ข่าวประชาสัมพันธ์

จักรทิพย์ ไม่ลงผู้ว่ากทม. ไม่ได้กลัวแพ้ แต่มีเหตุผล

ภาพจากเฟซบุ๊ก จักรทิพย์ ชัยจินดา หลังมีรายงานข่าวว่า่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. จึงมีการวิเคราะห์หาสาเหตุว่าเกิดจากเรื่องใด วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 กรณีมีรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประกาศต่อหน้าผู้สมัคร ส.ก. ที่ให้การสนับสนุน ว่า “ตัดสินใจว่าจะไม่ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.แล้ว” โดยให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่ให้ถอนตัวเพื่อไปทำงานการเมืองด้านอื่น สร้างความตกใจให้กับผู้สนับสนุน เนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น จักรทิพย์ ไม่ลงชิงผู้ว่าฯกทม. ผู้ใหญ่ให้ถอนตัวไปทำงานด้านอื่น ล่าสุด ข่าวสด รายงานว่า สาเหตุการตัดสินใจถอนตัวของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เนื่องจากความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. ต้องการส่ง ส.ก. ในนามพรรค พปชร. รวมถึงจะสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. สมัยหน้าด้วย จึงเท่ากับว่าจะต้องไปแข่งกันเอง ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ เคยกล่าวว่าไม่ต้องการแข่งกับ พล.ต.อ.อัศวิน ซึ่งเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่มีความใกล้ชิดกัน ตั้งแต่สมัยเป็นข้าราชการตำรวจ จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย รายงานข่าวแจ้งอีกว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่ได้กลัวแพ้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ที่ผลโพลมีคะแนนนำ เนื่องจากนายชัชชาติยังจะต้องไปแย่งฐานเสียงเดียวกับกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย หรือแม้แต่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลก็ตาม แต่สาเหตุหลักคือไม่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพต้องลำบากใจ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใหญ่ขอมาให้ถอนตัว และอาจจะให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ไปทำงานการเมืองด้านอื่นแทน จักรทิพย์ ลงผู้ว่าฯ กทม. ลั่นมี “พรรคพวก” ปัดปมปัญหาในพลังประชารัฐ เปิดประวัติ บิ๊กแป๊ะ จักรทิพย์ ชัยจินดา แคนดิเดต ผู้ว่า กทม.คนที่ 17 สงครามตัวแทน ศึกผู้ว่าฯ กทม. “เพื่อไทย-บิ๊กแป๊ะ” ในอุโมงค์สปอนเซอร์ คน กทม. อยากได้ผู้ว่าฯชื่อ “ชัชชาติ” เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใคร เป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 6” สำรวจระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง   จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯกทม. พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.74 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 27.92 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 3 ร้อยละ 13.66 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อันดับ 4 ร้อยละ 9.33 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 5 ร้อยละ 4.10 ระบุว่าเป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล อันดับ 6 ร้อยละ 3.26 ระบุว่าเป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 7 ร้อยละ 2.73 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 8 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 9 ร้อยละ 1.97 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 10 ร้อยละ 1.29 ระบุว่าเป็น นายสกลธี ภัททิยกุล อันดับ 11 ร้อยละ 1.14 ระบุว่า ไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) และจะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 1.52 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ผู้สมัครจากพรรคกล้า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัครจากพรรคไทยสร้างไทย ผู้สมัครจากพรรคไทยภักดี และเฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯกทม. ครั้งที่ 5 เดือนกันยายน 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และไปลงคะแนน ไม่เลือกใคร (Vote NO) มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังไม่ตัดสินใจ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และนายสกลธี ภัททิยกุล มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-793775    

จำนวนผู้อ่าน: 1365

02 พฤศจิกายน 2021

จี้รัฐแก้ปม 300 โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ หวั่นจีนกินรวบ

จีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ จี้รัฐแก้ปม 300 โรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ หวั่นจีนกินรวบยก “ซัพพลายเชน” มาไทย ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย มีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ 2.นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทคซิตี้ 3.นิคมอุตสาหกรรม 304 ปาร์ก 4.นิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟดี 2 และเป็น 1 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) มีโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ กว่า 2,000 แห่ง “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมจังหวัดและทิศทางการลงทุนในหลายด้าน “โควิด” ทำอุตฯชะลอตัว “จีรทัศน์” เล่าว่า ภาพรวมภาคอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราตอนนี้ชะลอตัวเล็กน้อย แต่พอขับเคลื่อนไปได้หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันภายในจังหวัดสามารถควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่ง ด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.ควบคุมโรค 2.ควบคุมการเดินทาง 3.ควบคุมคน 4.มาตรการเผชิญเหตุ ทำให้มีการระบาดน้อยลง ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรามีโรงงานทั้งหมด 2,000 แห่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก มีแรงงานทั้งหมดประมาณ 100,000 คน ทางสภาอุตสาหกรรมได้มีการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างโรงงานกับภาครัฐ รวมถึงติดตามสถานการณ์และช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน หากผ่านพ้นสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้ คาดว่าในอนาคตภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะสามารถขับเคลื่อนได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง อาทิ1.เป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน 2.อยู่ใกล้สนามบิน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออก-นำเข้าสินค้า 3.ท่าเรือแหลมฉบัง 4.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จี้รัฐกระตุ้นการค้า-ลงทุน “สำหรับสถานการณ์เรื่องการค้าการลงทุน ตอนนี้อยากให้ภาครัฐปลดล็อกมาตรการการควบคุมต่าง ๆ เช่น มาตรการเคอร์ฟิว ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไม่สะดวกเท่าที่ควร เพราะต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อนทุกครั้งส่งผลให้การขนส่งล่าช้ามากขึ้น หากภาครัฐยกเลิกเคอร์ฟิว หรือลดขั้นตอนต่าง ๆแต่ยังอยู่ในภายใต้การควบคุม จะทำให้สถานการณ์ดีมากขึ้น” นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาในรูปของโครงการต่าง ๆ ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในระดับหนึ่งแต่อยากให้ภาครัฐมีการผลักดันมาตรการที่ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมโดยตรงมากกว่า โดยเฉพาะการกระตุ้นการค้าและการลงทุน อยากให้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการคล้ายกับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสุดท้ายคือภาครัฐต้องประกาศทิศทางในการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทราให้ชัดเจน เช่น หากจะผลักดันด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตรถยนต์ ก็ต้องซัพพอร์ตให้เต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมก้าวต่อไปได้   “จีรทัศน์” บอกว่า อยากผลักดันให้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตอนนี้การลงทุนในฉะเชิงเทราค่อนข้างจะคึกคัก โดยเฉพาะ 1.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การขอพื้นที่ตั้งศูนย์กระจายสินค้า อาทิ Shopee Lazada 2.อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด มีนักธุรกิจในประเทศลงทุนตั้งโรงงานผลิต อาทิ แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ มีกลุ่มบริษัทพลังงานลงทุนตั้งโรงงานขนาดใหญ่ใช้พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีการสร้างโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ มีการขอจดทะเบียนกว่า 10 โรงงาน “ตอนนี้ที่นิคมอุตสาหกรรม BP กำลังผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้กรุงเทพฯ มีการขับเคลื่อนไปในระดับหนึ่ง และที่นิคมอุตสาหกรรมบลูเทคฯกำลังสร้างโรงงานอยู่ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ ซึ่งเรามองว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยเลย ถ้ามีโซลาร์เซลล์มากเท่าไหร่จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดพลังงานไปได้เยอะ และเมื่อผ่านพ้นโรคโควิด-19ไปได้ ควรจะมีการผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งของจังหวัดฉะเชิงเทราอีกด้วย” โรงงานชิ้นส่วนหวั่นทุนจีนกินรวบ ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความกังวลว่า ในอนาคตที่มีการเชิญชวนนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะถ้านักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนทั้งซัพพลายเชน อาทิ นำบริษัทผลิตเครื่องจักร บริษัทผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ กลุ่มผู้ให้บริการ รวมถึงกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ ของจีนเข้ามาด้วย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยขายสินค้าได้น้อยลง ประเด็นนี้ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรามีการพูดคุยกันอยู่ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นจะทำอย่างไร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นสันดาปของจังหวัด ที่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่ในฉะเชิงเทรากว่า 300 แห่ง อาจจะเกิดการปิดตัวลงจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนกำลังปรับตัวไปผลิตเครื่องมือทางการแพทย์มากขึ้น ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐจับตามองนักธุรกิจจีนด้วย ไม่ใช่มอบสิทธิพิเศษทางภาษีให้เข้ามาลงทุนโดยไม่มองถึงข้อเสีย และหากไม่มีการช่วยเหลือผลักดันผู้ประกอบการภายในประเทศเลยก็คงสู้ต่างชาติไม่ไหว ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้มีการพูดกับทางภาครัฐมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อยากให้รัฐบาลคิดถึงผู้ประกอบการคนไทย ช่วยกันระดมความคิดทำอย่างไรถึงจะผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยแข็งแรง อย่ามองแต่เพียงการลงทุนจากต่างประเทศ คิดถึงคนไทยให้เหมือนกับคิดถึงคนต่างประเทศที่จะมาลงทุนด้วย รัฐบาลไทยมอบสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนให้นักลงทุนต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษี 5-7 ปี แต่ผู้ประกอบการไทยจ่ายเต็มก็ไม่ไหว สถานประกอบการเราจะไปไม่รอด   “ขอให้คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยอยู่รอด และปรับตัวขึ้นสู่อุตสาหกรรมใหม่ได้ ภาครัฐมีคนทำงานที่เก่งจำนวนมาก ต้องผลักดันช่วยเหลือผู้ประกอบการคนไทยให้จริงจังอย่างเป็นรูปธรรม” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-791792

จำนวนผู้อ่าน: 1388

02 พฤศจิกายน 2021

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง 3 ราย

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง 3 ราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง สังกัดสำนักงานศาลปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ดังนี้   1. นายเจตน์ สถาวรศีลพร ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง (พนักงานคดีปกครองทรงคุณวุฒิ) 2. นางจิตผ่อง อภัยสันติพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบังคับคดีปกครอง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง (พนักงานคดีปกครองทรงคุณวุฒิ) 3. นายชำนาญ ทิพยชนวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง (เจ้าหน้าที่ศาลปกครองทรงคุณวุฒิ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-793754

จำนวนผู้อ่าน: 1731

02 พฤศจิกายน 2021

ศบค.พบผู้ป่วยโควิดวันนี้ (2 พ.ย.) 7,574 ราย ATK ติดเชื้อเพิ่ม 2,113 คน

ศบค.พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่วันนี้ (2 พ.ย.) เพิ่ม 7,574 ราย เสียชีวิต 78 ราย ผลตรวจ ATK ติดเชื้อเพิ่ม 2,113 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 8,279 ราย ฉีดวัคซีนได้เพิ่มอีกกว่า 6 แสนโดส วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาลและศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานข้อมูลเบื้องต้นสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 7,574 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 6,793 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 256 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 515 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 10 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,898,900 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) วันนี้มีผู้ป่วยหายป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 8,279 ราย หายป่วยสะสม 1,782,555 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) ผู้ป่วยกำลังรักษา 98,444 ราย และเสียชีวิต 78 ราย ทางด้านกรมควบคุมโรครายงานเพิ่มเติมว่า วันนี้ยังมีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่จำนวน 98,444 ราย อยู่ในรพ. 42,170 ราย อยู่ในรพ.สนามและอื่นๆ 56,274 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 2,219 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 473 ราย สำหรับผลตรวจ ATK วันนี้พบผู้ติดเชื้อเข้าข่าย 2,113 คน รวมสะสม 276,656 คน คิดเป็นร้อยละของการตรวจเชื้อเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันอยู่ที่ 13.93%   ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 วันนี้ฉีดได้เพิ่มอีกกว่า 6 แสนโดส เฉพาะเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 42.37 ล้านราย ครอบคลุมประชากร 58.83% เข็มที่ 2 อยู่ที่ 31.1 ล้านราย ครอบคลุมประชากร 43.24% ศบค. จับตา 10 จังหวัด ติดเชื้อพุ่งสวนทางเปิดประเทศ สั่งผู้ว่าฯ เฝ้าระวังเข้ม สรุปจำนวนผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 วันที่ 1 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 11,754 ราย : เสียชีวิต 123 ราย วันที่ 2 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 11,375 ราย : เสียชีวิต 87 ราย วันที่ 3 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,828 ราย : เสียชีวิต 77 ราย วันที่ 4 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,930 ราย : เสียชีวิต 97 ราย วันที่ 5 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,869 ราย : เสียชีวิต 92 ราย วันที่ 6 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,866 ราย : เสียชีวิต 102 ราย วันที่ 7 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 11,200 ราย : เสียชีวิต 113 ราย วันที่ 8 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 11,140 ราย : เสียชีวิต 116 ราย วันที่ 9 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,630 ราย : เสียชีวิต 73 ราย วันที่ 10 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,817 ราย : เสียชีวิต 84 ราย วันที่ 11 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,035 ราย : เสียชีวิต 60 ราย วันที่ 12 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,445 ราย : เสียชีวิต 84 ราย วันที่ 13 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,064 ราย : เสียชีวิต 82 ราย วันที่ 14 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 11,276 ราย : เสียชีวิต 112 ราย วันที่ 15 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,486 ราย : เสียชีวิต 94 ราย วันที่ 16 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,648 ราย : เสียชีวิต 82 ราย วันที่ 17 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,863 ราย : เสียชีวิต 68 ราย วันที่ 18 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 10,111 ราย : เสียชีวิต 63 ราย วันที่ 19 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,122 ราย : เสียชีวิต 71 ราย วันที่ 20 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 8,918 ราย : เสียชีวิต 79 ราย วันที่ 21 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,727 ราย : เสียชีวิต 73 ราย วันที่ 22 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,810 ราย : เสียชีวิต 66 ราย วันที่ 23 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,742 ราย : เสียชีวิต 74 ราย วันที่ 24 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,351 ราย : เสียชีวิต 56 ราย วันที่ 25 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 8,675 ราย : เสียชีวิต 44 ราย วันที่ 26 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 7,706 ราย : เสียชีวิต 66 ราย วันที่ 27 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 8,452 ราย : เสียชีวิต 57 ราย วันที่ 28 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,658 ราย : เสียชีวิต 84 ราย วันที่ 29 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 8,968 ราย : เสียชีวิต 64 ราย วันที่ 30 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 9,224 ราย : เสียชีวิต 88 ราย วันที่ 31 ตุลาคม 2564 : ผู้ติดเชื้อ 8,859 ราย : เสียชีวิต 47 ราย วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ผู้ติดเชื้อ 8,165 ราย : เสียชีวิต 55 ราย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-793729

จำนวนผู้อ่าน: 1366

02 พฤศจิกายน 2021

ประยุทธ์ เชิญ โจ ไบเดน ร่วมประชุมเอเปคปีหน้า

ประยุทธ์ เชิญ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ร่วมประชุมเอเปคปีหน้าที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ด้าน บอริส จอห์นสัน นายกฯสหราชอาณาจักร ชมไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเวลา 21.00 น.ของวันที่ 1 พ.ย.2564 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ตรงกับเวลา 04.00 น.ของประเทศไทย เวลาที่เมืองกลาสโกว์ช้ากว่าประเทศไทย 7 ชั่วโมง) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสมัยที่ 26 ( COP26) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย พบปะพูดคุยพร้อมทั้งเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำ COP 26 หลังจากได้พบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียนสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมสอบถามถึงสถานการณ์โควิด 19 รวมทั้งเชิญประธานาธิบดีไบเดน เยือนไทยในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation )ในเดือนพฤศจิกายน 2565   นอกจากนี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ทักทายพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ เช่นกันพร้อมกล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นพยายามของไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 พร้อมทั้งขอบคุณนายกรัฐมนตรีของไทยที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย   นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีของไทยยังได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆกับบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมอีกหลายประเทศ COP 26 วันแรก “ประยุทธ์” ถกผู้นำโลก วาระ Climate Change ประยุทธ์ กำชับมาตรการเฝ้าระวัง แผนเผชิญเหตุ พอใจภาพรวมเปิดประเทศ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-793736

จำนวนผู้อ่าน: 1370

02 พฤศจิกายน 2021

กรมอุตุฯเตือน 12 จังหวัดใต้ฝนยังตกหนัก กทม.วันนี้ฝน 40% ของพื้นที่

ภาพจากเฟซบุ๊ก จส.100 กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณตะวันออกของแหลมมลายู 12 จังหวัดภาคใต้ยังมีฝนตกหนักร้อยละ 60-70ของพื้นที่ ขณะที่ภาคเหนือมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนกทม.และปริมณฑลวันนี้มีฝน 40% ของพื้นที่ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงยังคงแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มีลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณตะวันออกของแหลมมลายู ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี และระยอง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร   ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-793731

จำนวนผู้อ่าน: 1399

02 พฤศจิกายน 2021

ราคาน้ำมันวันนี้ (2 พ.ย.) เช็กราคาดีเซล-แก๊สโซฮอล์ล่าสุด

Photo by Gustavo Fring from Pexels ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมันวันนี้ (2 พ.ย.64) อ้างอิงข้อมูลจาก ปั๊มน้ำมันบางจาก แก๊สโซฮอล์ 95 จำหน่ายที่ราคาลิตรละ 32.55 บาท ส่วนแก๊สโซฮอล์ 91 จำหน่ายที่ราคาลิตรละ 32.28 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลล่าสุด ราคาอยู่ที่ 29.54 บาท ดีเซล B7 ราคา 29.69 บาท และดีเซลพรีเมี่ยม (Hi Premium Diesel S B7) อยู่ที่ 35.06 บาท สำหรับราคาน้ำมันในวันพรุ่งนี้ ยังไม่มีประกาศเปลี่ยนแปลง ตามข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 06.58 น. ที่ผ่านมา สรุปราคาน้ำมันวันนี้ เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ • แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 32.55 บาท • แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 32.28 บาท • แก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 31.04 บาท • แก๊สโซฮอล์ E85 ลิตรละ 24.44 บาท   ดีเซล • ดีเซล B7 ลิตรละ 29.69 บาท • ดีเซล B10 ลิตรละ 29.54 บาท • ดีเซล B20 ลิตรละ 29.44 บาท • ดีเซลพรีเมี่ยม ลิตรละ 35.06 บาท หมายเหตุ : ราคาอ้างอิงจาก บมจ.บางจากฯ ควรตรวจสอบราคา ณ สถานีเติมน้ำมันอีกครั้ง ราคาข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่ กทม. ราคาพรุ่งนี้จะมีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-793726

จำนวนผู้อ่าน: 1434

02 พฤศจิกายน 2021

ราคาบิตคอยน์วันนี้ (2 พ.ย.) ขยับขึ้น 2.15% อยู่ที่ 62,105.70 เหรียญสหรัฐ

ราคาบิตคอยน์ประจำวันนี้ (2 พ.ย.) ขยับขึ้น +2.15% เมื่อเทียบกับราคาเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อน มาอยู่ที่ 62,105.70 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2,068,119.81 บาท มูลค่าซื้อขายรวม 35.79 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามข้อมูลล่าสุด เมื่อเวลา 6:56 น. ที่ผ่านมา สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาเหรียญดิจิทัลคริปโทเคอร์เรนซีชนิดอื่นๆ Ethereum ขยับขึ้น 1.52% Binance Coin ขยับขึ้น 3.29% และ Dogecoin ขยับขึ้น 4.6% ในช่วง 24 ชั่วโมง สรุปราคาเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี   1. Bitcoin (BTC) ราคา 62,105.70 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +2.15% 2. Ethereum (ETH) ราคา 4,327.30 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +1.52% 3. Binance Coin (BNB) ราคา 539.36 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +3.29% 4. Tether (USDT) ราคา 1.00 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +0.01% 5. Cardano (ADA) ราคา 01.98 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +1.62% 6. USD Coin (USDC) ราคา 1.00 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง 0.00% 7. XRP (XRP) ราคา 1.10 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง -0.48% 8. Polkadot (DOT) ราคา 44.42 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +6.27% 9. SHIBA INU (SHIB) ราคา .00 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +10.22% 10. Dogecoin (DOGE) ราคา .27 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนแปลง +4.60% หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่ควรใช้เพื่อการตัดสินใจลงทุนหรือซื้อขาย ผู้อ่านควรตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทาง www.sec.or.th ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-793724

จำนวนผู้อ่าน: 1427

02 พฤศจิกายน 2021

โลกขาดแคลนแรงงาน ซ้ำเติมห่วงโซ่อุปทาน-เศรษฐกิจ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก นงนุช สิงหเดชะ เมื่อเริ่มแรกที่โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง มันทำลายเศรษฐกิจ และแน่นอนว่าทำให้คนทั่วโลก “ตกงาน” มหาศาล แต่สถานการณ์ในขณะนี้กลับดูเหมือนตรงข้าม หลังจากชาติเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลกเร่งฉีดวัคซีนจนสามารถเปิดเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ความต้องการของผู้บริโภคพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอั้นมานาน จนภาคการผลิตปรับตัวรองรับไม่ทัน สุดท้ายก็เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานสะดุด “แรงงาน” คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้คือการขาดแคลนแรงงาน เพราะถึงแม้จะมีการเปิดรับตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่ง แต่กลายเป็นว่าภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถหาแรงงานได้ ซึ่งบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างกังวล เพราะสถานการณ์เช่นนี้ซ้ำเติมปัญหาห่วงโซ่อุปทาน กล่าวได้ว่าทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลกในขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของประชากร อย่างเช่น ประชากรอายุมากขึ้น การเกษียณก่อนกำหนด การควบคุมพรมแดน การจำกัดผู้อพยพ ตลอดจนความต้องการจะได้รับค่าจ้างสูงขึ้น หรือต้องการเงื่อนไขการทำงานที่ยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่นในอเมริกา ข้อมูลแรงงานล่าสุด บ่งชี้ว่าหลังโควิดคลี่คลายและเปิดเศรษฐกิจ มีแรงงานจำนวนมากเต็มใจจะทิ้งงานเดิมหรือไม่ก็เปลี่ยนไปทำงานอื่น โดยในเดือนสิงหาคมปีนี้มีตำแหน่งงานเปิดรับ 10.4 ล้านตำแหน่ง แต่กลับมีจำนวนผู้ออกจากงาน 4.3 ล้านตำแหน่ง เป็นอัตราทิ้งงานสูงสุดนับจากเดือนธันวาคมปี 2000 ซึ่งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือที่อยู่อาศัยและบริการอาหาร ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไอเอ็นจี ระบุว่า แม้การระบาดของโควิด-19 จะขับเน้นให้เห็นสภาพการขาดแคลนแรงงานทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และยูโรโซน แต่แท้จริงรากเหง้าของปัญหาเกิดขึ้นก่อนมีโควิด-19 การขาดแรงงานที่มีทักษะไม่ใช่แค่อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังการล็อกดาวน์เศรษฐกิจ แต่ยังเป็นผลของพัฒนาการเชิงพื้นฐานในประเทศเหล่านี้ โดยกรณีของอเมริกา ซึ่งเศรษฐกิจกลับมาเติบโตเต็มที่ ชดเชยสิ่งที่เสียไปในช่วงการระบาดได้ทั้งหมด มีการเปิดรับสมัครงานมากกว่า 10 ล้านตำแหน่งทั่วทุกภาคส่วน พร้อมกับที่บรรดานายจ้างขึ้นค่าจ้างเพื่อจูงใจ แต่ปรากฏว่ายังขาดแคลนแรงงาน ทำให้การผลิตสินค้าและบริการเป็นไปอย่างจำกัดและเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ คำอธิบายหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับกรณีของอเมริกาก็คือ บรรดาครัวเรือนออมเงินมากขึ้นและไม่มีความจำเป็นต้องรีบกลับไปทำงาน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นน่าจะเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อาจทำให้การขาดแคลนแรงงานเป็นปัญหาถาวรก็เป็นได้โดยทีมของไอเอ็นจีเชื่อว่า คนทำงานสูงวัยจำนวนมากพากันเกษียณก่อนกำหนด การกลับไปทำงานออฟฟิศสำหรับหลายคนไม่น่าพึงพอใจอีกต่อไป เพราะว่าตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นมาก ทำให้ผลตอบแทนเงินบำนาญเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นมาก การเกษียณก่อนกำหนดจึงเป็นทางเลือกที่ดึงดูดใจมากกว่า นอกจากนี้การปิดพรมแดนทำให้จำนวนผู้อพยพลดลง อัตราการเกิดต่ำ ย่อมหมายถึงมีคนหนุ่มสาวเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง   “หากข้อสันนิษฐานนี้ถูกต้อง การขาดแคลนแรงงานอาจเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดไว้ สภาวะเช่นนี้จะบีบให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ ต้องขึ้นค่าจ้างเพื่อรักษาคนงานเอาไว้ นั่นหมายถึงว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะมากขึ้น
จนเฟดอาจต้องตอบสนองด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด” ส่วนกรณีของสหราชอาณาจักร การขาดแคลนแรงงานถูกซ้ำเติมโดยเบร็กซิต เมื่อโควิดระบาด คนงานต่างชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญพากันเดินทางกลับประเทศ ขณะเดียวกันเงื่อนไขการออกวีซ่าให้กับแรงงานต่างชาติหลังเบร็กซิต ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับคนงานสหภาพยุโรปที่จะทำงานในสหราชอาณาจักร ดังนั้นก็เป็นเรื่องยากอย่างถาวร สำหรับบริษัทต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักรที่จะจัดหาแรงงานจากต่างประเทศ สหราชอาณาจักรก็เหมือนยุโรป กล่าวคือ กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นกัน โดยที่ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มเติบโตช้าลงในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลของมันจะเป็นแบบเดียวกับสหรัฐคือ ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งจะฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-792128

จำนวนผู้อ่าน: 1384

02 พฤศจิกายน 2021

COP 26 วันแรก “ประยุทธ์” ถกผู้นำโลก วาระ Climate Change

การประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 เริ่มแล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรีของไทย ร่วมถกผู้นำโลก เรื่องสภาพภูมิอากาศโลก  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 12.00 น ตามเวลาท้องถิ่น ประเทศสกอตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26หรือ COP 26 โดยมีผู้นำจากทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรสเปนและประธานการประชุม COP25 จะกล่าวถ้อยแถลงเป็นอันดับแรก และพล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวในช่วงบ่าย การประชุมครั้งนี้นี้ได้รับความสนใจอย่างคับคั่งจา.กทั้งประเทศที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนจากทั่วโลก ทำให้สถานที่ประชุมมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จำนวนมาก และรอสัมภาษณ์ผู้นำในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งบรรยากาศภายนอกการประชุม มีกลุ่มผู้แสดงความคิดเห็น และเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องอยู่หน้าที่ประชุมด้วย ก่อนการประชุม เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. น. ( เวลา 18.50 น.ตามเวลาประเทศไทย) พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเข้าห้องประชุมโดยใช้เส้นทางปกติ เพื่อดูบรรยากาศ และเปิดโอกาสให้สื่อต่างประเทศได้ถ่ายภาพ โดยกล่าวภายหลังติดตามการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของไทยว่า “ยินดีกับการท่องเที่ยวเมื่อเช้า ได้รับการรายงานอย่างต่อเนื่อง ขอให้คนไทยทุกคนทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี” ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เวลาระหว่างรอพิธีการเปิดการประชุมฯ พบปะทักทายกับผู้นำจากทั่วโลก อย่างเป็นกันเอง ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน รวมทั้ง การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปกในปีหน้าด้วย (2565) อาทิ นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายอันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก นายโจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และนายซาบาห์ อัล-คาลิด อัล-ซาบาห์ นายกรัฐมนตรีคูเวต การพบปะครั้งนี้ ได้มีการใช้ข้อศอกชนเพื่อทักทายกันแทนการจับมือ ถือเป็นการทักทายรูปแบบใหม่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ก่อนขึ้นไปบนเวทีเพื่อพบกับนายบอริส จอหน์สัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประยุทธ์ ขึ้นโชว์วิสัยทัศน์ เมื่อเวลา 15.50 น ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเป็นภาษาไทย ต่อที่ประชุม COP 26 ว่า “ผมมาร่วมประชุมวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน” “ในปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ ๐.๗๒ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ   ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC ฉบับปรับปรุงปี 2020 และจัดทำแผนงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุด ไทยได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้ วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมย์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 ขณะนี้ประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และไทยจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า “สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว และโลกกำลังบอกเราว่าการประทุษร้ายธรรมชาติต้องยุติเพียงเท่านี้ เพื่อการดำรงไว้ซึ่งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศที่ทุกคนต้องหายใจร่วมกัน ดังนั้น มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิดและมีความอดทนอย่างสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี “แผนสอง” ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี “โลกที่สอง” ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว” ภาพประยุทธ์ ถกผู้นำโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมและนายซาบาห์ อัล-คาลิด อัล-ซาบาห์ นายกรัฐมนตรีคูเวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายอันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม และนายบอริส จอหน์สัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-793665

จำนวนผู้อ่าน: 1332

02 พฤศจิกายน 2021

เอไอเอส เปิดงบ 9 เดือนรายได้โต 3.3% ลุยลงทุนขยาย 5G ต่อ

เอไอเอส เปิดงบไตรมาส3 รายได้รวมโต 1.6% ขณะที่รายได้รวม 9 เดือนแรกปีนี้โต 3.3% จากธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านและธุรกิจลูกค้าองค์กร เดินหน้าลงทุนโครงข่าย 5Gต่อ หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโต วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า การทำงานของ AIS ตลอดทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการนำศักยภาพขององค์กรทั้งโครงข่ายเทคโนโลยีและบริการด้านดิจิทัลในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้มีความครอบคลุมและพร้อมให้บริการมากที่สุด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและใช้งานได้จริง ทำให้วันนี้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต หรือแม้แต่ภาคธุรกิจ สามารถใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลมาเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น จนเกิดการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปี 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 42,377 ล้านบาท เติบโต 1.6% เทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ของปีนี้ อยู่ที่ 6,374 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2564) อยู่ที่130,995 ล้านบาทเติบโตขึ้น 3.3% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 20,059 ล้านบาท ลดลง 1% เทียบกับปีก่อน โดยผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้     – ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้ 9 เดือนลดลง 1.6% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 87,653  ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ ประกอบกับการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง สำหรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G หลังจากที่ได้ขยายเครือข่ายครบ 77 จังหวัด และมีความครอบคลุมกว่า 42% ของจำนวนประชากร ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 5G แล้วกว่า 1.5 ล้านราย และคงเป้าหมายฐานลูกค้าสู่ 2 ล้านรายภายในปีนี้  – ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีรายได้รอบ 9 เดือนเติบโตสูงที่ 20% เทียบกับปีก่อน ซึ่งในไตรมาส 3 ปี 2564 มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นสุทธิ 133,000 ราย สูงที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส โดยปัจจุบัน AIS Fibre มีลูกค้ารวม 1,668,900 ราย และทะลุเป้าหมาย 1.6 ล้านครัวเรือน ณ สิ้นปีนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเรียนที่บ้าน (Learn from Home) – ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ยังคงแข็งแกร่งและมีรายได้รอบ 9 เดือนเติบโตได้ดีที่ 16% เทียบกับปีก่อน จากความต้องการใช้บริการโซลูชันต่างๆ ทั้ง Cloud, Cybersecurity และ ICT solution เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา พร้อมเปิดตัวบริการที่ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การทำงานร่วมกับ OMRON เปิดตัวโซลูชันใหม่ Industry 4.0 ภาคการผลิตอัจฉริยะ Smart Manufacturing เต็มรูปแบบ หรือแม้แต่การผนึกกำลังกับ AIS 5G ผนึกกำลัง Mitsubishi Electric และ ทีเคเค ส่งเทคโนโลยี Total Industrial Solution ด้วย e-F@ctory บนศักยภาพ 5G ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิตในประเทศ และล่าสุดกับบริการด้าน Cyber Security ระดับโลกแบบครบวงจรสำหรับการใช้งานภายในองค์กรเพื่อตรวจจับและป้องกันภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ ผ่านการทำงานร่วมกับ Palo Alto Networks  นายสมชัย กล่าวว่า เอไอเอสเชื่อมั่นว่าโครงข่าย 5G ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมหาศาล สิ่งที่ AIS ตั้งใจทำมาโดยตลอดหลังจากที่เราได้เปิดตัวการให้บริการ AIS 5G คือการนำประสบการณ์ใช้งานที่เหนือกว่ามาให้คนไทยได้สัมผัสภายใต้เป้าหมายการเป็นผู้นำด้าน Digital Life Service Provider จนถึงวันนี้ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องตามแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของ 5G ให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดิจิทัลที่พร้อมแข่งขันในเวทีโลก สามารถใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการดึงดูดนักลงทุนสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับโอกาสใหม่ๆ หลังเปิดประเทศ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-793703

จำนวนผู้อ่าน: 1373

02 พฤศจิกายน 2021

ศักดิ์สยาม ถกสหพันธ์ขนส่งฯ จัด Truck Power อย่าให้คนเดือดร้อน

“ศักดิ์สยาม” รับบทเจ้าภาพเชิญ “สหพันธ์ขนส่ง” -กระทรวงพลังงาน”ถกข้อเรียกร้องลดค่าน้ำมัน เตรียมนำข้อเสนอเรียน”นายกฯ-ครม.” วอนชุมนุมในที่ตั้ง อย่าสร้างความเดือดร้อน ด้านสหพันธ์ฯขอคมนาคมเบรกขึ้นค่าทางด่วน วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ผู้แทนสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเข้าพบ เพื่อชี้แจงถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ  นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้ให้สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเข้าพบเพื่อชี้แจงถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และชี้แจงถึงแนวทางการจัดกิจกรรม truck power เพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาล โดยกระทรวงพลังงาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาการนำน้ำมันปาล์มออกจากสัดส่วนการผสมของน้ำมันดีเซล เนื่องจากปัจจุบันราคาปาล์มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าน้ำมันดีเซลถึง 2 เท่าตัว เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลสามารถลดลงได้ถึงลิตรละ 2 บาท  2. ขอให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง พิจาณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันสูงถึงเกือบ 6 บาท ให้ลดลง 3 บาท  การลดราคาทั้ง 2 ปัจจัย สามารถทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงเหลือลิตรละ 25 บาท ตามข้อเรียกร้อง และเน้นย้ำว่าราคาน้ำมันไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงภาคการขนส่งเท่านั้น ยังกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและต้นทุนของภาคการเกษตร ซึ่งในช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวและลำเลียงสินค้าการเกษตรเข้าสู่กระบวนการผลิต ราคาน้ำมันที่สูงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม   ทั้งนี้ ในส่วนของผู้แทนกระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่าได้ดำเนินการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอลดอัตราภาษีสรรพสามิต ส่วนในประเด็นการปรับสัดส่วนน้ำมันปาล์มออกจากน้ำมันดีเซล คณะกรรมการนโยบายพลังงานมีมติยังคงสัดส่วนดังกล่าวไว้ตามเดิม อย่างไรก็ตาม สหพันธ์ฯ ยืนยันว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะดำเนินการโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงเป็นไปภายใต้กรอบของกฎหมาย และเน้นย้ำขอให้รัฐบาลทบทวนการนำน้ำมันปาล์มออกจากน้ำมันดีเซลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประเทศโดยส่วนรวม โดยจะติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งก่อนที่จะพิจารณาจัดกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นการหารือในวันนี้จะนำเรียนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดทราบ และหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมทั้งนำประเด็นข้อเรียกร้องหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้  โดยในส่วนของการจัดกิจกรรม truck power ได้เน้นย้ำขอให้ดำเนินการในสถานที่ตั้งของผู้ประกอบการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน  นอกจากนี้ สหพันธ์ฯ ยังขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่าทางด่วนที่จะมีการปรับขึ้นถึง 2 เท่าตัว ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนภาคการขนส่งด้วยเช่นกัน โดยกระทรวงคมนาคมจะได้หารือกับผู้ได้รับสัมปทานถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-793696

จำนวนผู้อ่าน: 1328

02 พฤศจิกายน 2021

คลายล็อก “รถไฟ” เปิดบริการเดินรถเพิ่ม 46 ขบวน เริ่ม 1 พ.ย. 64

รับมาตรการคลายล็อก-ยกเลิกเคอร์ฟิว “รถไฟ” เปิดบริการเดินรถเพิ่ม 46 ขบวน เริ่ม 1 พ.ย. 64 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมาตรการผ่อนคลายการเดินทาง และยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทุกจังหวัด ยกเว้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 7 จังหวัด  การรถไฟฯ ได้ปรับการเดินขบวนรถให้สอดคล้องกับสภาพการเดินทางและรองรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยเพิ่มการให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ และขบวนรถเชิงสังคมจำนวน 46 ขบวน ได้แก่  เส้นทางสายเหนือ 10 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 16 ขบวน สายใต้ 6 ขบวน สายตะวันออก 4 ขบวน และสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย 10 ขบวน รวมทั้งปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางในบางขบวนใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษาและนักท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีขบวนรถที่ให้บริการในเส้นทางต่าง ๆ ดังนี้  สายเหนือ  ขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 6 ขบวน – ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13/14  กรุงเทพ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ (เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564) – ขบวนรถด่วนที่ 107/108  กรุงเทพ – เด่นชัย – กรุงเทพ  – ขบวนรถเร็วที่ 111/112  กรุงเทพ – เด่นชัย – กรุงเทพ  ขบวนรถเชิงสังคม จำนวน 4 ขบวน     – ขบวนรถธรรมดาที่ 207/208  กรุงเทพ – นครสวรรค์ – กรุงเทพ  – ขบวนรถธรรมดาที่ 209/210  กรุงเทพ – บ้านตาคลี – กรุงเทพ สายตะวันออกเฉียงเหนือ  ขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 4 ขบวน  – ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 21/22  กรุงเทพ – อุบลราชธานี – กรุงเทพ  – ขบวนรถเร็วที่ 133/134  กรุงเทพ – หนองคาย – กรุงเทพ  ขบวนรถเชิงสังคม จำนวน 12 ขบวน  – ขบวนรถชานเมืองที่ 339/340  กรุงเทพ – ชุมทางแก่งคอย – กรุงเทพ – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 419/420  นครราชสีมา – อุบลราชธานี – ลำชี – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 423/424  ลำชี – สำโรงทาบ – นครราชสีมา – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 425/422  ลำชี – อุบลราชธานี – ลำชี – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 431/432  ชุมทางแก่งคอย – ขอนแก่น – ชุมทางแก่งคอย – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 439/440 ชุมทางแก่งคอย – ชุมทางบัวใหญ่ – ชุมทางแก่งคอย   สายใต้  ขบวนรถเชิงสังคม จำนวน 6 ขบวน  – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 455/456  ชุมทางหาดใหญ่ – ยะลา – ชุมทางหาดใหญ่  (ไม่มีเดินช่วงนครศรีธรรมราช – หาดใหญ่ – นครศรีธรรมราช)  – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 489/490  สุราษฎร์ธานี – คีรีรัฐนิคม – สุราษฎร์ธานี  – ขบวนรถท้องถิ่นที่ 485/486  กาญจนบุรี – น้ำตก – กาญจนบุรี (ไม่มีเดินช่วงหนองปลาดุก – กาญจนบุรี – หนองปลาดุก) สายตะวันออก  ขบวนรถเชิงพาณิชย์ จำนวน 1 ขบวน – ขบวนรถพิเศษที่ 997/998  กรุงเทพ – บ้านพลูตาหลวง – กรุงเทพ  (ให้บริการตั้งแต่วันที่  6 พฤศจิกายน 2564) ขบวนรถเชิงสังคม จำนวน 1 ขบวน  – ขบวนรถธรรมดาที่ 281/282  กรุงเทพ – กบินทร์บุรี – กรุงเทพ สายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ จำนวน 10 ขบวน   – ขบวนรถธรรมดาที่ 4308/4309 มหาชัย – วงเวียนใหญ่ – มหาชัย – ขบวนรถธรรมดาที่ 4310/4311 มหาชัย – วงเวียนใหญ่ – มหาชัย – ขบวนรถธรรมดาที่ 4326/4327 มหาชัย – วงเวียนใหญ่ – มหาชัย – ขบวนรถธรรมดาที่ 4328/4329 มหาชัย – วงเวียนใหญ่ – มหาชัย – ขบวนรถธรรมดาที่ 4340/4341 มหาชัย – วงเวียนใหญ่ – มหาชัย นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ ได้ทยอยปรับเพิ่มการเดินรถให้สอดรับกับการผ่อนคลายมาตรการของ ศบค. เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอและเหมาะสมต่อการให้บริการแก่ประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการทั้งสิ้น 108 ขบวนต่อวัน เป็นขบวนรถเชิงพาณิชย์ 26 ขบวน และขบวนรถเชิงสังคม 82 ขบวน โดยแบ่งตามเส้นทางเป็นสายเหนือ 22 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 24 ขบวน สายใต้ 30 ขบวน สายตะวันออก 16 ขบวน สายมหาชัย 12 ขบวน  และสายแม่กลอง 4 ขบวน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-793666

จำนวนผู้อ่าน: 1379

02 พฤศจิกายน 2021

ดอลลาร์แข็งค่าหลังการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐ

ภาวะการเคลื่อนไหวปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 33.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าหลังการเปิดเผยข้อมูลเงิน โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไปพุ่งขึ้น 4.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2514 ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ นอกจากนี้ นายเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ จะทำการคัดเลือกประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ โดยในรายงานระบุว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนปัจจุบันนั้น มีแนวโน้มที่จะได้ครองเก้าอี้ต่อไปเป็นสมัยที่ 2 แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบุคคลอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วยเช่นกัน ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนบางรายแสดงความวิตกกังวลว่า ตลาดการเงินอาจจะเผชิญกับความผันผวน หากท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีไบเดนเลือกประธานเฟดคนใหม่ที่พลิกโผจากการคาดการณ์ สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น กระทรวงการคลังได้เพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 จำนวน 1,500 บาทต่อคน โดยนำไปรวมกับวงเงินสิทธิคงเหลือจากรอบที่ 1 และรอบที่ 2 โดยอัตโนมัติ รวมเป็นวงเงินสุทธิที่ได้รับจำนวนทั้งสิ้น 4,500 บาทต่อคนตลอดระยะเวลาโครงการ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี มอบหมายทุกภาคส่วนราชการจัดเตรียมมาตรการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ หลังจากเปิดประเทศในวันนี้ โดยเปิดประเทศเพิ่มจาก 46 เป็น 63 ประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว นักวิชาการชี้การเปิดประเทศจะช่วยสร้างรายได้ 5 หมื่นล้านในช่วง 2 เดือนสุดท้าย หนุนเศรษฐกิจสกัดจีพีดีร่วง แม้เสี่ยงโควิดกลับมาระบาด โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.32-33.48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 1.1558/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 1.1652/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อในแถบยูโรโซนนั้น สำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) เปิดเผย อัตราเงินเฟ้อของประเทศในยูโรโซนเดือนตุลาคม ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 19 ประเทศปรับตัวขึ้นแตะ 4.1% ในเดือนตลุาคม จากระดับ 3.4% ในเดือนกันยายน และมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 3.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1546-1.575 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1571/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับการเคลื่นไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/11) ที่ระดับ 114.14/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/10) ที่ระดับ 113.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี ส่งผลให้เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคญี่ปุ่นประจำเดือนตุลาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง เนื่องจากยอผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศลดลงมาก จนส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกภาวะฉุกเฉินในทุกพื้นที่ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่สองคนขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4 จุดจากเดือนกันยายน มาอยู่ที่ 39.2 จุดในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ระดับ 39.5 จุดในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโรคโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยน เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.03-114.46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.25/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ   ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ต.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือน ก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ต.ค.ของจีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +1.00/+1.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.00/+3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ   ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-793643

จำนวนผู้อ่าน: 1414

02 พฤศจิกายน 2021

“ท่าเรือ” ลดภาระผู้ประกอบการลดค่าขน-ค่าเช่าพื้นที่หลังท่า 3 เดือน รวม 400 ล้าน

การท่าเรือสนับสนุนเงิน 400 ล้าน บรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประกอบการและประชาชนสู้ COVID-19 ลดค่าภาระตู้ 3 เดือน แก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ท่าเรือกรุงเทพ ลดค่าเช่าพื้นที่หลังท่าแหลมฉบัง 20% 3 เดือนพ่วงจ่ายคืนค่าขน 1,000 บาท/ทีอียู เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.ดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในช่วงเวลาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คิดเป็นมูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและชุมชนโดยรอบทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) สู้โควิด โดยได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้แก่ ปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพในอัตรา 1,000 บาท ต่อทีอียู. เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2564) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลของท่าเรือกรุงเทพ เป็นจำนวนเงินประมาณ 5,280,000 บาท เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ซึ่งในส่วนของท่าเรือแหลมฉบัง มีการชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าให้แก่เอกชนผู้ประกอบการ โดยจ่ายส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู. เป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นจำนวนเงินประมาณ 384,000,000 บาท พร้อมทั้งปรับลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าพื้นที่หลังท่า ทลฉ. ยกเว้นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ กลุ่มผู้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งเสาโทรคมนาคม ผู้เช่าพื้นที่ใต้ดินสำหรับวางท่อส่งก๊าซ และบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งมีลักษณะของธุรกิจหรือลักษณะของการทำงานที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โดยปรับลดค่าเช่าลงร้อยละ 20 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลา 3 เดือน และขยายระยะเวลาการชำระค่าเช่าหรือค่าตอบแทน โดยไม่คิดค่าปรับกรณีล่าช้าตลอดระยะเวลาการผ่อนผันไม่เกิน 1 เดือน ของแต่ละรอบการชำระค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญาสำหรับผู้เช่าพื้นที่หลังท่าทุกกลุ่ม สำหรับการช่วยเหลือประชาชน กทท. ได้ดำเนินโครงการ “ท่าเรือสู้ COVID-19 ไปด้วยกัน” โดยมอบเงินจำนวน 1.06 ล้านบาท ให้กับชุมชนโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 25 ชุมชน นำไปจัดซื้อหน้ากากอนามัยแบบผ้า (ซักได้) ซึ่งตัดเย็บโดยคนในชุมชนคลองเตย เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้ และจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (2 in 1) พร้อมเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์แบบเจลระบบอินฟาเรด และแบบเติม รวมทั้งสนับสนุนเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อร่วมแบ่งปันและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ได้มอบเงินจำนวน 100,000.- บาท สนับสนุนผู้นำชุมชนร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) เพื่อนำไปจัดซื้อน้ำยาฉีดพ่นฆ่าเชื้อไวรัสภายในชุมชน รวมทั้งจัดโครงการ “The Local Market ตลาดรอบการท่าเรือเพื่อคนคลองเตย” ด้วยการเปิดพื้นที่ขายของบริเวณอาคารที่ทำการ กทท. เป็นประจำทุกเดือน เพื่อช่วยให้ชาวชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ กทท. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการก้าวไปด้วยกัน ก้าวไปได้ไกล ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-611875

จำนวนผู้อ่าน: 2856

11 กุมภาพันธ์ 2021

น้ำมันปาล์มราคาสูง ส่งผลดีเกษตรกร จุรินทร์ ยันไม่เป็นสินค้าควบคุม

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ยืนยันไม่ประกาศ “น้ำมันปาล์ม” เป็นสินค้าควบคุม ชี้ราคาสูงส่งผลต่อดีต่อเกษตรกร วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมันมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงถึงกิโลกรัมละ 7.50 บาท ทำให้ต้นทุนผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดสูงขึ้นตามไปด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น พาณิชย์สั่งตรวจสอบการจำหน่าย “น้ำมันปาล์มขวด” ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์พยายามหารือกับผู้ประกอบการหากเป็นสต๊อกเดิมก็ต้องจำหน่ายในราคาเดิม ห้ามขายเกินราคา หากเป็นสต๊อกใหม่ ขอให้ขายพยายามคุมราคาขายไว้เท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นายจุรินทร์ ระบุว่า ตนได้กำชับให้กรมการค้าภายใน (คน.) หารือกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ต้องให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ พร้อมยอมรับว่า หากไปกดราคาปาล์มที่เกษตรกรควรได้รับลง เพื่อจะได้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในราคาที่ต่ำลง จะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ ส่วนจะประกาศให้น้ำมันปาล์มกลับมาเป็นเป็นสินค้าควบคุมราคาสูงสุดหรือไม่นั้น เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะยังสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยการทำตารางผลผลิต ราคา ต้นทุน เพื่อกำหนดราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นที่ยอมรับ “แม้ว่าจากราคาผลปาล์มที่สูงขึ้นก็ต้องยอมรับว่า ราคาน้ำมันปาล์มอาจสูงขึ้นไปมากกว่า 42 บาทต่อขวด แต่ภายใต้การประสานงานของกรมการค้าภายในกับผู้ผลิต ยังสามารถกดราคาลงได้แม้ว่าจะสูงกว่าราคาก่อนหน้านี้บ้าง ซึ่งต้องเข้าใจเพราะราคาผลปาล์มต่างกันมาก” “เราต้องมอง 2 ด้าน คือในช่วงนี้ผลปาล์มราคาดีเพราะผลผลิตออกมาน้อย ส่งผลดีต่อเกษตรกร ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าใจ แต่ในเดือนมีนาคม ที่จะถึงนี้ ผลผลิตจะทยอยออกมามากขึ้นตามฤดูกาล กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์ปริมาณและราคาอย่างใกล้ชิด เพราะราคาตอนนั้นอาจตกลงมาได้” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำมันปาล์มเคยเป็นสินค้าควบคุมที่กำหนดราคาสูงสุด แนะนำให้จำหน่ายที่ราคา 42 บาท แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการยกเลิกให้ราคาแนะนำ เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-611862

จำนวนผู้อ่าน: 2387

11 กุมภาพันธ์ 2021

ไบเดนประกาศ “คว่ำบาตร” กองทัพเมียนมา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหาร

Photo by SAUL LOEB / AFP ไบเดนเตรียมมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมียนมา มุ่งโจมตีผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้บัญชาการทหารที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกภายในครอบครัว วันที่ 11 ก.พ. 2564 สำนักข่าวเอ็นบีซีรายงานว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐ แถลงการณ์ว่า จะมีมาตรการคว่ำบาตรต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมียนมา และเรียกร้องให้กองทัพโอนคืนอำนาจไปยังรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตย การคว่ำบาตรครั้งนี้มุ่งโจมตี ประโยชน์ทางธุรกิจของผู้บัญชาการทหารและสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร โดยไบเดนจะเปิดเผยรายชื่อกลุ่มแรกที่จะโดนมาตรการคว่ำบาตร ตั้งแต่อาทิตย์นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ รัฐบาลไบเดนได้เตรียมจำกัดควบคุมการส่งออกไปยังเมียนมา และระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ผลประโยชน์ (freeze asset) แต่จะยังคอยสนับสนุนบริการทางการแพทย์ และกิจการอื่น ๆ ที่ช่วยเหลือประชากรเมียนมาโดยตรง ไบเดนระบุว่า ต้องการให้ทหารเมียนมาปล่อยตัวนักการเมืองและนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกคุมขัง โดยกองทัพต้องสละอำนาจที่ได้ยึดครองมา และแสดงความนับถือต่อเสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เมื่อปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ “พล.อ.มิน อ่อง ลาย” ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา กล่าวว่าต้องรัฐประหารประเทศ เนื่องจากทางคณะกรรมการตรวจสอบการเลือกตั้งล้มเหลวในการตรวจสอบความผิดปกติในผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง และทางพรรคการเมืองไม่ได้หาเสียงอย่าง “ยุติธรรม” ซึ่งผลการเลือกตั้งจากครั้งนั้น “อองซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) รวมทั้งสมาชิกพรรคชนะขาดลอย โดย ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนทั่วประเทศได้ออกมาประท้วง แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา และการเข้าไปคุมตัว “อองซาน ซูจี” สมาชิกภายในพรรคเอ็น แอล ดี รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-611878

จำนวนผู้อ่าน: 2390

11 กุมภาพันธ์ 2021

หุ้น OR เทรดวันแรก 26.50 บาท นักลงทุนรับกำไร 47.2%

หุ้น OR เทรดวันแรก 26.50 บาท นักลงทุนรับกำไร 47.2% ราคาหุ้นยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น OR เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนี้เป็นวันแรก พบว่า ราคาเปิดการซื้อขาย (Open Price) อยู่ที่ 26.50 บาท ปรับขึ้น 47.2% จากราคาจองซื้อ (IPO Price) ที่ 18.00 บาท โดยราคาหุ้นยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์ เปิดเผยว่า วันนี้นับเป็นวันสำคัญของการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ทั้งสำหรับ โออาร์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อหุ้น OR ซึ่งเป็นหุ้น IPO ที่มีการทำรายการจองซื้อหุ้นที่สูงที่สุดในตลาดทุนไทย ด้วยจำนวนกว่า 530,000 รายการ ได้เข้าทำการซื้อขายเป็นวันแรก การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ การเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นจะช่วยให้ โออาร์ สามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งใจไว้ คือ การเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชนผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดย โออาร์ มีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ไปขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ ลงทุนในคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและศูนย์กระจายสินค้า ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก และลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และ/หรือชำระคืนเงินกู้ยืม (ถ้ามี) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของ โออาร์ และบริษัทย่อย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะต่อยอดความสำเร็จและความชำนาญสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก “เรามั่นใจว่านักลงทุนที่เชื่อมั่นในศักยภาพและร่วมเป็นเจ้าของ OR จะเติบโตไปกับเราในฐานะผู้นำในการดำเนินธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ อย่างผสมผสานกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยแนวคิด “Retailing Beyond Fuel” ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ พัฒนาสินค้าและบริการที่ตรงใจผู้บริโภค ควบคู่กับการสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างยั่งยืนและสมดุล” นางสาวจิราพรกล่าวเสริม ในวันแรกของการเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โออาร์ จะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 116,100 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 2,610 ล้านหุ้น (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ในราคาเสนอขายหุ้นละ 18 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุนรวม 46,980 ล้านบาท (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาเสนอขาย (IPO) 208,980 ล้านบาท ภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โออาร์ จะมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นประมาณ 77.5% (ภายใต้สมมติฐานว่า ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) ไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนเกินจาก โออาร์ ทั้งจำนวน) โดย โออาร์ มีนโยบายจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30.0% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองตามที่กฎหมายและข้อบังคับของ โออาร์ กำหนด โดยต้องไม่เกินกว่ากำไรสะสมของ โออาร์ หุ้น OR เข้าเทรดวันนี้ (11 ก.พ.) มาร์เก็ตแคปกว่า 2 แสนล้าน นักลงทุนรายย่อยตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก “รวมพลคนถือหุ้น OR” รวมพลังสู้ขาใหญ่ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-611866

จำนวนผู้อ่าน: 2251

11 กุมภาพันธ์ 2021

หุ้นไทยวันนี้ (11 ก.พ.) เปิดตลาด +1.50 จุด ดัชนีอยู่ที่ 1,518 จุด

ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ (11 ก.พ.) ดัชนี SET Index เปิดตลาด อยู่ที่ระดับ 1,518.44 จุด ปรับขึ้น +1.50 จุด หรือคิดเป็น +0.10% มีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท เมื่อเวลา 10:00:40 น. ขณะที่ดัชนี SET50 ปรับขึ้น +1.32 จุด คิดเป็น +0.14% อยู่ที่ 951.60 จุด มูลค่าซื้อ-ขายรวม อยู่ที่ 1,434 ล้านบาท คิดเป็นราว 31.87% ของ SET ทั้งหมด 10 อันดับหุ้นที่มีมูลค่าซื้อ-ขายโดดเด่นที่สุด 1. OR : 2,318.89 ล้านบาท ราคา +7.00 บาท (+38.89%) 2. PTTEP : 338.09 ล้านบาท ราคา +3.00 บาท (+2.70%) 3. KTC : 110.10 ล้านบาท ราคา +1.50 บาท (+2.19%) 4. PTT : 108.80 ล้านบาท ราคา +0.25 บาท (+0.61%) 5. GULF : 95.24 ล้านบาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 6. PTG : 71.60 ล้านบาท ราคา +0.10 บาท (+0.55%) 7. AOT : 66.84 ล้านบาท ราคา +0.25 บาท (+0.39%) 8. GPSC : 46.31 ล้านบาท ราคา +0.25 บาท (+0.31%) 9. KBANK : 45.81 ล้านบาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 10. GLOBAL : 42.16 ล้านบาท ราคา -0.40 บาท (-1.96%) ส่วนตลาด mai ปรับลง -0.36 จุด คิดเป็น -0.09% สวนทางกับ SET อยู่ที่ระดับ 378.79 จุด มูลค่าซื้อขาย 74.34 ล้านบาท หมายเหตุ: ข้อมูลเพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โปรดตรวจสอบข้อมูลอย่างเป็นทางการจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-611859

จำนวนผู้อ่าน: 2115

11 กุมภาพันธ์ 2021

บทวิเคราะห์ ราคาทองคำวันนี้ (11 ก.พ. 2564) โดย YLG Bullion

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รายงานราคาทองคำประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 สรุป ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 90.23 และปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งนี้ สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี หลังการเปิดเผยดัชนี CPI พื้นฐานของสหรัฐที่ทรงตัวในเดือน ม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ธ.ค. และแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ม.ค. นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากถ้อยแถลงของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยืนยันว่า นโยบายการเงินจะผ่อนคลายและเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป จนกว่าจะเห็นตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดวงเงิน QE พร้อมกันนี้ พาวเวลล์ ยังระบุอีกว่า อัตราการว่างงานที่แท้จริงสหรัฐยังคงอยู่ใกล้ 10% ไม่ใช่ทีระดับ 6.3% ตามรายงาน NFP ในเดือน ม.ค. สถานการณ์ดังกล่าวกดดันดอลลาร์ให้อ่อนค่า จนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,855.26 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะเกิดแรงขายทำกำไรสลับออกมา ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -1.74 ตันสู่ระดับ 1,146.60 ตัน ในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -24.14 ตัน สำหรับวันนี้ ติดตามการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ ขณะที่ปริมาณการซื้อขายทองคำในตลาดเอเชียอาจเบาบางกว่าปกติ เนื่องจากตลาดทองคำของจีนจะเริ่มปิดทำการในวันนี้เป็นวันแรกเนื่องในเทศกาลตรุษจีน และจะปิดทำการต่อเนื่องไปจนถึงวันพุธหน้า เน้นเก็งกำไรในกรอบจากการแกว่งตัว หากราคาไม่สามารถยืนเหนือ 1,855-1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เสี่ยงเปิดสถานะขาย โดยตัดขาดทุนหากผ่านแนวต้านในโซน 1,875 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับการปิดสถานะขายเพื่อทำกำไรอาจพิจารณาดูบริเวณ 1,830-1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถยืนได้ให้ชะลอการเข้าซื้อคืนออกไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-611852

จำนวนผู้อ่าน: 1999

11 กุมภาพันธ์ 2021

กทม.อากาศวันนี้คุณภาพดี ฝุ่นเกินมาตรฐาน 3 พื้นที่

กทม.อากาศวันนี้คุณภาพดี ฝุ่นเกินมาตรฐาน 3 พื้นที่ หนองแขม หนองบอน ทวีวัฒนา วันที่ 11 ก.พ. 2564 ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร เวลา 07.00 น. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ 21-74 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 3 พื้นที่ คือ 1.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 74 มคก./ลบ.ม. 2.เขตบางบอน ใกล้ตลาดบางบอน : มีค่าเท่ากับ 58 มคก./ลบ.ม. 3.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 51 มคก./ลบ.ม. ดัชนีคุณภาพอากาศของสถานีตรวจวัดของกรุงเทพมหานคร: ส่วนใหญ่อยู่ในระดับคุณภาพดี คำแนะนำ คุณภาพอากาศดีมาก-ดี: สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยวได้ตามปกติ คุณภาพอากาศปานกลาง: ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ: ให้ประชาชนทั่วไปในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานให้เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร: อากาศเย็น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-611846

จำนวนผู้อ่าน: 2008

11 กุมภาพันธ์ 2021

เปิดพอร์ต “คีรี” 4 แสนล้าน จ่อเซ็นสัญญาร่วมรัฐบาลประยุทธ์

พอร์ตงานใหญ่ใต้ปีกของ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอส กำลังรอการอนุมัติ เซ็นสัญญา เดินหน้าโครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.6 แสนล้านบาท โดยรวมดูเหมือนจะฉลุย แต่สุดท้ายต้องมาติดหล่ม จนทำให้ไม่สามารถปิดดีลได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่แค่สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังรอไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายสัญญาให้อีก 30 ปี ที่ติดหล่ม “คมนาคม” จนกลายเป็น “วิบากกรรม” ลามไปถึงสนามประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) เค้กก้อนใหญ่ที่วงการรับเหมาและผู้ประกอบการเดินรถหมายตา แต่สุดท้ายล้มกลางคัน รอวันนับหนึ่งยื่นประมูลใหม่ ในพอร์ตยังมีงานใหญ่รอเซ็นสัญญา งานจ้างติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 39,138 ล้านบาท มีกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP gross cost 30 ปี งานนี้ BTS ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราช กรุ๊ป โดยกดราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางร่วม 21,948 ล้านบาท ทิ้งห่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และกลุ่มยูนิคฯและไชน่า คอมมิวนิเคชั่น แบบขาดลอย แม้จบประมูลกันมากว่า 1 ปี ผ่านการประทับตราจาก “ครม.” แล้ววันที่ 21 ก.ค. 2563 จนถึงขณะนี้โครงการยังไม่มีทีท่าจะได้เซ็นสัญญา ล่าสุดติดปมปรับแบบก่อสร้าง 17 ตอนของสายบางปะอิน-โคราช ที่มีงบฯก่อสร้างเพิ่มประมาณ 6,000 ล้านบาท ทำให้ยังไม่ได้รับไฟเขียวจาก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม “กรมทางหลวงต้องเคลียร์ 17 ตอนให้เสร็จก่อน ถึงจะส่งมอบพื้นที่และเซ็นสัญญากับเอกชนได้ หากส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ หลังเซ็นไปแล้วอาจเกิดการฟ้องร้อง ทำให้เกิดค่าโง่ได้ แต่อาจจะเซ็นช่วงบางใหญ่-กาญจนบุรีก่อนในต้นปีนี้ ทั้ง 2 โครงการยังเดินหน้าก่อสร้างเหมือนเดิม ตามแผนจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566” นายศักดิ์สยามกล่าว ไม่ต่างจาก “สัมปทานส่วนต่อขยายสายสีชมพูศรีรัช-เมืองทองธานีและสายสีเหลืองรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน” ที่บีทีเอสเสนอลงทุนเพิ่มเติมให้ต่อเชื่อมจากสัมปทานสายหลักที่ได้รับสัมปทาน 30 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโครงการมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้าจะเปิดบริการพร้อมกันในปี 2564 สุดท้ายไทม์ไลน์ขยับไป 1 ปี ส่วนต่อขยายสายสีชมพูช่วง “ศรีรัช-เมืองทองธานี” ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาท ชักเข้าชักออก ครม.อยู่หลายครั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 “ศักดิ์สยาม” ออกมาระบุได้เข้า ครม.วันที่ 9 ก.พ. เพราะหนังสือที่ทำถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ตรวจพิจารณาเอกสารแนบท้ายร่างสัญญา เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้มีหนังสือตอบกลับมาแล้ว พร้อมย้ำไม่เคยถอนเรื่องออกจาก ครม. แต่เป็นความเข้าใจผิดของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เรื่องขั้นตอนต่าง ๆ น่าจะรอยาวถึงปี 2565 “สายสีเหลืองส่วนต่อขยาย” ช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 3,779 ล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว แต่ทางปฏิบัติเป็นปัญหาสามเส้า ระหว่าง “รฟม.-BTS-BEM” ยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องการจ่ายค่าชดเชยรายได้ให้ BEM ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน กรณีที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเปิดบริการแล้ว อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผู้โดยสารสายสีน้ำเงินลดลง ที่ผ่านมา “รฟม.” พยายามเจรจา BTS ให้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ขณะที่ “BTS” ทำหนังสือถึง รฟม.ยืนกรานจะไม่ชดเชยรายได้ให้ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะเป็นผลกระทบที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของผลกระทบในอนาคต จะต้องมีการพิสูจน์หลังเปิดบริการไปแล้ว ขณะที่ “เมืองการบินอู่ตะเภา” โปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซของ “หมอเสริฐ-คีรี” แม้กำลังนับถอยหลังเริ่มต้นโครงการปลายปี 2564 หากไม่มีเหตุทำให้ไทม์ไลน์ขยับออกไป เพราะโครงการนี้ต้องเชื่อมโยงกับโครงการอื่น โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง โครงการนี้ใช้เงินลงทุน 290,000 ล้านบาท โดย BTS จับมือ บมจ.การบินกรุงเทพและ บมจ.ซิโน-ไทยฯ ควัก 305,555 ล้านบาทจ่ายผลตอบแทนให้รัฐ แลกสัมปทาน 50 ปี ซึ่งตั้ง บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) เซ็นสัญญาร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 ปัจจุบันรอส่งมอบพื้นที่จากกองทัพเรือ ทางอีอีซีประเมินว่าสิ้นปี 2564 จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ อีกด้านหนึ่ง UTA อยู่ระหว่างออกแบบ master plan การพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด มีเนื้อที่ 6 ,500 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน ประเดิม 30,000 ล้านบาท ลงทุนเฟสแรกให้เสร็จในปี 2567 มีอาคารผู้โดยสาร พื้นที่กว่า 157,000 ตร.ม. พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี เป็นงานใหญ่ที่ “เจ้าพ่อบีทีเอส” คว้ามาได้ภายใต้ “รัฐบาล คสช.มาถึงรัฐบาลประยุทธ์” ถึงจะกำชัยไว้ในมือ แต่ก็ยังไม่ฉลุยเสียทีเดียว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-610370

จำนวนผู้อ่าน: 2128

11 กุมภาพันธ์ 2021

“เอติฮัดแอร์เวย์” สายการบินเจ้าแรกที่พนักงาน 100% ฉีดวัคซีนโควิด

Photo by JACK GUEZ / AFP เอติฮัดแอร์เวย์เป็นสายการบินแรกของโลกที่นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคนของบริษัท ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 แหล่งข่าวต่างประเทศรายงาน สายการบินเอติฮัดแอร์เวย์ สายการบินแห่งชาติของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แถลงการณ์ว่าเป็นสายการบินแรกที่นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคนของบริษัท ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส สายการบินได้ร่วมมือกับหน่วยกำกับดูแลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการจัดโครงการวัคซีน “โปรเจกเทต ทูเกตเตอร์” (Protected Together) สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับนักบิน และ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของบริษัทโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เอติฮัดแอร์เวย์เป็นบริษัทแรก ๆ ของอาหรับเอมิเรตส์ที่จัดหาวัคซีนให้กับพนักงานได้ “โทนี่ ดักลัส” ซีอีโอสายการบินเอติฮัดแอร์เวย์ ระบุว่า บริษัทได้ฉีดวัคซีนให้กับพนักงานทุกคน เพราะต้องการลดการระบาดของโรคโควิด-19 และสร้างความมั่นใจต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบิน นอกจากนี้ ดักลัสยังเน้นย้ำว่า “เอติฮัดแอร์เวย์” เป็นสายการบินเดียวของโลกที่บังคับพนักงานและผู้โดยสารทุกคน ตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนขึ้นเครื่องทุกครั้ง ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/world-news/news-611831

จำนวนผู้อ่าน: 1968

11 กุมภาพันธ์ 2021

กรุงไทยดึง KTC ซื้อหุ้น KTB LEASING ต่อยอดธุรกิจลีสซิ่ง

ธนาคารกรุงไทยเดินหน้าลุยธุรกิจลีสซิ่ง ดึง KTC ถือหุ้นบริษัท KTB LEASING ในสัดส่วน 75.05% และธนาคารกรุงไทยลดสัดส่วนเหลือ 24.95% หวังใช้ดันมาร์เก็ตแชร์ตลาดสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าหลังจากธนาคารมียุทธศาสตร์ในการปรับพอร์ต บริษัท KTB LEASING บูรณาการกระบวนการติดตามหนี้ และปรับแผนธุรกิจใหม่หมด ขณะนี้ธนาคารพร้อมที่จะผนึกกำลังนำจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจ มาส่งเสริมกันและกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และประสานประโยชน์ทางธุรกิจอย่างรอบด้าน ผยง ศรีวณิช โดยล่าสุดธนาคารปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง หรือ KTB LEASING โดยจะให้บริษัทบัตรกรุงไทย หรือ KTC เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 75.05% และธนาคารกรุงไทยลดการถือหุ้นเหลือเพียง 24.95% ซึ่งคณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติแล้วในวันนี้ และอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ KTC ธนาคารเชื่อมั่นว่า ความโดดเด่นและความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของ KTC ทั้งสินเชื่อบุคคล สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ KTC พี่เบิ้ม สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนธุรกิจลีสซิ่งของบริษัท KTB LEASING โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อกลุ่มตลาดรถยนต์ใหม่ รถมือ 2 และรถแลกเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีตลาดใหญ่ และมีศักยภาพในการเติบโต โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ผ่านทีมการตลาดของทั้งบริษัท ตลอดจนเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่ครอบคลุมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกรุงไทยต่อยอดธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการทำรายได้ ​ นายผยง ศรีวณิช กล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา บริษัท KTB LEASING เน้นธุรกิจด้านเช่าซื้อเครื่องจักร ดังนั้นการดึง KTC มาถือหุ้นในครั้งนี้ จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับตลาดลีสซิ่ง รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ที่สำคัญจะเป็นการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มผลตอบแทนให้กับธนาคาร ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยถือหุ้นใน KTC 49.3% ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-611824

จำนวนผู้อ่าน: 2025

11 กุมภาพันธ์ 2021

ธรรมรัตน์ โชควัฒนา จัดทัพ ไอ.ซี.ซี.ฯ ฝ่าโควิด-19

สัมภาษณ์ ถึงวันนี้ แม้ว่าการโจมตีของโควิด-19 รอบใหม่ ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จะยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายลงในเร็ววัน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้และก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เช่นเดียวกับบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทแฟชั่นรายใหญ่ บริษัทในเครือสหพัฒน์ ที่กำลังปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่เพื่อฝ่าวงล้อมจากพิษเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เป็นผลกระทบของโควิด-19 “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ธรรมรัตน์ โชควัฒนา” ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล บุตรชายคนโตของ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ที่ปัจจุบันเข้ารับผิดชอบในหลายส่วนงาน อาทิ ในฐานะกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งรองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจสินค้าแฟชั่นและความงาม ภายใต้แบรนด์ บีเอสซี, แอร์โรว์, อิโตคิน, กี ลาโรช, วาโก้ ฯลฯ ถึงแนวคิดและทิศทางการดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ที่ยังเรื้อรังมากว่า 1 ปี โควิดรอบใหม่หนักกว่ารอบแรก “คุณใหญ่-ธรรมรัตน์” เริ่มต้นการสนทนาด้วยการแสดงความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นว่า ผลกระทบโควิดระลอกใหม่อาจจะรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา และทำให้ผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการพยายามลดค่าใช้จ่าย การบริหารจัดการเรื่องของต้นทุน เนื่องจากการระบาดในระลอกแรกมีการปรับลดค่าใช้จ่ายไปแล้ว อะไรที่เคยลดไปแล้วจะต้องมีการปรับลดลงอีกหรือไม่ ตรงนี้ในเครือสหพัฒน์เองก็มีการประเมินศักยภาพขององค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรักษาสมดุลของการทำธุรกิจในภาวะวิกฤตที่เหมาะสม การระบาดครั้งแรก และทางการมีการประกาศล็อกดาวน์ชัดเจน ตอนนั้นธนาคารพาณิชย์ก็เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้สถานการณ์ผ่านไปได้ด้วยดี ลูกจ้างที่ตกงานในรอบแรกยังมีเงินชดเชยเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต แต่การระบาดระลอก 2 นี้ เงินที่มีก็เริ่มหมด และหากโควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศจะน่าเป็นห่วงมากกว่านี้ ปีนี้จึงเป็นปีที่มีความท้าทายมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา “จังหวะนี้เราอาจจะต้องอยู่นิ่ง ๆ เพื่อปรับปรุงตัวเอง และใช้จังหวะที่หลายอย่างหยุดชะงักกลับมาทบทวนแผนงาน พิจารณาจุดด้อย ปรับปรุง เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันในอนาคต” คีย์แมน ไอ.ซี.ซี.ฯยังขยายความด้วยว่า ในภาวะและสถานการณ์เช่นนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคจะยังเป็นธุรกิจที่ไปได้ เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่สินค้าแฟชั่นอาจจะเป็นอะไรที่ลำบาก เพราะผู้บริโภคจะมองหาสินค้าที่ราคาเข้าถึงง่าย อาจจะยอมลดคุณภาพของสินค้าลงบ้างเพื่อให้จ่ายในราคาที่ถูกลง ตามสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อ เพิ่มน้ำหนักขาย “ออนไลน์” “ธรรมรัตน์” ย้ำว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เลี่ยงสถานที่ชุมชนหรือไปแต่น้อยลง และส่วนใหญ่จะวิ่งเข้าหาช่องทางที่เป็นออนไลน์ แนวทางของ ไอ.ซี.ซี.ฯจากนี้ไปก็จะมุ่งไปที่ออนไลน์ต่อเนื่อง จากที่เคยทำมาแล้วตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งแรก ที่ผ่านมาแม้ว่าช่องทางออนไลน์จะเติบโต 2-3 เท่าตัว หรือราว 200-300% แต่ว่าสัดส่วนยังน้อยอยู่ราว 10% เท่านั้น จึงต้องมีการปรับแผนงานช่องทางออนไลน์ให้ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น พร้อมกันนี้ “ธรรมรัตน์” ยังฉายภาพผลกระทบของโควิด-19 กับสินค้ากลุ่มแฟชั่นให้ฟังว่า ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นติดลบอย่างหนัก เมื่อเศรษฐกิจ-กำลังซื้อลดลง สินค้ากลุ่มแฟชั่น คือตัวเลือกแรกที่ลูกค้าจะลดการจับจ่าย เพราะถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มแฟชั่นเป็นพอร์ตฯใหญ่ของ ไอ.ซี.ซี.ฯ หรือราว ๆ 80% ที่เหลือเป็นกลุ่มบิวตี้-ของใช้ในชีวิตประจำวัน 20% โดยการปรับตัวเพื่อกอบกู้สถานการณ์ จากภาพรวมปีที่ผ่านมาที่ชะลอตัวและติดลบ หลัก ๆ จะเป็นการค่อย ๆ ไล่เรียงแก้ปัญหาทีละจุด หลักการทำงานของสินค้าแฟชั่น เมื่อสินค้าขายได้น้อยลง สินค้าเหลือมาก ก็จะต้องเร่งระบายสต๊อกสินค้าออกไป พร้อมกับนำของใหม่เข้ามาทำตลาด ทำควบคู่กันไป ซึ่งการระบายสต๊อกสินค้า ส่วนใหญ่ก็จะต้องจัดโปรโมชั่นเข้ามาช่วย ถัดมาเมื่อห้างสรรพสินค้าไม่ใช่จุดที่ลูกค้าจะเข้าไปใช้บริการจำนวนมากในเวลานี้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การมองหาช่องทางใหม่ ๆ มาทดแทน ทั้งออนไลน์ ทีวีช็อปปิ้ง-โฮมช็อปปิ้ง รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมการจับจ่าย โดยที่ลูกค้าสามารถซื้อหาได้ที่บ้านหรือที่อื่น ๆ โดยไม่ต้องออกไปที่ห้าง ปัจจุบันบริษัทได้นำสินค้าในเครือเข้าไปขายทางทีวีช็อปปิ้ง-โฮมช็อปปิ้งบ้างแล้ว หลัก ๆ อาทิ วาโก้, แอร์โรว์, บีเอสซี เป็นต้น “ส่วนการขยายสาขาหรือหน้าร้านต่าง ๆ ปีนี้จะชะลอไว้ก่อน ตอนนี้คนเดินห้างน้อยลง เดือนมกราคมที่ผ่านมา ยอดขายติดลบกว่า 30-40% และการฟื้นตัวอาจจะช้า ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าอารมณ์การจับจ่ายอาจจะดีดกลับขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นสัญญาณจริงหรือหลอก แต่ตรุษจีน-วาเลนไทน์ก็น่าจะช่วยสร้างสีสันได้ในช่วงสั้น ๆ เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา” ลีนองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพ ทายาทเจน 3 โชควัฒนาย้ำด้วยว่า แผนงานดังกล่าวบริษัทไม่ได้แตะในเรื่องการปรับเปลี่ยนตัวเลขรายได้ แต่เป็นการปรับแผนงานเพื่อชะลอการเดินให้ช้าลง เนื่องจาก ไอ.ซี.ซี.ฯเพิ่งเข้ามาทำตลาดออนไลน์เต็มตัวในปีที่ผ่านมา และมองว่าเราเดินเร็วเกินไป แทนที่จะเริ่มก้าวที่ 1 แต่ ไอ.ซี.ซี.ฯเริ่มจากก้าวที่ 2 หรือ 3 ทำให้บริษัทต้องถอยลงมาอีก 1 ก้าว เพื่อเริ่มต้นก้าวแรกอย่างมั่นคง โดยที่ยังไม่ต้องเร่งโฆษณา เร่งจำนวนลูกค้าเข้าเพจจำนวนมาก การก้าวข้ามขั้นตอน แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็สร้างผลกระทบในเชิงโครงสร้างอีคอมเมิร์ซของบริษัท เช่น บางแบรนด์ความพร้อมยังไม่เต็ม 100 สินค้ายังไม่เพียงพอ บุคลากรยังไม่พร้อมก็ก้าวมาในช่องทางออนไลน์แบบกะทันหันจากการระบาดของโควิดปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในส่วนย่อยนี้เพิ่มเติม บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องงบฯลงทุนมากนัก แต่จะโฟกัสในเรื่องของการมองหาจุดบกพร่อง สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก สมมุติว่า ลูกค้าสั่งของมาแล้วเกิดความผิดพลาด สินค้าไม่เพียงพอ บางแบรนด์ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ นั่นคือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บริษัทพยายามปรับปรุงและพัฒนาในปีนี้ กรรมการผู้อำนวยการ ไอ.ซี.ซี.ฯย้ำในตอนท้ายว่า บริษัทยังคงเป้าหมาย 5 ปี รายได้จากช่องทางออนไลน์ 5,000 ล้านบาท ไว้เช่นเดิมตามยุทธศาสตร์ออนไลน์ปี 2562-2566 แต่ว่าแผนงานระหว่างทางต้องมีการถอยมาหนึ่งสเต็ป เพื่อปรับปรุงกระบวนการภายใน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอีคอมเมิร์ซ, การทำสินค้าให้เหมาะกับช่องทางออนไลน์ การแตกไลน์สินค้าใหม่ ๆ ตามเทรนด์ของแต่ละแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมองว่า วัคซีนอาจจะยังเป็นเรื่องที่ไม่ตอบโจทย์มากนัก ผลลัพธ์หลังการฉีดที่ไม่รู้ว่าจะสร้างความมั่นใจกลับมาได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะใช้เวลาราวกลางปีหน้า และตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณบวกที่จะเข้ามาฟื้นธุรกิจให้เติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น อีกหลายบริษัทที่อาจจะต้องปลดพนักงานเพิ่มเพื่อรักษาสภาพคล่อง ดังนั้น นโยบายของ ไอ.ซี.ซี.ฯอีกอย่างหนึ่งก็คือ การลีน (lean) องค์กร ทั้งในส่วนของการทำงานที่ซ้ำซ้อน แทนที่จะมีหน่วยย่อยจำนวนมาก ก็จะยุบรวมและขมวดหน่วยงานให้เล็กลง เพื่อลดกระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป เป้าหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อน และลดต้นทุนในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/marketing/news-610638

จำนวนผู้อ่าน: 1910

11 กุมภาพันธ์ 2021

ปตท.ลุยปั้นพอร์ตธุรกิจยา พลิกแผนลงทุนขุมทรัพย์น่านน้ำใหม่

ปตท.เดินเครื่องลุยธุรกิจใหม่ “ยาและเครื่องมือแพทย์” เต็มรูปแบบ ขุมทรัพย์ใหม่รับช่วงต่อ “พลังงาน-ปิโตรเคมี” กางโมเดลธุรกิจร่วมทุนพันธมิตรทั้งไทย-ต่างชาติ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้ประเทศ ชูธงเป็นหัวหอกเอกชนไทยสร้าง “อีโคซิสเต็ม” อุตสาหกรรมการแพทย์ลดการนำเข้า โฟกัส 4 กลุ่มธุรกิจหลัก “ยา-อาหารอนาคต-อุปกรณ์การแพทย์-เทคโนโลยีวินิจฉัยโรค” เร่งเจรจาร่วมทุนพาร์ทเนอร์ผุดโรงงาน “ถุงมือยางไนไตรล์-หน้ากากอนามัย” ต่อยอดเพิ่มมูลค่าปิโตรเคมี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ยุคนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. มุ่งสู่การ transfrom สู่ธุรกิจใหม่ หรือ new business ต่อยอดธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ตามนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม S-curve เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยวางงบประมาณลงทุน 10-20% ของการลงทุนทั้งหมดของกลุ่มอุตสาหกรรมขั้นปลาย และได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ด้วยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อเดือน พ.ย. 2563 บุกธุรกิจยา-การแพทย์เต็มตัว ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเชีย) จำกัด ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ ปตท.มีนโยบายในการสร้างธุรกิจใหม่โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ที่เป็น new S-curve ที่ลิงก์กับธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาที่คณะกรรมการ ปตท.ระบุว่า บริษัทควรมีแฟลกชิปด้าน life science เรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพ หรือ “วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต” ขึ้นมา ประกอบกับเกิดเหตุการณ์เรื่องโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กระแสนี้เข้ามา ซึ่งเดิมประเทศไทยทำแต่สเกลเล็กไม่สามารถแข่งขันระดับโลกได้ ดังนั้น เป้าหมายคือ ปตท.จะเป็นหัวหอกเอกชนไทยที่จะสร้าง ecosystem ของวิทยาการการแพทย์นี้ขึ้นมา เพื่อพัฒนาให้เป็นประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีจุดแข็งในการเป็น “เมดิคอลฮับ” คือมีจำนวนโรงพยาบาล แพทย์ที่เก่ง เพื่อให้บริการ แต่อุตสาหกรรมการแพทย์ของประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่ายา อุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ หากประเทศไทยสามารถพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ได้ โดยเข้าทำตั้งแต่ต้นทาง ลดการนำเข้า ในอนาคตประเทศไทยอาจเป็นฐานเรื่องการวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ของภูมิภาคได้ ดร.บุรณินกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับ ปตท. และการพัฒนาวิจัยเรื่องยาและการแพทย์ ต้องใช้เวลาต่อยอดธุรกิจอาจจะ 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี เพราะการวิจัยยาแต่ละตัวอาจต้องใช้ขั้นตอน 7-10 สเต็ป ขณะที่ปัจจุบันการวิจัยพัฒนาในประเทศไทยอยู่แค่สเต็ป 1-3 ความท้าทายเรื่องนี้ไม่แตกต่างจากที่เคยสร้าง ปตท. เมื่อปี 2521 วางสเต็ปธุรกิจใหม่ ขณะนี้ ปตท.ได้ตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2563 และได้ตั้งบริษัทลูกชื่อ อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท เพื่อเป็นผู้ไปลงทุนกับต่างประเทศ และล่าสุดได้คัดเลือกคณะกรรมการบริษัท ด้วยการดึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ มีทั้งแพทย์ เภสัชกร และผู้บริหารที่เคยทำงานกับบริษัทยาข้ามชาติ และเคยอยู่ในสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) มาร่วมทีม ส่วนบุคลากรจาก ปตท.มีผม และทีมด้านการเงิน ความท้าทายคือการดึงประสิทธิภาพของบุคลากรที่มีความสามารถจากส่วนธุรกิจต่าง ๆ มาทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ดร.บุรณินกล่าวว่า ในช่วง 2 -3 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินสายหารือกับหน่วยงานและองค์กร บริษัทยาต่างชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นว่าหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนการพัฒนาของ ปตท. เพราะเขามองว่าควรมีบริษัทใหญ่ที่เชื่อถือได้มาเป็นหัวหอกในการดำเนินการ ขณะเดียวกันไทยก็มีจุดแข็ง มีคณะแพทย์ สถาบันวัคซีน สถาบันมะเร็งที่มีผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงองค์การเภสัชกรรม ต้องดึงมาร่วมงาน มุ่ง 4 ธุรกิจยาและการแพทย์ สำหรับกลุ่มธุรกิจใหม่โฟกัสไว้ 4 เรื่อง คือ 1) อุตสาหกรรมยา 2) อาหารนิวเตชั่น หรืออาหารอนาคต (ฟิวเจอร์ฟู้ด) ซึ่งเกี่ยวกับการใช้โภชนาการบำบัด เพื่อป้องกัน รักษา และลดอาหารที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย ต่อยอดจากอุตสาหกรรมไบโอชีวภาค 3) อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับวัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้จากปิโตรเคมี เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย และอื่น ๆ 4) ระบบการวินิจฉัยโรคและเมดิคอล ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ “ในส่วนธุรกิจยาเลือกจะทำยาสามัญ หรือ generic ก่อน คือเป็นยาที่เราไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตร โดยเน้นเลือกยาชีววัตถุ เพราะมันส่งผลข้างเคียงน้อยกว่า และสามารถปรับใช้รักษาตรงกับอาการของแต่ละคน และมุ่งไปที่ยารักษาโรคไม่ติดต่อ หรือ NCD ซึ่งเป็นโรคที่มีคนไทยเป็นมากที่สุด คือ มะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งต้องใช้ยาตลอด โดยโฟกัสยาสำหรับมะเร็งก่อน เพราะโรคนี้มีวิวัฒนาการไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และราคายาค่อนข้างสูง ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาใช้เทคโนโลยีสูง และการรักษามะเร็งจะเชื่อมโยงทั้งเชนของเรา คือ อาหารสุขภาพ เพราะเกี่ยวกับพันธุกรรมหรือพฤติกรรมการกิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการตรวจวินิจฉัย ซึ่งเราจะไม่เข้าไปลงทุนทำโรงพยาบาล เพราะไทยมีโรงพยาบาลเยอะ เราขอเป็นมิตรกับทุกโรงพยาบาลจะดีกว่า” โดยปลายปีที่ผ่านมา ปตท.ก็ได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชฯ เพื่อโรงงานผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของไทย ซึ่งโครงการนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี หรือประมาณปี 2570 จึงจะสามารถเดินเครื่องการผลิตได้ โมเดลผนึกพันธมิตรไทย-เทศ สำหรับโมเดลธุรกิจใหม่นี้จะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทต่าง ๆ ที่มีการร่วมทุนกับทั้งบริษัทในและต่างประเทศ เพราะเพื่อเป็นการดึงองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามา คล้ายกับในยุคที่ ปตท.เริ่มต้นธุรกิจปิโตรเคมี จนทำให้เป็นพอร์ตธุรกิจใหญ่ขึ้นมา แต่ไม่ใช่การมาเริ่มต้นทุกอย่างเอง ขณะนี้ตั้ง “ทีม” ศึกษารายการยามะเร็งที่ใกล้หมดสิทธิบัตร โดยมองว่าไม่จำเป็นต้องผลิตที่เมืองไทยทั้งหมด เพราะใช้ต้นทุนสูง และมีเรื่องอีโคโนมีออฟสเกล ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ใหญ่ การคิดสิทธิบัตรยาใช้เวลานาน 10-20 ปี จึงใช้วิธีการเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ ทั้งผู้ผลิตยาต้นตำรับซึ่งมีโนว์ฮาว, ผู้ผลิตยาเจเนริก กลุ่มที่เป็น first generic หมายถึงพอสิทธิบัตรใกล้หมดอายุจะสามารถมียาเจเนริกออกมาเลย ซึ่งก็มีการพูดคุยกับบริษัทยาชั้นนำของโลก ทั้งสหภาพยุโรป อเมริกา อินเดีย เกาหลี ไต้หวัน และจีน แต่ละประเทศมีจุดแข็ง เช่น อินเดียสามารถผลิตสารที่สำคัญได้ ส่วนเกาหลีมีโมเดลคล้าย ปตท. เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ มีทั้งแอลจี ซัมซุง ที่ไม่เชี่ยวชาญเรื่องยาแต่ขยายเข้ามาลงทุน ฉะนั้น โมเดล ปตท.จะไปรีเรตกับเกาหลีได้ ส่วนจีนโมเดลก็จะเป็นอีกแบบ แข็งแรงเรื่องการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น “ถ้าเราวิจัยและพัฒนาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จใน 5 หรือ 10 ปี แต่ต้องใช้เวลา ดังนั้น คีย์สำคัญคือไทยจะทำอย่างไรที่จะสร้างนวัตกรรมและสร้างแบรนด์ แล้วค่อย ๆ แทรกซึมเข้าไปในซัพพลายเชนนี้ให้ได้ เช่น เราอาจวิจัยขั้น 1-2 แล้วส่งต่อให้ต่างประเทศ จากนั้นเราค่อยมาทำ finish product เช่นเดียวกับที่บริษัทยาใหญ่ ๆ ทำ ซึ่งต้องร่วมมือกันและวางระบบแบ่งปันผลประโยชน์” โอกาส-ความท้าทาย “ความยากก็คือเรื่องนี้มีความเสี่ยงสูงในการทำ เพราะไม่ใช่ทุกตัวยาที่ทำจะประสบความสำเร็จ ฉะนั้นมันต้องเรียนรู้ระหว่างทาง คือการบริหารความเสี่ยงไปด้วยกัน ประเทศไทยเรื่องพวกนี้ยังใหม่มาก และยังขาดระบบอีโคซิสเต็มที่จะส่งเสริม ระบบการบริหารจัดการถ้าหากทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี” “เรื่องยาเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอมารวมเป็นธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมยา กว่าจะอธิบายให้นักธุรกิจยอมรับได้ สมมุติลงทุนพัฒนา 10 ตัว ล้มเหลวสัก 8 ตัว และสำเร็จสัก 1 ตัว บางทีก็จะคัฟเวอร์หมด หรือเป้าหมายพัฒนายาตัวหนึ่ง แต่อาจจะฟลุกรักษาได้อีกตัวหนึ่ง เหมือนวัคซีนโควิด-19 แต่หากในอนาคตอุตสาหกรรมนี้สำเร็จ ก็จะเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ให้กับระบบเศรษฐกิจไทย เข้าใจว่าภาครัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สภาพัฒน์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ เป็นหนึ่งใน 12 new S-curve ซึ่งการที่ ปตท.มาทำตอนนี้ก็ถือเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็อย่าใจร้อนเกินไป” ผุดโรงงานถุงมือยาง “ไนไตรล์” ดร.บุรณินกล่าวว่า สิ่งที่กดดันมากที่สุดคือคำถามว่าจะมีสินค้าออกมาวางตลาดเมื่อไร ด้วยความที่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เวลาพัฒนา 10-20 ปี ระหว่างทางต้องมีสินค้าอะไรที่ให้เก็บเกี่ยวสร้างรายได้ ฉะนั้นบางอย่างต้องพัฒนาก่อน เช่น อาจจะขอสิทธิบัตรยาบางตัวมาผลิตและจำหน่ายก่อน หรือในกลุ่มของการพัฒนาสินค้า วัสดุเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท. ยกตัวอย่าง การผลิตหน้ากากอนามัย ถุงมือยางสังเคราะห์ (ไนไตรล์) ซึ่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นก่อน “ขณะนี้กำลังหารือกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อขอไลเซนส์สร้างโรงงานถุงมือยางไนไตรล์ เพราะ ปตท.มีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 2 ตัว จาก IRPC และ GC ซึ่งก็ต้องหาโมเดลความร่วมมือในการผลิตและทำตลาดร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทมีเทคโนโลยีเรื่องนี้ก็จะเป็น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ซึ่งถ้าได้ไลเซนส์ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี หรือปี 2566 ก็น่าจะพร้อมผลิตในเชิงพาณิชย์ได้” ความมั่นคงทางสุขภาพ ดร.บุรณินกล่าวสรุปว่า จุดมุ่งหมายของอินโนบิก คือ ความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดอันดับดีในแง่การรักษา คือ มีจำนวนโรงพยาบาล จำนวนเตียง จำนวนหมอดี แต่ยังขาดอีโคซิสเต็ม เมื่อเกิดวิกฤตจึงมองว่าควรเริ่มมีการผลิตเพื่อความมั่นคง เป็นเรื่องที่ต้องกัดฟัน ต้องยอม แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกตัว มีบางตัวที่เก่ง ที่สามารถยืนในตลาดโลกได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และที่สำคัญคือกระบวนการทำเรื่องนี้เพื่อให้เข้าไปสู่คอมเมอร์เชียลมากขึ้น “วันนี้ ปตท.ถือว่าใหม่มากสำหรับเรื่องนี้ เพียงแต่เอาตัวไปแทรก ดึงองค์ความรู้ และทำเรื่องพวกนี้ให้เป็นระบบ เป็นพัฒนาการ ผมว่าเรื่องนี้มันเหมือนกับการลงทุนปิโตรเคมีในอดีต คือต้องไปร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ญี่ปุ่นบ้าง เกาหลีบ้าง อเมริกาบ้าง ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยติดระดับโลกธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ คือเราเชื่อว่าหากมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นแบ็กโบน หรือหัวหอกหลัก ก็จะสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดบริษัทไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าวันนี้พวกสตาร์ตอัพที่พัฒนาด้านการแพทย์ต่าง ๆ หรือผู้ประกอบการไทยรายย่อย เก่งกว่า ปตท. เพียงแต่ว่าเค้ายังเล็ก ทำเป็นจุด ๆ ความท้าทายคือเราจะดึงพวกนี้เข้ามาร่วมได้อย่างไร” อันนี้เป็นโจทย์สำหรับ ปตท.ในการ transform และเรื่องยาเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก ใครทำธุรกิจนี้ต้องบาลานซ์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-610956

จำนวนผู้อ่าน: 1914

11 กุมภาพันธ์ 2021

ธนารักษ์ประมูลที่ดิน “ยึดทรัพย์” ปรับเกณฑ์เงินวางประกันใหม่

ธนารักษ์ขนที่ดิน “ถูกยึดทรัพย์” ออกประมูลขายกลาง ก.พ.นี้ นำร่อง 250 แปลง ปรับเกณฑ์ “เงินวางประกัน-ราคาทรัพย์” ใหม่เป็นขั้นบันได จากเดิม 1 หมื่นบาท ประมูลทรัพย์ได้ทุกราคา เป็นวางประกันเริ่มต้น 1 หมื่นบาท ประมูลทรัพย์ได้มูลค่าไม่เกิน 5 แสนบาท ชี้จะประมูลที่ดินสูงกว่า 1 ล้านบาท ต้องวางประกัน 5 แสนบาท นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ กรมจะเปิดประมูลที่ราชพัสดุที่ได้มาจากการยึดทรัพย์จากผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในเฟสแรก250 แปลง โดยราคาประมูล เริ่มตั้งแต่แปลงละ 1 แสนบาท ไปจนกระทั่งสูงสุด 10 ล้านบาท ซึ่งมีแปลง/พื้นที่เด่น ๆ อาทิ ที่ราชพัสดุย่านสาทร ในกรุงเทพฯ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการเปิดประมูลรอบนี้ จะทำให้กรมสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ทั้งนี้ การประมูลจะเป็นรูปแบบออนไลน์ โดยกรมได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งจะเปิดเสรีให้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถเข้าร่วมประมูลได้ผ่านการสมัครเป็นสมาชิกและต้องวางเงินประกัน เพื่อเข้าร่วมประมูลทรัพย์ผ่านเว็บไซต์ของกรมธนารักษ์ และมีระยะเวลาที่สามารถยื่นข้อเสนอได้ภายใน 15 วัน “การเปิดประมูลที่ราชพัสดุที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้รับทราบ โดยกรมได้เริ่มเปิดประชาสัมพันธ์ผ่านธนาคารกรุงไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา และจะเปิดประมูลในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งหลังจากประมูลเฟสแรกแล้ว ก็จะประมูลเฟสสองอีก 250 แปลงตามมา ตอนนี้อยู่ระหว่างประชุมเตรียมการ” นายยุทธนากล่าวด้วยว่า เหตุที่กรมเปิดประมูลช้ากว่ากำหนดเดิมที่จะเปิดประมูลตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 นั้น เนื่องจากมีการปรับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างเช่น กำหนดเรื่องการวางเงินประกันเพื่อป้องกันการชนะประมูลแล้วไม่จ่ายเงิน ซึ่งจะมีปัญหาในข้อกฎหมาย เนื่องจากเดิมคิดอัตราการสมัครสมาชิกและการวางประกันประมูลอยู่ที่ 10,000 บาท สามารถประมูลที่ราชพัสดุได้ทุกราคา แต่เกณฑ์ที่ปรับใหม่ ผู้ที่วางเงินประกัน 10,000 บาท จะสามารถประมูลที่ราชพัสดุได้ที่ราคาเปิดประมูลไม่เกิน 5 แสนบาท ขณะที่ผู้ที่วางเงินประกัน 200,000 บาทจะสามารถประมูลที่ราชพัสดุได้ที่ราคาประมูลสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และผู้ที่วางประกัน 500,000 บาท จะสามารถประมูลที่ราชพัสดุได้ที่ราคาประมูลสูงสุดถึง 10 ล้านบาท ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-610757

จำนวนผู้อ่าน: 1930

11 กุมภาพันธ์ 2021

เปิดวอร์รูมการเมืองตึกไทยคู่ฟ้า “ประยุทธ์” ระดม 20 กระทรวงรับศึกฝ่ายค้าน

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเที่ยวนี้ แม้พรรคฝ่ายค้านถูกปรามาสว่า ไม่มีไม้เด็ด-หมัดน็อก แต่การยื้อไปถึงปลายยก-ครบวาระ และต้องตัดสินที่การ “นับคะแนน” ใน “ยกสุดท้าย” เวทีซักฟอก อาจจะเป็น “ตัวชี้วัด” ประสิทธิภาพ-ศักยภาพของ “พรรครัฐบาล” และ “พรรคฝ่ายค้าน” โค้งสุดท้ายตลอดสัปดาห์ก่อนถึงฤดูกาลอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ “เก็บตัว” อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกมิติ-ครบทุกประเด็น โดยมี “วอร์รูม” เตรียมสู้ศึกซักฟอก-ทีมงานตึกไทยคู่ฟ้า อย่างน้อย 3 ชุดหลัก ชุดแรก-ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่มี “ดิสทัต โหตระกิตย์” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็น “หัวหน้าชุด” โดยมี “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง” อยู่ในชุดนี้ อาทิ นายบรรสาน บุนนาค และ นายประทีป กีรติเรขา และ ชุดที่สอง-ทีมวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายที่ทำหน้าที่ดูเรื่องกฎหมาย-การอภิปรายที่ “คาบลูกคาบดอก” กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ชุดที่สาม ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ที่มี “เสธ.นุ้ย” พล.ต.ฐิตวัชร์ เสถียรทิพย์ เป็น “หัวหน้าศูนย์” ทำหน้าที่เป็นเหมือน “สะพาน” ประสานกับหน่วยงาน 20 กระทรวง เพื่อเป็นจุดศูนย์รวม-รวบรวมข้อมูลให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยเฉพาะข้อมูลเร่งด่วน-ข้อมูลสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเมินแล้วว่า “ฝ่ายค้าน” จะลุกขึ้นถามในสภา โดยจะทำหน้าที่กลั่นกรอง “แนวคำตอบ” จากทั้ง 20 กระทรวงที่ส่งมา ยกตัวอย่างเรื่องสำคัญที่ส่งมา 10 เรื่อง PMOC จะคัดให้เหลือเพียง 5 เรื่อง โดยการประเมิน-วิเคราะห์-สังเคราะห์ เพื่อ “เสิร์ฟข้อมูล” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยิบ “ข้อมูลที่ดีสุด” ไปเป็น “คำตอบสุดท้าย” PMOC ทำหน้าที่เป็นเสมือนกลไกสนับสนุนการอภิปราย ทำงานเชิงรุก ประเมินข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ และกำหนด content ในสิ่งที่ “ประชาชนควรรู้” มากกว่าสิ่งที่ “ฝ่ายค้านชอบถาม” เช่น เรื่องวัคซีน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็น “คนตัดสินใจสุดท้าย” ว่าจะเลือกข้อมูลใดเพื่อสร้างการรับรู้-ความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ PMOC ยังคอยประสานกับ “วอร์รูมการเมือง” ที่เป็นข้อมูลที่เป็น “ประเด็นการเมือง” และ “ข้อมูลเชิงวิชาการ” ของ “ข้าราชการประจำ” เพื่อกรองข้อมูลให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรจะตอบในเชิงการเมือง หรือ ตอบในข้อเท็จจริง-หลักวิชาการ “เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องที่สุด ไม่ให้ถูกนำไปบิดเบือนเป็นประเด็นการเมือง เพราะบางเรื่องควรให้นักการเมืองตอบเพราะมีผลต่อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองเอง” แหล่งข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรีระบุ นอกจาก “ชุดเฉพาะกิจ” ทั้ง 3 ชุด ที่คอยรับ-ส่งและกรองข้อเท็จจริง ข้อมูลที่สด-ใหม่ ทันกับเหลี่ยม-มุมและกลเกมในสภาของนักการเมืองแล้ว ยังมีอีก “ทีมที่ปรึกษาชั้นในสุด” เป็นอีกกลไก- 1 level เป็น ทีมชั้นในสุด-ลึกสุดในตึกไทยคู่ฟ้า คอยตัดสินใจใน “ขั้นสุดท้ายของสุดท้าย” มี “บุคคลนิรนาม” ทำหน้าที่เป็น “นายทวาร” บัญชาการ “ด่านสุดท้าย” ก่อนถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดียวกันยังมี “ทีมเสธ.ตึกไทยคู่ฟ้า” รอบตัว พล.อ.ประยุทธ์ที่ยังคอยสนับสนุนข้อมูลในทางลับ อาทิ “เสธ.มิตต์” พล.ต.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ “เสธ.เก๋” พล.ต.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ และ พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ สำหรับญัตติ-ข้อกล่าวหาเรื่องสถาบัน “ทีมวอร์รูม” เตรียมข้อมูลในเชิงหลักการให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบไว้แล้ว ส่วนที่เหลือ “หน้างาน” จะประเมินจากคำถามของฝ่ายค้านว่า “แหลมคม” แค่ไหน โดย พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคนลุกขึ้นชี้แจงด้วยตัวเอง แต่ถ้าเหลือบ่ากว่าแรง ก็จะให้นายวิษณุเป็นผู้ลุกขึ้นตอบ รวมถึงได้หารือกับ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาไว้เบื้องต้นเพื่อคอย “ตัดบท” หากฝ่ายค้านถามคำถามที่ “ล่อแหลม” ฟากฝั่ง “วอร์รูมการเมือง” ที่มี “กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี” ของพรรคร่วมรัฐบาลกว่า 30 ชีวิต โดยได้แจกจ่าย-แบ่งงานตามความรับผิดชอบตามหมวด เศรษฐกิจ-การเมือง-ความมั่นคง และข้อกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ประสานงานกับประธานวิปรัฐบาล-วิรัช รัตนเศรษฐ เพื่อส่งต่อ “ข้อมูลเชิงลึก” ให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอภิปราย โดยเฉพาะการอภิปรายพาดพิงกับสถาบันกษัตริย์มอบหมายให้ทีมกฎหมาย มีนายทศพล เพ็งส้ม เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง “การทำงานไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นพรรคใด 10 รัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายอยู่กระทรวงใดบ้าง บูรณาการทำงานกัน เพราะผู้ช่วยรัฐมนตรีมาจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ช่วยกันเก็งข้อสอบ หาข้อมูลมาซัพพอร์ตรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายให้ได้มากที่สุด” 1 ในทีมวอร์รูมกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีระบุ โดยจะใช้สำนักงาน ก.พ.-ห้องทำงานของ “แรมโบ้-สุภรณ์ อัตถาวงศ์” เป็น “กองบัญชาการ” ป้อนข้อมูลล่าสุดไปยัง ส.ส.พรรครัฐบาล เพื่อป้องกัน “ข้อมูลรั่วไหล” “เราพยายามบอกกับกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีทุกท่าน อะไรที่เก็งข้อสอบไว้ พยายามอย่าไปเปิดเผย เพราะถ้าข้อสอบรั่ว และมีการเปลี่ยนประเด็นก่อนการอภิปรายขึ้นมา รัฐบาลจะเตรียมข้อมูลไม่ทัน” ศึกซักฟอก 2021 ถามดี-ตอบโดนใจ มีชัยไปกว่าครึ่ง พปชร. ผนึก ส.ว. โหวตคว่ำญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ส่งศาลตีความ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-610380

จำนวนผู้อ่าน: 2042

11 กุมภาพันธ์ 2021

น็อนแบงก์ เปิดเกมสู้ ‘ออมสิน’ ชิงตลาด ‘จำนำทะเบียนรถ’ เดือด

ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (จำนำทะเบียนรถ) กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน โดยตลาดนี้น่าจะมีขนาดราว 1-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) แล้ว สถาบันการเงินหลายแห่งต่างกระโดดลงมาเล่นกันมากขึ้น ล่าสุดก็มีธนาคารออมสินที่เป็นแบงก์รัฐ ประกาศร่วมลงทุนกับ “บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น หรือ “SAWAD” การผนึกกำลังของ 2 องค์กรดังกล่าว นอกจากความเชี่ยวชาญของ “ศรีสวัสดิ์” ที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมีเรื่องจำนวนสาขาที่หากผนวกเข้าด้วยกันแล้วจะมีสาขาเพิ่มขึ้นอีกมาก โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 “ศรีสวัสดิ์” มีสาขาทั้งสิ้น 4,660 สาขา ขณะที่ “ออมสิน” มีอยู่ 1,060 สาขาทั่วประเทศ MTC พร้อมรบ เปิดศึกหั่นดอกเบี้ยสู้ “นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) บอกว่า บริษัทเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นการทั่วไปลงมาอยู่ระดับ 18% ต่อปี คาดว่าจะมีผลภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยปรับดอกเบี้ยลงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือลูกค้า จากเดิมที่ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 20% ต่อปี เป็น 19% ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การมีผู้เล่นอย่างธนาคารออมสินที่ร่วมทุนกับ SAWAD เข้ามา จะทำให้การแข่งขันในตลาดมีความเสรีมากขึ้น ซึ่ง MTC พร้อมแข่งขันในด้านดอกเบี้ย “บริษัทปรับลดดอกเบี้ยลงมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงไม่กังวลว่าจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ โดยการลดดอกเบี้ย ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ว่าควบคุมได้หรือไม่ เพราะถ้ามัวแต่ลดดอกเบี้ย แต่หนี้เสียเยอะ ก็กระทบต่อรายได้และผลกำไร ซึ่งตอนนี้หนี้เสียเราค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 1% ถ้าเทียบทั้งตลาดหนี้เสียอยู่ที่ 5% ดังนั้น เรายังคงแข่งขันได้แน่นอน” ชิงตลาดเดือดกระทบรายย่อย สำหรับในปี 2564 “นายชูชาติ” ประเมินว่าธุรกิจจำนำทะเบียนรถจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ระดับ 20-30% อย่างไรก็ดี MTC ยังเป็นผู้นำตลาด และมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ โดยปัจจุบันส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทอยู่ที่ 40% เป็นอันดับ 1 สิ่งที่จะต้องจับตาในปีหน้าจากภาวะการแข่งขันที่จะดุเดือดขึ้น ก็คือ ผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่คิดดอกเบี้ยสูง หากไม่สามารถควบคุมเอ็นพีแอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเห็นการไหลออกของลูกค้ามาสู่บริษัทที่เสนอดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ามากขึ้น สุดท้ายแล้วหากบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงมาแข่งได้ ก็จะล้มหายตายจากไป “ต้องยอมรับว่า จำนำทะเบียนรถเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทน (มาร์จิ้น) ค่อนข้างดี หากมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ทุกคนหันมาเล่นตลาดนี้ ซึ่งในปีหน้าก็อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาด เพราะผู้ประกอบการรายย่อยที่คิดดอกเบี้ยสูงจะลำบาก โดยเป้าหมายธุรกิจในปีหน้า MTC ตั้งเป้าสอดคล้องกับตลาดอยู่ที่ 20-25% หรือสินเชื่อปล่อยใหม่ 1.2 หมื่นล้านบาท จากปีนี้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท” “เคทีซี” ชูปล่อยกู้ “ดีลิเวอรี่” “นายวรพงศ วงษ์กะพันธ์” ผู้จัดการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเพิ่งเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยการตัดสินใจเข้ามาสู่ตลาดนี้จากเดิมที่บริษัททำแต่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ก็เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ที่สำคัญ สินเชื่อประเภทนี้ยังมีเล่มทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ส่งผลให้ความเสี่ยงน้อยกว่าพีโลนและบัตรกดเงินสดที่เป็น “คลีนโลน” ทั้งนี้ หลังจากทดลองมาพักใหญ่ บริษัทก็เริ่มรุกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเต็มที่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมียอดอนุมัติประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 บริษัทจะเน้นการขยายธุรกิจ (scale up) โดยตั้งเป้าหมายขยายพอร์ตจำนำทะเบียนรถเป็น 1,000 ล้านบาทในปี 2564 สำหรับการร่วมทุนระหว่าง “ออมสิน” และ “ศรีสวัสดิ์” นั้น “นายวรพงศ์” บอกว่า ยังคิดว่าไม่น่าจะกระทบกับการกำหนดดอกเบี้ยในตลาดมากนัก เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยและคุณภาพในการให้บริการสินเชื่อแต่ละบริษัทมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดี “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะไม่ลงไปแข่งขันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยจะคิดดอกเบี้ยที่ 21-24% ขึ้นอยู่กับข้อมูลรายได้และอาชีพของผู้ขอสินเชื่อเป็นสำคัญ มั่นใจกลุ่มลูกค้าไม่ทับซ้อน “เราคิดว่ากลุ่มลูกค้าที่โฟกัสจะไม่ทับซ้อนกัน โดยของทางออมสินน่าจะเน้นกลุ่มฐานราก ขณะที่เราจะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้าก็สามารถกู้ได้” ทั้งนี้ บริษัทจะใช้ดิจิทัลมาช่วยในการให้บริการ ในรูปแบบ “ดีลิเวอรี่” และความรวดเร็วอนุมัติสินเชื่อใน 2 ชั่วโมง เป็น “จุดขาย” หลัก โดยจะไม่ใช้กลยุทธ์การปูพรมขยายสาขา เนื่องจากมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่จะมีการใช้ช่องทางสาขาธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการรับสมัครขอกู้ ปัจจุบันเริ่มจากสาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลราว 20 สาขาแล้ว ซึ่งบริษัทจะอนุมัติวงเงินสูงสุดที่ 700,000 บาทขึ้นกับสภาพรถยนต์ด้วย ส่วนรถจักรยานยนต์ จะให้สินเชื่อเฉพาะรถที่ต่ำกว่า 400 ซีซี วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท “เรายังมีจุดเด่นที่รับเงินก้อนได้ทันทีในกรณีที่เอกสารครบ เช่น วงเงินอนุมัติ 700,000 บาท เราก็สามารถโอนให้ได้เลย 700,000 บาททันที หลังการอนุมัติ และในระยะข้างหน้าพยายามจะลดระยะเวลาอนุมัติให้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง” “นายวรพงศ” กล่าวว่า บริษัทยังจับมือกับพันธมิตร อาทิ “ลาล่ามูฟ” ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น และแฟรนไชส์ “หมูทอดกอดคอ” ของบริษัท ฟู้ดแพชชั่น และจะขยายสู่พันธมิตรอื่นมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางขยายสินเชื่อในอนาคต หวังว่าการแข่งขันที่มีมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อประชาชนผู้กู้เงิน ที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-559840

จำนวนผู้อ่าน: 2781

24 พฤศจิกายน 2020

“เฟซบุ๊ก” ผนึก “คีนันฯ” ช่วยธุรกิจรายย่อยบนออนไลน์

หลังจากเปิดตัวโครงการ Boost with Facebook ขึ้นเมื่อปี 2562 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Facebook ประเทศไทย และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางเชื่อมโยงกับลูกค้า และสร้างการเติบโตของธุรกิจบนช่องทางออนไลน์ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา Facebook จัดงานเสวนาออนไลน์ “Leading with Inclusion” ขึ้น เพื่ออัพเดตความคืบหน้าโครงการพร้อมกับประกาศมุ่งดำเนินงานระยะ 2 ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยฟื้นฟูจากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง “เบธ แอน ลิม” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายโครงการเพื่อชุมชน ประจำ Facebook เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบัน Facebook มีกลุ่มผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายย่อยบนแพลตฟอร์มมากกว่า 200 ล้านรายทั่วโลก ซึ่งทุกรายสามารถเข้าถึงเครื่องมือ Facebook ฟรี สำหรับประเทศไทยพบว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง ส่วนหนึ่งเพราะยึดติดกับการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ที่เน้นให้ลูกค้าเดินเข้าไปหาหน้าร้าน หรือยังมีทักษะดิจิทัลไม่มากพอ “แต่ท่ามกลางสภาวะสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 เข้ามา การใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือทำตลาดจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยาก” “ดังนั้น โครงการ Boost with Facebook จึงเกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่ออบรมทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการ มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับการสร้างบัญชีธุรกิจบน Facebook และ instagram ตลอดจนถึงวิธีการใช้เครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์คอนเทนต์ และการเพิ่มฐานผู้ติดตามโดยใช้ข้อมูลเชิงลึก” “Boost with Facebook ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์เรื่อง diversity (ความหลากหลาย) และ inclusion (การมีส่วนร่วม) ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญกับคนที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมกับสังคมทุกภาคส่วน” “โดยร่วมมือกับมูลนิธิคีนันฯให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ พร้อมกับความร่วมมือกับภาคชุมชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQI) กลุ่มผู้พิการ รวมถึงชนกลุ่มน้อย ดังนั้น นับตั้งแต่เปิดโครงการมีการจัดอบรมให้แก่ผู้ประกอบการไทยแล้วกว่า 4,500 ราย ผ่านการจัดฝึกอบรมแบบออฟไลน์แล้วทั้งสิ้น 19 ครั้งและในรูปแบบออนไลน์ 27 ครั้ง” “ทั้งยังเข้าถึงผู้ประกอบการรายย่อยหลากหลายกลุ่มมากกว่า 2,183 ราย โดย 38% มาจากกลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชากรเป้าหมายต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) 28%, กลุ่มผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย 20%, วิสาหกิจชุมชน 20%, กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 18%, กลุ่มผู้ว่างงาน 7% และกลุ่มผู้สูงอายุ 5%” “เบธ แอน ลิม” กล่าวต่อว่า จากจำนวนผู้เข้าอบรมแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการไทยเริ่มเห็นความสำคัญกับการใช้ออนไลน์ดำเนินธุรกิจมากขึ้น ยกตัวอย่าง ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่ประสบความสำเร็จจากการอบรมใช้ดิจิทัล และยึดถือแนวทางของความหลากหลาย และการสร้างการมีส่วนร่วมมาปรับใช้ คือ ธุรกิจ La’Poon Organic ที่ก่อตั้งขึ้นในจังหวัดลำพูน ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก “อรุณี พร้อมชัย” ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพรออร์แกนิก ด้วยการใช้ภูมิปัญญาไทย และสมุนไพรท้องถิ่น “หลังจากเธอเริ่มนำเสนอสินค้าบน Facebook ปัจจุบันมียอดติดตามถึง 135,883 คน ทำให้ธุรกิจของเธอเติบโตขึ้น 15% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า และปัจจุบันเธอจ้างพนักงานทั้งหมด 11 คน ทั้งยังมีบทบาทในการสนับสนุนชุมชนของเธอในการร่วมทำสมุนไพรออร์แกนิกด้วย” “ทั้งยังช่วยให้เธอเชื่อมต่อกับชุมชนใหม่ ๆ ได้อีกด้วย โดยล่าสุดได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกจากธุรกิจค้าปลีกในประเทศเมียนมา จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ของ Facebook สามารถแปลงมาเป็น action plan เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และระยะต่อจากนี้เรามุ่งหวังจะขยายการดำเนินงานสู่ชุมชนอื่น ๆ มากกว่านี้ พร้อมกับนำเสนอคู่มือการพลิกฟื้นธุรกิจภายหลังวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นที่นอกเหนือจากทักษะดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งพื้นฐาน แต่จะลงลึกไปสู่การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจได้ระยะยาว” อันจะไปสอดคล้องกับแนวคิดของ “ปิยะบุตร ชลวิจารณ์” ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียที่กล่าวว่า มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมมือกับ Facebook เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมและผู้ประกอบการชาวไทย ให้มีความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้สามารถเข้าสู่ตลาดแข่งขันอีคอมเมิร์ซได้ เพราะปัจจุบันนับเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงยาก ซึ่งผลดำเนินการอบรม 2 ปีที่ผ่านมาเราจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะกับกลุ่มเป้าหมาย 4 เรื่อง ประกอบด้วย หนึ่ง หลักสูตรพื้นฐานที่มุ่งเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านตลาดดิจิทัล สอง การสร้างบัญชีธุรกิจบน Facebook และ Instagram สาม การใช้เครื่องมือเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาและเพิ่มจำนวนผู้ชม สี่ การใช้ข้อมูลเชิงลึกวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค “ปีที่ผ่านมามูลนิธิคีนันฯพยายามเข้าถึงกลุ่มพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ รวมถึงจัดอบรมให้ครอบคลุมถึงเครือข่ายผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐประชาสังคม และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจทำตลาดออนไลน์แต่ขาดทุนทรัพย์” “ตรงนี้มูลนิธิคีนันฯเริ่มจากสำรวจว่าผู้ประกอบการที่จะหันมาใช้ออนไลน์ดำเนินธุรกิจความต้องการข้อมูลอะไรบ้าง อยากเสริมสร้างทักษะด้านไหนบ้าง หลายคนอยากรู้ว่าจะทำหน้าเพจอย่างไร จัดการเพจธุรกิจอย่างไร เพิ่มข้อมูลผู้เข้าชมอย่างไร แล้วแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น อินสตาแกรม หรือข้อมูลอื่น ๆ ใช้อย่างไร เมื่อแพลตฟอร์มเป็นรูปเป็นร่างแล้วจึงช่วยในเรื่องการสร้างสรรค์คอนเทนต์” “ตลอดการดำเนินงานระยะแรกนั้น ผมมองเห็นถึงการเติบโตของผู้ที่เข้าร่วมโครงการจากคะแนนหลังการฝึกอบรมของพวกเขา และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้งานจริง สิ่งที่สำคัญคือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทยจำนวนมากมีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล พวกเขาเพียงต้องการโอกาสในการเรียนรู้เท่านั้น” “สำหรับเป้าหมายต่อไป คือ การพลิกฟื้นตัวของธุรกิจโดยเราจัดทำคู่มือเพื่อมอบให้แก่ผู้ประกอบการทุกคน ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้ดำเนินโครงการ Global Resiliency ของ Facebook และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการจัดการภาวะวิกฤต การวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และการฟื้นตัวของธุรกิจ เพื่อแบ่งปันกลยุทธ์และสิ่งที่ควรพิจารณาที่สามารถนำมาใช้ได้กับการดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย” “ปิยะบุตร” กล่าวต่อว่า คู่มือดังกล่าวมูลนิธิคีนันฯเป็นผู้แปลและออกแบบให้ใช้งานได้ง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทบทวนการดำเนินกิจการของตน และสามารถประเมินการปฏิบัติงานของตนได้ “โดยใช้วิธีเช็กลิสต์ 4 ด้าน คือ บุคลากร (people) ให้การสนับสนุนและสร้างความผูกพันกับบุคลากร, กระบวนการ (process) ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนไปของการดำเนินธุรกิจ, ลูกค้า (patrons) เข้าใจลูกค้าและสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชน, ผลกำไร (profits) ประเมินรูปแบบของธุรกิจและจัดการด้านการเงิน หรือเงินสดหมุนเวียนอย่างไร และการเตรียมพร้อม (prepare) เข้าใจถึงความเสี่ยงและเตรียมรับมือต่อความท้าทายเชิงธุรกิจ” “มานพ เอี่ยมสะอาด” รองประธานบริหาร บริษัท เรย์วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวเสริมว่า องค์กรของเราอยู่ภายใต้มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ โดยมีผู้พิการอยู่ในองค์กรมากกว่า 100 คน ส่วนใหญ่สนับสนุนพวกเขาไปทำงานด้านบริการและคอลเซ็นเตอร์กับบริษัทหรือหน่วยงานต่าง ๆ “ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้คนทั่วไปได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างมากขึ้น อย่างหลายบริษัทที่เคยมีการจ้างงานผู้พิการตามอัตราโควตา 1 ต่อ 100 แต่เมื่อบริษัทต้องปลดพนักงานทั่วไปออกเป็นหมื่น ๆ คน โอกาสของการจ้างงานคนพิการก็ยิ่งน้อยลงอีก ฉะนั้น ปัญหาสำคัญที่เรามองเห็นคือความท้าทายสำหรับชุมชนผู้พิการที่จะผันตัวเองไปประกอบอาชีพอื่น ๆ” “บริษัทจึงสนับสนุนให้พวกเขาทำธุรกิจบนออนไลน์ พร้อมกับส่งเสริมให้เข้าอบรมในโครงการ Boost with Facebook ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้เทคนิคการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น เราเห็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น ภายในกลุ่มของเรามีสมาชิกที่เริ่มมีอาชีพส่วนตัวด้วยการหันมาขายของออนไลน์มากขึ้น บางคนก็ขายอาหารตามสั่ง ขายผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ หรือทำเป็นแพ็กเกจชุดสังฆทานขายในวันสำคัญทางศาสนา” “ดังนั้น พอพวกเขาเริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของ Facebook จึงทำให้เขาเห็นช่องทางที่เปิดกว้างมากขึ้นจนทำให้เขามีพื้นที่แสดงออกหรือสื่อสารประสบการณ์ที่ไม่เพียงจะทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า หรือมีอิสระในการหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเองมากขึ้น” ยังทำให้สินค้าของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดออนไลน์อีกด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-559936

จำนวนผู้อ่าน: 2243

24 พฤศจิกายน 2020

น่าทึ่ง นักสะสมซื้อสแตมป์จากอีเบย์เจอซองจดหมายคนดังชาวไทยเมื่อ 68 ปีก่อน จึงส่งให้ทายาทดู

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 กมล สุโกศล แคลปป์ หรือ สุกี้ ได้โพสต์รูปภาพซองจดหมายพร้อมข้อความภาษาอังกฤษผ่านเฟซบุ๊ก Kamol Clapp เล่าเรื่องราวน่าทึ่งว่าเขาได้รับการติดต่อจากนักสะสมแสตมป์ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษว่าเจอจดหมายที่จ่าหน้าซองถึงคุณแม่ของเขา ประทับตราปี ค.ศ.1952 “นี่เป็นสิ่งที่บ้าที่สุดที่ผมเคยเจอ เมื่อนักสะสมแสตมป์ไทยในอังกฤษติดต่อผมมา เขาบอกว่าเขาซื้อแสตมป์ไทยเก่า ๆ จาก Ebay เมื่อเขาดูชื่อบนซองจดหมาย เขาพบว่ามันคือชื่อแม่ของผม ซึ่งเป็นจดหมายที่คุณตาเขียนถึงคุณแม่เมื่อปี 1952 หรือ 68 ปีที่แล้ว – เหลือเชื่อ” ในโพสต์ดังกล่าวนี้ สุกี้ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า นักสะสมแสตมป์คนนั้นขายซองจดหมายให้เขาด้วย หรือเพียงส่งรูปภาพมาให้เท่านั้น ทั้งนี้ คุณแม่ของกมล สุโกศล แคลปป์ คือ กมลา สุโกศล ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทสุโกศล ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งที่เป็นที่รู้จักคือ บทบาทนักร้อง เจ้าของเพลงดัง Live and Learn กมลาเป็นลูกสาวของนายกมล สุโกศล หรือ “นายห้างกมล” ผู้ก่อตั้งบริษัท กมลสุโกศล จำกัด ปัจจุบันกมลา อายุ 84 ปี หากนับย้อนตามเวลาที่ประทับตราบนจดหมายคือปี 1952 หรือ พ.ศ.2495 ขณะนั้นกมลาอายุเพียง 16 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอเรียนชั้นมัธยมที่ Farrington’s School ในมณฑลเคนต์ ประเทศอังกฤษ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-561097

จำนวนผู้อ่าน: 3095

24 พฤศจิกายน 2020

ชาวนา เตรียมรับเงินประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด งวดที่ 3

(Photo by Romeo GACAD / AFP) ประกาศกรมการค้าภายใน กำหนดราคาอ้างอิงประกันรายได้ข้าวเปลือกงวดที่ 3 เริ่มจ่าย 16-22 เดือนพฤศจิกายน  2563 ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 รอบที่ 1 (งวดที่ 3) โดยมีมติจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 16-22 เดือนพฤศจิกายน 2563 ในความชื้นไม่เกิน 15% จำนวน 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว เพราะทุกชนิดยังมีราคาต่ำกว่าราคาที่ประกันรายได้ โดยผลการพิจารณาราคาตลาดปัจจุบันกับราคาที่ประกันรายได้ พบว่า ราคาอ้างอิงในตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 11,940.67 บาทจากราคาประกันข้าวเปลือกที่ตันละ 15,000 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับขดเชยส่วนต่าง ตันละ 3,059.33 บาท ราคาอ้างอิงในตลาดข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 11,718.59 บาท จากราคาประกันข้าวเปลือกที่ตันละ 14,000 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับชดเชยส่วนต่าง ตันละ 2,281.41 บาท ราคาอ้างอิงในตลาดข้าวเปลือกเจ้า ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 8,963.80 บาท จากราคาประกันที่กำหนดไว้ตันละ 10,000 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับชดเชยส่วนต่าง ตันละ 1,036.20 บาท ราคาอ้างอิงในตลาดข้าวเปลือกหอมปทุมธานี  ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 9,944.39 บาท จากราคาประกันที่กำหนดไว้ตันละ 11,000 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับชดเชยส่วนต่าง ตันละ 1,055.61 บาท ราคาอ้างอิงในตลาดข้าวเปลือกเหนียว ปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 11,003.42 บาท จากราคาประกัน 12,000 บาท ทำให้เกษตรกรได้รับชดเชยส่วนต่าง ตันละ 996.58  บาท ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-561092

จำนวนผู้อ่าน: 2079

24 พฤศจิกายน 2020

ดีแทค จับมือบัตรกดเงินสด จัดแพ็คเกจให้ผ่อนมือถือ เริ่มต้น 333 บาท

ภาพจาก Pixabay “ดีแทค” ออกโปรแรง จับมือบัตรกดเงินสด จัดแพ็คเกจให้ลูกค้าผ่อนซื้อมือถือ เริ่มต้นเดือนละ 333 บาท วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 นางสุกัณณี เลิศสุขวิบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดระบบเติมเงิน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทค เติมเงินช่วยผู้ใช้ประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งลูกค้าในระบบเติมเงินส่วนใหญ่มักไม่มีบัตรเครดิต แต่ใช้บัตรกดเงินสดเป็นหลัก จึงมีแคมเปญ “ล็อกเลขเด็ดให้คุ้ม 3 ต่อ” ร่วมกับบัตรกดเงินสดจากธนาคารต่างๆ เช่น บัตรกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารซิตี้แบงก์ และธนาคารกสิกร ให้ลูกค้าซื้อมือถือใหม่ได้โดยจ่ายเริ่มต้น 333 บาทต่อเดือน ได้ทั้งมือถือใหม่ อินเทอร์เน็ตไม่อั้น โทรไม่อั้น รวมถึงยังเข้าร่วมสนับสนุนมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ของรัฐบาล ด้วยการนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนจ่ายจริง รวมกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน สำหรับลูกค้าเติมเงินของดีแทค สามารถเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือแบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ ซัมซุง, ออปโป้ ,วิโว และเรียลมี พร้อมแพ็กเกจ และแบ่งจ่ายรายเดือนได้นานถึง 24 เดือน เช่น Samsung A11 ราคาเครื่องปกติ 3,999 บาท ซื้อรวมเครื่องพร้อมแพ็คเกจ 7,992 บาท (เน็ตไม่อั้นไม่ลดความเร็ว 4 Mbps พร้อมโทรฟรีไม่อั้นทุกเครือข่าย*) ผ่อนจ่ายเดือนละ 333 บาท นาน 24 เดือน หรือ Realme 7i ราคาเครื่อง 7,499 บาท รวมแพ็คเกจ ราคา 11,492 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 479 บาท นาน 24 เดือน เป็นต้น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-561086

จำนวนผู้อ่าน: 2128

24 พฤศจิกายน 2020

27 พ.ย. เปิดเดินเรือไฟฟ้า หัวลำโพง-วัดเทวราชกุญชร ฟรี 6 เดือน

กทม.ตรวจเรือ EV วิ่งคลองผดุงฯ จาก หัวลำโพง-วัดเทวราชกุญชร เชื่อมเรือด่วน-รถไฟฟ้า ดีเดย์ 27 พ.ย. เปิดใช้ เชิญ “ประยุทธ์” ประเดิม ใช้ฟรี 6 เดือน ก่อนเก็บ 10 บาทตลอดสาย ชี้ขาดทุนเดือนละ 5-6 แสนบาท คาดมีผู้โดยสาร 500-600 คน/วัน เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 23 พ.ย. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจการทดสอบเดินเรือไฟฟ้า จำนวน 7 ลำ ตามสัญญาโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม พร้อมทดลองโดยสารจากท่าเรือหัวลำโพง – ท่าเรือวัดเทวราชกุญชร ระยะทาง 5 กม. โดยกทม.ได้ว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกทม. ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม โดยจัดหาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า (Electric  Vehicle : EV) พร้อมระบบโซลาเซลล์ จำนวน 8 ลำ ซึ่งได้ดำเนินการต่อเรือใหม่เพิ่มอีก 7 ลำ หลังจากที่ได้นำเรือใช้พลังงานไฟฟ้าต้นแบบ 1 ลำ ทดลองวิ่งให้บริการ ขณะนี้การต่อเรือไฟฟ้าลำใหม่ทั้ง 7 ลำ แล้วเสร็จตามแผนแล้ว เชิญ “บิ๊กตู่” เปิด 27 พ.ย.นี้ เรือไฟฟ้า ซึ่งจะเปิดให้บริการประชาชนเต็มรูปแบบในวันที่ 27 พ.ย.นี้ โดยในเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินเรือไฟฟ้า โดยประชาชนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ตั้งแต่เวลา 9.30 น. “กทม.จะแบกภาระค่าใช้จ่ายในการเดิยเรือทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะขาดทุนเดือนละ 500,000-600,000 บาท/เดือน” ส่วนการให้บริการเดินเรือ ในวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 06.00-19.00 น. วันละ 39 เที่ยว ความถี่ในการเดินเรือประมาณ 15 นาทีต่อลำ ส่วนวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. วันละ 23 เที่ยว ความถี่ในการเดินเรือประมาณ 30 นาทีต่อลำ ฟรี 6 เดือน โดยกทม.จะเปิดให้บริการฟรีเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากนั้นจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 10 บาท ตลอดสาย ทั้งนี้ คาดว่าเรือคลองผดุงกรุงเกษมจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 500-600 คน/วัน สำหรับคุณสมบัติเรือที่ต่อใหม่ทั้ง 7 ลำนี้ เป็นเรือโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ทุกลำ ต้นทุนการต่อเรืออยู่ที่ 6 ล้านบาท/ลำ หลังคาของเรือมีแผงโซล่าเซลล์ 12 แผง ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ในระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในเรือ และยังเป็นพลังงานสำรองในการขับเคลื่อนเรือ พร้อมทั้งติดตั้งระบบจีพีเอส ติดตามตำแหน่งเรือ โดยมีศูนย์ควบคุมที่คอยติดตามตรวจสอบตลอดช่วงเวลาที่ให้บริการประชาชน นอกจากนี้ได้ปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยออกแบบที่นั่งและทางเดินในเรือให้สะดวกสบายขึ้น มีลายกันลื่นตลอดพื้นเรือ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รวมถึงการปรับขนาดเรือให้เหมาะสมกับการเดินทางในคลองผดุงกรุงเกษม ที่มีสะพานหลายจุดและตัวสะพานดังกล่าวค่อนข้างต่ำ โดยตัวเรือมีความยาว 9.90 ม. ความกว้าง 2.98 ม. น้ำหนัก 5.98 ตัน เครื่องยนต์ขนาด 10 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่องยนต์ เทียบเท่าเครื่องยนต์ 20 แรงม้า และแบตเตอรี่ Li-on NMC ขนาดรวม 42 กิโลวัตต์ มีมาตรฐานป้องกันฝุ่นและน้ำ IP67 ทั้งตัวเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 17 กม./ชม. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ความเร็วสูงสุด 15 กม./ชม. โดยชั่วโมงการทำงานต่อการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง สามารถให้บริการได้นาน 4 ชั่วโมง โดยเรือสามารถรองรับผู้โดยสาร 30 ที่นั่ง และยังจัดพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ได้ 1 คัน อันเป็นการส่งเสริมการเดินทางที่ทั่วถึงเท่าเทียมเพื่อคนทั้งมวล เชื่อมเรือด่วน-รถไฟฟ้า ส่วนเส้นทางการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมได้กำหนดเดินเรือ จำนวน 11 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ท่าเรือหัวลำโพง ท่าเรือนพวงศ์ ท่าเรือยศเส ท่าเรือกระทรวงพลังงาน ท่าเรือแยกหลานหลวง ท่าเรือนครสวรรค์ ท่าเรือราชดำเนินนอก ท่าเรือประชาธิปไตย ท่าเรือเทเวศร์ และท่าเรือตลาดเทวราช รวมระยะทาง 5 ก.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต และเขตพระนคร ใช้เวลาเดินทางตลอดเส้นทางประมาณ 20 นาที สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว มีจุดเชื่อมต่อการเดินทาง จำนวน 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ท่าเรือตลาดเทวราช จุดที่ 2 ต่อเรือแสนแสบ ที่ท่าเรือกระทรวงพลังงาน จุดที่ 3 ต่อรถไฟชานเมือง ที่ท่าเรือรถไฟหัวลำโพง และจุดที่ 4 ต่อรถไฟฟ้า MRT ที่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-561075

จำนวนผู้อ่าน: 2307

24 พฤศจิกายน 2020

ธอส.เตรียมจ่ายแคชแบ็กคืน 500-1,000 บาท เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ลูกหนี้น้ำดี

ธอส.เตรียมของขวัญปีใหม่ จ่ายเงินคืนลูกหนี้ชั้นดี 500-1,000 บาท ผ่านแอปฯ ‘GHB ALL’ ปลื้ม! ยอดสินเชื่อปีนี้ส่อแววเข้าเป้า 2.1 แสนล้านบาท ปีหน้าหวังโต 3% ชี้ธนาคารตั้งสำรองรับมือหนี้เสียทะลักเรียบร้อยแล้ว นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า ธนาคารเตรียมของขวัญปีใหม่แก่ลูกค้า โดย ธอส.จะจ่ายเงินคืน (Cash Back) ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติชำระหนี้ดีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท และชำระต่อเนื่อง 24 เดือน โดยจะจ่ายเงินคืนผ่านแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้ง “GHB ALL” จำนวน 500-1,000 บาท รวมวงเงินที่จ่ายคืนประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนจะออกสลากออมทรัพย์รุ่น “เกล็ดดาว” เพิ่มอีก 35,000 ล้านบาท หลังจากที่คณะกรรมการบริหารฯ อนุมัติวงเงินเพิ่มเติม เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันสลากออมทรัพย์รุ่นเกล็ดดาวมีวงเงิน 15,000 ล้านบาท และขายออกไปแล้ว 10,000 ล้านบาท คาดว่าอีก 5,000 ล้านบาท จะสามารถขายหมดภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ สลากออมทรัพย์รุ่นเกล็ดดาว จำหน่ายหน่วยละ 5,000 บาท จำนวน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.40% อายุสลาก 2 ปี โดยเป็นการออกสลากออมทรัพย์ของ ธอส. รุ่นที่ 4 หลังจากได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารให้สามารถระดมทุนด้วยการออกสลากได้ เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มผลดำเนินงานปีนี้ และแผนงานในปีหน้า นายฉัตรชัยกล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.1 แสนล้านบาท ขณะที่แผนงานในปีหน้าตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโต 3% โดยธนาคารมีการตั้งสำรองเพียงพอสำหรับคุณภาพหนี้ที่คาดว่าจะเห็นหนี้เสีย (NPL) ออกมาในระบบมากขึ้นหลังจบมาตรการแช่แข็งหนี้ จากปัจจุบันมีระดับ NPL อยู่ที่ 2% ทั้งนี้ ธอส.ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการแช่แข็งหนี้สินเชื่อบ้านประมาณ 10 ชุด โดยที่ผ่านมาทยอยหมดอายุแล้ว 2 ชุด จำนวนลูกหนี้ราว 275,000 ล้านคน พบว่าลูกค้าไม่สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ประมาณ 8-9% ของมูลหนี้ทั้งหมด โดยธนาคารประเมินว่า ในกรณีที่หนี้ที่แช่เอาไว้ชุดอื่น ๆ กลายเป็นหนี้เสียประมาณ 10% ยังอยู่ในวิสัยที่ธนาคารสามารถรับมือได้ โดยชุดที่ 3 จะครบกำหนดสิ้นเดือน ม.ค.64 ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-561043

จำนวนผู้อ่าน: 1995

24 พฤศจิกายน 2020

ทุนฝรั่งเศสเล็ง PPP รถไฟฟ้า-ทางด่วน-MedHub ภูเก็ต

นักลงทุนฝรั่งเศสตั้งแท่นรอลงทุน 3 โครงการยักษ์ PPP จังหวัดภูเก็ต “รถไฟรางเบา ทางด่วนกะทู้-ป่าตอง และ Medical Hub” หลังกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และคณะ ยกคณะพบรองผู้ว่าฯภูเก็ต เผยสนใจติดตามโครงการพัฒนาภูเก็ต เตรียมนำนักลงทุนเข้าร่วมลงทุนที่ภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีสัญจรภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ได้เห็นชอบในหลักการโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของ จ.ภูเก็ตหลายโครงการให้ดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP net cost ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ 2556 ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มูลค่า 30,000 ล้านบาท, โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ตของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทาง 3.98 กม. วงเงิน 14,100 ล้านบาท, โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก หรือ Medical Hub ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต วงเงิน 2,967 ล้านบาท ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณารายละเอียดเพื่อดูว่า งานส่วนใดภาครัฐดำเนินการ อยู่ระหว่างพิจารณาของบประมาณ และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในส่วนไหนต่อไป “โครงการดังกล่าวทั้งหมดเป็นโครงการขนาดใหญ่ของภูเก็ต ทาง ครม.เห็นชอบในหลักการหมดแล้ว เพียงแต่ขั้นตอนอยู่ที่การเสนอรายละเอียดขอใช้เงิน ส่วนไหนจะเป็นโครงการที่ทำร่วมกัน คือ ภาครัฐ เอกชน ในรูปแบบ PPP” นายพิเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางคณะกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้มาเข้าพบทางจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ เพื่อนำนักลงทุนฝรั่งเศสมาร่วมลงทุนในอนาคต “ทางคณะกงสุลฝรั่งเศสมีความสนใจในโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา, โครงการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ที่สะพานท่าเทียบเรืออ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง ซึ่งเป็นท่าเรือเฟอรี่อ่าวปอ และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ โดยรอความคืบหน้าจากทางจังหวัดภูเก็ต หากเปิดให้เอกชนเข้าดำเนินการ พร้อมนำนักลงทุนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุน” ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/local-economy/news-559577

จำนวนผู้อ่าน: 2079

24 พฤศจิกายน 2020

ทิศทางความยั่งยืนโลก 8 บริษัทผู้นำกลุ่มอุตฯ DJSI 2020

หลังจากที่ “S&P Dow Jones Indices” และ “SAM” ในฐานะผู้จัดทำ “ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI)” ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนผ่านมา โดยมีบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกจำนวน 22 บริษัท โดยในปีนี้ “บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO)” ได้รับการจัดอันดับในกลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets เป็นปีแรก ที่สำคัญ ในปี 2563 บริษัทไทยยังได้รับการประเมินให้เป็น “ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Leaders)” จำนวน 8 บริษัท ได้แก่ 1) บมจ.บ้านปู (BANPU) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Coal & Consumable Fuels 2) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refining & Marketing 3) บมจ.ปตท. (PTT) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Upstream & Integrated 4) บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ (THBEV) ผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม Beverages 5) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Chemicals 6) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Construction Materials 7) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Telecommunication Services และ 8) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม Transportation and Transportation Infrastructure ส่วนบริษัทไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ประจำปี 2563 มีจำนวน 22 บริษัท แบ่งเป็น “กลุ่มดัชนี DJSI World” จำนวน 12 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, PTTEP, PTT, CPALL, THBEV, IVL, PTTGC, SCC, CPN, ADVANC และ AOT โดยดัชนีในกลุ่มนี้จะคัดเลือกจากบริษัทที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงที่สุด 2,500 อันดับแรกของโลก ขณะที่ “กลุ่มดัชนี DJSI Emerging Markets” สำหรับตลาดเกิดใหม่มีจำนวน 22 บริษัท ได้แก่ KBANK, SCB, MINT, BANPU, IRPC, PTTEP, PTT, TOP, CPALL, CPF, THBEV, TU, IVL, PTTGC, SCC, CPN, HMPRO, ADVANC TRUE, AOT, BTS และ EGCO “ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา” ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในการทำแบบประเมิน DJSI กล่าวว่า จากข้อมูลของ SAM ผู้ประเมินพบว่าในปี 2563 มีบริษัทจากทั่วโลกที่ร่วมตอบแบบประเมิน CSA (corporate sustainability assessment) มากถึง 1,386 บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 19% โดยทวีปเอเชียถือเป็นทวีปที่มีจำนวนบริษัทเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนนี้มากที่สุด คิดเป็น 36.44% รองลงมา ได้แก่ ทวีปยุโรป 26.19% และทวีปอเมริกาเหนือ 25.76% ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าบริษัททั่วโลกให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในกรอบ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) “คำถามของแบบประเมิน CSA จะครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับ 61 อุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งคำถามทั่วไปที่ถามในทุกอุตสาหกรรม และคำถามเฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม โดยในแต่ละปีแบบประเมิน CSA จะมีการเปลี่ยนแปลงประมาณ 10-15% เพื่อให้ข้อคำถามมีเรื่องปัจจุบัน” “รวมถึงการรับฟังข้อเสนอแนะของบริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบประเมิน และได้ให้ความคิดเห็นกลับมา ทำให้คะแนนการประเมินของแต่ละอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ปรับขึ้นลงตามเนื้อหาของคำถาม ตรงนี้ถือว่าเป็นความเฉพาะตัวของอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นสิ่งที่ทำให้การประเมินของ DJSI มีความพิเศษและน่าสนใจ” “แม้ว่าในช่วงต้นปี 2563 ผ่านมา จะมีปัจจัยของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อผู้คน รวมถึงภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกแต่สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาเป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการประเมิน CSA ในปีนี้ เนื่องจากการประเมินในแต่ละปีจะเป็นการนำข้อมูลของปีก่อนหน้ามาใช้ตอบข้อคำถาม” “อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินสามารถนำแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ไปตอบคำถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ และคาดว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินของปี 2564” นอกจากนี้ “ณัฐณรินทร์” ยังสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กับการเติบโตขององค์กรธุรกิจว่า การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ และองค์กรธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็กเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นความท้าทายที่จะทำอย่างไรให้การดำเนินชีวิตของผู้คน รวมถึงเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ “ส่วนตัวแล้วมองว่าปัจจัยที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ได้ คือ ความยั่งยืนที่สร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ว่าวันนี้ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้ภาคธุรกิจ หรือองค์กร มองประเด็นเรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นรองลงมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และมีความท้าทายต่อการสร้างสมดุลระหว่างทั้ง 3 มิตินี้” “แต่อย่างไรก็ตาม การคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจากรายงาน Sustainable investing : Resilience amid uncertainty ของ BlackRock บริษัทบริหารกองทุนระดับโลกที่มีมูลค่าสินทรัพย์ ภายใต้การบริหารจัดการสูงที่สุดในโลก” “เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่า ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้ปัจจัยของความผันผวนของเศรษฐกิจ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม จะมีความยืดหยุ่น สามารถประคับประคองธุรกิจ สร้างคุณค่า และมูลค่าให้ผู้ลงทุน รวมถึงมี performance ที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนมากนักในอุตสาหกรรมเดียวกัน” “ดังจะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะทำให้องค์กรธุรกิจมองเห็นปัจจัยทางความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือแม้กระทั่งความผันผวนภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถวางแผนในการจัดการ รับมือกับปัจจัยที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ แม้ว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะมีกระบวนการทำงานและอาจต้องใช้ระยะเวลาที่นานกว่าจะเห็นผลก็ตาม” ขณะที่ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างคำว่า ESG ที่เกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน “ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาข้อมูลความยั่งยืนในรูปของดัชนี หรือการจัดอันดับจากผู้ให้บริการข้อมูลในวงจรข้อมูลความยั่งยืน จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้ลงทุน โดยมีผู้ให้บริการรายสำคัญ อย่างเช่น เอสแอนด์พี/ดาวโจนส์ (ควบรวมกันในปี 2554) ที่กำเนิดจากฝั่งอเมริกา และฟุตซี่ จากฝั่งยุโรป (อังกฤษ)” “ซึ่งนำข้อมูลที่ใช้จัดทำดัชนีมาจากบริษัทประเมิน หรือบริษัทวิจัยที่ทั้งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิเอง และซื้อจากบริษัทขายข้อมูล อาทิ บลูมเบิร์ก หรือทอมสัน รอยเตอร์ส ซึ่งจะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากแหล่งปฐมภูมิ เช่น รายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืนของกิจการ หรือจากแบบสอบถาม และข้อมูลจากแหล่งทุติยภูมิ เช่น เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคประชาสังคม และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ” “บริษัทที่ทำการเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน ครบถ้วน มีความน่าเชื่อถือและเป็นไปตามบรรทัดฐานสากลตั้งแต่ต้นทาง ทั้งยังส่งต่อให้ผู้รวบรวมข้อมูล (aggregators) ไปยังบริษัทวิจัยข้อมูล (researchers) และบริษัทผู้ประเมิน (raters) สู่การจัดทำข้อมูลดัชนี (indexes) เพื่อส่งตรงไปยังผู้ใช้ข้อมูล (users) ซึ่งเป็นผู้ลงทุนโดยส่วนใหญ่ และผู้ใช้ข้อมูลปลายทาง จะยังประโยชน์ให้แก่ตัวองค์กรต่อการเป็นที่ยอมรับและการตัดสินใจลงทุนในบริษัทในอีกทางหนึ่งด้วย” “ดร.พิพัฒน์” กล่าวอีกว่า อย่างการประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทที่โดดเด่นด้านความยั่งยืนให้เข้าเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) จะพิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทตอบแบบสอบถามในด้านความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการ หมายความว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน ที่มีผลต่อการประเมิน คือ ผลงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นตามที่ได้ดำเนินการ กับการจัดทำข้อมูลที่ตอบแบบสอบถามได้อย่างตรงจุดตามเกณฑ์ที่ผู้ประเมินตั้งไว้ โดยทั้ง 2 ปัจจัยอาจจะมีสหสัมพันธ์ (correlation) ที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงในการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมิน และเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมต่อการวัดผลด้านความยั่งยืนของหน่วยงานผู้ประเมิน ที่ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (material topics) และสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม “ทั้งนี้ การประเมินซึ่งมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่นในมิติเดียว ทำให้เกิดข้อจำกัดที่ผู้ลงทุนอาจต้องแลก (trade-off) ระหว่างการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี แต่ผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือไม่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า การลงทุนในบริษัทที่มี ESG ดี จะช่วยลดความผันผวนด้านราคาของหลักทรัพย์ และยังช่วยสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งให้แก่ผู้ลงทุนในระยะยาวด้วย” “หากพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (YTD) ของหุ้น DJSI ทั้ง 21 ตัว (equal-weighted) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ามีอัตราผลตอบแทนติดลบอยู่ที่ -20.71% ขณะที่ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลง -14.56% ในช่วงเวลาเดียวกัน” “และเมื่อเทียบกับดัชนี Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบขึ้นจากหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ลดลงในระดับที่ต่ำกว่า คือ -11.28% (ข้อมูล ณ 17 พ.ย. 2563) หรือคิดเป็นส่วนต่างของผลตอบแทน 9.43% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนหุ้นไทยที่อยู่ในดัชนี DJSI โดยข้อมูลที่ใช้ในการประเมินทั้งในส่วนของหุ้นไทยในดัชนี DJSI และหลักทรัพย์ในดัชนี Thaipat ESG ใช้ข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทในรอบปี 2562” ถึงตรงนี้ “ดร.พิพัฒน์” สะท้อนมุมมองถึงความสำคัญของ ESG ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากข้อมูลการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์บ่งชี้ว่า มูลค่าของกองทุนที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ทะลุตัวเลข 1 ล้านล้านเหรียญ เป็นครั้งแรก หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2020 และตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูลด้าน ESG มีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 40.5 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2020 “ผู้ลงทุนที่ยึดแบบแผนการลงทุนที่ยั่งยืน โดยอาศัยเกณฑ์ ESG เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เชื่อว่ายิ่งมีข้อมูล ESG ที่เพียงพอมากเท่าใด การวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัท เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท จากการพิจารณาปัจจัย ESG จะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญ ผู้ลงทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และไม่ได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ตรงนี้เป็นเพราะผลประกอบการในอนาคตของบริษัท มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท” “การส่งเสริมและกระตุ้นให้ บจ.มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จึงมีตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา” “โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ESG มีตัวเลขที่ชนะดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 2.5% สอดคล้องกับตัวเลขผลประกอบการของกองทุน ESG ที่มีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนทั่วไปในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา” อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับข้อมูล ESG มากขึ้น บริษัทจำต้องขยายบทบาทการดำเนินงานของกิจการมาสู่การคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ด้วยการเพิ่มเติมการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม นอกเหนือจากประเด็นด้านธรรมาภิบาลที่มีอยู่เดิมอีกด้วย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/csr-hr/news-559879

จำนวนผู้อ่าน: 2088

24 พฤศจิกายน 2020

“ประยุทธ์” ชี้ต่อสัมปทานสายสีเขียวเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นไม่ได้

ขยายสัมปทานสายสีเขียว 30 ปี ยังไม่เข้า ครม. “บิ๊กตู่” ชี้ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท เทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นไม่ได้ เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้พิจารณาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ที่ผลเจรจาจะขยายไป 30 ปี ยืนยันว่าการพิจารณาจะยึดหลักประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนใครที่วิพากษ์วิจารณ์ อยากให้กลับไปดูว่ารถไฟฟ้าสายนี้มีกี่ช่วง ปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น การหาตัวผู้รับสัมปทาน งบประมาณของ กทม. มีเพียงพอหรือไม่ แล้วที่ผ่านมารถไฟฟ้าสายนี้ขาดทุนเพราะอะไร ทำไมต้องก่อสร้างส่วนต่อขยายอื่นเพิ่มเติม วันนี้จึงต้องนำเอาส่วนต่อขยายต่าง ๆ มารวมเป็นเส้นทางเดียวกัน เพื่อให้ค่าโดยสารถูกลง ในราคา 65 บาท ซึ่งจะเปรียบเทียบกับสายอื่นไม่ได้ มันคนละแบบ “มันต้องดูหลักเกณฑ์หลักการในการพิจารณานะ ไม่ใช่แก้ไขวิธีนี้แล้วเอาวิธีอื่นอีก ต้องดูที่มาที่ไปของโครงการด้วย” พลเอกประยุทธ์กล่าว ในช่วงท้าย พลเอกประยุทธ์กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้เสนอเข้ามา กระทรวงมหาดไทยกำลังทำความเห็นเพิ่มเข้ามา และทำงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ กทม. ปัญหาของสายสีเขียวคือหนี้ที่มีจะทำอย่างไร ถ้าเดินรถไปเรื่อย ๆ หนี้จะยิ่งพอกขึ้นเรื่อย ๆ ก็ลองไปคิดดูแล้วกัน ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-561008

จำนวนผู้อ่าน: 2078

24 พฤศจิกายน 2020

กรุงเทพจ่อขยับฐานรายได้ขั้นต่ำผู้กู้บัตรเครดิต 2.5-3 หมื่นบาท ห่วงหนี้เสียเพิ่ม

โชค ณ ระนอง แบงก์กรุงเทพ จ่อขยับรายได้ขั้นต่ำสมัครบัตรเครดิตเป็น 2.5-3 หมื่นบาทต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อเดือน เหตุเศรษฐกิจยังชะลอ-ห่วงกลุ่มหนี้ครัวเรือนสูง รับเอ็นพีแอลเพิ่มมาอยู่ที่ 2.6% จาก 2.15% พร้อมตั้งเป้า 5 ปี เล็งขยายบัตรร่วม “ศิริราช” เป็น 2 ล้านใบ จากปัจจุบัน 1.4 ล้านใบ นายโชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในไตรมาสที่ 4 ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา และคาดว่าจะใช้เวลากว่า 12 เดือนจึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและลูกค้าของธนาคาร โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (Spending) ปัจจุบันลดลง 11-12% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ที่ยอดปรับลดลง 16-17% ขณะที่จำนวนยอดบัตรใหม่คาดสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2 แสนใบ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.8 แสนใบ จากฐานบัตรลูกค้ารวม 2.5 ล้านใบ อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่มุ่งเน้นเพิ่มจำนวนบัตรใหม่ และธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำผู้กู้เป็น 2.5-3 หมื่นบาทต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ภายในปี 2564 เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูง จึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และหันไปเน้นหมวดการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.6% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.15% สำหรับความคืบหน้าลูกค้าที่เข้าโครงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีจำนวน 3.5 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยมีลูกค้าเพียงประมาณ 20-25% ที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อ โดยธนาคารมีมาตรการให้ความช่วนเหลือ เช่น การพักชำระหนี้ต่ออีก 3 เดือน การปรับโครงสร้างหนี้ผ่านวิธีการแปลงสินเชื่อระยะยาวเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือต่ำสุด 12% จากธปท.กำหนดเพดานสูงสุดอยู่ที่ 16% “ในระยะต่อไปธนาคารคงยังไม่เน้นที่จะเพิ่มจำนวนบัตรใหม่ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย และน่าจะมีการปรับฐานรายได้ขั้นต่ำไปในกลุ่มรายได้ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน” ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพสานต่อโครงการบัตรร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช อัพเกรดสิทธิประโยชน์ “บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น แรบบิท ศิริราช” ให้ฟรีประกันอุบัติเหตุ พร้อมค่ารักษาพยาบาล แตะจ่ายได้เหมือนบัตรแรบบิท ขณะที่ “บัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม ศิริราช” ให้ผ่อนจ่ายค่ารักษาค่ารักษา 0% นาน 3 เดือน พร้อมส่วนลด-คะแนนสะสมจัดเต็ม-ฟรีตรวจสุขภาพ โดย บัตรร่วมทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว ถือเป็นผลิตภัณฑ์บัตรของธนาคารกรุงเทพที่เข้าใจและตอบโจทย์อินไซด์ผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยที่ผ่านมาบัตรร่วมศิริราชนี้ ได้รับการตอบรับสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรรวมกว่า 1.4 ล้านราย และมียอดบริจาคของลูกค้าและเงินสมทบธนาคารแก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลรวมกว่า 275 ล้านบาทในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าการต่อสัญญาในครั้งนี้จะช่วยสานต่อความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมโดยรวมต่อไป โดยคาดหวังจะมีลูกค้าผู้ถือบัตรทั้ง 2 แบบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านราย ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ธนาคารจึงได้จัดแคมเปญระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563- 20 มีนาคม 2564 เพื่อเชิญชวนผู้ถือบัตรเครดิตกรุงเทพแลกคะแนนสะสมแทนเงินบริจาคสมทบ “โครงการทุนวิจัยเพื่อผู้ป่วย” เพื่อสนับสนุนงานวิจัยเพื่อลดการแพร่กระจายไวรัสโควิด-19 โดยคะแนนสะสมทุก 1,000 คะแนน แทนเงินบริจาค 120 บาท และพิเศษหากใช้คะแนนจากบัตรเครดิตวีซ่า แพลทินัม ศิริราช ทุก 1,000 คะแนน แทนเงินบริจาค 200 บาท ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-561001

จำนวนผู้อ่าน: 2292

24 พฤศจิกายน 2020

ธอส.เคาะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ‘Two-GEN’ 2% ต่อปี ผ่อนยาว70 ปี

อส.ส่งโครงการสินเชื่อบ้าน ‘Two-GEN’ หวังเจาะกลุ่มลูกค้าครอบครัวให้กู้ซื้อบ้านได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพียง 2% ต่อปี ผ่อนชำระได้นานสุด 70 ปี เปิดให้ยื่นกู้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป วันที่ 23 พ.ย.2563 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธอส.เปิดเผยถึงโครงการสินเชื่อบ้าน Two-Gen ที่มีความตั้งใจเจาะกลุ่มเป้าหมายพ่อ แม่ และลูก ให้สามารถร่วมกันกู้ซื้อบ้านโดยมีภาระการผ่อนชำระค่อนข้างต่ำนั้น ล่าสุด ธนาคารกำหนดรายละเอียดเบื้องต้น ได้แก่ กรอบวงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท และกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% นาน 2 ปีแรก โดยลูกค้าสามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ ผู้กู้หลัก (พ่อ-แม่) กำหนดอายุไม่เกิน 55 ปี ส่วนผู้กู้ร่วม (ลูก) กำหนดให้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยผู้กู้ต้องไม่มีภาระกู้สินเชื่อบ้านและเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ. หรือ กรอ.) ในปัจจุบัน โดยการนำอายุลูกมากู้ร่วมจะส่งผลให้ผู้กู้สามารถขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้ จากปัจจุบันสูงสุด 40 ปี เพิ่มเป็นนานสูงสุด 70 ปี อย่างไรก็ดี ลูกค้าสามารถชำระมากกว่าเงินงวดได้เพื่อให้เงินต้นหมดเร็วขึ้น หรือไม่จำเป็นต้องผ่อนถึง 70 ปี ขณะที่กรณีกู้ซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ผู้กู้จะผ่อนเงินงวดเริ่มต้นเหลือเพียง 2,000 บาทต่อเดือน โดยธนาคารกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ Debt Service Ratio (DSR) จากปกติ 1 ใน 3 เพิ่มเป็น 1 ใน 2 เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสได้วงเงินกู้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่กู้ซื้อจะต้องไม่เกิน 2 ล้านบาท ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-560975

จำนวนผู้อ่าน: 2020

24 พฤศจิกายน 2020

ไฟเขียวเอกชนจ้างเหมา ระบบอนุญาตแรงงานต่างด้าวครบวงจร

ครม. เห็นชอบแผน e-Work Permits OS ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อปรับปรุงการให้บริการออกใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว ลุยนโยบายรัฐบาลดิจิทัล เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้มีนโยบายยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านการรับคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ที่มีข้อจำกัด อาทิ ผู้รับบริการยังต้องเข้ารับบริการด้วยตัวเองเฉพาะในเวลาราชการ กระบวนการยื่นแบบคำขอพร้อมเอกสารใช้เวลาในการดำเนินการหลายวัน ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงได้เสนอแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งได้รับความเห็นชอบ และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล รายละเอียดมี ดังนี้ เห็นชอบแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการงานด้านการทำงานของคนต่างด้าว โดยการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการให้บริการรับคำขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (e-Work Permit OS) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้กระทรวงแรงงานดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างฯ ตามที่กำหนดไว้ใน กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่ (ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) วัสดุอุปกรณ์ บุคลากรในการดำเนินงาน รวมถึงจัดหาและพัฒนาระบบสาระสนเทศในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ระบบที่ให้บริการ (เช่น ระบบนัดหมาย ระบบติดตามผลการอนุญาต) ระบบสนับสนุนการปฏิบัติงาน (เช่น ระบบตรวจสอบยืนยันหรือรับรองบุคคล) ระบบที่ใช้งานโดยเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน (เช่น ระบบเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบบฐานข้อมูลการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปีหรือกำหนดตามจำนวนใบอนุญาตทำงานที่ออกให้คนต่างด้าวจำนวน 15 ล้านใบอนุญาต ในส่วนภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายวิธีปฏิบัติและควบคุมการดำเนินงานของเอกชน เช่น การพิจารณาอนุญาตจะเป็นอำนาจของนายทะเบียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้มอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อไม่ให้เอกชนเข้าถึงหรือนำไปใช้ สำหรับงบประมาณในการจ้างเหมาเอกชน จะมาจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บได้ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้นำไปใช้จ่ายได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินจากเงินกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว น.ส.รัชดา กล่าวว่า การปรับปรุงกระบวนงานและรูปแบบการให้บริการงานโดยการจ้างเหมาเอกชนนี้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความทันสมัย เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ตัวอย่าง ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ ผู้ใช้บริการสามารถขอรับบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่เริ่มจนสิ้นสุดกระบวนการ มีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 45 ศูนย์ มีฐานข้อมูลคนต่างด้าวฐานเดียวและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/general/news-560901

จำนวนผู้อ่าน: 2208

24 พฤศจิกายน 2020

ครม.เคาะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลอตสองอีก 1.5 แสนล้าน

ครม. ปั๊มหัวใจเศรษฐกิจ ภายใต้พ.ร.ก.ฟื้นฟู 4 แสนล้าน รอบที่สอง กว่า 152,000 ล้านบาท 4 กลุ่มแผนงาน คาด GDPขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในปี 2563 และร้อยละ 0.25 ในปี 2564 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติรับทราบกรอบแนวคิดการจัดทำแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ รอบที่ 2 วงเงิน 152,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 กลุ่มแผนงาน/โครงการหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มแผนงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป อาทิ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงแรงงาน (19,462.0019 ล้านบาท) และกลุ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ (Upskill-Reskill-New skill)] 2.กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก (45,000 ล้านบาท)] 3.กลุ่มแผนงาน/โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคเพื่อฟื้นฟูตลาดและเศรษฐกิจทุกระดับ เช่น โครงการคนละครึ่ง (30,000 ล้านบาท) และ 4. กลุ่มแผนงาน/โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มโครงการเพื่อพัฒนาและบริการจัดการทรัพยากรน้ำ ประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะช่วยสนับสนุน GDP ของประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.2 ในปี 2563 และร้อยละ 0.25 ในปี 2564 ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การรักษาการจ้างงานและจ้างงานใหม่ รวมกว่า 310,000 ราย ยกระดับทักษะแรงงานอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไปได้กว่า 160,000 ราย เกษตรกรและผู้ประกอบการในระดับชุมชนทั้งภาคการผลิตและบริการทั้ง 76 จังหวัด ได้รับการยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิต/บริการ ช่วยฟื้นฟูธุรกิจให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปภายหลังวิกฤติโควิด ประชาชนจำนวน 10 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 60,000 ล้านบาท และพื้นที่ทำการเกษตร 96.4 ล้านไร่ จะมีการเก็บกักน้ำได้มากขึ้นด้วยการบริหารจัดการระบบน้ำชุมชน ทั้งนี้จะเป็นการพิจารณาแผนงาน/โครงการ ต่อเนื่องจากกรอบที่ 1 ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว วงเงิน 92,400 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ภายใต้มาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีคงอยู่ในอีกช่วงระยะหนึ่งและยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-560947

จำนวนผู้อ่าน: 2081

24 พฤศจิกายน 2020

เปิด 5 ประเทศ แรงงานไทยถูกส่งไปทำงานมากสุด หลังคุมโควิด

ภาพจากเฟซบุ๊ก Ministry of Labour, Kingdom of Thailand กระทรวงแรงงานเผย ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ที่ทางกระทรวงส่งไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศหลังจากที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ กระทรวงแรงงานจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศแล้ว จำนวน 16,466 คน โดยประเทศที่จัดส่งไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไต้หวัน 5,032 คน สวีเดน 3,189 คน ฟินแลนด์ 2,319 คน ญี่ปุ่น 2,107 คน และเวียดนาม 473 คน ภาพจากเฟซบุ๊ก Ministry of Labour, Kingdom of Thailand นายสุชาติฯ กล่าวด้วยว่า กระทรวงแรงงานดำเนินการตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยมุ่งประโยชน์และคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องแรงงานไทยเป็นสำคัญ มีกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสตั้งแต่การรับสมัคร การสัมภาษณ์ การทำสัญญาจ้าง และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างต่อเนื่อง หอการค้า ชงแก้วิกฤตแรงงาน แก้ กม.จ่ายราย ชม.-เพิ่มสิทธิคนว่างงาน แรงงาน ส่ง 206 คนไทย ไปทำงานอิสราเอล เงินเดือนเกือบ 5 หมื่น ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-555277

จำนวนผู้อ่าน: 2228

13 พฤศจิกายน 2020

BEM โชว์กำไรไตรมาส 3 ทางด่วน-รถไฟฟ้าฟื้นตัวกว่า 440%

BEM เผยผลประกอบการ Q3 ปี’63 รถไฟฟ้า-ทางด่วนกำไรสุทธิ 822 ล้าน พุ่งกระฉูด 440% ผ่านจุดต่ำสุด Q2 เทียบช่วงเดียวกันของปี’62 โควิดฉุดลดลง 12.3% วันที่ 13 พ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจ้งว่ามีกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จำนวน 822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาถึง 670 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกำไร 152 ล้านบาท ในไตรมาสที่แล้วถือเป็นการฟื้นตัวของกำไรกว่า 440% ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 แล้ว ในส่วนของปริมาณผู้ใช้บริการทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้าได้ฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสนี้ ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนเฉลี่ยวันละ 1,135,400 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ร้อยละ 40.75 และปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยวันละ 283,700 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วร้อยละ 113 โดยมีผู้โดยสารในวันทำการเฉลี่ยวันละ 338,800 เที่ยว อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้วกำไรสุทธิไตรมาส 3 ปีนี้ ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา 115 ล้านบาทหรือ 12.3% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เนื่องจากธุรกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการเดินทาง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อรายได้ของบริษัทอยู่ระหว่างการฟื้นตัว นอกจากนี้ บริษัทยังเปิดให้ใช้ฟรีในวันหยุดราชการ สำหรับทางด่วน 3 สายทาง ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 1 ทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในวันหยุด และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนอีกด้วย   ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/property/news-555315

จำนวนผู้อ่าน: 2051

13 พฤศจิกายน 2020

ประยุทธ์ ลั่น ไทยพร้อมเป็น โซ่ข้อกลาง-ฐานการผลิต ห่วงโซ่อุปทานโลก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ประยุทธ์” ลั่น ไทยพร้อมเป็น โซ่ข้อกลาง-ฐานการผลิต เชื่อมอนุภูมิภาค-ห่วงโซ่อุปทานโลก วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจาก เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมด้วย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานการประชุมได้กล่าวว่าความร่วมมือ Mekong-ROK มีความก้าวหน้าไปมาก มีปฏิญญาแม่โขง-แม่น้ำฮัน และยกระดับสู่การประชุมสุดยอด เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืน สะท้อนผลสำเร็จของการขยายความร่วมมือนี้ รวมทั้งต่อยอดไปถึงความร่วมมือในอนาคตด้วย ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ได้กล่าวถึงประชุมที่ปูซาน ซึ่งมีการสานต่อในเรื่องต่าง ๆ ให้มีความก้าวหน้า การรับรองปฏิญญญาแม่โขง-แม่น้ำฮันเป็นแนวทางการดำเนินการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ความเชื่อมโยง รวมทั้งการรับมือกับโควิด-19 เกาหลีจะบริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาวัคซีน และส่งเสริมการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ ได้ชื่นชมความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ที่มีความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจสูง มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน มีความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและอบรมด้านต่าง ๆ เช่น อาชีวะ การสาธารณสุข รวมทั้งความสามารถด้านภาษา ในปี 2021 จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความสัมพันธ์ของประเทศลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ส่งผลให้เกิดความร่วมมือใหม่ ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงในมิติต่างๆ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สนับสนุนตามความต้องการของภูมิภาค การสนับสนุน SMEs และธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เดินไปด้วยกันได้ นายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวถึงการประชุมผู้นำครั้งแรกที่นครปูซานเมื่อปีที่แล้วที่ทุกชาติได้ร่วมกันยืนยันเจตนารมณ์ผ่านการรับรองปฏิญญาแม่น้ำฮัน-แม่น้ำโขง ที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือ ภายใต้ 3 เสา 7 สาขา ให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี ดอน ปรมัตถ์วินัย และการจัดตั้งสภาธุรกิจของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้สนับสนุนกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศสนับสนุนในปีนี้ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในสาขาความร่วมมือเป้าหมายและจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี นายกรัฐมนตรีมีความยินดี และพร้อมสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus) และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนฯ ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้ง 3 เสา และ 7 สาขา ที่ยั่งยืนร่วมกัน นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำ ความสำคัญ 2 เรื่องหลัก สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในการรับมือกับการระบาด ซึ่งไทยเพิ่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้กองทุน MKCF ครั้งที่ 4 การบังคับใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสนับสนุนให้มีวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ในราคาสมเหตุสมผลสำหรับประชาชนในภูมิภาคอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาค เพื่อกลับมาเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักลง เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคขึ้นมาแทน เพ่อให้การฟื้ยฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 มีความต่อเนื่อง ส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ MSMEs รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และผลักดันการเจรจาช่องทางพิเศษระหว่างกัน เพื่อขยายการลงทุนที่ต่อเนื่อง ไทยพร้อมจะเป็นฐานการผลิตและเป็นโซ่ข้อกลางเพื่อเชื่อมโยงอนุภูมิภาคกับห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไป ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/politics/news-555270

จำนวนผู้อ่าน: 2106

13 พฤศจิกายน 2020

ต่างชาติต่อคิวเข้าไทยตรึม เล็งยกเลิก “Fit-to-Fly” รองรับ

ททท.เผยต่างชาติจ่อเข้าไทยกว่าพันคน หลัง “วีซ่าเกษียณอายุ-STV” เดินทางสูงสุด ชี้ช่องประเทศเสี่ยงสูงให้ใช้วีซ่า TR เดินทางแทน STV เล็งพิจารณายกเลิก fit-to-fly ลดความซ้ำซ้อน ย้ำพร้อมเปิดบับเบิลสเต็ปบายสเต็ป ดันแพ็กเกจซับซิไดซ์-เสริม HappyQ ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลัง ครม.ผ่อนคลายการออกวีซ่าให้กับนักเดินทางที่ต้องการจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักเดินทางที่ได้รับใบอนุญาตเดินทาง (certificate of entry : COE) และเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยสูงสุด 6 อันดับ ได้แก่ 1.nonimmigrant visa “O-A” (O-A) วีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ระยะพำนักสูงสุดไม่เกิน 1 ปี จำนวน 501 คน 2.special tourist visa (STV) วีซ่านักท่องเที่ยวสำหรับประเทศความเสี่ยงต่ำเท่านั้น ระยะพำนัก 90 วัน สูงสุดไม่เกิน 270 วัน จำนวน 331 คน 3.privilege entry visa (PE) วีซ่านักท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือบัตร Thailand Elite Card อายุ 5-20 ปี จำนวน 296 คน 4.nonimmigrant visa “B” (non B) วีซ่านักธุรกิจหรือคนทำงานมีจุดประสงค์เพื่อทำงานและมีใบอนุญาตการทำงานถูกต้อง จำนวน 113 คน 5.tourist visa (TR) วีซ่านักท่องเที่ยวทั่วไป ระยะพำนัก 60 วัน ต่อสูงสุดได้ไม่เกิน 90 วัน หลังโควิด-19 ต้องวางวงเงินการันตี 500,000 บาท จำนวน 86 คน และ 6.APEC Business Travel Card (ABTC) บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปก (APEC) ที่ได้รับอนุญาตรวม 19 ประเทศ จำนวน 84 คน (ดูตารางประกอบ) โดยล่าสุดยังคงมีนักเดินทางแสดงความประสงค์จะเดินทางเข้าไทยผ่าน STV อย่างต่อเนื่องจำนวนกว่า 1 พันราย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากแถบสแกนดิเนเวีย อาทิ กลุ่มนอร์ดิก 4 ประเทศ มีนักท่องเที่ยวขอใบอนุญาตการเดินทางเข้าประเทศผ่านแล้วกว่า 163 ราย โดยเดินทางด้วยวีซ่า O-A กับ TR สูงสุด “ที่ผ่านมาอีลิตการ์ดถือเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีและเป็นจุดขายของ ททท. โดยหลังจากการคลายล็อกก็เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาต่อเนื่อง จากสมาชิกกว่า 1 หมื่นใบมีนักท่องเที่ยวที่แสดงความประสงค์จะเข้าไทย 900 ราย ได้ใบอนุญาตแล้ว 200 ราย เดินทางมาถึงไทยและกักตัว 103 ราย และกักตัวแล้วเสร็จกว่า 107 ราย” สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนนั้น นางสาวฐาปนีย์กล่าวว่า ททท.ได้ดำเนินการเจรจาเพื่อชี้แจงแล้วว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ใช่นักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ แต่เป็นนักท่องเที่ยวอิสระที่จำต้องเดินทางด้วยเที่ยวบินเดียวกันเท่านั้น ขณะเดียวกัน ไทยก็อยู่ระหว่างการพิจารณาถอนใบรับรองแพทย์ (fit-to-fly health certificate) ออกจากเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศไทย คงไว้เพียงการตรวจสอบการติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เพื่อลดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนดำเนินการในอนาคตด้วย นางสาวฐาปนีย์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเปิดบินตรงสู่ภูเก็ตก็เป็นหนึ่งในแผนที่ ททท.วางแผนจะดำเนินการในอนาคต โดยมีสายการบินสนใจที่จะใช้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทาง และสายการบินอาหรับเอมิเรตส์ได้ทดสอบการบินแล้ว เช่นเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินแล้วเช่นกัน โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปจะเป็นลูกค้าของสายการบินตะวันออกกลางที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย และสายการบินอาจจะแบ่งเที่ยวบินสู่ไทยลงตรงสู่ภูเก็ต 1-2 วันต่อสัปดาห์ “คู่แข่งของประเทศไทยอย่างสิงคโปร์ก็เริ่มเปิดโครงการ Air Travel Pass เปิดให้นักท่องเที่ยวจากบรูไน นิวซีแลนด์ เวียดนาม ออสเตรเลีย และจีน เดินทางเข้าสู่สิงคโปร์พร้อมงดเว้นการกักตัว 14 วัน ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเดินทางแล้ว 22 คน ในขณะที่การเปิดการเดินทางอย่างจำกัดระหว่างประเทศหรือว่าบับเบิลของไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของแผน โดย ททท.เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในทุก ๆ ด้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาความต้องการของประเทศที่เราต้องการจะจับคู่ด้วยว่าพร้อมหรือไม่” นางสาวฐาปนีย์กล่าว ทั้งนี้ ททท.ได้เตรียมจัดทำโครงการสนับสนุนการเดินทาง Amazing Thailand Plus Package ที่เปิดเผยไปก่อนหน้านี้ และโครงการ HappyQ กิจกรรมสำหรับช่วงกักตัว 14 วันให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งการช็อปปิ้ง ทำกิจกรรมผ่อนคลาย ไปจนถึงการรับชมโชว์จากระเบียงในโรงแรมที่มีพื้นที่เหมาะสม เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย ส่วนการเปิดให้เข้ากักตัวในสนามกอล์ฟยังอยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน “เชื่อว่าในปีหน้าภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะดีกว่าในปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีการผ่อนคลายการออกวีซ่าประเภทต่าง ๆ แม้จะมีมาตรการกักตัวอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับที่ผ่านมา แต่ยังยากที่จะประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ เวลานี้” นางสาวฐาปนีย์กล่าว และว่านอกจากนั้น ททท.ยังมีแผนเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มเฉพาะ อาทิ กลุ่มดิจิทัลโนแมด กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มอาหาร กลุ่มศรัทธา กลุ่มดาราศาสตร์ รวมถึงกลุ่มผ่อนคลายและบำบัดรักษา โดยคาดแล้วเสร็จและเริ่มให้บริการได้ไม่เกินพฤษภาคมปีหน้า ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/tourism/news-553484

จำนวนผู้อ่าน: 2081

13 พฤศจิกายน 2020

เริ่มนับหนึ่ง “โรงไฟฟ้าชุมชน” 150MW 3ปี ไม่เวิร์ก “เลิก”

พลังงานชงหลักเกณฑ์เงื่อนไขโรงไฟฟ้าชุมชนเข้า กพช. เร็ว ๆ นี้ เตรียมนำร่อง 150 เมกะวัตต์ จาก 1,933 เมกะวัตต์ ชี้หากไม่ประสบความสำเร็จจ่อยกเลิกส่วนที่เหลือทั้งหมด ด้านโรงไฟฟ้าขยายผล quick win เปิดให้โรงเดิมที่ COD ไม่ได้อีก 100 เมกะวัตต์ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน (สนพ.) กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ยังมีนโยบายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมีกรอบรับซื้อ 1,933 เมกะวัตต์ ในปี 2563-2567 ซึ่งจะนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ประกาศรับซื้อในเดือน ม.ค. 2564 และจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2566 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเร็ว ๆ นี้ “เราต้องมองภาพใหญ่ทั้งหมด ถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับให้มากที่สุด หากลอตแรกทำแล้ว จะประเมินผล ถ้าไม่เวิร์กก็ต้องยกเลิกส่วนที่เหลือ ดังนั้น จึงต้องทบทวนปรับปรุงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนในรูปแบบที่ทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและชุมชนสูงสุด โดยมีขนาด 3-6 เมกะวัตต์ ส่วนการประมูลแข่งขันราคาจะต้องคำนึงถึงศักยภาพสายส่งสายที่จะมารองรับ รวมถึงศักยภาพของเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย” นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้า SPP hybrid ที่ยังค้างอยู่ 14 รายนั้น PDP ฉบับใหม่นี้จะดึงออกมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงไฟฟ้าส่วนขยาย แต่หลักการ คือ ยังคงต้องการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้เนื่องจากติดปัญหาสายส่งในอดีต แต่ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงแล้ว หรือโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) รวมถึงโควตาที่เหลือจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2560 ที่ถูกยกเลิก สำหรับวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงจะเน้นไปที่ชีวมวล และก๊าซชีวภาพรวมไปถึงวัตถุดิบในพื้นที่ทั้งหญ้า ใบอ้อยด้วย และจะใช้วิธีการแข่งขันด้านราคา เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับราคารับซื้อ ขั้นต่ำไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย คาดว่าจะประกาศเปิดรับซื้อได้ต้นปี 2564 นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หากไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านพลังงาน จำเป็นต้องมองถึงความเชื่อมโยงต่างประเทศด้วย ซึ่งความพร้อมและความมั่นคงด้านพลังงานจำเป็นต้องมี “โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ชุมชน ก็จะเสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา ในวันที่ 11 พ.ย. 2563 นี้ ก่อนเสนอ กพช.พิจารณาเร็ว ๆ นี้” ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/economy/news-553464

จำนวนผู้อ่าน: 2076

13 พฤศจิกายน 2020

บอร์ด ตลท. ไฟเขียว “เจ้าสัวเจริญ” เพิกถอนหุ้น “WG” ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

บอร์ด ตลท. ไฟเขียว “เจ้าสัวเจริญ” เพิกถอนหุ้น “WG” ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เทรดวันสุดท้าย 19 พ.ย.นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า คณะกรรมการ ตลท. ได้อนุมัติเพิกถอนหุ้นบริษัท ไวท์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “WG” ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยกำหนดวันเพิกถอนในวันที่ 20 พ.ย. 2563 ซึ่งเป็นการเพิกถอนโดยสมัครใจ ตามที่ WG ได้ขอเพิกถอน ทั้งนี้ หุ้นสามัญของ WG จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันสุดท้ายในวันที่ 19 พ.ย.2563 นี้ ก่อนหน้านี้ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BJC” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ในวันที่ 9 พ.ย. 2563 บริษัท บีเจซี สเปเชียลตี้ส์ จำกัด บริษัทย่อยทางอ้อมของ BJC ซึ่งเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ WG ได้ยื่นแบบรายงานผลการซื้อหลักทรัพย์ของ WG ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลท. และ WG ทั้งนี้ BJC เป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี และ เป็นธุรกิจในเครือ “เจ้าสัวเจริญ-นายเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่มีบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 66.02% โดย WG ถือหุ้นใหญ่โดย บีเจซี สเปเชียลตี้ส์ บริษัทย่อยของ BJC ซึ่งช่วงที่ผ่านมา BJC มีแผนให้ทาง บีเจซี สเปเชียลตี้ส์ เข้าทำคำเสนอซื้อเพื่อที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์ WG ออกตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังกล่าว ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-555193

จำนวนผู้อ่าน: 2206

13 พฤศจิกายน 2020

เทคโนโลยีใกล้ตัวและเข้ามาในธุรกิจง่ายกว่าที่คิด

  คอลัมน์ Pawoot.com ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ   เทคโนโลยีเริ่มใกล้ตัวเรามากขึ้น และขยับไปเป็นอวกาศมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันพาณิชย์อวกาศ เมื่อก่อนเป็นการแข่งขันระหว่างระดับประเทศ ตอนนี้เริ่มเป็นเอกชนแล้ว มีค่าย SpaceX ของ Elon Musk ค่าย Blue Origin ของ Jeff Bezos แห่ง Amazon ค่าย Boeing ฯลฯ กลายเป็นการแข่งขันของภาคเอกชนในการที่จะทำให้คนออกไปนอกอวกาศได้ ทำให้เห็นว่าเรากำลังจะไปต่อในแง่ที่เราจะไปอยู่บนดวงจันทร์ได้ มีข่าวที่น่าสนใจอย่างการลงนามซื้ออาวุธระหว่างสหรัฐกับไต้หวัน ที่มี “โดรน” เข้ามาเป็นอาวุธด้วย โดรนกับเรื่องอาวุธมีมาสักพักใหญ่แล้ว สังเกตว่าอเมริกาเริ่มส่งโดรนหรือเครื่องบินไร้คนขับไปทิ้งบอมบ์บ้าง ไปสังเกตการณ์บ้าง ฯลฯ ที่น่าสนใจมากในเชิงธุรกิจ คือ เมื่อก่อนธุรกิจบางอย่างต้องใช้คนไปนั่งสอดส่อง ตอนนี้เราใช้โดรนบินได้แล้ว ผมไปเจอสตาร์ตอัพคนไทยรายหนึ่งทำเกี่ยวกับการใช้โดรนในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมแท็งก์น้ำมันที่ต้องมอนิเตอร์ตลอด ต้องมีการตรวจสอบต่าง ๆ โดยน้องกลุ่มนี้ออกแบบโดรนและใช้โดรนสแกนถังน้ำมันว่ามีจุดไหนรั่วบ้าง และอื่น ๆ จนชนะเลิศในการแข่งขันสตาร์ตอัพ โดรนในไทยบินมั่ว ๆ ไม่ได้นะครับมีกฎหมายบังคับ ราคาโดรนมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่กี่พันบาท หรือระดับดี ๆ เมื่อก่อน 3-5 หมื่นบาท เดี๋ยวนี้หมื่นต้น ๆ ตัวเล็ก ๆ ก็บินได้ดีในระดับหนึ่งเลย การบินโดรนได้ต้องมีใบอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือน หากนำไปใช้และทำอะไรบางอย่าง เช่น ถ่ายรูปไปลงบนอินเทอร์เน็ตก็มีโอกาสโดนสอบถามว่ามีใบอนุญาตหรือเปล่าอาจโดนปรับได้ แม้ใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีข่าวการใช้โดรนขนส่งสินค้า อีคอมเมิร์ซก็มีการแข่งขันกันตรงนี้ แต่เอาจริง ๆ ผ่านมาหลายปีเรายังไม่เห็นการใช้งานจริงจัง ไม่ได้ออกมาเป็น main stream มากเท่าไหร่ มีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้การใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ยังไม่มากนัก ในทางกลับกันยังมีโดรนหรือหุ่นยนต์ประเภทอื่นที่นำมาใช้เยอะขึ้น อาจไม่ใช่เรื่องการบิน เช่น JIB Computerนำหุ่นยนต์มาบริหารจัดการเรื่องขนของในแวร์เฮาส์ จากเดิมเวลามีการสั่งสินค้าเข้ามา พนักงานต้องเดินไปหยิบของตามจุดต่าง ๆ แต่เดี๋ยวนี้ให้หุ่นยนต์หยิบมาให้แทน หุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประเภทที่ใช้ในโรงงานเป็นแบบแขนกลที่ทำงานซ้ำ ๆ ต้องยกของหนัก เมื่อก่อนราคาเป็นล้าน ตอนนี้เหลือหลักแสน เทคโนโลยีเหล่านี้จีนโคลนไปแล้ว ทำให้ราคาถูกลง ฉะนั้น ใครที่ทำงานเกี่ยวกับโรงงานหรืออยู่ในอุตสาหกรรมสายการผลิตต่าง ๆ จากเดิมต้องใช้ “คน” ตอนนี้นำหุ่นยนต์มาแทนได้แล้วในราคาไม่แพง เทียบกันแล้วคุ้มค่าแรง ฯลฯ การทดแทนคนด้วยการเอาหุ่นยนต์มาใช้มีหลายแบบ แบบแรกทำแทนคนในลักษณะงานที่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ เช่น งานที่ต้องใช้คนกรอกข้อมูลบางอย่างตรงนี้ AI ช่วยได้เยอะมาก เมื่อก่อนต้องมานั่งกรอกข้อมูลเมื่อจะเปิดบัญชีธนาคาร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว มีแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็ทำได้แล้ว เช่นเดียวกับที่ผมเล่าไปแล้ว การใช้หุ่นยนต์เป็นฮาร์ดแวร์ เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท และไม่ไกลตัวอีกต่อไป หลาย ๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่พัฒนาหุ่นยนต์ได้ ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับน้อง ๆ กลุ่มหนึ่งที่เคยชนะเลิศการแข่งขันสร้างหุ่นยนต์ แต่คำถามคือชนะแล้วอย่างไรต่อ ประเทศไทยในสายการผลิตหรือในซัพพลายเชนของคนที่ทำเรื่องหุ่นยนต์ไม่ค่อยมี เรายังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการใช้หุ่นยนต์อย่างเต็มรูปแบบ ฉะนั้น เมื่อคนกลุ่มนี้จบออกมาหางาน เขาจะทำอย่างไรเมื่อไม่มีงานรองรับ กลุ่มคนเหล่านี้จึงเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไปทำวิศวกรด้านอื่นแทนหรือโดนซื้อตัวไปต่างประเทศ หากในฝั่งภาคธุรกิจ ในโรงงานก็ดี ในสายการผลิตเองก็ดี ดูว่าการทำงานตามปกติตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงของเสร็จใช้เวลาเท่าไหร่ ลองให้วิศวกรพวกนี้มาออปติไมซ์ดูว่าจะเอาหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เร็วขึ้นได้ไหม ถ้ามีโจทย์แบบนี้และให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ มาช่วยดู เขาจะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยได้ บางอย่างอาจจะลดคนน้อยลง ทำให้การผลิตงานดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วยเหมือนกันอันนี้เหมาะกับโรงงานหรือสายการผลิตที่ทำมาประมาณ 10-20 ปีแล้วยังทำแบบเดิมอยู่ ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรเลย ผมอยากสนับสนุนให้ลองทำดูเลยครับ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/ict/news-553154

จำนวนผู้อ่าน: 2026

13 พฤศจิกายน 2020

บี้ “รัฐวิสาหกิจ” ขึงเป้าลงทุน คลังมึนยอดขอกู้วูบ 4 แสนล้าน

การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในยามที่ภาคเอกชนยังคงชะลอการลงทุน เพราะไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกลับพบว่า การลงทุนของรัฐวิสาหกิจมีแนวโน้ม “ลดลง” ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปีงบประมาณ 2564-2568) โดยสะท้อนจาก “แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี” ที่มีโครงการลงทุนรวม 182 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 819,283.16 ล้านบาท หรือลดลงไปถึง 30% จากเดิมที่มีวงเงินถึง 1,201,118.71 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงไป 56 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 381,835.55 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่า รัฐวิสาหกิจในสาขาคมนาคม มูลค่าการลงทุนปรับลดลงมากที่สุดถึง 340,137.15 ล้านบาท หรือลดลง 15 โครงการ จากเดิมอยู่ที่ 31 โครงการ มูลค่า 827,070.93 ล้านบาท เหลือ 16 โครงการ มูลค่า 486,933.78 ล้านบาท รองลงมาสาขาสาธารณูปการ ลดลง 56 โครงการ มูลค่า 38,151.83 ล้านบาท และสาขาอื่น ๆ มูลค่าลงทุนลดลงไป 7,087.85 ล้านบาท แต่จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 13 โครงการ (ดูตารางประกอบ) โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งพบว่าแผนการลงทุนที่ปรับลดลง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัญหาความไม่ชัดเจนของนโยบายและรูปแบบการลงทุน และปัญหาความไม่พร้อมของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ปรับลดลงค่อนข้างมากดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป้าหมายการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางให้ต่ำกว่าศักยภาพ และกระทบต่อนโยบายการขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนของรัฐบาล ดังนั้น ครม.จึงได้เห็นควรให้กระทรวงเจ้าสังกัด ประสานกับรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการในกลุ่มโครงการที่ยังขาดความพร้อมในการดำเนินการ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและการลงทุนเพื่อเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระยะต่อไป โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่ง “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลังคนใหม่ ได้สั่งการให้ “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง จัดตั้ง “คณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุนของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ” ทันที เพื่อให้เข้ามาดูแลเรื่องการเบิกจ่ายทั้งหมด และดูแลแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายสามารถทำได้เร็ว นอกจากนี้ ล่าสุด ในการเดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมบัญชีกลาง “นายอาคม” ยังได้ตั้งเป้าหมายให้ติดตามให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเบิกจ่ายให้ได้ 100% ด้วย ขณะที่ “นายประภาศ คงเอียด” ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เรียกประชุม สคร. เพื่อติดตามแผนการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ 2564 โดย สคร.ยืนยันว่า จะเร่งการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายของปี 2564 เป็นหลัก ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ 2.91 แสนล้านบาท แม้ช่วงไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด รัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ขอปรับลดแผนการลงทุนลงก็ตาม ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความจำเป็นและความเหมาะสมต่อไป “หากมีการปรับแผนการลงทุนจริง ก็คาดว่าจะสามารถปรับได้ค่อนข้างน้อย เพราะช่วงนี้รัฐบาลต้องการเรื่องการลงทุน เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง สคร.พูดคุยกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ขอปรับลดแผนลงทุนค่อนข้างมากแล้ว ว่าก็คงทำได้ยาก และให้เน้นไปตามแผนเดิม ยกเว้นรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีความจำเป็นจริง ๆ ก็จะพิจารณาปรับลดลงให้ แต่ก็คงมีไม่มาก” นายประภาศกล่าว นายประภาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ก็มีข้อติดขัดทั้งในเรื่องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนที่มีการฟ้องร้องกัน และต้องมีการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา อย่างไรก็ดี ทาง สคร. และคณะกรรมการเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุน ก็พยายามติดตามและให้ความช่วยเหลือเต็มที่ นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ได้อนุมัติโครงการร่วมลงทุนไป 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,961 ล้านบาท ได้แก่ โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 16,096 ล้านบาท และโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าที่จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก มูลค่ารวม 2,865 ล้านบาท ถือเป็นโครงการลงทุนใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา “สคร.จะเร่งติดตามโครงการที่มีปัญหาติดขัดให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เร็วที่สุด เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), โครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ยังติดขัดในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องเดินหน้าให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากใช้เม็ดเงินลงทุนจากกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) วงเงินราว 3 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นต้น” นายประภาศกล่าว ในยามที่ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ รัฐวิสาหกิจจึงต้องเป็น “หัวหอก” ร่วมกับภาครัฐในการ “นำ” การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพราะไม่เช่นนั้นในระยะยาว ประเทศไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.prachachat.net/finance/news-553184

จำนวนผู้อ่าน: 2045

13 พฤศจิกายน 2020