ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารเป็นการบริโภคภายใน 70% ส่งออก 30% น้อยมาก มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพียง 2.3% ยังสามารถขยายได้ หากสนับสนุนสำเร็จจะช่วยการส่งออกภาพรวมโตเกินเป้าหมายที่วางไว้ 8% และช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งด้วย” นายสมคิด กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการผลิตอาหารให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย สร้างความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี และดิจิทัล เชื่อมโยงอุตสาหกรรมนี้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน ตลอดจนการป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย งาน THAIFEX 2018 จัดขึ้นตั้งแต่ 29 พ.ค.-2 มิ.ย. 2561 ณ เมืองทองธานี มีผู้ร่วมจัดงาน 2,537 ราย จาก 41 ประเทศ คาดการณ์จะมียอดขาย 11,500 ล้านบาท นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยภายหลังเวทีการประชุม การค้าทูน่าโลก ครั้งที่ 15 ว่า การส่งออกสินค้าประมงปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่า 98,000 ล้านบาท ขยายตัว 10-15% จากปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ที่ไม่ใช่สหภาพยุโรป อย่างกลุ่มละตินอเมริกา อย่างไรก็ตาม ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลภาวะอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพในระดับ 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหาร ส่วนราคาน้ำมันผันผวนยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกเทียบเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) สมาคมขอให้สมาชิกปฏิบัติตามหลักสากล ไม่รับซื้อสินค้าประมงผิด IUU และรัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหาด้วยดีตลอด 3 ปี จนทุกประเทศชื่นชมไทย โดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งไทยควรจะถูกยกเลิกใบเหลืองได้แล้ว ต้องถามกลับไปประเทศที่ประเมินทำไมเขายังคงใบเหลืองอยู่ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาแรงงาน ซึ่งสมาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ มาแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ยังต้องจับตาดูการประเมินการจัดอันดับแรงงานของสหรัฐ (TIP Report) ปีนี้ต่อไป นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ไทยเป็นผู้นำในการส่งออกทูน่า โดยในปี 2560 ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูป 485,461 ตัน มูลค่า 2,057 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าทูน่า 687,470 ตัน มูลค่า 1,307 ล้านเหรียญสหรัฐ “ไทยยึดความยั่งยืนของทรัพยากรปลาทูน่า ขจัดปัญหา IUU ล่าสุดได้ร่วมมือกับหน่วยงานอนุรักษ์ปลาโอดำ เป็นปลาทูน่าราคาแพง และอนาคตจะขยายผลไปที่ปูม้า โดยทำความเข้าใจกับชาวประมงอวนล้อม ส่วนอวนลากคู่และเดี่ยวซึ่งจับปลาไม่เหมือนกัน แม้มีความเห็นต่างกัน แต่เรามุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนให้ไทยปลอดปัญหานี้ ฟรีไอยูยู” ที่มา : prachachat.net
Person read: 2886
30 May 2018
10 โครงการยักษ์ลุยอีอีซีแปดริ้ว 20,000 ไร่ ผุดโปรเจ็กต์ลงทุนใหม่แสนล้าน “บางจาก” ซื้อที่ 5.8 พันไร่ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม เผย 2 นิคมเจ้าถิ่น TFD ขึ้นแห่งที่ 3 นิคม 304 รุกอสังหาฯ กลุ่มคาราบาวแดงตั้งนิคม Smart Green City Park ทำอุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม เล็งล็อบบี้ปรับผังเมืองเป็นพื้นที่สีม่วง หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปรากฎว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งรัฐบาลวางไว้เป็นเมืองใหม่ที่อยู่อาศัย กลับมีอุตสาหกรรมสนใจเข้าไปลงทุนจำนวนมาก แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายรายได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมกว่า 20,000 ไร่ เตรียมลงทุนโครงการขนาดใหญ่ประมาณ 10 โครงการ รวมมูลค่าลงทุนหลายแสนล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจพลังงาน 2 บริษัท โครงการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 2 แห่ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสุขภาพ รวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท แต่ทั้งหมดยังติดปัญหาอยู่ในพื้นที่สีเขียวไม่สามารถสร้างโรงงานได้ ที่สำคัญ โครงการเหล่านี้ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา (นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรม 304 และนิคมอุตสาหกรรม TFD 2) ไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาล เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สีม่วงให้สามารถลงทุนได้ โดยเฉพาะโครงการของเครือบริษัทบางจากมีถึง 2 โครงการ คือ การลงทุนของบริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอทำโครงการผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และนวัตกรรมด้านพลังงาน รวมทั้งการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียม ซึ่งเมื่อช่วงต้นปี 2560 บริษัท BCP Innovation Pte. Ltd. (BCPI) ในเครือบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 50 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท ใน Lithium Americas Corp. หรือ LAC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตรอนโต ประเทศแคนาดา และดำเนินโครงการเหมืองลิเทียมที่ประเทศอาร์เจนตินา และประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและนวัตกรรมพลังงาน ดังนั้น บางจากจึงมองหาโอกาสที่จะต่อยอดแร่ลิเทียมดังกล่าว คาดว่า 2 โครงการจะรวมมูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยบางจากมีที่ดินประมาณ 5,800 ไร่ ที่ติดปัญหาผังเมือง และโครงการขยายการลงทุนโรงงานผลิตเอทานอลของบริษัท บางจากไบโอเอทานอล จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้ง 2 โครงการตั้งอยู่บริเวณ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียวเขตเกษตรกรรม และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ มีโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทน โดยมีพื้นที่ประมาณ 2,500-3,000 ไร่ แต่ยังติดปัญหาพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 2 ราย คือ กลุ่มเตชะอุบล เจ้าของ บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) ผู้ประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี และนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 หลังจากขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 จำนวน 840 ไร่ได้หมด ได้เตรียมยื่นขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 3 มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ขึ้นใหม่บริเวณใกล้เคียงกับ 2 นิคมอุตสาหกรรมเดิม บริเวณ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีที่ดินไว้แล้วประมาณ 1,000 ไร่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินได้ เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่สีเขียวเช่นกัน รวมถึงบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 304 ได้เตรียมทำโครงการพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มบริเวณพื้นที่ อ.พนมสารคาม ใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม 304 ในปัจจุบัน โดยมีที่ดินประมาณ 1,000 ไร่ เตรียมไว้แล้ว ยังติดปัญหาพื้นที่สีเขียว แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ที่น่าสนใจคือ บริษัท เดอะซิตี้ จำกัด ของเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ซึ่งทำเครื่องดื่มชูกำลังได้โดดลงมาร่วมลง โดยได้เตรียมที่ดินไว้แล้วประมาณ 1,000 ไร่ ยื่นขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในชื่อ Smart Green City Park บริเวณ ต.บางวัวคณารักษ์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อทำอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอาหารสุขภาพ แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาผังเมืองเป็นพื้นที่สีเหลือง นอกจากนี้ ตระกูลเตชะไพบูลย์ ในนามบริษัท โลตัส วัลเล่ย์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสนามกอล์ฟ ได้เสนอทำกิจการโรงแรม ท่องเที่ยวและบริการ โดยมีที่ดินประมาณ 1,000 ไร่ แต่ติดปัญหาผังเมืองเช่นเดียวกัน รวมถึงบริษัท ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจกำจัดขยะมูลฝอยในอำเภอพนมสารคาม มีพื้นที่ 1,500 ไร่ ต้องการพัฒนาระบบกำจัดขยะมูลฝอยให้มีประสิทธิภาพครบวงจร แต่ไม่สามารถทำได้เพราะติดปัญหาผังเมืองเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีโรงงานอีกประมาณ 43 ราย รวมมูลค่าลงทุนเกือบ 50,000 ล้านบาท มีโครงการขยายกำลังการผลิต แต่ติดปัญหาเรื่องผังเมืองในพื้นที่สีเขียวเช่นกัน โดยมีธุรกิจหลัก ๆ เช่น พลังงาน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เหล็ก อาหารและเครื่องดื่ม เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์ เป็นต้น ที่มา: www.prachachat.net
Person read: 2397
25 May 2018
ในปี 2020 Gartner คาดว่าตลาด IoT จะมีจำนวนอุปกรณ์ถึง 2 หมื่นล้านชิ้นเลยทีเดียว วันนี้เราจึงนำเสนอบทความที่แนะนำ Startup ด้าน IoT ที่น่าสนใจและเลือก 5 บริษัทที่มีงบการระดมทุนสูงมานำเสนอว่า ภายใต้ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับจากการระดมทุนนั้นพวกเขามีไอเดียอะไรที่น่าจับตามองบ้าง 1.AlertMedia เป็นแพลตฟอร์มในการแจ้งเตือนสำหรับองค์กร มีทุนสนับสนุนกว่า 17 ล้านเหรียญเริ่มต้นก่อตั้งในปี 2013 พวกเขามองเห็นปัญหาว่าถ้าสามารถแจ้งเตือนภัยคุกคามได้เร็วก็จะสามารถบรรเทาหรือลดความเสียหายจากภัยที่อาจะเกิดกับ การปฏิบัติงาน ทรัพย์สิน หรือ พนักงาน ดังนั้นจึงมีการรวบรวมข้อมูลจาก เซ็นเซอร์ ระบบ พิกัด และอุปกรณ์อัจฉริยะของพนักงาน เพื่อกลายเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินแบบหลายช่องทาง สิ่งที่ AlereMedia เก็บอย่างเช่น สัญญานจากเครื่องวัดต่างๆ ยานพาหนะ พิกัด GPS หรืออื่นๆ และดึงความหมายของสิ่งเหล่านั้นออกมา โดยคาดหวังว่ามันจะช่วยลูกค้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภาวะสภาพอากาศเลวร้าย ภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัย ไฟไหม้ หรือ ไฟฟ้าดับได้ ในกรณีอื่นพวกเขากล่าวว่าได้นำไปใช้กับร้านอาหารเพื่อติดตามอุณหภูมิในระบบแช่เย็นเพื่อแจ้งผู้ดูแลกรณีอุณหภูมิไม่อยู่ในภาวะที่คาดหวัง อย่างไรก็ตามตลาดด้านบริการแจ้งเตือนเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีซึ่ง AlertMedia เองก็มีความสามารถไม่ใช่แค่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างที่ยกตัวอย่างดังนั้นมันจึงน่าจับตามองไม่น้อย สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ AlertMedia 2.Armis ด้วยทุนถึง 47 ล้านเหรียญที่ได้มา บริษัทได้โฟกัสไปที่การทำเรื่องของ IoT Security ปัญหาที่ทางบริษัทได้มองสาเหตุ 3 ประการคือ อุปกรณ์ IoT มักมีการเชื่อมต่อสู่อินเทอร์เน็ตโดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่ามันมักจะลัดผ่านความมั่นคงปลอดภัยโดยพื้นฐาน ไม่ออกแบบมารองรับการอัปเดต OS หรือ Firmware ดังนั้นมันมักมีช่องโหว่ ไม่มีความมั่นคงปลอดภัยโดยพื้นฐานภายใน เนื่องจากปัญหาของทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่าง หน่วยความจำ หรือ หน่วยประมวลผล ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะยัดตัวป้องกันมัลแวร์หรือการป้องกันด้านความมั่นคงปลอดภัยใส่ลงไป นอกจากนี้เพราะว่าตัวอุปกรณ์เองไม่ปลอดภัยทีม IT จึงมองไม่เห็นการเข้า-ออก ภายในเครือข่ายของอุปกรณ์เหล่านี้ อีกทั้งอุปกรณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยแบบเดิมๆ อย่าง Firewall, Network Access Control หรือ Security Agent จะไม่ปกป้องอุปกรณ์ที่ไม่ถูกบริหารจัดการเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เองสิ่งที่ Armis แก้ปัญหาคือ ทำให้องค์กรสามารถมองเห็นอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดได้โดยปราศจากตัว Agent ซึ่งสามารถเห็นได้ว่าอุปกรณ์เชื่อมต่อกับเครือข่ายอย่างไร เช่น ผ่านสาย หรือ ไร้สาย นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของอุปกรณ์โดยใช้ข้อมูลจาก ชื่อเสียงของอุปกรณ์ สถานะ การเชื่อมต่อ เวอร์ชัน กิจกรรมในอดีต และอื่นๆ พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้องค์กรเลือกที่จะตัดการเชื่อมต่อตัวอุปกรณ์ที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยหรือประสงค์ร้ายแบบ Manual หรืออัตโนมัติได้ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Armis 3.FogHorn Systems Startup รายนี้ได้ระดมทุนกว่า 47.5 ล้านเหรียญเพื่อใช้ในการผลิตซอฟต์แวร์ในระดับ Edge เพื่อตอบสนองการใช้งานของ IoT โดยแก้ปัญหาคือปกติแล้วโซลูชันระดับ Edge จะใช้นำข้อมูล Sensor มาเก็บไว้ก่อนส่งไปประมวลผลที่ Cloud ซึ่งในภาวะการใช้งานจริงเป็นไปได้ยากเพราะปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต ดังนั้นกว่าจะได้ประโยชน์จากข้อมูลก็ดูเหมือนช้าไปแล้ว สิ่งที่ FogHorn แก้ไขคือพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับภาคอุตสาหกรรมและโซลูชัน IoT ที่สามารถย่อขนาด และ ปรับกลไกของซอฟต์แวร์การประมวลผลที่ซับซ้อนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นมันสามารถปฏิบัติงานและวิเคราะห์ทำนายข้อมูลได้จาก Local อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้ทำให้เกิดการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเหมาะสมที่ระดับ Edge รวมถึงมี Heterogeneous Application ที่ใกล้กับต้นทางเพื่อควบคุมระบบและเซ็นเซอร์ทำให้มันมีความอัจฉริยะมากขึ้นเกิดขึ้นในระดับ Edge ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมจึงสามารถใช้ข้อมูลได้แบบ Real-time เพื่อตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพการผลิตและวางแผนลด Downtime ได้เช่นกัน สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ FogHorn.io 4.Flutura Decision Sciences เป็นแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานข้อมูลจาก IoT ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองโจทย์ทั่วไปอย่างการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิต ลด Downtime และสร้างสรรค์โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ จากข้อมูลล่าสุดที่ได้มา ทาง Flutura ได้สร้างแอปที่เรียกว่า ‘Nano Apps’ เพื่อแก้ปัญหาแบบ Vertical เช่น อุตสาหกรรมแก๊สและน้ำมันโดยการติดตามประสิทธิภาพของหัวจ่ายด้วยการให้ข้อมูลที่ได้มาจากเซ็นเซอร์กับโมเดล AI เพื่อตอบโจทย์ที่ต้องการ พร้อมทั้งมีการคิดราคาแบบ OPEX ตามจำนวนอุปกรณ์ หรือ รายเดือน แม้ว่าจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง GE Predix และ Siemens ที่ทำตลาดมาก่อนหน้าแล้วแต่จุดเด่นของ Flutura คือการโฟกัสตลาดอย่างอุตสาหกรรมแก๊สและน้ำมัน ซึ่งแม้จะพัฒนาเพิ่มเติมเพียงน้อยนิดแต่อาจจะนำมาซึ่งความคุ้มทุนมหาศาล พร้อมทั้งโมเดลการคิดราคาอันชาญชลาดเพื่อให้ผู้สนใจสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้และด้วยทุน 8.5 ล้านเหรียญ ทำให้ Flutura น่าจะเข้ามาตลาดนี้ได้อย่างดีทีเดียว สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Flutura 5.MagicCube บริษัทนี้ได้มองเรื่อง IoT Security เช่นกันแต่มองปัญหาไปในเรื่องที่ IoT นั้นไม่มีความมั่นคงปลอดภัยของชิปหรือซิมเพื่อบริหารจัดการระบุตัวตน เชื่อมต่อจากระยะไกลหรืออื่นๆ โดยการป้องกันด้านความมั่นคงปลอดภัย Transaction ของมือถือนั้นทำได้โดย Secure Element (SE) และ Trusted Execution Environment (TEE) ปัญหาคือ SE ในซิมการ์ดหรือ EMV ชิปบนบัตรจ่ายเงินมีความมั่นคงปลอดภัยสูงแต่ค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนก็สูงตามมา ส่วนในพาร์ทของ TEE คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาในหน่วยประมวลผลหลักเพื่อปกป้อง Integrity ของแอปพลิเคชันที่จะถูก Execute แต่การทำอย่างนั้นมันก็ซับซ้อนและกินทรัพยากรสูงซึ่งมันมักจะใช้กับแอปพลิเคชันสำคัญอย่างการชำระเงินผ่านมือถือ สิ่งที่ MagicCube ทำคือใช้ Software Container ซึ่งมั่นใจว่าปลอดภัยโดยไม่ต้องอาศัยเรื่อง TEE บนชิปและให้ชื่อว่า ‘The Cube‘ Sam Shawki ผู้ก่อตั้งบริษัทได้ให้ทัศนะว่า “เชิงคอนเซปต์อาจมองได้ว่า Cube คือ Virtual Chip” โดยตัว Cube นั้นมี OS ของตัวเองที่ใช้ Memory และ CPU จากโฮสต์ที่มันวางอยู่ ดังนั้นแม้จะรันอยู่ในระบบปฏิบัติการที่ถูกแทรกแซงมันก็ยังช่วยรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ อีกทั้งยังรอดจาก Side-channel attack ที่เกิดกับตัวชิป Physical ได้ นอกจากนี้ตัว Cube มีอายุไม่นานนักเพราะมันจะถูกเรียกขึ้นมาทำงานและหายไปภายในประมาณ 350 มิลลิวินาที สิ่งที่วิศวกรทุกคนต้องทำคือคอมไพล์แอปพลิเคชันออกใหม่หรืออุปกรณ์ IoT ด้วย SDK ของ MagicCube โดยไม่ต้องมีแอปแยกต่างหากและไม่มีการแก้ไขใดๆ เพิ่มบน OS ของอุปกรณ์ ด้วยเพียงหนึ่ง API เท่านั้นก็สามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ Virtual Container ภายในหน่วยความจำได้ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ MagicCube ที่มา : https://www.networkworld.com/article/3270961/internet-of-things/10-hot-iot-startups-to-watch.html ที่มา : https://www.techtalkthai.com/5-iot-startup-companies-that-you-should-not-miss/
Person read: 2381
22 May 2018